Human Healers
PLACEBo CLUB คลับนักเยียวยาสุด “เวียร์ด” กับศาสตร์ที่เขาว่างมงาย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าใช้ได้จริง!
- คุยกับวริศ ลิขิตอนุสรณ์ และโกโก้ – พิชญะ เภตราไชยอนันต์ สองนักเยียวยาจาก PLACEBo CLUB ถึงแนวทางการฮีลของชมรมคนงมงาย ที่พาศาสตร์พลังงานบำบัดและการบำบัดด้วยเสียงไปช่วยเคลียร์ปัญหากายใจของคนมาแล้วนับไม่ถ้วน
เรานัดพบวริศและโกโก้ที่ชั้นสองของตึกเก่า 1 คูหา ไม่ไกลจากวงเวียน 22 กรกฎาคม ที่ตั้งของ “Placebo Club”
กลิ่นกำยานฟุ้งลอยมาเตะจมูก ทำให้รู้ว่ามาถึงที่นัดหมายแล้วแน่นอน เครื่องดนตรีของวริศเรียงรายอยู่มากมาย เรานั่งฟังเขาค่อยๆ ปรับจูนสายของเครื่องดนตรีจากเปอร์เซียระหว่างที่โกโก้เอาชามาให้เราลองดื่ม เป็นบรรยากาศนิ่งสงบแต่ก็อบอวลไปด้วยความขลังอะไรบางอย่างซึ่งเราเองอธิบายไม่ถูก…
พื้นที่แห่งนี้เป็นสถานที่พักพิงกายใจของใครหลายๆ คน ที่เชื่อในปรัชญาเดียวกัน อยากเปลี่ยนแปลงตัวเองไปในทางที่ดีขึ้น และเชื่อในพลังการเยียวยา ซึ่งวันนี้สองนักเยียวยาจาก Placebo Club จะมาเล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของชมรมที่ว่ากันว่าเป็นที่รวมตัวของคนงมงาย จุดยืนของพวกเขา และกระบวนการเยียวยาที่ยากจะเชื่อว่าใช้ได้จริง แต่เสียงนับไม่ถ้วนกลับบอกว่าปัญหากวนใจหายวับเหมือนถูกเสกเลย!
การรวมตัวของผู้แพ้
เช่นเดียวกับหลายคนในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนัก สองนักเยียวยาและเพื่อนๆผู้ก่อตั้ง Placeboo Club พบกันท่ามกลางความอ้างว้าง สับสน และหลงทาง หลังโกโก้ได้ออกจากงานในช่วงที่แมกกาซีนที่ทำอยู่กำลังจะปิดตัวลง ด้านวริศ เด็กชายที่ผู้ใหญ่บอกว่า “ โตมาจะอยู่ในโลกความเป็นจริงไม่ได้” ก็วางมือจากงานวิชาการ สื่อ และการเมืองด้วยทนเขี้ยวเล็บของโลกแห่งความเป็นจริงไม่ไหว มาเปิดร้านต้นไม้ พลูโต houseplant studio ร่วมกับนิรัช ไตรรงคอุบล ซึ่งปัจจุบันปิดไปหลายปีแล้ว แต่ที่นี่ได้กลายมาเป็นแหล่งรวมตัวทำ “กิจกรรมประหลาดๆ” ของเพื่อนๆ
การล้อมวงพูดคุยเรื่องผี ปิศาจ ความเจ็บปวด การดูดวง ฯลฯ นำไปสู่จุดเริ่มต้นของชมรมสุด “เวียร์ด” ตามแทกไลน์ ในที่สุด
“เวทมนตร์ พิธีกรรม ความเชื่อ หลายครั้งเป็นเครื่องมือของผู้แพ้” วริศบอก เชื่อว่าทุกคนต้องเคยสวดมนต์บนบานขออะไรสักครั้งในชีวิต ขอให้สอบติด ขอให้มีแฟนดีๆ ขอให้ถูกหวยรางวัลที่ 1 นี่แหละคือสภาวะของผู้แพ้ที่วริศว่า เมื่อเราไม่ประสบความสำเร็จกับอะไรสักอย่าง สิ่งที่ว่ากันว่างมงายจะกลายมาเป็นที่พึ่งทางใจให้เรา
แต่กับวริศและโกโก้ ความสนใจในสิ่งที่จริงไม่จริงแหล่เหล่านี้ มีมาอยู่เสมอ “สำหรับพวกเรามันคือการกลับมายอมรับว่า เรางมงาย และเราไม่มีอะไรต้องซ่อนอีกต่อไปแล้ว”
Weird stuff that helps
ความตั้งใจของวริศและโกโก้คือการสร้างสเปซการเยียวยาที่ทำให้คน “ดีขึ้น” ได้จริงๆ ไม่ว่าจะปัญหาทางสุขภาพกายหรือใจที่เขากำลังเผชิญอยู่ ถ้ามาพบสองนักเยียวยาแล้ว สิ่งเหล่านั้นต้องได้รับการเปลี่ยนแปลง
แต่เยียวยาด้วยอะไร? และอย่างไร? เป็นสิ่งที่เราเองกำลังสงสัย
เราใช้เวลาตั้งแต่บ่ายแก่ๆ จนพลบค่ำในการหาคำตอบเหล่านี้ แล้วพบว่าวริศและโกโก้ไม่ได้พกมาเพียงความเชื่อ แต่สิ่งที่พวกเขาทำตั้งอยู่บนรากฐานความจริงบางอย่าง ในที่นี้คือศาสตร์การเยียวยา ‘พลังงานบำบัด’ (Energy Healing) โดยโกโก้ และ ‘การบำบัดด้วยเสียง’ (Sound Healing) โดยวริศ ที่ได้รับอิทธิพลมาจากองค์ความรู้ในซีกโลกตะวันออก
โกโก้เริ่มเผยให้เราฟังทีละนิดถึงกระบวนการและที่มาที่ไปของศาสตร์ที่ตัวเองใช้ “พลังงานบำบัดเป็นคำที่กว้างมากเลย อะไรก็เป็นพลังงานบำบัดได้หมด แต่อันที่ได้รับการยอมรับทางการแพทย์มากก็เช่น แพทย์แผนจีน (Traditional Chinese Medicine) หรือแพทย์แผนไทย หมอชาวบ้านก็ใช่ ซึ่งจะมีพื้นฐาน วิธีคิด ไม่เหมือนกับแพทย์ตะวันตก
แต่ในยุคก่อนปฏิวัติวัฒนธรรม ยังมีแพทย์แผนจีนแบบตำราลึกลับที่บางทีก็ไม่ได้วางรากฐานอยู่บนวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เลย เรียกว่า Classical Chinese Medicine อันนี้เป็นวิชาโบราณและถือเป็นศิลปะการรักษาแบบทางเลือก ซึ่งเราก็ไปเรียนมา แบบเดินตามอาจารย์เหมือนในหนังเลย แต่สิ่งเหล่านี้ปัจจุบัน ทางการถือเป็นศิลปะ เป็นพิธีกรรม ไม่ใช่การแพทย์ และเราก็ไม่ใช่หมอ”
การเยียวยาของโกโก้เริ่มจากการจับชีพจร เพื่อสังเกตว่าร่างกายมีจุดบล็อกหรือติดขัดตรงไหน และทำสิ่งที่เขาเรียกว่าการ “เคลียร์พลังงาน” ผ่านการนำคลื่นความสั่นของเสียงจากขันระฆัง (Himalayan Singing Bowl) เข้าไปในร่างกาย สุดท้ายเมื่อชีพจรกลับมาเป็นปกติ โกโก้จะ “ถ่ายพลัง” ผ่านการสัมผัสหรือไม่สัมผัสก็ได้ ตามแต่ปัญหาของผู้เข้ารับการเยียวยา
เราเองได้มีโอกาสลองรับการถ่ายพลังจากโกโก้ในวันนั้นก็แปลกใจเหมือนกัน ที่แค่ได้รับสัมผัสจากมือโกโก้โดยมีเพียงผ้าบางๆ กั้น ก็รู้สึกว่าบริเวณที่เขาบอกว่ามีพลังงานติดขัดอยู่มีความอุ่นร้อนขึ้นมา และรู้สึกเหมือนมีแรงสั่นสะเทือน (Vibration) เล็กๆ ถูกส่งเข้ามาในร่างกาย
ฟังๆ ดูแล้วอาจเหมือนกำลังพูดถึงหนังจีนกำลังภายในสักเรื่อง แต่โกโก้บอกเราว่า สิ่งเหล่านี้เยียวยาได้จริงและสามารถอธิบายได้ “ของพวกนี้ฟังดูแล้วเพ้อเจ้อมาก อะไรก็ไม่รู้ งมงาย แต่ถ้าลองเเล้วไม่มีทางปฏิเสธได้ว่าไม่จริง มันจริงที่สุด”
ด้านวริศที่ร่ำเรียนวิชา “การบำบัดด้วยเสียง” มาจากหลายสำนักก็เล่าถึงวิธีการเยียวยาของเขา โดยเริ่มตั้งแต่การจับจังหวะการเดินของผู้ที่เข้ามาในห้อง ที่เปรียบเหมือนกับจังหวะเพลง ช้าหรือเร็วหนักหรือเบาบ่งบอกว่าเป็นคนอย่างไร มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบตัวไหม ถ้าเร็วก็ผ่อนและปรับให้สมดุล โดยให้ผู้รับการเยียวยาเล่นดนตรีเอง วริศเล่นให้ฟัง หรือเล่นไปพร้อมๆ กันก็ได้ วิธีการเยียวยาปรับไปตามสภาวะของแต่ละคน
จากประสบการณ์แล้ววริศพบว่า การให้ผู้เข้ารับการเยียวยาเล่นเองดีที่สุด และไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องดนตรีด้วยซ้ำ เพราะเครื่องมือที่ดีที่สุดก็คือการใช้แค่ร่างกายกับเสียงตัวเอง
“ประโยชน์มหาศาลมันเกิดขึ้นขณะที่เขาตั้งใจฟังอะไรบางอย่าง เพื่อให้มันเข้าไปเยียวยาในตัวเขา… ดนตรีไม่ได้ผลิตยาได้ แต่เขาใช้ดนตรีเหล่านี้เป็น soundtrack ในการผลิตยาให้ตัวเองต่างหาก”
จากเรื่องที่ยากจะอธิบาย…สู่ตัวช่วยสำคัญของชุมชน
นอกจากเป็นคลับให้คนเดินเข้ามาเคลียร์ปัญหากายใจ วริศและโกโก้ยังเป็นกำลังสำคัญในการเผยแพร่ความรู้เหล่านี้ไปสู่หลายชุมชนทั่วประเทศไทย เพื่อให้ผู้คนที่ไม่ว่าจะอยู่ใกล้หรือไกลเมืองมีเครื่องมือในการดูแลตัวเอง โดยเฉพาะผู้ที่เข้าถึงความช่วยเหลือทางการแพทย์ได้ยาก
ทั้งสองมองว่าเป็นเรื่องน่าแปลกใจเหมือนกันที่คนจากหมู่บ้านและชุมชนห่างไกลรู้จักพวกเขากันมากขนาดนี้ บ้างก็เป็นชาวบ้านรวมตัวกันมา บ้างก็เป็นบุคลากรทางการแพทย์ ครู นักกิจกรรม แม้แต่หน่วยงานของรัฐยังส่งเสริมให้ทั้งคู่ส่งต่อวิชาเหล่านี้ไปให้ชาวบ้าน เพราะเล็งเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นหากทุกคนต่างรู้วิธีการฮีลตัวเอง
“เราเปรียบเทียบอยู่บ่อยๆ ว่าศิลปะการเยียวยาพวกนี้ เป็นเหมือนศิลปะการปลอบเพื่อน… คนเราควรจะดูแลกันและกันได้ด้วยหลากหลายวิธี เมื่อได้รับโอกาสจากภาครัฐ เราเสนอว่าแทนที่จะไปฮีลเขาเฉยๆ เราสอนให้เขาฮีลตัวเองได้เลยดีไหม หรือว่าฮีลเพื่อนๆ ใกล้ๆ ตัวได้เลยก็ยิ่งดี แล้วก็ดูว่าฟีดแบ็กเป็นยังไง เก็บสถิติกัน ซึ่งตอนนี้ดูหลังบ้านอยู่เรื่อยๆ มันก็ดีกว่าที่คิดไว้มาก”
ไม่ใช่แค่กิจกรรมที่ทำแล้วจบ
สำหรับหลายๆ คน แน่นอนว่าการจ่ายเงินไปนอนฟังคลื่นเสียงสั่นจากขันระฆัง เล่นโยคะ พบจิตแพทย์ พบนักเยียวยา และทำกิจกรรมฮีลใจต่างๆ ย่อมทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายเหมือนได้หลบหลีกจากโลกความเป็นจริงสักพัก ราวกับปัญหาของเราได้ถูกจัดการไปแล้ว เราเลยอาจไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องทำสิ่งเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง หรือนำเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน และกลับไปใหม่เมื่อรู้สึกว่าร่างกายต้องการ
แต่ Placebo Club เห็นตรงกันข้าม… “ การไม่มองศิลปะการเยียวยาเป็นเพียงสินค้า” คือจุดยืนของโกโก้เเละวริศ
พวกเขาทำสิ่งที่พวกเขาทำ เพราะมันคือวิถีชีวิต คือสิ่งที่ช่วยเหลือคนได้จริง และยังยืนยันว่า Placebo Club เป็นเพียงชมรมไม่ใช่ธุรกิจ ไม่มีสถานะบริษัท การจ้างงาน บัญชี หรือความเป็นทางการอะไรทั้งสิ้น เพียงแต่ทั้งคู่คือมนุษย์ที่อยากอยู่ได้ด้วยการช่วยเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเท่านั้นเอง
การเยียวยาไม่ควรมีราคาแพง หากเรารู้จักตัวเองมากพอว่าต้องการอะไร และจะดีขึ้นได้ด้วยวิธีไหน
“สิ่งที่มหัศจรรย์ที่สุดที่เกิดขึ้นได้จากกระบวนการการเยียวยาคือ เขาจัดการตัวเองได้จากการได้เจอเรา และเขาไม่ต้องการเราอีกแล้ว”
รู้ตัวอีกทีก็ค่ำมืด สมาชิกชมรมเริ่มทยอยกันมาเข้าเซสชั่น “Non-verbal Night” ของวริศ ห้วงยามที่ทุกคนจะดีทอกซ์จากการพูดคุยกัน และฟังเพียงดนตรีบรรเลงของวริศเท่านั้น
สำหรับเราบอกได้เพียงนี่คือค่ำคืนที่อบอวลไปด้วยบรรยากาศของเวทมนตร์และความอยากรู้ เหมือนการพูดคุยกับสองคนนี้มาสะกิดต่อมว่า สิ่งที่เราคิดว่าจริงอาจไม่จริงเสมอไป และสิ่งที่เราคิดว่าเป็นไปไม่ได้ อาจเป็นความจริงของใครสักคน
อ่านมาถึงตรงนี้เชื่อว่าคงมีคำถามผุดขึ้นในใจของทุกคนมากมาย และเราคงไม่สามารถพูดอะไรไปได้มากกว่านี้นอกเสียจาก “ต้องมาสัมผัสด้วยตัวเอง…”
สำหรับใครที่อยากเข้าไปสัมผัสประสบการณ์การเยียวยา สามารถติดตามข่าวสารและกิจกรรมได้ที่
IG: Placebo.club
FB: PLACEBo CLUB, weird stuff that helps