About
BUSINESS

From Sack to Style

จากกระสอบกาแฟทั่วทุกมุมโลกสู่ Wewild แบรนด์กระเป๋ามีสไตล์โดยฝีมือช่างไทย

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • Wewild แบรนด์กระเป๋าที่ผสานวัสดุธรรมชาติเข้ากับงานผลิตจากช่างฝีมือของไทย นำเรื่องราวของคนรักกาแฟและความรักษ์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ก่อเกิดเป็นกระเป๋าจากกระสอบกาแฟเจ้าแรกของไทยที่ตั้งใจพาผลงานไทยๆ ไปให้ไกลทั่วโลก กับการทำแบรนด์ที่คิดเสมอว่า ถ้าอยากได้แค่เงิน คงไปทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่ ‘Wewild’!

ไอซ์-สาริศ ผ่องศรี และ Li Bo (ลิ โบ) สองเจ้าของแบรนด์ ผู้จับมือกันเริ่มธุรกิจจากความชื่นชอบที่มีต่อกาแฟ คนหนึ่งทำร้านกาแฟ มาดูการผลิต และอีกคนที่เป็นลูกค้าร้านกาแฟ มาดูแลการทำตลาด

ONCE จะพามารู้จักกับกระเป๋าจากวัสดุสุดแหวกที่สามารถคัสตอมตามใจลูกค้า อีกทั้งสามารถชวนพ่อค้าคุยเรื่องกาแฟต่อได้ด้วย

หลายคนอาจเดินเข้าช้อป Wewild เพราะเป็นคอกาแฟ หรือไม่ก็เป็นสายแฟชั่น แต่ทุกคนเดินจะออกมาพร้อมการได้อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน

Wewild

เมล็ดพันธุ์แห่งความหลงใหล

ไอซ์เริ่มเล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นของแบรนด์มาจากหลังร้านกาแฟที่เขาทำงานอยู่นั่นเอง กระสอบที่ใช้บรรจุเมล็ดกาแฟถูกวางกองไว้ หลังเมล็ดภายในใช้งานหมด หน้ากระสอบแต่ละใบมีลวดลายโลโก้บ่งบอกว่า จัดจำหน่ายโดยใคร และมาจากแหล่งเพาะปลูกเมล็ดกาแฟไหน

แต่สิ่งที่เตะตาไอซ์คือลวดลายเหล่านั้นมีเอกลักษณ์ความสวยงามเป็นของตัวเอง เขาจึงเกิดไอเดียอยากนำกระสอบเหล่านี้มาต่อยอดให้เกิดประโยชน์มากขึ้น

ด้วยความชอบที่มีต่องานฝีมืออยู่แล้ว ไอซ์เริ่มเสาะหาช่างฝีมือในไทยและเริ่มกระบวนการผลิต ประจวบกับได้มาเจอ ลิโบ ลูกค้าร้านกาแฟชาวจีนที่กำลังเริ่มทำแบรนด์ เพราะตัวเองเรียนด้านบริหารมา Wewild จึงเกิดขึ้นมาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว

Wewild

เครดิตภาพ: Wewild

“เดิมทีเราไปเจอกระสอบลายสวยๆ ก็เก็บสะสมไว้เฉยๆ ไม่ได้ทำอะไร ถ้าจะเอาใส่เฟรมสวยๆ ก็ได้ แต่ผมคิดว่าถ้าเอามาทำกระเป๋าน่าจะเท่กว่า ผมกับโบเวลาไปเที่ยวต่างประเทศก็ชอบเข้าร้านกาแฟ ไปคุยกับคนคั่วกาแฟ บางทีเจอกระสอบชิ้นที่ถูกใจก็เก็บกลับมา แต่ละชิ้นล้วนมีสตอรี่” ไอซ์บอก

ลิโบเสริมว่า “เราเห็นว่าตลาดเมืองไทยยังไม่มีใครใช้กระสอบกาแฟเป็นหลักมาทำกระเป๋าจริงจัง เพราะฉะนั้น เราก็ตั้งโพสิชันของเราเป็น Thailand’s 1st Coffee Sack Bag Brand เป็นเจ้าแรกที่ใช้กระสอบกาแฟมาทำกระเป๋า อยากพาแบรนด์ไทยไปให้ทั่วโลกรู้จัก เพราะที่เมืองไทยมีเมล็ดกาแฟเยอะมาก เลยมีกระสอบกาแฟหลากหลาย”

Wewild

เครดิตภาพ: Wewild

ผลิตผลจากวัสดุเพื่อธรรมชาติ

เจ้าของแบรนด์ทั้งสองผลัดกันเล่าถึงกระสอบกาแฟอย่างกระตือรือร้น ไอซ์บอกว่า ถ้าเปรียบเทียบ ลูกค้าที่เป็นคนรักกาแฟจะเห็นมากกว่าความสวยงามของลายบนกระสอบเหล่านี้ แต่จะเห็นไปถึงเรื่องราวและที่มาของเมล็ดกาแฟ และนั่นคือสิ่งที่แบรนด์อยากให้ทุกคนได้เห็นด้วยเหมือนกัน

กระสอบกาแฟแต่ละใบจะมีโลโก้ที่มาของฟาร์มที่ปลูก รวมไปถึงเลขล็อตที่นำเข้ามาก็ต่างกัน เลขขนาด 35 kl, 50 kl 70kl รวมถึงดิสทริบิวเตอร์หรือบริษัทนำเข้า ก็จะมีปรากฏอยู่บนกระสอบ อย่างเช่น ใบนี้ผ่านสิงคโปร์มาก่อนจะเข้ามาไทย หรือว่าบางใบอิมพอร์ตโดยตรงเข้ามา บางทีอาจจะฟาร์มเดียวกันลายเดียวกัน แต่ถ้าดิสทริบิวเตอร์ หรือว่าคนนำเข้าต่างกัน ก็จะมีสัญลักษณ์ คำ หรือฟอนต์ต่างกันออกไป

Wewild

Wewild

Wewild

“ฟาร์มเพาะปลูกเมล็ดกาแฟเจ้าเล็กๆ ที่เขาผลิตได้ไม่กี่กระสอบ เขาก็พยายามไปเสาะหากาแฟคุณภาพดี เพื่อมาส่งออกให้ต่างประเทศได้ลองชิมกาแฟของเขา กระสอบที่ได้จึงมีน้อยมากจนแทบจะเป็นลายลิมิเต็ดเลยก็ว่าได้” ไอซ์พูด

“เราไปเจอกระสอบกาแฟตามร้านกาแฟก็ไปคุยกับเจ้าของร้านกาแฟ ไปคุยกับคนคั่วกาแฟ ที่บางทีเขาก็ไม่ได้มีรายได้สูงมาก การไปรับซื้อกระสอบจากเขาก็ได้สนับสนุนเขาไปด้วยอีกทาง”

ไอซ์เล่าแล้วก็หยิบตัวอย่างกระเป๋าใบที่มีลายดอกไม้ให้เราดู ซึ่งเคยบรรจุเมล็ดกาแฟไทยมาก่อน ลิโบเสริมต่อว่า บราซิลมีเอกลักษณ์คือใบไม้ ไทยคือลายช้าง ส่วนกระสอบที่แบรนด์ใช้นั้นมาจากหลากหลายแหล่งที่มา ทั้งเอธิโอเปีย กัวเตมาลา อังกฤษ หรือแม้แต่บราซิลก็มี

Wewild

เครดิตภาพ: Wewild

Wewild

เครดิตภาพ: Wewild

ระหว่างคุยกันเราก็สำรวจลวดลายกระสอบแต่ละใบไปเรื่อยๆ ใบนึงปรากฏคำว่า Mercanta ที่ไอซ์เล่าว่าเป็นชื่อผู้จัดจำหน่ายจากลอนดอน ซึ่งมีสาขาอยู่ที่สิงคโปร์

ด้วยเรื่องราวนี้ เรารู้สึกได้ว่า กระเป๋าของ Wewild นั้นล้ำค่าทั้งดีไซน์และวัสดุ ที่คนใช้ราวกับได้สะพายสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมแต่ละภูมิภาคทั่วทุกมุมโลกไปด้วย ไอซ์และลิโบยังย้ำอีกด้วยว่า ทุกใบออกแบบ วางลายและตัดเย็บชิ้นต่อชิ้น

Wewild

Wewild

Wewild

กลิ่นอายความพิถีพิถัน

ระหว่างคุยกันลิโบก็เปิดรูปกระสอบกาแฟฉบับที่ยังไม่ได้ตัดเย็บให้เราดู ทุกใบจะถูกวางราบพร้อมไม้เมตรข้างๆ เจ้าของแบรนด์อธิบายว่า กระสอบกาแฟแต่ละชิ้นมีขนาดค่อนข้างต่างกัน กระบวนการทำแต่ละใบจึงเรียกได้ว่าเป็นงานออกแบบชิ้นต่อชิ้น

จะเห็นว่าความยากของ Wewild เริ่มตั้งแต่การหาช่างที่เข้าใจข้อจำกัดของวัสดุที่เป็นถุงกระสอบ ทั้งขนาดแต่ละใบที่ต่างกัน มาจนถึงกระบวนการทำที่ต้องปรับให้ตาข่ายที่มีรูห่างของกระสอบแข็งแรงและสมบูรณ์แบบที่สุด

Wewild

เครดิตภาพ: Wewild

สองคนเล่าว่า ช่างและแบรนด์ร่วมกันลองผิดลองถูกอยู่พอสมควร ก่อนจะเป็นสินค้าตัวปัจจุบัน ที่ทุกชิ้นจะมีผ้าซับในจะเพื่อความแข็งแรงทั้งหมด แต่ดีไซน์ภายนอกขึ้นอยู่กับลูกค้าว่าต้องการแบบไหน แบรนด์ยืนยันว่าสามารถลองปรับทำให้ได้

“ก็ค่อยๆ ปรับ ลองผิดลองถูกมาเรื่อยๆ ครับ ลายนี้ ทรงนี้ มันเวิร์กไหม เพราะบางทีลูกค้าอาจจะไม่ชอบทรงที่เราทำมา แรกๆ ก็ลองผิดลองถูกไปในการทำทรง ให้เข้ากับลูกค้ากับการใช้งานได้ง่าย ดีที่เรามีช่างที่ทำงานทำมืออยู่แล้ว ทำให้เราปรับตรงจุดเล็กจุดน้อยตรงนี้ได้ดีขึ้นมาก”

Wewild

เครดิตภาพ: Wewild

เราสังเกตว่า แม้แบรนด์จะผลิตได้น้อยชิ้น แต่นั่นกลับเป็นจุดเด่นในเวลาเดียวกัน เพราะ Wewild ไม่ได้ใช้โรงงานขนาดใหญ่ผลิตกระเป๋า แต่ใช้ช่างฝีมือมากประสบการณ์จากภาคเหนือ ที่นอกจากจะได้สนับสนุนแรงงานท้องถิ่นแล้ว ยังรับประกันความประณีตของกระเป๋าด้วย

ไอซ์ย้ำว่า กระเป๋าทุกใบสามารถออกแบบตามความต้องการของลูกค้าได้หมด ทั้งขนาด รูปทรง รวมไปถึงสีหนังที่ใช้ทำหูกระเป๋า

Wewild

แลกเปลี่ยนสไตล์ความชื่นชอบ

“ถึงลูกค้าจะค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม แต่จะมีบางท่านที่ตอนแรกชอบแค่ดีไซน์กระเป๋าภายนอก แต่เขาโชคดีที่ได้คุยกับพวกผมสองคน ก็ได้แลกเปลี่ยนความรู้เรื่องวัสดุพวกนี้มากขึ้น ลูกค้าหลายท่านกลายมาเป็นลูกค้าประจำ เขาอยากได้กระสอบประมาณไหน จากประเทศไหน เราพยายามหาให้ โดยใช้การสานสัมพันธ์กับลูกค้าไว้ เหมือนเป็น Group Community” ไอซ์อธิบาย

ลิโบวางฐานว่า แบรนด์จะมี 3 กลุ่มเป้าหมายหลักด้วยกันคือ กลุ่มที่เรียกว่า Eco Beliver เป็นกลุ่มที่ชอบสินค้า ซื้อเพราะเข้าใจและเห็นคุณค่าเป้าหมายของแบรนด์ ราคาเท่าไหร่ก็จ่าย เพราะอยากสนับสนุนธุรกิจใหม่ๆ อยากช่วยฝีมือช่างไทยด้วย อีกกลุ่มนึงจะเป็นคนที่ชอบแฟชั่น กลุ่มคนรุ่นใหม่ ส่วนกลุ่มสุดท้ายคือ ลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยว ซึ่งมีเยอะมากที่สุด

Wewild

“ดีใจที่ลูกค้าไม่ได้มีแค่คนไทย ลูกค้าต่างชาติทั้งญี่ปุ่น เกาหลี เข้ามาไทยครั้งแรกไม่ได้รู้จักแบรนด์ แต่รู้แค่ว่าเป็นแบรนด์ไทยแบรนด์แรกที่ทำกระเป๋าจากกระสอบกาแฟ แม้จะราคาสูงเขาก็อยากอุดหนุน จะเห็นว่าจริงๆ แฟชั่นก็เป็นซอฟต์พาวเวอร์ของเมืองไทยได้ด้วย” ลิโบพูดต่อ

คุยกันมาถึงเรื่องราคาของกระเป๋า Wewild ซึ่งมีตั้งแต่ 3,900 – 19,000 บาท ต่างกันไปที่ขนาดรูปแบบ และการตัดเย็บ

ลิโบชิงพูดก่อนที่เราจะได้ถามว่า “ทำไมต้องราคาแพงใช่ไหม” เราหัวเราะออกมาเ พราะมีเหมือนคนมีคนอ่านใจออก ถึงแม้จะเป็นราคาที่สมเหตุสมผลกับงานทำมือ แต่สำหรับคนที่ไม่ใช่กลุ่มลูกค้าก็แอบคิดว่าราคาแรงอยู่บ้าง

Wewild

“จากปัญหา Fast Fashion ที่เป็นปัญหาใหญ่ของระบบความยั่งยืนตอนนี้ ส่วนนึงก็มาจากสินค้าที่ตั้งราคาต่ำมากๆ นี่แหละครับ หนึ่งคือเราไม่สามารถตั้งต่ำขนาดนั้นได้หรอก ถึงได้ ก็ออกมาคุณภาพไม่ดี ลูกค้าก็ซื้อไปใช้ได้ไม่นาน”

ฟังลิโบตอบคำถามนี้ เราก็นั่งพยักหน้าตามอย่างไม่รู้ตัว Wewild เลือกจะตั้งราคาตามคุณภาพสินค้า เพื่อให้ลูกค้าซื้อของอย่างมีความรับผิดชอบ ทั้งต่อเงินในกระเป๋าของตัวเอง และต่อความยั่งยืนของโลกใบนี้เช่นกัน

Wewild

อนาคตเข้มข้น

ช่วงท้ายบทสนทนา ไอซ์ชี้ให้เห็นว่า กระเป๋าของแบรนด์แต่ละใบจะไม่มีโลโก้ Wewild เลย ซึ่งเป็นอย่างนั้นจริงๆ เราเห็นแค่กระเป๋าจากกระสอบกาแฟ สีสันจากธรรมชาติเป็นเอกลักษณ์

เจ้าของแบรนด์บอกว่า เป็นความตั้งใจจะไม่ใส่โลโก้ แค่อยากให้คนใช้ได้ใช้งานฟังก์ชันของกระเป๋าจริงๆ ไม่ต้องยึดติดว่าต้องเป็นแบรนด์อะไร ส่วนชื่อ Wewild ตั้งใจตั้งแต่แรกว่าจะเป็นธุรกิจที่ได้ร่วมสนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทั้งคู่จึงวางแผนจะนำรายได้มาบริจาคให้สัตว์ป่าของไทยในอนาคตนี้ด้วยนั่นเอง

Wewild

เครดิตภาพ: Wewild

Wewild

เครดิตภาพ: Wewild

เมื่อพูดถึงเรื่องโปรเจกต์ในอนาคต เจ้าของแบรนด์บอกว่าต่อไป Wewild คงไม่ได้มีผลิตภัณฑ์เป็นกระเป๋าอย่างเดียว แต่ต่อไปจะมีเฟอร์นิเจอร์อย่างเช่น โซฟา ด้วยเช่นกัน และอีกส่วนหนึ่งเป็น Merchandise ของแบรนด์ Wewild เอง

คำถามสุดท้ายที่ถามสองหนุ่มเจ้าของ Wewild คือ พวกเขาอยากให้แบรนด์ไปได้ไกลขนาดไหน หรือมีอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังคนไหนไหมที่พวกเขาอยากให้มาถือกระเป๋าจากกระสอบกาแฟ

ไอซ์ตอบแบบไม่หยุดคิดว่า จริงๆ ไม่มีชื่อใครในหัวตอนนี้

“เราทำกระเป๋ามาก็อยากให้ทุกคนถือได้ เป็นที่รู้จักของทุกคนแค่นั้นเอง แต่ว่าจุดหมายเราอยากไปไกลแค่ไหน คงไม่ได้มากมาย แต่อยากซัปพอร์ตคนที่เราซัปพอร์ตได้ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานช่างฝีมือ หรือไปจนถึงสิ่งแวดล้อม สัตว์ป่า” ไอซ์ตอบยิ้มๆ

Wewild

ก่อนจบลิโบสรุปเป้าหมายของแบรนด์ที่มีไว้ตั้งแต่แรกคือการทำแบรนด์เพื่อจะได้ส่งเสริมแรงงานที่มีทักษะของคนไทย และการส่งต่อประโยชน์ไปสู่โลกของเรา แน่นอนว่าการทำธุรกิจก็ต้องมีเรื่องตัวเลขเข้ามาเกี่ยว แต่เขายืนยันว่าประคองทั้งเป้าหมายหลักและการทำการตลาดไปควบคู่กันให้ได้ดีที่สุด

Wewild

อุดหนุนสินค้าจาก Wewild วางขายแล้วทั้ง 3 ช่องทางดังนี้

The Standard Bangkok Shop
Gaysorn Amarin
The Food School Bangkok

Tags: