About
DETOUR X Bangkok

ด้วยพลังแห่งรัก

ชวนชม ‘8 ฉลองพระองค์’ ไฮไลต์ แนะนำพิเศษโดยภัณฑารักษ์ แห่งพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าฯ

เรื่อง คำนาฏ ภาพ ฉัตรชัย มาตยภูธร Date 14-07-2022 | View 1775
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • พฤษภาคม 2565 ครบปีที่ 10 ที่พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ หอรัษฎากรพิพัฒน์​ ในพระบรมมหาราชวัง เปิดให้บริการแก่ประชาชน ตลอดระยะเวลา 1 ทศวรรษที่ผ่านมา หลากหลายนิทรรศการจากผืนผ้าพัสตราภรณ์หมุนเวียนเปลี่ยนผ่าน คุณค่าจากผืนผ้าในมิติที่ลึกซึ้งกว่าเพียงเรื่องความงามได้รับการถ่ายทอดนำเสนอ
  • นิทรรศการ ‘ด้วยพลังแห่งรัก’ เป็นนิทรรศการถ่ายทอดพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ นับตั้งแต่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมราชินีใน พ.ศ.​ 2493 เล่าผ่านวัตถุแสดงที่น่าสนใจ จัดแสดงมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562 และกำลังจะสิ้นสุดในวันที่ 15 สิงหาคม 2565 นี้

‘ด้วยพลังแห่งรัก’ เป็นนิทรรศการเรื่องเล่าจากฉลองพระองค์ ที่สะท้อน ‘ความรัก’ แง่มุมต่างๆ ของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เปิดประตูให้เข้าชมถึงกลางเดือนสิงหาคมนี้เท่านั้น ก่อนนิทรรศการนี้จะโบกมืออำลาและยกพื้นที่ให้นิทรรศการใหม่เข้ามาแทนที่ช่วงปลายปี ‘อลิสา ใสเศวตวารี’ ภัณฑารักษ์ประจำนิทรรศการ ได้คัดสรร 8 ฉลองพระองค์ชั้นเลิศที่คนรักความงามบนผืนผ้าควรได้ชื่นชม

ชวนชม ‘8 ฉลองพระองค์’ ไฮไลต์ แนะนำพิเศษโดยภัณฑารักษ์ แห่งพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าฯ

ชวนชม ‘8 ฉลองพระองค์’ ไฮไลต์ แนะนำพิเศษโดยภัณฑารักษ์ แห่งพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าฯ

ฉลองพระองค์ชุดไทยศิวาลัย พ.ศ. 2511

“เมื่อปี 2503 สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เยือนสหรัฐอเมริกาและทวีปยุโรปหลายประเทศ จึงมีพระราชประสงค์ที่จะแต่งกายแบบสตรีไทย เผยแพร่ความเป็นไทย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้เชี่ยวชาญศึกษาการแต่งกายของสตรีไทยในอดีต และพัฒนาเรื่อยมาจนเกิดเป็นชุดไทยพระราชนิยม 8 แบบที่เราใช้กันอยู่ตอนนี้ หนึ่งในนั้นก็คือฉลองพระองค์ชุดไทยศิวาลัย เป็นฉลองพระองค์แขนยาว มีผ้าทรงสะพักที่เหมือนสไบพาดเฉียงทับบ่าซ้าย ส่วนพระภูษาเป็นแบบจีบหน้า ทรงฉลองพระองค์องค์นี้ประทับเป็นแบบในการฉายพระฉายาลักษณ์ฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เมื่อปี 2511 ซึ่งจัดแสดงอยู่เคียงข้างฉลองพระองค์ด้วย

ชุดไทยแบบดั้งเดิมเป็นการนุ่งห่ม แต่ชุดไทยพระราชนิยมนั้นต่างออกไป คือเป็นชุดไทยที่ตัดเย็บสำเร็จ รูดซิป สวมใส่ได้ทันที เหมาะกับชีวิตในปัจจุบันมากกว่า ถือเป็นแนวคิดใหม่ของชุดไทยซึ่งก็ได้รับการพัฒนาต่อยอดเรื่อยมา”

ชวนชม ‘8 ฉลองพระองค์’ ไฮไลต์ แนะนำพิเศษโดยภัณฑารักษ์ แห่งพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าฯ

ฉลองพระองค์ชุดราตรี พ.ศ.​ 2528

“ฉลองพระองค์องค์นี้ตัดเย็บด้วยผ้าไหมมัดหมี่ ทรงเมื่อครั้งเสด็จฯ เยือนสหรัฐอเมริกาในปี 2528 ทำไมจึงเป็นผ้าไหมมัดหมี่ก็ต้องย้อนกลับไปใน พ.ศ.​ 2513 สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ไปทรงเยี่ยมราษฎรผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ อ. นาหว้า จ. นครพนม ทรงพบหญิงชาวบ้านนุ่งซิ่นไหมมัดหมี่ที่งามแปลกตามารอรับเสด็จ จึงมีพระราชประสงค์จะสร้างอาชีพให้ราษฎรด้วยการส่งเสริมศักยภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นการแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.​ 2519

เดิมทีผ้าไหมมัดหมี่เป็นผ้าที่ใช้นุ่งในชีวิตประจำวัน แต่เนื่องจากมีพระราชประสงค์ส่งเสริมให้ประชาชนมีรายได้เสริมจากการทอผ้า จึงโปรดให้นำผ้ามาตัดเย็บเป็นฉลองพระองค์เพื่อให้คนเห็นว่าผ้าเหล่านี้นอกจากจะนุ่งตามธรรมเนียมวัฒนธรรมดั้งเดิมแล้ว ยังสามารถนำมาตัดเย็บเป็นชุดแบบสมัยใหม่ได้อีกด้วย เป็นการขยายตลาดให้มีคนซื้อมากขึ้น”

“อย่างชาวอีสานเขาก็ทอผ้ามัดหมี่ ข้าพเจ้าก็บอกว่าขอให้ทอให้ เขาบอกว่าท่านจะใส่ไปทำไม มีแต่คนใช้เขาใส่ไม่ใช่หรือ เขาว่าอย่างนั้น ข้าพเจ้าบอกไม่ ไม่ใช่คนใช้ใส่ ก็พวกเธอไปหางานทำที่กรุงเทพฯ​ พวกเธอใส่ แต่พอเราจะซื้อก็มีจำกัด…เอาสิ ทำขึ้น แล้วฉันจะใส่ให้ดูเอง…”

สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงมีพระราชดำรัสกับคนไทยที่มาเข้าเฝ้าฯ​ รับเสด็จ ณ สหรัฐอเมริกา วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ.​ 2538

ชวนชม ‘8 ฉลองพระองค์’ ไฮไลต์ แนะนำพิเศษโดยภัณฑารักษ์ แห่งพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าฯ

ฉลองพระองค์แบบผสมผสานไทย พ.ศ. 2528

“จากจุดเริ่มต้นที่ผ้าไหมมัดหมี่ พระราชประสงค์ในการส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นก็ขยายไปพื้นที่อื่นๆ ด้วย โดยในแต่ละท้องถิ่นของไทยก็มีผ้าหรือวัฒนธรรมการทอผ้าที่แตกต่างกันออกไป เช่น ผ้าไหมแพรวาที่เป็นวัฒนธรรมการทอผ้าของชาวผู้ไท บ้านโพน จ. กาฬสินธุ์ ลักษณะดั้งเดิมของผ้าไหมแพรวาคือเป็นผ้าหน้าแคบ ใช้ห่มเฉียงบ่าเหมือนสไบ เมื่อมีพระราชประสงค์ให้ส่งเสริมการทอผ้าแพรวาเพื่อสร้างอาชีพ สืบต่อวัฒนธรรมไม่ให้สูญหาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปรับผ้าแพรวาโดยขยายเป็นผ้าหน้ากว้าง เพื่อสามารถนำไปตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าได้ รวมถึงสีจากเดิมที่มีสีแดง ก็เพิ่มสีอื่นๆ เข้ามา ดังเช่นฉลองพระองค์องค์นี้ที่เป็นสีชมพูพาสเทล”

ชวนชม ‘8 ฉลองพระองค์’ ไฮไลต์ แนะนำพิเศษโดยภัณฑารักษ์ แห่งพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าฯ

ฉลองพระองค์แบบสากล

“ฉลองพระองค์องค์นี้ เป็นฉลองพระองค์ทรงงาน ทรงเมื่อเสด็จเยี่ยมราษฎรภาคเหนือ มีการตกแต่งด้วยผ้าชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยง ภายในนิทรรศการจัดแสดงพระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงขณะทรงฉลองพระองค์นี้ในสองโอกาส คือเมื่อครั้งโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ไปทรงเยี่ยมราษฎร จ. น่าน วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.​ 2514 และเมื่อครั้งเสด็จฯ​ ไปทรงเยี่ยมราษฎรพร้อมด้วยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

ชวนชม ‘8 ฉลองพระองค์’ ไฮไลต์ แนะนำพิเศษโดยภัณฑารักษ์ แห่งพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าฯ

ส่วนฉลองพระองค์องค์นี้เป็นการผสมผสานระหว่างผ้าท้องถิ่นจากสองภูมิภาคเข้าด้วยกัน คือ ผ้าชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง จากภาคเหนือ และผ้าไหมมัดหมี่ จากภาคอีสาน เป็นผลงานของนักออกแบบไทย คือ คุณน้อย กฤติพร

ชวนชม ‘8 ฉลองพระองค์’ ไฮไลต์ แนะนำพิเศษโดยภัณฑารักษ์ แห่งพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าฯ

ฉลองพระองค์แบบสากล พ.ศ.​ 2521

“ฉลองพระองค์องค์นี้ตัดเย็บจากผ้าไหมมัดหมี่ ความพิเศษอยู่ที่งานถักลูกไม้ ผลงานของคุณเรณู โอสถานุเคราะห์ นักออกแบบผู้มีความชำนาญเรื่องผ้าลูกไม้มาก ฉลองพระองค์นี้ฉลุลายและแทรกผ้าไหมมัดหมี่เข้าไป แสดงให้เห็นถึงฝีมือของช่างไทย ฝีมือของนักออกแบบไทย และความคิดสร้างสรรค์ในการต่อยอดประยุกต์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น

สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงฉลองพระองค์นี้และประทับฉายพระฉายาลักษณ์กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ณ​ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ระหว่างการเสด็จฯ​ ไปทรงเยี่ยมราษฎรทางภาคเหนือเมื่อ พ.ศ​. 2521”

ชวนชม ‘8 ฉลองพระองค์’ ไฮไลต์ แนะนำพิเศษโดยภัณฑารักษ์ แห่งพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าฯ

ฉลองพระองค์แบบผู้ไท พ.ศ. 2524

“ฉลองพระองค์ด้านขวาสุดนี้เป็นแบบชาวผู้ไทดั้งเดิม ทรงเมื่อครั้งเสด็จฯ เยือนประเทศญี่ปุ่นใน พ.ศ.​ 2524 ครั้งนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ​ ให้นำผลงานศิลปาชีพซึ่งเป็นงานหัตถศิลป์ด้านต่างๆ ของไทยไปเผยแพร่ด้วย เช่น งานคร่ำ งานถม งานจักสานย่านลิเภา และงานประดับปีกแมลงทับ ดังที่จัดแสดงในตู้นี้ และเป็นตัวอย่างส่วนหนึ่งที่ได้รับความอนุเคราะห์จากสถาบันสิริกิติ์ให้นำมาจัดแสดง และเมื่อสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงเสด็จฯ ไปทรงเยือนต่างประเทศ ก็จะโปรดให้นำงานฝีมือเหล่านี้ไปเผยแพร่ด้วยเสมอ”

(สถาบันสิริกิติ์ ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการฝึกอบรมงานศิลปาชีพแขนงต่างๆ แก่ราษฎรที่ขาดโอกาสในการทำกิน ให้กลายเป็นช่างฝีมือผู้เชี่ยวชาญงานหัตถศิลป์ สืบสานศิลปวัฒนธรรมไทย และมีอาชีพเลี้ยงตัวเองได้อย่างยั่งยืน-กองบรรณาธิการ)

ฉลองพระองค์แบบสากล

ฉลองพระองค์ด้านซ้ายทั้งสององค์นี้ปักประดับด้วยปีกแมลงทับ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงในโอกาสเสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน พ.ศ. 2543 และเสด็จฯ เยือนสหพันธรัฐรัสเซียอย่างเป็นทางการแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เมื่อ พ.ศ.​ 2550

งานประดับปีกแมลงทับเป็นหนึ่งในงานฝีมือโบราณของไทย จุดเริ่มต้นที่มีพระราชประสงค์จะอนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญานี้ เกิดขึ้นเมื่อสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงพบผ้าทรงสะพักซึ่งเป็นของสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในพระบรมมหาราชวัง มีพระราชวินิจฉัยว่าแม้ผ้าทรงสะพักนั้นจะอายุนานกว่า 100 ปี แต่ปีกแมลงทับที่ปักประดับยังคงงดงามอยู่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูงานปักปีกแมลงทับขึ้นมาอีกครั้ง และโปรดให้นำมาตกแต่งบนฉลองพระองค์ โดยปีกแมลงทับที่นำมาใช้เป็นปีกที่ร่วงหล่นตามธรรมชาติ”

ชวนชม ‘8 ฉลองพระองค์’ ไฮไลต์ แนะนำพิเศษโดยภัณฑารักษ์ แห่งพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าฯ

ฉลองพระองค์แบบไทย พ.ศ. 2549

“สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงฉลองพระองค์นี้ในเหตุการณ์ที่อยู่ในความทรงจำของใครหลายคน คือในโอกาสโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จออกมหาสมาคม รับการถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2549

ฉลองพระองค์นี้เป็นผลงานของนักออกแบบไทย คือ คุณหญิงอังศุภา ปัณยาชีวะ ตัดเย็บจากผ้ายก ซึ่งผ้ายกเป็นผ้าที่ใช้ในราชสำนักไทยมาแต่โบราณ ผ้ายกเป็นผ้าทอพื้นเมืองของ จ. นครศรีธรรมราช ที่ทอสืบทอดกันมายาวนาน สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูการทอผ้ายกขึ้นอีกครั้งที่โครงการศูนย์ศิลปาชีพบ้านเนินธัมมัง จ.​ นครศรีธรรมราช”

เหลือเวลาอีกเดือนเศษๆ เท่านั้นที่นิทรรศการ ‘ด้วยพลังแห่งรัก’ จะเปิดให้เข้าชม โดยจะมีกิจกรรมพิเศษส่งท้ายในเดือนสิงหาคมนี้ด้วย ติดตามข่าวสารและกิจกรรมได้ที่เว็บไซต์ qsmtthailand และ เฟซบุ๊ก qsmtthailand อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหนึ่งนิทรรศการที่ควรค่าแก่การมาชมอย่างยิ่ง จัดแสดงอยู่ในห้องข้างเคียงกัน คือ นิทรรศการ ผ้าบาติกในพระปิยมหาราช: สายสัมพันธ์สยามและชวา ที่จะเปิดให้ชมต่อเนื่องไปจนถึงเดือนเมษายน 2566

Tags: