About
TRENDS

Vaccine Passport จริงหรือแค่ฝัน?

Vaccine Passport เรื่องจริงหรือแค่ฝัน?

เรื่อง OST Date 14-02-2021 | View 1958
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • Vaccine Passport เป็นความหวังใหม่ ที่จะช่วยเปิดทางให้ธุรกิจท่องเที่ยวกลับมาสดใส หลังจากที่หลายประเทศได้รับการทดลองฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปบ้างแล้ว
  • แม้ว่า WHO จะยังไม่ไฟเขียวแนวคิด Vaccine Passport เพราะความไม่สมบูรณ์ของผลการทดลองวัคซีนทุกตัวที่แจกจ่ายไปแล้ว แต่ก็ยังมีท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้
  • ยังเป็นที่จับตามองว่า Vaccine Passport จะเป็นบัตรผ่านที่รุกล้ำความเป็นส่วนตัวมากเกินไปหรืออาจสร้างความไม่เท่าเทียมระหว่างผู้ที่ได้รับวัคซีนกับผู้ที่ยังเข้าไม่ได้ จนกลายเป็นข้อจำกัดเสรีภาพในการเดินทางโดยไม่ได้ตั้งใจ

เมื่อไวรัสโควิด-19 มาเยือนในช่วงต้นปี 2563 สะบั้นแผนเที่ยวต่างแดนของคนไทยกว่า 11 ล้านคน ที่เคยข้ามน่านฟ้าไปท่องเที่ยวในปีก่อนหน้า ณ เวลานั้น ย่อมไม่มีใครคาดคิดว่า ไวรัสจะสะกดการเดินทางต่างประเทศให้สงบนิ่งมาครบหนึ่งปีเต็มได้

จนกระทั่งเปิดศักราชใหม่รับ 2564 มีข่าวดีที่มาชุบชูจิตใจนักเดินทาง เมื่อหลายประเทศเริ่มทยอยฉีดวัคซีนให้กับประชากรของตัวเอง ปักหมุดสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd immunity) ด้วยการให้ประชากรจำนวนที่เหมาะสมได้รับวัคซีนป้องกันโรคภายในปีนี้

vaccine covid-19

วัคซีน…ความหวังของการท่องเที่ยว

วัคซีนนับหลายล้านโดสช่วยปลุกแวดวงท่องเที่ยวให้คึกคัก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่มีความคืบหน้าในโปรแกรมการฉีดวัคซีนประชากรแล้ว นำโดยสหภาพยุโรป (อียู) ที่มีประเทศโต้โผอย่าง ‘กรีซ’ ซึ่งชูธง ‘เปิดประเทศ’ โบกสะบัด ด้วยความหวังใช้วัคซีนเหล่านี้เป็นใบเบิกทาง

กรีซช่วงชิงจังหวะประกาศแผน ‘Safe travel’ เตรียมเปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้งในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ ขณะที่ Kyriakos Mitsotakis นายกรัฐมนตรีของประเทศ ยังเป็นโต้โผชักนำมิตรสหายในอียูให้ร่วมจัดทำแผนแม่บท Vaccine Passport ร่วมกันทั้งภูมิภาค ในการประชุมสหภาพยุโรปในเดือนมกราคมที่ผ่านมา

ท่าทีของกรีซไม่ใช่เรื่องเหนือคาด เพราะจีดีพีของประเทศพึ่งพาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในสัดส่วนกว่า 20% แม้ว่าประเทศอื่นที่จีดีพีท่องเที่ยวสูงติดลมบนจะยังมีท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้ แต่ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ ย่อมถูกจับตามองในฐานะต้นแบบที่หลายประเทศพร้อมเดินตาม หากนำมาซึ่งการกอบกู้เศรษฐกิจท่องเที่ยวที่พังครืนขึ้นมาได้ใหม่

หัวใจหลักของ Vaccine Passport

แนวคิดเรื่องวัคซีน มีความสำคัญในการนำมาหักล้างความจำเป็นที่รุงรังและเป็นอุปสรรคมาตลอดอย่าง ‘การกักตัว 14 วัน’ ที่เกือบทุกประเทศจำต้องขึงมาตรการนี้เพื่อคัดกรองคนเข้าประเทศ เพราะในรอบปีที่ผ่านมา มาตรการกักตัวนี้ได้พิสูจน์ชัดแล้วว่า แทนที่จะเชื้อเชิญ กลับกลายเป็นเป็นมาตรการ ‘ไล่แขก’ โดยเฉพาะจากตลาดระยะใกล้ (Short haul) เน้นพำนักระยะสั้น ที่ไม่อาจเดินทางได้เลยตราบใดที่มีข้อบังคับนี้

ทว่า กระทั่งแผน Safe Travel ของกรีซที่ดูล้ำหน้า แต่ในช่วงเริ่มต้นนั้น การเปิดประตูยังมีข้อจำกัด เพราะรัฐบาลกรีซประกาศว่าจะอนุญาตเฉพาะประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนในระดับสูงเท่านั้น เช่น อังกฤษ ที่เผชิญการระบาดสาหัสที่สุด แต่เริ่มแก้เกมด้วยการฉีดวัคซีนอย่างรวดเร็ว จนประเมินกันว่าจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นภายในกลางเดือนกรกฎาคม

รวมถึงมองเป้าหมายนักท่องเที่ยวจาก ‘อิสราเอล’ ที่มีประชากรราว 9 ล้านคน และหนึ่งในสี่หรือราว 3.4 ล้านคนก็ได้รับวัคซีนไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐบาลกรีซและอิสราเอลเพิ่งบรรลุข้อตกลงร่วมกัน ในการอนุญาตให้ประชากรสองประเทศเดินทางไปมาหาสู่กันอย่างอิสระ แบบไม่ต้องกักตัว เพียงแค่มีข้อมูลยืนยันว่าได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นที่เรียบร้อย

ทว่าแม้จะมีหลักฐานรับรองว่าฉีดวัคซีนแล้ว ในเบื้องต้นยังต้องคงข้อกำหนดเดิม อาทิ ผลตรวจปลอดไวรัสภายใน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง เพื่อให้แน่ใจว่าเมื่อไม่กักตัวนักท่องเที่ยวแล้ว จะไม่นำมาซึ่งความเสี่ยงแพร่ไวรัสในประเทศ เพราะแม้จะมีวัคซีน แต่เนื่องจากผลการทดลองประสิทธิภาพยังไม่ถึงจุดสิ้นสุด จึงยังไม่อาจยืนยันผลร้อยเปอร์เซนต์ว่าไวรัสร้ายจะถูกสยบจากโลกได้จริง

ข้อกังขาที่ถูกจับตามอง

ปัญหาข้อนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาโดยพี่ใหญ่อย่าง องค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ออกมาคัดค้านแนวคิด Vaccine Passport ว่า ‘ยังไม่ควรเกิดขึ้นในขณะนี้’ เพราะความไม่สมบูรณ์ของผลการทดลองวัคซีนทุกตัวที่แจกจ่ายไปแล้ว

WHO ระบุว่ายังไม่มีใครรู้ถึงประสิทธิที่แน่ชัดตราบเท่าที่เวลายาวนานกว่านี้จะเป็นเครื่องพิสูจน์ และยังไม่รู้ด้วยว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วสามารถเป็นพาหะนำโรคหรือไม่ อีกทั้งการผลิตวัคซีนให้เพียงพอกับความต้องการนั้นยังมีข้อจำกัด ดังที่เกิดปัญหาการยื้อแย่งโควต้าวัคซีน AstraZeneca กันขึ้นแล้วระหว่างสหภาพยุโรปกับอังกฤษตั้งแต่ช่วงต้นปี

vaccine covid-19แม้ WHO จะยกป้ายห้ามทัพนักท่องเที่ยว ทว่าท่าทีขององค์กรในทางปฏิบัติกลับกลายเป็นการแบ่งรับแบ่งสู้มากกว่าเพราะในทางกลับกัน WHO เคยไปลงนามข้อตกลงกับประเทศเอสโตเนียตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อร่วมมือพัฒนาใบรับรองวัคซีนแบบดิจิทัลที่เรียกว่า ‘Smart Yellow Card’ ที่หยิบยืมแนวคิดมาจากหนังสือปกเหลืองที่มีไว้รับรองการฉัดวัคซีนไข้เหลือง และใช้เป็นหลักฐาน ‘ต้องมี’ เมื่อไปเยือนประเทศในแอฟริกาและอเมริกาใต้ที่มีการแพร่ระบาดของโรคนี้

ดังนั้น จึงเชื่อว่าในวันข้างหน้า WHO เองก็อาจต้องเปิดไฟเขียวให้ทั่วโลกริเริ่มใช้ Vaccine Passport ส่วนกระบวนการและขั้นตอนจะเป็นอย่างไร แล้วหากประเทศไหนไม่เริ่ม จะทำให้ตกขบวนกู้ชีพอุตสาหกรรมท่องเที่ยวหรือไม่? อาจเป็นคำถามที่ชวนให้ต้องเร่งหาคำตอบกันตั้งแต่วันนี้

ใครรับรองหลักเกณฑ์?

ปัจจุบันเริ่มมีหลายประเทศและบางสายการบิน เริ่มถามหาหลักฐานการฉีดวัคซีนเป็นก่อนการเดินทางแล้ว เช่น สายการบินแควนตัส ในออสเตรเลีย ที่ออกมาระบุว่า ในอนาคตจะอนุญาตเฉพาะคนที่ฉีดวัคซีนให้ขึ้นเครื่องบินได้เท่านั้น

นักเดินทาง

ส่วนบริการเรือสำราญ Saga Cruises จากอังกฤษ ธุรกิจที่เป็นเหยื่อของไวรัสตั้งแต่ช่วงต้นๆ ก็ประกาศชัดเช่นกันว่า ขอรับเฉพาะคนที่มีภูมิคุ้มกันจากวัคซีนเท่านั้น

แต่ใครจะเป็นคนร่างหลักเกณฑ์ Vaccine Passport?
หากเทียบเคียงกับกรณีใกล้เคียงที่สุดคือ ไข้เหลือง ก็ต้องชี้เป้ากลับไปที่ WHO ซึ่งเคยทำหน้าที่รับรองหนังสือปกเหลือง (Yellow Card) หรือที่รู้จักเป็นทางการว่า International Certificate of Vaccination ให้เป็นหลักฐานบังคับใช้สำหรับนักเดินทาง ก่อนได้รับอนุญาตเข้าสู่พื้นที่ๆ มีการระบาดของโรค

แม้ว่า WHO ยังประกาศไม่รับหน้าที่ดังกล่าวกับไวรัสตัวใหม่ แต่รัฐบาลหลายประเทศ และภาคเอกชนกลับไม่ได้นั่งรอเงียบๆ แต่เริ่มผลักดันและทดลองระบบ Vaccine Passport หรือที่บางครั้งถูกเรียกว่า Immunity Passport กันบ้างแล้ว

vaccine passport

แต่แทนที่จะใช้กระดาษเหมือนที่ผ่านมา ทุกโครงการที่อยู่ในช่วงทดลอง ณ ปัจจุบัน ต่างหันมาขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ใช้เครื่องมืออิเลคทรอนิคส์รวบรวมข้อมูล เชื่อมต่อหลักฐานการฉีดวัคซีนและสถานะสุขภาพของผู้เดินทางไว้ในแหล่งข้อมูลเดียว เพื่อสะดวกให้ประเทศต้นทางและจุดหมายปลายทางดำเนินการตรวจสอบได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

vaccince approved

บัตรผ่านดิจิทัล ของมันต้องมี

โครงการที่มีความคืบหน้าแล้ว อาทิ CommonPass ผ่านการผลักดันของ World Economic Forum ซึ่งอ้างว่ามีหน่วยงานรัฐและเอกชนกว่า 350 แห่งจาก 52 ประเทศที่ให้ความร่วมมือ ขณะนี้อยู่ดำเนินการอยู่ในช่วงทดลองระบบ

ส่วนระดับประเทศนั้น รัฐบาลอิสราเอลประกาศออก Green Passport ให้กับผู้ที่ได้รับการรับรองว่าฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ครบสองโดสแล้ว และนำข้อตกลงนี้ไปทยอยคุยกับคู่เจรจานานาประเทศ เริ่มจากกรีซที่ลงนามไปแล้ว และกำลังเจรจากับไซปรัส รวมถึงเล็งเป้าหมายใหญ่อย่างจีน

อีกความคืบหน้าที่อาจเป็นต้นแบบที่เป็นรูปธรรมได้คือ IATA Travel Pass ที่มีสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาต้า) เป็นแกนนำในการพัฒนาแอปพลิเคชันขึ้นมา หลังจากที่พบว่าสายการบินทั่วโลกต้องเผชิญกับความถดถอยครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมการบิน

เมื่อมีบัตรผ่านอิเล็กทรอนิกส์ จะทำให้นักเดินทางได้รับข้อมูลนับตั้งแต่การวางแผน รู้ว่าการเดินทางไปประเทศนั้นๆ ต้องการวิธีการตรวจโรควิธีใด มีการเรียกร้องเฉพาะวัคซีนตัวใดหรือไม่ รวมถึงมาตรการจำเป็นอื่นๆ ที่ต้องรู้ อาทิ ให้ข้อมูลแหล่งที่ไปตรวจเพื่อนำผลรับรองวิ่งตรงเข้าสู่ดิจิทัลแพลตฟอร์มที่รับประกันความเป็นส่วนตัวและปลอดภัย

ไออาต้า เชื่อมั่นว่ารัฐบาลประเทศปลายทาง และสายการบินเอง ก็จะได้ประโยชน์ในแง่การตรวจสอบข้อมูลจากแหล่งที่มาได้น่าเชื่อถือ เนื่องจากนักท่องเที่ยวต้องนำแสดงหลักฐานจากการตรวจที่รัฐบาลรับรองมาแล้ว ถือเป็นการช่วยยืนยันความถูกต้องเพื่อการคัดกรองเข้าประเทศได้ในอีกระดับ

นักท่องเที่ยวยังสามารถจัดเก็บข้อมูลส่วนตัวลงในระบบดิจิทัล และเรียกใช้ได้สะดวกเมื่อจำเป็น ระหว่างขั้นตอนการตรวจเข้าเมืองและเดินทางกลับประเทศ ในอนาคตอาจมีการเชื่อมต่อระบบกับสายการบินต่างๆ ที่ออกข้อบังคับให้ผู้โดยสารต้องแสดงผลการตรวจสุขภาพ

นักเดินทางเด็ก

ด้วยความที่เป็นองค์กรกลางสำหรับสายการบินทั่วโลก IATA Travel Pass จึงได้รับความร่วมมืออย่างดีจากสายการบินชั้นนำในการทดลองระบบแล้ว อาทิ สายการบินเอมิเรตส์ และสายการบินเอทิฮัด ที่เตรียมเปิดให้ผู้โดยสารทดลองสร้างดิจิทัลพาสปอร์ตภายในไตรมาสแรกของปีนี้ ต้อนรับการเดินทางในยุคใหม่ที่จะเกิดขึ้น เมื่อประชากรโลกเริ่มได้รับวัคซีนในวงกว้าง

แต่ความร่วมมือที่ไออาต้าได้รับในระดับรัฐบาล เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรกกับประเทศปานามาเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พร้อมกับนำสายการบินโคปา แอร์ไลน์ เข้าร่วมเป็นพันธมิตรโครงการ และเป็นสายการบินจากทวีปอเมริกาสายแรกที่ร่วมทดลองด้วย

Vaccine Passport กับเรื่องที่ไร้บทสรุป

แม้ว่าแนวโน้มการทดลองของภาคเอกชนจะมีความคืบหน้า ทว่ายังปัญหาใหญ่ที่ตามมาเป็นเงา หลายประเทศในยุโรปแสดงความกังวลว่า การบังคับใช้ Vaccine Passport อาจ ‘ละเมิดความเป็นส่วนตัว’ เมื่อข้อมูลของนักเดินทางถูกรวบรวมมาจัดเก็บ และมีหน่วยงานที่สามารถล้วงลึกดูข้อมูลเหล่านั้นได้

ความกังวลอีกเรื่องคือ ‘การสร้างความไม่เท่าเทียม’ เพราะอาจเกิดการแบ่งแยกชนชั้นด้วยการใช้เรื่องวัคซีนมากีดกันเสรีภาพการเดินทางของผู้ที่ ‘เข้าไม่ถึงวัคซีน’ ทั้งโดยสมัครใจหรือไม่สมัครใจ ถือเป็นการขัดหลักสิทธิขั้นพื้นฐาน และเป็นเผือกร้อนให้สหภาพยุโรปรอถกเถียงตกผลึก ก่อนจะนำมาซึ่งบทสรุปในการสร้าง Vaccine Passport ระดับภูมิภาคร่วมกันในขั้นต่อไป

vaccine covid-19

สำหรับประเทศไทย ที่อาจเริ่มเห็นการฉีดวัคซีนให้ประชาชนทั่วไปได้ในราวมิถุนายน 2564 นั้น หากเทียบเคียงไทม์ไลน์กับประเทศต่างๆ ที่เริ่มก้าวหน้าไปไกลกว่ามากแล้ว ย่อมหมายความว่าเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะสูญเสียตลาดบางส่วนไปเมื่อเปิดเกม ‘เปิดประเทศ’ ได้ล่าช้า

เป็น ‘การบ้านข้อใหญ่’ ที่รัฐบาลอาจต้องขบคิดว่า จะรอเดินเกมแบบ ‘ช้าแต่ชัวร์’ ตามแนวทางของ WHO แล้วปล่อยให้วงการท่องเที่ยวหายใจรวยรินอีกระยะ หรือจะเริ่มจับมือกับภาคเอกชนผู้พัฒนาเทคโนโลยีและนานาประเทศ วางหลักเกณฑ์ Vaccine Passport เตรียมฟื้นตัวดีดกลับให้รวดเร็วดีกว่า

อ้างอิง

  • https://www.euronews.com/travel/2020/12/11/do-we-need-coronavirus-vaccine-passports-to-get-the-world-moving-again-euronews-asks-the-e
  • https://www.politico.eu/article/greece-agrees-coronavirus-vaccine-passport-deal-with-israel-as-trial-run/
  • https://www.voanews.com/economy-business/greece-planning-reopen-travel-june
  • https://inews.co.uk/news/health/uk-could-reach-herd-immunity-mid-july-computer-modellers-858844
  • https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-02-09/what-are-vaccine-passports-and-how-would-they-work-quicktake
  • https://www.euronews.com/2021/01/15/coronavirus-who-against-vaccine-passports-as-a-condition-for-travel-for-the-time-being
  • https://www.scmp.com/news/china/science/article/3121046/israels-green-passports-plan-could-lead-way-reviving-world
  • https://www.iata.org/en/programs/passenger/travel-pass/
  • https://www.iata.org/en/pressroom/pr/2021-01-19-01/
Tags: