About
TRENDS

Film Location

โอกาสทองท่องเที่ยวไทยผ่านจุดขาย Film Locations ของโลก ฝันใหญ่ต้องไปให้ถึง

เรื่อง เปรมวดี ปานทอง ภาพประกอบ ANMOM Date 10-11-2023 | View 2057
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • รู้หรือไม่ปีนี้มีกองถ่ายเข้ามาใช้โลเกชันในประเทศไทยแล้วเกือบ 350 เรื่อง โกยเงินไปแล้วกว่า 5,000 ล้านบาท ร่วมไขคำตอบทำไมประเทศไทยถึงกลายเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับผู้สร้างภาพยนตร์จากทั่วโลก

คงไม่ผิดนักหากจะบอกว่าปีนี้เป็นปีที่ดีของวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย

Film Location

ไม่เพียงกระแสหนังเรื่อง ‘สัปเหร่อ’ กำลังทำรายได้ทั่วประเทศทะยานสู่ 700 ล้านบาท ทุบสถิติสูงสุดในรอบ 10 ปี! และ ‘ธี่หยด’ ที่ทำสถิติหนังไทยทำรายได้เปิดตัวสูงสุดของปี 39 ล้านบาท หากแต่ประเทศไทยยังดูดเงินจากกองถ่ายหนังต่างชาติได้มากกว่า 5,000 ล้านบาทแล้ว (ข้อมูล ณ วันที่ 15 ตุลาคม 2566) จากรายงานสถิติล่าสุดของกรมการท่องเที่ยว

แถมกระแส King the Land ซีรีส์เกาหลียอดนิยมทาง Netflix ที่ได้เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย ยังช่วยปลุกกระแสเที่ยวไทยฟีเวอร์ได้ไม่น้อย จากการนำเสนอสถานที่หลายแห่งในกรุงเทพฯ และสมุทรปราการ รวมทั้งอาหาร วัฒนธรรมและไลฟ์สไตล์ผสมผสานเข้ากับเนื้อเรื่องได้โดดเด่นอย่างที่พวกเขาถนัด และกำลังได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่ได้รับชม

ทั้งที่วงการภาพยนตร์ไทยกำลังเผชิญวิกฤตศรัทธาคนดู ทำไมประเทศไทยถึงกลายเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับผู้สร้างภาพยนตร์จากทั่วโลก และคริส โลเวนสไตน์ ผู้ก่อตั้ง Living Films โปรดักชันเฮาส์ที่ผลิตหนังฟอร์มยักษ์ระดับฮอลลีวูดในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มา 3 ทศวรรษ ยังยกให้ไทยเป็น ‘ศูนย์กลางการผลิตภาพยนตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’

ที่สำคัญอุตสาหกรรมนี้จะเป็นสินค้าส่งออกทางวัฒนธรรมที่มีอิทธิพลต่อการท่องเที่ยวไทยซึ่งกำลังได้รับการพูดถึงอย่างมากได้อย่างไร

Film Location

เครดิตภาพ : Parinwat Stuidio _ Shutterstock.com

สถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์หลักของโลก

นอกจากจะเป็นหนึ่งในเดสทิเนชันที่ดีที่สุดของนักเดินทางทั่วโลกแล้ว ประเทศไทยยังถือเป็นหนึ่งในสถานที่ถ่ายทำที่ดีที่สุดของโลก ยืนยันได้ 10 ปีมานี้มีกองถ่ายต่างชาติเลือกมาใช้โลเกชันหลายพันเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นมิวสิกวิดีโอ ภาพยนตร์ไปจนถึงรายการทีวี

ยิ่งช่วงก่อนโควิด-19 มีการเข้ามาถ่ายทำเฉลี่ยปีละกว่า 700 เรื่อง!

จากรายงานสถิติการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ประจำปี 2566 ของกรมการท่องเที่ยวล่าสุด พบว่า นับจากปี 2559-2562 ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นโลเกชันในการถ่ายทำทั้งหมด 3,043 เรื่อง สร้างรายได้รวม 13,448.24 ล้านบาท แม้ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างหนักในปี 2563-2564 ก็ยังมีการถ่ายทำถึง 297 เรื่องในประเทศไทย ทำเงินสูงถึง 6,404.68 ล้านบาท

ขณะที่ปีนี้ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงวันที่ 15 ตุลาคมมีทีมงานเข้ามาใช้สถานที่แล้ว 348 เรื่อง สร้างรายได้ 5,429.27 ล้านบาท โดยเดือนที่มีสถิติถ่ายทำมากที่สุดคือมีนาคม ทั้งหมด 59 เรื่อง แต่เดือนสิงหาคมสร้างรายได้สูงสุด 2,225.75 ล้านบาท จากการถ่ายทำ 36 เรื่อง สะท้อนการเติบโตอย่างต่อเนื่องในอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งงบประมาณค่าใช้จ่ายที่มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤตโรคระบาด

ข้อมูลจากกระทรวงวัฒนธรรมยังเผยว่า ช่วงเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ที่ผ่านมา มีผู้ผลิตภาพยนตร์สนใจและมีแผนจะเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในไทย 21 ราย จาก 8 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ฝรั่งเศส กรีซ สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ อินเดีย และออสเตรเลีย มีแผนใช้เงินลงทุนรวมกว่า 3,800 ล้านบาท

Film Location

โลเกชันหลากหลาย
ทีมงานชั้นยอด

ด้วยภูมิประเทศอันสวยงามหลากหลาย ตั้งแต่วัดโบราณ สถานที่ทางประวัติศาสตร์ เมืองสมัยใหม่ ป่าเขตร้อน หาดทราย เกาะแก่ง ภูเขา และวัฒนธรรมที่มีชีวิตชีวา สามารถสร้างมิติความแตกแตกต่างด้านภูมิศาสตร์ได้มากมาย ตอบโจทย์ความต้องการทุกประเภท ทำให้ประเทศไทยเป็นสถานที่น่าดึงดูดสำหรับทีมการผลิตจากต่างประเทศ

นอกจากนี้ เรายังมีทีมงานท้องถิ่นมากประสบการณ์และคุ้นเคยดีกับการถ่ายทำในมาตรฐานสากลอย่างดี สามารถเข้าถึงอุปกรณ์และเทคโนโลยีล้ำสมัย บริการต่างๆ ได้ง่ายดาย อาทิ สตันท์ วิชวลเอฟเฟกต์ และ BOLT หุ่นยนต์ถ่ายภาพความเร็วสูง เป็นต้น รวมถึงมีความสะดวกสบาย ไม่สร้างความยุ่งยากในการดำเนินการ

อย่างโปรดักชันฮอลลีวูดหลายเรื่องที่เบื้องหน้าเป็นประเทศอื่น แต่ความจริงแล้วเบื้องหลังคือประเทศไทย เช่น Ms. Marvel ฉากในปากีสถานและอินเดียก็ถ่ายทำในย่านเยาวราชนี่เอง หรือในเรื่อง Extraction ของ Netflix ที่แปลงเป็นบังกลาเทศ

ทอม วอลเลอร์ ผู้สร้างหรือกำกับภาพยนตร์หลาย 10 เรื่องในประเทศไทย เคยพูดถึงกรุงเทพฯ ไว้ว่า เป็นเมืองที่เหมาะกับการจัดฉากเป็นได้หลายสถานที่และช่วงยุคสมัย และเป็นแบบนี้มานานแล้ว แต่ก็ได้รับการยอมรับมากขึ้นแน่นอน

Film Location

ต้นทุนการผลิตเป็นมิตรกับงบประมาณ

เหตุผลหลักอีกประการหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยเป็นสถานที่ถ่ายทำยอดนิยมคือต้นทุนการผลิตต่ำ ประหยัดกว่าเมื่อเทียบกับสถานที่ถ่ายทำยอดนิยมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าแรง อัตราแลกเปลี่ยนที่ดี และสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากรัฐบาล การประหยัดต้นทุนเหล่านี้ช่วยให้ผู้สร้างสามารถขยายงบประมาณได้มากขึ้น ผลิตผลงานที่มีคุณภาพสูงขึ้น

“ประเทศไทยน่าดึงดูดด้วยต้นทุนมาตลอด” โลเวนสไตน์ ซึ่งย้ายจากอเมริกามาอยู่ไทยบอกผ่านทาง NIKKEI Asia เมื่อปีก่อน “25 ปีก่อนเราอาจจะทำหนังปีละเรื่อง แต่มีกองเล็กๆ มากมาย หนังอิสระ สารคดีและการเดินทาง ผู้คนมาเพราะบทต้องการชายหาด ป่าและวัด ไม่มีสตูดิโอ คุณจะถ่ายทำกันในโกดังที่ไหนสักแห่ง”

อย่างไรก็ตาม หลายอย่างเปลี่ยนไปในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา เมื่อการโฆษณาเชิงพาณิชย์ได้ยกระดับอุตสาหกรรม การจัดหาอุปกรณ์และการฝึกอบรมดีขึ้น รวมไปถึงโปรดักชันเฮาส์ที่ผุดขึ้นมากมาย ส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็นที่รู้จักในฐานะศูนย์กลางการผลิตภาพยนตร์หลักในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งผู้คร่ำหวอดในวงการชาวอเมริกันบอกว่า ตอนนี้มีบริษัทผลิตภาพยนตร์กว่า 400 แห่งในประเทศ เช่นเดียวกับสตูดิโอระดับมืออาชีพที่เปิดให้บริการ เพิ่มความสะดวกสบายยิ่งขึ้นมาก

“ประเทศไทยเป็นประเทศที่ทีมงานภาพยนตร์ฮอลลีวูดอยากมาถ่ายทำมากที่สุด” แอนดี เวลต์แมน กรรมการผู้จัดการใหญ่ APA เอเจนซียักษ์ใหญ่ของฮอลลีวูด ตอกย้ำการเป็นสถานที่ถ่ายทำอันดับท็อปของโลก เมื่อครั้งตกลงเซ็นสัญญาใช้บริการ The Studio Park Thailand

Studio Park ซึ่งเปิดให้บริการเมื่อ 7 ปีที่แล้วตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 200 ไร่ ย่านบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ มี 5 สตูดิโอใหญ่ โดยห้องใหญ่ที่สุดคือ 2,400 ตารางเมตร .สูง 14 เมตร รองรับการสร้างฉากได้หลายฉาก ช่วยลดระยะเวลาในการถ่ายทำและต้นทุนลงได้มาก เช่น Finding ʻOhana (2021) หนังของ Netflix ที่มีฉากในฮาวายก็ถ่ายทำในสตูดิโอ โดยสร้างน้ำตกขึ้นมา เช่นเดียวกับถ้ำในซีรีส์ ‘Thai Cave Rescue: ถ้ำหลวง ภารกิจแห่งความหวัง’ ก็ถูกสร้างขึ้นใหม่ในสตูดิโอ ยังไม่รวมแท็งก์น้ำขนาดใหญ่สำหรับฉากใต้น้ำและอุปกรณ์สำหรับถ่ายหนังให้เช่าครบครัน

Film Location

การสนับสนุนจากภาครัฐ
กับมาตรการจูงใจ

นอกจากการอำนวยความสะดวกของภาครัฐที่ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ขออนุญาตถ่ายทำหนังต่างประเทศได้สะดวกและรวดเร็วที่สุด ใช้ระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาตเพียง 3 วันทำการสำหรับโฆษณา สารคดี MV รายการท่องเที่ยวและสื่อประชาสัมพันธ์ และ 5 วันทำการสำหรับภาพยนตร์ ซีรีส์ รายการเรียลลิตี รายการแข่งขันแล้ว รัฐบาลยังมีมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำด้วยการให้สิทธิประโยชน์ในรูปแบบการคืนเงิน (Cash Rebate) ที่มีเงินลงทุนในประเทศไทยมากกว่า 50 ล้านบาท เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ได้รับความนิยมจากกองถ่ายต่างประเทศ

“มันเป็นตัวเปลี่ยนเกม ประเทศไทยมีความคุ้มค่ามากอยู่แล้วก่อนจะมีมาตรการจูงใจ แต่ถ้าคุณประหยัดเพิ่มได้ 20% ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปแน่นอน” โลเวนสไตน์ ย้ำถึงความสำคัญของมาตรการจูงใจในการแข่งขันกับนานาประเทศ

ปัจจุบันมาตรการที่ว่านี้ได้มีการปรับปรุงให้ทันสมัย เหมาะกับสถานการณ์มากขึ้น

จากเดิมมีอัตราการคืนเงิน (Cash Rebate) 15 – 20% เพิ่มเป็น 20 – 30% เป็นระยะเวลา 2 ปี และเพิ่มเพดานการคืนเงินจากเดิม 75 ล้านบาทต่อเรื่อง เป็น 150 ล้านบาทต่อเรื่อง ซึ่งจะทำให้เพดานเงินลงทุนสร้างหนักต่อเรื่องเพิ่มขึ้นไปด้วย พร้อมยกเว้นภาษีเงินนักแสดงต่างชาติเป็นเวลา 5 ปี (เฉพาะนักแสดงของภาพยนตร์ ซึ่งดำเนินการสร้างโดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ)

“อุตสาหกรรมนี้กำลังได้รับความสนใจไปทั่วโลก และสตูดิโอต่างๆ จะเลือกที่ที่พวกเขาคิดว่าจะได้รับข้อเสนอที่ดีที่สุด” แพท สวินนีย์ คัฟแมน อดีตประธาน Association of Film Commissioners International Services (AFCI) กล่าวไว้เมื่อครั้งมาเยือนไทยหลายปีก่อน สะท้อนถึงความจำเป็นจะต้องปรับเกณฑ์และเงื่อนไขของสิ่งจูงใจให้เข้ากับสถานการณ์และการแข่งขันที่เปลี่ยนไป

ล่าสุดกรุงเทพฯ ยังเปิด ‘ศูนย์ประสานงานการถ่ายทำภาพยนตร์ในพื้นที่กรุงเทพฯ’ หรือ Bangkok Filmmaking Coordinator Center (BFMCC) ที่อาคารทำการส่วนการท่องเที่ยว (ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว) ถนนพระอาทิตย์ เขตพระนคร เป็นศูนย์ One Stop Service ในการประสานงานเพื่อขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมถึงการให้ข้อมูลกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อำนวยความสะดวกให้ทั้งกองถ่ายภาพยนตร์ไทยและภาพยนตร์จากต่างประเทศสามารถดำเนินการได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว

Film Location

ตามรอยฟิล์มโลเกชัน
ฝันท่องเที่ยวไทย

แน่นอนว่าการเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศไทยในไทย ส่งผลโดยตรงต่อการลงทุนที่คาดว่ามีเงินหมุนเวียนในระบบเพิ่มขึ้น 900-1,200 ล้านบาทต่อปี การกระจายรายได้สู่ภาคส่วนต่างๆ การจ้างงาน เพิ่มทักษะและประสบการณ์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยสู่ระดับสากล

ขณะเดียวกันก็ยังส่งผลทางอ้อมต่อการท่องเที่ยวไทยจากการปรากฏภาพอยู่ในภาพยนตร์ Netflix โซเชียลมีเดียต่างๆ ไปทั่วโลกมากมาย และมีอิทธิพลต่อการเลือกจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว เมื่อเทรนด์เที่ยวตามรอยหนังดังและโซเชียลมีเดียกำลังมาแรงจากรายงานล่าสุดของ Global Travel Trends

64% ของผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่าพวกเขาได้รับแรงบันดาลใจในการเดินทางไปยังเดสทิเนชันหลังจากได้เห็นสถานที่ดังกล่าวในรายการทีวี แหล่งข่าว หรือภาพยนตร์ แต่จำนวนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 70% ของผู้ตอบ Gen-Z และมิลเลนเนียล ขณะที่ 61% ตัดสินใจไปร้านอาหารหรือร้านค้าบางแห่งจากการเห็นในรายการทีวีหรือภาพยนตร์ ส่วนที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการเดินทางไปจุดหมายปลายทางที่เฉพาะเจาะจงจากโซเชียลมีเดียมีสูงถึง 75%

นอกจากอิทธิพลจากเรื่อง King the Land ซีรีส์เกาหลียอดนิยมทาง Netflix ที่พูดถึงไปตอนต้นแล้ว ยังมีเรื่อง The Creator ภาพยนตร์แอ็กชัน ไซ-ไฟ ฟอร์มยักษ์แห่งปีจากอเมริกาก็ถ่ายทำในไทยเกือบทั้งเรื่อง กว่า 40 สถานที่ใน 16 จังหวัด ถือเป็นการโปรโมตประเทศโดยไม่ต้องโฆษณาโดยตรง


ที่มา
https://www.dot.go.th/chart-stat/detail/83
https://torontosun.com/news/local-news/travellers-inspired-by-movies-social-media-when-picking-destinations-report
Thai Location Shooting on The Rise (backstage.com)
Why Thailand is one of the world’s best filming locations – Third Kulture Productions

สถิติการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ปี 2559-2566

ปี 2559 – 779 เรื่อง
รายได้ 2,371.10 ล้านบาท
ปี 2560 – 810 เรื่อง
รายได้ 3,074.11 ล้านบาท
ปี 2561 – 714 เรื่อง
รายได้ 3,139.29 ล้านบาท
ปี 2562 – 740 เรื่อง
รายได้ 4,863.74 ล้านบาท
ปี 2563 – 176 เรื่อง
รายได้ 1,747.68 ล้านบาท
ปี 2564 – 121 เรื่อง
รายได้ 4,657.00 ล้านบาท
ปี 2565 – 346 เรื่อง
รายได้ 4,668.31 ล้านบาท
ปี 2566 – 348 เรื่อง
รายได้ 5,429.27 ล้านบาท (มกราคม-ตุลาคม)

ข้อมูล ณ วันที่ 15 ตุลาคม 2566 กรมการท่องเที่ยว

Tags: