About
BALANCE

Polluted Currents

‘Polluted Currents’ นิทรรศการสะท้อนปัญหาฝุ่นผ่านศิลปะ New Media ของ ‘เต้น – พงษ์พันธ์’

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ชวน ‘เต้น- พงษ์พันธ์ สุริยภัทร’ ศิลปินและสถาปนิกเจาะเบื้องหลัง Polluted Currents นิทรรศการที่นำเสนอปัญหามลพิษทางอากาศในบ้านเราผ่านศิลปะ New Media ทั้ง 3 ชิ้นงานที่ผู้ชมจำเป็นต้องมีส่วนร่วมกับการ Interactive เพื่อให้เกิดเมสเสจบางอย่างกลับไป

Warin Lab Contemporary เป็นแกลเลอรีที่มีแนวคิดอยากจะขับเคลื่อนประเด็นสิ่งแวดล้อมผ่านการจัดแสดงศิลปะมาโดยตลอด นิทรรศการ Polluted Currents แม้จะมีจุดเริ่มต้นจากความไม่รู้ว่าจะนำเสนอเรื่องอะไร ‘เต้น- พงษ์พันธ์ สุริยภัทร’ เพียงแค่อยากสร้างสรรค์ศิลปะสื่อผสมในพื้นที่นี้ จนกระทั่งวันเวลาล่วงเลยจากฤดูฝนก้าวเข้าฤดูหนาวที่มักหอบหิ้วปัญหาฝุ่น PM2.5 และ PM10 พ่วงมาด้วย

“ถ้าเราจัดนิทรรศการที่นำเสนอปัญหานี้ในช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะก็อาจจะสร้างแรงปะทะให้ผู้เสพงานได้ง่ายมากขึ้นด้วย หรือผู้คนอาจสามารถเชื่อมโยงตัวงานเข้ากับประสบการณ์ได้ง่ายขึ้น” และนี่ก็คงจะเป็นเรื่องของเวลาที่ใช่ที่ทำให้ศิลปินหนุ่มอารมณ์ดีลุกขึ้นมาจัดนิทรรศการครั้งนี้

Polluted Currents

นิทรรศการที่อยากแกล้งคนดู

‘เต้น – พงษ์พันธ์ สุริยภัทร’ เป็นสถาปนิกที่เคยออกแบบสื่อจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เหรียญ นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ หรือในหอภาพยนตร์แห่งชาติ เขายังเป็นศิลปินที่สนใจใน New Media Art ศิลปะที่ผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ากับธรรมชาติอย่างใน The Archetype and The Avant-Garde: Luminous Journey นิทรรศการที่จัดร่วมกับศิลปินอย่าง ปรีชา เถาทอง ที่เต้นเผยว่าเป็นการบอกเล่าความสนใจการสร้างสรรค์ศิลปะของเขาได้ดีเลยทีเดียว

Polluted Currents

Polluted Currents

สำหรับ Polluted Currents เขาเล่าด้วยน้ำเสียงติดตลกว่า นี่จะเป็นนิทรรศการกึ่งมิวเซียมที่จะผสมผสานความอยากแกล้งผู้ชมด้วย นี่ล่ะคือไฮไลต์ที่สะท้อนให้เห็นถึงการกระทำของมนุษย์กับปัญหามลพิษทางอากาศได้อย่างเจ็บแสบ เขาออกแบบตัวงานที่เกิดจากการตั้งคำถาม 3 ข้อ 1.เกิดอะไรขึ้น 2. อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เกิด และ 3.เราจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างไร ก่อนถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานศิลปะ New Media ทั้ง 3 ชิ้นที่ไม่ได้ตั้งโชว์ให้ดูอย่างเดียว เพราะเมสเสจของงานจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อผู้ชมจำเป็นจะต้องเข้ามา Interactive กับผลงานของเขาด้วย

Polluted Currents

Data Flow ผลงานชิ้นที่ 1
รายงานสภาพฝุ่นประเทศไทย

‘เกิดอะไรขึ้น…’ เป็นคำถามที่ชวนให้เต้นอยากตีแผ่สถานการณ์ปัญหามลพิษทางอากาศในปัจจุบัน ‘Data Flow’ จึงเป็นผลงานที่เชื้อเชิญผู้ชมมาเฝ้าดูรายงานสภาพอุณหภูมิอากาศและค่าฝุ่น PM2.5 PM10 ที่ไหลเข้ามาในแต่ละจังหวัดทั่วไทยกันแบบเรียลไทม์ โดยที่สร้างสรรค์ออกมาในรูปแบบ Generative Art ซึ่งนับว่าเป็นหัวใจของนิทรรศการนี้เลย ถ้าใครยังไม่ค่อยคุ้นหู เต้นจะขออธิบายให้ฟัง

“Generative Art เกิดขึ้นจากการที่ศิลปินวางกฎเกณฑ์บางอย่างไว้แล้วปล่อยให้มันรันกระบวนการนั้นๆ ด้วยคอมพิวเตอร์ หรือด้วยตัวมันเอง โดยที่ศิลปินไม่ได้มีส่วนในการควบคุม เช่น ศิลปินท่านหนึ่งเอาปากกาผูกไว้กับกิ่งไม้ แล้วหลังจากนั้นก็ปล่อยให้ลมพัดปากกาวาดรูปของมันเอง”

Polluted Currents

Polluted Currents

ศิลปะรูปแบบนี้แสดงให้เห็นถึงความแปรผันไปตามธรรมชาติ ผลลัพธ์ของงานที่เกิดขึ้นจึงไม่มีทางที่จะเหมือนกัน “มันเลยสอดคล้องกับเนื้อหาของงานชิ้นนี้ที่เราอยากจะให้เห็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน Data Flow เราสร้างกฎเกณฑ์อย่างอุณหภูมิ สีในแต่ละจังหวัดที่จะแสดงถึงความรุนแรงของอากาศ ค่า PM2.5 และ PM10 มีเท่าไหร่ หลังจากนั้นคอมพิวเตอร์ก็จะดึงปริมาณของฝุ่นในแต่ละที่มา Visualize โดยให้ Generate ของมันเองแบบเรียลไทม์ แต่ละจอก็จะแสดงผลตัดสลับกันในทุกๆ จังหวัด” ขอเสริมว่าผลงานชิ้นนี้ยังมีทีเด็ดที่ซ่อนความจิกกัดของเต้นไว้อย่างแยบยล แต่ขอเฉลยตอนหลังนะ

Polluted Currents

Polluted Currents

Footstep of Impact ผลงานชิ้นที่ 2
มนุษย์หรือเปล่านะคือต้นเหตุ

แค่มองเห็นปัญหายังไม่พอหรอก เพราะเต้นจะพาผู้ชมดำดิ่งไปกับการสำรวจหาสาเหตุอีกด้วย ‘Footstep of Impact’ ผลงานชิ้นที่ 2 ที่จัดวางไม่ห่างกับชิ้นแรก ศิลปินเนรมิตพื้นที่ให้เป็นเสมือนภูมิประเทศไทย โดยให้ความสูงต่ำและตารางกริดล้อไปกับแผนที่ประเทศ เพื่อให้ผู้ชมขึ้นมาลองเดินหรือมี Interactive กับชิ้นงาน

Polluted Currents

Polluted Currents

ระหว่างทางเดินจะมีกองผงถ่านที่เกิดจากการเผาไหม้ เม็ดพลาสติก อาหารสัตว์ ปุ๋ยเคมี และพืชจากการทำไร่ทำเกษตร ปล่องควันที่สลักพฤติกรรมอันเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดฝุ่นมากมาย “งานชิ้นนี้ถ้าผู้ชมยืนดูเฉยๆ มันจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น และถ้าเราเดินไปทางไหน มันก็จะเกิดฝุ่นตามมา และจะเข้มขึ้นอีกถ้าเราเอาแต่เหยียบๆ ย่ำๆ” และถ้าคุณสร้าง Footrpint ไว้มากพอ ปล่องควันก็จะปล่อยฝุ่นควันพุ่งไปบนท้องฟ้าด้านบนที่กำลังเคลื่อนไหวแบบเรียลไทม์ทันที

Polluted Currents

สารภาพเลยว่าเราสนุกมากกับการเดินย่ำๆ เพื่อรอให้ฝุ่นควันพุ่งตัวออกมา ซึ่งความตลกร้ายก็คือถ้าเกิดว่า Footstep of Impact ไม่ใช่ชิ้นงานศิลปะ แต่คือกระจกที่กำลังสะท้อนอีกด้านของพฤติกรรมมนุษย์ที่มักวิ่งเข้าหาความสะดวกสบาย จนเผลอลืมผลกระทบที่ตามมาล่ะ

Polluted Currents

‘…ตัวคุณเป็นผู้สร้างปัญหาหรือเป็นผู้รับผลกระทบของปัญหา’ คำถามทิ้งท้ายที่ปรากฏอยู่ในคำอธิบายนิทรรศการนี้ เต้นขอตอบเราเป็นการยืนยันว่า “มนุษย์นี่ล่ะที่ทำให้เกิดมลพิษ ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ” ฟังคำตอบของเต้นแล้วเราเริ่มกลัวความสนุกที่เพิ่งเกิดขึ้นตัวเองเลย อิมแพ็กสมชื่อชิ้นงานจริงๆ

Polluted Currents

Visage Reaction ชิ้นที่ 3
ปัญหาอยู่ตรงหน้า โปรดเลือกมาจะทำไง

‘บทสนทนาด้านปัญหาสังคมไม่ได้จบลงแค่ในห้องนิทรรศการ’ เป็นประโยคที่ทักทายเราทันทีที่เดินขึ้นมาชั้น 2 ของนิทรรศการ เราบอกกับเต้นว่าชอบประโยคนี้มาก เขาเลยเฉลยให้ฟังว่า มันเชื่อมโยงกับ Visage Reaction หรือผลงานชิ้นที่ 3 ที่จริงๆ คือการแอบรวบรวมสีหน้าของผู้ชมขณะกำลังเฝ้าดูค่าฝุ่นในผลงานชิ้นแรกนั่นเอง

Polluted Currents

“ตอนที่คุณดูการไหลเทของฝุ่น ดูว่าบ้านเรามันกำลังเกิดอะไรขึ้น ชิ้นงานมันก็กำลังจับใบหน้าหรือรีแอคชั่นของคุณเช่นกัน เพื่อเอามาฉายให้ดูในนี้ โดยแต่ละช่องบนจอแสดงผลจะมีคำคนละขั้วแปะไว้ เหมือนให้คุณเลือกเอาเลยว่าจะเป็นตัวปัญหา ผู้แก้ปัญหา หรือจะเป็นแค่คนเพิกเฉย หรือเป็นคนที่ลงมือทำอะไรสักอย่างไหม”

นี่ล่ะทีเด็ดการจิกกัดของเต้นที่เขาขอเสริมต่อว่า นิทรรศการของเขาถ้าต้องปิดจบก็จะขอพูดกันแบบตรงๆ ไม่โลกสวย “เพราะบ้านเรากับความกังวลเรื่องมลพิษออกแนวไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา อยู่เมืองไทยมันสะดวกสบายไง ทิ้งขยะก็มีคนมาเก็บ อีกอย่างเป็นเรื่องระบบโครงสร้างสังคมด้วยตอนกลับไทยแรกๆ ก็บอกกับตัวเองว่าฉันจะรักษ์โลก จะนั่งรถเมล์ แต่พอโบกรถเมล์ก็ไม่จอด บิดแล่นไปเลย เรียกแท็กซี่ก็ไม่ไปอีก สุดท้ายแก้ปัญหาด้วยการซื้อรถขับ”

Polluted Currents

“ดังนั้นเรื่องสิ่งแวดล้อมมันไม่ใช่เรื่องโดดๆ แต่มันแฝงไปกับการวางโครงสร้างของประเทศ และในทุกๆ มิติของทุกเรื่องที่ถ้าเรายังไม่ตระหนักถึงมันให้มากพอ มันจะแก้ไขไม่ได้เลย ถ้าแอดติจูดของคนมันไม่โน้มเอียงไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด นิทรรศการนี้เราจิกกัดให้เห็นเลยแหละ ในเมื่อมันมาขนาดนี้แล้ว คุณก็เลือกกันเองละกันนะ เพราะนี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่คุณก็เห็นกันอยู่แล้ว”

Polluted Currents

ยังมีจอเล็กๆ ฝั่งตรงข้ามที่ฉายโควตคำเรื่องสิ่งแวดล้อมจากเพลง จากโฆษณา หรือจะเป็นวาทะการเมืองที่เต้นรวบรวมมาฉายให้ผู้ชมได้ ลองสำรวจดูว่า ในปัจจุบันนี้ประเด็นดังกล่าวถูกนำไปตีความอยู่ในบริบทไหนบ้าง เต้นยังเล่าอีกด้วยว่า ความฝันของคนรุ่นใหม่ในยุคนี้คือต้องการที่จะอาศัยอยู่ในโลกสีเขียวมากขึ้น หากหันมองรอบข้างก็จะเห็นว่าธุรกิจเกิดใหม่เน้นออกผลิตภัณฑ์หรือโปรดักต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อยๆ

Polluted Currents

นิทรรศการ Polluted Currents
สถานที่: Warin Lab Contemporary
จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ – 25 มกราคม 2566
เวลา : 10.30 – 19.30 น.
รายละเอียด : Warin Lab Contemporary

Tags: