- Sleep Tourism หรือ ‘การท่องเที่ยวเพื่อการนอน’ คือประสบการณ์การเดินทางที่ออกแบบมาเพื่อปรับปรุงคุณภาพการนอนหลับโดยเฉพาะ เน้นการพักผ่อนและฟื้นฟูร่างกายมากกว่าการสำรวจจุดหมายปลายทางหรือลองสิ่งใหม่ๆ
- การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Clinical Sleep Medicine พบว่า 40% ของผู้ใหญ่มากกว่า 2,500 คนที่เข้าร่วม รายงานว่าคุณภาพการนอนหลับของพวกเขาลดลงตั้งแต่เริ่มมีการระบาดใหญ่
- โรงแรมหลายแห่งทั่วโลกกำลังตื่นตัวกับกระแสนี้อย่างมาก ด้วยการเปิดห้องและโปรแกรมพิเศษเพื่อช่วยให้นอนหลับสนิท ตั้งแต่เตียงอัจฉริยะ การบำบัดด้วยเสียง การใช้สาร CBD ตลอดผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำ
บางคนเลือกไปท่องเที่ยวสถานที่สวยงาม ตระเวนชิมอาหารอร่อยในโปรแกรมท่องเที่ยววันพักผ่อน ขณะที่วันหยุดสำหรับบางคนคือการไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ สัมผัสวิถีชุมชน เรียนรู้ประสบการณ์แปลกใหม่ แต่ไม่นานมานี้มีนักเดินทางกลุ่มใหม่ที่กำลังมองหาจุดหมายปลายทางเพื่อการนอนหลับสนิทและพักผ่อนอย่างเต็มที่ที่ไม่ใช่แค่การเลือกโรงแรมหรูราคาแพงเพื่อความสะดวกสบายเท่านั้น
Sleep Tourism หรือ ‘การท่องเที่ยวเพื่อการนอน’ อาจฟังดูแปลก แต่แนวคิดนี้กำลังเป็นเทรนด์สุขภาพใหม่มาแรง เพียงแค่เข้า TikTok และเสิร์ชแฮชแท็ก #sleeptourism มีผู้เช้าชมเกือบ 200,000 ครั้ง เช่นเดียวกับจำนวนผู้ค้นหาคำว่า ‘sleep retreats’ บน Google เพิ่มขึ้น 1,100% ระหว่างเดือน ม.ค. - ก.พ. ที่ผ่านมา ตามข้อมูลของมาร์ติน ซีลีย์ ซีอีโอและผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับของ MattressNextDay
ทำไมการท่องเที่ยวแบบธรรมดาถึงไม่เพียงพอต่อการพักผ่อนและพักฟื้นอีกต่อไป? ทำไมสถานประกอบการที่มีชื่อเสียงหลายแห่งถึงให้ความสนใจกับการเปิดตัวห้องพิเศษและคุณสมบัติ AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการนอนหลับโดยเฉพาะ?
ขอต้อนรับทุกคนสู่ยุคของการท่องเที่ยวเพื่อการนอน ณ บัดนี้!
รู้จัก Sleep Tourism
การท่องเที่ยวเพื่อการนอนคือประสบการณ์การเดินทางที่ออกแบบมาเพื่อปรับปรุงคุณภาพการนอนหลับโดยเฉพาะ ลองนึกภาพห้องพักในโรงแรมที่ออกแบบมาเพื่อกันเสียงรบกวนจากภายนอกทั้งหมด มีเตียงอัจฉริยะควบคุมอุณหภูมิและบันทึกการทำสมาธิขณะนอนหลับไว้ฟัง
มัลลิกาจัน เรดดี้ ผู้บริหารฝ่ายแม่บ้านของ The Westin Gurgaon, New Delhi บอกว่า ถึงเวลาที่โรงแรมต้องก้าวไปอีกขั้น โดยใช้สิ่งอำนวยความสะดวกที่ช่วยเพิ่มการนอนหลับ และติดตั้งระบบกันเสียงที่เป็นนวัตกรรมใหม่เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่จะช่วยให้ลูกค้าสามารถติดตามการนอนของพวกเขาได้
ความแตกต่างของการท่องเที่ยวรูปแบบนี้คือเน้นการพักผ่อนและฟื้นฟูร่างกายมากกว่าการสำรวจจุดหมายปลายทางหรือลองสิ่งใหม่ๆ แต่ก็สามารถออกแบบร่วมกับการเดินทางประเภทอื่นๆ ได้เช่นกัน เช่น การพักผ่อนในเมืองประวัติศาสตร์ที่โรงแรมหรูขึ้นชื่อเรื่องประสบการณ์การนอนอันยอดเยี่ยม
นี่จึงถือเป็นสาขาหนึ่งของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สำหรับผู้คนที่กำลังมองหาทางเลือกใหม่ในการหลีกหนีจากตารางงานที่ยุ่งเหยิง ปรับปรุงนิสัยการนอน และให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพ
ผลกระทบจากโควิด-19
“ผู้คนมักเชื่อมโยงการเดินทางกับมื้ออาหารแสนพิเศษ การเพิ่มเวลานอน สถานที่ท่องเที่ยว และสิ่งที่คุณทำระหว่างเดินทาง ซึ่งแทบจะต้องแลกกับการนอน” ดร. รีเบกกา ร็อบบินส์ นักวิจัยด้านการนอนหลับและผู้ร่วมเขียนหนังสือ “Sleep for Success!” กล่าวถึงความสนใจในอดีตของนักเดินทาง
แต่ตอนนี้เธอเชื่อว่าเพิ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการรับรู้ร่วมกันและการจัดลำดับความสำคัญของสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
การแพร่ระบาดทั่วโลกดูเหมือนจะมีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ เมื่อการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Clinical Sleep Medicine พบว่า 40% ของผู้ใหญ่มากกว่า 2,500 คนที่เข้าร่วม รายงานว่าคุณภาพการนอนหลับของพวกเขาลดลงตั้งแต่เริ่มมีการระบาดใหญ่
นี่อาจเป็นปัญหาสำคัญเมื่อพิจารณาว่า การนอนไม่เพียงพอจะส่งผลต่อสุขภาพหลายอย่าง เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดในสมอง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคอ้วน และภาวะซึมเศร้า
“ในยุคโควิด-19 มีการให้ความสนใจเรื่องการนอนหลับมากขึ้น และน่าจะเป็นเพราะคนจำนวนมากประสบปัญหา [การนอนหลับ] แบบนี้” ดร. ร็อบบินส์ มองถึงเหตุผลที่การนอนหลับกลายเป็นจุดสนใจที่สำคัญในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
จาก CBD สู่เตียงอัจฉริยะ
โรงแรมหลายแห่งกำลังตื่นตัวกับกระแสนี้อย่างมาก ในรอบปีที่ผ่านมา Park Hyatt New York ได้เปิดตัว Bryte Restorative Sleep Suite ซึ่งเป็นห้องสวีทขนาด 900 ตารางฟุตที่เต็มไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อช่วยการนอนหลับ มีจุดเด่นเรื่องที่นอน Bryte ซึ่งใช้เทคโนโลยี AI ช่วยให้แขกหายจากอาการเจ็ตแล็กและหลับได้ง่ายและนานขึ้น สามารถบันทึกการตั้งค่าการนอน รวมถึงอุณหภูมิและตำแหน่งที่เหมาะสมเพื่อลดแรงกดทับและแตะที่โปรไฟล์ของพวกเขาทุกครั้งที่กลับมา
ขณะที่ Zedwell โรงแรมที่เน้นการนอนเป็นหลักแห่งแรกในลอนดอน เปิดให้บริการเมื่อต้นปี 2563 ด้วยห้องพักพร้อมฉนวนกันเสียงที่เป็นวัตกรรมใหม่ และออกแบบให้ไม่มีหน้าต่าง แต่ตกแต่งด้วยแสงชวนหลับใหล มีอุโมงค์ส่วนตัวเชื่อมต่อโรงแรมกับสาย Piccadilly Tube เพื่อการพักผ่อนอย่างไร้กังวล ส่วนโรงแรม Mondrian ที่อยู่ใกล้กับย่าน Shoreditch มีการใช้น้ำมันจาก CBD ซึ่งเป็นสารประกอบที่สกัดจากกัญชา ขึ้นชื่อเรื่องคุณสมบัติในการคลายความเครียดและผ่อนคลาย ร่วมกับการบำบัดด้วยเสียงเพื่อปรับเปลี่ยนสภาวะการรับรู้ ส่งเสริมการผ่อนคลายและความสมดุลโดยรวมสำหรับการพักผ่อนนอนหลับสบาย
“ทุกอย่างดูเหมือนจะก้าวไปสู่การมีอายุที่ยืนยาว และฉันคิดว่านั่นทำให้สิ่งต่างๆ ดีขึ้น” มัลมิลเดอร์ กิลล์ นักสะกดจิตบำบัด การทำสมาธิและโค้ชแบบองค์รวม เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่มีต่อการนอน หลังร่วมกับ Cadogan โรงแรมในเครือ Belmond ในลอนดอน เพื่อสร้างบริการพิเศษสำหรับแขกที่มีปัญหาเรื่องการนอนที่เรียกว่า Sleep Concierge เป็นการบันทึกการทำสมาธิที่กระตุ้นการนอนหลับ เมนูหมอนพร้อมตัวเลือกที่ตอบสนองผู้เข้าพักที่อาจชอบนอนหงายหรือนอนตะแคง ตัวเลือกผ้าห่มถ่วงน้ำหนัก ชาก่อนนอนที่พัฒนาขึ้นโดยเฉพาะสำหรับบริการ
ในเมืองคูอิงบรา (Coimbra) ของโปรตุเกส The Value of Time Group ได้เปิด โรงแรม Sleep Spa แห่งแรกของโลกโดยร่วมมือกับ Hästens ผู้ผลิตเตียงยักษ์ใหญ่สัญชาติสวีเดน นอกจากความพิเศษของเตียงที่ถูกออกแบบตามหลักสรีรศาสตร์พร้อมหมอนส่วนตัวแล้ว แต่ละห้องยังสามารถเข้าถึงวิดีโอ Bed Talks สุดพิเศษโดย ดร.เอ็ดดี้ เพอร์รี ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ ซึ่งจะพูดถึงศิลปะการนอนหลับที่ดี ตั้งแต่ตำแหน่งที่แนะนำไปจนถึงการจัดการปัจจัยภายนอกที่สามารถรบกวนการนอนหลับ รวมไปถึงอาหารและความเครียด
แนวโน้มปี 2023
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่า การท่องเที่ยวเพื่อการนอนจะเติบโตมากขึ้นในปีนี้ จากปัจจัยเรื่องพฤติกรรมที่หันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้นหลังเกิดโรคระบาด บวกกับความเครียด ความเหนื่อยล้าจากการชีวิตที่เร่งรีบ วุ่นวาย และการอยู่กับหน้าจอตลอดในปัจจุบัน
“ในช่วงที่เกิดโรคระบาดทำให้วงจรธรรมชาติทั้งหมดของเราเปลี่ยนไป เราเริ่มเห็นปัญหาสุขภาพจิต โรคซึมเศร้า และความวิตกกังวลมากขึ้น และจากทั้งหมดนี้ทำให้รูปแบบการนอนหลับก็เปลี่ยนไปด้วย” วาเนสซา อินฟานเต ผู้อำนวยการสปาและสุขภาพของ Viceroy Los Cabos กล่าวถึงเทรนด์การท่องเที่ยวเพื่อการนอน
“ตอนนี้เรากำลังกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ผู้คนต่างมองหาประสบการณ์ที่ช่วยให้พวกเขาแก้ไขรูปแบบการนอน กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และออกกำลังกาย”
ส่วนประสบการณ์การเดินทางเพื่อการนอนในระยะสั้นจะส่งผลระยะยาวต่อการนอนหลับโดยรวมหรือไม่นั้น ดร.ร็อบบินส์ มองว่า การนำเครื่องมือต่างๆ มาเป็นกลยุทธ์ในการส่งเสริมการนอนเพื่อสุขภาพจะเป็นประโยชน์อย่างมหาศาล หากมีผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์เข้ามามีส่วนร่วมอย่างระมัดระวัง
เหมือนกับ Mandarin Oriental ที่เจนีวา ซึ่งร่วมมือกับ CENAS คลินิกทางการแพทย์เพื่อการนอนในสวิตเซอร์แลนด์ จัดทำโปรแกรมพิเศษศึกษารูปแบบการนอนหลับของแขกเพื่อระบุความผิดปกติในการนอนที่อาจเกิดขึ้น
แม้การท่องเที่ยวแนวนี้ส่วนใหญ่มักจะอยู่ในกลุ่มหรูหรา แต่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า โรงแรมและรีสอร์ตทุกแห่งควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และมีวิธีที่ทำได้ตามศักยภาพ เช่น การทิ้งที่อุดหูไว้บนโต๊ะหัวเตียง หรือการออกแบบห้องพักที่เหมาะสม
สุดท้ายแล้วการสร้างบรรยากาศในการนอนหรือใช้ AI เข้ามาช่วยเพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถแก้ปัญหาการนอนหลับของสังคมได้ แต่โรงแรมสามารถมีบทบาทแบบองค์รวมในการจัดลำดับความสำคัญของการพักผ่อนและให้ความรู้แก่ผู้เข้าพัก เพื่อสุขภาพที่ดีได้ เช่นเดียวกับนักเดินทางที่สามารถเลือกรูปแบบการพักผ่อนเพื่อสุขภาพได้มากขึ้นเช่นกัน
ที่มา
https://edition.cnn.com/travel/article/sleep-tourism-wellness/index.html
https://www.firstpost.com/explainers/sleep-tourism-travel-trend-2023
https://www.lifestyleasia.com/ind/whats-on/news-whats-on/sleep
https://roadbook.com/travel/sleep-tourism