- ไปทำความรู้จัก SpoGomi ทางเลือกใหม่ของกิจกรรม CSR วิ่งเก็บขยะที่ไม่เพียงเรียกเหงื่อ ดีต่อสุขภาพเท่านั้น หากยังดีต่อใจเพราะเราจะได้ช่วยสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน
หลังจากได้ยินคำนี้ SpoGomi ผ่านหู จนช็อตฟีล ถึงขั้นต้องไปตามหาคำตอบว่ามันคืออะไรหว่า? เกมส์ใหม่ แอพลิเคชั่นใหม่หรืออะไรกันแน่นะ
ในที่สุดหลังจากได้รู้ความหมาย…ไม่น่าเชื่อว่าการวิ่งเก็บขยะกลายเป็นเรื่องสนุกได้ แถมเป็นไอเดียที่เจ๋งและดือมากด้วยนะพี่จี้
ONCE จึงขอหยิบเอา 19 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ SpoGomi มาเล่าสู่กันฟัง
• “SpoGomi” (スポゴミ) เป็นการรวมกันของคำว่า “Sport”ที่แปลว่ากีฬา และคำว่า “Gomi” ที่แปลว่าขยะในภาษาญี่ปุ่น รวมกันก็คือ วิ่งเก็บขยะ นั่นเอง แล้วการเก็บขยะจะกลายมาเป็นกีฬาได้อย่างไรกันนะ?
• กีฬานี้เริ่มจัดขึ้น เมื่อปี 2008 โดย เคนอิชิ มามิตสึกะ (Kenichi Mamitsuka) ชาวญี่ปุ่นผู้รักการวิ่งออกกำลังกายเป็นงานอดิเรก เขามองเห็นหนทางในการช่วยลดปัญหาขยะ โดยผนวกการวิ่งพร้อมกับเก็บขยะไปด้วย
• จุดประสงค์แรกทีเดียวก็เพื่อสร้างค่านิยมในการเก็บขยะและแยกขยะ สร้างการเรียนรู้ร่วมกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้แพร่หลายและเข้าถึงกลุ่มคนอย่างทั่วถึงมากขึ้น ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า SpoGomi เป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากผู้ร่วมแข่งขันส่วนใหญ่ที่เป็นนักเรียน ม.ปลาย จากนั้นก็ค่อยๆ ขยายไปยังกลุ่มอาสาสมัคร กลุ่มคนทำงาน องค์กรต่างๆ ในญี่ปุ่น
• กติกาการแข่งขัน คือจะมีการแบ่งทีม โดยแต่ละทีมจะต้องแข่งขันกันเพื่อสะสมคะแนนตามจำนวนและประเภทของขยะที่เก็บได้ในพื้นที่ที่กำหนดภายในเวลา การเก็บคะแนน เช่น ขยะชิ้นใหญ่อย่างขวดหรือกระป๋องจะได้ 10 แต้มต่อ 100 กรัม ส่วนขยะชิ้นเล็ก ๆ ที่เก็บยากจะได้ 100 แต้มต่อ 100 กรัมเป็นต้น
• หรือแบ่งแต่ละทีมที่มีผู้เล่น 3 คน จะมีเวลา 60 นาที ในการรวบรวมขยะให้ได้มากที่สุดจากพื้นที่ที่กำหนด รวมถึงต้องพยายามคัดแยกขยะลงถุงให้ถูกต้องตามรหัสสีของขยะแต่ละประเภท (ขยะที่เผาได้, พลาสติกรีไซเคิล, กระป๋องโลหะ, อื่น ๆ)
• นับแต่ครั้งนั้น ก็เริ่มมีการแข่งขันจัดขึ้นในหลายพื้นที่ มีการตั้งกฎการแข่งขันมากยิ่งขึ้น เช่น ห้ามเก็บขยะใกล้กับถนนหรือรางรถไฟ ไปจนถึงกฎเกี่ยวกับการมีน้ำใจนักกีฬา เช่น การให้ความเคารพทีมอื่น
• ปัจจุบัน SpoGomi อยู่ภายใต้ มูลนิธิ Nippon Foundation มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาทางทะเลผ่านโครงการ CHANGE FOR THE BLUE Umi to Nippon Project (โครงการมหาสมุทรกับญี่ปุ่น) ซึ่งเป็นต้นแบบวิธีการลดปริมาณขยะในท้องทะเลด้วยความร่วมมือจากผู้ถือผลประโยชน์ร่วมจากภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ สถานศึกษา และภาคเอกชน
• หลายองค์กรของญี่ปุ่นก็เลือกใช้ SpoGomi เป็นกิจกรรมที่ให้คนในองค์กรหรือในท้องถิ่นมารวมตัวกันเป็นทีมและทำกิจกรรมเพื่อท้องถิ่นและสังคม เป็นสิ่งที่กลุ่มอาสาสมัครในญี่ปุ่นจะเลือกทำ
• ปัจจุบัน เคนอิชิ ผู้คิดค้นกีฬานี้ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าโครงการริเริ่มกิจกรรมกีฬาเพื่อสังคมที่ ยูนิโคล (UNIQLO) เขายังพยายามผุดไอเดียคิดแคมเปญมากมายทั้งระหว่าง SpoGomi x UNIQLO ที่ล้อไปกับสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมของเมืองนั้นๆ
• อย่างเช่น กิจกรรม SpoGomi x UNIQLO ที่เกียวโต ทีมนักเรียนหญิงชั้นมัธยมได้เดินเข้าไปในเส้นทางรกร้างและเจอพื้นที่ในเมืองที่ไม่เคยคิดว่ามีอยู่มาก่อน กิจกรรมวิ่งเก็บขยะทำให้มีโอกาสปรับเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับชุมชนของตัวเองใหม่ ไม่มีใครจะอยากทิ้งขยะในสวนหลังบ้านของตัวเองอีกต่อไป
• SpoGomi x UNIQLO ที่จังหวัดนางาโนะ ซึ่งเป็นจังหวัดที่โด่งดังมากเรื่องโซบะ เด็กแถวนั้นไม่ค่อยรู้เรื่องวัฒนธรรมเกี่ยวกับโซบะสักเท่าไหร่ จึงให้เด็กๆ วิ่งเก็บขยะ บวกกับถ่ายรูปร้านโซบะที่เจอมาเพื่อรับคะแนนพิเศษ ทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ว่าเมืองของเขามีร้านโซบะเต็มไปหมด
• นอกจากนี้ ‘เคนอิชิ’ ยังมีส่วนร่วมส่งโปรเจกต์ให้กับสถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติญี่ปุ่น ได้ร่วมศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ SpoGomi สำรวจความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมแข่งขัน เป็นเวลา 2 ปี โดยถามคำถามก่อน-หลังการเข้าแข่งขัน ผ่านไป 1 เดือน จึงวิเคราะห์ผล พบว่าผู้ที่เข้าร่วมการแข่งขันส่วนใหญ่จะมีลักษณะนิสัยที่เปลี่ยนไป รักและหวงแหนสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
• ฝันใหญ่ของ ‘เคนอิชิ’ คืออยาก ให้ SpoGomi มีลีกส์อาชีพ และสามารถจัดรายการชิงแชมป์โลกได้ด้วยซึ่งในที่สุดฝันใหญ่ของเขา ใกล้เป็นความจริงขึ้นทุกที เพราะกิจกรรมดี ๆ อย่าง SpoGomi ค่อยๆ ได้รับความสนใจจากต่างประเทศ และเคยได้รับการจัดการแข่งขันในต่างประเทศหลายประเทศแล้วอีกด้วย
• ในประเทศอินโดนีเซีย มีการจัดการแข่งขัน “SpoGomi” 2 ครั้ง คือ ในกรุงจาการ์ตาและที่หาดเซมินยัคในบาหลี รวมถึงที่ประเทศเกาหลีใต้ เมียนมาร์ อิตาลี เวียดนาม ก็มีการจัดวิ่งเก็บขยะเช่นกัน
• ส่วนบ้านเรานั้น เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา กทม.เคยร่วมกับ เทศบาลมหานครโตเกียว ต้นแบบเมืองที่จัดกิจกรรมนี้ขึ้นครั้งแรก พากันยกกิจกรรมที่ว่า มาลองจัดขึ้นในไทย โดยใช้ชื่อ “Bangkok Trash Race SPOGOMI” เป็นการจัดแข่งเก็บขยะ 10 ย่านรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ณ ลานคนเมือง แต่น่าเสียดาย ครั้งนั้นยังไม่อิมแพคมากนัก เพราะอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19
• ญี่ปุ่นกำลังจะเป็นเจ้าภาพ SPOGOMI WORLD CUP 2023 ซึ่งเป็นการแข่งขันเก็บขยะระดับโลกครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อส่งเสริมการรับรู้เกี่ยวกับกีฬา Spogomi ให้แพร่หลายในระดับสากลผ่านการแข่งขัน World Cup
• มีทีมตัวแทนจากทั่วโลกออกตระเวนวิ่งเก็บขยะ เป็นการจัดการแข่งขันรอบคัดเลือกขึ้นใน 47 จังหวัดและพื้นที่เขตเมืองทั่วประเทศ เพื่อเฟ้นหาตัวแทนทีมชาติญี่ปุ่นลงแข่งขันในทัวร์นาเมนต์รอบสุดท้าย นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะจัดการแข่งขันรอบคัดเลือกเพิ่มเติมอีกใน 20 กว่าประเทศครอบคลุมทั้ง 6 ทวีปทั่วโลก
• ในบ้านเราเองที่ผ่านมาก็มี “SPOGOMI WORLD CUP 2023 THAILAND STAGE” เมื่อ 1 – 2 กรกฎาคม 2566 ณ พาร์ค พารากอน เพื่อร่วมเฟ้นหาตัวแทนประเทศไปแข่งขันชิงแชมป์เก็บขยะโลกที่ประเทศญี่ปุ่น โดยบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ร่วมกับ จี-ยู ครีเอทีฟ เบื้องต้นมีผู้สนใจสมัครเข้าแข่งขันแล้ว รวมทั้งสิ้นจำนวน 60 ทีม
• SpoGomi ในไทยจะมีการปล่อยตัวผู้เข้าแข่งขัน ณ สยามพารากอน เพื่อเดินไปเก็บขยะในพื้นที่รัศมี 1.5 กิโลเมตร โดยรอบสยามพารากอนตามเส้นทางที่กำหนดภายในระยะเวลา 1 ชม. และกลับมาแยกขยะภายในระยะเวลา 20 นาที ซึ่งขยะที่เก็บมาทั้งหมดจะต้องนำมาแยกประเภท 4 ประเภท ได้แก่ ขยะพลาสติก ขยะขวดแก้ว/กระป๋องอะลูมิเนียม ขยะกระดาษ และขยะก้นกรองบุหรี่ โดยจะมีคะแนนตามสัดส่วนที่กำหนด จากนั้นขยะทั้งหมดจะถูกนำไปเข้าสู่การบริหารจัดการขยะอย่างถูกต้องและเกิดประโยชน์สูงสุด
นับเป็นกิจกรรมกีฬาที่มีทั้งความสนุกและสร้างประโยชน์ สามารถนำไปปรับใช้ในสถานศึกษา องค์กรต่างๆ ซึ่งเป็นแรงจูงใจให้คนทุกเพศ ทุกวัยสามารถเข้าถึงการมีส่วนร่วมในการช่วยกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันเพื่อคืนความสมดุลให้ธรรมชาติ และทำให้โลกน่าอยู่ยิ่งขึ้นได้ด้วย
เครดิตภาพ : https://spogomi-worldcup.org/
อ้างอิง
• https://www.spogomi.or.jp
• https://www.weforum.org/agenda/2019/08/the-japanese-have-a-word-to-help-them-be-less-wasteful-mottainai/