About
TRENDS

One ID Journey

One ID Journey การปรับตัวครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมการบิน

เรื่อง OST Date 19-10-2020 | View 1673
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • อุตสาหกรรมการบินได้รับผลกระทบสาหัสจาก Covid-19 และกำลังหาทางรับมือกับความไม่มั่นใจของนักเดินทางเมื่อโลกยังไม่มีวัคซีนป้องกัน และยังมีความกังวลใจอยู่ลึกๆ
  • เทคโนโลยี Biometrics เป็นการยืนยันตัวตนด้วยข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล เริ่มเป็นที่พูดกันหูทั่วโลก ด้วยความเชื่อว่าจะเป็นยันต์ป้องกันโรคที่ดีที่สุด และอาจเรียกความเชื่อมั่นคืนกลับมาให้นักเดินทางได้ส่วนหนึ่ง
  • Biometrics ช่วยลดความยุ่งยากและขั้นตอนที่ซ้ำซ้อน เนื่องจากผู้โดยสารต้องลงทะเบียนล่วงหน้าเพื่อยืนยันอัตลักษณ์ เช่น การสแกนใบหน้า, ลายมือหรือม่านตาไว้ในระบบ ทำให้ลดความแออัดและการแพร่เชื้อที่สนามบิน

ผ่านห้วงครึ่งปีมาแล้ว ที่โลกของเราได้รู้จักกับไวรัสวายร้าย 'Covid-19' ที่ตั้งต้นมาจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน แล้วหิ้วกระเป๋าออกเดินทางไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ทุกการเดินทางต้องหยุดชะงัก สนามบินแทบร้าง แต่จะทำอย่างไรดีล่ะ...เพื่อคนทั่วโลกรู้สึกมั่นใจในการเดินทางได้อีกครั้ง

อุตสาหกรรมการบินกับความท้าทายใหม่หลัง Covid-19

เชื้อที่เปรียบเสมือนขาแรงแห่งวงการไวรัสย่างกรายไปยังจุดหมายใด ที่นั่นจะต้องมีเหตุให้ตกอยู่ในสภาวะการเดินทางชะงักงันเสียทุกครั้ง สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) คาดการณ์ว่ามีเที่ยวบินกว่า 7.5 ล้านเที่ยวที่ถูกยกเลิกการเดินทาง นับตั้งแต่ต้นปีถึงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เนื่องจากรัฐบาลออกกฎเหล็กควบคุมการระบาดด้วยการปิดช่องทางการเดินทางของผู้คน

แก้เกมไวรัส

ในช่วงครึ่งปีหลัง บ้านเราอาจเห็นความผ่อนปรนให้กับการเดินทางในประเทศบ้างแล้ว แต่สำหรับนักท่องเที่ยวไทยราว 11 ล้านคนที่เคยออกไปท่องโลกต่างแดนเมื่อปีที่ผ่านมา อาจกำลังชั่งใจอยู่ว่า หากมีการอนุญาตให้เดินทางต่างประเทศได้อีกครั้ง ตัวเราเองจะพร้อมหรือไม่ เนื่องจากมีข้อจำกัดที่แน่นขนัดมากกว่าเดิม

แน่นอนว่าภาคธุรกิจที่กำลังนั่งครุ่นคิดถึงปริศนาข้อนี้เช่นกัน หนีไม่พ้นอุตสาหกรรมการบิน ที่พึ่งพากำลังซื้อของนักเดินทางเป็นหลัก ชั่วโมงนี้ นอกจากจะต้องพลิกกลยุทธ์สุดแรงเกิดเพื่อหาทางอยู่รอดให้ได้แล้ว ยังต้องรับมือกับความต้องการที่ผันผวนของผู้โดยสารในอนาคต เพราะตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีน ความกังวลเรื่องไวรัสก็ยังคงค้ำคออยู่ไม่เปลี่ยน

Biometrics เทคโนโลยียืนยันตัวตน ด้วยอัตลักษณ์ส่วนบุคคล

ถึงตอนนี้ศัพท์แสงด้านเทคโนโลยี Biometrics หรือการยืนยันตัวตนด้วยข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล จึงเริ่มเป็นที่พูดถึงกันมากขึ้น ด้วยความเชื่อมั่นว่า มันจะเป็นเสมือนยันต์ป้องกันโรคที่ดีที่สุด และอาจสร้างความมั่นใจให้กับนักเดินทางได้ส่วนหนึ่ง

แก้เกมไวรัส

สิ่งนี้สอดคล้องกับแนวคิดของ IATA ที่สนับสนุนโครงการ One ID ให้สนามบินและสายการบินทั่วโลก เริ่มหันมาปรับปรุงการให้บริการโดยใช้เทคโนโลยี Biometric เป็นตัวช่วยลดความยุ่งยากในการใช้เอกสารต่างๆ ตัดทิ้งขั้นตอนที่ซ้ำซ้อนที่สนามบิน ด้วยการเปิดระบบให้ผู้โดยสารลงทะเบียน เพื่อยืนยันอัตลักษณ์ล่วงหน้า เช่น การสแกนใบหน้า ลายมือหรือม่านตาไว้ในระบบ

เมื่อถึงสนามบินก็สามารถเดินผ่านทุกด่านตั้งแต่เช็คอินกับสายการบิน โหลดกระเป๋าเดินทาง ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง โดยไม่ต้องถือแม้กระทั่งบอร์ดดิงพาส ทำให้สนามบินระบายคิวผู้โดยสารที่หนาแน่นให้คล่องตัวมากกว่าเดิม นี่คือภาพการเดินทางแห่งอนาคต ที่คนในแวดวงการบินแอบวาดฝันไว้ ซึ่งอาจจะเห็นเป็นรูปร่างได้เร็วกว่าที่คิด เมื่อมีความวิตกเรื่องไวรัสเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา

แก้เกมไวรัส

เทคโนโลยีแห่งความหวัง ตอบโจทย์ชีวิตยุค Covid-19

ระหว่างที่ไวรัสกำลังระบาดลุกลามไม่หยุด สนามบินบางแห่งไม่ได้หยุดนิ่งเฉย แต่เริ่มการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเดินทางแบบไร้รอยต่อ (Seamless Journey) แบบนี้กับบริการบางอย่างบ้างแล้ว อาทิ ก่อนไวรัสระบาด ‘สนามบินจอห์น เอฟ เคนเนดี้’ ณ กรุงนิวยอร์ก ใช้พื้นที่ของเทอร์มินัล 5 เปิดให้สายการบิน ‘JetBlue’ ทดลองใช้ระบบ Biometric ภายใต้ชื่อ SelfPass ที่พัฒนาโดย Collins Aerospace ซึ่งได้รับความร่วมมือกับหน่วยงานด้านศุลกากรและการตรวจคนเข้าเมืองของสหรัฐอเมริกา

แก้เกมไวรัส

ภายใต้ระบบนี้ ผู้โดยสารสามารถเช็คอินเที่ยวบินด้วยตัวเองผ่านการสแกนใบหน้า โดยไม่ต้องถือบอร์ดดิงพาสหรือเอกสารยืนยันตัวตนใดๆ ทั้งสิ้น ผู้พัฒนาโปรแกรมหวังว่าในอนาคต หากการใช้เทคโนโลยี Biometric แพร่หลาย จะทำให้ทุกจุดที่ผู้โดยสารต้องใช้บริการ (Touch Point) จะผ่านไปอย่างราบรื่นและรวดเร็ว ด้วยการนำวิธียืนยันตัวตนแบบนี้มาใช้แทนวิธีดั้งเดิม

ข้ามมาที่ฝั่งเอเชียบ้านเรา สนามบินฮาเนดะ ในกรุงโตเกียว ชิงเปิดตัวบริการโหลดกระเป๋าด้วยตัวเองแบบใหม่ 68 เครื่องในช่วงครึ่งปีแรก และมีแผนเพิ่มเป็น 104 เครื่องก่อนสิ้นปี โดยมีสายการบินชั้นนำอย่าง ‘เจแปน แอร์ไลนส์’ ขานรับการใช้บริการนี้แล้ว อย่างไรก็ตาม สำหรับระบบโหลดกระเป๋าที่ว่า ได้รับการออกแบบให้ใช้งานง่ายและรวดเร็ว การทำงานเป็นระบบออโต้ มีฟังก์ชั่นการจัดแบ่งประเภท ชั่งน้ำหนัก และสแกนกระเป๋าให้แล้วเสร็จในเวลาไม่กี่วินาที อีกทั้ง ยังเป็นส่วนหนึ่งของแผนการสนามบินฮาเนดะที่จะก้าวสู่การสร้าง One ID Journey ในอนาคตอีกด้วย

เดิมที ญี่ปุ่นหมายมั่นปั้นมือจะนำเทคโนโลยีนี้มาใช้เพื่อรองรับคลื่นมนุษย์มหาศาลที่จะเข้าร่วมมหกรรมโอลิมปิกเกมส์ 2020 ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทว่า แม้เกมกีฬาจะเจอพิษโรคเลื่อนไปเป็นที่เรียบร้อย แต่การเปิดตัวเทคโนโลยีนี้ ก็เหมือนเป็นการรูดม่านได้ถูกจังหวะพอดิบพอดี เพราะมาตอบโจทย์นักเดินทางในยุค Covid-19 ที่ระมัดระวังและพยายามหลีกเลี่ยงการสัมผัส (Touchless) กับบุคคลอื่นๆ เช่น เจ้าหน้าที่สายการบินที่เคาน์เตอร์เช็คอินให้มากที่สุด

ลดความแออัด ป้องกันไวรัสไม่ให้แพร่กระจาย

เทคโนโลยีเหล่านี้ยังเป็นความหวังว่าจะช่วยลดความแออัดในสนามบิน ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของการแพร่เชื้อที่รวดเร็ว เพราะสนามบินแบบเดิมมีคิวหนาแน่นแบบรถเข็นสัมภาระชนกัน ทำให้ยากยิ่งที่จะเว้นระยะห่างทางสังคมได้ง่ายๆ อย่างไรก็แล้วแต่ ไม่เพียงแต่เฉพาะความสะดวกของผู้โดยสารเท่านั้น IATA ยังเชื่อมั่นว่า สนามบินที่ลงทุนเทคโนโลยีดังกล่าวนี้ ก็จะได้ประโยชน์จากต้นทุนที่ลดลง แลกกับการให้บริการที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะพนักงานไม่ต้องสาละวนกับการเช็คยืนยันอัตลักษณ์ผู้โดยสารทีละรายอีกต่อไป โดยระบบจะแสดงเส้นทางแบบเรียลไทม์ว่าผู้โดยสารแต่ละคนผ่านขั้นตอนใดในสนามบินไปแล้วบ้าง

แก้เกมไวรัส

ข้อมูลนี้จะนำมาซึ่งการบริหารจัดการพื้นที่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีความสุขทั้งผู้ใช้งานที่สนามบินและผู้บริหารจัดการพื้นที่ โดย IATA ยังเชื่อมั่นด้วยว่า รัฐบาลประเทศใดที่หันมาใช้ระบบ Biometric ย่อมส่งผลดีต่อระบบความมั่นคงเพราะข้อมูลอัตลักษณ์เฉพาะตัวนั้น สามารถป้องกันการสวมรอย หรือกระบวนการค้ามนุษย์ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม

Digital Health Passport ข้อมูลสุขภาพจำเป็นมากในการเดินทาง

ความฝันขั้นต่อไปของแวดวงอุตสาหกรรมการบินในการแก้เกมความเชื่อมั่นในระยะสั้นก็คือ การนำ Digital Health Passport หรือ Immunity Passport มาใช้ ซึ่งจะเป็นระบบที่ล้วงลึกเอาข้อมูลสุขภาพของนักเดินทางเอามาเก็บไว้ในระบบดิจิทัล แทนการกรอกใบ Declaration ด้านสุขภาพแบบเดิมๆ

ปัจจุบัน มีผู้พัฒนาเทคโนโลยีจำนวนหนึ่ง เริ่มคิดค้นระบบที่ช่วยยืนยันสถานะทางสุขภาพของผู้โดยสาร ประหนึ่งเป็นพาสปอร์ตที่การันตีเบื้องต้นได้ว่าคนๆ นั้นปลอดไวรัสก่อนเดินทางอย่างแน่นอน และอาจรวมไปถึงความสามารถในการติดตามเส้นทางทั้งหมดเมื่อถึงจุดหมายปลายทางแล้ว หากกรณีที่มีการตรวจพบไวรัสในภายหลัง จะได้แกะรอยเส้นทางได้อย่างทันท่วงที จึงลดโอกาสการแพร่เชื้อให้ต่ำลงกว่าเดิม

สำหรับหลักการใช้ Digital Health Passport คือ นักเดินทางยืนยันตัวเองผ่านระบบ Biometric เช่น สแกนใบหน้าหรือ ม่านตา ในแอปพลิเคชัน แล้วนำผลการตรวจสุขภาพหรือผลการตรวจคัดกรองโรคอัพโหลดในแอปพลิเคชันไว้ ซึ่งเกณฑ์การตรวจจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดการเดินทางเข้าเมืองของแต่ละประเทศ

แก้เกมไวรัส

ดีหรือไม่ ? เมื่อการเดินทางในอนาคต ต้องแลกกับข้อมูลส่วนตัว

เมื่อถึงสนามบิน สร้างคิวอาร์โค้ดเป็นใบผ่านส่วนตัวเพื่อแสดงต่อเจ้าหน้าที่ ระบบจะแสดงข้อมูลสุขภาพให้เจ้าหน้าที่เห็นผ่านจอดิจิทัลเพื่อให้ผ่านการตรวจเบื้องต้น แม้จะฟังดูสะดวกสบาย แต่กระนั้นก็ยังไม่วายสร้างคำถามใหม่ๆ ว่า ผู้โดยสารในยุคปัจจุบันจะยอมรับการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวเรื่องสุขภาพแก่บุคคลที่สาม การติดตามตัวและเส้นทาง (Track and Trace) เพื่อแลกกับการได้เดินทางอีกครั้งหรือไม่?

อีกทั้งยังมีปัญหาในการเชื่อมโยง หากแต่ละประเทศต่างพัฒนาระบบของตัวเองขึ้นมา ซึ่งจะทำให้ระบบไปคนละทิศละทาง สร้างภาระให้กับผู้โดยสารที่ต้องปวดหัวกับแพลตฟอร์มที่ไม่เหมือนกัน

แก้เกมไวรัส

ทว่า ในห้วงเวลาที่คนทำธุรกิจท่องเที่ยวหรือที่เกี่ยวกับการเดินทางต่างยืนยันว่า การท่องเที่ยวทั่วโลกจะต้องฟื้นตัวแน่นอน เพียงแต่ไม่รู้ว่าจะต้องรออีกนานแค่ไหน ก็อาจเป็นไปได้ว่า ยังไม่มีตัวเลือกไหนที่ดีพอในการช่วยให้คนขึ้นเครื่องบินอย่างมั่นใจอีกครั้ง ยกเว้นด้วยเทคโนโลยีเหล่านี้

Tags: