About
TRENDS

โจทย์ใหม่ท่องเที่ยวไทย

โจทย์ใหม่ท่องเที่ยวไทย เมื่อแรงงานกลับบ้าน และความยั่งยืนที่ไม่ใช่แค่ปลูกต้นไม้

เรื่อง นิรัช ตรัยรงคอุบล ภาพประกอบ ANMOM Date 30-12-2021 | View 1618
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง และเรากำลังเผชิญกับเจ้าโอไมครอน โควิดสายพันธุ์ใหม่ที่กำลังเป็นวายร้ายคุกคามโลกและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอีกครั้ง
  • สิ่งที่น่าจะได้รับผลกระทบหนักสำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็คือ ‘แรงงาน’ เมื่อพวกเขาเก็บกระเป๋ากลับบ้านและไม่อยากออกไปเสี่ยงกับสภาพแวดล้อมเดิมๆ อีก นั่นทำให้เราต้องหันมาคิดกันอีกครั้งว่า อนาคตของการท่องเที่ยวไทยนั้นจะมีหน้าตาแบบไหนกันแน่?

การแพร่ระบาดของไวรัสร้ายในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อระบบธุรกิจทั้งประเทศ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่เคยมีสัดส่วน GDP สูงถึง 16% มาตรการปิดประเทศและงดเดินทางทำให้คนในอุตสาหกรรมนี้มีรายได้แทบจะเป็นศูนย์ โดยเฉพาะในเมืองที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างพัทยา ภูเก็ต และเชียงใหม่ แรงงานต่างเก็บกระเป๋ากลับบ้าน ทำให้สภาพในเมืองมืดมิดเงียบสงัดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน นักพยากรณ์ทางสังคมศาสตร์มองว่าถึงแม้ว่าทุกอย่างกำลังจะกลับมาแต่วิถีของการท่องเที่ยวจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะแรงงานจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่าบ้านเป็นพื้นที่ปลอดภัย และไม่อยากออกไปเสี่ยงในสภาพแวดล้อมเดิมอีก คำถามก็คือ คิดว่าการท่องเที่ยวในอนาคตจะมีหน้าตาเป็นแบบไหน? เมื่อมนุษย์ยังต้องการพักผ่อนอยู่ คนในอุตสาหกรรมนี้จะปรับตัวยังไงได้บ้างให้ยังมีชีวิตรอดต่อไป?

K 1

K 6

“อะเมซิ่งไทยแลนด์” เราเคยพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้สำเร็จมาแล้ว

ก่อนจะจับเข่าคุยหาทางออกในเรื่องนี้ เราอยากชวนทุกคนกลับไปเมื่อ 25 ปีที่แล้วช่วง พ.ศ. 2540 ประเทศไทยต้องพบกับวิกฤตฟองสบู่แตก ค่าเงินบาทลอยตัวจนทำให้เจ้าของธุรกิจเจ๊งกันระเนระนาด ประเทศขาดดุลการค้าเพราะไม่มีเงินมาหมุนเวียน แทบจะเรียกได้ว่าเกือบพังทลาย ทางออกที่คิดได้ในตอนนั้นคือโปรโมทการท่องเที่ยวให้ชาวต่างชาติเดินทางมาจับจ่าย เติมเงินเข้าระบบให้ประเทศยังคงเดินหน้าได้ต่อไป แคมเปญ “อะเมซิ่งไทยแลนด์” ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เพราะเมืองไทยมีทั้งทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงาม คนอัธยาศัยดี และค่าครองชีพถูกมากเมื่อเทียบกับประเทศต้นทางหลายแห่ง ก่อนโควิดจะมาเยือน มีนักเดินทางต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในเมืองไทยถึง 40 ล้านคน หรือคิดเป็น 61% ของจำนวนนักท่องเที่ยวประจำปี 2019 ซึ่งแปรผันเป็นเงินได้ 3.01 ล้านล้านบาท

K 11

ความคึกคักตลอด 25 ปีที่ผ่านมาฉาบความจริงบางอย่างไว้ไม่ให้เรารู้ตัว เช่น เราพึ่งพาการท่องเที่ยวจากชาวต่างชาติมากเกินไป และหลายธุรกิจในบ้านเราคนไทยกลับไม่ได้เป็นเจ้าของ วิกฤตโควิดจึงเป็นตัวแปรสำคัญซึ่งเผยปัญหาทุกอย่างที่เคยถูกซุกซ่อนเอาไว้ ยังไม่รวมถึงประเด็นเรื่องการเดินทางและขนส่งสาธารณะในจังหวัดที่พึ่งพาการท่องเที่ยวอย่างภูเก็ตและเชียงใหม่ ชาวต่างชาติต้องเสียเงินหลายร้อยบาทเพื่อโดยสารรถเข้ามาในเมืองภูเก็ต หรือต้องเจอการตั้งราคาค่าโดยสารอย่างไม่มีมาตรฐานจากคนขับรถแดงที่เชียงใหม่ หากลองเอาแต่ละประเด็นมาจับวางและถามว่าทำไมการท่องเที่ยวจะกลับมาคึกคักเหมือนเดิมไม่ได้ แต่ละคนก็คงจะเชื่อมโยงปัญหาแต่ละจุดได้อย่างไม่ยาก และพบว่าโครงสร้างทางสังคมและการเมืองมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลง

K 5

ไม่มีคนพัทยาที่พัทยา

หากเราลองเดินไปถามคนที่เดินไปเดินมาในเมืองพัทยาว่า “พี่เป็นคนพัทยาไหม” คำตอบส่วนใหญ่ที่ได้คือไม่ใช่ พวกเขามาจากที่อื่นและอยู่ในพัทยาเพื่อประกอบอาชีพหาเงินเท่านั้น วิถีแบบนี้เป็นเรื่องปกติในประเทศที่ยังไม่ได้กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ความเจริญที่กระจุกอยู่ไม่กี่เมืองมีความจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานสำเร็จรูปเพราะไม่สามารถผลิตเองได้ทันเวลา การสูญหายไปของนักท่องเที่ยวไม่เพียงกระทบภาคการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่หมายถึงทุกคนที่อาศัยอยู่ร่วมกัน ร้านค้าในตลาดท้องถิ่นหรือร้านอาหารที่จำหน่ายให้กับคนในพื้นที่ก็ต้องเก็บของ เก็บกระเป๋ากลับบ้านตามกันไปด้วย เพราะลูกค้าที่เคยเป็นแรงงานในเมืองนั้นไม่มีแล้ว นี่ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นแค่ในเมืองไทยเท่านั้น เพียงแต่ในบางเมืองท่องเที่ยวมีการต่อสู้ของคนท้องถิ่น เพื่อรักษาพื้นที่ งาน และความสงบของตัวเองไว้ ไม่ให้ถูกรุกล้ำโดยคนแปลกหน้า ไม่ว่าในนามนักท่องเที่ยวหรือแรงงานนำเข้า

K 2

ในปี 2017 เทศบาลเมืองบาร์เซโลนาทำแบบสำรวจอารมณ์ประชากรในรอบครึ่งปี โดยถามว่า “อะไรในเมืองนี้ทำให้คุณเครียดมากที่สุด” 19% ของคนตอบบอกว่า “ปัญหาจากนักท่องเที่ยว” ซึ่งคนในเมืองให้ความสำคัญกว่าเรื่องการว่างงาน มลพิษ และคอร์รัปชั่นเสียอีก ที่มาของความไม่พอใจนี้ก่อตัวขึ้นตั้งแต่ปี 2014 จนทำให้ประชาชนกลุ่มหนึ่งสร้างแคมเปญ ‘Barceloneta Says Enough’ เรียกร้องให้มีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว และแสดงให้เห็นว่าการท่องเที่ยวที่เป็นอยู่ในตอนนี้ไม่เป็นมิตรต่อคนในท้องถิ่น และเป็นโมเดลที่ไม่ยั่งยืนเอาเสียเลย

K 3

เครดิตภาพ Yulia Grigoryeva / Shutterstock.com

เช่นเดียวกับบรรยากาศในเมืองหลวงของประเทศสเปน มาดริดเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาชมสิ่งสวยงาม แต่สิ่งที่ต้องแลกมาคือที่อยู่อาศัยของคนในเมือง โรงแรมแห่งใหม่ผุดขึ้นใจกลางชุมชน บ้านช่องและห้องว่างส่วนใหญ่ถูกใช้เป็นสถานที่รองรับนักท่องเที่ยว ทำให้ราคาค่าเช่าทะยานสูงเกินกว่าชาวเมืองจะเข้าถึง จนคนในชุมชนต้องอพยพออกไปอยู่นอกเมือง และเดินทางเข้ามาเพื่อทำงานเท่านั้น รายได้ที่มากมายจากธุรกิจการท่องเที่ยว แลกมากับความยากลำบากของพลเมือง ดังนั้นนี่คือโจทย์ใหญ่ที่รัฐต้องคิดทบทวนดีๆ และหาสมดุลระหว่างทั้งสองอย่างนี้ให้เกื้อกูลซึ่งกันและกัน

K 8

เครดิตภาพ  Tupungato / Shutterstock.com

“เขาเอาเงินมาให้เรา”

คือประโยคคลาสสิกที่ปิดปากการเรียกร้องแบบนี้ในเมืองไทย ก็ต้องยอมรับว่าประชากรในบางพื้นที่เลือกที่จะทิ้งวิถีชีวิตแบบเดิมแล้วไปพึ่งพาเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยว

ซึ่งหากเราเอาการแพร่ระบาดของโควิดเป็นเคสตัวอย่าง แล้วถอยออกมาหนึ่งก้าว ก็จะพบว่าการท่องเที่ยวแบบเดิมไม่มีความยั่งยืนเอาเสียเลย ไม่มีอะไรเป็นของเราสักอย่างแม้กระทั่งงานที่เคยเชื่อมาเสมอว่าเป็นความมั่นคงของชีวิต ถึงเวลาแล้วหรือยังที่คนในธุรกิจการท่องเที่ยวต้องปรับตัว

เพราะเจ้าของธุรกิจในหลายประเทศปรับเปลี่ยนรูปแบบการท่องเที่ยวไปก่อนสักพักแล้ว

การท่องเที่ยวยั่งยืนที่ไม่ได้แปลว่าต้องปลูกต้นไม้มากๆ

ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการของนักเศรษฐศาสตร์พบว่ามีแรงงานในเมืองใหญ่ตัดสินใจกลับไปใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านตัวเองไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคนในช่วงการระบาดระลอกที่ 2 และน่าจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ทั้งการทำงานจากที่ไหนก็ได้ และความเจริญที่กำลังก่อตัวขึ้นในหลายจังหวัด คอนเซ็ปต์ของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจึงถูกนำกลับมาพูดถึงอีกครั้งหลังจากที่เงียบหายไปสักพัก และถูกขยายความให้เข้าใจง่ายขึ้น เพราะคนทั่วไปมักมองว่า Sustainable Tourism คือการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ลดการใช้ถุงพลาสติก หรือนอนที่รีสอร์ทข้างๆ ทุ่งนา แต่นิยามใหม่ที่ชัดเจนขึ้นของ Sustainable Tourism ก็คือ การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนคือประสบการณ์ร่วมของนักท่องเที่ยวและคนในพื้นที่ซึ่งต้องเชื่อมโยงกันภายใต้บริบททางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยต้องไม่มีใครเป็นผู้เสียเปรียบ

K 4

เครดิตภาพ Konstantin Yolshin / Shutterstock.com

แม้ตัวเลขผู้ใช้สายการบินของคนทั้งโลกจะลดลงมากถึง 66 เปอร์เซ็นต์ แต่ยอดการท่องเที่ยวในเมืองเล็กกลับกำลังเติบโตขึ้นอย่างน่าสนใจ ผู้ประกอบการที่พักในเกาะมายอร์กาของประเทศสเปนบอกว่า ตั้งแต่คนเริ่มได้รับวัคซีนมากขึ้น พวกเขาก็เริ่มออกเดินทางอีกครั้งแต่มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศส่วนใหญ่จองที่พักมาแบบอยู่ระยะยาว (Long Stay) โดยใช้เป็นทั้งสถานที่ทำงานแบบออนไลน์และพักผ่อนนอกเวลางาน พวกเขาให้ความสำคัญกับประสบการณ์ใหม่ที่กำลังจะได้พบ โดยเฉพาะวิถีชีวิตพื้นถิ่น สิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานจึงเป็นเรื่องสำคัญ เช่น อินเทอร์เน็ต การเดินทาง ความปลอดภัย และราคาที่พักที่ไม่สูงมาก ซึ่งจะช่วยให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจมาได้ง่ายและเร็วขึ้น

K 10

ไม่มีช่วงเวลาไหนเหมาะสมไปกว่าตอนนี้แล้วสำหรับการพัฒนาทั้งการท่องเที่ยวและความเจริญในท้องถิ่น จุดเริ่มต้นอาจเป็นภาคเอกชนคนตัวเล็กๆ ที่อยากผลักดันให้เทรนด์การท่องเที่ยวแบบอยู่ระยะยาวของคนรุ่นใหม่ให้เป็นจริงได้สักที โฮมสเตย์แห่งหนึ่งอาจกำหนดราคาที่พักในระยะยาวให้ถูกกว่าปกติ จากนั้นประสานความร่วมถือกับคนในชุมชนให้นำเสนอผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน และขอความร่วมมือหน่วยงานรัฐในการปรับปรุงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้ดีขึ้น เช่น ประปา ไฟฟ้า และอินเตอร์เน็ต รวมทั้งปรับปรุงการคมนาคมให้ดีขึ้น ประโยชน์ของการท่องเที่ยวจากคนไทยไม่ได้ตกอยู่แค่เพียงเจ้าของที่พักเท่านั้น แต่การเดินทางของคนหนึ่งคนสามารถกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นระหว่างทางการท่องเที่ยว และถ้าหากหน่วยงานรัฐร่วมโปรโมทการท่องเที่ยวแบบนี้ด้วย ก็ยิ่งจะสร้างความยั่งยืนได้จริงเพราะตอบโจทย์คนรุ่นใหม่มากๆ ที่ชอบเดินทางเป็นระยะเวลานาน ไปหลายที่ และพวกเขาสามารถแบกคอมพิวเตอร์ไปทำงานด้วยในเวลาเดียวกัน

K 7

ทุ่งนาเขียวขจีอาจเป็นภาพปกติที่คนต่างจังหวัดตื่นมาเจอทุกวัน แต่เป็นความสุขของคนเมืองผู้แสวงหาการบำบัดจากธรรมชาติ พวกเขาไม่ได้มองว่านี่คือความโรแมนติกที่ต้องถูกแช่แข็งเอาไว้ แต่การใช้ชีวิตกับธรรมชาติและชาวบ้านเป็นระยะเวลานานทำให้พวกเขาได้มองเห็นคุณค่าและความเป็นจริงในสังคม โดยเฉพาะปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่นับวันช่องว่างของความรวยกับความจนยิ่งจะห่างขึ้นเรื่อยๆ

K 12

ในทางเดียวกัน ผู้มีประสบการณ์ในภาคงานบริการที่กลับไปอยู่บ้านตัวเองก็สามารถใช้ทักษะที่เคยมีให้เป็นประโยชน์ โดยไม่ต้องประกอบอาชีพเกษตรกรรมเสมอไป ประสบการณ์ที่สั่งสมมาเป็นระยะเวลานานคือสินทรัพย์ที่ติดตัวและสร้างมูลค่าให้กับท้องถิ่นได้มหาศาล

เพียงแต่ต้องหาผู้ริเริ่มดำเนินการ ยิ่งเริ่มเร็วก็จะยิ่งมีเวลาได้ลองผิดลองถูกและปรับเปลี่ยนจนเจอจุดสมดุลในแต่ละพื้นที่จนกลายเป็นระบบอันมีอัตลักษณ์เฉพาะตัวไว้อ้าแขนรับนักท่องเที่ยวทั้งจากเมืองไทยและต่างประเทศได้เข้ามาสัมผัส แลกเปลี่ยน และเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ ในชีวิตที่พวกเขาอาจไม่เคยพบเจอมาก่อน

ผลกระทบในทางอ้อมคืออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยังคงดำเนินต่อไปได้ในขณะที่ทุกคนได้อยู่กับครอบครัวอย่างมีความสุข

Tags: