About
BALANCE

Healthy Krabi

Amataya Wellness ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพในกระบี่ที่ผสานศาสตร์อิชิอิญี่ปุ่นกับน้ำพุร้อนน้ำเค็มของไทย

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • Amataya Wellness ศูนย์ฟื้นฟูและส่งเสริมสุขภาพที่รวม 3 ศาสตร์เข้าไว้ด้วยกัน อยากให้ทุกคนมีสุขภาพใจที่ดีตั้งแต่เดินเข้ามา และกลับออกไปด้วยสุขภาพกายที่ดี

แน่นอนว่าหนึ่งในเทรนด์ที่กำลังมาตอนนี้คือเรื่องของ Wellness หรือก็คือการดูแลสุขภาพให้สุขกายสบายใจอย่างยั่งยืน ท็อป-เจริญรุ่งเรือง กิ่งแก้ว เองก็รู้ในเรื่องนี้ดีเช่นกัน ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการบริหาร เขาเองก็อยากให้สถานที่ที่ปลุกปั้นสร้างขึ้นมาได้มีส่วนร่วมและมีส่วนช่วยให้ผู้คนในตำบลห้วยน้ำขาว อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ เข้าถึงการมีสุขภาพที่ดีโดยทั่วกัน

รวมถึงการเป็นศูนย์ฟื้นฟูผู้ป่วยด้านกายภาพบำบัดด้วยน้ำพุร้อนเค็ม ทั้งการนำศาสตร์ ‘อิชิอิ’ ของญี่ปุ่นเข้ามาผสมผสาน ผนวกรวมเข้ากับการนวดแพทย์แผนไทยวัดโพธิ์สำหรับคนที่ต้องการความผ่อนคลาย

ว่ากันมาถึงขนาดนี้แล้ว เราขอแนะนำให้รู้จักกับ ‘Amataya Wellness’ ศูนย์ฟื้นฟูและส่งเสริมสุขภาพที่บอกกับเราว่า พวกเขามี ‘น้ำพุร้อนเค็ม’ ที่ดีที่สุดในประเทศไทย และจากคำบอกเล่าของท็อป ถ้าว่าด้วยเรื่องความเหมาะสมของอุณหภูมิ ร่วมกับคุณสมบัติของแร่ธาตุ สถานที่แห่งนี้ก็สามารถเทียบเคียงได้กับอีกแห่งหนึ่งในสาธารณรัฐเช็กอย่างไม่มีน้อยหน้า หรือก็คือในตำบลเล็กๆ อำเภอน้อยๆ แห่งนี้ มีบ่อน้ำอมฤตที่รอคอยให้ผู้คนมาลองแช่ มีสถานที่รอคอยให้เข้ามาลองนวด และมีที่พักรอคอยให้เข้ามาลองผ่อนคลายอยู่นั่นเอง

Amataya

Klongtom Heritage

ท็อปเล่าว่า อมตยาเป็นหนึ่งในบริษัทลูกของโครงการ Klongtom Heritage ที่ต้องการสร้างเมืองสุขภาพที่นอกจากเป็นศูนย์ฟื้นฟูแล้ว ยังรวบรวมสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายเอาไว้ในที่ที่เดียว ตัดปัญหาเรื่องการเดินทาง ส่งเสริมการมีสุขภาพดีอย่างครบวงจร โดยทั้งหมดมีอมตยาเป็นตัวนำร่อง

“เรามองเห็นว่าถ้ามันเป็นสิ่งที่ดี คนทั่วไปก็ควรจะได้ใช้ประโยชน์นะครับ เลยมีแนวคิดพัฒนาพื้นที่ตรงนี้ประมาณ 398 ไร่ โดยมีคลองท่อมเฮอริเทจเป็นเจ้าของโครงการทั้งหมด เพื่อสร้างเมืองสุขภาพขึ้นมา มีทั้งหมด 13 โปรเจกต์ มีทั้งเรสซิเดนซ์ วิลล่า โรงแรม คอนโดมิเนียม, สปอร์ตคลับ เวลเนสเซ็นเตอร์ มาร์เก็ต คาเฟ่ ไปจนถึง Co-working Space ซึ่งตอนนี้อมตยาเพิ่งเริ่มต้นได้ 2 ปีเท่านั้น” ท็อปเล่าถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นบนพื้นที่ตรงนี้

Amataya

Amataya

บูรณาการศาสตร์เพื่อการบำบัด

‘คิดการใหญ่ ใจต้องนิ่ง’ เห็นจะเป็นวลีที่เหมาะสมกับความคิดเกี่ยวกับเมืองสุขภาพในอนาคตแห่งนี้ อย่างไรก็ตาม สำหรับตอนนี้ ท็อปขอโฟกัสกับอมตยาเป็นอันดับแรก ส่งเสริมความนิ่งให้กับสุขภาพของผู้คน เพราะคงไม่มีใครอยากที่จะให้สุขภาพนั้นเหวี่ยงไปเหวี่ยงมา เข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาลหรือศูนย์ฟื้นฟูอยู่บ่อยๆ แต่การแช่น้ำเฉยๆ ก็คงไม่ช่วยให้ร่างกายสมบูรณ์ 100% นัก ท็อปเองก็รู้ถึงจุดนั้นดี เขาจึงพยายามมองหาศาสตร์มาบูรณาการเข้ากับน้ำพุร้อนเค็ม เพิ่มเสริมเติมแต่งศักยภาพของมันให้มากยิ่งขึ้น ดียิ่งขึ้น และผ่อนคลายยิ่งขึ้น

“เราพยายามเฟ้นหาสิ่งที่ดีที่สุดของไทยเรา ศาสตร์ที่หนึ่งของเราจึงเป็นแพทย์แผนไทยวัดโพธิ์ คนไทยรู้จัก ทั่วโลกรู้จัก แถมยังเป็นการนวดแผนไทยโบราณดั้งเดิมที่มีเอกลักษญ์เฉพาะตัวอีกต่างหาก

Amataya

“ศาสตร์ที่สอง เราได้ยินกันมานานแล้วว่า ญี่ปุ่นมีน้ำพุร้อนที่ดี รักษาโรค ช่วยผ่อนคลาย พอเราไปหาข้อมูลก็พบกับ ‘อิชิอิ’ ซึ่งเป็นสถาบันกายภาพของญี่ปุ่น ศาสตร์ที่สองของเราจึงมีชื่อว่า วารีบำบัด เป็นวิธีการเอาน้ำมาบำบัดรักษาโรค หรือสร้างความผ่อนคลายให้ร่างกาย เป็นศาสตร์การควบคุมอุณหภูมิของญี่ปุ่น ทำให้ร่างกายมีการตื่นตัวเมื่อกระทบร้อนเย็นไปมาเพื่อกระตุ้นภูมิต้านทานของเราให้ทำงานได้ดีขึ้นยิ่งขึ้น

Amataya

“สำหรับศาสตร์ที่สามต้องเกริ่นก่อนว่า ไทยเป็น Medical Hub ที่ทั่วโลกเชื่อมั่น เพราะฉะนั้นเราจึงต้องมีแพทย์แผนปัจจุบันเป็นหนึ่งในศาสตร์ของที่นี่ โดยร่วมมือกับโรงพยาบาลใหญ่ในด้านสุขศาสตร์ และบูรณาการให้เข้ากับการแช่น้ำพุร้อนเค็ม”

ท็อปนับนิ้วเล่าครบทั้ง 3 ศาสตร์แล้ว แต่มันยังไม่หมดแค่นั้น เขาเปรยว่า ในเร็ววันนี้ ที่นี่จะมีผู้เชี่ยวชาญด้านการฝังเข็ม หรือแพทย์แผนจีนมาให้บริการ นอกจากนี้ โยคะก็เป็นอีกหนึ่งศาสตร์ที่จะถูกเพิ่มเข้ามาเพื่อช่วยปรับสมดุลให้ร่างกายของผู้เข้าใช้บริการมีดุลยภาพมากขึ้น

Amataya

ศูนย์ฟื้นฟู อาคารฟื้นกาย สถานที่ฟื้นใจ

ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว จะนั่งพูดคุยกันเฉยๆ ก็กระไรอยู่ เราเลยขอให้ท็อปพาเดินทัวร์สถานที่แห่งนี้พร้อมกับบทสนทนาที่ยังคงดำเนินต่อไป

เริ่มต้นกันที่อาคารที่พวกเรากำลังยืนพูดคุยกันอยู่ นั่นคือ ‘อาคาร Wellness’ ที่เปรียบเสมือนล็อบบี้ต้อนรับ โดยในอาคารนี้ประกอบไปด้วยห้องอาบอุ่น (ห้องสำหรับแช่น้ำร้อน) ที่แบ่งฝั่งหญิงชายแยกต่างหาก และห่างกันพอสมควร ทั้งสองห้องจะประกอบไปด้วยบ่อน้ำร้อน บ่อน้ำอุ่น และบ่อน้ำเย็น

Amataya

“อันดับแรกก็มาวอร์มอัพให้ร่างกายตื่นตัวก่อน ด้วยความที่ร่างกายคนเราจะมีอุณหภูมิอยู่ที่ 37 องศาโดยเฉลี่ย หลังจากแช่ให้ตื่นตัวประมาณ 5-15 นาทีแล้ว ก็ไปต่อที่บ่อ 42 องศา อัปตัวเองให้ร้อนมากขึ้น เซลล์จะเริ่มขยายตัว การไหลเวียนของเลือดเองก็จะดีขึ้น น้ำแร่จะแทรกซึมเข้าไปในผิว แช่ประมาณสัก 5-10 นาที

“ต่อไปเข้าศาสตร์ญี่ปุ่น น็อกด้วยน้ำเย็น 20 องศาเลยครับ กล้ามเนื้อเราจะหดตัวและยุบตัว มันคือการนวดทางธรรมชาติที่เขาเรียกวารีบำบัด สามารถทำเป็นยกๆ ตามเวลาที่เหมาะสมได้เลย แต่ก็ไม่ควรเกิน 10-15 นาที เพราะเราอาจจะวิงเวียนศีรษะโดยไม่รู้ตัวได้” ท็อปเล่าถึงวิธีการใช้งานบ่อต่างๆ ในห้องอาบอุ่น

Amataya

สำหรับคนที่ไม่สะดวกใจจะแช่น้ำร่วมกับคนอื่น และต้องการพื้นที่ส่วนตัว ท็อปก็สามารถจัดหาให้ได้ เขาพาเราเดินต่อไปยังด้านข้างของห้องอาบอุ่น ตรงนั้นเป็นที่ตั้งของห้อง VIP ที่ยังคงบรรยากาศของการถูกรายล้อมด้วยธรรมชาติเอาไว้ มีบ่อสำหรับแช่ และเตียงสำหรับนวด หรือถ้าใครอยากลองสัมผัสการแช่ตัวในอ่างไม้ ห้องส่วนตัวอีกแบบหนึ่งก็มีให้พร้อม

อันที่จริงผู้ใช้บริการสามารถเลือกได้ว่าจะแช่อย่างเดียว หรือจะนวดอย่างเดียวก็ได้ แต่ท็อปขอแนะนำว่า ถ้าอยากครบเครื่องเรื่องความสบาย ทั้งแช่และนวดต่อกันเห็นจะเป็นการดีต่อตัวเรา น่าเสียดายที่เวลาไม่อำนวย ผมและตากล้องจึงได้เพียงแค่ใช้บริการนวดแพทย์แผนไทยเพื่อการันตีคำบอกเล่าของท็อป ตรงส่วนนี้ขอไม่สาธยายให้บทความยืดเยื้อ เอาเป็นว่าสิ่งที่ท็อปนำเสนอมาตลอดเกือบ 50 นาทีนั้นเป็นความจริง

Amataya

เมื่อเสร็จสิ้นจากตัวอาคาร Wellness แล้ว เราก็ไปยังพื้นที่อื่นๆ ก่อนจะเจอเข้ากับอาคารกายภาพ (ห้องอิชิอิ) ซึ่งข้างในมีบ่อน้ำพุร้อนประจำอาคาร ในส่วนของผู้ป่วยที่ไม่สามารถขยับร่างกายได้อย่างสะดวก จำเป็นต้องนั่งรถเข็น และมีคนพยุง ทางศูนย์ได้มีการจัดเตรียมอุปกรณ์เพื่อให้ลงไปแช่ในบ่อผ่านการนั่งเก้าอี้ที่ควบคุมด้วยรีโมท พร้อมสายรัดเพื่อความปลอดภัย

ต่อมาเป็นพื้นที่เรสซิเดนซ์ หรือที่อยู่อาศัยเพื่อการพักฟื้น รองรับได้ตั้งแต่คนที่มาคนเดียวเพื่อผ่อนคลาย ครอบครัวเล็ก ไปจนถึงครอบครัวใหญ่ เตียงนอนสามารถเปลี่ยนเป็นเตียงสำหรับผู้ป่วยได้ และอย่างหนึ่งที่แน่นอนว่าต้องมี คือบ่อน้ำพุร้อนในทุกๆ ห้อง

“สิ่งหนึ่งที่เราอยากให้ผู้เข้าพัก หรือไม่ได้เข้าพักได้ประสบการณ์กลับไป คือการได้มาสัมผัสน้ำพุร้อนเค็มของเรา ซึ่งผสมผสานหรือเติมเต็มด้วยศาสตร์ที่ผมกล่าวมาทั้งหมด มันจะทำให้เขามีความรู้สึกคุ้มค่าที่ได้มา เป็นความรู้สึกขั้นอัลติเมทเลย

Amataya

“อย่างที่สอง คือ บรรยากาศเพื่อให้สอดคล้องไปกับการผ่อนคลายมากที่สุด จะเห็นว่าตั้งแต่ช่วงทางเข้ามา จะทำให้รู้สึกว่ากำลังเข้ามาสู่ดินแดนที่จะทำให้เรามีความสุข แล้วก็มีสุขภาพที่ดีกลับไป

“สุดท้ายคือการให้บริการครับ เราทราบว่า คนที่มาส่วนใหญ่ต้องการที่จะมีความสุข มีสุขภาพที่ดีกลับไป เพราะงั้นเราต้องเติมเต็มแล้วก็ตอบโจทย์ให้ผู้ที่เข้ามาใช้บริการ สิ่งนี้เรียกว่า การบริหารความคาดหวังของลูกค้า เรายกอันนี้ให้เหนือกว่าทุกสิ่งอย่างครับ” ท็อปเล่าด้วยน้ำเสียงอันหนักแน่นในความตั้งใจ

Amataya

หลักจากเดินดูจนครบแล้ว เราถามท็อปด้วยความสงสัยว่า ท่ามกลางธรรมชาติที่เต็มไปด้วยศักยภาพ อะไรคือข้อจำกัดของสถานที่แห่งนี้ หลังจากสิ้นประโยคคำถาม เครื่องหมาย Question Mark ยังไม่ทันถูกเติม ท็อปก็ตอบแทบจะทันทีเหมือนรู้อยู่ก่อนว่าต้องเจอคำถามนี้ ส่วนหนึ่งเห็นจะเป็นเพราะเขารู้ดีอยู่แล้วว่า สิ่งต่อจากนี้คือข้อจำกัดที่รอวันแก้ไข ถึงอย่างนั้น ก็เป็นสิ่งที่เขาเองก็ไม่อาจทำได้ด้วยตัวคนเดียว

“การคมนาคมครับ” ท็อปตอบ “ด้วยระยะทาง และเราไม่ได้อยู่ในพื้นที่หัวเมือง ถ้าเกิดว่าคนที่ไม่มียานพาหนะส่วนตัวก็คงจะเข้ามาลำบาก เพราะฉะนั้นถ้าเกิดมีการคมนาคมที่สะดวกขึ้น มีเส้นทาง หรือมีบริการขนส่งสาธารณะจะดีมาก เพียงแต่ตอนนี้ยังไม่มี และเพื่อให้คนเข้าถึงสุขภาพที่ดีขึ้นอย่างทั่วถึง ผมว่ามันเป็นสิ่งที่ควรมี เพื่อตัวจังหวัด เพื่อตัวอำเภอ และเพื่อตัวของผู้คนในพื้นที่ด้วยครับ”

Amataya Wellness
เว็บไซต์: https://amatayawellness.com/
FB: AmatayaWellness

Tags: