- อุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้า ทิ้งผลกระทบไว้บนโลกนี้มากมาย โดยเฉพาะสร้างมลภาวะสูงสุดเป็นอันดับ 2 รองจากอุตสาหกรรมน้ำมัน
- เสื้อผ้าส่วนใหญ่ มีส่วนประกอบของไมโครพลาสติก หรือชิ้นส่วนพลาสติกที่มีขนาดเล็กตั้งแต่ 1 นาโนเมตร ถึง 5 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ และยังทำร้ายสิ่งแวดล้อมในขณะเดียวกัน
- รู้หรือไม่ว่า ยีนส์ผลิตจากฝ้าย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ปัจจุบัน แบรนด์ผู้ผลิตยีนส์หลายแบรนด์ จึงหันมารักษ์โลกโดยเปลี่ยนไปใช้ฝ้ายออร์แกนิกแทน ทำให้ลดปริมาณน้ำที่ใช้ถึง 90%
ในตู้เสื้อผ้าของนักเดินทางค่อนโลกน่าจะมีกางเกงยีนส์แขวนหรือพับอยู่ อย่างน้อยก็ 1 ตัว บ่งบอกถึงความนิยมในการสวมใส่ยีนส์ที่มีประวัติยาวนานกว่า 100 ปี แต่รู้ไหมว่า ยิ่งกางเกงยีนส์ขายดิบขายดี กลับยิ่งทำร้ายโลกมากขึ้น เพราะเบื้องหลังการผลิตยีนส์แต่ละตัวมีน้ำตาซ่อนอยู่
ทำไม ‘ยีนส์’ จึงไม่น่ารักกับธรรมชาติ
ตลอดช่วง 15 ปีที่ผ่านมา การผลิตเสื้อผ้าทั่วโลกเพิ่มขึ้น 2 เท่า มีสัดส่วนราว 60% ของการผลิตสิ่งทอทั้งหมด ปัจจัยสำคัญมาจากกระแสแฟชั่นแบบ “มาเร็ว ไปเร็ว” (fast fashion) แต่ทิ้งผลกระทบไว้บนโลกใบนี้อย่างมหาศาล
ข้อมูลระบุว่า อุตสาหกรรมแฟชั่นสร้างมลภาวะต่อโลกมากเป็นอันดับ 2 รองจากอุตสาหกรรมน้ำมัน เสื้อผ้าส่วนใหญ่มีส่วนประกอบของไมโครพลาสติก นอกจากนี้ ยังใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากมาย และใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต ซึ่งไม่ใช่แค่ทำร้ายโลก แต่ยังทำลายสุขภาพของแรงงานด้วย
โดยเฉพาะการผลิตยีนส์ ที่เป็นมิตรกับโลกน้อยสุด เพราะยีนส์ส่วนใหญ่ผลิตจากฝ้าย ซึ่งมีความต้องการใช้เกือบครึ่งหนึ่งของอุตสาหกรรมเสื้อผ้าทั้งหมด นำไปสู่การทำเกษตรมากเกินพอดี ทำลายความสมบูรณ์ของดิน และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ยีนส์ออร์แกนิก ทางเลือกใหม่ที่ไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม
ที่จริงแล้ว ฝ้ายเป็นเส้นใยจากธรรมชาติ แต่ปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่การใช้น้ำและยาฆ่าแมลงในการปลูก รวมถึงขั้นตอนการทอ การตัดเย็บ ซัก และฟอกสี
นี่เป็นเหตุผลที่หลายๆ แบรนด์เริ่มปรับเปลี่ยนมาใช้ฝ้ายแบบออร์แกนิก ซึ่งใช้น้ำในการผลิตลดลง 91% เทียบกับการผลิตแบบดั้งเดิม
สารคดีเรื่อง Riverblue อธิบายขั้นตอนการผลิตยีนส์ของบริษัทแฟชั่นอเมริกันชั้นนำ พบว่า นอกจากจะใช้น้ำราว 920 แกลลอนในการผลิตยีนส์รุ่นขายดีแต่ละตัวแล้ว ยังใช้พลังงาน 400 เมกะจูลส์ และสร้างคาร์บอนไดออกไซค์ 32 กิโลกรัม
เทียบแล้วเท่าๆ กับการใช้สายยางรดน้ำในสวนนาน 106 นาที ขับรถคิดเป็นระยะทาง 125 กิโลเมตร และใช้งานคอมพิวเตอร์ได้นาน 556 ชั่วโมง
ยีนส์รักษ์โลก ใส่เมื่อไหร่ ก็รู้สึกดี
นอกจากนี้ มีผลการศึกษาพบว่า สารเคมีที่ใช้ฟอกยีนส์มักปนเปื้อนในแหล่งน้ำใกล้แหล่งผลิต อย่างแม่น้ำจูเจียงในจีน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตยีนส์ราว 1 ใน 3 ของโลก และสารเคมีสีน้ำเงินจากการฟอกย้อมก็สามารถมองเห็นได้จากนอกโลกเมื่อดูจากภาพถ่ายดาวเทียมขององค์การนาซ่า
เมื่อปี 2555 กรีนพีซสากล ซึ่งรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม เริ่มเปิดตัวแคมเปญล้างพิษ เพื่อกำจัดสารเคมีที่ใช้ในการผลิตเสื้อผ้าแฟชั่นที่หาซื้อได้ง่าย และมีบริษัทแฟชั่นชั้นนำกว่า 20 แห่ง ให้คำมั่นที่จะสร้างกระบวนการผลิตเสื้อผ้าอย่างยั่งยืนภายในปีนี้ เช่น Levi’s, H&M, Gap
ในแง่การผลิตคงต้องให้เป็นหน้าที่ของแบรนด์ แต่ในฐานะผู้บริโภคเราควรซื้อเสื้อผ้าที่เป็นมิตรกับโลก อุดหนุนแบรนด์ที่ออกคอลเล็กชั่นใหม่ปีละไม่กี่ครั้ง ไม่เน้นแบบมาเร็ว ไปเร็ว และมีขั้นตอนการผลิตที่ตรวจสอบได้ว่าไม่ทำร้ายโลกจนเกินไป ใส่แล้วดีต่อใจ ดีต่อโลก
7 แบรนด์ผู้ผลิตยีนส์ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
Levi’s Wellthread
เวลาพูดถึงยีนส์ หนีไม่พ้นแบรนด์เก่าแก่อย่าง “Levi’s” ที่หันมาจับมือกับ Wellthread และ Re:newcell ซึ่งนำเส้นใยฝ้ายผสมใยกัญชง รวมถึงใช้ฝ้ายออร์แกนิก และวัสดุรีไซเคิล สร้างสรรค์คอลเล็กชั่นยีนส์ที่มีความยั่งยืน
เว็บไซต์ greenmatters.com ระบุด้วยว่า Levi’s เริ่มเอาจริงเอาจังกับการใช้เทคนิคการผลิตที่ยั่งยืน รวมถึงผุดโครงการซื้อคืนกางเกงยีนส์บางรุ่น ที่เรียกว่า Levi’s Secondhand โดยจูงใจให้ลูกค้าขายยีนส์ตัวเก่าแลกกับบัตรกำนัล จากนั้นก็จะนำยีนส์ไปขายต่อบนเว็บไซต์ยีนส์มือสอง Levi’s Secondhand ในราคา 30-150 ดอลลาร์ เรียกว่าเป็นการใช้ประโยชน์จากยีนส์ที่มีอยู่แล้วให้เต็มที่ ไม่ใช่เอะอะก็ซื้อใหม่
Wrap + Weft
แบรนด์นี้ก่อตั้งขึ้นในปี 2560 เน้นออกแบบยีนส์ที่มีความยั่งยืนสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะรูปร่างแบบไหน โดยมีไซส์หลากหลายตั้งแต่ 00-24 รวมถึงมีโรงงานผลิตยีนส์ที่อ้างว่าเป็นมิตรกับโลกติดอันดับต้นๆ และมีการตรวจสอบสม่ำเสมอ แบรนด์นี้ยังซื้อฝ้ายจากแหล่งผลิตที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ใช้กระบวนการฟอกย้อมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดบ้อม มีเทคนิคที่ช่วยประหยัดน้ำและใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์
Everlane
แบรนด์ Everlane ยึดหลักใส่ใจสิ่งแวดล้อม ยีนส์ทุกตัวผลิตจากโรงงานที่ขึ้นชื่อเรื่องเป็นมิตรกับโลก มีการรีไซเคิลน้ำกลับมาใช้ 98% ทำให้ในกระบวนการผลิตยีนส์แต่ละตัวใช้น้ำเพียง 0.4 ลิตร เทียบกับการผลิตแบบเดิมที่เปลืองน้ำราว 1,500 แกลลอน รวมทั้งใช้พลังงานสะอาด
Outland Denim
ผู้ก่อตั้งแบรนด์ได้แรงบันดาลใจจากภาพยนตร์เรื่อง Taken เขาลงทุนเดินทางไปค้นหาความจริงเรื่องการค้ามนุษย์ ก่อนจะทำแบรนด์ยีนส์ขึ้นมา เพื่อให้มีการจ้างงานที่มั่นคงและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจแก่ผู้หญิงที่อยู่ในกลุ่มเปราะบางต่อเรื่องนี้ รวมถึงใช้ฝ้ายออร์แกนิก เทคนิคการซักอย่างยั่งยืน และบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากมันสำปะหลัง สามารถย่อยสลายได้
Reformation
นอกจากจะเป็นแบรนด์ยอดนิยมในอินสตาแกรม Reformation ยังเอาใจกลุ่มคนที่รักษ์โลก ด้วยการผลิตยีนส์ตามความต้องการ รวมถึงใช้ฝ้ายออร์แกนิก ฝ้ายรีไซเคิล และเส้นใยไลโอเซลล์ ซึ่งมีกระบวนการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าและนำกลับมาใช้ใหม่ได้
Reformation เป็นหนึ่งในบริษัทไม่กี่แห่งที่ใช้น้ำเท่ากับศูนย์ รวมทั้งใช้เส้นใยที่ค้างสต็อกแทนที่จะทิ้ง และไม่ใช้สารฟอกย้อมที่เป็นอันตราย อีกทั้งยังสนับสนุนองค์การด้านการกุศลเพื่อประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อม
Ética
แบรนด์นี้เน้นผลิตยีนส์ที่มีความยั่งยืนและเป็นมิตรกับโลก โดยที่ยังดูคูลและร่วมสมัย ไม่จำเป็นต้องเชย Ética ใช้น้ำในการผลิตลดลง 99% ใช้พลังงานลดลง 63% และใช้เทคโนโลยีเลเซอร์ที่ลดการใช้สารเคมีลง 70% จากมาตรฐานทั่วไป สำหรับน้ำในการผลิตก็จะถูกรีไซเคิลกลับไปใช้ในฟาร์ม และใช้หินในขั้นตอนการซัก ทำให้ได้สีที่ซีดลงและเนื้อผ้านุ่มขึ้น
Cone Denim
แบรนด์นี้เปิดตัวยีนส์ทำความสะอาดตัวเอง (Self-Clean Jean) ซึ่งช่วยประหยัดน้ำ และลดการปล่อยไมโครไฟเบอร์สู่สิ่งแวดล้อม โดยใช้เทคโนโลยี “ไอโอนิก พลัส” ที่ปล่อยไอออนประจุบวกไว้ในเส้นใย ช่วยยับยั้งการเติบโตของแบคทีเรียและจุลินทรีย์บนผ้า ทำให้ยีนส์ยังสะอาดและไม่มีกลิ่น ไม่จำเป็นต้องซักบ่อยๆ
ที่มา
- https://hellogiggles.com/fashion/sustainable-denim
- https://www.greenmatters.com/p/levis-secondhand
- https://www.ecotextile.com/2020102626909/materials-production-news/cone-denim-launches-self-cleaning-jeans.html