รีแบรนด์ซาอุฯ
‘Vision 2030’ รีแบรนด์ซาอุฯ สร้างซอฟต์พาวเวอร์ ปลุกเทศกาล ละลานตาเมืองกาแฟ
- ซาอุดีอาระเบียได้นำสิ่งที่เรียกว่า นิอุม (Neom) มาเป็นแกนหลักในนโยบาย “Vision 2030” เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับ “อนาคตใหม่ของประเทศ” คาดหวังให้นโยบายนี้ทำให้ประเทศเป็นอิสระจากน้ำมัน สร้างเสถียรภาพให้กับเศรษฐกิจได้ รวมทั้งยังสร้างงานใหม่ๆ ซึ่งจะปฏิรูปประเทศไปสู่ทิศทางใหม่ในหลายด้านๆ
- ‘นิอุม’ เป็นคำผสม อักษร 3 ตัวแรกคือ neo ที่แปลว่า ใหม่ ส่วน m อักษรตัวที่ 4 เป็นอักษรตัวแรกของ mustaqbal (مستقبل) ในภาษาอาหรับแปลว่า เมืองอนาคตแห่งใหม่
- เมื่อเปิดรับปี 2022 นอกจากแผนนโยบายเศรษฐกิจอื่นๆ แล้วรัฐบาลซาอุดีอาระเบียผุดแคมเปญยักษ์ ประกาศให้ปีนี้เป็น “ปีแห่งกาแฟซาอุดีอาระเบีย” (Year of Saudi Coffee) ตั้งเป้าแผนระยะ 15 ปี ปลุกปั้น “เมืองกาแฟ” ขึ้นในประเทศ
เมื่อประเทศเศรษฐีน้ำมันในตะวันออกกลางอย่าง ‘ซาอุดีอาระเบีย’ ถูกไฟสปอตไลท์ส่อง! ทำให้อยู่ในกระแสน่าจับตาอีกครั้งในบ้านเรา ด้วยเมื่อไม่กี่วันก่อนมีข่าวประกาศถึงการเดินทางเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีไทยภายใต้คำเชิญของ เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซามาน บิน อับดุลอะซีส อัลซะอูด(Mohammed bin Salman al-Saud) มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซาอุดีอาระเบีย
สำนักข่าวดังต่างๆ พากัน ซุบซิบ วิเคราะห์ หยิบยกประเด็นความความสัมพันธ์ระหว่างประเทศขึ้นมาถกเถียงกันคึกโครมอีกครั้ง นับเป็นการฟื้นความสัมพันธ์ในระดับผู้นำเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 32 ปี หลังจากเกิดรอยร้าวจากคดีดังฯ ที่กระทบความสัมพันธ์ทางการทูต ส่งผลต่อการไปมาหาสู่ระหว่างกัน และความร่วมมือที่สองประเทศมีอยู่เดิม โดยเฉพาะในด้านแรงงาน และการค้าและการลงทุน รวมถึงการเดินทางท่องเที่ยว
แม้การท่องเที่ยวส่วนใหญ่ในราชอาณาจักรมั่งคั่งน้ำมันแห่งนี้จะขับเคลื่อนด้วยการแสวงบุญไปยังนครเมกกะ ที่มีผู้แสวงบุญหลายล้านคนเดินทางไปเยือนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาอิสลามในแต่ละปี แต่ผู้ส่งออกน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในโลกกำลังพยายามจะเปลี่ยนความจริงนั้นและส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวอยู่นานขึ้น พร้อมไปกับการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาประเทศในมิติต่างๆ อย่างที่ไม่เคยเกิดมาก่อน อาทิเช่น อนุญาตให้ผู้หญิงขับรถได้ อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าร่วมฉลองวันชาติภายในสนามกีฬาได้ ตั้งคณะกรรมการสร้างความสุขและความบันเทิง ลดทอนอำนาจของตำรวจกิจการศาสนา โครงการก่อสร้างศูนย์กลางท่องเที่ยวและสถานที่ตากอากาศระดับมาตรฐาน มุ่งเน้นเศรษฐกิจใหม่เดินหน้ามุ่งหารายได้ใหม่ๆ ที่ไม่ได้พึ่งพาน้ำมันเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป
หนุนซอฟต์พาวเวอร์ แผ่พลังศรัทธา
ผู้เชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศในโลกมุสลิม โดย ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ชี้ว่า ซาอุดีอาระเบีย เผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจในช่วง 5-6 ปี ก่อน ราคาน้ำมันตกต่ำมาก และมีปัญหาเรื่องขาดดุลบัญชีงบประมาณ จึงเป็นที่มาของการมีนโยบายใหม่ คือ การมองหาการพึ่งพาทางเศรษฐกิจ ที่ไม่ได้มาจากรายได้จากน้ำมันเท่านั้น ดังนั้น จึงพยายามลดการพึ่งพาสหรัฐฯ และพยายามมองมาทางตะวันออกทางเอเชียมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ที่ผ่านมาจากการมีนโยบายต่างประเทศที่ก้าวร้าว และปัญหาสิทธิมนุษยชน ซาอุดีอาระเบียจึงพยายามเปิดกว้างและสานสัมพันธ์กับทั่วโลก ด้วยการใช้ ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ อุดมการณ์ทางศาสนา การเคลื่อนไหวทางด้านองค์กรการกุศลโดย ซาอุดีอาระเบียมีแผนจะเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่จะมาเยือน แต่เป็นการเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยวที่อยู่ภายใต้กรอบค่านิยมและความเชื่อความศรัทธาของราชอาณาจักร
หนึ่งในแผนวิสัยทัศน์ ได้มองเรื่องของการเพิ่มความสามารถของราชอาณาจักรในการรองรับมุสลิมจากทั่วโลกที่จะเข้ามาแสวงบุญในพิธีฮัจญ์และอุมเราะฮ์ จากปีละประมาณ 8 ล้านคน ในปัจจุบัน เป็น 15 ล้านคน ในปี 2020 และเพิ่มเป็น 30 ล้านคนในปี 2030
ปลุกกรุงริยาร์ดให้เฉิดฉายด้วยงานเทศกาล
สำหรับเมืองหลวง กรุงรียาด ในเขต Central Province ซึ่งตั้งอยู่บริเวณใจกลางของประเทศ หรือ Najd Highland เรียกได้ว่าเป็นเมืองที่เคร่งครัดเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีและศาสนามากที่สุดเมืองหนึ่ง เมื่อเทศกาลต้อนรับปีใหม่ที่ผ่านมาล่าสุดนั้น ซาอุดีอาระเบียจัดงานเคาท์ดาวน์ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ นับเป็นครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์กลางกรุงรียาด ด้วยการจุดพลุดอกไม้ไฟอย่างสวยงาม ซึ่งหลายฝ่ายต่างให้ความเห็นตรงกันว่า การจัดงานปีใหม่สากลเป็นหนึ่งในหลายอย่างที่ทางการและรัฐบาลพยายามทำให้ประชาชนเห็นว่ากำลังปฏิรูปสังคมเพื่อเปิดประเทศ
นอกจากนี้ เมื่อปี 2021 ด้านอุตสาหกรรมแฟชั่นในซาอุดีอาระเบีย ก็รุ่งโรจน์ไม่แพ้กัน โดยกระทรวงวัฒนธรรมซาอุดิอาระเบีย เป็นเจ้าภาพเปิดงาน Fashion Futures ขึ้นที่วังแห่งวัฒนธรรม (Cultural Palace) ซึ่งอยู่ในย่านที่ตั้งสำนักงานการทูต (Diplomatic Quarter) ในกรุงรียาด นับเป็นครั้งแรกที่มีการจัดงานเช่นนี้ โดยมีการจัดแสดงผลงานของนักออกแบบคนดัง การประชุมเชิงปฏิบัติการ และการจัดแสดงชุดเจ้าสาวแบบดั้งเดิมของชาวซาอุฯ
ในปีเดียวกันก็ยังได้มีความพยายามจัดงานเทศกาล “Riyadh Season” ขึ้นกลางใจเมืองหลวงเน้นย้ำถึงแก่นแท้ของวัฒนธรรมอาหรับอย่างเต็มรูปแบบ เปล่งประกายเจิดจรัสด้วยฝีมือ Unilumin บริษัท LED สัญชาติจีน ด้วยการพลิกโฉมกรุงรียาดให้กลายเป็นสถานที่จัดงานเทคโนโลยีโลกเสมือนจริง เติมแต่ง Riyadh Season ผ่านการผสมผสานของจอแสดงภาพ LED และคอนเทนต์เชิงสร้างสรรค์ในรูปแบบ 3 มิติ งัดเอาจุดแข็งด้านเทคนิคออกมาใช้ และตั้งเป้าจะสร้างสรรค์งานออกมาให้สมบูรณ์แบบตามแผนการขององค์การส่งเสริมอุตสาหกรรมบันเทิงแห่งซาอุดีอาระเบีย เพื่อที่จะนำเสนองานมหรสพอันยิ่งใหญ่ให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก
ทำให้ Riyadh Season กลายเป็นงานบันเทิงขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ และเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการส่งเสริมความหลากหลายทางเศรษฐกิจและสังคม สำหรับเทศกาล Riyadh Season ครั้งแรกในปี 2019 กินเวลานาน 3 เดือน และมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างน่าทึ่ง ทั้งนี้ เพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการ เทศกาล Riyadh Season ในปีนี้ตั้งเป้าดึงดูดนักท่องเที่ยว 11.5 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ 500,000 คนด้วย
ช่วง 3-4 ปี ซาอุฯ ได้เริ่มโหมเงินไปกับวงการกีฬาต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะการเป็นผู้สนับสนุนหลักการแข่งขันรถยนต์ระดับโลกอย่าง 24 Hours of Le Mans, Indy 500, Monaco Grand Prix และ Dakar Rally หรือการทุ่มเงินนับร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ จัดการแข่งขันแข่งม้าที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก หรือแม้กระทั่งจัดการแข่งขันชกมวยชิงแชมป์โลกระหว่าง แอนโทนี โจชัว และ แอนดี รุยซ์ จูเนียร์ กลางกรุงรียาด
ทั้งหมดที่ทำลงไปก็เพื่อ “เป้าหมาย” เปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ความเป็นอนุรักษ์นิยม รวมถึงเรื่องยุ่งๆ เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ ในสายตาชาวโลก ไปสู่ ‘ความร่วมสมัย’ ที่เอื้อต่อการสร้างช่องทางการทำธุรกิจใหม่ๆ
ไม่เพียงเท่านั้น กรุงรียาดยังได้ยื่นเสนอตัวเพื่อชิงสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 21 ในปี 2030 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่เข้าเสนอตัว โดยที่ยังไม่เคยจัดการแข่งขันรายการนี้มาก่อน รวมถึงการแสวงหาคอนเนกชันด้านความมั่นคงจากประเทศพันธมิตรในยุโรป หลังการลดบทบาทของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคตะวันออกกลาง เพื่อไม่ให้การค้าขายน้ำมันต้องสะดุดลงจากภัยแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
สร้างมนต์ด้วย…สถาปัตยกรรมกระจกใหญ่ที่สุดในโลก
และนี่คืออีกหนึ่งความน่าทึ่ง นั่นคือ ‘Maraya Concert Hall’ สิ่งมหัศจรรย์ทางสถาปัตยกรรมล่าสุดของซาอุดีอาระเบีย ได้รับการประกาศให้เป็นอาคารหุ้มกระจกขนาดใหญ่ที่สุดในโลกโดย Guinness World Records สำหรับการออกแบบอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ที่มีความจุ 500 ที่นั่ง มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยวของซาอุดีอาระเบีย เพื่อสร้างศูนย์กลางมรดกแห่งใหม่ในตะวันออกกลาง ภายหลังการประกาศให้อัลอูลาเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งหนึ่งขององค์การยูเนสโก ซึ่งผลงานสถาปัตยกรรมที่ตั้งอยู่ห่างจากแหล่งโบราณคดีอัลฮิจเราะห์ 22 กิโลเมตร เป็นแหล่งมรดกโลกขององค์การยูเนสโกแห่งแรกของราชอาณาจักร โดยแสดงผลกระทบของภาพลวงตาจากสิ่งแวดล้อมโดยรอบ และปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาล Winter at Tantora ของภูมิภาคอัลอูลา สู่เดสทิเนชั่นสำคัญใช้ต้อนรับแขกเหรื่อและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก
2022 ปีแห่งกาแฟซาอุดีอาระเบีย
เพราะประเทศนี้ไม่ได้รุ่มรวยแค่ทรัพยากรน้ำมัน แต่เป็นประเทศที่มีการผลิตกาแฟที่สำคัญแห่งหนึ่งในโลก ด้วยภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่นถ่ายทอดสู่การปลูกกาแฟกันมาเป็นร้อยๆ ปีแล้ว แถมยังมีวิถีดั้งเดิมในการแปรรูป การชง และการดื่มที่เป็นเอกลักษณ์ในระดับวัฒนธรรมที่สำคัญของประเทศ
แม้ลักษณะพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ของซาอุดีอาระเบียส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย ภูเขา แห้งแล้ง และขาดฝน แต่ทางเทือกเขาทางตะวันตกเฉียงใต้ติดกับพรมแดนเยเมนและทะเลแดง ในบริเวณที่เรียกว่าเทือกเขา ‘จาซัน’ (Jazan) โดยเฉพาะจังหวัด Al-Dayer Bani Malek กลับเป็นแหล่งปลูกกาแฟแหล่งสำคัญมากกว่า 70,000 ต้น หล่อเลี้ยงเกษตรกรกว่า 600 ราย สร้างผลผลิตได้ประมาณ 500 ตันต่อปี เกษตรกรมีความเชี่ยวชาญในการเพาะปลูกกาแฟคุณภาพสูง โดยเฉพาะ กาแฟเคาว์ลานิ (Khawlani coffee) ตามชื่อของชนเผ่าที่เป็นผู้ปลูกกาแฟ พร้อมยกย่องว่านี่คือหนึ่งในสายพันธุ์กาแฟที่ดีที่สุดของโลก
ล่าสุด ซาอุดีอาระเบียได้ผุดแคมเปญยักษ์ ประกาศให้ปี 2022 เป็น ‘ปีแห่งกาแฟซาอุดีอาระเบีย’ (Year of Saudi Coffee) ตั้งเป้าแผนระยะ 15 ปี ปลุกปั้น ‘เมืองกาแฟ’ ขึ้นในประเทศ พร้อมขยายการปลูกกาแฟอาราบิก้าอีก 300,000 ต้น ในพื้นที่กว่า 400 ไร่ หวังเพิ่มการผลิตกาแฟคุณภาพให้ได้ประมาณ 5,000 ตันต่อปี ภายในปีค.ศ. 2030 พร้อมกับพยายามผลักดันให้กระบวนการผลิตกาแฟเคาว์ลานีแบบโบราณดั้งเดิม ให้ผ่านการรับรองจากยูเนสโก ในฐานะมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมหวังผลักดันให้กาแฟเคาว์ลานิ ‘ทองคำเขียวแห่งจาซัน’ กลับมาอีกครั้ง
ที่มา
https://www.arabnews.com/node/1579186/saudi-arabia
https://www.ditp.go.th/contents_attach/78420/78420.pdf
https://www.arabnews.com/node/1613841/khawlani-coffee-beans-untold-story-arabia’s-other-black-gold
https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/984006
https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/ewt_dl_link.php?nid=44393