About
DETOUR X Bangkok

พิพิธภัณฑ์ฯ พระนครไกด์

พิพิธภัณฑ์ฯ พระนครไกด์ ชี้เป้า 10 โบราณวัตถุชิ้นเยี่ยมจากนับแสนชิ้นที่ต้องดู

เรื่อง คำนาฏ ภาพ ฉัตรชัย มาตยภูธร Date 21-07-2022 | View 27712
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ดำเนินโครงการอนุรักษ์และพัฒนาพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) มาตั้งแต่ พ.ศ.​ 2555 ทยอยปรับปรุงทั้งอาคารและนิทรรศการอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาร่วม 10 ปี ขณะนี้พร้อมให้บริการทุกห้องจัดแสดงเต็มรูปแบบแล้ว และห้องล่าสุดที่เพิ่งเปิดให้บริการปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คือ ห้องลพบุรี ซึ่งมาพร้อมไฮไลต์โบราณวัตถุที่นำจัดแสดงเป็นครั้งแรก
  • คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเป็นที่เก็บโบราณวัตถุและศิลปวัตถุสำคัญของชาตินับแสนชิ้น และในท่ามกลางของจำนวนมหาศาลนี้ ไม่ใช่ทุกชิ้นที่ได้รับเลือกให้นำออกจัดแสดง

ยุทธนาวรากร แสงอร่าม ภัณฑารักษ์ชำนาญการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร พาไปชมโบราณวัตถุชิ้นเยี่ยมสมัยสุโขทัย อยุธยา และต้นกรุงรัตนโกสินทร์ 10 รายการ ที่หลายชิ้นไม่เคยถูกจัดแสดงมาก่อน หลายชิ้นหายไปจากสายตาผู้ชมนานนับสิบปี และแม้นอนนิ่งอยู่ในคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมาแสนนาน หากยังคงโดดเด่นตลอดกาลและไม่เคยหลุดโผของสำคัญต้องนำกลับมาอวดโฉมอีกครั้ง

ที่สุดแห่ง...พิพิธภัณฑ์ฯ พระนคร 10 โบราณวัตถุชิ้นเยี่ยมจากนับแสนชิ้น ที่ต้องนำมาจัดแสดงให้คนไทยชื่นชม

ที่สุดแห่ง...พิพิธภัณฑ์ฯ พระนคร 10 โบราณวัตถุชิ้นเยี่ยมจากนับแสนชิ้น ที่ต้องนำมาจัดแสดงให้คนไทยชื่นชม

1. พระเสลี่ยง

จัดแสดงอยู่ที่ห้องมุขกระสันในอาคารหมู่พระวิมาน ปัจจุบันเป็นพื้นที่จัดแสดงเกี่ยวกับกรมพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้าที่หมายถึงตัวบุคคล

“พระเสลี่ยงนี้เป็นของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ หรือวังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 3 ถูกกล่าวถึงในประวัติศาสตร์แง่มุมต่างๆ เช่นใช้อ้างอิงถึงศิลปกรรมสมัยรัชกาลที่ 3 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพโปรดให้แปลงเป็นธรรมมาสน์ถวายวัดบวรนิเวศวิหาร พระอารามที่ทรงสถาปนาขึ้นใหม่ สำหรับพระสงฆ์นั่งสวดปาติโมกข์ จึงเรียกกันว่าพระเสลี่ยงแปลง

ตัวฐานเสริมไม้จำหลักประดับกระจกสี ในหนังสือสาส์นสมเด็จ* กล่าวถึงเทคนิคการประดับแบบนี้เรียกว่ากระจกลายยา เป็นการขุดไม้ลงไป แล้วตัดกระจกเป็นชิ้นเล็กๆ ฝัง เป็นเทคนิคที่นิยมกันในเวลานั้น เดิมพระเสลี่ยงนี้อยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อมีการตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงไปขอมาจัดแสดง”

2. พระวอ

จัดแสดงในพระที่นั่งภิมุขมณเฑียรซึ่งเป็นห้องพระราชยานและคานหาม เหตุที่พระวอนี้ถูกเก็บไว้ในคลังนานมากเพราะอยู่ในสภาพชำรุด ในยุคหนึ่งไม่นิยมนำของที่ชำรุดมาจัดแสดง แต่เมื่อเวลาผ่านไป แนวคิดในการนำเสนอของจัดแสดงก็เปลี่ยนไปด้วย ของที่สภาพไม่สมบูรณ์ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นของที่ไม่มีคุณค่า “เราตั้งใจหันด้านหลังของพระวอออกให้คนเห็นลายครุฑยุดนาค เพราะจะได้เห็นงานยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์​ บริเวณกรอบหน้าบันประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ประดับตกแต่งปิดทองทุกส่วน สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพระวอสำหรับพระบรมวงศ์ชั้นสูง จริงๆ แล้วมีหลักฐานหลายอย่างที่บอกว่าผู้ชายก็ใช้วอ ไม่ใช่เฉพาะแต่ผู้หญิง บางทีในขบวนเสด็จก็อาจมีวอติดไปด้วย เผื่อฝนตกหรือแดดแรง เจ้านายก็เปลี่ยนจากประทับพระเสลี่ยงมาประทับพระวอแทน” ลักษณะที่สำคัญอีกประการ คือ วอเป็นพาหนะที่ใช้คนหามหรือหิ้ว จึงต้องทำให้เล็กและเบาที่สุด หลังคาก็เป็นหวายสานซึ่งเคลือบรักกันฝนได้

ที่สุดแห่ง...พิพิธภัณฑ์ฯ พระนคร 10 โบราณวัตถุชิ้นเยี่ยมจากนับแสนชิ้น ที่ต้องนำมาจัดแสดงให้คนไทยชื่นชม

ที่สุดแห่ง...พิพิธภัณฑ์ฯ พระนคร 10 โบราณวัตถุชิ้นเยี่ยมจากนับแสนชิ้น ที่ต้องนำมาจัดแสดงให้คนไทยชื่นชม

ที่สุดแห่ง...พิพิธภัณฑ์ฯ พระนคร 10 โบราณวัตถุชิ้นเยี่ยมจากนับแสนชิ้น ที่ต้องนำมาจัดแสดงให้คนไทยชื่นชม

3. รูปปั้นดินเผาพระองค์เจ้ายี่เข่ง

จัดแสดงอยู่บนชั้นสองพระที่นั่งวสันตพิมานฝั่งทิศใต้ “รูปปั้นดินเผาพระองค์เจ้ายี่เข่ง สูง 38 เซนติเมตร ถือเป็นของสำคัญที่ผู้ชมถามหาอยู่บ่อยครั้ง เพราะอยู่ในเรื่องเล่าต่างๆ พระองค์เจ้ายี่เข่งเป็นธิดาในพระองค์เจ้าเพชรหึงซึ่งเป็นโอรสของวังหน้าในรัชกาลที่ 1 ก็คือเป็นหลานปู่ของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เมื่อแรกประสูตินั้นเป็นหม่อมเจ้า ต่อมาเข้ารับราชการเป็นฝ่ายใน มีหน้าที่อภิบาลรัชกาลที่ 5 ดูแลเรื่องพระโอสถ มีเรื่องเล่าสืบกันมาว่ารัชกาลที่ 5 ไม่โปรดเสวยพระโอสถ ทรงละล้าละลังไม่เสวยสักที พระองค์เจ้ายี่เข่งก็ไปหยิบไม้บรรทัดจะเอามาตีท่าน รัชกาลที่ 5 ทรงขบขันไม่ถือโกรธเพราะรู้ว่าพระองค์เจ้ายี่เข่งมีเจตนาดี ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกให้เป็นพระองค์เจ้า มีประกาศในราชกิจจานุเบกษาว่า ‘ถึงว่าบางทีจะทำการเกินไปหลงไปบ้าง ตามพระอัทธยาไศรยเดิม ก็เปนไปโดยความจำนงประสงคที่จะให้เจริญพระบรมศุขในพระองคอย่างเดียว จะหาผู้ที่มีความจงรักภักดีมีใจผูกพันธในใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทให้เสมอเหมือนได้โดยยาก’”

“เราไม่มีประวัติเกี่ยวกับรูปปั้นนี้ว่าทำขึ้นทำไม ถือเป็นเรื่องแปลกเพราะคนไทยปั้นรูปเหมือนบุคคลไม่บ่อยนัก รู้เพียงว่าช่างปั้นชื่อนายแววเพราะมีสลักชื่อไว้ สันนิษฐานว่าน่าจะทำในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีการรื้อฟื้นช่างแบบไทย ฝึกคนไทยให้เป็นช่างมากขึ้น มีการประกวดประชันกันต่างๆ รูปปั้นนี้อยู่ในภาพถ่ายของการประกวดในวลานั้น”

ที่สุดแห่ง...พิพิธภัณฑ์ฯ พระนคร 10 โบราณวัตถุชิ้นเยี่ยมจากนับแสนชิ้น ที่ต้องนำมาจัดแสดงให้คนไทยชื่นชม

ที่สุดแห่ง...พิพิธภัณฑ์ฯ พระนคร 10 โบราณวัตถุชิ้นเยี่ยมจากนับแสนชิ้น ที่ต้องนำมาจัดแสดงให้คนไทยชื่นชม

4. คนโทบังกะรีทอง ลายพันธุ์พฤกษา ศิลปะอินเดีย

จัดแสดงที่ห้องโลหศิลป์ พระที่นั่งปัจฉิมาภิมุข เป็นโบราณวัตถุที่ตกทอดเป็นสมบัติเดิมในพิพิธภัณฑ์มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ประเมินอายุได้ว่าเก่าแก่เกือบ 200 ปี “บังกะรีคืองาน Bidriware ภาชนะโลหะผสมระหว่างสังกะสีกับทองแดง เป็นเทคนิคที่ชาวเปอร์เชียและชาวมุสลิมนิยมใช้กัน ส่วนคำว่าบังกะรีน่าจะหมายถึงบังกะหล่าหรือเบงกอล งานช่างลักษณะนี้คนไทยปัจจุบันไม่ค่อยจะรู้จักนัก ในงานพระราชพิธีสำคัญๆ ของไทยอาจจะมีการหยิบภาชนะบังกะรีมาใช้อยู่บ้าง เช่น พิธีสรงน้ำพระมุรธาภิเษก ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็มีพระเต้าสำหรับใส่น้ำหลายแบบ หนึ่งในนั้นคือพระเต้าบังกะรี”

ที่สุดแห่ง...พิพิธภัณฑ์ฯ พระนคร 10 โบราณวัตถุชิ้นเยี่ยมจากนับแสนชิ้น ที่ต้องนำมาจัดแสดงให้คนไทยชื่นชม

5. สัปคับพร้อมหลังคาทรงจั่ว

จัดแสดงที่ห้องเครื่องสัปคับ พระที่นั่งปฤษฎางคภิมุข “ในพิพิธภัณฑ์มีสัปคับกูบหรือที่นั่งบนหลังช้างหลังคาทรงโค้งเยอะ แต่แบบหลังคาจั่วแทบไม่เคยเห็น ตอนที่ถูกนำเก็บในคลังช่วงหลังก็โดนจับแยกชิ้นส่วนไปคนละที่ แต่ภาพถ่ายเก่าสมัยรัชกาลที่ 6 โชว์ว่าสัปคับหลังคาทรงจั่วเคยจัดแสดงคู่กันอยู่ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ จึงลองนำตัวสัปคับมาประกอบเข้ากับหลังคาจั่วก็ปรากฏว่าเข้าคู่กันได้พอดี ตัวสัปคับหรือที่นั่งทำจากไม้ลงรักปิดทองประดับกระจก พนักพิงและไม้ประดับด้านหน้าฉลุลายดอกพุดตานใบเทศ ดูจากรูปทรงและการแกะสลักน่าจะทำขึ้นสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงต้นรัชกาลที่ 5 สันนิษฐานว่าเป็นสัปคับของพระบรมวงศานุวงศ์ เครื่องใช้หลายอย่างหรือแม้แต่เครื่องประดับตกแต่ง เช่น เครื่องโลหะ เสื้อผ้า ราชยาน สัปคับหลังช้าง สามารถบอกถึงศักดิ์หรือชั้นยศของผู้ใช้ซึ่งบัญญัติไว้ตั้งแต่สมัยอยุธยาได้ ยกตัวอย่างเช่น สัปคับที่มีพนักตรงกับสัปคับที่พนักโค้งเรียวก็สำหรับผู้ใช้คนละชั้นยศกัน”

ที่สุดแห่ง...พิพิธภัณฑ์ฯ พระนคร 10 โบราณวัตถุชิ้นเยี่ยมจากนับแสนชิ้น ที่ต้องนำมาจัดแสดงให้คนไทยชื่นชม

ที่สุดแห่ง...พิพิธภัณฑ์ฯ พระนคร 10 โบราณวัตถุชิ้นเยี่ยมจากนับแสนชิ้น ที่ต้องนำมาจัดแสดงให้คนไทยชื่นชม

6. บานประตูไม้จำหลักรูปทวารบาล

จัดแสดงที่มุขเด็จตะวันตก พื้นที่ส่วนหลังสุดของอาคารหมู่พระวิมาน “บานประตูวิหารวัดจำปา อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ศิลปะปลายอยุธยา บานประตูข้างหนึ่งจำหลักรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ อีกข้างจำหลักรูปทวารบาลยักษ์ถือกระบองยืนบนไหล่ยักษ์บริวาร สื่อความหมายผู้พิทักษ์ประตู พิทักษ์พระศาสนาไม่ให้สิ่งชั่วร้ายล่วงผ่านเข้ายังพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ภายใน บานประตูคู่นี้แสดงถึงเอกลักษณ์งานช่างตอนปลายอยุธยาชัดเจน คือ การแกะสลักที่เห็นมิติชัด ความลึก ความนูน ซึ่งต่างจากงานยุคหลังที่จะค่อนข้างแบนเป็นระนาบเดียวกัน และลักษณะของมงกุฎของพระอินทร์และยักษ์ที่ไม่แหลมสูง คล้ายคลึงเทริดโนราของทางใต้ นอกจากนั้นยังมีลายก้านขดช่อหางโตซึ่งเป็นรูปแบบที่เป็นนิยมในสมัยอยุธยาตอนปลาย”

7. แผ่นเงินและแผ่นทอง

เป็นไฮไลต์สำคัญของห้องลพบุรี ห้องจัดแสดงที่เพิ่งปรับปรุงเสร็จล่าสุดภายในอาคารมหาสุรสิงหนาท เปิดให้บริการหมาดๆ เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับอิทธิพลวัฒนธรรมเขมรโบราณในประเทศไทยราวพุทธศตวรรษที่ 12-18 เป็นโอกาสให้แผ่นเงินและแผ่นทองที่เก็บอยู่ในคลังมาแสนนานได้ปรากฏตัวต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก “แผ่นเงินและแผ่นทองนี้ดุนลวดลายมงคล เช่น หอยสังข์ หม้อน้ำ ดอกบัว 8 กลีบ วัชระ (สายฟ้า) พบที่ซุ้มประตูระเบียงคด ปราสาทพิมาย จังหวัดนครราชสีมา แผ่นโลหะเหล่านี้นอกจากดุนลวดลายมงคล ยังมีจารึกข้อความอาทิ ฤทธิ (ฤทธิ-อำนาจ) ชย (ชัยชนะ) สฺวสฺติ (สวัสดี-ความร่งเรือง) เข้าใจว่าเป็นสิ่งของบรรจุในพิธีกรรมบางอย่าง เช่นเดียวกับวัตถุมงคลที่บรรจุในแท่นศิลาฤกษ์ใต้รูปเคารพต่างๆ ตามคติของศาสนสถานวัฒนธรรมเขมร เพื่อเพิ่มพลังอำนาจ สร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้รูปเคารพหรือตัวอาคารนั้นๆ”

ที่สุดแห่ง...พิพิธภัณฑ์ฯ พระนคร 10 โบราณวัตถุชิ้นเยี่ยมจากนับแสนชิ้น ที่ต้องนำมาจัดแสดงให้คนไทยชื่นชม

8. จารึกลานทอง วัดมหาธาตุ

จัดแสดงในห้องสุโขทัย อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ เป็นโบราณวัตถุที่เพิ่งนำออกจากคลังมาจัดแสดงเป็นครั้งแรก “จารึกลานทองนี้พบในกรุเจดีย์ทรงดอกบัวตูมด้านหลังอุโบสถวัดมหาธาตุ จังหวัดเพชรบูรณ์ มีทั้งหมด 3 แผ่น เป็นศิลปกรรมสมัยสุโขทัย สันนิษฐานว่าทำขึ้นเพื่อประกาศการทำบุญ ขนาดของแผ่นทองที่มีทั้งเล็กและใหญ่สะท้อนถึงกำลังทรัพย์ของเจ้าศรัทธาแต่ละคน สิ่งที่น่าสนใจคือข้อความอักษรไทยที่จารบนแผ่นทองระบุชื่อเมืองเพชรบุระ ซึ่งถือเป็นหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดที่พูดถึงเมืองเพชรบูรณ์ และเป็นสิ่งยืนยันว่าพื้นที่ตรงนั้นชื่อเพชรบูรณ์มาแต่โบราณ”

ที่สุดแห่ง...พิพิธภัณฑ์ฯ พระนคร 10 โบราณวัตถุชิ้นเยี่ยมจากนับแสนชิ้น ที่ต้องนำมาจัดแสดงให้คนไทยชื่นชม

9. สมุดภาพจับรามเกียรติ์

จัดแสดงที่ห้องธนบุรี-ต้นรัตนโกสินทร์ อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ สมุดภาพจับรามเกียรติ์อายุกว่า 200 ปี ถือเป็นโบราณวัตถุสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่อยู่ในสภาพดีเหลือเชื่อ สีที่วาดยังสดสวยเหมือนใหม่บ่งบอกว่าได้รับการเก็บรักษาเป็นอย่างดี “สมุดไทยขาวกระดาษข่อย เขียนสีฝุ่นปิดทองทั้งสองด้านของสมุด เป็นภาพจับเรื่องรามเกียรติ์ ภาพจับหมายถึงกิริยาของตัวละครเป็นคู่ๆ แตะเนื้อต้องตัวกัน ต่อสู้กันในลักษณะประชิด เช่น พระรามสู้กับทศกัณฐ์ ตัวลิงจับกับตัวยักษ์ เป็นต้น ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าเขียนภาพขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ใด อาจจะเป็นตัวแบบให้ช่างดูเพื่อไปสร้างงานอื่นๆ ต่อ หรือเขียนเพื่อแสดงฝีมือก็เป็นไปได้เช่นกัน ข้อที่น่าสังเกตคือการให้สี ลักษณะเครื่องประดับ การแต่งกาย เช่น สีตัวยักษ์​ มงกุฎที่สวม แตกต่างจากสีขนบของรามเกียรติ์แบบที่ยึดกันภายหลัง”

ที่สุดแห่ง...พิพิธภัณฑ์ฯ พระนคร 10 โบราณวัตถุชิ้นเยี่ยมจากนับแสนชิ้น ที่ต้องนำมาจัดแสดงให้คนไทยชื่นชม

10. ตราประทับงาช้างนพรัตน์มุรธา

จัดแสดงในห้องธนบุรี-ต้นรัตนโกสินทร์ ตราประทับงาช้างนพรัตน์มุรธาเป็นตราของเจ้าพระยาพลเทพ เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ อายุราว 200 ปีมาแล้ว แกะลวดลายต่างๆ เช่น ตราเทพดาทรงเครื่องยืนบนแท่นถือเส้นเชือก สำหรับใช้สั่งการรังวัดที่นาและสอบเขตที่นาซึ่งมีกรณีพิพาท และใช้สำหรับการพระราชทานที่นาให้ผู้มีบำเหน็จความชอบ ตราเทพดาทรงเครื่องยืนบนแท่นถือไม้ปฏัก สำหรับสั่งการไปนำโค กระบือจ่ายหญ้า ตราพระกาฬทรงเครื่องขี่นาคราช สำหรับใช้สั่งประหารชีวิตเสนาหัวเมือง เป็นต้น “ตราเหล่านี้ใช้สำหรับประทับในเอกสารของกระทรวง เป็นตราประเพณีแบบไทยที่มียอดทรงแหลม มีเครื่องหมายบอกตำแหน่งด้านบน หน้าของตราประทับมีลักษณะโค้ง ไม่ได้ตัดเรียบ แสดงว่าใช้ประทับบนกระดาษนุ่มและบาง เช่น กระดาษเพลาหรือกระดาษสาแผ่นบาง”

ไม่เพียงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ฉบับปรับปรุงใหม่ จะเต็มเปี่ยมด้วยชั้นเชิงของเรื่องเล่าและกลวิธีการนำเสนอที่สวยงามและน่าสนใจแล้ว แต่งานหลังบ้านที่ถือเป็นหัวใจหลักของการพัฒนาองค์ความรู้ก็ดำเนินไปอย่างไม่หยุดยั้ง กรมศิลปากรเดินหน้าจัดสร้างคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งใหม่ที่ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เพื่อทำหน้าที่จัดเก็บ อนุรักษ์​ ศึกษาพัฒนาองค์ความรู้ ตลอดจนการจัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุตามมาตรฐานสากล คาดว่าจะเปิดให้บริการเพื่อการศึกษาค้นคว้าได้ในปีนี้ และในอนาคตจะมีการให้บริการสืบค้นแบบออนไลน์อีกด้วย

หมายเหตุ : *หนังสือเรื่อง ‘สาส์นสมเด็จ’ รวบรวมลายพระหัตถ์โต้ตอบกันระหว่างสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เนื้อหากล่าวถึงสิ่งที่ทั้งสองพระองค์ทรงสนพระทัย ทั้งด้านศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ โบราณคดี วรรณคดี ตลอดจนเรื่องการปกครอง และองค์ความรู้แขนงต่างๆ-กองบรรณาธิการ

Tags: