About
TRENDS

Senior Power

จะแก่ก็แค่กาย เกษียณวัยก็ฟื้นเที่ยวไทยได้!

เรื่อง นิรัช ตรัยรงคอุบล ภาพประกอบ ANMOM Date 17-02-2022 | View 1814
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • เมืองไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย แต่คนส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักในเรื่องนี้ว่ามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมประเทศ
  • การศึกษาพบว่าผู้สูงอายุมี Productivity ในการทำงานมากขึ้น 10-20 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับตัวเขาเองตอนที่อายุน้อยกว่านี้
  • เมื่อผู้สูงวัยมีบทบาททั้งในฐานะคนทำงานและในฐานะนักท่องเที่ยวกลุ่มที่หลายธุรกิจกำลังสนใจ เราจะทำอย่างไรเพื่อใช้ศักยภาพของคนกลุ่มนี้ได้อย่างเต็มที่

“แก่แต่วัย หัวใจหนุ่มสาว” เมื่อผู้สูงอายุจะเข้ามากอบกู้การท่องเที่ยว เพราะพวกเขาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง

O 5

สวัสดีไทยซีเนียร์โซไซตี้

เมืองไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย แต่คนส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักในเรื่องนี้ว่ามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมประเทศ

การศึกษาพบว่าผู้สูงอายุมี Productivity ในการทำงานมากขึ้น 10-20 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับตัวเขาเองตอนที่อายุน้อยกว่านี้

Bloomberg ยังพบว่าผู้สูงอายุที่หลายบริษัทจ้างงานพยายามปรับตัวให้เข้ากับคนรุ่นใหม่มากขึ้น หรือพูดง่ายๆ ว่าอยาก “อินเทรนด์” กับเขาบ้าง

คนทำงานซึ่งอยู่ในทีมที่ประกอบด้วยคนหลายช่วงอายุจะได้เปรียบเรื่องทักษะและประสบการณ์ด้านการสื่อสาร มากกว่าอยู่ในทีมที่มีอายุไล่เลี่ยกัน

ข้อมูลล่าสุดด้านประชากรไทยพบว่าอัตราการเกิดในปี 2564 มีเพียง 544,570 คน ซึ่งต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยปกติจะมีเด็กเกิดใหม่ราว 900,000 – 1,000,000 คนต่อปี หรืออัตราต่ำสุดก่อนหน้านี้คือประมาณ 750,000 คน ที่น่าสนใจก็คืออัตราการเกิดหลังจากนี้เป็นต้นไปมีแนวโน้มที่จะลดน้อยลงกว่านี้อีก เนื่องจากความไม่นอนทางเศรษฐกิจ ความวุ่นวายเรื่องโรคระบาด รวมทั้งเทรนด์การอยู่เป็นโสด หรือไม่มีลูกแม้จะแต่งงานแล้วก็ตาม เพราะลูกถือว่าเป็นหนึ่งชีวิตที่ต้องรับผิดชอบอย่างดี และหลายคนคิดว่าควรมีเมื่อพร้อม

ในปีเดียวกัน ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว จากตัวเลขของกระทรวงมหาดไทยเมื่อปี 2562 ระบุว่าบ้านเรามีประชากรผู้สูงอายุประมาณ 11.1 ล้านคน คิดเป็น 16.73% ซึ่งอยู่ในระดับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ผู้เชี่ยวชาญด้านประชากรศาสตร์ยังคาดการณ์เอาไว้อีกว่า

อีกประมาณ 18 ปีต่อจากนี้ ประเทศไทยจะเข้าสู่ระดับสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-aged Society) ซึ่งจะมีพลเมืองอายุเกิน 65 ปีมากถึง 17 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของประเทศ

“คนแก่เยอะแล้วมันสร้างปัญหาตรงไหน?” คุณอาจคิดแบบนั้น คำตอบคือความแก่ไม่ใช่ปัญหา ประเด็นอยู่ที่การจัดการ รายได้หลักของประเทศที่เอาไว้ไปพัฒนาความเจริญต่างๆ มาจากภาษี ยิ่งมีคนที่อยู่ในวัยทำงานน้อย รายได้ของประเทศก็จะลดลง รวมทั้งเกิดภาวะขาดแคลนแรงงานหนุ่มสาวในฐานการผลิต เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมบางประเทศถึงเชิญชวนชาวต่างชาติให้ไปอาศัยและทำงานที่นั่นพร้อมได้สวัสดิการชีวิตแบบประชากรโลกที่หนึ่ง นี่ยังไม่รวมว่าถ้าคนรุ่นใหม่อยากย้ายสัญชาติไปทำงานในต่างประเทศเพื่อรายได้และชีวิตที่ดีกว่า เมืองไทยอาจเหลือแค่แรงงานไร้คุณภาพ กับผู้สูงอายุเท่านั้น แล้วเราจะทำอย่างไรกันต่อไปดี?

O 3

นักดนตรีไม่เคยมีวันเกษียณ

ไม่กี่ปีก่อนเว็บไซต์ Bloomberg พาดหัวข่าวว่า “ผู้สูงอายุคือคนที่มาช่วยเหลืออเมริกา” เมื่อเปรียบเทียบกับรายงานหลายฉบับในต่างประเทศแล้วก็พบว่า การจ้างงานผู้สูงอายุไม่เพียงจะทำให้พวกเขามีกิจกรรมทำแบบไม่เหงา ยังส่งผลถึงเศรษฐกิจภาพรวมอย่างมีนัยยะสำคัญ และสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นในระดับองค์กรได้จริงโดยมีหลายปัจจัยสำคัญที่องค์กรในบ้านเราควรนำไปศึกษาและปรับใช้ต่อ การศึกษาพบว่าผู้สูงอายุมีประสิทธิภาพ (Productivity) ในการทำงานมากขึ้น 10-20 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับตัวเขาเองตอนที่อายุน้อยกว่านี้ แต่ในรายงานอีกฉบับหนึ่งระบุไว้ว่า คนแก่ในองค์กรมักถูกบูลลี่จากคนรุ่นใหม่เรื่องความโบราณล้าสมัย ตามโลกไม่ทัน ประเด็นนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ผู้นำองค์กรต้องมองเห็นและจัดการอย่างรวดเร็ว

ประสิทธิภาพหลังเกษียณ

ข้อดีอีกอย่างจากคนทำงานสูงอายุที่หลายองค์กรพูดเหมือนกันก็คือพวกเขาไม่เคยมาสายเลย และมักจะมาที่ทำงานเช้ามาก แถมยังใช้วันลาน้อยด้วยทั้งลากิจ และลาป่วย ผู้ใหญ่มักจะมีจิตใจสาธารณะ (Volunteer) ซึ่งมักจะอาสาทำนู่นทำนี่แทนคนอื่นเสมอ Bloomberg ยังพบว่าผู้สูงอายุที่หลายบริษัทจ้างงานพยายามปรับตัวให้เข้ากับคนรุ่นใหม่มากขึ้น หรือพูดง่ายๆ ว่าอยาก “อินเทรนด์” กับเขาบ้าง ถ้ามองในเรื่องความทันสมัย ผู้สูงอายุในเมืองไทยถือว่ามีความก้าวหน้าในการใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะการใช้สมาร์ทโฟน และแอพพลิเคชั่นต่างๆ ประเด็นที่เป็นปัญหากับคนรุ่นใหม่มักจะอยู่ที่เรื่องทัศนคติในการดำเนินชีวิต และรสนิยมมากกว่า

O 6

จะต่างก็แค่วัย

ในฐานะองค์กร ความแตกต่างของอายุทำให้เกิดความหลากหลายได้จริง คนทำงานซึ่งอยู่ในทีมที่ประกอบด้วยคนหลายช่วงอายุจะได้เปรียบเรื่องทักษะและประสบการณ์ด้านการสื่อสาร มากกว่าอยู่ในทีมที่มีอายุไล่เลี่ยกัน เมื่อไปถามคนรุ่นใหม่ในทีม เขาบอกว่ารู้สึกอุ่นใจที่มีผู้สูงอายุทำงานด้วย พวกเขามักเป็นผู้ฟังที่ดีและเสนอแนวทางการแก้ปัญหาจากประสบการณ์ของตัวเอง จริงอยู่ที่ว่าไม่ใช่ผู้ใหญ่ทุกคนจะใจกว้างรับฟังไอเดียใหม่ๆ บางคนก็ยังยึดติดกับความสำเร็จแบบเดิม และมองว่าวิธีในยุคดิจิทัลเป็นเรื่องฉาบฉวย แต่ถ้าหากองค์กรสามารถเทรนเรื่องการฟัง และปรับทัศนคติให้รับรู้ว่าแต่ละคนมีความถนัดที่แตกต่างกัน ก็น่าจะนำไปสู่การทำงานเป็นทีมที่มีประสิทธิภาพ และสร้างความภาคภูมิใจให้กับทุกคนได้

ถึงสูงวัยก็ฟื้นฟูเที่ยวไทยได้?

ทศวรรษที่ผ่านมา ผู้ประกอบการเคยมองผู้สูงอายุว่าเป็นตลาดที่น่าสนใจ เพราะมีทั้งเงิน และรวมเวลา รวมทั้งวิถีการใช้ชีวิตของพวกเขาก่อนหน้านี้คือทำงานเก็บเงินมาทั้งชีวิต แล้วค่อยเที่ยวทีเดียวตอนแก่ ทุกอย่างเหมือนไปได้ดีจนกระทั่งเกิดการแพร่ระบาดของไวรัส คนสูงวัยลดการเดินทางเพราะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อมากกว่าวัยอื่น ในสถานการณ์ที่พลิกผันโดยเฉพาะเรื่องการเที่ยวต่างประเทศ กลับมีแสงสว่างที่จะโปรโมทสถานที่ท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ซึ่งเคยตกสำรวจจากนักท่องเที่ยวไทยในหลายสิบปีที่ผ่านมา

O 1

‘คีรีวงกต’ หมู่บ้านที่ซ่อนตัวลึกอยู่ในหุบเขาของจังหวัดอุดรธานี แหล่งท่องเที่ยวแห่งแบบยั่งยืนแห่งใหม่ที่จะชวนคุณนั่งรถอีแต๊กลัดเลาะไปตามธารน้ำ สัมผัสกับน้ำตกธรรมชาติ และลิ้มลองอาหารพื้นบ้าน พร้อมนอนแบบโฮมสเตย์ในแพ็คเกจ 2 วัน 1 คืน แม้จะไม่ได้โปรโมทว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ขับเคลื่อนโดยผู้สูงอายุ แต่แรงงานที่ออกมาต้อนรับขับสู้และดูแลนักท่องเที่ยวทุกคนล้วนแล้วแต่เป็นผู้ใหญ่ในหมู่บ้านซึ่งปกติดำเนินชีวิตตัวเองอยู่ในพื้นที่ตรงนั้นอยู่แล้ว กลายเป็นเสน่ห์ที่นักท่องเที่ยวรุ่นใหม่กำลังมองหา ความเรียบช้าไม่หวือหวา หรือเรียกว่าอาจไม่มีสัญญาณโทรศัพท์แรงๆ อนุญาตให้เราทุกคนหันหน้าเข้าสู่ธรรมชาติ และพูดคุยกับชาวบ้านอย่างจริงใจในช่วงเวลาสั้นๆ สัก 1-2 วัน แน่นอนว่าต้องมีเทคโนโลยีในการโปรโมทซึ่งหน้าที่ตรงนี้เป็นความถนัดของเด็กรุ่นใหม่ผู้เดินทางกลับบ้านในวันที่เมืองใหญ่มีแต่ความไม่แน่นอน และพวกเขาสามารถทำงานที่ไหนของโลกก็ได้ นอกเหนือจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยวแล้ว ผู้สูงอายุที่ยังมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเรื่องราวกับนักท่องเที่ยวที่จะเวียนมาทักทายและใช้บริการอย่างไม่ขาดสาย โดยไม่จำเป็นต้องสูญเสียอัตลักษณ์ของตัวเองแต่อย่างใด

O 2

เปลี่ยนเกษียณให้เป็นพลัง

กระแสการเคลื่อนย้ายแรงงานจากเมืองท่องเที่ยวกลับภูมิลำเนาของตัวเองทำให้ความถนัดในเรื่องงานบริการถูกกระจายกลับไปยังท้องถิ่นต่างๆ เมื่อปีที่ผ่านมาภาครัฐได้เปิดตัวแคมเปญ ‘เปลี่ยนเกษียณให้เป็นพลัง’ โดยมองว่าผู้สูงวัยยังมีศักยภาพเรื่องงานทำงานอยู่ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ต้องมีทัศนคติงานบริการที่ดี ซึ่งได้ให้จังหวัดน่านเป็นชุมชนต้นแบบเพราะมีภูมิศาสตร์ และประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ เพียงพอที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ รัฐรู้ดีว่าหน้าที่ของตัวเองคือการอำนวยความสะดวกให้การท่องเที่ยวทำได้ง่าย ในอีกทางคือต้องเติมเต็มความรู้ให้กับผู้ประกอบการด้วย ผู้สูงอายุจะได้มีโอกาสสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ให้กับตัวเองโดยไม่ต้องเดินทางออกนอกจังหวัด และยังได้เติมเต็มความภาคภูมิใจในท้องถิ่นตัวเองผ่านเรื่องราวที่พวกเขาเองเป็นผู้เล่า นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ จากประสิทธิของคนสูงวัยที่กำลังจะกลายเป็นคลื่นลูกใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับชาติ อย่าลืมว่าการท่องเที่ยวเป็นเพียงปลายทาง แต่การใช้จ่ายระหว่างทางทั้งร้านอาหาร คาเฟ่ ที่พัก ร้านขายของฝาก ก็ล้วนแล้วแต่สร้างมูลค่าในตัวเองได้ และยังเป็นสถานที่ซึ่งผู้สูงวัยมีโอกาสได้โชว์ฝีมืออีกครั้งด้วย

O 4

แม้ว่าการจ้างงานผู้สูงอายุกระตุ้นได้ทั้งเศรษฐกิจ และลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าพวกเขาควรได้ค่าจ้างที่เป็นธรรม สวัสดิการที่ทัดเทียม และระยะเวลาในการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ และเรื่องราวขององค์กร การคาดหวังให้คนแก่ทำงานฝีมือที่พิถีพิถันแต่ให้ค่าตอบแทนต่ำเป็นการกระทำที่ไม่น่ารักเลย มาตรฐานเหล่านี้สามารถสร้างขึ้นใหม่ได้จากผู้นำองค์กรหรือผู้นำชุมชนที่มีความตั้งใจอันแน่วแน่ ผู้สูงวัยสามารถเป็นหนึ่งในปัจจัยการผลิตที่ไม่มีวันหมดอายุ และเป็นทรัพย์สินของชุมชนที่มีมูลค่าสูงขึ้นตามประสบการณ์การทำงาน

ไม่มีใครอยากนอนอยู่บ้าน มองเพดานเฉยๆ แล้วทิ้งเวลาให้หมดไปในแต่ละวัน ทุกคนอยากทำอะไรก็ได้เพื่อสร้างคุณค่าให้กับตัวเอง ครอบครัว และสังคม ถ้าเรื่องนี้ได้รับการจัดการอย่างทันท่วงที ปัญหาเรื่องสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทยอาจไม่ได้แย่อย่างที่ทุกคนกลัวก็ได้

Tags: