Welcome to Talat Phlu
‘ประชา’ ห้องรับแขกตลาดพลู ฉีกภาพจำของย่านด้วยศิลปะ วัฒนธรรม สู่การเป็น Creative District
- รู้จักย่านตลาดพลูผ่าน ประชา ห้องรับแขกที่นำเสนอพหุวัฒนธรรม ขนมดั้งเดิม และศิลปะชุมชน เพื่อให้คนรู้ว่าตลาดพลูมีดีกว่าของกิน และมีศักยภาพเป็น Creative District แห่งใหม่ของกรุงเทพฯ
เปิดห้องรับแขกย่านตลาดพลู ‘ประชา’ สถานที่ที่พร้อมต้อนรับทุกคนมาทำความรู้จักย่าน ผ่านทัวร์จักรยาน ขนมดั้งเดิม และศิลปะชุมชน
ตรี-มนตรี ศิริกัณฑ์ รับหน้าที่ดูแลห้องรับแขกแห่งนี้ด้วยแพสชั่นในการส่งต่อเรื่องราวในย่านสู่สายตาคนนอก เกิดเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ของชุมชนอายุ 70 ปี รีโนเวตจากโรงพิมพ์แสงประชา มรดกตกทอดจากรุ่นคุณปู่
ซิกเนเจอร์ที่สะท้อนตัวตนของย่านรวมอยู่ในที่เดียว ของเด็ดเหล่านั้นจะเปลี่ยนภาพจำที่ทุกคนมีต่อย่าน เพราะประชาเต็มไปด้วยขนมดั้งเดิมที่หาซื้อที่อื่นแทบไม่ได้ แต่ย่านนี้กลับมีขายทั่วตลาด หัวสิงโตของคณะเชิดสิงโตตั้งตระหง่านอยู่กลางห้อง ว่าวไทยที่สูงกว่าคน และนิทรรศการบอกเล่าพหุวัฒนธรรมในย่านผ่านสถานที่ ซึ่งเชื่อมโยงกับทัวร์จักรยานของประชาด้วย
เสน่ห์อันล้นเหลือและไม่ซ้ำใครสร้างความประทับใจจนร้านฮิตติดกระแส แม้เพิ่งเปิดทำการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ก็ต้องยอมรับว่าตลาดพลูมีแต่เรื่องเซอร์ไพรซ์ ต่อจากนี้ถ้าได้มาเที่ยวตลาดพลูอีกก็จะเดินเที่ยวให้ทั่วกว่าเดิมแน่นอน
Talat Phlu’s Living Room
ร้านรวงมากมายกระจุกตัวอยู่ตรงแยกตลาดพลู เสียงบีบแตรของมอเตอร์ไซค์ รถยนต์ รถเมล์ ดังประสานกันดังก้องถนน เราเดินทอดน่องออกห่างจากความวุ่นวายเพียง 3 นาที คาเฟ่รีโนเวตจากโรงพิมพ์เก่าก็ปรากฏสู่สายตา
ประชาหรือโรงพิมพ์แสงประชาตั้งอยู่ในซอยเทอดไทย 20 รอบข้างเป็นที่อยู่อาศัยของคนในชุมชน เยื้องกันนั้นมีศาลเจ้าจีน ความเงียบสงบผสมลมพัดเอื่อยเฉื่อยตัดกับบรรยากาศเมื่อครู่ชัดเจน
ผนังสีหม่นที่มีร่องรอย แผ่นไม้สีซีด และคานไม้เหนือหัว ประกอบกันเป็นอาคาร 2 ชั้น หน้ากว้าง 1 ห้อง จุดเด่นเหล่านี้ชูไวป์วินเทจแท้ๆ ซึ่งอยู่คู่ตึกอายุราว 70 ปี
“ที่นี่เป็นโรงพิมพ์เก่าของคุณปู่ ซึ่งเป็นคนจีนที่เคยอยู่แถวตรอกข้าวสาร คุณปู่เล่าว่าอยากเปลี่ยนทำเล เลยย้ายมาย่านตลาดพลู รุ่นคุณพ่อก็ยังทำธุรกิจนี้กับพี่น้องอยู่ จริงๆ ธุรกิจโรงพิมพ์ในยุคนี้ก็มีงานน้อยลงแหละ แต่แกยังไม่อยากปิด ปิดไปก็ไม่รู้จะทำอะไร มาตัดสินใจปิดปี 2563 ช่วงโควิด”
หลังจากนั้นตรีก็ตามหาบทบาทใหม่ให้กับตึกเก่า เริ่มจากจัดโปรแกรมทัวร์จักรยาน เพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตในชุมชน โดยมีจุดสตาร์ตที่โรงพิมพ์
“คอนเซปต์ของเราคือจุดกึ่งกลางที่เชื่อมคนในชุมชนกับคนข้างนอก แต่ตัวอาคารยังไม่ถูกใช้เต็มที่ เพราะเอาไว้แค่จอดจักรยาน” ผู้ดูแลตึกรุ่นที่ 3 จึงเพิ่มเวิร์กช้อป ส่วนคาเฟ่ตามมาทีหลัง
ประชาเปรียบเหมือนห้องรับแขกของย่าน เป็นพื้นที่สำหรับแวะพัก มีขนมนมเนยและเครื่องดื่มเย็นชื่นใจพร้อมเสิร์ฟ ผู้คนได้เข้ามาสร้างความทรงจำร่วมกับตัวตึกและตัวย่านอย่างไม่รีบร้อน ส่วนโรงพิมพ์เก่าก็ถูกต่ออายุ เปี่ยมไปด้วยความมีชีวิตชีวาที่แขกนำพามาให้
ตรีเฉลยว่าเขาไม่ได้เกิดหรือโตในย่านตลาดพลู ความจริงข้อนี้ทำเอาแปลกใจไม่น้อย เพราะเขามีใบหน้าเปื้อนยิ้มตลอดเวลาที่พูดถึงย่าน
“ปู่ของแฟนเป็นเจ้าของโรงพิมพ์ เรารู้จักกันตอนอายุประมาณ 20 ปี ผมอยู่ที่นี่ประมาณ 20 กว่าปีแล้ว เพราะมาจีบลูกสาวเขา” ตรีหัวเราะเสียงดัง
เราจึงถามต่อถึงความประทับใจแรกที่มีต่อย่านตลาดพลู
“พอมาอยู่ตรงนี้ เหมือนอยู่ต่างจังหวัดกลายๆ ละแวกนี้เหมือนบ้านพี่น้อง เดินไปไหนคนก็ทักทาย ทั้งที่เราเป็นคนนอก”
ต่อจากนี้ เราจะไปทำความรู้จักย่านตลาดพลูผ่านเขยตลาดพลูคนนี้กัน
Bike Around Talat Phlu
“จุดประสงค์แรกคือทำให้คนนอกรู้จักย่านมากกว่าของกินในย่าน ย่านตลาดพลูเป็นย่านสำคัญทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยธนบุรี เราจะเอาตรงนี้มาเป็นจุดให้คนสนใจย่านมากขึ้น” ตรีเล่าที่มาที่ไปของทัวร์จักรยาน เผยเส้นทางทัวร์ที่บอกเล่าความหลากหลายทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของผู้คน
ย่านตลาดพลูมีวัดหลายแห่งจนเป็นคาแรกเตอร์ ทั้งวัดอินทารามวรวิหารที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วัดจันทารามวรวิหารหรือวัดกลางตลาดพลู วัดปากน้ำที่แม้ชื่ออยู่ในเขตภาษีเจริญ แต่ก็ใกล้ชิดติดกับย่านตลาดพลู และวัดอื่นๆ ที่ลิสต์รายชื่อยาวเกินไปสำหรับบทความนี้
ย่านนี้มีทั้งคนไทย คนจีน และผู้นับถือศาสนาอิสลาม เป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่คนนอกไม่ค่อยพูดถึง ทัวร์เลยพาแวะทั้งวัด ศาลเจ้า และมัสยิด รวมทั้งหมดเป็น 1 มัสยิด 4 ศาลเจ้า 9 วัด สำหรับใครที่ไม่ได้เข้าร่วมทัวร์ บนชั้น 2 ของร้านประชามีนิทรรศการภาพถ่ายเกี่ยวกับศาสนสถานเหล่านี้อยู่นะ
ย่านนี้เที่ยวได้ตั้งแต่เช้าจนถึงเย็น เพราะมีกลิ่นอายแตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา ตลาดเช้าใกล้วัดกลางตลาดพลูเหมาะกับสายสะสมของกระจุกกระจิกยุคเก่า อาหารหรือขนมดั้งเดิมก็ตั้งแผงขายไวตามนิสัยตื่นเช้าของผู้สูงอายุ ช่วงเย็นจนถึงมืดค่ำเป็นเวลาของวัยรุ่น นักท่องเที่ยว ผู้ไม่ยอมหลับไหล อาหารและของหวานในตลาดมีสไตล์โมเดิร์นมากขึ้น หรืออาจดัดแปลงจากเมนูดั้งเดิม
“ย่านตลาดพลูเป็นย่านเศรษฐกิจเก่าเพราะมีท่าน้ำ คนมาจากสมุทรสงคราม มากระจายสินค้าออกไป แต่ก่อนบริเวณใต้สะพานมีโรงหนัง 2 โรง ผมก็ไม่ทันหรอก แต่คนที่อยู่มาก่อนเขาเล่าให้ฟัง มันเป็นย่านการค้าขนาดใหญ่ มีร้านทอง โรงสี แหล่งปลูกพลู ตลาดขายหมากพลู
ตอนหลังมีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 รถไฟจะมาก่อนแล้วมีถนนตามมา วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยน การสัญจรเปลี่ยน การค้าเปลี่ยนมาอยู่ติดริมถนน คนย้ายออกด้วยการเวนคืนที่ดิน การตัดถนน”
การปั่นจักรยานทริปนี้คงเหมือนนั่งไทม์แมชชีนเลยล่ะ ทุกคนจะได้สัมผัสร่องรอยของกาลเวลาตามสถานที่ต่างๆ มองเห็นความเปลี่ยนแปลงของย่าน ทั้งในฐานะย่านพหุวัฒนธรรมและย่านเศรษฐกิจ และที่สำคัญ นี่เป็นทัวร์จักรยานที่เจาะลึกย่านแบบเนื้อๆ เน้นๆ โดยใช้เวลาไม่ถึง 3 ชั่วโมงเองนะ
Talat Phlu Signature Sweets
อากาศร้อนอบอ้าวทำให้เราพุ่งตัวไปสั่งเครื่องดื่มทันทีที่ก้าวเข้าร้าน เราเลือกมัทฉะครันชี มัทฉะหอมคอ แถมฝากรสฝาดทิ้งท้ายเล็กน้อย ด้านบนมีขนมตุ้บตั้บรสหวานโรยตกแต่ง อีกแก้วคือชาไทยเฉาก๊วย บอกเลยว่าหวานเจี๊ยบ เคี้ยวสนุก ดับกระหายตั้งแต่จิบแรก
ขนมในตู้กระจกทำให้เรานิ่งคิดอยู่นานก่อนตัดสินใจสั่ง ทุกจานอัดแน่นไปด้วยขนมดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นขนมดอกจอก ข้าวแต๋น ตุ้บตั้บ ขนมเต๋า ฯลฯ พวกมันคือขนมที่เรารู้จักแต่ไม่คุ้นเคย เหมือนเจอเพื่อนเก่าที่ไม่ได้เห็นหน้ากันมานาน
“ขนมพวกนี้ยังมีขายอยู่ในตลาดชุมชน มันเป็นขนมขายส่งจากโรงงานในชุมชน ถ้าเป็นสมัยก่อน รับรองว่าทุกคนเคยเห็นหมด หรือบางคนอาจยังไม่เคยลอง เราก็เอามาให้ลองกิน”
ภายในตู้กระจกวินเทจคือตัวแทนของพหุวัฒนธรรมในย่านตลาดพลูด้วยนะ นอกจากขนมไทยที่ไล่ชื่อไปแล้ว ยังมีขนมเปี๊ยะที่เป็นขนมซิกเนเจอร์ของชาวจีนอยู่ด้วย
“เราก็ไปเดินดูอยู่หลายร้าน ต้องเดินทุกวัน เพราะบางวันคนนี้ขาย คนนี้ไม่ขาย ตอนมาใหม่ๆ เราก็ไม่รู้ พอว่างก็ไปเดิน เฮ้ยมีคนใหม่” ถ้าไม่ได้คนที่อาศัยในชุมชนรวบรวมมาให้ นักท่องเที่ยวอาจพลาดขนมบางชนิดได้ง่ายๆ เลย ขนาดตรียังยืนยันว่าแต่ละวันไม่เหมือนกัน อาศัยการสำรวจอย่างต่อเนื่องถึงทราบว่าร้านไหนเปิดวันไหนและเมื่อไหร่
เนื่องจากเป็นขนมกินเล่นขนาดพอดีคำ ปริมาณเสิร์ฟต่อจานจึงมีหลายชิ้น พอดีกินคู่กับเครื่องดื่ม หรือจะสั่งหลายเมนูมาแชร์กับเพื่อนก็เหมาะ และหากมาคนเดียวแต่อยากลองชิมหลายเมนู ร้านเพิ่มตัวเลือกให้จัดจานขนมของตัวเอง จำกัดจำนวน 3 ชิ้นต่อจาน คละประเภทขนมได้ ในราคาเพียง 60 บาท ราคาเท่ากับสั่งขนม 1 ประเภท
“ขนมที่ลูกค้ากินแล้วชอบคือขนมเต๋า เราจะอุ่นร้อนให้นิ่มก่อนเสิร์ฟ ธรรมดาเป็นไส้ถั่ว เราเลยเลือกไส้เผือกมา ขนมแต๋นโรยงาและถั่ว มีสีสันจากข้าวไรซ์เบอร์รี พัฒนาขึ้นมาจากที่ปกติโรยเฉพาะน้ำตาล ดอกจอกจะเห็นเยอะที่อัมพวา แต่ในเมืองจะหาซื้อยาก” ขนมทุกเมนูผ่านการคัดเลือกให้เป็นหน้าเป็นตาของย่านตลาดพลู เรียกว่ารวมดาวเด่นของย่านมาไว้ที่ห้องรับแขกแห่งนี้นั่นเอง
Create With The Masters
“เราจะชูย่านตลาดพลูผ่านงานคราฟต์ ตอนนี้เราชวนคุณลุงตุ๋ยที่ทำโมเดลไม้ขายนักท่องเที่ยวอยู่แล้ว และคุณลุงเบื๊อก นักเล่นว่าวไทยอาวุโส ทั้งสองอายุ 80 กว่าปีแล้ว พอได้คุยก็พบว่าเรื่องของจิตใจ พวกเขาเกษียณแล้ว แต่ยังอยากทำงานนี้เพื่อสืบทอดให้คนรุ่นใหม่รู้จัก”
เจ้าของร้านพูดถึง ตุ๋ย-อาทร พูลศิริ และ เบื๊อก-เสรี สุดจินดา ร้านประชาร่วมงานกับช่างทั้งสองหลายครั้งหลายครา จนกลายเป็นซิกเนเจอร์เวิร์กช็อปประจำร้านไปแล้ว อีกกิจกรรมที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือการทำหัวสิงโต เพราะใช่ว่าจะเรียนเมื่อไหร่หรือกับใครก็ได้ แต่ร้านประชาก็ชวนคณะเชิดสิงโตมาจนได้ ทุกคนเลยได้ทำความรู้จักโครงสร้างหัวของสิงโตและการประดับตกแต่ง
แม้วันนี้ไม่เจอตัวผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย แต่เราก็ได้เสพงานฝีมือผ่านตัวอย่างผลงานที่จัดแสดงอยู่ทั่วร้าน ทั้งหัวสิงโตดูน่าเกรงขามตั้งตระหง่านอยู่กลางห้อง และว่าวตัวใหญ่ที่สูงเกือบเท่าผนัง
เวิร์กช็อปที่น่าเข้าร่วมมาก (หากเกิดขึ้นจริง) คือเวิร์กช็อปกุยช่าย มันคือขนมกินเล่นของคนจีนที่ไม่ว่าจะมองไปทางไหนในตลาดพลูก็จะเจอ แถมมีการแข่งขันหาสุดยอดกุยช่ายกันภายในย่านด้วยนะ แต่ด้วยการตระเตรียมอุปกรณ์และสถานที่มีความซับซ้อน หากจะเรียนก็ต้องอดใจรอหน่อยหนึ่ง เช่นเดียวกับศิลปะจีนแขนงอื่น อาทิ การเขียนงิ้ว
“อีกคอนเซปต์ที่คิดไว้คือนิทรรศการคนในย่าน คนดั้งเดิมอย่างคุณยายร้านโจ๊ก 100 ปี คุณลุงเจ้าของห้องสมุดตลาดพลูรำลึก ห้องสมุดจากการสะสมหนังสือ หรือคนดูแลศาลเจ้าที่มีความรู้ลึกซึ้ง”
นิทรรศการตอบโจทย์การเล่าเรื่องเพื่อสร้างการรับรู้ ต่อให้ไม่เดินสำรวจก็ไม่พลาดกิมมิกต่างๆ ของย่าน ส่วนใครที่อยากลุย นี่ก็บอกใบ้สิ่งน่าสนใจทั้งหมดเอาไว้แล้ว แถมได้รู้จักบุคคลติดต่อล่วงหน้าด้วย ฉะนั้น มาเที่ยวตลาดพลู มาเริ่มที่ประชา รับรองว่าอุ่นใจ
The New Creative District
กิจการดั้งเดิมอายุ 50-60 ปี (หรือเก่ากว่านั้น) ปรับตัวตามยุคสมัยอย่างงดงาม ใจกลางย่านจึงมีร้านรวงเรียงติดกันแน่น ความคึกคักก็เสมอต้นเสมอปลาย เพราะไม่ว่าใครก็อยากมาชิมความอร่อยถึงถิ่น
แต่ไหนๆ ย่านก็เต็มอิ่มด้วยศิลปะและวัฒนธรรม เราจึงถามเจ้าของร้านประชาว่า มองว่าย่านจะเติบโตไปในทิศทางไหน
“ย่านจะถูกผลักดันให้เป็นย่านสร้างสรรค์ มีความครีเอทีฟมากขึ้น ซึ่งความครีเอทีฟนี้มีทั้งเก่าผสมใหม่กับใหม่จ๋าไปเลย”
ว่าไปใครจะเชื่อ ร้านประชาเคยต้อนรับลูกค้าวัย 80 ปี เธอเคยอาศัยที่ย่านตลาดพลู ลูกเลยพามารำลึกความหลังที่มีร่วมกับย่าน น่าชื่นใจที่ย่านมีกลิ่นอายดั้งเดิมหลงเหลืออยู่มากเช่นเดียวกับร้านประชา เพราะคือคุณค่าทางใจที่ประเมินค่าไม่ได้
ในขณะเดียวกัน Bangkok Design Week ก็กระตุ้นให้มีศิลปินหน้าใหม่นำศิลปะที่แปลกใหม่เข้ามาในย่าน ร้านประชาคือหนึ่งในพื้นที่จัดแสดง ส่งผลให้คนรุ่นใหม่ในบ้านใกล้เรือนเคียงอยากเปิดแกลเลอรีที่บ้านตัวเองบ้าง
“เราก็ดีใจที่ได้จุดประกายให้เขาลุกขึ้นมาทำสิ่งที่ต่างไปจากเดิม เพราะเราก็พยายามสร้างสภาพแวดล้อมที่ดึงคนเข้ามาในบริเวณนี้มากขึ้น” ความเป็นไปได้นี้ทำให้ตรียิ้มออกมาขณะที่พูด
ในฐานะพื้นที่สร้างสรรค์ของชุมชน ประชาจะมีบทบาทอย่างไร – เราถามต่อ
“เราก็เปิดพื้นที่ให้คนในชุมชนมาใช้ และยินดีจะนำงานสร้างสรรค์ของคุณเผยแพร่ไปสู่คนข้างนอก ให้คนได้เห็นพวกคุณมากขึ้น”
เส้นทางของการเป็น Creative District อาจเพิ่งเริ่มต้น แต่ก็ชัดเจนแล้วว่า ย่านตลาดพลูนั้นเป็นมิตรกับคนในชุมชน และพร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ๆ เข้ามาอยู่ร่วมกัน
ประชา
Open Hours : 10.30 – 19.30 น. (ปิดทุกวันอังคาร)
Maps : https://maps.app.goo.gl/khzBv3qBpiDvjBsP9
Facebook : ประชา – Pracha