มินิไกด์ฉบับเมืองสงขลา ชวนกลับไปสำรวจ ‘ย่านเมืองเก่าสงขลา’ กันอีกสักรอบ ซึ่งเป็นหนึ่งในย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์จาก 6 ย่านเกือบทั่วภูมิภาค ที่เชื่อมโยงเรื่องราวของผู้คน ย่าน และธุรกิจดั้งเดิมไว้มากที่สุด โดยมีถนนนครในเป็นใจกลางย่าน ห้อมล้อมด้วยถนนนครนอกและถนนนางงาม และยังมีถนนเส้นเล็กตัดกับถนนสามเส้นหลักอยู่ประปราย ส่วนใหญ่เป็น Hidden Place เหมือนเล่นซ่อนแอบให้คนตามหา ใกล้เคียงกันจะเป็นย่านชุมชนและพิพิธภัณฑ์ประจำเมืองซึ่งเดินเชื่อมถึงกันสะดวก การสำรวจครั้งนี้เพื่อกลับไปทบทวนอารยธรรมทางประวัติศาสตร์และวิถีวัฒนธรรมของ ‘ย่านเมืองเก่าสงขลา’ ที่มีอิทธิพลต่อผู้คนในยุคหลังมากขึ้นไปด้วย
ชั่วขณะที่หยุดยืนหน้าป้ายพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา คือช่วงบ่ายที่อากาศร้อนอ้าว แต่เมื่อก้าวเท้าเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ฯ กลับกลายเป็นอีกเรื่อง ความร่มรื่นจากต้นไม้น้อยใหญ่บ่งบอกว่าสถานที่แห่งนี้ได้รับการบ่มเพาะมายาวนาน อาคารสถาปัตยกรรมจีนผสมยุโรปที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2421 เพื่อเป็นที่พำนักของตระกูล ณ สงขลา ข้าหลวงราชการ สุดท้ายใช้เป็นศาลากลางจังหวัดสงขลาก่อนถูกทิ้งร้าง จนเมื่อปี พ.ศ. 2516 กรมศิลปากรปรับปรุงอาคารเป็นพิพิธภัณฑ์ฯ และประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ภายในพิพิธภัณฑ์ฯ แบ่งเป็นสามโซนหลัก คือ ชั้นบน ชั้นล่าง และศาลากลางแจ้ง โดยชั้นบนและชั้นล่างจัดแสดงบริบทของการเปลี่ยนผ่านทางประวัติศาสตร์ในแต่ละยุคสมัย เล่าถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรม หลักฐานทางโบราณคดีจากแหล่งโบราณคดีของจังหวัดสงขลาและจังหวัดใกล้เคียง ฯลฯ ส่วนศาลากลางแจ้งจัดแสดงชิ้นส่วนหน้าบันไม้และชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมที่วัดต่างๆ มอบให้แก่พิพิธภัณฑ์ฯ ไว้สำหรับผู้เข้าชมศึกษาเพิ่มเติม
ถูกพูดถึงในโลกโซเชียลกันพอสมควร เพราะคาเฟ่อเมซอน เมืองเก่าสงขลา ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประจำปี 2566 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ การออกแบบอาคารของคาเฟ่อเมซอน เมืองเก่าสงขลาให้อารมณ์เบาสบาย จุดขายอยู่ตรงบริเวณโซนด้านหลังที่เหมือนโผล่เข้าไปในนิตยสารบ้านและสวนคงจะไม่เกินไปนัก แมกไม้ที่ร่มรื่น ล้อมด้วยดีไซน์มินิมัลของบรรดาโต๊ะ เก้าอี้ โคมไฟ ฯลฯ ยังมีโซนด้านบนซึ่งเป็นห้องประชุมไว้รองรับแขกได้ราว 10 ท่าน และเคาน์เตอร์บาร์ไว้นั่งจิบเครื่องดื่มสูดอากาศโปร่งก็ดีใช่ย่อย หากเผชิญกับอากาศร้อนฉ่าและอยากหาจุดแวะผ่อนคลาย ที่นี่อาจเป็นคำตอบ
เกียดฟั่ง คือร้านอาหารแห่งแรกๆ บนถนนนางงามในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สืบทอดมาสู่รุ่นที่สามยาวนานกว่า 86 ปี ทราบกันดีว่านอกจากเมนูข้าวสตู-หมูกรอบที่ทำให้ผู้คนติดอกติดใจแล้ว ซาลาเปาที่การันตีว่าลูกใหญ่กว่าฝ่ามือก็เป็นอีกหนึ่งเมนูขึ้นชื่อของร้านไม่แพ้กัน โดยต้นตำรับสตูหมูได้รับการสืบทอดจาก ‘โกลัก’ ให้แก่เจ้าของร้านเกียดฟั่งตั้งแต่รุ่นแรก ที่เกิดจากการผสมผสานวัฒนธรรมด้านอาหาร 4 ชนชาติ นั่นคือ อังกฤษ อินโดนีเซีย จีน และไทย ผลลัพธ์ที่ออกมาคือรสชาติเอร็ดอร่อยลงตัว เตือนไว้ก่อนว่าควรรีบไปแต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ เพราะคนจะแน่นร้านเร็วกว่าวันอื่น
ถือเป็นแหล่งคอมมูนิตี้รวมพลังงานชั้นดีเลยก็ว่าได้ สำหรับ a.e.y.space อาร์ตสเปซและที่พำนักแก่ศิลปินของ เอ๋-ปกรณ์ รุจิระวิไล ด้วยการตกแต่งตัวอาคารสองชั้นติดกันสองคูหาในรูปแบบงานดีไซน์เน้นการใช้สอยที่ลงตัว (Form Follows Function) ซึ่งเอ๋บอกว่า ฟังก์ชันที่ดีจะก่อให้เกิดความลื่นไหลในกิจกรรมต่างๆ จนนำไปสู่ความลงตัวของพื้นที่ได้เอง กิจกรรมที่ผ่านมาเช่นการจัดอีเวนต์ด้านความคิดสร้างสรรค์ จัดแสดงนิทรรศการศิลปะ พื้นที่ไว้พูดคุยแลกเปลี่ยน และด้วยความที่ชอบดูหนังตั้งแต่เด็ก เอ๋ยังจัดสรรปันส่วนพื้นที่เพื่อฉายหนังนอกกระแสทุกเย็นวันศุกร์ร่วมกับเพจเรื่องนี้ฉายเถอะ คนหาดใหญ่อยากดู Documentary Club และร้าน dot หรือฉายหนังตามวาระเทศกาลต่างๆ มาแล้วกว่า 10 ปี นับตั้งแต่ฤกษ์วันเปิดของ a.e.y.space เลย
จาก a.e.y.space แค่ไม่กี่ก้าวเดินจะเห็นร้าน ‘ฮับเซ่ง’ ตั้งอยู่ทางซ้ายมือ ร้านให้อารมณ์เดียวกับสภากาแฟในยุคก่อนซึ่งเปิดมาเกือบร้อยปี เมนูที่อยากให้ลองในร้านฮับเซ่งคือขนมปังปิ้งทาเนยกินคู่กับสังขยาสูตรโบราณ ที่ป้าบ่วยและลุงปรกเจ้าของร้านทำเองทุกขั้นตอน รสชาติจึงไม่เหมือนสังขยากวนแบบทั่วไป ส่วนเครื่องดื่มร้อนไฮไลต์ของร้านคือชาซีลอนแท้ไม่แต่งกลิ่น หรือคนชอบกาแฟดำต้องสั่งโอยัวะ-กาแฟโบราณกินคู่กับปาท่องโก๋จิ้มสังขยาก็เข้ากันใช่เล่น ยังมีจิปาถะอย่างชุดอาหารเช้า ไข่ลวก ขนมจีบ ซาลาเปาให้สั่งกินเพิ่มพลังต่อเนื่อง นอกเหนือจากนี้ บางช่วงมีบ๊ะจ่างเจ้าอร่อยส่งตรงมาจากจังหวัดตรัง แต่อาจต้องรอจังหวะหรือช่วงเทศกาลสักหน่อย
ละแวกตรงข้ามร้านโจ๊กเกาะไทยและร้านฮับเซ่ง คือทางเดินไปสู่คาเฟ่น้องใหม่ในย่านเมืองเก่าที่เพิ่งเปิดได้เดือนหมาดๆ ชื่อว่า สหพันธ์เฮ้าส์ คาเฟ่สไตล์วินเทจอินดัสเทรียลขนาดกะทัดรัดอวลบรรยากาศโฮมมี่สุดๆ ซึ่ง ‘บีม’ และ ’นพ’ เจ้าของร้านออกแบบตกแต่งด้วยกันเอง ที่ทั้งคู่ตั้งใจให้เป็นสถานที่รวมความผูกพันธ์ของผู้คนได้มาแลกเปลี่ยนความคล้ายคลึงกัน ส่วนเบเกอรี่ในร้านก็ทำแบบโฮมเมด อย่างสโคน, เลมอน ดิซเซิล เค้ก, ครีมบูเล่ กินคู่กับเครื่องดื่มฮันนี่โซดาช่วยเพิ่มความสดชื่น หรือ Ginger Beer from Australia ไว้ดื่มดับร้อน นอกจากนั้นบีมยังเป็นเจ้าของแบรนด์อีโคคราฟต์ ‘Thanboho’ แบรนด์ผ้าพิมพ์ลายและผ้ามัดย้อมจากธรรมชาติ ซึ่งบีมกระซิบว่า เร็วๆ นี้อาจจะเปิดเวิร์กช็อปสอนทำผ้าพิมพ์ลายและผ้ามัดย้อมภายใต้แบรนด์ Thanboho บริเวณหลังร้านด้วย
หากใครเดินท่องย่านเมืองเก่าสงขลาคงคุ้นเคยกับสตรีตอาร์ตบนกำแพงตามละแวกถนนนางงาม ถนนนครใน และถนนนครนอกอยู่บ้าง ภาพวาดสตรีตอาร์ตเป็นจุดแลนด์มาร์กที่ได้รับความนิยมกว้างขวางจากนักท่องเที่ยว จุดเด่นของสตรีตอาร์ตคือการสะท้อนวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชนในย่านเมืองเก่าสงขลา ทั้งคนไทย จีน มุสลิม หรือการแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นของภาคใต้อย่างรำมโนราห์และหนังตะลุงใส่ชุดสูทที่มองเห็นถึงความร่วมสมัย อีกอย่างคือภาพวาดเหล่านี้เป็นการล้ออุปนิสัยของความเป็นกันเอง การมีอัธยาศัยไมตรี รวมถึงศิลปะที่แทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันของชาวสงขลา ขอแนะนำให้เดินถ่ายรูปเช็กอินในช่วงเช้าและช่วงแดดร่มจะเพลินสุด
ร้านหนังสืออิสระแห่งใหม่ที่เพิ่งเปิดเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทราบคร่าวๆ ว่าเป็นความฝันของ โก้-ธีระพล วานิชชัง เจ้าของเดียวกับร้านกาแฟ dot บนถนนนครนอก ที่มีเป้าหมายไม่ใช่แค่ขายหนังสือเพียงอย่างเดียว แต่อยากให้ร้านเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนในย่าน หรือเป็นพื้นที่กระจายข่าวสารและทำกิจกรรมของชุมชนหรือในเมือง ถ้ามองในแง่ธุรกิจก็ต้องอยู่ให้รอดควบคู่กันไปด้วย ซึ่งร้าน dot.b ปรับปรุงจากอาคารเก่าสองชั้นอายุกว่า 80 ปี ชั้นล่างจำหน่ายหนังสือน็อน-ฟิกชั่นและฟิกชันให้เลือกหลากหลาย บริเวณชั้นสองเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ไว้นั่งอ่านหนังสือ ทำงาน จัดกิจกรรมได้หมด เจ้าของร้านเขายินดี (มาก)
ราวสองปีก่อนเราเคยเดินหลงเข้าไปในโฮสเทลหน้าตาเรียบง่ายอย่าง Lyn’s Home Boutique Hostel (ชื่อเดิมของโฮสเทล) โดยไม่ทันตั้งตัวดี ที่นี่เป็นโฮสเทลใจกลางเมืองเก่าสงขลา และยังเป็นหนึ่งในที่พัก 100 Best Design Small Hotels & Hostels จากหนังสือ 100 Best Design Series ด้วยการดีไซน์ที่ดูไม่เกินจริงบวกกับความโปร่งสบายภายในตัวอาคารเหมือนเราไปพักที่บ้านเพื่อน ที่มีห้องพักแยกเป็น Private Room ให้ความเป็นส่วนตัว และ Dorm ห้องพักรวมไว้พบปะทำความรู้จักเพื่อนใหม่ไปด้วย ลองจดในลิสต์ไว้เป็นตัวเลือกเผื่อแวะพักที่สงขลาก็ไม่เลวนะ
พี่หมั่น คือชื่อเรียกเจ้าของร้านซ่อมหนังสือ สมุดบันทึกทำมือในพื้นที่ขนาดย่อมที่หน้าร้านมีเอกลักษณ์เป็นประตูบานพับไม้แบบดั้งเดิม ส่วนตัวเอะใจว่าเพราะร้านอยู่ในละแวกถนนเล็กๆ ด้วยหรือเปล่า เลยสัมผัสถึงอากาศที่สดชื่นอยู่หลายระลอก ซึ่งสวนทางกับอากาศร้อนจนน่าแปลกใจ ภายในร้านจัดมุมแยกฟังก์ชันอย่างมีระเบียบ ทั้งสมุดทำมือ บทกวี หนังสือฝากขาย มุมกาแฟ โซนหลังร้านที่เดินเยี่ยมชมได้ และมุมซ่อมหนังสือตั้งแต่เล่มเล็กไปจนถึงเล่มหนาเตอะ นอกจากความชอบสมุดทำมือและถนัดการซ่อมหนังสือ พี่หมั่นยังเป็นนักกวี นักเขียน นักบันทึกห้วงยามที่มีนามปากกาว่า ‘หินสีครีม’ คนรักหนังสือตัวจริงต้องแวะไปฟังเรื่องเล่าจากพี่หมั่นดูสักครั้งแล้วละ
หมายเหตุ: ในเดือนสิงหาคมนี้ พี่หมั่นมีกิจกรรมทำสมุดแฮนด์เมดร่วมกับห้องสมุด ยับ เอี่ยน ฉ่อย และสำนักพิมพ์ผีเสื้อ โดยสอนกระบวนการทำสมุดแฮนด์เมดแบบสเต็ปบายสเต็ป รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ ให้ผู้สนใจเข้าร่วมแจม
บริเวณถนนนครนอกตัดกับถนนยะลาคือที่ตั้งของบ้านสงครามโลก เพราะคราบตะไคร่ดำบนผิวผนังรอบนอก ประตูไม้ไร้การรีโนเวต แม้แต่ประติมากรรมรูปทรงสามมิติตกแต่งอาคารสไตล์อาร์ตเดโคคล้ายจะเผยว่าที่นี่ขลังไม่เบา บ้านสงครามโลกจึงมีโครงสร้างเหมาะสำหรับจัดแสดงนิทรรศการศิลปะเน้นแนวคิด (Conceptual Art) อย่างเช่นที่ผ่านมากับกิจกรรมจรัสLight สัญจร: สงขลาเมืองเก่า จาก BACC หอศิลปกรุงเทพฯ ของติ้ว-วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ หรืองานศิลป์สุวรรณภูมิบนเส้นทางสายไหมทะเล เป็นต้น ส่วนบรรยากาศภายในบ้านสงครามโลกที่เคยเข้าไปชมงานเมื่อนานมาแล้ว คงบรรยายได้แค่ว่าลึกลับและน่าค้นหาของจริง ถ้าเป็นช่วงจัดกิจกรรมควรมาให้ได้สักครั้ง
คำว่า ยับ เอี่ยน ฉ่อย มาจากชื่อเดิมคือ ยิบ อิน ซอย ชื่อ-สกุลบรรพบุรุษของเกล้ามาศ ยิบอินซอย ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของอาคาร เดิมเป็นโกดังเก็บข้าวตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ดัดแปลงอาคารให้กลายเป็นห้องสมุดประจำเมืองสงขลาจนได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ความแปลกใหม่ของตัวอาคารต่างจากห้องสมุดทั่วไปที่เราๆ คุ้นชิน จึงตอบรับทุกเพศทุกวัย จัดแบ่งเป็นโซนด้านหน้าด้วยหนังสือหลายหมวดให้หยิบอ่านตามความสะดวก และโซนด้านหลังมีพื้นที่โล่งกว้างให้นั่งทอดหุ่ยเพลินๆ ปัจจุบันห้องสมุดยับ เอี่ยน ฉ่อย มีอาจารย์มกุฏ อรฤดี และบรรณารักษ์ใบเตยเป็นผู้ดูแล ลืมไปว่าถ้าบังเอิญเจอแมวตัวอวบเดินส่ายหางไปมาอย่างอารมณ์ดี แสดงว่าวันนั้นมาได้ถูกจังหวะ
ห้องแถวรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสสีเข้มแทรกตัวในย่านถนนนครนอก ให้ความรู้สึกต่างจากละแวกนั้นหน่อยๆ เรากำลังพูดถึง San Original Scent Store ร้านขายเครื่องหอมกลิ่นฟุ้งแห่งแรกในสงขลา ได้แก่ เทียนหอม เจลอาบน้ำ ก้านหอม และสเปรย์ปรับอากาศ ซึ่งคอลเล็กชั่นแรกคือ ‘กลิ่นสงขลา’ มีทั้ง Samila Lush (เป็นกลิ่นที่ขายดีที่สุด ให้กลิ่นต้นสนเด่นชัด) ถัดมาเป็น Soul Sumpannee (หอมกลิ่นขนมสัมปันนีที่ได้แรงบันดาลใจมาจากร้านขนมไทยจงดี) และ Nora Shadow (นึกถึงน้ำอบไทยที่ให้กลิ่นหอมจางๆ) นอกจากผลิตภัณฑ์ของร้าน บริเวณชั้นสองจัดนิทรรศการให้ชมตามคอลเล็กชั่นของผลิตภัณฑ์ และมีมุมจิบไวน์ที่ดูเข้ากับร้านได้ดี แย้มว่าคอลเล็กชั่นถัดไปคือ ‘กลิ่นภูเก็ต’ หยิบมานำเสนอเป็นผลิตภัณฑ์เช่นเคย โปรดติดตาม
ไม่ไกลจากร้าน San มองไปยังฝั่งตรงข้ามเยื้องกันจะเจอกับ ‘หอศิลป์สงขลา’ แห่งที่ 2 โดยแห่งแรกตั้งอยู่บนถนนกำแพงเพชรซึ่งอยู่ระหว่างการปิดปรับปรุง ที่นี่จัดแสดงนิทรรศการศิลปะสับเปลี่ยนหมุนเวียนทุกเดือน ทั้งศิลปินในแถบภาคใต้ ผลงานศิลปะของนักศึกษาจากรั้วมหาวิทยาลัย และส่งเสริมให้คนมีใจรักศิลปะได้มีพื้นที่แสดงออก สำหรับในช่วงนี้มีนิทรรศการชื่อว่า The 7th See 2 See Art Exhibition by 2 Lays Group ว่าด้วยการจัดแสดงผลงานศิลปะของกลุ่มอาจารย์และนักวิชาการทางด้านศิลปะในเขตพื้นที่ภาคใต้ทั้งหมด 10 ท่าน ที่เปิดเผยถึงความเป็นตัวตนของอาจารย์แต่ละท่านอย่างเรียบง่ายตรงไปตรงมา นิทรรศการจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน – 20 กรกฎาคม 2566 ที่จะถึงนี้
ปิดท้ายวันอย่างมีคุณภาพด้วยบาร์ชิลๆ สักที่เพื่อให้เข้ากับวัฒนธรรมของคนรุ่นใหม่ในสงขลา ซึ่งมักจะเป็นการพบปะสังสรรค์ในแหล่งคอมมูนิตี้ของคนที่มีไลฟ์สไตล์คล้ายกัน อย่างน้อยก็เช่นการกินดื่มและฟังเพลง เหมือนกับ 22 Nakhonnok Listening Bar ของปอและยูโกะ บาร์แนวอบอุ่นโคซี่ที่ไม่อึดอัด เสิร์ฟเครื่องดื่มรสชาติเบาๆ อย่างจินผสมชาอู่หลงแบบโฮมเมด เหล้ารัมที่ให้กลิ่นและรสเผ็ดจากพริกเป็นตัวชูโรง และคอมบูชาไว้สำหรับคนที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์
ความพิเศษที่ต่างจากบาร์อื่นคือเปิดเพลงด้วยแผ่นไวนิลทั้งสไตล์ดิสโก้ โซลฟังก์ อะโฟรบีต อินดี้ป๊อป แจ๊ซ ไทยป๊อปยุค 80 ฯลฯ มากกว่าหนึ่งพันแผ่นภายในร้าน และยังมีดีเจจากพื้นที่ใกล้เคียงและประเทศเพื่อนบ้านหมุนเวียนกันมาเปิดแผ่นเพลงเสริมบรรยากาศให้รอบตัวสนุกขึ้น หรือถ้าใครอยากนั่งหลบมุมเงียบๆ หลับตาฟังเพลงปล่อยใจให้อยู่เหนือความเป็นจริงเพียงครู่เดียวก็ไม่มีใครว่า …ที่นี่พร้อมต้อนรับ