About
BUSINESS

Local Delight

Torry’s ไอศกรีมจากขนมพื้นเมืองที่หวังปั้นแบรนด์ให้ภูเก็ตไปไกลทั่วโลก

เรื่อง เปรมวดี ปานทอง Date 26-09-2022 | View 2865
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • Torry’s Ice cream ร้านไอศกรีมพรีเมียมโฮมเมดในย่านเมืองเก่าที่ได้แรงบันดาลใจจากความทรงจำวัยเด็กของ ทอร์รี วงศ์วัฒนกิจ หนุ่มนักเรียนนอกผู้ปรารถนาจะถ่ายทอดวัฒนธรรมความเป็นภูเก็ตผ่านไอศกรีม ด้วยการนำขนมพื้นเมืองมาแปลงเป็นรสชาติไอศกรีม พร้อมการนำเสนออย่างสร้างสรรค์
  • นอกจากความยูนีคของรสชาติแล้ว เจ้าของร้านยังทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อสร้างความยั่งยืนและเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยมีคอนเซ็ปต์เสิร์ฟคุณภาพระดับพรีเมียม ด้วยโอศกรีม 80% เป็นออร์แกนิกที่สามารถแทร็คดูต้นทางได้จริง
  • เจ้าของตั้งเป้าจะ Branding The Nation นำความเป็นภูเก็ตสู่นานาประเทศเหมือนญี่ปุ่นและเกาหลีสร้างแบรนด์ให้ตัวเอง

บี๊โก่หมอย บี๊ถ่ายบ๊าก อ่าโป๊ง ต่าวซ้อ ก้องถึง พ่างเปี๊ยะ…

ชื่อแปลกๆ ที่ว่ามานี้ไม่ใช่แค่ขนมพื้นเมืองภูเก็ต แต่นี่คือรสชาติดับร้อนพ่วงความอร่อยแบบท้องถิ่นของ Torry's Ice cream ร้านไอศกรีมพรีเมียมโฮมเมดในย่านเมืองเก่าที่ได้แรงบันดาลใจจากความทรงจำวัยเด็กของ ทอร์รี วงศ์วัฒนกิจ หนุ่มนักเรียนนอกผู้ปรารถนาจะถ่ายทอดวัฒนธรรมความเป็นภูเก็ตผ่านไอศกรีม เพิ่มมูลค่าให้สินค้าท้องถิ่นบนพื้นฐานของความยั่งยืน ตลอดจนการปั้นแบรนด์แทนประเทศ (Branding The Nation)

tor 23

ด้วยความยูนีคทั้งหน้าตาและรสชาติกว่า 70 ชนิด ใส่ใจในทุกในรายละเอียด ทำให้ไอศกรีมสัญชาติไทยแบรนด์นี้เข้าไปนั่งในใจลูกค้าได้ทันทีที่เปิดตัวและต่อเนื่องมาจนก้าวสู่ปีที่ 8 ในปัจจุบัน ช่วงพีคๆ มีคิวออร์เดอร์ทุกวินาทีนับจากเปิดยันปิดร้านและยังมีระบบคิวแบบธนาคารจนถึงทุกวันนี้ ผ่านการต้อนรับดารา เซเลปคนดังมาแล้วมากมาย

เปิดตัวด้วยวีแกนไอศกรีม

“หลังจากคุณพ่อเสีย ผมตัดสินใจย้ายกลับมาอยู่กับแม่และคิดว่าจะทำอะไรดี คุยกันเล่นๆ กับพี่สาวว่าภูเก็ตเป็นเมืองร้อนและบ้านเราก็ชอบกินไอติม สุดท้ายก็ลงเอยที่ความชอบของครอบครัว” ทอร์รี่ ตอบแบบไม่ต้องคิดเมื่อเราเปิดบทสนทนาด้วยคำถามว่า ทำไมคนหนุ่มไฟแรงที่จบและทำงานทางด้าน Art & Design ที่อเมริกาถึงหันมาทำธุรกิจไอศกรีม

ตอนนั้นเมืองไทยยังไม่มีแบรนด์ไอศกรีมมากเฉกเช่นทุกวันนี้ มองเห็นโอกาสเจาะตลาดไอศกรีมพรีเมียมได้ดั่งใจ โดยวาดฝันไว้ที่การขายส่งโรงแรม ร้านอาหารทั่วประเทศ เป็นดังนั้นเขาจัดแจงลงคอร์สเรียนเกี่ยวกับ Food Science for Ice Cream ที่มหาวิทยาลัย Penn State แหล่งสอนทำไอศกรีมที่เก่าแก่ที่สุดในสหรัฐเพื่อเสริมความรู้นอกเหนือจากทักษะที่มีติดตัวจากการทำเบเกอรีและไอศกรีมโฮมเมดขายเป็นรายได้เสริมตั้งแต่ไปเรียนต่างแดนใหม่ๆ ในวัย 15 ปี ต่อด้วยไปดูงานเกี่ยวกับเจลาโตที่อิตาลี แล้วคิดสูตรร่วมกับพี่สาวที่แยกกันไปเรียนเพิ่มเติมเช่นกัน

เพียง 2 สัปดาห์หลังกลับถึงภูเก็ต เขาไม่พูดพร่ำทำเพลงเปิดตัว ‘Torry’s Ice cream’ ครั้งแรกในงานเทศกาลกินเจ ด้วยการออกบูธเล็กๆ หน้าอ๊าม (ศาลเจ้า) หลักของจังหวัด เมื่อทุกอย่างถูกเตรียมการไว้หมดแล้วตั้งแต่ 6 เดือนก่อนกลับ ไม่ว่าจะเป็นโลโก้ ภาชนะใส่ รวมถึงเครื่องทำไอติมขนาดเล็กนำเข้าจากอิตาลีราคา 2 แสนกว่าบาท แต่ทำได้แค่ครั้งละ 10 ก้อนเพื่อคุณภาพความเป็นพรีเมียมจริงๆ

“งานกินเจภูเก็ตถือเป็นเทศกาลยิ่งใหญ่ที่สุดประจำจังหวัด หากต้องการให้เป็นที่รู้จักเราต้องโชว์ให้เห็นว่าจะทำวีแกนไอศกรีมให้อร่อยได้ยังไง โชคดีของเมืองไทยที่มีผักผลไม้มากมาย ทำให้รสชาติออกมาสดโดยไม่ต้องแต่งสีแต่งกลิ่น ตอนนั้นยังไม่พนักงาน ผลิตเอง ขายเองตั้งแต่เช้าจนถึงเที่ยงคืนตลอด 9 วัน ปรากฎว่าสต็อกที่เราเตรียมไว้สำหรับตลอดงานขายหมดภายในวันเดียวตั้งแต่วันแรก จนพี่สาวต้องลางานเพื่อมาทำไอติมต่อเนื่อง 64 ชม.แบบแทบไม่ได้พักเลย”

tor 25

ทอร์รี วงศ์วัฒนกิจ

tor 6

ยกระดับขนมพื้นเมือง

การเปิดตัวด้วยรสชาติถูกปากคุณภาพโดนใจในวันนั้นส่งผลให้ออร์เดอร์ขายส่งจากโรงแรม ร้านอาหารต่างๆ ก็เริ่มเข้ามาต่อเนื่องตามเป้าหมายที่วางไว้ พร้อมต่อยอดสู่แคทเทอริงอีเวนต์ งานแต่งงาน และขยายฐานลูกค้าโฮลเซลไปยังวงการคาเฟ่ ทำแบบนั้นอยู่ประมาณ 1 ปี เขามักจะเฝ้าถามตัวเองว่านอกจากการทำไอศกรีมแล้ว เขาทำอะไรได้อีกบ้างในฐานะเด็กภูเก็ตคนหนึ่ง

tor 17

เจ้าของแบรนด์ทอร์รี่ ไอศกรีมเล่าว่าเขาเกิดที่นี่ โตมากับขนมอ่าโป๊ง โอวเอ๋ว ปอเปี๊ยะ โลบะ และอีกมากมาย ก่อนได้มีโอกาสไปเรียนต่างประเทศร่วม 10 ปี เมื่อกลับรู้สึกว่าขนมพื้นเมืองเหมือนจะค่อยๆ หายไป เพราะเด็กรุ่นใหม่ไม่กินกันแล้ว มันเชย อยากกินเค้ก ครัวซองที่ทันสมัยมากกว่า เลยเกิดไอเดียอยากเอาขนมเหล่านี้มาเล่าเรื่องใหม่ผ่านไอศกรีมโดยยังคงรสชาติดั้งเดิม เพื่อชวนให้คนกลับมาคุณค่าขนมพื้นเมืองภูเก็ตและรักษาไว้ให้นานที่สุด

tor 22

“เมื่อเปรียบเทียบกับญี่ปุ่น ทำไมเขาขายขนมได้แพง ทั้งที่ขนมของเราทำยากมากแต่ขายได้แค่ 5 บาท 10 บาท ด้วยเหตุนี้ทำให้เด็กรุ่นใหม่ไม่อยากสานต่อธุรกิจพวกนี้เพราะทำไปก็ไม่รวย เพราะฉะนั้นเราต้องปรับสแตนดาร์ดขนมพื้นเมืองใหม่ให้มีมูลค่ามากขึ้น”

นั่นคือจุดเริ่มต้นของร้าน Torry’s Ice cream ภายใต้ตึกสีชมพูหวานเด่นในซอยรมณีย์ ย่านเมืองเก่าภูเก็ต

tor 28

โอ๊เอ๋ว

 

สิ่งที่พวกเขาทำคือการนำขนมพื้นเมืองบางอย่างมาทำเป็นรสชาติไอศกรีม เช่น ต่าวซ้อ ขนมพริก โอ๊วเอ๋ว อ่าโป๊ง ส่วนอะไรที่มีข้อจำกัดไม่สามารถนำมาแปลงเป็นไอศกรีมได้ ก็นำมา pairing แทน กับรูปแบบการนำเสนอที่แฝงด้วยกลิ่นอายความเป็นภูเก็ตทั้งในแง่ของสถาปัตยกรรม การตกแต่งหรือแม้แต่ลวดลายในข้าวของเครื่องใช้

tor 4

tor 24

ต่าวซ้อ

ก้าวไปอย่างยั่งยืน

ไอศกรีม X ขนมพื้นเมือง… ฟังดูน่าจะเข้ากันได้ไม่ยาก แต่กว่าจะลงตัวก็ไม่ง่ายเช่นกัน

“บางครั้งเราชิมตอนแรกแล้วอร่อย แต่พอเอาไปแช่กลับออกมารสชาติเพี้ยนไปจากเดิม ก็ต้องปรับกันใหม่เรื่อยๆ กว่าจะลงตัว หรือบางอย่างก็ต้องใช้เวลา หลากหลายขั้นตอน เช่น ต่าวซ้อ ต้องใช้เวลาถึง 5 วันกว่าจะออกมาเป็นไอติมรสต่าวซ้อที่นำมาอัดโมซิลิโคนเป็นลูกๆ เสิร์ฟในกล่องให้ความรู้สึกเหมือนกับขนมต่าวซ้อจริงๆ”

tor 19

นี่ยังไม่รวม R&D (Research and Development) ที่ทำงานกันค่อนข้างหนักสำหรับการจับคู่ขนมกับรสชาติไอศกรีมให้เข้ากันมากที่สุดในส่วนของตัวที่ไม่สามารถแปลงเป็นรสชาติได้ อย่างเช่น ก้องอาเปี๊ยะ หรือขนมตุ๊กตาที่หลายคนเข้าใจว่าชื่อขนมปลา ไม่สามารถนำแป้งตัวนี้ลงไปผสมในไอศกรีมได้เพราะจะแข็งจนกินไม่ได้ แต่เสิร์ฟในเมนูซิกเนเจอร์ ซันเดย์ ทานคู่กับไอศกรีมซี่ต่าวซ้อ (ขนมหน้าแตก) และก้องถึง (ขนมตุ๊บตั๊บ)

“หลายคนคิดว่าเรารับขนมมาขาย แต่จริงๆแล้วเรามีครัวอบขนมพื้นเมืองโดยเฉพาะ 90 เปอร์เซนต์ของเมนูเราทำเองทั้งหมดทุกขั้นตอน ส่วนอีก 10 เปอร์เซ็นต์รับมาจากชุมชน เพราะสถานที่ไม่เหมาะอย่างเช่น ขนมถั่วทอด หรือ อ่าโป๊ง ที่ต้องทอดและใช้เตาถ่าน อีกเหตุผลคือการสร้างความยั่งยืนและเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ไปด้วยกัน เพราะนั่นหมายความว่าเราได้ช่วยให้พวกเขามีรายได้ประจำและต่อชีวิตให้ขนมพวกนี้อยู่ได้นานขึ้น หากเราทำให้เด็กรุ่นหลังเห็นได้ว่าการขายขนมพื้นเมืองก็มีอนาคต มันก็จะไม่มีวันหายไปไหน”

ความยั่งยืนในที่นี้ยังไม่ได้จำกัดแค่การอนุรักษ์คุณค่าของขนมพื้นเมือง แต่รวมถึงการทำงานร่วมกับชุมชนในพื้นที่ เช่น ชุมชนสับปะรด เปลี่ยนจากปัญหาผลผลิตล้นตลาดนำมายืดอายุโดยแปลงเป็นไอศกรีม ชุมชนนมแพะ โดยนำนมสดๆ จากฟาร์มมาพาสเจอไรซ์ฆ่าเชื้อทำออกมาเป็นไอศกรีมนมแพะ หรือโปรเจ็กต์ล่าสุด ไอศกรีมรสช็อกโกแลตจากไร่ในภูเก็ต เพิ่งวางขายได้เพียง 6 เดือน รวมถึงการออกแบบแพคเกจจิ้งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำปิ่นโตมื้อเที่ยงให้พนักงานในร้าน เศษอาหารนำไปทำปุ๋ยกลับมาใส่ต้นไม้ในร้าน เพื่อลดขยะให้มากที่สุด

tor 27

อ่าโป๊ง

การตลาดแบบปากต่อปาก

จากจุดเริ่มต้นเพียง 5 โต๊ะกับเมนูกว่า 50 รสชาติในวันแรก Torry’s Ice cream เพิ่มเป็น 10 โต๊ะกับเมนูใหม่อีกมากมายหลังผ่านไป 1 ปีครึ่ง ด้วยกระแสตอบรับแน่นร้านทุกวัน มีงานแคทเทอริ่ง อีเวนต์ไม่ขาดสาย แถมขายส่งไปทั่วประเทศ ก่อนใช้เวลา 4 ปีขยายอีก 2 สาขาคือ Drive-Thru กับ Sound gallery House โดยไม่เคยใช้เงินเพื่อการโปรโมทแม้แต่บาทเดียว

tor 1

“เราเน้นการตลาดแบบปากต่อปาก อยากให้เป็นออร์แกนิก และบอกต่อกับด้วยความประทับใจกับสิ่งที่เรานำเสนอและเห็นคุณค่าจริงๆ” ทอร์รี่ อธิบาย

tor 8

นอกจากความยูนีคแล้ว อีกจุดขายที่ทำให้ความนิยมของไอศกรีมแบรนด์นี้ยังอยู่ต่อเนื่องคือการไม่ต่อรองคุณภาพ 80 เปอร์เซ็นต์เป็นไอศกรีมออร์แกนิก วัตถุดิบหลักในไอศกรีม ไม่ว่าจะเป็นนม น้ำตาล วิปครีม ทุกอย่างเป็นออร์แกนิกหมด ไอศกรีมรสผลไม้ก็ยึดคอนเซ็ปต์ตามธรรมชาติ หมายความว่ามะม่วงมาเปรี้ยว-หวานก็เสิร์ฟเช่นนั้น ไม่มีแต่งสี เติมรส เติมกลิ่นใดๆ ทั้งสิ้น

ที่สำคัญคือลูกค้าสามารถแทร็คดูที่มาที่ไปได้จากคิวอาร์โค้ดในเมนูได้หมด เช่น ถั่วแดงนี้มาจากไหน ทำออร์แกนิกมาแล้วกี่ปี เก็บวันไหน ส่งวันไหน เพื่อสร้างความมั่นใจว่า ออร์แกนิกแท้แน่นอน

tor 26

บี๊โก่หมอย

“คุณแม่สอนเสมอว่า ถ้าคิดจะทำของกินแล้วจะต้องทำเหมือนที่บ้านเรากิน ไม่ใช่ทำอะไรชุ่ยๆ ให้ลูกค้ากิน เหมือนเมนูขายดีของร้านอย่าง บี๊โก่หมอย ที่เป็นตัวข้าวเหนียวดำ นอกจากจะคัดข้าวที่ดีที่สุดมาแล้ว คุณแม่ก็ยังลงมือทำเองทุกเช้ามาจนถึงทุกวันนี้”

tor 2

tor 9

Rebranding พาวัฒนธรรมภูเก็ตสู่นานาชาติ

แน่นอนว่าวิกฤตโควิด-19 พวกเขาได้รับผลกระทบเต็มๆ ไม่ต่างกัน จากเคยมีคิวตั้งแต่นาทีแรกที่เปิดร้าน โต๊ะเต็มทุกวัน เหลือยอดขาย 0 บาท วันที่ขายได้มากสุดแค่ 200 บาท สุดท้ายอีก 2 สาขาที่ Drive-Thru กับ Sound gallery House ต้องปิดตัวลง

วันนี้ก้าวสู่ปีที่ 8 Torry’s Ice cream ถือโอกาสปรับภาพลักษณ์ครั้งใหม่ แต่ยังคงความดั้งเดิม ต้อนรับบรรยากาศการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นกลับมา

ความตั้งใจครั้งใหม่แต่ยังคงความออริจินัลครั้งนี้ มีการปรับใหม่หมดตั้งแต่โลโก้ ยูนิฟอร์ม ทิชชู ไปจนถึงเมนู

tor 5

“สิ่งที่เราคิดเมื่อ 7 ปีที่แล้วมันเชยแล้ว ไม่ตอบโจทย์ personality ของเราแล้ว โลโก้ใหม่จะดูเหมือนแบรนด์ยุโรป แต่พอมองเข้าไปข้างในรายละเอียดจะเป็นภูเก็ตทั้งหมด โดยสร้างคาแรกเตอร์ขึ้นมาเป็นครอบครัว”

tor 7

อย่างตัวแพะในชุดทันสมัยกลัดปิ่นตั่ง เครื่องประดับพื้นเมืองกลัดที่หน้าอก มีลูกโลก เรือสำเภาร่วมด้วย เปรียบเสมือน ทอร์รี ที่ได้จากบ้านออกไปท่องโลกและกลับมาภูเก็ต ส่วนจระเข้ใส่ชุดนายเหมืองยืนหน้าร้านคือคุณพ่อ ผู้เกิดในตระกูลเข้และชอบกินไอศกรีม ตัวแมวกำลังทำขนมเป็นตัวแทนคุณแม่ชื่อแมวผู้เสียสละตื่นเ เป็นคนทำขนมบี๊โก่หมอย รูปนกในชุดบาบ๋าย่าหยาคือพี่สาว ที่รักอิสระและอินกับความเป็นภูเก็ต สุดท้ายภูเก็ตล็อบสเตอร์เป็นตัวแทนของพนักงาน ซึ่งเป็นแรงหลักขับเคลื่อนองค์กร

tor 13

tor 16

ภูเก็ต…ที่โลกต้องคิดถึง

การรีแบรนดิ้งครั้งนี้ยังมีพาร์ทใหม่ที่เพิ่มเข้ามาคือ การขายขนมพื้นเมืองที่เป็นของฝาก สามารถซื้อกลับพร้อมกล่องรักษ์โลกที่ได้แรงบันดาลใจจาก Tin box เก็บเข็มกับด้ายของคุณแม่ และการออกแบบจานใหม่ที่ประกอบด้วยตัวคาแรกเตอร์ของร้าน และบทกลอนที่เขียนโดย Copywriter จากอังกฤษให้อ่านหลังกินไอศกรีมหมด

วิสัยทัศน์ของทอร์รีคือต้องการถ่ายทอดความเป็นภูเก็ตไปสู่นานาประเทศ

tor 11

tor 12

“ทำไมเรารู้ว่าไปฝรั่งเศสต้องไปซื้อมาการองที่ลาดูเร่ทั้งที่ไม่เคยไป หรือไม่เคยไปอังกฤษแต่ทำไมรู้ว่าต้องเดินห้างแฮร์รอดส์ ผมอยากสร้างที่นี่แลนด์มาร์กของภูเก็ตและแบรนด์เดอะเนชันตัวเอง”

tor 3

“สิ่งที่ประเทศไทยขาดตอนนี้คือแบรนดิ้งเดอะเนชัน ดูอย่างเกาหลี เขาสร้างภาพลักษณ์ประเทศตัวเองเป็นเหมือนหนึ่งแบรนด์ให้เราอยากกินอาหาร ดูซีรีส์ อยากเต้น อยากผิวพรรณเหมือนคนเกาหลี แต่เราไม่มี เราเป็นแค่ร้านเล็กๆ สิ่งที่ทำได้คือจังหวัดตัวเอง อยากทำให้ภูเก็ตเป็นแบรนด์หนึ่งที่คนอยากมาดูวัฒนธรรม มากินอาหารและจากไปด้วยความสุข” ทอร์รี ฉายภาพเป้าหมายให้เราคิดตามได้อย่างชัดเจน

tor 15

แต่ช่วงเทศกาลกินเจเช่นนี้ Torry’s Ice cream ขอล้างร้านเหมือนล้างอ๊าม เสิร์ฟเมนูไอศกรีมเจ 100% ตลอด 9 วัน โดยยังมีเมนูขายดีอย่าง บี๊โก่หมอย ให้ลิ้มลองเหมือนเดิมเพราะไม่มีส่วนผสมต้องห้ามใดๆ

tor 14

ใครอยากรู้ว่ารสชาติวีแกนไอศกรีมของทอร์รี่เด็ดแค่ไหน ถึงเปิดตัวได้สุดปังตั้งแต่วันแรกเมื่อ 9 ปีก่อน แวะเวียนไปลิ้มลองได้จนถึงวันที่ 4 ต.ค. ส่วนเรื่องเล่าจากการนำเอาเอกลักษณ์ในพื้นที่มาสร้างมูลค่าให้สินค้าน่าจะเป็นโมเดลธุรกิจที่น่าสนใจในยุคที่กระแสท่องเที่ยวต้องการมากกว่าแค่โปรดักส์อย่างเดียว

ขอบคุณภาพ : Torry’s Ice Cream

ที่อยู่ : 16 ซอยรมณีย์ ย่านเมืองเก่า ต.ตลาดใหญ่ อ.เมือง จ.ภูเก็ต 83000
เปิด-ปิด : 10.00-18.00 น. ทุกวัน
โทร : 076 510 888
FB : Torry’s Ice cream

Tags: