About
TRENDS

สวัสดี Freedonism!

สวัสดี Freedonism! เทรนด์ช่างแ-่งโควิด ขอใช้ชีวิตก่อนทุกอย่างจะสาบสูญ

เรื่อง นิรัช ตรัยรงคอุบล ภาพประกอบ ANMOM Date 07-01-2022 | View 1431
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ชวนทำความรู้จักเทรนด์น่าสนใจแห่งปี 2022 ที่ชื่อว่า Freedonism ที่พูดถึง GEN Z ซึ่งจะกลายเป็นกลุ่มลูกค้าในอนาคตในโลกของการท่องเที่ยว
  • เทรนด์นี้มีที่มาจากความอึดอัด ความกังวล และปัญหาต่างๆ ที่คนยุคใหม่กำลังเผชิญ แต่สุดท้ายแล้วพวกเขาก็ขอเลือกวิถีทางที่ไม่ใส่ใจใดๆ ขอเติมความสุขสนุกสุดเหวี่ยงให้ชีวิตตนเองเป็นพอ
  • การตลาดท่องเที่ยวในโลกสมัยใหม่ต้องเข้าใจพฤติกรรมของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และ Freedonism นี่แหละก็เป็นอีกเทรนด์ที่น่าศึกษา

ถ้าไม่มีโควิด ตอนนี้น่าจะเป็นช่วงที่ Gen-Z (เด็กที่เกิดตั้งแต่ปี 1997-2012) ได้ใช้ชีวิตอิสระของตัวเองอย่างเต็มที่ เหมือนกับคนรุ่นก่อนหน้านี้ซึ่งใช้ชีวิตวัยรุ่นของตัวเองเพื่อเรียนรู้โลกและค้นหาความชื่นชอบของตัวเองสำหรับวางเป้าหมายในอนาคต แต่การมาเยือนของไวรัสร้ายทำให้ทุกอย่างต้องพังทลาย พวกเขาได้ใช้ชีวิตนอกบ้านน้อยลง หมดโอกาสไปท่องเที่ยว ฝึกงาน หรือทำงานอย่างที่ตั้งใจไว้ พวกเขาออกไปแฮงเอ๊าท์กับเพื่อนๆ ด้วยความกลัว และต้องเจอแรงกดดันจากครอบครัวว่าจะไปเอาเชื้อโรคจากข้างนอกกลับมาที่บ้านหรือเปล่า ยังไม่นับว่าเทรนด์ในโลกดิจิทัลนั้นไปไวแบบก้าวกระโดดและต้องรีบตามให้ทันถ้าไม่อยากตกขบวน นี่คือแรงกดดันที่วัยรุ่นยุคนี้ต้องเจอ

Z 1

ความฝันที่โดนเท เจเนอเรชั่นที่สูญหาย

ก่อนจะเข้าเรื่อง Freedonism เราอยากชวนทุกคนกลับไปค้นหาเหตุการณ์ที่มีลักษณะคล้ายๆ กันในประวัติศาสตร์สักหน่อยเพื่อตรวจสอบให้แน่ชัดว่าวิกฤตการณ์แห่งยุคนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีวัยรุ่นในศตวรรษก่อนหรือหลายทศวรรษก่อนหน้านี้ที่เคยประสบกับสภาวะสูญเสียตัวตนไปก่อนแล้ว

Lost Generation หรือ เจเนอเรชั่นที่หลงทางและสาบสูญ คือคำนิยามที่กลุ่มนักเขียนชาวอเมริกันตั้งให้กับวัยรุ่นที่เกิดในช่วงปี ค.ศ. 1883-1900 และต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งไปสิ้นสุดราวปี ค.ศ. 1920 ก่อนสงครามจะอุบัติ โลกในตอนนั้นเต็มไปด้วยความเจริญก้าวหน้าจากกระแสปฏิวัติอุตสาหกรรมในหลายแห่ง มนุษย์เชื่อว่าตัวเองเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถสร้างอะไรก็ได้บนโลกนี้ จนสงครามเริ่มปะทุและคนในโลกของเราฆ่ากันเองอย่างทารุณ วัยรุ่นในตอนนั้นรู้ทันทีว่าโลกใบนี้ช่างโหดร้าย ไม่ได้สวยงามอย่างที่คิด ผู้ชายหลายคนถูกเกณฑ์ไปรบเพื่อประเทศของตัวเอง ผู้หญิงต้องแบกรับภาระดูแลสมาชิกในบ้าน และอยู่อย่างหวาดกลัวภายใต้บริบทของสงคราม พวกเขาต้องเจอความสูญเสีย มีบาดแผล ความฝันดับสลาย มีแค่การเอาตัวรอดไม่ให้ตายในช่วงสงคราม พวกเขากลายเป็นคนเฉยชา ไม่ค่อยยินดียินร้ายกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่อจากนั้น หลงทางและสาบสูญไปกับกาลเวลา ไม่มีความหวังว่าโลกใบนี้จะกลับไปดีดังเดิมได้อีก

สงครามโลกไม่ได้จบสิ้นแค่ในตอนนั้น แต่ยังปะทุขึ้นอีกเป็นครั้งที่ 2 จนถึงปี ค.ศ. 1945 ลามไปถึงการเกิดสงครามเย็นที่กว่าจะสิ้นสุดลงจริงๆ ก็เมื่อปี ค.ศ. 1989 ประเทศอเมริกาที่เคลมว่าตัวเองเป็นผู้ชนะสงครามโลกก็เริ่มสร้างค่านิยมแบบ “American Dream” คือ ครอบครัว บ้าน และรถเป็นความสุขของทุกคน หลังจากนั้นไม่นานเศรษฐกิจก็เริ่มตกต่ำ อเมริกาจึงต้องเบนความสนใจไปทำสงครามในเวียดนามซึ่งกินเวลานานกว่า 20 ปี เสียทั้งเงินและทรัพยากรบุคคลไปเป็นจำนวนมาก “วัฒนธรรมฮิปปี้” จึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อเรียกร้องสันติภาพ และความสงบสุขให้กลับคืนมาอีกครั้ง พวกฮิปปี้ยังเบื่อหน่ายกรอบการใช้ชีวิตแบบเดิมๆ ทำไมคนเราเกิดมาต้องตั้งใจเรียน มีครอบครัว แล้วตายไป พวกเขาเชื่อว่าคุณค่าของมนุษย์คือการใช้ชีวิตและปกป้องธรรมชาติผู้เป็นต้นกำเนิดของเราต่างหาก

Z 2

รู้จักกับเทรนด์ Freedonism เพื่อเข้าใจนิสัยของลูกค้าในอนาคต

ในขณะที่ผู้ใหญ่รู้สึกปลอดภัยเวลาอยู่ในบ้านของตัวเอง แต่ตัวเลขจากองค์กร UNICEF กลับพบว่าวัยรุ่น 27% มีความเครียดเพิ่มขึ้นจากการที่ไม่ได้ออกไปใช้ชีวิตแบบปกติ โดย 1 ใน 2 ของกลุ่มตัวอย่างยังรู้สึกว่าไม่มีแรงกระตุ้นในการทำกิจกรรมที่ปกติเคยทำแล้วสนุก และยังพบว่าเด็กผู้หญิง 43% มองโลกในด้านลบมากขึ้น ตัวเลขเหล่านี้เหมือนระเบิดเวลาที่รอการปะทุไม่ต่างไปจากปฏิกิริยาตอบกลับของทั้ง 2 กรณีในอดีตก่อนหน้านี้ แต่อาจจะแตกต่างกันในเรื่องวิธีการและบริบททางสังคม

เว็บไซต์ info.trendwatching.com เพิ่งปล่อย 22 เทรนด์สำหรับปี 2022 และเราพบว่าเทรนด์ Freedonism น่าสนใจเป็นอย่างมาก พวกเขาอธิบายว่า ก่อนหน้าโควิด คนรุ่นใหม่ต้องเผชิญกับความเครียดทั้งจากเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือความไม่เท่าเทียมกันทางด้านรายได้ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน แต่พอโรคระบาดมาเยือน ความวิตกกังวลก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นเกินจะรับไหวไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่เป็นความเครียดที่คนทั้งโลกมีร่วมกัน สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ไม่ใช่หายนะ แต่คือแสงแห่งความหวังดวงใหญ่ที่พวกเขาอยากจะพาสังคมให้กลับไปมีความสุขดังเดิม!

Z 3

พวกเขาอธิบายต่อว่า คนรุ่นใหม่กำลังเปลี่ยนความกลัวให้กลายเป็นพลัง และสิ่งที่จะเยียวยาอาการอิดโรยของทุกคนที่ต้องต่อสู้กับโรคระบาดมาเป็นเวลานานก็คือ “ความสนุก!” ความสนุกมีหลายรูปแบบ คนรุ่นใหม่คาดหวังงานที่สนุกมากขึ้น การเรียนที่ท้าทายมากขึ้น รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ ที่กระตุ้นให้ต่อมความคิดสร้างสรรค์ได้ออกกำลังบ้างหลังจากที่ต้องติดแหง็กอยู่ในบ้านมานาน ยิ่งถ้าเป็นกิจกรรมที่พาให้คนรุ่นนี้ออกจากคอมฟอร์ทโซนได้ก็ยิ่งถูกใจเลย ธุรกิจหรือสินค้าที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถปลดล็อกจากความชอบเดิมๆ และเปลี่ยนความวิตกกังวลให้กลายเป็นจิตอิสระเสรีก็จะได้การตอบรับที่ดีในอนาคต

ยกตัวอย่างเช่น แทนที่ห้างสรรพสินค้าจะทำแคมเปญช้อปปิ้งของขวัญวันคริสต์มาสแบบเดิมๆ ซึ่งคนสมัยใหม่ไม่นิยมซื้อของในห้างสรรพสินค้าแล้ว พวกเขาควรจัดแคมเปญ “คริสมาสต์นี้ไม่มีแมสก์” จัดโซนให้คนที่คิดถึงการเดินห้างแบบและซื้อของแบบเดิมได้มาทำกิจกรรมกันแบบไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัย โดยยังคงมีมาตรการป้องกันที่รัดกุม เช่น แสดงผลฉีดวัคซีน ทำความสะอาดร่างกาย หรือทำ ATK ก่อนเข้าในพื้นที่ บรรยากาศเหล่านี้คือสิ่งที่คนรุ่นใหม่กำลังแสวงหา ความสนุกที่ขาดหายไปหลายปี หรือกิจกรรมที่ดูเหมือนจะแหกกฎเกณฑ์เดิมหน่อยๆ คือของหวานที่พวกเขากำลังมองหากันอยู่

Z 4

เพราะ Gen-Z คือเจ้าของยุคสมัยนี้

บางคนอาจตั้งคำถามว่าทำไมโลกต้องหมุนตามความต้องการของ Gen-Z  ด้วย คำถามนี้สามารถตอบได้หลายมิติ จะมองว่าพวกเขาเป็นมนุษย์ผู้มีสิทธิใช้ชีวิตในฐานะวัยรุ่นคนหนึ่งก็ได้ หรือจะมองในมุมการตลาดที่พวกเขากำลังจะเป็นกลุ่มผู้บริโภคใหญ่สุดในอนาคตก็ได้

นักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่า Gen-Z จะกลายเป็นผู้บริโภคกลุ่มใหญ่สุดของโลกภายในปี 2026 พวกเขาจะครองตลาด และมีอิทธิพลต่อสินค้าทุกแบรนด์ การทำความเข้าใจลูกค้าตั้งแต่ตอนนี้ทั้งในเรื่องสินค้าและบริการคือเวลาที่เหมาะสม และไม่สายเกินไปที่จะได้ทดลองตลาด เพราะความสำคัญก็คือพวกเขาจะไม่ใช่ลูกค้าที่ทุกคนเคยเจอก่อนหน้านี้ Gen-z ฉลาด ทันสมัย ใช้เทคโนโลยีคล่อง มีมาตรฐานสูง และรู้จักคุณค่าของเวลาส่วนตัว ข้อดีอีกอย่างของ Gen-Z คือไม่ยึดติดกับอะไรเดิมๆ และเปิดใจรับสิ่งใหม่อยู่เสมอ

สำหรับธุรกิจการท่องเที่ยว เว็บไซต์ hotelmize.com เคยลงบทความชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับวิธีการเที่ยวของคนรุ่นใหม่ว่าพวกเขายังอยากจะเดินทางอยู่เสมอแม้โควิดยังคงอยู่และจะไม่ยอมให้โรคระบาดนี้มาเป็นตัวขัดขวางในการออกไปเจอโลกกว้างเด็ดขาด โดยเฉพาะการท่องเที่ยวภายในประเทศช่วงที่การเดินทางไปต่างประเทศยังเป็นเรื่องยาก คนรุ่นใหม่รู้สึกว่าประสบการณ์แปลกใหม่ ไม่เหมือนใคร (Exotic) คือองค์ประกอบที่ต้องมีของการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ

พวกเขามีวิธีการจองที่พักอันหลากหลาย ทั้งจองผ่าน OTA และจองโดยตรงกับโรงแรม แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเขาต้องการเป็นอย่างมากคือข้อมูลที่ครบถ้วนและเป็นจริง ลองจินตนาการว่ามีลานกางเต็นท์แห่งหนึ่งในภาคอีสานที่ให้พวกเขาเข้าไปหาวัตถุดิบในท้องถิ่นด้วยตัวเอง (ซึ่งอาจจะแกล้งเตรียมไว้ให้เพื่ออำนวยความสะดวกลูกค้า) มาปรุงอาหารด้วยตัวเอง คุณค่าคงไม่ได้อยู่ที่ความอร่อย แต่เป็นประสบการณ์และเรื่องราวที่เอาไว้เล่าให้เพื่อนฟังได้นานแสนนาน

ยังมีอีกหลายเทรนด์ที่เจ้าของกิจการควรอัพเดทไว้ให้พอรู้ เพียงแต่ Freedonism คือเทรนด์ที่คุณสามารถทำได้เลยจากทรัพยากรที่มี โดยเพิ่มไอเดียเข้าไปเพื่อให้ตอบโจทย์ความทะยานอยากของคนรุ่นใหม่ อะไรคือความสนุกที่เขาไม่เคยคิดจะทำแต่น่าจะลองทำสักครั้งในชีวิตล่ะ? รับบทเป็นแม่ค้าขายผักอินทรีย์ในตลาดสด ออกแบบลายผ้าทอของตัวเอง หรือออกเรือประมงไปจับปลากลับมากิน เชื่อสิว่ายังมีอีกหลายกิจกรรมธรรมดาที่เป็นความสนุกและท้าทายสำหรับพวกเขามาก


ที่มา :

http://info.trendwatching.com/22-trends-for-2022#freedonism https://awario.com/blog/failed-christmas-marketing-tips https://www.unicef.org/lac/en/impact-covid-19-mental-health-adolescents-and-youth https://www.insiderintelligence.com/insights/generation-z-facts https://www.hotelmize.com/blog/gen-z-travelers-how-their-travel-behavior-compares-to-millennials

Tags: