About
TRENDS

Paris 2024

ความจึ้งที่โลกต้องจำของ Paris 2024 เปลี่ยนมหานครแห่งแฟชั่นสู่มหกรรมโอลิมปิกลุคใหม่

เรื่อง เปรมวดี ปานทอง ภาพประกอบ ANMOM Date 18-07-2024 | View 2969
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • รวมความจึ้งของ Paris 2024 มหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่ทั่วโลกกำลังจับตา ในฐานะเมืองแฟชั่นสู่การเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาระดับโลก ที่ปารีสปักธงว่านี่คือโอลิมปิกที่ใส่ใจความยั่งยืนที่สุดในประวัติศาสตร์

ใกล้เข้ามาทุกทีแล้วกับกีฬาโอลิมปิก หรือ ‘ปารีส 2024’ ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม - 11 สิงหาคมนี้ กับการปักธงจะเป็นโอลิมปิกที่ยั่งยืนที่สุดในประวัติศาสตร์!

แต่…เมื่อเจ้าภาพมีชื่อเป็นเมืองหลวงของฝรั่งเศสทั้งที มีดีแค่รักษ์โลกได้ที่ไหน

ในฐานะมหานครแห่งศิลปะ แฟชั่นและความโรแมนติก บวกกับวาระครบรอบ 100 ปีที่ปารีสได้กลับมาเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกอีกครั้ง นับตั้งแต่ปี 1924 ยิ่งต้องเล่นใหญ่ไฟกะพริบ

ปารีสจะทำถึงและจึ้งขนาดไหน ONCE เลยอยากชวนไปดูการรับไม้เป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ จะเปลี่ยนแปลงเมืองที่วุ่นวายและมากด้วยมลพิษสู่การโชว์ศักยภาพและความพร้อมอย่างไร ก่อนเตรียมนับถอยหลังเกาะติดหน้าจอส่งกำลังใจเชียร์นักกีฬาไทยสู้สุดใจไปด้วยกัน

โอลิมปิก

สดใส มีชีวิตชีวา ฉบับปารีส

Paris 2024 มาใน 4 ธีมหลัก คือ Celebration (การเฉลิมฉลอง) Transfer (การถ่ายทอดความเป็นกีฬาสู่เมืองอย่างมีสไตล์) Rationalisation (มีความรับผิดชอบมากขึ้น) และ Personalisation (เป็นเกมของทุกคน) โดยเน้นเรื่อง ‘ความเท่าเทียม’ ภายใต้สโลแกน Games Wide Open โอลิมปิกที่เปิดกว้างสำหรับทุกคน

นอกจากการนำเสนอเอกลักษณ์ของเมืองผ่านการออกแบบโดยใช้ลวดลายเรขาคณิต ความมีสีสัน เรียบหรูดูดีในสไตล์อาร์ตเดโค (Art Deco) ซึ่งเห็นกันในโอลิมปิก 1924 ที่ปารีสมาแล้ว ยังมาในสีเขียว ม่วง น้ำเงินและแดง เพื่อแสดงถึงความหลากหลายตามสโลแกน

โอลิมปิก

สีทั้งหมดยังถูกเชื่อมโยงกันด้วยสีขาว สีทอง และสีชมพู ในรูปแบบของสีพาสเทล เน้นความสดใสอย่างมีสไตล์

“เราคือปารีส เราเป็นคนฝรั่งเศส และเป็นประเทศแห่งแฟชั่นและวัฒนธรรม เราไม่อยากให้ภาพรวมทั้งหมดดูคล้ายสีรุ้งเสียทีเดียว” Julie Matikhine แบรนดิ้ง ไดเร็กเตอร์ของการแข่งขัน บอกถึงแนวคิดการใช้สีต่างๆ ที่สื่อถึงความสุข การเชิญชวน และการเฉลิมฉลองไปกับมหกรรมที่ยิ่งใหญ่

มากกว่านั้น นี่จะเป็นครั้งแรกของเมืองเจ้าภาพ ไม่ว่าจะเป็น ปารีส ชาโตรูซ์ ลีล มาร์กเซย หรือแม้แต่ตาฮิติ ที่สามารถปรับลุคให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของแต่ละเมืองในเวอร์ชันของตัวเองได้ด้วย

โอลิมปิก

สร้างสรรค์สิ่งใหม่เพื่อความหลากหลายและเท่าเทียม

“สวยอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องใส่ความลึกซึ้งลงไปในการออกแบบ ร่วมกับการรีแบรนด์ ผสมองค์ประกอบที่ไม่เคยมีมาก่อน” คือแนวคิดในการออกแบบอัตลักษณ์ของ Joachim Roncin หัวหน้าฝ่ายออกแบบ Paris 2024 ภายใต้คติประจำใจ “มาแหกกฎ สร้างสรรค์สิ่งแปลกใหม่กันเถอะ!”

นับเป็นครั้งแรกของเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกอีกเช่นกัน ที่จะมีการใช้ โลโก้ เดียวกันในการแข่งขันทั้งสองรายการ เพื่อสะท้อนความเท่าเทียม จะต่างกันแค่สัญลักษณ์ 5 ห่วงกับ Agitos ของพาราลิมปิกเท่านั้น

ส่วนภาพใบหน้าผู้หญิงที่ถูกล้อเลียนว่าเหมือนโลโก้ร้านทำผมหรือแอปฯ หาคู่ชื่อดังนั้น ผสมผสานมาจากองค์ประกอบ 3 อย่าง ได้แก่ สีทอง หมายถึง เหรียญทองที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จ เปลวไฟ หมายถึง พลังการขับเคลื่อน และ Marianne สตรีผู้เป็นสัญลักษณ์แห่งฝรั่งเศส เป็นตัวแทนแห่งเสรีภาพ เพื่อสื่อความหมายถึง เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพตามปรัชญาประจำชาติ ในฐานะเจ้าภาพโอลิมปิกครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่อนุญาตให้นักกีฬาหญิงเข้าร่วมที่ปารีส ปี 1900

โอลิมปิก

เช่นเดียวกับ เจ้าฟรีจิส (Phryges) มาสคอตประจำการแข่งขันโอลิมปิกและพาราลิมปิก 2024 ที่มีต้นแบบมาจากหมวกฟรีเจียนสีแดงบนศีรษะของ Marianne ในภาพวาดอันโด่งดัง ‘Liberty Leading People’ อีกหนึ่งความแปลกใหม่ของมหกรรมกีฬาครั้งนี้ เพราะส่วนใหญ่ที่ผ่านมาเจ้าภาพจะเลือกต้นแบบมาจากสัตว์

“เราอยากเลือกสิ่งที่อยู่ในอุดมคติมาเป็นมาสคอตมากกว่าสัตว์ เราเลือกหมวกฟรีเจียน เพราะมันเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงชาวฝรั่งเศสมากที่สุด เป็นสิ่งที่รู้จักกันดีว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งเสรีภาพสำหรับเรา” Tony Estanguet ประธานฝ่ายจัดการแข่งขัน บอกถึงที่มาของมาสคอตซึ่งแตกต่างกันแค่ขาเทียมในกีฬาพาราลิมปิก

โอลิมปิก

แต่ที่แหวกแนวชัดสุด เห็นจะเป็น พิกโตแกรม (Pictograms) หรือสัญลักษณ์กีฬา

ปกติที่ผ่านมาเราจะคุ้นเคยกับไอคอนรูปร่างคนเล่นกีฬาในรูปแบบที่แตกต่างกันไป แต่คราวนี้เจ้าภาพเลือกแทนที่ด้วยลวดลายเส้นแบบสมมาตร สื่อถึงกีฬานั้นๆ แทน อย่างเช่น เรือ ลูกเหล็ก ไม้เทนนิส สนามฟุตบอล เป็นต้น ภายใต้คอนเซปต์ ‘ตราแห่งเกียรติยศ’ ที่มีลักษณะคล้ายตราประจำราชวงศ์ของอัศวินยุคกลาง โดย 8 ใน 70 ไอคอนของโอลิมปิกจะถูกใช้ร่วมกับพาราลิมปิก เพราะไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าใครเล่น ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลที่เลือกไม่ใช่รูปร่างบุคคล

อย่างไรก็ตาม หลายคนมองว่าสัญลักษณ์ครั้งนี้ยากต่อการสังเกตและเข้าใจความหมายในทันที เมื่อเปรียบเทียบกับรูปแบบเดิมที่เห็นปุ๊บก็เข้าใจปั๊บ

โอลิมปิก

เปลี่ยนโปสเตอร์การแข่งขันให้เป็นชิ้นงานศิลปะ

อีกหนึ่งไอเดียที่ต้องขอยกนิ้วให้เลยคือ โปสเตอร์ระดับไอคอนิก!

งานนี้ได้ Ugo Gattoni ศิลปินที่เคยร่วมงานกับแบรนด์หรูอย่าง Cartier และ Hermès มาออกแบบให้ เขาใช้เวลากว่า 2,000 ชั่วโมง สร้างสรรค์ผลงานแนวแฟนตาซีที่มีชีวิตชีวาและเต็มไปด้วยรายละเอียดยิบย่อย ยิ่งไปกว่านั้นเป็นการวาดมือด้วยตัวเองโดยไม่ง้อ AI แม้แต่นิดเดียว

“ทุกวันนี้เราอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วย AI ผมอยากจะนำเสนอ à la française (ความรู้แบบฝรั่งเศส) นี้ในการทำโปสเตอร์และการใช้สีที่วาดด้วยมือเหล่านี้” Roncin เผยถึงแรงบันดาลใจ

นักวาดภาพประกอบชาวปารีส พาเราท่องไปในเมืองปารีสเวอร์ชันในอุดมคติ เมืองกีฬาที่มีสถานที่สำคัญ เช่น หอไอเฟล แม่น้ำแซน ประตู Arc de Triomphe สนามกีฬา และสัญลักษณ์ที่คุ้นเคย ด้วยการจัดเรียงและตีความใหม่ พร้อมกับตัวละครกว่า 40,000 ตัวในบรรยากาศการเฉลิมฉลอง สะท้อนสโลแกน ‘Games Wide Open’ หรือเกมอันเปิดกว้าง แฝงกลิ่นอายแบบอาร์ตเดโคเชื่อมอดีตและปัจจุบันเข้าด้วยกัน

และด้วยจิตวิญญาณแห่งความเท่าเทียม ปารีส 2024 เลือกจะไม่สร้างความแตกต่างระหว่างโอลิมปิกและพาราลิมปิกอีกเช่นกัน โดยนำเอาเทคนิคการวาดภาพแบบ diptych มาใช้ นั่นคือสามารถแยกส่วนออกจากกันเป็น 2 ภาพและนำมารวมเป็นภาพเดียวกันได้แบบไร้รอยต่อ โดยโปสเตอร์โอลิมปิกจะอยู่ฝั่งซ้าย และพาราลิมปิกอยู่ทางด้านขวา

ความพิเศษอีกอย่างของโปสเตอร์นี้คือ Gattoni ได้แอบใส่ดีเทลชวนให้ทุกคนค้นหา เจ้าฟรีจิส มาสเตอร์ของการแข่งขันทั้ง 8 ตัวที่ซ่อนอยู่ในโปสเตอร์ เหมือนการ์ตูน Where’s Wally เป็นโปสเตอร์ที่ไม่เพียงทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์การแข่งขัน หากยังสะท้อนความคิด รสนิยม และวัฒนธรรมของประเทศ เป็นงานศิลปะที่มีคุณค่าในสายตานักสะสมชิ้นหนึ่งเลย

ใครอยากเก็บไว้ในครอบครอง มีวางจำหน่ายทางออนไลน์และร้านค้าอย่างเป็นทางการของปารีส 2024 รวมถึงพิพิธภัณฑ์ Musée d’Orsay ในราคา 29 ยูโร (ประมาณ 1,154 บาท)

โอลิมปิก

ออกแบบเหรียญรางวัลจากชิ้นส่วนหอไอเฟล

ไม่ใช่แค่โลโก้ มาสคอต พิกโตแกรม หรือโปสเตอร์ ที่เจ้าภาพพยายามใส่ลูกเล่นและสัญลักษณ์ของความเป็นฝรั่งเศสและปารีสเข้าไป แต่รวมถึงเหรียญรางวัลที่ได้ Chaumet แบรนด์เครื่องประดับชั้นนำในเครือ LVMH อาณาจักรแบรนด์หรูของ Louis Vuitton และผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการของการแข่งขันมาดีไซน์ความเรียบหรูดูดีโดยเฉพาะ

นอกจากสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จแล้ว นักกีฬาที่คว้าเหรียญรางวัลทุกคนจะได้รับชิ้นส่วนสำคัญทางประวัติศาสตร์ของปารีสติดมือกลับบ้านไปด้วย เพราะทุกเหรียญจะมีชิ้นส่วนโลหะจากโครงสร้างหอไอเฟลที่หลงเหลือจากการรีโนเวตมาเป็นวัสดุในส่วนตรงกลางที่เป็นมุมหกเหลี่ยมด้านหน้า

ความพิเศษนี้ยังมาพร้อมกับการเจียระไนเหมือนอัญมณี และการออกแบบที่แฝงไปด้วยเอกลักษณ์ของฝรั่งเศสและกีฬาโอลิมปิก ขณะที่เหรียญพาราลิมปิกจะมีอักษรเบรลล์สำหรับผู้พิการทางสายตาเป็นคำว่า ‘PARIS’ และ ‘2024’

โอลิมปิก

รวมพลดีไซเนอร์ตัวตึงและผู้ผลิตแบรนด์หรู

นอกจากเหรียญรางวัลที่ได้แบรนด์เครื่องประดับระดับท็อปมาดูแลแล้ว Louis Vuitton ยังรับหน้าที่ออกแบบหีบใส่เหรียญรางวัลและหีบคบเพลิงที่โดดเด่นด้วยลายโมโนแกรมสุดคลาสสิก พร้อมดิสเพลย์เปิดโชว์ได้ทั้ง 3 เหรียญคือ ทอง เงิน และทองแดง

ขณะที่คบเพลิงสุดล้ำเป็นฝีมือการออกแบบของ Mathieu Lehanneur ดีไซเนอร์ชาวฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงทั้งด้านศิลปะ นวัตกรรมหรือเทคโนโลยี ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากแม่น้ำแซน แม่น้ำสายหลักของเมืองและสถานที่จัดการแข่งขัน โดยใช้วัสดุจากการรีไซเคิลและหมุนเวียน มีความสมมาตรทั้งในแนวตั้งและแนวนอน สะท้อนความเท่าเทียม

โอลิมปิก

ไม่เว้นแม้แต่ชุดกีฬาของทีมชาติฝรั่งเศส ก็ได้ Stéphane Ashpool ดีไซเนอร์ตัวตึงด้านสตรีตแฟชั่นของแบรนด์ Pigalle มาร่วมงานกับผู้ผลิตอย่าง Le Coq Sportif

Ashpool ใช้เวลาถึง 2 ปีในการออกแบบชุดให้เปล่งประกาย ทันสมัย บ่งบอกความเป็นฝรั่งเศสและจิตวิญญาณของนักกีฬาที่ต้องผ่านความยากลำบากกว่าจะถึงวันนี้ ด้วยการเล่นกับการไล่ระดับสีธงชาติ สะท้อนไลฟ์สไตล์ที่มีชีวิตชีวา มาพร้อมความเท่ตั้งแต่ยังไม่ลงสนาม

“เราเห็นในทีวีนั้นเป็นเพียงไม่กี่วินาทีก็จริง แต่มันคือจุดสูงสุดของช่วงเวลาหลายปีที่ต้องพยายามฝึกซ้อมสำหรับนักกีฬา เราต้องการถ่ายทอดการเดินทางเหล่านั้น ซึ่งเต็มไปด้วยความสุขและความผิดหวัง”

โอลิมปิก

โอลิมปิก

โอลิมปิก

เนรมิตแลนด์มาร์กให้เป็นสนามกีฬาในความทรงจำ

เพื่อให้เป็นไปตามคำมั่นสัญญาว่า Paris 2024 จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลงครึ่งหนึ่ง เหลือประมาณ 1.75 ล้านตัน เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 3.5 ล้านตันก่อนหน้านี้ โดย 95% ของเกมการแข่งขันจะจัดขึ้นในสถานที่ที่มีอยู่แล้วหรือสนามชั่วคราว

เพียงแต่สนามชั่วคราวที่ว่านี้ ไม่ธรรมดา!

ไอเดียคือเชื่อมโยงพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์เข้ากับเกมกีฬา เพื่อมอบประสบการณ์ที่ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใครให้กับผู้คนทั่วโลกที่จะแวะเวียนมาเยี่ยมชมและเฉลิมฉลองบรรยากาศความสนุกเร้าใจไปด้วยกัน

ณ บริเวณ Champ de Mars สวนสาธารณะสัญลักษณ์ของเมือง เราจะได้เห็นนักวอลเลย์บอลชายหาดกระโดดตบเบื้องหน้าหอไอเฟล ชมการขี่ม้าหน้าพระราชวังแวร์ซาย สนามกีฬาฟันดาบและเทควันโดในโดมกระจกอย่าง Grand Palais ประชันลีลาสเกตบอร์ด เบรกแดนซ์ที่ลานจัตุรัส Place de la Concorde รวมถึงอีกหลายกีฬาที่ Trocadéro, Pont Alexandre III, Hôtel de Ville, Esplanade des Invalides

โอลิมปิก

โอลิมปิก

ยิ่งกว่านั้น เจ้าภาพยังเล่นใหญ่ไฟกระพริบทำความสะอาดแม่น้ำแซน ใช้เป็นสถานที่จัดแข่งขันกีฬาว่ายน้ำมาราธอนและไตรกีฬา พร้อมแนวคิดต่อยอดให้คนในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวสามารถลงว่ายน้ำได้หลังจบเกม ถือเป็นการฟื้นฟูประเพณีดั้งเดิมที่ถูกห้ามมาตั้งแต่ปี 1923 เนื่องจากแม่น้ำมีมลพิษมากเกินไป

เบื้องหลังโปรเจ็กต์นี้คือการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดยักษ์ เทียบเท่าสระน้ำโอลิมปิก 20 สระไว้กักเก็บน้ำเสียและน้ำฝนส่วนเกินไม่ให้ไหลลงสู่แม่น้ำโดยยังไม่ผ่านการบำบัด ต่อยอดสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวในอนาคตได้อีกด้วย

โอลิมปิก

พัฒนาเมือง เชื่อมโยงชุมชนผ่านมหกรรมกีฬาสุดยิ่งใหญ่

นั่นหมายความว่าในโอลิมปิกครั้งนี้มีการก่อสร้างถาวรเพียงแค่ 5% เท่านั้น คือหมู่บ้านนักกีฬาและศูนย์กีฬาทางน้ำ

ทั้ง 2 แห่งออกแบบและเน้นการก่อสร้างที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ น้อยกว่าโครงการก่อสร้างสมัยใหม่ 30% ใช้พลังงานทดแทน ไม้และวัสดุรีไซเคิลเป็นหลัก ผสมผสานกับพื้นที่สีเขียวที่เต็มไปด้วยต้นไม้หลายพันต้นโดยรอบ

นักกีฬาจะนอนบนที่นอนจากอวนจับปลารีไซเคิล เตียงจากกระดาษแข็งเหมือนในโตเกียวเกมส์ ไม่ต้องพูดถึงเครื่องปรับอากาศ เพราะเขาเน้นเปิดโล่งรับแสง ลมจากธรรมชาติเท่านั้น บนหลังคามีกรงและช่องเปิดไว้เป็นที่อยู่ของแมลงและนก เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ สร้างความยั่งยืนเข้าไปอีก

ศูนย์กีฬาทางน้ำก็พึ่งพาพลังงานจากแผงโซลาร์เซลล์ขนาด 4,680 ตารางเมตรที่ติดตั้งบนหลังคา ขณะที่ที่นั่งทั้งหมดทำจากขยะพลาสติกรีไซเคิลในท้องถิ่น

ที่สำคัญ…ไม่ต้องกลัวตำน้ำพริกละลายแม่น้ำกับภาพ ‘สนาม/อาคารร้าง’ ที่เปรียบเหมือนของแสลงเจ้าภาพหลายครั้งที่ผ่าน เพราะมีแผนรองรับแล้ว

หลังจบการแข่งขันหมู่บ้านโอลิมปิก ซึ่งอยู่ใน Seine Saint Denis ย่านชานเมืองปารีสที่ขึ้นชื่อเรื่องความยากจน จะถูกเปลี่ยนเป็นย่านที่พักอาศัยและธุรกิจใหม่ มีร้านค้า สำนักงาน พื้นที่สาธารณะที่รองรับผู้อยู่อาศัยได้ 6,000 คนและการจ้างงานได้อีก 6,000 คน เช่นเดียวกับศูนย์กีฬาทางน้ำจะกลายเป็นศูนย์กีฬาแบบมัลติฟังก์ชันขนาดใหญ่ที่เปิดให้บริการสำหรับทุกคน

โอลิมปิก

นำเสนอการเดินทางและอาหารอย่างยั่งยืน

นอกจากลดการก่อสร้างอาคารใหม่ ใช้อาคารเดิมและสถานที่สำคัญมาใช้งานแทนร่วมกับปรับภูมิทัศน์ให้เป็นเมืองสีเขียว ลงต้นไม้ใหม่ 200,000 ต้นบนท้องถนนแล้ว มหานครปารีสยังปรับเปลี่ยนระบบการขนส่งให้สะดวก เข้าถึงง่ายและใช้เวลาเดินทางให้น้อยที่สุด
• มากกว่า 80% ของสนามแข่งขันตั้งอยู่ในรัศมีเพียง 10 กิโลเมตร
• สามารถเดินทางไปยังสถานที่ทั้งหมดได้ด้วยบริการขนส่งสาธารณะ ซึ่งเตรียมขยายการให้บริการเพิ่มขึ้น 15%
• ขยายเลนจักรยานเพิ่มมากกว่า 400 ก.ม. ร่วมกับมีจักรยานให้บริการเพิ่มอีก 3,000 คัน
ระหว่างการแข่งขัน อาหารมากกว่า 13 ล้านมื้อจะมุ่งเน้นไปที่การเสิร์ฟอย่างยั่งยืน ใช้ผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นและตามฤดูกาลเพื่อลดของเสียและเศษอาหาร ลดปริมาณพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวลงครึ่งหนึ่ง
• เพิ่มสัดส่วนส่วนผสมจากพืชเป็นสองเท่า
• 80% ของส่วนผสมมาจากผลผลิตทางการเกษตรในท้องถิ่น และ 25% ผลิตได้ภายใน 250 ก.ม. จากสถานที่ที่เกี่ยวข้อง
• ลดปริมาณขยะอาหารโดยคำนวณปริมาณให้พอเหมาะ พร้อมแจกจ่าย หมัก หรือเปลี่ยนรูปอาหารที่ไม่ได้ใช้ทั้งหมด
• ลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวที่ใช้ในการจัดเลี้ยงลงครึ่งหนึ่ง หันมาใช้ขวดน้ำและจุดให้บริการน้ำดื่มแทน โดยร่วมมือกับ Coca-Cola พันธมิตรโอลิมปิกทั่วโลกติดตั้งจุดบริการน้ำดื่มและโซดา 700 แห่งทั่วสถานที่จัดงานปารีส 2024 พร้อมอนุญาตให้ผู้ชมพกขวดน้ำใช้ซ้ำของตนเองเข้าได้ ยกเว้นกรณีมีกฎระเบียบของฝรั่งเศสอยู่

โอลิมปิก

ฉีกกฎธรรมเนียมเดิมๆ ด้วยพิธีเปิดกลางแม่น้ำ

ปิดท้ายด้วยไฮไลต์เด็ดที่ทุกคนจับตามอง นั่นคือพิธีเปิดการแข่งขัน

นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์กีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ที่พิธีเปิดจะไม่เกิดขึ้นในสเตเดียม เพราะงานนี้จะจัดขึ้นกลางแม่น้ำแซน!

ใช่แล้ว…เราจะไม่ได้เห็นภาพขบวนพาเหรดนักกีฬาเดินโบกธงเข้าสนามที่คุ้นเคย แต่จะได้เห็นนักกีฬาและตัวแทนแต่ละประเทศล่องเรือจากสะพาน Austerlitz ข้าง Jardin des Plantes มุ่งหน้าไปยังฝั่งตะวันตกของแม่น้ำผ่านแลนด์มาร์กสำคัญหลายแห่ง อาทิ มหาวิหารนอเทรอดาม พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ปงต์เนิฟ (สะพานเก่าแก่ที่สุดในปารีส) กร็องปาแล และหอไอเฟล เป็นต้น ก่อนสิ้นสุดระยะทาง 6 ก.ม. ที่จัตุรัส Trocadéro

ที่สำคัญงานนี้ผู้ชมส่วนใหญ่จะได้ชมฟรีในบริเวณด้านบนของท่า ส่วนผู้ที่ต้องการเข้าชมพิธีอย่างใกล้ชิดในชั้นล่าง ตั้งแต่สะพาน Austerlitz ไปจนถึงสะพาน Iéna จะต้องซื้อตั๋ว พร้อมติดตั้งจอยักษ์กว่า 80 จอให้ได้ร่วมเฉลิมฉลองกันถ้วนหน้า

โอลิมปิก

แม้ยังไม่มีรายละเอียดและไฮไลต์การจุดคบเพลิงยังถูกอุบเงียบอยู่ แต่เชื่อว่าการได้ผู้กำกับละครเวทีชื่อดังผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของละครเพลง ‘Starmania’ อย่าง Thomas Jolly มาควบคุมดูแล น่าจะสร้างความน่าตื่นตาตื่นใจกับการแสดงแสง สี เสียงกลางแม่น้ำและมีอะไรให้เซอร์ไพรซ์เหมือนกับที่ ยูเซน โบลต์เชื่อมั่นแน่นอน

“จะเป็นพิธีเปิดที่ดีที่สุดครั้งหนึ่ง หากไม่ใช่ครั้งที่ดีที่สุด” อดีตยอดลมกรดเจ้าของ 8 เหรียญทองโอลิมปิกชาวจาเมกา กล่าวหลังประทับใจประสบการณ์ร่วมล่องเรือเปิดตัวคบเพลิงโอลิมปิก 2024 เมื่อปีก่อน

มหานครปารีสจะทำให้โอลิมปิก 2024 มีสีสันแต่สง่างาม กล้าหาญแต่เรียบง่าย ทันสมัยแต่เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ เพื่อเป็นครั้งที่น่าจดจำมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์หรือไม่ รอดูกัน!


ภาพ – www.olympics.com

โอลิมปิก

ที่มา
https://olympics.com/en/paris-2024
https://olympics.com/ioc/news/less-better-and-for-longer-five-ways-paris
https://www.weforum.org/agenda/2024/03/paris-most-sustainable
https://www.designboom.com/design/joachim-roncin-design-paris-2024
https://www.designweek.co.uk/issues/21-27-october-2019
https://flat6concepts.medium.com/exploring-the-symbolism
https://apnews.com/article/paris-olympics-paralympics-posters

Tags: