Relocal Christmas Tree
เปิดเบื้องหลัง Relocal Christmas Tree ต้นคริสต์มาสหัตถกรรมไทยแห่งปี 2024
Relocal Christmas Tree คือต้นคริสต์มาสที่คิง เพาเวอร์จับมือกับดีไซเนอร์ไทย ศรัณย์ เย็นปัญญา หยิบงานหัตถกรรมไทยทั้งพัด กระด้ง และกระจาด กว่า 25,000 ชิ้น สร้างสรรค์เป็นต้นคริสต์มาสสูงกว่า 7 เมตร
เทศกาลคริสต์มาสปี 2024 กำลังจะมาถึงแล้ว เรียกว่าเป็นช่วงเวลาในดวงใจของหลายคนที่จะได้เริ่มต้นฉลองส่งท้ายปีเก่า และต้อนรับปีใหม่ท่ามกลางลมหนาวที่ชื่นชอบ
ในปีนี้ มีต้นคริสต์มาสต้นหนึ่งในประเทศไทยที่แตกต่างออกไปไม่เหมือนใคร เพราะไม่เคยมีใครทำมาก่อนบนโลก!!!
เรากำลังพูดถึงต้นคริสต์มาสที่เรียกว่า “RELOCAL CHRISTMAS TREE” กับการหยิบผลงานด้านหัตถกรรมพื้นบ้านไทยร่วม 25,000 ชิ้น มาประกอบร่างเป็นต้นคริสต์มาสแปลกตา ที่ได้เห็นไม้ไผ่กลายเป็นต้นคริสต์มาสแทนที่จะเป็นต้นสน
นอกจากความแปลกตา และไอเดียสุดว้าวด้านดีไซน์ คริสต์มาสต้นนี้ยังแฝงไว้ด้วยความตั้งใจต่างๆ จากผู้สร้างสรรค์งาน เพื่อหวังให้งานคริสต์มาสปีนี้มีความหมายมากกว่าแค่การเฉลิมฉลอง แต่ช่วนให้เราย้อนกลับมามองคุณค่าของสังคมอีกด้วย
มีเบื้องหลังน่าสนใจมากมายเกี่ยวกับต้นคริสต์มาสแสนพิเศษต้นนี้ ONCE จึงขอพาทุกคนไปเจาะความหมายของต้นไม้ต้นนี้ในทุกแง่มุม ทั้งศิลปะ แรงบันดาลใจ ไปจนถึงความรู้สึกดีๆ ที่อยากส่งต่อให้สังคม ติดตามเรื่องราวเหล่านี้ไปกับเราได้เลย (อย่าลืมคลิกอ่านความลับของต้นไม้ต้นนี้ตามภาพได้เลยนะ)
ใครที่อยากไปรับชมต้นไม้ต้นนี้ด้วยตาของตัวเอง ก็สามารถเดินทางไปที่คิง เพาเวอร์ สาขาถนนรางน้ำได้ กับงานกิจกรรมเฉลิมฉลองเทศกาลแห่งความสุขส่งท้ายปี “THE POWER OF FUNTASTIC CELEBRATION 2025” ด้วยการเนรมิตงานเฉลิมฉลองเฟสทีฟแบบไทยๆ ตั้งแต่วันนี้ยาวไปจนถึง 31 ธันวาคม 2567
นอกจากต้นคริสต์มาสยักษ์ ยังมีศิลปินเพลงชั้นนำของไทยขึ้นทำการแสดง รวมถึงอาหาร และเครื่องดื่มดีๆ มากมายภายในงาน ใครมีวันว่าง ยังไม่รู้จะไปฉลองคริสต์มาสที่ไหน ก็มาฉลองช่วงเวลาดีๆ ส่งท้ายปีแบบนี้ กับต้น RELOCAL CHRISTMAS TREE ที่คิง เพาเวอร์ รางน้ำกันนะ
[RELOCAL CHRISTMAS TREE
งานศิลปะสุดยิ่งใหญ่จากเครื่องสานไทย]
ต้นคริสต์มาส “RELOCAL CHRISTMAS TREE” ถือเป็นต้นคริสต์มาสที่สรรค์สร้างจากสินค้างานจักสานของไทยรวมกันกว่า 25,000 ชิ้น ประกอบด้วยพัดดอกสานที่ถือเป็นพระเอกของงาน กับการเปลี่ยนร่างเป็นใบไม้ของต้นคริสมาสต์แทนใบต้นสน แต่ในแบบฉบับของต้นคริสมาสต์ไทยๆ รอบนี้ เราได้พัดสานแบบไทยแตกกิ้งก้านสาขาออกไปแทน
นอกจากนี้ ยังมีกระด้งไม้ไผ่ และกระจาดไม้ไผ่ที่เข้ามาเป็นตัวละครสมทบเป็นเครื่องประดับตกแต่งทั้งกับตัวต้นคริสต์มาสและฐานของต้น
เหล่าเครื่องสานที่ใช้ในการสร้างต้น Relocal Christmas Tree มาจากชุมชนผลิตสินค้าหัตถกรรมในไทยร้อยเปอร์เซนต์ ทั้งในจังหวัดอยุธยา, ชลบุรี, อุบลราชธานี และเชียงใหม่ เรียกได้ว่าเกือบทุกภูมิภาคของไทยเลยทีเดียว
ต้นคริสต์มาสที่กำลังตั้งตระหง่านอยู่ที่ซอยรางน้ำ มีความสูงถึง 7 เมตร ถือว่าเป็นหนึ่งในต้นคริสต์มาสที่ใหญ่ที่สุดของไทยในปีนี้ นอกจากความสูงใหญ่ของต้นแล้ว ความยิ่งใหญ่ของส่วนประกอบในต้นนี้ก็ถือว่าไม่แพ้กัน เนื่องจากการสร้างสรรค์ต้นไม้ต้นนี้ ทำให้ต้องใช้พัดสานของไทยมากมายกว่า 20,000 ชิ้น ซึ่งถือว่าเป็นการสรรค์สร้างชิ้นงานที่ใช้จำนวนพัดสานไทยเยอะที่สุดแล้ว
ศรัณย์ เย็นปัญญา ดีไซเนอร์ผู้ออกแบบ เปิดเผยว่า ทุกอย่างออกมาอลังการกว่าที่วางภาพเอาไว้ในหัวเสียอีก และสะท้อนเอกลักษณ์ในสไตล์ที่ดีไซเนอร์คนนี้เรียกว่า “OTOP Hybrid” ออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม
เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่คือต้นคริสต์มาสที่มีเอกลักษณ์ และความคิดสร้างสรรค์ที่สุดของไทย ใครสนใจก็แวะไปเยี่ยมชมกันได้ที่ คิง เพาเวอร์ รางน้ำ ได้เลย
[ต้นคริสมาสต์กับเสน่ห์งานหัตถกรรมไทย]
“ผมไม่ได้คิดถึงเรื่องเอาความเป็นตะวันตกผสมกับความเป็นตะวันออก หรือเอาความเป็นตะวันออกผสมกับความเป็นตะวันตกอะไรพวกนั้นเลย ผมแค่มองว่าพัดสานเป็นสิ่งของใกล้ตัว ถ้าเอามาประกอบกันเป็นต้นคริสต์มาส มันก็คงได้มั้ง” ศรัณย์เผยกับ ONCE
เขาเล่าให้เราฟังว่า เป็นคนชอบหยิบสิ่งของถูกๆ สิ่งที่คนในสังคมมองว่าไม่ได้มีคุณค่าอะไร มาปรับเปลี่ยนมุมมอง และสร้างสรรค์งานออกแบบที่ต่างออกไป ซึ่งในมุมของดีไซเนอร์คนนี้ ก็เห็นว่าเครื่องจักรสานไทยเป็นแบบนั้น
“พัดไทยราคาประมาณ 20-30 บางเองครับ ก็คือถูก คนก็ไม่ได้คิดว่าเป็นของที่ดูหรูหรา คือคนส่วนใหญ่ไม่ได้พกพัดสานไปเดินเที่ยว หยิบมาพัดตอนอากาศร้อน”
“แต่สำหรับผม ผมมองว่ามันสวย และมันคุ้นตากับคนไทย จริงๆ พัดสานพวกนี้คือสิ่งของที่ใกล้ตัวคนไทย และถ้าเรามองพัดสานไทย จริงๆ ก็มีลวดรายทรงใบโพธิ์ ผมคิดว่ามันก็คงทำได้” ศรัณย์กล่าว
ในความเป็นจริงแล้วพัดที่ใช้สร้างสรรค์ต้นคริสต์มาสใหญ่ยักษ์ต้นนี้ก็ไม่ได้มีแค่ลายใบโพธิ์อย่างเดียว หรือมีลวดลาย และรูปทรงในรูปแบบเดียว ความจริงแล้วไม่มีส่วนประกอบอะไรในต้นไม้นี้ที่ดูไปทิศทางเดียวกัน ทุกอย่างดูแตกต่าง กระจัดกระจาย เหมือนเพียงแค่มารวมร่างกันเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม ศรัณย์เปิดเผยว่า นี่คือเสน่ห์ของมัน
“งานของผมจะเน้นความรู้สึกแบบออกมาคุ้นแต่ว่าไม่คุ้น คือต้นไม้ต้นนี้มันมีความเข้ากันแต่ไม่เข้ากัน เพราะผมมองว่าเสน่ห์ของงานหัตถกรรมคือการไม่ปรุงแต่ง อย่างพัดที่เราเอามาใช้ลวดลายคล้ายกัน แต่สีก็ไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นงานจากอุบลราชธานีสีสันก็จะสดใส ถ้าเป็นชลบุรีก็จะดูมีความละเมียดละไม หรือถ้าเป็นอยุธยาก็จะดูมีความทันสมัยมากกว่าที่อื่น”
“ผมมองว่าลวดลายพัดไทยให้ความรู้สึกเหมือนกระเบื้องโบราณของรัสเซีย หรือโมร็อคโก ซึ่งงานนี้เราไม่ได้เปลี่ยนแบบอะไรเลย เราใช้ของตามที่ชาวบ้านขายจริงทุกชิ้น”
“ก็มีคนบอกพอได้เห็นงานคริสมาสต์ต้นนี้ว่า ‘พัดไทยสวยขนาดนี้เลยเหรอ?’ ผมก็ดีใจที่เสน่ห์ของพัดไทยยังอยู่ เพราะว่าไม่ได้เปลี่ยนอะไรแค่เปลี่ยนวิธีใช้คนก็มองเปลี่ยนไป”
[คริสต์มาสเพื่อความยั่งยืน]
นอกจากเป้าหมายเพื่อช่วยพัฒนาท้องถิ่นไทย RELOCAL CHRISTMAS TREE ได้แฝงถึงประเด็นความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมในสังคม ผ่านการตั้งคำถามว่าจริงๆ แล้ว ต้นคริสต์มาสมีประโยชน์จริงแค่ไหนกับโลกของเรา หากตัดความสำคัญทางเทศกาลออกไป
“ผมเคยออกแบบต้นคริสต์มาสประหลาดๆ หลายต้นแล้วครับ” ศรัณย์เล่าเรื่องราวให้ฟัง “ทุกครั้งที่ทำก็จะต้องถามว่า ‘คริสต์มาสแค่แป๊บเดียวเอง แล้วหลังจากนี้ต้นไม้จะโดนเอาไปทำอะไรต่อ?’ มันเอาไปเก็บได้ยังไง หรือทิ้งได้ยังไง คำถามนี้กวนใจผมมาก กับการทำต้นคริสต์มาสทุกชิ้นที่เคยผ่านมา”
ด้วยเป้าหมายที่อยากให้ต้นคริสต์มาสต้นนี้มีความหมายกับทุกคน ไม่ใช่แค่กลุ่มคนที่ได้มีส่วนร่วมในการสร้างผลงานชิ้นนี้ ทำให้ไอเดียที่ดีสุดคือการสร้างสรรค์ต้นคริสต์มาสยักษ์ต้องส่งต่อประโยชน์อย่างยั่งยืน แม้ว่าเทศกาลจะจบลงไปแล้ว
พัดสานไทยจึงเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ เพราะพัดที่นำมาใช้ประกอบสร้างต้นคริสต์มาสแบบไทย จะถูกนำไป reuse หรือใช้ใหม่อีกครั้งในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นถูกผลิตใหม่เป็นสินค้าอีกครั้ง รวมไปถึงใช้เป็นของแจก และของตกแต่งในอนาคต ซึ่งทางคิง เพาเวอร์ แย้มๆ ว่า อาจได้เห็นพัดสานไทยกลับมาในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของปีหน้า
ขณะเดียวกันพัดบางส่วนที่จะต้องทิ้ง ก็ถือว่าเป็นวัตถุย่อยสลายได้ง่าย และส่งผลดีกับสิ่งแวดล้อมในระยะยาวมากกว่าของทั่วไปที่ใช้ทำต้นคริสต์มาสโดยปกติ
“ผมอยากให้ทุกอย่างมันกรีนจริงๆ เพราะงานนี้เราทำกับชุมชนก็อยากให้ทุกอย่างมันดีสำหรับทุกคน อย่างงานนี้ผมย้ำเลยว่า พัดที่เอามาใช้สร้างต้นคริสต์มาสต้องเอาไปทำอย่างอื่นต่อให้ได้จริงๆ”
“ผมอยากให้งานนี้เป็นงานแรกที่เราแสดงว่า มันสามารถเป็นวงกลมที่เกิดขึ้นได้จริง สิ่งที่เราเอามาใช้สร้างเป็นต้นคริสต์มาสามารถเอาไปใช้ต่อได้จริง”
[CHRISTMAS TREE
ที่ RE ประโยชน์กลับสู่ LOCAL]
หากเรามองถึงชื่อต้นคริสต์มาสแสนมีเสน่ห์ต้นนี้ เราก็จะได้เห็นคำว่า Relocal ซึ่งคำว่า “Local” จากภาษาอังกฤษสื่อความหมายถึงคำว่า “ชุมชนท้องถิ่น” ในภาษาไทย ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการสร้างสรรค์ต้นนี้ขึ้นมา ชุมชนท้องถิ่นที่ทำงานหัตถกรรมพัดสานต่างๆ ก็คือคนสำคัญในโปรเจ็กต์นี้ไม่แพ้กัน
“ปีนี้ผมทำงานกับชุมชนเยอะ ก็เลยอยากทำอะไรเพื่อคนอื่นบ้าง ซึ่งทาง คิง เพาเวอร์ ปกติก็ทำอะไรกับชุมชนอยู่แล้ว ก็มาคุยกันว่า อยากทำงานนี้โดยให้ประโยชน์กับชุมชนด้วยได้ไหม?”
“ตอนทำโปรเจ็กต์ผมลงไปคุยกับคุณลุงคุณป้าในพื้นที่ชุมชน ผมค้นพบว่าความเป็นอยู่ในชีวิตของพวกเขายังไม่ดีสักที ผมก็อยากทำอะไรที่มันยั่งยืน ช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนในระยะยาว ไม่ใช่แค่มีออเดอร์เข้ามาแล้วหายไป อยากให้ประโยชน์อยู่กับพวกเขาจริงๆ”
ทั้งคิง เพาเวอร์ และศรัณย์ เย็นปัญญา เปิดเผยกับเราว่าสินค้ากว่า 25,000 ชิ้นที่ได้ซื้อมาสร้างสรรค์ต้นไม้ต้นนี้ไม่ได้มีการต่อรองราคาอะไรทั้งนั้น ซื้อด้วยราคาตามท้องตลาดทุกชิ้น เพื่อเป้าหมายให้ชาวบ้านได้รับรายได้ที่พวกเขาสมควรได้รับมากที่สุด
“ก็มีคอมเมนต์เขียนมาเหมือนกันนะบอกว่า ‘ออแกไนเซอร์ได้หลักแสน ชาวบ้านได้หลักสิบก็ไม่โอเคนะ’ ผมยืนยันว่าเราซื้อราคาตามจริง เราไม่ต่อราคา เราไม่เปลี่ยนลวดลายงานของชาวบ้าน เพราะเราเชื่อว่าทุกคนต้องได้ประโยชน์ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ซึ่งงานนี้ต้นน้ำก็คือชาวบ้าน”
“พวกเขาก็ดีใจนะได้ทำงานร่วมกับคิง เพาเวอร์ หรือมีออเดอร์เยอะมากมายขนาดนี้ ชาวบ้านก็ไม่เคยทำมาก่อนนะ แต่มันเจ๋งอะ เพราะรายได้ของชาวบ้านก็เพิ่มมากขึ้น” ศรันย์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ศรันย์เล่าติดตลกว่า กว่าจะได้พัดและสินค้าหัตถกรรมอื่นๆ รวมกว่า 25,000 ชิ้นกลับไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเขาและทีมงานต้องเดินทางลงชุมชนไปคลุกคลีกับชาวบ้าน เพื่อซื้อใจเหล่านักสร้างสรรค์ผลงานท้องถิ่นให้ได้
“ถ้าเราไม่ไปเขาจะส่งของไปขายในแพลตฟอร์มออนไลน์หมดครับ” ศรัณย์พูดติดตลก “เราต้องซื้อใจ เราต้องชนะใจชาวบ้านให้ได้จริง ไม่งั้นเขาจะไม่เชื่อว่าเราจะซื้อพัดไปทำไม? นี่คือเรื่องจริง ถ้าเราชนะใจไม่ได้ เราก็ไม่ได้พัดมาอยู่บนต้นนี้หรอกครับ”
“พัดพวกนี้คือสิ่งที่ชาวบ้านตั้งใจทำให้เราในระยะเวลาประมาณเดือนเดียว จริงๆ ผมก็มองว่าชาวบ้านคือคนที่สร้างสรรค์ต้นไม้ต้นนี้ขึ้นมา”