เหตุจาก ‘ข้าวเหนียวมะม่วง’
กิน ‘ข้าวเหนียวมะม่วง’ ยังไงให้กลายเป็น Soft Power เมื่อ Milli โปรโมทเมืองไทยแบบปังๆในเสี้ยววินาที
- Milli คือศิลปินหญิงไทยคนแรกที่สร้างปรากฏการณ์กิน ‘ข้าวเหนียวมะม่วง’ บนเวทีคอนเสิร์ตระดับโลก Coachella 2022 จนติดเทรนด์ทวิตเตอร์และสร้างแรงกระเพื่อมให้ของหวานเมนูนี้กลับมาฮิตอีกครั้ง
- ทำไมเธอเลือกกินข้าวเหนียวมะม่วงเพื่อบอกเล่า ‘ความเป็นไทย’ ในแบบของเธอ แทนที่จะเลือก ‘ผัดไทย’ ซึ่งเป็นเมนูที่เคยมีข่าวแว่วๆ ว่าจะถูกผลักดันให้เป็น Soft Power เพราะเชื่อว่าคนทั่วโลกรู้จักเมนูนี้และมีคำว่า ‘ไทย’ อยู่ในนั้น
- เมื่อหวนกลับมามอง Soft Power ในบ้านเรา ถ้ารัฐไทยยังแช่แข็งความคิดตัวเอง มองว่าวัฒนธรรมไทยต้องสวยงามเหมือนระบำ 4 ภาค ฝันไกลของครัวไทยที่จะไปสู่ครัวโลกนั้น มันจะเป็นไปได้จริงหรือ
Milli แค่ใช้เวลา 6 นาทีกว่าๆ บนเวทีงาน Coachella พร้อมการปรากฏตัวของ “ข้าวเหนียวมะม่วง” แค่ไม่กี่วินาที เพียงเท่านี้ก็ทำให้เมนูของหวานที่ขึ้นชื่ออยู่แล้วดังไปกว่าเดิมอีกหลายเท่า จากข้อมูลใน Google Trends พบว่ามีการค้นหาคีย์เวิร์ดคำว่า Mango Sticky Rice เพิ่มขึ้นทันทีก่อนที่โชว์จะจบด้วยซ้ำ จากทั้งประเทศเพื่อนบ้านของเราเอง และสหรัฐอเมริกา ส่วนผู้ให้บริการส่งอาหารรายหนึ่งเพิ่งเผยข้อมูลว่า อัตราการสั่งข้าวเหนียวมะม่วงเพิ่มขึ้น 3.5 เท่าภายใน 24 ชั่วโมง นั่นหมายถึงมีเม็ดเงินสะพัดเข้าไปสู่ระบบทันที และกระจายรายได้ไปยังร้านค้าต่าง เรื่อยไปจนถึงเจ้าของสวนมะม่วงที่เพิ่งจะมีข่าวราคาผลผลิตตกต่ำเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของปรากฏการณ์ ‘กินตามคนดัง’ ทว่าก่อนหน้านี้ก็เคยมีกระแสลูกชิ้นยืนกิน และหมูกระทะที่มาจาก ‘ลิซ่า’ นักร้องชาวไทยในวงเคป๊อปผู้ได้รับฉายาว่า ‘ลิซ่า Sold Out’ มาแล้ว
ทำไมต้องเป็น “ข้าวเหนียวมะม่วง”
หลังการแสดงของ Milli จบลง และกระแสข้าวเหนียวมะม่วงดังไวรัลออกไปอย่างรวดเร็ว มีการตั้งคำถามสาธารณะขึ้นในอินเทอร์เน็ตว่า “ถ้าไม่ใช่ข้าวเหนียวมะม่วง คุณจะเอาอะไรไปกินบนเวที?” มีคนเข้าไปตอบเยอะมาก ตั้งแต่นำเสนอเมนูอาหารต่างๆ กันอย่างจริงจัง กับอีกกลุ่มที่พยายามตอบเป็นมุกตลกพาออกนอกทะเล เช่น “จะกินตัวเองบนเวที เพราะเราน่ากินสุดแล้ว…” (จ้าา) แต่คำถามนี้น่าสนใจนะ เพราะถ้าเป็นเรา แวบแรกคงจะเลือกเมนู ‘ผัดไทย’ ที่ชาวต่างชาติน่าจะรู้จักดี และมีคำว่า ‘ไทย’ อยู่ในเมนูอาหารซึ่งคงช่วยโปรโมทการท่องเที่ยวในประเทศไทยได้ดี
แต่คำถามก็คือ Milli กินอาหารบนเวทีเพราะอยากโปรโมทประเทศไทย ‘ในอุดมคติ’ จริงหรือ แบบว่า “โปรดมาเที่ยวที่เมืองของฉัน เพราะยิ้มสยามงามที่สุดในโลก” หรืออะไรทำนองนี้ คำตอบน่าจะไม่นะ เพราะฟังจากเนื้อเพลงที่เธอขึ้นไปแร็ปก็เรียกได้ว่าแหกสังคมไทยได้อย่างเจ็บซี้ดอยู่พอสมควร ทั้งรถไฟโบราณเอย ทั้งเสาไฟกินรีเอย…
ทฤษฎีข้าวเหนียวมะม่วงอาจจะมีคำตอบที่ง่ายที่สุดเลยก็คือ เป็นอาหารที่หาได้ง่ายและเก็บไว้ได้นานกว่าอาหารคาว แต่ถ้าลองมาวิเคราะห์กันอย่างจริงจังสักที ก็จะพบว่าช้อยส์นี้ของ Milli น่าสนใจมากๆ และอาจทำให้ข้าวเหนียวมะม่วงดังไกลกว่าที่คิด!!!
อร่อยยากตัดใจ กินง่ายพร้อมตัดขา!
หลายคนชอบบอกว่าอาหารไทยอร่อยที่สุดในโลกโดยอ้างอิงจากลิสต์ CNN World’s 50 Best Foods ของปี 2021 ที่ยกให้แกงมัสมั่นอยู่ในลำดับที่ 1 อันที่จริงประเด็นนี้มีเรื่องให้โต้เถียงเยอะอยู่พอสมควร อย่างแรกเลยก็คือมัสมั่นไม่ได้เป็นอาหารที่อยู่ใน Top of mind ของคนไทยขนาดนั้น หมายถึง เรามักจะคิดถึงเมนูง่ายๆ อย่างเช่น กะเพราไก่ไข่ดาว ข้าวไข่เจียว หรือส้มตำ เพื่อกินประทังชีวิต มากกว่าสรรหาแกงมัสมั่นเพื่อกินเป็นมื้อเที่ยง ซึ่งตัวแกงมัสมั่นเองก็ดูจะมีความ ‘ไทย’ น้อยกว่าเมนูอื่นๆ เพราะค่อนไปทางแขกมากกว่า ระดมใส่เครื่องเทศหลายชนิด เป็นแกงที่ใส่ถั่วลิสง และมีมันฝรั่งเป็นส่วนประกอบซึ่งไม่ใช่วัตถุดิบสามัญติดบ้านของคนไทยแต่ดั้งเดิม พูดง่ายๆ ว่าถ้ามีเพื่อนต่างชาติมาเที่ยวที่บ้านและบอกว่าอยากกินมัสมั่นไก่ หลายคนคงปาดเหงื่อเพราะกรรมวิธียุ่งยากกว่า ต้มยำกุ้ง (ติดอันดับที่ 8) และส้มตำ (ติดอันกับที่ 46) ขนาดให้นึกเร็วๆ ว่ามัสมั่นเจ้าไหนอร่อย เชื่อสิว่าหลายคนก็นึกไม่ออก ยังไม่รวมว่าผู้ที่จัดอันดับคือ CNN Food ที่เป็นเหมือนโต๊ะข่าวแยกย่อยเพื่อคอนเทนท์อาหารโดยเฉพาะ คำว่า World’s Best ที่เขาใช้นั้นก็หมายถึงอาหารนานาชาติจากทั่วโลก และตัดสินโดยสำนักข่าวที่มีสำนึกแบบอเมริกัน ท้ายที่สุดแล้วจะเคลมว่าอร่อยที่สุดในโลกก็คงพูดได้ไม่เต็มปาก เพราะยังมีอีกหลายคนที่ไม่ได้เห็นด้วยกับผลสรุปนี้
แต่ถ้าสมมติว่า Milli อยากจะต่อยอดจาก 3 เมนูที่ติดอันดับ ทั้งมัสมั่น ต้มยำกุ้ง และส้มตำ คิดว่าการแสดงในวันนั้นก็คงทุลักทุเลพอสมควร ไม่ต่างไปจากเมนู ‘ผัดไทย’ ที่ต้องใช้เวลาในการม้วนเส้นเหนียวๆ ขึ้นมาจนพอดีคำแล้วค่อยกินเข้าไป ข้าวเหนียวมะม่วงเลยเป็นเมนูที่กินง่ายที่สุดแล้ว ง่ายกว่านี้ก็คงเป็นไก่ทอดหาดใหญ่กับข้าวเหนียวที่อาจจะดูธรรมดาเกินไปสำหรับสายตาชาวต่างชาติ แต่ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ขนมหวานนี่เป็นอาหารเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อเลยนะ
เราคงไม่ย้อนกลับไปถึงท้าวทองกีบม้ากับขนมตระกูลทองของเธอ (ซึ่งอันที่จริงก็แสดงให้เห็นถึงการผสมผสานวัฒนธรรมอันหลากหลายได้ดี) แต่อยากจะยกตัวอย่าง ‘ชานมไข่มุก’ หรือที่ชาวต่างชาติรู้กันในชื่อ ‘Boba Tea’ ซึ่งมีจำหน่ายอย่างแพร่หลายโดยใช้เวลาไม่นาน วัฒนธรรมการกินขนมหวานอย่างจริงจังในอเมริกามีมานานแล้ว สังเกตได้จากร้านโดนัทที่ต้องมีทุกเมือง หรือการเก็บภาษีน้ำตาลให้มากขึ้นเพราะต้องการลดปริมาณการบริโภคเพื่อให้ประชากรในประเทศไม่อ้วนไปมากกว่านี้ สำหรับที่ไทย วัฒนธรรมคาเฟ่และร้านขนมเริ่มก่อตัวขึ้นอย่างแข็งแรงในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งก่อนหน้านั้นเราไม่เคยมีจินตนาการว่าจะไปร้านใดร้านหนึ่งเพื่อกินขนมเท่านั้น และต้องจ่ายในราคาหลายร้อยบาท เพราะขนมมีหน้าที่เป็นเพียงอาหารว่าง หรืออาหารล้างปากหลังมื้อหลักเท่านั้น
ข้าวเหนียวมะม่วง หรือ Mango Sticky Rice คือเมนูที่ชาวต่างชาติชื่นชอบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว มีข้อมูลในอินเทอร์เน็ตให้ค้นหา ใช้วัตถุดิบในการทำน้อยกว่าถ้าเทียบกับเมนูอื่นๆ และยังเป็นอาหารที่กินได้แบบ Universal ตั้งแต่เด็กถึงผู้ใหญ่ ไม่เหมือนอาหารไทยบางเมนูที่อาจจะมีรสจัดจ้าน หรือกลิ่นฉุนเกินไปสำหรับบางคน
ลองจินตนาการสิว่าถ้าเราสามารถจุดกระแสข้าวเหนียวมะม่วงให้ติดจนฮิตติดลมบนเหมือนชานมไข่มุก มันจะน่าตื่นเต้นสักแค่ไหน เราจะเห็นบล็อกเกอร์ต่างชาติรีวิวอาหารจานนี้ เข้าครัวลองทำเมนูนี้ ร้านอาหารต่างๆ แข่งขันกันออกเมนูที่เป็นข้าวเหนียวมะม่วง เช่น พายข้าวเหนียวมะม่วงจาก McDonald’s หรือเครื่องดื่มรสข้าวเหนียวมะม่วงที่จะมีใน Starbucks ทุกสาขา แน่นอนว่าจะต้องมีการพูดถึงประเทศไทยในฐานะต้นกำเนิดของอาหาร และสามารถเชื่อมต่อไปยังการค้าภายในประเทศได้อีกด้วย เช่น การส่งออกมะม่วงสุกหลากหลายสายพันธุ์เพื่อรสชาติที่แตกต่าง หรือเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวเหนียวเขี้ยวงูซึ่งปลูกแค่ที่ประเทศไทยเท่านั้น
‘มะม่วง’ และ ‘ข้าวเหนียว’ ตำนานอาหารไทยของแท้
ข้อเสียของประเทศที่ไม่ค่อยจดบันทึกหลักฐานอื่นเอาไว้นอกจากพงศาวดาร คือไม่สามารถสืบย้อนได้ว่าที่มา และเรื่องราวของแต่ละสิ่งนั้นเริ่มต้นจากไหน บ้างก็ต้องไปสืบค้นจากเอกสารชาวต่างชาติทั้งฝรั่งเศสและจีน ซึ่งอาจจะไม่ได้เข้าใจเซนส์ของคนไทยแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ต้องทำเพราะไม่มีตัวเลือกอื่น
เช่นเดียวกับ ‘ข้าวเหนียวมะม่วง’ ที่ทำได้เพียงแต่คาดเดาว่ามีต้นกำเนิดในสมัยอยุธยาตอนปลาย และยังคงนิยมเรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ โดยเคยเป็นอาหารที่กินกันในหมู่ผู้ดี เพราะในสมัยนั้นน้ำตาลยังเป็นอาหารที่มีราคาแพง จนมาถึงในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่พยายามลดราคาน้ำตาลเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงกันอย่างถ้วนหน้า ข้าวเหนียวมะม่วง และอาหารหวานอีกหลายชนิดจึงแพร่หลายในหมู่ชาวบ้านมากยิ่งขึ้น
แม้จะไม่รู้อย่างแน่ชัดว่าคนไทยกินมะม่วงคู่กับข้าวเหนียวมูนตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่สิ่งที่รู้ก็คือทั้งข้าวเหนียวและมะม่วงเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่อยู่คู่กับเอเชียอุษาคเนย์มาเนิ่นนาน เพราะมีการค้นพบว่ามะม่วงมีถิ่นกำเนิดในอินเดียเมื่อ 5,000 ปีที่แล้ว สำหรับในประเทศไทยนั้นก็มีมะม่วงหลากหลายมากกว่า 200 สายพันธุ์ ส่วนข้าวเหนียวก็เป็นอาหารประเภทแป้งที่กินมาตั้งแต่ยุคโบราณ เพราะมีการขุดค้นพบเปลือกข้าวเหนียวตามวัดต่างๆ ซึ่งสันนิษฐานว่านำมาผสมกับดินเพื่อทำอิฐ หรือไม่ก็ถูกทิ้งในขั้นตอนการแยกเปลือกกับเมล็ด วัฒนธรรมการบริโภคข้าวเหนียวไม่ได้อยู่แค่ในพื้นที่ประเทศไทยเท่านั้น เพราะถ้าสังเกตขนมของคนจีนโพ้นทะเลอย่าง ขนมเข่ง หรือ บ๊ะจ่าง ก็จะพบว่าพวกเขาใช้ข้าวเหนียว หรือแป้งข้าวเหนียวเป็นส่วนประกอบ ต่างจากคนจีนตอนบนที่นิยมกินข้าวเจ้า หรือแป้งข้าวเจ้า โดยสามารถสังเกตได้จากอาหารประเภทอื่นๆ เหมือนกัน เช่น ซาลาเปา และหมั่นโถว ข้าวเหนียวจึงเป็นอาหารดั้งเดิมของคนในภูมิภาคนี้ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงทางชาติพันธุ์กันได้อย่างสนุกสนาน ส่วนการกินข้าวเจ้านั้นได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียซึ่งริเริ่มกันในราชสำนักก่อนแล้วค่อยแพร่หลายมาสู่พลเมืองทั่วไป
Soft Power ไม่ใช่แค่วงการบันเทิง แต่ขายได้ทุกอย่าง
ไม่มีอะไรบนเกาะนามินอกจากต้นไม้และรูปปั้นคนรักกอดกัน แต่นักท่องเที่ยวก็แห่กันไปตามการโปรโมทของการท่องเที่ยวเกาหลี เช่นเดียวกับบ้านโบราณต่างๆ ที่มีชุดฮันบกให้เช่าแล้วถ่ายรูปประหนึ่งว่าเป็นนางในหลุดออกมาจากยุคโชซอน พอเดินออกมาจากวงโคจรของแหล่งท่องเที่ยวในเกาหลีก็จะพบว่าไม่ได้มีอะไรน่าสนใจมากเป็นพิเศษ นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวเดิมที่หลงเหลืออยู่ไม่กี่แห่ง กับสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ที่สร้างขึ้นมาอย่างรวดเร็วเพื่อรองรับความต้องการของตลาด แต่เกาหลียังเป็นเดสติเนชั่นที่ใครหลายคนอยากไปเยือนสักครั้งหลังจากที่ติดตามสื่อบันเทิงของพวกเขามานาน ไม่ว่าจะเป็นเพลง ภาพยนตร์ หรือซีรีส์ก็ตาม ถ้านับตั้งแต่ซีรีส์ ‘แดจังกึม’ ออกฉายในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2005 ตอนนี้ก็ล่วงเข้าสู่ปีที่ 17 สำหรับแพร่กระจายวัฒธรรมเกาหลีในบ้านเรา ยังจำได้ว่าช่วงแรกของการดูซีรีส์พีเรียดของเกาหลีนั้น ยังไม่คุ้มตากับชุดฮันบก และทรงผมประหลาดๆ ขนาดที่ช่อง 3 ยังต้องขึ้นข้อความบรรยายเอาไว้เลยว่าซังกุงแปลว่าอะไร ตัดภาพมาในตอนนี้ ทุกคนดูจะคุ้นเคยกับตำแหน่งต่างๆ ในพระราชวังเกาหลีได้เป็นอย่างดี แม้ว่าจะไม่มีราชวงศ์เกาหลีหลงเหลืออยู่แล้วก็ตาม
ที่ผ่านมาประเทศไทยมีความพยายามขายวัฒนธรรมทุกรูปแบบตั้งแต่หลังวิกฤตปี ’40 และค้นพบว่าการท่องเที่ยวคือสินค้าที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจไว้ได้ดีที่สุด รัฐบาลไทยตั้งแต่ยุคชวน หลีกภัย มีความพยายามในการต่อยอดการท่องเที่ยวด้วยอาหารโดยผลักดันให้เกิดร้านอาหารไทยในต่างประเทศ เรื่อยมาจนถึงยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตรที่โปรโมทการท่องเที่ยวไทยผ่านเวทีมิสยูยิเวิร์สปี 2005 ควบคู่กันกับการสร้างผลิตภัณฑ์ในชุมชนต่างๆ เพื่อการส่งออก แต่เสถียรภาพทางการเมืองก็มีส่วนสำคัญในเรื่องนี้ เมื่อเมืองไทยเกิดการรัฐประหารบ่อยครั้ง และไม่มีแผนระยะยาวในการจัดการสินค้าวัฒนธรรม ผลที่ได้คือไทม์แมชชีนย้อนเวลาหาอดีตที่ต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่อยู่เสมอ รัฐบาลเผด็จการทหารยังมีแนวคิดอนุรักษ์นิยมมากกว่า และมองว่าวัฒนธรรมที่ดีคือความเป็นไทยอันบริสุทธิ์ ในขณะที่นักร้อง K-Pop สนุกสนานไปกับการเต้นแหกแข้งขากันอย่างสนุกสนาน สิ่งเหล่านี้เกิดไม่มีทางเกิดขึ้นในเมืองไทย เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมซีรีส์และภาพยนตร์ที่มีกองเซ็นเซอร์เคยสอดส่องเนื้อหาอย่างเคร่งครัด และไม่มีเม็ดเงินจากรัฐลงไปสนับสนุนอย่างจริงจังเหมือนที่รัฐบาลเกาหลีทำ เพราะถ้านับตั้งแต่ทศวรรษที่ 90s เป็นต้นมา พวกเขาใช้เวลาเกือบ 30 ปีกว่าจะพาทุกอย่างมาถึงตรงนี้ แล้วเราล่ะอยู่ตรงไหนแล้ว?
รัฐไทยเข้าใจแค่ไหน?
เราจะเห็นรัฐบาลที่ต้องการโปรโมทวัฒนธรรมอย่างฉาบฉวย สร้างสโลแกนเด๋อด๋าออกมาแล้วบอกว่านี่จะเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศให้อยู่ในแนวหน้าของโลก ครัวไทยจะเอาอะไรไปครัวโลกในขณะที่ราคาข้าวสารตกต่ำอย่างสุดขีด ราคาปุ๋ยขึ้นเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ในปีที่ผ่านมา รัฐบอกให้เกษตรกรผลิตพืชผลที่มีคุณภาพตามความต้องการของตลาด แต่ไม่ได้ให้เครื่องมือ และแนวทางเพื่อการเปลี่ยนแปลง จะต่างอะไรกับอุตสาหกรรมผลิตโกโก้ในแอฟริกาที่ใช้แรงงานมนุษย์เยี่ยงทาสเพื่อป้อนอาหารให้กับคนทั้งโลก ไทยไม่สามารถบอกคนทั่วโลกได้ว่าประเทศเราอุดมสมบูรณ์ทั้งที่ยังมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ทุกปีจะมีเกษตรกรออกมาประท้วงเทผลไม้ทิ้งไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง ซึ่งรัฐก็น่าจะรู้อยู่แล้วว่าผลไม้แต่ละชนิดจะให้ผลผลิตในฤดูไหน หรือถ้ามองว่าสินค้ามีมากเกินความจำเป็นของตลาด ก็ควรวางแผนปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตให้ตรงกับความต้องการ ไม่ใช่ปล่อยให้มีการเพาะปลูกเพื่อสร้างภาพความเป็นประเทศแห่งอาหาร แต่ก็ปล่อยให้สินค้าเหล่านั้นเน่าเสียไปเพราะไม่มีคนสนใจ
ก่อนที่รัฐบาลเกาหลีใต้จะผลักดันวัฒนธรรมออกนอกประเทศ พวกเขาเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ให้ดีขึ้นเรื่อยๆ เช่น กระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุมทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2000 หรือสร้างขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ เพราะพวกเขารู้ดีว่า เมื่อ Soft Power เหล่านั้นทำงาน ก็จะเริ่มมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้จะคอยอำนวยความสะดวกการใช้ชีวิตใระยะเวลาสั้นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถกระจายรายได้ไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม
ตัดภาพกลับมาที่เมืองไทย หากเปรียบเทียบกับหมัดต่อหมัดแล้ว ทรัพยากรทางธรรมชาติและวัฒนธรรมของเรานั้นมีลูกเล่นกว่าเกาหลีใต้เยอะมาก เราส่งชาเย็น หรือ Thai Tea ออกไปไกลได้มากกว่า ไก่ทอดหาดใหญ่โรยหอมเจียวก็น่าจะถูกปากคนมากกว่าครึ่งโลก สาโทและสุราต้ม รวมถึงน้ำท่อมก็เป็นนวัตกรรมทางอาหารที่มอมเมาประชากรโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหลือแค่ต้องปลดล็อกจากตัวละครไม่กี่คนที่มีอิทธิพลต่อประเทศของเรามากเกินไป ไม่ทำวันนี้ไปทำวันหน้าก็ได้ แต่อย่าลืมว่าทุกนาทีที่ผ่านไปต้องจ่ายค่าเสียโอกาสมากขึ้นด้วย สำหรับรัฐราชการไทย Soft Power อาจเป็นแค่คำเก๋ๆ เอาไว้พูดในที่ประชุมเพื่อเอาหน้าเจ้านาย เหมือนคำว่า Sandbox หรือ การทำงานอย่างบูรณาการ ที่ดูตาก็รู้ว่าคนพูดไม่เข้าใจหรอก แต่สำหรับเมืองไทยแล้ว ทุกคนกุม Soft Power ของตัวเองอยู่ในมือ มันจะเป็นอะไรก็ได้ อาหาร เพลง เรื่องเล่า แฟชั่น วัฒนธรรม มันเป็นอะไรก็ได้ที่เรามีอยู่แล้ว รอแค่ให้ถึงวันที่พระจะลงโทษพวกขัดขวางความเจริญ แล้วเปิดโอกาสให้ Soft Power แบบไทยๆ เริ่มทำงานซักที!