

Andaman Landfolk
7 สิ่งน่ารู้เกี่ยวกับ ‘มอแกลน’ ชาติพันธุ์ที่มีทะเลหน้าบ้านกับผืนป่าโอบอุ้มทุกจิตวิญญาณ
- ‘มอแกลน’ ไม่ใช่ ‘มอแกน’ ทริปบุกป่าลุยเลกับคนมอแกลน หมู่บ้านทับตะวัน จ.พังงา ผ่านเสน่ห์ 7 อย่างที่จะทำให้ทุกคนอยากรู้จัก เข้าใจ และตกหลุมรักในวิถีชาวบกอันดามันมากขึ้น
ทุกครั้งที่ได้ไปทะเลฝั่งอันดามัน เรามักรู้สึกถึงพลังมหาศาลของท้องทะเล เสียงคลื่นสาดกระทบชายฝั่งก้องดังกว่าทะเลฝั่งอ่าวไทยหลายเท่า แต่ภายใต้คลื่นทะเลยักษ์เหล่านั้น ยังมีเสียงของกลุ่มคนเล็กๆ แฝงตัวอยู่ในลูกคลื่นริมฝั่งทะเลอันดามันที่กำลังรอคอยให้ผู้คนได้ยินเสียง และได้รับรู้การมีอยู่ของพวกเขา
มอแกลน กลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้ยินชื่อครั้งแรกก็ชวนให้เราเอียงหัวสงสัย เพราะรู้สึกคุ้นเคย แต่ก็ไม่ได้มีข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์นี้มากนัก
จนกระทั่งเราได้มีโอกาสไปใช้ชีวิตกับพี่ๆ แม่ๆ ชาวมอแกลนที่บ้านทับตะวัน-บนไร่ ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา เหมือนได้เปิดประตูไปเห็นโลกอีกใบที่เริ่มตั้งแต่เรื่องอาหาร การประกอบอาชีพ ประเพณี ความเชื่อ และภูมิปัญญา ซึ่ง ONCE ได้ขลุกตัวกับบรรดาแม่ๆ คนมอแกลนอยู่ 3 วัน 2 คืน บอกเลยว่านี่จะเป็นหนึ่งในความทรงจำที่เราลืมไม่ลงเลยจริงๆ เพราะไม่ใช่แค่ได้เข้าใจวิถีชีวิตและปัญหาที่คนมอแกลนต้องเผชิญ แต่ ONCE ยังได้เพิ่มทักษะการเอาตัวรอดและทักษะการใช้ชีวิตสูงขึ้นในพริบตาเลยก็ว่าได้
แต่จะให้เรียบเรียงอย่างละเอียดว่าใน 3 วันนี้ ONCE ทำอะไรกันบ้าง คงจะต้องขอพื้นที่หน้ากระดาษสัก 10 แผ่น เพราะเราได้ใช้ชีวิต ใช้ใจและใช้แรงไปด้วยกันกับชาวมอแกลนตั้งแต่เช้าจรดเย็นจริงๆ ONCE เลยขอสรุปรวบยอดเป็น 7 อย่างที่อยากมาแชร์ให้ทุกคนรู้จักคนมอแกลนมากขึ้น และเราหวังใจไว้ว่าทั้ง 7 ข้อนี้อาจทำให้จุดหมายในการไปเที่ยวพังงาของทุกคนเปลี่ยนไป
01
มอแกลน ไม่ใช่ มอแกน
ในทีแรก ONCE เองก็นึกถึง ‘มอแกน’ ที่มีถิ่นฐานในเกาะสุรินทร์ จ.พังงาเหมือนกัน แต่จริงๆ แล้ว ‘มอแกลน’ คืออีกกลุ่มชาติพันธุ์ที่เรียกได้ว่าเป็นเพื่อนบ้านกับกลุ่มชาติพันธุ์อูรักลาโวยจและชาติพันธุ์มอแกน แม้จะเป็นเพื่อนบ้านกัน แต่ทั้ง 3 กลุ่มนี้แตกต่างกันอยู่นะ
มอแกนคือกลุ่มชาติพันธุ์ที่เชี่ยวชาญด้านทะเล เคยมีวิถีชีวิตส่วนใหญ่ที่เชื่อมโยงกับทะเล แต่ในปัจจุบันมอแกนมีวิถีชีวิตอยู่บนขายฝั่งกันมากขึ้นแล้ว ขณะที่มอแกลน ใช้ชีวิตอยู่บนชายฝั่งทะเลและพื้นที่บนบกใกล้กับทะเลอันดามันมานาน มีการทำไร่และการหาแร่ แถมภาษาก็ไม่ได้ใช้เหมือนกันแบบเป๊ะๆ แม้ว่าทั้งสองกลุ่มชาติพันธุ์นี้จะมีรากภาษามาจากตระกูลออสโตรนีเซียนเหมือนกัน แต่ภาษาของมอแกลนมีการนำภาษาไทย-ภาษาขอมมาปรับใช้ด้วย คำศัพท์บางคำจึงอาจใช้ไม่เหมือนกัน
ONCE เองขอสารภาพว่า เราแทบจำคำพูดที่แม่ๆ คุยกันด้วยภาษามอแกลนไม่ได้เลย เพราะเป็นภาษาที่เราไม่คุ้นเคยและเป็นครั้งแรกที่ได้ฟังภาษาตระกูลออสโตรนีเซียน ซึ่งนอกจากเหล่าแม่ๆ ที่ใช้ภาษามอแกลนแล้ว เด็กรุ่นใหม่ที่หมู่บ้านทับตะวันยังศึกษาและพยายามใช้ภาษามอแกลนกันอยู่ เพื่อไม่ให้ภาษามอแกลนเลือนหายไปตามกาลเวลา เพราะภาษาก็เป็นหนึ่งใน ‘เสียง’ ของชาวมอแกลนเช่นกัน
02
แท้จริงแล้ว โขดหินนั้นเป็นหอย
ONCE ขอยกให้ หาดปากวีป คือจุดสนุกที่สุดในการมาเยือนบ้านคนมอแกลน เพราะแม้ว่าทริปนี้เราต้องสู้กับพายุฝนในฤดูกาลโลว์ซีซัน แต่นี่เป็นครั้งแรกที่เรารู้สึกว่า ทะเลหน้าฝนก็สนุกดีเหมือนกัน นอกจากจะเป็นพื้นที่ทางจิตวิญญาณของคนมอแกลน หาดปากวีปยังเป็นพื้นที่หาอาหารง่ายๆ ที่กินสดได้ หาได้ใกล้ตัวแบบที่เราไม่เคยคิดมาก่อนว่าอาหารจะใกล้ตัวเราได้ขนาดนี้
โขดหินที่บางครั้งเราเรียกว่าหินโสโครก จริงๆ แล้วอาจไม่ใช่กลุ่มก้อนหินที่ถูกคลื่นซัดมาทับถมกัน แต่เป็นหอยตีบ ที่แค่ใช้ ‘หล่าโต๊ะ’ ไม้แคะหอยกะเทาะไปที่เปลือก ก็สามารถแคะเนื้อหอยมากินสดๆ กันตรงนั้นได้เลย ONCE นั่งแคะกันจนแทบลืมเวลา รู้ตัวอีกทีบรรดาแม่ๆ ก็ต้องสะกิดบอกว่าน้ำทะเลสูงขึ้นแล้ว จำเป็นต้องหอบหอยที่เก็บได้มากินกันต่อที่ริมหาดแทน
นอกจากความอร่อยของหอยสดๆ ที่ทำเอาเราลืมเม็ดฝนที่เทลงมาไม่หยุดหย่อน ยังมีสาหร่ายสายใบที่คุณแม่คนมอแกลนลงทุนไปงมเก็บที่ริมหาดมาให้เราได้ลองชิม และเป็นครั้งแรกที่เราได้ชิมสาหร่ายสดๆ จากทะเล บอกเลยว่ารสชาติความนัวยังติดลิ้น ONCE อยู่จนถึงตอนนี้ และยิ่งติดใจขึ้นไปอีกเมื่อสาหร่ายสายใบถูกนำไปทำเป็นเมนูยำแซ่บๆ ตามสูตรของคนมอแกลน (ONCE แทบจะกินยำสาหร่ายสายใบแทนข้าวมื้อนั้นด้วยซ้ำ) ซึ่งความอร่อยจากทะเลที่เราได้ลิ้มลองในครั้งนี้ คือสิ่งที่ทำให้เราเข้าใจจริงๆ ว่า ‘การมีทะเลหน้าบ้าน’ นั้นเป็นยังไง แถมทำให้เรายิ่งเข้าใจว่า ทำไมคนมอแกลนถึงรักและหวงแหนพื้นที่ทางทะเลของตัวเองไม่แพ้ใครเลย
03
ศาสนาของคนมอแกลนคือ บรรพบุรุษ
‘ศาลพ่อตาสามพัน’ ตั้งอยู่บนหาดปากวีป นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ ONCE ได้บอกไปข้างต้นว่า หาดปากวีปคือพื้นที่ทางจิตวิญญาณของคนมอแกลน ศาลพ่อตาสามพันคือศูนย์รวมจิตใจของคนมอแกลน และเป็นพื้นที่ที่พาคนมอแกลนที่กระจายตัวอยู่ใน 27 ชุมชนตามริมชายฝั่ง จ.พังงาและ จ.ภูเก็ตให้ได้มาพบเจอกัน
‘พ่อตาสามพัน’ ตามตำนานเล่าว่า เป็นเจ้าเมืองของชาวมอแกลน และเคยตั้งถิ่นฐานคนมอแกลนที่ จ.นครศรีธรรมราช แต่ด้วยโรคระบาด การมีผู้คนล้มตาย และการหลีกหนีจากภัยสงครามในยุคสงครามโลก ทำให้พ่อตาสามพันพาผู้คนย้ายถิ่นฐานมาที่ภูเก็ตและพังงา พ่อตาสามพันจึงเป็นบรรพบุรุษที่คนมอแกลนเคารพนับถือ
การไหว้พ่อตาสามพันเกิดในช่วงเดือนมีนาคม สมัยก่อนใช้วิธีการไหว้ด้วยเต่าบก แต่ในปัจจุบันเปลี่ยนเป็นการไหว้ด้วยไก่แทน พิธีกรรมนี้ไม่ได้ไหว้แค่พ่อตาสามพัน แต่เป็นการไหว้บรรพุบุรุษของคนมอแกลนทั้งหมดที่ตอนนี้มีกว่า 10-12 รุ่นอายุคนแล้ว ONCE ซึ่งพื้นที่ในการทำพิธีกรรมไม่ได้จัดขึ้นแค่ที่ศาลตาสามพัน แต่ต้องเริ่มจากบ้านพ่อหมอก่อน แล้วจึงไปปรุงอาหารต่างๆ ในป่า หลังจากนั้นจึงค่อยนำอาหารทุกอย่างมาเซ่นไหว้พ่อตาสามพันที่ศาล
โซนที่ต้องใช้ปรุงอาหารต่างๆ ในป่าเพื่อประกอบพิธีกรรมเอง กลับเป็นพื้นที่ที่คนมอแกลนต้องเผชิญปัญหาเรื่องการอ้างสิทธิ์ในที่ดิน เพราะการเกิดขึ้นของรัฐชาติและการรุกคืบของเอกชน ทำให้คนมอแกลนถูกจำกัดสิทธิ์ในการใช้สอยพื้นที่ คนมอแกลนต้องเผชิญปัญหาทั้งพื้นที่ทำกิน พื้นที่อยู่อาศัย รวมถึงพื้นที่ทางจิตวิญญาณอย่างหาดปากวีปด้วย
04
ต้นไม้ทุกต้นคือสายสัมพันธ์
เมื่อคนมอแกลนนับถือบรรพบุรุษ วิธีการส่งวิญญาณบรรพบุรษของคนมอแกลนคือการไม่เผา แต่ใช้วิธีการฝังแทน และทุกครั้งของการฝังจะต้องปลูกต้นไม้ที่หลุมฝังด้วย นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมรอบๆ หาดปากวีปถึงเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่และป่าเขียวชอุ่มโอบล้อมรอบหาด ซึ่งรอบๆ หลุมบรรพบุรุษ เราสังเกตเห็นทั้งข้าวของเครื่องใช้ ของเล่น วิทยุ หรือแม้กระทั่งอาหาร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้นึกถึง ‘การเผากงเต๊ก’ ที่เชื่อในเรื่องการเผากระดาษเงินกระดาษทองให้บรรพบุรุษที่อยู่อีกโลก เช่นเดียวกับคนมอแกลนที่มีการวางของไว้รอบๆ หลุม เพื่อส่งสิ่งของเหล่านั้นให้บรรพบุรุษได้ใช้เช่นกัน
แต่ความน่าคับข้องใจคือการที่พื้นที่นี้กำลังเป็นพื้นที่มีปัญหาในเรื่องเอกสารสิทธิ์ ซึ่งคนมอแกลนกำลังจะไม่มีสิทธิ์ในการใช้พื้นที่บริเวณนี้ในการทำพิธีศพอีกต่อไป สุสานบรรพบุรุษของคนมอแกลนกำลังถูกรุกคืบ โดยที่ไม่มีใครได้ยินเสียงพวกเขา และแทบจะไม่มีใครมาตั้งคำถามในมุมที่กลับกันว่า
‘ถ้าวันหนึ่งเราไม่มีวัดหรือโบสถ์ให้ทำพิธีศพอีกต่อไป จิตใจและจิตวิญญาณของเราจะยังคงมีที่ยึดเหนี่ยวเมื่อยามคนที่เรารักจากไปอยู่ไหม?’
05
พ่อหมอประจำหมู่บ้านกับยูนิฟอร์มสีแดง
เมื่อมีศาสนาแล้วก็ต้องมีผู้นำทางศาสนา อย่างศาสนาพุทธที่มีพระสงฆ์และศาสนาคริสต์ที่มีบาทหลวงคอยเผยแผ่หลักคำสอน เช่นเดียวกับคนมอแกลนที่มี ‘พ่อหมอ’ เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณและเป็นปราชญ์ที่คนในชุมชนนับถือ เป็นผู้เผยแพร่หลักยึดเหนี่ยวจิตใจตามความเชื่อของบรรพบุรุษที่มีมาแล้วกว่า 300 ปี เพราะในหลักของพ่อตาสามพัน มีทั้งคำสอน และข้อห้ามที่ให้หลีกเลี่ยงความผิด ทั้งในที่ลับและที่แจ้งอย่างเคร่งครัด ด้วยเหตุนั้น ลักษณะนิสัยของคนมอแกลนโดยส่วนใหญ่จึงเป็นคนที่ใจดี ซื่อตรง และรักสงบ
ในบ้านของพ่อหมอจะมีสิ่งที่เรียกว่า ‘หิ้งต้นตระกูล’ เป็นหิ้งบูชาบรรพบุรุษที่ต่างขนาดกันไปตามลำดับของแต่ละครอบครัวด้วย โดยบนหิ้งมักมีเรือใบไม้ลำเล็กๆ ที่มีไม้เสียบไว้ มีน้ำมัน และมีดพร้า หรือบางครอบครัวอาจมีถ้วยตายายสำหรับตัวแทนบรรพบุรุษ จะเห็นได้ในตระกูลที่เป็นพ่อหมอมากกว่า รวมถึงการมี ‘ผ้าสีแดง’ บนหิ้ง นั่นเป็นจุดที่บ่งบอกว่า บ้านนั้นๆ มีพ่อหมอของชาวมอแกลนอยู่ เพราะผ้าสีแดงคือสัญลักษณ์การสืบทอดตำแหน่งผู้นำทางจิตวิญญาณ ซึ่งไม่ใช่ใครก็ได้ที่ทำได้ แต่ต้องมีสัญญาณบ่งบอกโดยธรรมชาติว่า ใครจะเป็นผู้สืบต่อสายตระกูลพ่อหมอ
การสืบต่อสายตระกูลพ่อหมอของคนมอแกลน ไม่จำกัดเพศ และไม่จำเป็นต้องส่งต่อจากรุ่นพ่อแม่สู่ลูกเท่านั้น สามารถส่งต่อตำแหน่งนี้ผ่านปู่ย่าสู่ลูกหลานได้โดยไม่ต้องผ่านรุ่นพ่อแม่ก่อน เรียกได้ว่าการสืบต่อสายตระกูลเป็นสิ่งที่ไม่ตายตัวสำหรับคนมอแกลน เพราะข้อกำหนดเดียวคือการมีสายเลือดเดียวกันนั่นเอง
06
เพลงพื้นบ้านที่แฝงองค์ความรู้ในการใช้ชีวิต
ขณะที่ ONCE เดินสำรวจหมู่บ้านทับตะวัน เราเห็นว่าคนมอแกลนมีการสร้างบ้านที่เป็นเอกลักษณ์มาก แต่บ้านทุกหลังยังดูใหม่อยู่เลย เป็นเพราะบ้านทุกหลังในหมู่บ้านทับตะวันถูกสร้างขึ้นใหม่ หลังเหตุการณ์สึนามิ พ.ศ. 2547 ซึ่งในเหตุการณ์นี้ คนมอแกลนส่วนใหญ่อพยพได้ทันท่วงที เพราะสิ่งที่ทำให้คนมอแกลนตื่นตัวได้ดีเสมอ คือการเข้าใจและเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ
รวมถึงการมีบทเพลงประจำชาติพันธุ์มอแกลนที่คอยสั่งสอนการใช้ชีวิตอย่าง เพลงบอก นอกจากจะเป็นเพลงที่แสดงความเป็นคนมอแกลนแล้ว ยังเป็นเพลงที่สอนทั้งการสังเกตธรรมชาติ สอนวิธีการปฏิบัติตัวเมื่อเจอสึนามิ สอนวิธีการอยู่ร่วมกัน จนถึงการสอนนับเลขก็มี ONCE ได้จอยกับการละเล่นเพลงบอกของคนมอแกลนในทริปนี้ด้วย แม้จะต่างจากการร้องรองเง็ง แต่ความม่วนจอยเราให้ 10/10 เลย
07
มอแกลนเก่งในการใช้ชีวิตกับผืนป่า
ก่อนหน้านี้ชาวมอแกลนมีความเชื่อเรื่อง ‘แอนอง โส’ หรือ ‘แอนอง โพชอบ’ คือความเชื่อเกี่ยวกับพระแม่โพสพ เพราะเดิมทีคนมอแกลนเคยใช้พื้นที่บนบกปลูกข้าวเป็นหลัก แต่เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาสัมปทานป่าไม้ของรัฐ ทำให้คนมอแกลนถูกห้ามไม่ให้ขึ้นไปทำข้าวไร่หมุนเวียนเป็นเวลานาน และในระยะเวลาหนึ่งรัฐได้เอาต้นไม้ใหญ่ออก ทำให้มีคนพื้นราบเข้าไปจับจองพื้นที่ที่คนมอแกลนเคยใช้ทำสวนไร่ คนมอแกลนจึงมีพื้นที่ไม่เพียงพอในการปลูกข้าวหมุนเวียน ดินไม่อุดมสมบูรณ์ รวมถึงไม่มีพ่อหมอในการพาทำพิธีไหว้แอนองโส เพราะห่างหายจากการปลูกข้าวไประยะหนึ่ง คนมอแกลนจึงต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตไปปลูกยางพาราแทน
แต่นอกจากการปลูกยางพาราแล้ว ยังมีการทำสวนสมรมจำปาดะ สะตอ สับปะรด ทุเรียน มังคุด และกระท้อน เพื่อให้ได้ผลผลิตส่งขายเวียนในทุกฤดูกาล ซึ่งผลผลิตเหล่านั้นเองก็ยังแบ่งนำไปแลกกับกลุ่มเพื่อนบ้านที่ยังปลูกข้าวได้บางส่วนด้วย
ไม่เพียงแค่ความเชี่ยวชาญเรื่องการปรับตัวในการทำไร่ทำสวน แต่คนมอแกลนยังมีองค์ความรู้เรื่องสมุนไพรด้วย ONCE ได้ลองดื่มสมุนไพรที่ต้มแบบชาจากหญ้าหลายชนิดอย่าง รากหญ้าคา รากของใบใต้ใบ รากของไมยราพ รากของหญ้ากี้เคย และหญ้าอื่นๆ ที่แม่ๆ มอแกลนเองก็จำไม่ได้เหมือนกันว่าใส่อะไรลงในหม้อต้มให้เราดื่มบ้าง ถึงแม้บรรดาแม่ๆ จะจำสูตรการต้มได้ไม่แม่น แต่นั่นคือภูมิปัญญาจริงๆ ของคนมอแกลนที่ส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งความขมปร่าของสมุนไพรถ้วยนั้น คือสิ่งที่ช่วยรักษาคนมอแกลนให้รอดพ้นจากวิกฤตโควิด-19 มาได้ โดยไม่ต้องรอยาจากรัฐที่เข้าถึงยากด้วยซ้ำไป
และนี่คือ 7 สิ่งที่ ONCE อยากให้ทุกคนได้รู้จักและมองเห็นตัวตนของคนมอแกลนมากขึ้น เผื่อว่าใครกำลังมีแพลนอยากไปเที่ยวที่พังงา แล้วอยากสัมผัสวิถีชีวิตชาวบกแห่งอันดามันจริงๆ และฟังเสียงหัวใจของกลุ่มชาติพันธุ์มอแกลนให้ชัดเจนขึ้น ลองเปิดใจกับทริป ‘มอแกลนพาเที่ยว’ กันได้นะ เพราะเราเชื่อว่าหลังจากได้ฟังเสียงของคนมอแกลนแล้ว โลกที่เรามองเห็นอยู่ทุกวัน จะต้องเปลี่ยนไปบ้างอย่างแน่นอน
ติดตามข้อมูลเกี่ยวกับคนมอแกลนหรือสนใจเยี่ยมชมหมู่บ้านทับตะวันติดต่อได้ที่
Facebook : MoklanIndigenousPepleoftheAndaman