About
BUSINESS

Beyond Organic

DiStar Fresh Farm สตาร์ตอัพฟาร์มผักปลอดสารพิษระบบปิดที่การันตีว่าสะอาดยิ่งกว่าการล้าง

เรื่อง Nid Peacock ภาพ ฉัตรชัย มาตยภูธร Date 06-11-2023 | View 4291
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • สตาร์ตอัพ Plant Factory ของสองหนุ่มไทยผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรกรรมแนวตั้ง ปลูกผักในห้องปลอดเชื้อที่สร้างจากวัสดุฟู้ดเกรดทั้งหมด ใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีควบคุมสภาพแวดล้อม เก็บสด…ส่งไว เพื่อคงเอนไซม์และวิตามินไว้ให้มากที่สุด

คุณเป็นคนหนึ่งหรือเปล่าที่....

กินอาหารคลีนเพราะเชื่อว่าจะทำให้มีสุขภาพดี

พร้อมจ่ายแพงกว่าถ้าเป็นออร์แกนิก

ล้างผักผลไม้ด้วยการแช่ด่างทับทิม เบกกิงโซดา น้ำส้มสายชู หรือเกลือ ฯลฯ

เลือกปอกเปลือกผักผลไม้ทุกครั้งก่อนกิน

ซื้อผักที่มีรอยกัดแทะของแมลงเพื่อยืนยันว่าปลอดสารเคมีในระดับหนึ่ง

ถ้าคำตอบคือใช่ แม้เพียงข้อเดียว คุณอาจกำลังเสี่ยงมีสารพิษตกค้างและสะสมในร่างกายโดยไม่รู้ตัวจากยาฆ่าแมลงที่อยู่ในผักผลไม้ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้

ONCE พามา DiStar Fresh Farm อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี เยือนโรงเรือนปลูกผักสุดไฮเทคขนาด 400 ตารางเมตร ที่มีกำลังการผลิตสูงถึงเดือนละ 10 ตัน เทียบเท่ากับการปลูกบนที่ดิน 20 ไร่ โดยสองผู้เชี่ยวชาญการทำเกษตรกรรมแนวตั้งของเมืองไทย อ๊อก - กฤษณะ ธรรมวิมล กับ เชน - สานสิน ศรีภิรมย์รักษ์ ซึ่งเป็นผู้บริหารของบริษัท ไดสตาร์ เฟรช จำกัด จะเล่าความเป็นมาของธุรกิจและไขข้อสงสัยว่า ทำไมเช็กลิสต์ข้างบนที่หลายคนเชื่อว่าทำแล้วจะดีต่อสุขภาพ ถึงกลับตาลปัตรได้ผลลัพธ์ตรงกันข้ามอย่างนั้น

DiStar Fresh Farm

อ๊อก – กฤษณะ ธรรมวิมล กับ เชน – สานสิน ศรีภิรมย์รักษ์ ซึ่งเป็นผู้บริหารของบริษัท ไดสตาร์ เฟรช จำกัด

… 1 …
จากวิศวกรสู่คนปลูกผัก

เมื่อ 9 ปีก่อน อ๊อกได้ไปดูงานที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ได้เห็นห้องแล็บเล็กๆ ของโปรเฟสเซอร์ท่านหนึ่งที่ทำวิจัยเกี่ยวกับหลอด LED สีฟ้าที่ใช้ปลูกผัก จุดประกายไอเดียให้เขากลับมาทำฟาร์มผักแบบ Plant Factory หรือการปลูกพืชระบบปิดในแนวตั้งที่ควบคุมปัจจัยการปลูกที่เชียงใหม่บ้านเกิด ด้วยการสนับสนุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เปิดหลักสูตรให้ผู้ประกอบการหาอาชีพใหม่ (New S-curve) โดยมีเงื่อนไขว่าต้องตอบโจทย์ 3 ข้อ คือ ต้องเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีในเมืองไทย ต้องเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค และต้องใช้วิชาชีพดั้งเดิมของตัวเองมาต่อยอดกับ GDP อันดับแรกของจังหวัด แล้วสร้างเป็นอาชีพใหม่ขึ้นมา

“ไม่เคยนึกว่าการปลูกผักจะใช้ความรู้ด้านวิศวะขนาดนี้ ช่วยให้ผมเรียนรู้ด้านการเกษตรได้ง่ายมาก เพราะเรามีทักษะการคำนวณบางอย่าง โดยเฉพาะเรื่องแสง เช่น แสงมีคุณสมบัติทำอนุภาคกับคลื่น พืชสังเคราะห์แสงด้วยคุณสมบัติอนุภาคของแสง มีการสอดแทรกการกระจายแสง ถ้าไม่มีความรู้ด้านวิศวะอาจจะไม่เข้าใจ แต่เราสบายมาก” อ๊อกเล่าให้เราฟัง

DiStar Fresh Farm

ถึงอย่างนั้นการปลูกผักสักต้น อ๊อกต้องลองผิดลองถูกปลูกเป็นร้อยรอบ กว่าจะได้สูตรการปลูกที่ลงตัวว่า ผักชนิดนี้ต้องใช้หลอดไฟกี่หลอด หลอดละกี่วัตต์ ใช้น้ำกี่ลิตร แม้จะถูกคนรอบข้างมองว่าเขาเพี้ยน ทำสิ่งที่ไม่มีใครเขาทำกัน อ๊อกยังมุ่งมั่นโดยมีแพสชั่นเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย แต่ดูเหมือนว่าเขาต้องเจออุปสรรคสำคัญ นั่นคือ มายด์เซ็ตของเกษตรกรไทย

“ผมไปดูงานที่รัฐออริกอน อเมริกา เขาฉลาดมากในการหาวิธีกักเก็บน้ำไว้ใต้ดินเพื่อปลูกข้าวสาลีได้จนสำเร็จ แม้จะปลูกได้สองปีครั้ง แต่นี่คือการคิดแก้ปัญหาแบบวิทยาศาสตร์ ในขณะที่คนไทยไม่ว่าจะผ่านไปกี่แล้ง ผู้ชายก็ยังเข้ามาขับแท็กซี่ในกรุงเทพฯ ผู้หญิงก็ไปเป็นสาวโรงงาน เรายังทำเกษตรแบบพึ่งพาธรรมชาติด้วยวิธีเดิมๆ ที่ทำต่อๆ กันมา เมื่อเจอปัญหาก็ไม่คิดนำตรรกะทางวิทยาศาสตร์มาใช้ ผมเคยถามเกษตรกรญี่ปุ่นว่าเขาทำอะไรช่วงที่ปลูกพืชไม่ได้ ‘เรายกครอบครัวไปทัวร์ฝรั่งเศสกัน’ ที่เขาทำแบบนั้นได้เพราะเกษตรกรญี่ปุ่นฐานะดี เพราะเป็นผู้กำหนดราคาสินค้าเอง

“ล่าสุดผมไปประชุมเรื่องปุ๋ยที่ญี่ปุ่น ทุกฟาร์มแข่งกันบอกว่าใช้อะไร อัตราส่วนเท่าไหร่ แล้วมาดูกันว่าอันไหนที่ทุกฟาร์มบอกตรงกัน แปลว่าส่วนผสมนั้นเวิร์ก ไม่ต้องรอนักวิจัยที่ไม่ได้เป็นคนปลูกมาทำ แต่ให้เกษตรกรมาแชร์ความรู้กัน แต่บ้านเราทุกอย่างเป็นความลับ กลัวถูกโกง กลัวคนอื่นได้ดีกว่า สิ่งที่ผมทำได้คือนำมายด์เซ็ตดีๆ จากญี่ปุ่นกลับมาใช้และส่งต่อ ผมเปิดฟาร์มให้เข้ามาดูงานได้ ตอบทุกคำถาม สิ่งไหนที่เราเคยพลาดก็บอกก็เตือนกัน เพราะเราคงปลูกผักสะอาดให้คนทั้งประเทศไม่ไหว ฉะนั้น ถ้ามีเกษตรกรที่สนใจร่วมอุดมการณ์กัน ก็ยินดีต้อนรับเสมอ”

DiStar Fresh Farm

… 2 …
การเกษตรนั้นไซร้ แท้จริงแล้วคือวิทยาศาสตร์ล้วนๆ

อ๊อกในฐานะ CTO (Chief Technology Officer) ของบริษัทจะเป็นผู้อธิบายถึงปัจจัยทั้ง 6 อย่างที่ DiStar Fresh Farm ใช้ในการปลูกผัก ได้แก่ แสง อุณหภูมิและความชื้น สารอาหารพืช ลม เมล็ดพันธุ์ และคาร์บอนไดออกไซด์

‘มีแดดฟรีทำไมไม่ใช้’

“พืชใช้แสงในการสังเคราะห์อาหารก็จริง แต่แสงที่มากไปก็เป็นพิษต่อพืชได้เช่นกัน ส่งผลให้ผักโตช้าและขม ในสภาพแวดล้อมเดียวกันแต่ต่างกันแค่หลอดไฟที่ใช้ ก็ให้ผลผลิตต่างกัน เราต้องหาสเปกตรัมที่พืชชอบ อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ แสงก็เปรียบเหมือนสีของรุ้ง แสงแต่ละสีมีความสำคัญต่างกัน ผักแต่ละชนิดก็ต้องการแสงที่ต่างกัน ระยะเวลาในการให้แสงก็มีผลต่อการเจริญเติบโต แสงแต่ละหลอดไฟกะพริบไม่เท่ากัน ทุกอย่างต้องคำนวณหมด”

‘เปิดแอร์ปลูกผัก ค่าไฟบานแน่ๆ’

ผักแต่ละช่วงต้องการความชื้นและอุณหภูมิไม่เหมือนกัน บางชนิดชอบอากาศร้อน บางชนิดชอบเย็น ที่นี่ปลูกแยกกัน โดยตั้งอุณหภูมิไว้ที่ 26-30 เซสเซียส สังเกตไหมว่า ตอนไปต่างประเทศ ผักบ้านเขากรอบหวานกินอร่อย เพราะพืชทุกต้นมีระดับความเครียด การปลูกระบบปิดที่เปิดแอร์ให้ ผักจะอารมณ์ดี ไม่ปล่อยสารฟลาโวนอยด์ที่ทำให้เกิดรสขม ผักจึงกรอบหวาน
เชนขอเสริมเรื่องค่าไฟว่า “สมมติว่าเสียค่าไฟเดือนละ 1 หมื่นบาท ปลูกผัก 10 ต้น จะเสียค่าแอร์ต้นละ 1 พันบาท แต่ถ้าเราปลูก 1 หมื่นต้น จะเหลือค่าแอร์แค่ต้นละบาท และเราเลือกช่วงเวลาเปิดไฟช่วงที่คนใช้ไฟน้อย คือตั้งแต่ 22.00-09.00 น. จะเสียค่าไฟในอัตรา TOU (Time of Use Tariff) ที่ถูกลง และใช้หลอด LED ที่ช่วยประหยัดได้อีกทาง”

DiStar Fresh Farm

‘ผักไฮโดรโปนิกส์กินแล้วเป็นมะเร็ง!’

“เฟคนิวส์นี้คนไทยโดนปั่นหัวหนักมาก เพราะไม่รู้ว่าไนเตรตในผักกับไนเตรตในเนื้อเป็นคนละอย่างกัน สิ่งที่ก่อให้เกิดมะเร็งคือไนเตรตในเนื้อแดงซึ่งเป็นสารยืดอายุ แต่ไนเตรตในผักไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง และไม่ว่าจะปลูกแบบไฮโดรฯ หรือออร์แกนิกก็ได้ผักที่มีไนเตรตเหมือนกัน ที่สำคัญไนเตรตในผักมีประโยชน์ ช่วยให้หลอดเลือดยืดหยุ่น ช่วยให้ออกซิเจนที่หายใจเข้าไปผสมในเลือดได้มากขึ้น”

‘ปุ๋ยผงไม่ใช่ปุ๋ยเคมี’

“ไม่ว่าจะปลูกด้วยวิธีไฮโดรโปนิกส์หรือออร์แกนิก ก็ใช้ปุ๋ยเหมือนกันแค่ต่างแหล่งที่มา ปุ๋ยออร์แกนิกได้จากซากพืชและมูลสัตว์ที่ใส่จุลินทรีย์ลงไปหมัก ส่วนปุ๋ยไฮโดรฯ ได้จากเหมืองแร่ผ่านเครื่องสกัดส่วนเป็นหินออก แล้วเอาแต่แร่ธาตุมาใช้ แต่พอเห็นว่าเป็นผงกับได้ยินชื่อเรียกทางวิชาการ ก็ตีความกันว่าปุ๋ยไฮโดรฯ เป็นปุ๋ยเคมี ซึ่งคนไทยกลัว ทั้งที่ในปุ๋ยคอกมีแบคทีเรีย Escherichia Coli หรืออีโคไล เป็นเชื้อโรคปนเปื้อนในผัก ซึ่งเคยมีข่าวว่าที่สเปนมีคนเสียชีวิตเพราะได้รับเชื้อนี้ แต่คนไทยไม่กลัว เพราะเราธาตุแข็ง กินน้ำแข็งหลอด กินปลาร้า กินของหมักดองกันเป็นประจำ”

‘ปลูกผักต้องใช้ลมด้วยเหรอ’

“คนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าลมช่วยให้พืชสังเคราะห์แสงได้ดีขึ้น โดยเฉพาะผักกินใบจะสังเคราะห์แสงได้ดีเมื่อมีกระแสลมผ่านใบตอนที่ได้รับแสง และต้องเป็นลมที่มีความเร็ว 0.3-0.8 เมตรต่อวินาที” เอาล่ะสิ เจ้าลมที่ว่านี่พัดแรงขนาดไหนกัน อ๊อกอมยิ้มก่อนเฉลยว่า “เท่ากับลมหายใจของเรา” แล้วพัดลมแบบไหนล่ะที่จะให้ลมแผ่วระดับนั้นได้ “เราไม่สามารถคุมความเร็วลมแต่ดีไซน์กระแสลมในโรงเรือนได้ ใช้หลักการ Dynamic (การเคลื่อนที่) และ Static (การอยู่กับที่) ให้ลมกระดิกนิดเดียวเหมือนลมหายใจ ถ้าเราให้ลมแรงไป ผักจะเกิดอาการ Tip Burn หรือขอบใบแห้ง หรือปลายใบไหม้”

DiStar Fresh Farm

เครดิตภาพ : DiStar Fresh Farm

‘เมล็ดพันธุ์…พระเอกตัวจริง’

“ต่อให้ระบบปลูกดีแค่ไหน แต่ถ้าเมล็ดพันธุ์ไม่ดี ปลูกยังไงก็ไม่ดี เพราะเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์คือหัวใจของการเกษตร เราพยายามคัดเลือกจากแหล่งที่เชื่อใจ มีมาตรฐาน คุณภาพดี สะอาด ไม่ปนเปื้อนเชื้อโรค ซึ่งนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด เพราะเขามีงานวิจัยด้านเมล็ดพันธุ์อย่างจริงจัง ผักที่ปลูกเป็นผักสลัด เพราะเมล็ดพันธุ์คุณภาพนิ่ง เราไม่แนะนำให้นำไปปรุงอาหาร อยากให้กินสดจะเป็นผักแกล้มหรือเครื่องเคียงกับเมนูต่างๆ ได้หมด เพื่อให้ได้คุณค่าสารอาหารสูงสุด”

คัดสรรเมล็ดพันธุ์อย่างดีแล้ว วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ปลูกก็สำคัญด้วยเช่นกัน ที่นี่ใช้เพอร์ไลต์หรือหินภูเขาไฟและเวอร์มิคิวไลต์แทนดิน ทำให้ปลอดภัยจากจุลินทรีย์ ไข่แมลง และแมลงศัตรูพืชที่อยู่ในดิน ส่วนน้ำตั้งต้นในการปลูกเป็นระบบ RO เทียบได้กับน้ำดื่ม วัสดุทั้งหมดเป็นฟู้ดเกรด ท่อเขียวที่ไม่มีตะกั่ว อะลูมิเนียม 100% ที่ไม่เป็นสนิม กำแพงที่ป้องกันความชื้นและเชื้อโรค พื้นอีพ็อกซี

DiStar Fresh Farm

ปลูกผักระบบปิด = คาร์บอนเครดิต

“เราใช้ระยะเวลาปลูกผักเท่ากับญี่ปุ่นคือ 30 วันเก็บผลผลิตได้ เป็นอายุที่ผักต้นโต ให้สารอาหารดีที่สุด และรสชาติอร่อยที่สุดด้วย จึงต้องเพิ่มคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปอีก 3 เท่าของธรรมชาติ เพื่อให้ผักสังเคราะห์แสงได้มากขึ้น ผักเลยโตเร็ว จากปกติต้องปลูก 45 วัน แค่ 30 วันก็เพียงพอแล้ว ช่วยประหยัดค่าน้ำค่าไฟแถมยังให้สารอาหารมากกว่าต้นแก่ด้วย

“ที่นี่เพิ่งสร้างเสร็จยังไม่ถึงปี ระบบ Ecosystem จึงยังไม่สมบูรณ์ เลยต้องไปรับคาร์บอนไดออกไซด์จากอุตสาหกรรมปิโตรเลียมมาใช้ แทนที่เขาต้องปล่อยทิ้งในบรรยากาศ เราก็รับมาช่วยกำจัดแทน ฉะนั้น โรงเรือนระบบปิดในต่างประเทศจะเป็นธุรกิจที่ขายคาร์บอนเครดิตได้ด้วย นอกจากนี้ ผักยังให้ออกซิเจนคืนกลับมา บริเวณโรงเรือนจึงอากาศดี วันไหนผมอยากสดชื่นก็แค่เดินเข้าไปในฟาร์ม เป็นการทำฟาร์มผักที่เหมือนได้ปลูกป่าไปด้วยในตัว”

DiStar Fresh Farm

เครดิตภาพ : DiStar Fresh Farm

… 3 …
ถึงเวลาตาสว่าง

จากที่เชนตั้งใจอยากให้ครอบครัวมีผักที่สะอาด ปลอดภัยที่จะกินได้อย่างสนิทใจ จึงมาดูงานที่ฟาร์มเพราะคิดอยากลองปลูกผักกินเอง แต่ได้มาเห็นการทำงานและความมุ่งมั่นตั้งใจของอ๊อกผู้ซึ่งเขาเรียกว่าอาจารย์ ที่สำคัญทั้งคู่มีมายด์เซ็ตเดียวกันที่มุ่งตอบโจทย์ด้านอาหารปลอดภัยผ่านผักที่ปลูก จึงได้มาร่วมงานกัน จากคนวงนอกที่เคยเป็นเพียงผู้บริโภค เชนเข้ามาเป็น CEO ของบริษัท และกลายเป็นคนวงในของสังคมคนปลูกผัก ต่อไปนี้คือเรื่องเล่าที่เชนจะเล่าให้เราฟัง

“คนไทยชอบผักสวย ยี่ปั๊วเลยต้องรับแต่ผักสวยไม่งั้นจะขายยาก หลายครั้งคนรับซื้อผักจากเกษตรกรก็เป็นคนขายยาฆ่าแมลง ถ้าอยากมีตลาดรองรับผลผลิต ก็ต้องซื้อเมล็ด ปุ๋ย ยาฆ่าแมลงของเขาไปใช้ เท่านั้นไม่พอ ตามหลักความปลอดภัย หลังฉีดพ่นยาฆ่าแมลงแล้วต้องเว้นช่วงเพื่อให้ฤทธิ์ยาเจือจางและอ่อนลงก่อนถึงจะเก็บผลผลิตได้ แต่เกษตรกรบางคนถ้าวันนี้คะน้าราคาดี แม้จะเพิ่งฉีดยาไปเมื่อวาน ก็เก็บขายเลย ยี่ปั๊วเองเมื่อรับซื้อผักมาแล้ว กลัวแมลงจะมาไข่ใส่ผัก แล้วจะกลายเป็นหนอนมากัดกินผักระหว่างขนส่งไปยังตลาดต่างๆ ก็เลยพ่นยาฆ่าแมลงซ้ำเข้าไปอีก ไปถึงหน้าตลาดค้าส่ง พ่อค้าแม่ค้าก็ฉีดพ่นกันอีก เพราะกลัวผักตัวเองไม่สวย เดี๋ยวลูกค้าไม่ซื้อ”

DiStar Fresh Farm

เครดิตภาพ : DiStar Fresh Farm

อ๊อกยืนยันอีกเสียงด้วยข้อมูลจาก Thai-PAN เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ว่า ประเทศไทยใช้ยาฆ่าแมลงเป็นอันดับ 7 ของโลก! และการสำรวจล่าสุดเมื่อต้นปี 2566 นี้ พบว่า คนภาคเหนือมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งสูงถึง 70% จากสารเคมีตกค้างในร่างกาย คนภาคกลาง 50-60% ภาคใต้ 60-70% ซึ่งข้อมูลสอดคล้องกับเรื่องเล่าของเชน เพราะภาคเหนือเป็นแหล่งปลูกพืชผักสำคัญของประเทศ เลยได้กินผักในช่วงที่ฤทธิ์ยาฆ่าแมลงยังเข้มข้นอยู่ ส่วนที่ภาคใต้กลับมาค่าเฉลี่ยสูงกว่าคนภาคกลาง เป็นเพราะมีการฉีดพ่นยาซ้ำระหว่างทางนั่นเอง

ว่าแล้วอ๊อกขอร่วมวงแบ่งปันประสบการณ์ที่ตัวเองเคยได้เห็นมา “หลักการเลือกผักที่บอกต่อๆ กันมาคือต้องเลือกผักที่เป็นรู เพราะถ้าแมลงกัดแทะได้ แสดงว่าผักไม่มียาฆ่าแมลง แต่หารู้ไม่ว่ารูเล็กรูน้อยนั้นนั้น เกิดจากทรายที่คั่วร้อนๆ มาสาดใส่ ผมเคยเจอบางที่ใช้ผงซักฟอกละลายน้ำแล้วพ่นไปที่ผักด้วยนะ ทำให้ผักหงิกงอแหว่งตามรอยคราบผงซักฟอก ดูแล้วคล้ายแมลงกัดเลย ถ้าใครเคยล้างผักแล้วมีฟอง นั่นแหละครับฟองผงซักฟอก”

DiStar Fresh Farm

เครดิตภาพ : DiStar Fresh Farm

แล้วการล้างผักสารพัดวิธีที่แชร์ต่อๆ กันในโลกโซเชียลล่ะช่วยได้มากน้อยแค่ไหน เชนอมยิ้มรอเพราะเป็นคำถามที่โดนถามบ่อย “ศ.นพ.ธีระวัฒน์​ เหมะจุฑา เคยวิจารณ์ว่า ไม่ว่าจะล้างผักด้วยวิธีใดก็ตาม จะล้างได้แค่ 40% เพราะยาฆ่าแมลงถูกดูดซึมไปในก้านในใบแล้ว จะล้างหรือปอกเปลือกจึงไม่ช่วยอะไร เพราะทำได้แค่ผิวนอก กลุ่มที่มีกำลังซื้อจึงหันเลือกซื้อผักออร์แกนิกที่เชื่อกันว่าปลอดสาร แต่ต้องยอมรับความจริงว่า บ้านเราไม่โปร่งใส มีการใช้ยาฆ่าแมลง 280 ชนิด แต่เลือกตรวจสอบเพียง 48 ชนิด ฉะนั้น ถ้าใช้ยาที่อยู่นอกเหนือ 48 ชนิดนี้ แค่นี้ก็ตรวจไม่พบและได้ชื่อว่าเป็นออร์แกนิกแล้ว แต่พอส่งออกไปต่างประเทศถูกตีกลับยกคอนเทนเนอร์ ส่วนบ้านเราแม้จะตรวจเจอว่ามีการใช้เกินมาตรฐานก็ไม่มีใครจับ ไม่มีบทลงโทษทางกฎหมาย”

ขณะที่เราคนถามกำลังนิ่งอึ้ง อ๊อกเล่าต่อถึงการไปร่วมประชุมการเกษตรที่เกาหลี “ที่นั่นถ้าเป็นผลผลิตออร์แกนิกจะได้ราคานึง แต่ถ้าปลูกแบบอินดอร์ราคาจะสูงขึ้นอีกหน่อย แม้ว่าการปลูกทั้งสองแบบที่บ้านเขาจะไม่ใช้ยาฆ่าแมลงทั้งคู่ แต่จะนำแบบออร์แกนิกมาสวมรอยขายเพื่ออัพราคาไม่ได้ ถือเป็นการหลอกลวงผู้บริโภค ติดคุกเลยนะ”

DiStar Fresh Farm

เครดิตภาพ : DiStar Fresh Farm

… 5 …
โมเดล DiStar Fresh Farm

เชนยอมรับว่า แทบไม่ได้กันงบไว้สำหรับมาร์เก็ตติ้งเลย เพราะเชื่อว่า เมื่อโรงเรือนเสร็จสมบูรณ์ คนที่รักและใส่ใจสุขภาพทราบจะต้องแย่งกันจองแย่งกันซื้อผักของเขา แต่กลายเป็นว่ามีแต่คนมาเยี่ยมชมฟาร์ม ชื่นชมว่าเป็นระบบปลูกที่ดีทันสมัย แต่ไม่มีใครซื้อ เดือนแรกจึงมีลูกค้า 1 คนถ้วน เราได้ยินแล้วยังตกใจแทน รีบถามถึงการรับมือ อ๊อกกลับยิ้มอย่างสบายใจ

“ผมเคยทำมาก่อน รู้ว่าสถานการณ์จะต้องเป็นแบบนี้ ผมบอกเชนเสมอว่า ‘เดี๋ยวจะถึงจุดที่เราปลูกผักไม่ทัน ตอนนั้นน่าเครียดกว่า’ เพราะถ้าลูกค้าต้องรอแต่เราไม่มีผักส่ง มันเสียชื่อมากนะ แต่ถ้าลูกค้าน้อยไม่ต้องกังวล เดี๋ยวยอดลูกค้าจะค่อยๆ เพิ่มเองโดยธรรมชาติ คนที่เป็นลูกค้าแล้วจะอยู่กับเรายาว ส่วนการทำการตลาดอาจจะแค่ช่วงแรกให้คนรู้จักเรา แต่หลังจากนั้นจะเป็นการบอกปากต่อปาก และสุดท้ายเราจะลิมิตลูกค้าตามกำลังการปลูกของเรา”

DiStar Fresh Farm

เชนพยักหน้าสนับสนุนคำกล่าวของอ๊อก “ตอนนี้จำนวนลูกค้ายังไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน เพราะเพิ่งเปิดได้ไม่ถึงปี แต่เราเข้าใกล้ยอดสมาชิกที่ตั้งเป้าไว้เข้ามาเรื่อยๆ แต่สิ่งที่สำคัญกว่ายอดสมาชิก คือการให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับคนกิน เพราะหลายอย่างสวนทางกับสิ่งที่คนไทยคุ้นเคย เช่น เกษตรกรบ้านเราปลูกผักเน้นน้ำหนัก ต้องต้นใหญ่ จึงจะได้ราคาดี การปลูกใช้เวลาถึง 60 วัน ซึ่งเป็นผักที่ญี่ปุ่นเรียกว่าเป็นผักแก่ เหม็นเขียว กินไม่อร่อย และสารอาหารก็เริ่มดร็อป บางคนรับผักจากเราแล้วคอมเมนต์ว่า ‘ช่วยส่งผักให้สมราคาหน่อย’ นี่คือคนที่ช้อปปิ้งผักที่เหมือนปรินต์ 3D มา ซึ่งถ้าไม่ใช่ผักที่เราปลูก มันคือยาฆ่าแมลงพันเปอร์เซ็นต์ ผักยิ่งสวย ยิ่งอันตราย ผักเราอาจจะเหี่ยวเร็วเพราะเราไม่ใส่สารแปลกปลอมยืดอายุ เรายืนยันได้ว่าผักเราปลอดจากยาฆ่าแมลงทั้ง 280 ชนิด”

DiStar Fresh Farm

อ๊อกเล่าว่า คนญี่ปุ่นไม่ได้ซื้อขายผักเป็นกิโลแบบบ้านเรา แต่ซื้อกันเป็นต้นและในจำนวนที่พอใช้ในแต่ละวัน จะไม่ซื้อเก็บไว้ในตู้เย็นเป็นสัปดาห์ เพราะผักที่เก็บเกี่ยวแล้ว เอนไซม์จะหายไปในวันแรก ส่วนวิตามินหายไปใน 72 ชั่วโมง จะเหลือก็แค่ไฟเบอร์

นี่จึงเป็นเหตุผลที่ผักของ DiStar Fresh Farm ไม่วางขายในห้าง เพราะไม่อยากให้ผักค้างอยู่ที่ชั้น และยังช่วยลด Food Waste ด้วย ความที่เป็นผักสดที่เน่าเสียได้ ห้างมักตั้งราคาเผื่อส่วนที่เหลือทิ้ง แทนที่จะเพิ่มมาร์จิ้นให้เกษตรกรหรือลดราคาให้ผู้บริโภค ราคาผักตามห้างจึงสูงโดดเกินจริง

เชนอธิบายถึงเหตุผลที่ไม่ขายส่งว่า “ไม่อยากให้มีการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลงระหว่างทางก่อนถึงผู้บริโภค เราสู้อุตส่าห์ตั้งใจปลูกเป็นอย่างดีในทุกขั้นตอน พนักงานต้องสวมชุด PPE และอุปกรณ์ป้องกันการปนเปื้อน เดินผ่าน Air Shower ทุกครั้งเพื่อดักฝุ่นและสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ก่อนเข้าโรงเรือน เราถึงกล้าการันตีว่า ผักเราสะอาดระดับ Beyond Organic เก็บกินได้ทันทีโดยไม่ต้องล้าง เพราะถ้าล้างด้วยน้ำที่ไม่สะอาดพออาจทำให้ผักสกปรกได้”

DiStar Fresh Farm

เครดิตภาพ : DiStar Fresh Farm

… 6 …
ส่งฟรีทั่วประเทศภายใน 2 วัน

เดิมที DiStar Fresh Farm ตั้งใจให้บริการลูกค้าที่อยู่ในละแวก 30 กิโลเมตรจากฟาร์ม เพราะอยากให้คนกินได้รับเอนไซม์และวิตามินมากที่สุด แต่ด้วยเสียงเรียกร้องจากเพื่อนฝูงที่อยู่ทั้งเหนือและใต้ ซึ่งยินดีรอขอเพียงได้กินผักที่ปลอดภัยก็พอ โชคดีที่ทางฟาร์มดีลกับบริษัทขนส่งได้ ทำให้สามารถจัดส่งผักไปทั่วประเทศได้ภายใน 2 วัน

เชนเล่าว่า “บริษัทขนส่งคิดค่าส่งราคาเหมาทั่วประเทศกล่องละ 50 บาท เราจัดส่งสมาชิกเดือนละ 4 ครั้ง ให้เลือกได้ว่าสะดวกรับวันไหน ระบบสมาชิกช่วยให้เรามีการปลูกที่แม่นยำ ลูกค้าประหยัดเวลา ช่วยลดโลกร้อนเพราะไม่ต้องขับรถไปซื้อ เราดีลกับขนส่งหลายเจ้า เพื่อเลือกเจ้าที่เหมาะกับแต่ละพื้นที่ ทุกเจ้ายินดีทำตามเงื่อนไขและอยากได้เราเป็นลูกค้า เพราะสมาชิกเรามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

DiStar Fresh Farm

เครดิตภาพ : DiStar Fresh Farm

“หลายคนถามว่าส่งผักสดไม่ต้องใช้รถเย็นเหรอ เราเคยลองส่งผักไปภาคใต้ด้วยรถธรรมดา ส่งถึงบ้านตั้งแต่บ่ายแต่ลูกค้ากลับมาเปิดกล่องตอน 3 ทุ่ม ผักยังโอเคอยู่ ข้อจำกัดของการส่งรถเย็นคือคนรับต้องนำเข้าตู้เย็นต่อเลย ไม่งั้นผักจะเปียกและเสีย ซึ่งแพงกว่าแต่สุดท้ายของก็เน่าได้”

อ๊อกอธิบายเพิ่มว่า “ปกติผักที่ปลูกกับดินทนความร้อนจากแสงแดดได้สูงถึง 45 องศา ยิ่งแดดเปรี้ยงอุณหภูมิเกินกว่านั้นแน่ ฉะนั้น ธรรมชาติของผักทนร้อนได้ ไม่เป็นปัญหา เราส่งผักโดยแพ็กในถุงซิปล็อก ทำให้ความชื้นยังอยู่ในนั้น พอร้อนเป็นไอ ใบก็ดูดซึมกลับเข้าไป เหมือนมีน้ำหล่อเลี้ยงผักไปตลอดทาง ที่สำคัญผักเราไม่มีจุลินทรีย์ตัวการที่ทำให้เน่าเสีย เราเป็นผักพาสเจอไรซ์ เหมือนนมกล่องที่เก็บไว้นอกตู้เย็นได้ นี่คือวิทยาศาสตร์ว่าทำไมผักเราไม่เสียแม้ไม่ได้ส่งรถเย็น”

DiStar Fresh Farm

เครดิตภาพ : DiStar Fresh Farm

ก่อนอำลาเราขอถามอีกคำถามที่คาใจว่า อะไรคือแรงผลักดันที่ทำให้มีพลังสู้กับภารกิจยิ่งใหญ่โดยมีกันแค่สองคน

“ผมมีน้องสาวเป็นวีแกน เพิ่งเสียด้วยโรคมะเร็งจากสารพิษที่สะสมในเลือดสูง ครึ่งปีที่ครอบครัวดูแลน้องในห้องปลอดเชื้อ ผมรู้สึกว่า ถ้าแค่อาหารดี น้องจะไม่ต้องเจอภาวะนี้ การกินเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้เราป่วย เพราะนำสารพิษเข้าไปตกค้างและสะสมในร่างกาย (สถิติจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติปี 2565 คนไทยป่วยเป็นโรคมะเร็งสูงถึงวันละ 400 คน) ซึ่งกรรมพันธุ์ส่งผลเพียงแค่ 10% ถ้าผมปลูกผักส่งสัก 100 ครอบครัว ช่วยให้มีชีวิตที่ปลอดภัยขึ้น ผมก็ดีใจมาก”

เชนเองก็สูญเสียคุณป้าจากโรคมะเร็งเช่นกัน “ป้าผมถือศีลกินผักผลไม้ 100% มาตลอด เป็นมะเร็ง 3 รอบ รอบสุดท้ายไม่รอด ผมรู้สึกไม่แฟร์ที่คนรักสุขภาพ ตื่นเช้าไปวิ่ง เย็นกินคลีน ยอมตัดใจจากของอร่อยเพื่อดูแลร่างกาย แต่สุดท้ายกลับป่วยเพราะสารพิษที่ตกค้างในอาหารที่เขาคิดว่าปลอดภัย ผมกับอาจารย์เราจะมุ่งมั่นทำตามสโลแกนของฟาร์ม ‘ให้เราดูแลผัก ให้ผักดูแลคุณ’

Facebook : DiStar Fresh Farm 
Instagram : distarfresh
Line : @distarfresh
TikTok : distarfresh
Website : www.distarfresh.com

Tags: