Craft is Sexy
Kitt.Ta.Khon แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ไทยดีไซน์สนุก สร้างงานคราฟต์ให้ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน
- คุยกับ พีท-ธีรพจน์ ธีโรภาส เจ้าของแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ที่ผสานงานหัตถกรรมเข้ากับความสนุก จากนักออกแบบกลายเป็นอาร์ทิสต์ ผู้ค้นพบความเป็นหนึ่งเดียวกันของงานคราฟต์ทั่วโลก และสำรวจพื้นที่ธุรกิจที่เครือข่ายนักออกแบบไทยเอื้อเฟื้อกัน
Kitt.Ta.Khon (ฆิด-ตา-โขน) มาจากการรวมกันระหว่างสองคำ คือคำว่า Kitsch Design และ ผีตาโขน
พีท-ธีรพจน์ ธีโรภาส หยิบเอา Kitsch Design หรือดีไซน์ที่เห็นได้ในชีวิตประจำวันที่หลายคนมักมองข้ามและไม่ได้ให้ค่า จนบางครั้งถูกเรียกว่า Low Design มารวมกับสีสันความฉูดฉาดที่เป็นภาพจำของผีตาโขน เกิดเป็นแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ที่แม้จะเป็นของทั่วๆ ไป แต่กลับเตะตาและมากไปด้วยคุณค่าจากงานฝีมือ
เพราะฉะนั้น หากห้องคุณเป็นสีขาวล้วนแสนมินิมัล เก้าอี้ของ Kitt.Ta.Khon ก็เหมือนกับต่างหูของผู้หญิง ที่เมื่อได้วางไว้สักมุมในห้องนั้นก็สามารถทำให้ทั้งห้องสวยครบขึ้นมาได้ทันตา
ครั้งนี้ ONCE มาอยู่ที่ซอยเจริญกรุง 30 ที่ตั้งของ Kitt.Ta.Khon Flagship Store เพื่อมาคุยถึง 5 ปีกว่าพีทจะมีร้านนี้ขึ้นมาได้ และร่วมมองคราฟต์ในรูปแบบใหม่ ไม่ได้เป็นของที่น่าเบื่อ ดั่งสโลแกนเด่นหราหน้าร้านที่ว่า Craft is Sexy
Craft is Life
ภายในตึก เฟอร์นิเจอร์ของแบรนด์ Kitt.Ta.Khon ถูกจัดวางบนแท่นและมีโคมไฟแทร็กไลต์ส่อง ราวกับเรากำลังเดินชมผลงานศิลปะในพิพิธภัณฑ์ เก้าอี้บางตัววางซ้อนกัน 3 ชั้น กระจกบางบานถูกวางลงให้ส่องได้จากบนพื้น เฟอร์นิเจอร์แต่ละชิ้นในร้านตั้งเด่นเป็นสง่า มีสีสันและรูปแบบต่างกันเป็นของตัวเอง อย่างที่เราไม่เคยเห็นจากร้านขายเฟอร์นิเจอร์ทั่วๆ ไป
เราสังเกตว่าวัสดุของเฟอร์นิเจอร์หลักๆ นั้นเป็นหวาย ดีไซน์สานงานโค้งมน ได้กลิ่นอายความเป็นตะวันออก นอกจากนั้น ยังมีเฟอร์นิเจอร์สำหรับกลางแจ้งทำจากวัสดุอะลูมิเนียม รีไซเคิลพลาสติก และเชือกไนลอนด้วยเช่นเดียวกัน
เมื่อเจอเจ้าของร้าน พีทก็อธิบายให้ฟังว่า ชั้นแรกของร้านจะเป็นช้อปซื้อขายของไลฟ์สไตล์ ชั้นที่สองเป็นพื้นที่หมุนเวียนจัดแสดงสินค้า และชั้นสามเป็นส่วนจัดนิทรรศการที่ทุก 3-4 เดือน จะมีโปรเจกต์สินค้าที่ทำร่วมกับแบรนด์อื่นๆ นำมาวางจัดแสดง
เราหยุดคุยกับพีทบนชั้นสองของร้าน เจ้าของแบรนด์แนะนำตัวเองก่อนแล้วจึงแนะนำชื่อเก้าอี้หวายย้อมสี สานด้วยเชือกไนลอนที่เรานั่ง มันมีชื่อว่า ซักผ้า ระหว่างที่คุยกัน พีทเผลอหลุดยิ้มเมื่อนึกย้อนไปว่า ก่อนจะมาเป็นนักออกแบบให้แบรนด์ Kitt.Ta.Khon ตนเคยผ่านการทำงานมาอย่างโชกโชนขนาดไหน
“ก่อนมาทำแบรนด์ ผมอยู่ในวงการออกแบบมาก่อน ทำงานประจำกับแบรนด์ชื่อ อโยธยา มีโอกาสทำงานกับกรมการส่งเสริมการส่งออกภายใต้แบรนด์นี้นี่แหละ ทำเกี่ยวกับเรื่องพัฒนาชุมชน งานหัตถกรรมต่างๆ เพื่อนำผลงานไปโชว์ที่ต่างประเทศในนามโครงการ T-STLYE : ISAAN OBJECT เป็นงานชาวบ้านจากอีสานที่ออกแบบใหม่ปีละ 10 กลุ่ม”
พีทเล่าว่า ช่วงที่ทำงานประจำ เขาช่วยพัฒนาผลงานหัตถกรรมของชาวบ้านมากว่า 30 ชุมชน และใช้เวลาช่วงวัยรุ่นของตัวเองทำงานร่วมกับภาครัฐมาเรื่อยๆ แต่เมื่อลองตกตะกอนกับตัวเองว่า สิ่งที่ทำนั้นกำลังช่วยชาวบ้านได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยขนาดไหนกัน พีทไม่ได้คำตอบที่ตัวเองค้นหานัก ไฟที่เคยแรงเริ่มอ่อนลง จึงต้องออกเดินทางใหม่อีกครั้ง
“เราไปเป็นอาสาสมัครอยู่ในชุมชนประเทศอินโดนีเซียอยู่ 4 – 5 เดือน ไปออกแบบสนามเด็กเล่นให้ชาวบ้านที่อยู่ในป่าไผ่ แล้วก็ไปอยู่ในชุมชนแออัดในประเทศโมร็อกโก ไปพัฒนางานของชาวบ้านที่นั่น แล้วก็ได้หาแนวทางในงานของเราไปด้วย”
หลังจากได้ค้นพบแรงบันดาลใจจากการเดินทางไปหลายๆ ที่ในโลก พีทก็มั่นใจว่าความหลงใหลในงานคราฟต์ของเขานั้นยังมีไม่สิ้นสุด ยิ่งได้เจอผู้คนมากมายหลากหลายวัฒนธรรม เขายิ่งเห็นความเป็นหนึ่งเดียวกันของการทำงานหัตถกรรมของคนทั่วโลก จึงตั้งใจจะกลับบ้านมาเพื่อทำแบรนด์ที่ส่งต่อความคราฟต์นี้ต่อไป
เมื่อได้สัมผัสกับงานหัตถกรรมมาหลายประเภท พีทพบว่า หากต้องมีโปรดักต์แบรนด์ตัวเองสักอย่าง เขาคิดว่าเฟอร์นิเจอร์นั้นเหมาะสมที่สุด เพราะพีทเชื่อว่า การจะทำให้งานคราฟต์ยังอยู่ต่อไปได้ คือการให้คนได้มีมันอยู่ในชีวิตประจำวัน จึงเกิดเป็นการผสานงานคราฟต์เข้ากับเฟอร์นิเจอร์ที่ตั้งได้ทุกบ้าน แม้จะมีขั้นตอนการผลิตที่ยาก แต่การทำเฟอร์นิเจอร์ก็เป็นตัวเลือกที่ถูกต้องที่สุดสำหรับโจทย์ความตั้งใจที่จะทำแบรนด์ของเขาแล้ว
“เฟอร์นิเจอร์เป็นสิ่งที่ทำให้เราจ่ายเงินให้คนทำงานได้อย่างที่เราต้องการจะจ่ายด้วย นั่นคือการ Fair Trade ให้เขาสามารถมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ด้วย เพราะเป็นตลาดที่สามารถเพิ่มมูลค่าได้สูง เราอยากให้ทุกคนได้ผลตอบแทนที่ต้องการอย่างสมเหตุสมผล”
Craftsmanship
บทสนทนาเริ่มลื่นไหล เราลองขอให้พีทบรรยายความยากของการทำแบรนด์ในมุมนักออกแบบ เขาเริ่มจากเรื่องโปรดักต์ที่เป็นเฟอร์นิเจอร์นั้นนับว่าท้าทายที่สุด เพราะไม่ใช่แค่ต้องตั้งได้เฉยๆ แต่คุณภาพวัสดุ ความทนทาน การใช้งานได้จริงนั้นสำคัญมาก ส่วนเรื่องการสร้างแบรนด์ Kitt.Ta.Khon เป็นแบรนด์ที่พีทเรียกว่านิชมาก คือมีลูกค้าเฉพาะกลุ่ม กว่าจะเจาะตลาดให้กว้างขึ้นได้ก็ใช้เวลานับปี
“ถ้าดูคอลเลกชันแรกๆ ของเราจะเป็นสีขาวดำ เก้าอี้ปล่อยขน ที่สานไม่จบด้วยความจั้งใจ เพราะต้องการสร้างความยูนีกให้แบรนด์ ในตลาดต่างประเทศเขาอาจจะพอเข้าใจ แต่ว่าสุดท้ายลูกค้าก็กลุ่มเล็กมาก ยิ่งพอมาอยู่ในเมืองไทยอีก ยิ่งเล็กเข้าไปใหญ่ ปีแรกๆ ก็ต้องปรับตัว ขยายคอลเลกชันให้เยอะขึ้น อย่างเก้าอี้ ‘ซักผ้า’ ก็เป็นเก้าอี้รูปแบบที่คนเคยเห็นทั่วไป เหมือนเป็นจุดเริ่มต้นรู้จักแบรนด์ เริ่มเปิดใจแล้วค่อยๆ ขยายไป”
นอกจากความยากของตัวโปรดักต์เอง ธุรกิจของพีทก็พบกับอุปสรรคใหญ่ตั้งแต่ปีแรก ซึ่งเป็นอุปสรรคเดียวกับที่เจ้าของธุรกิจหลายๆ คนเจอ นั่นก็คือวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ที่ทุกภาคส่วนล้วนหยุดชะงักกันหมด โมเดลการตลาดที่มุ่งส่งออกของ Kitt.Ta.Khon ก็ต้องถูกพับเก็บไปด้วย
พีทเล่าว่า กว่าแบรนด์จะผ่านความซบเซาช่วงนั้นมาได้ เขาต้องขนของที่มีไปขายตามตลาดนัด และมีไลน์ผลิตหลักเป็นเก้าอี้รองนวดแผนไทยส่งให้ตามโรงแรม ซึ่งเป็นหนึ่งในไม่กี่ธุรกิจที่ยังดำเนินต่อได้ดีในช่วงกักตัว นอกจากนั้น ก็ต้องกลับมาเน้นดีไซน์ที่คนในประเทศเข้าใจได้ง่ายขึ้น จนเกิดเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหม่ๆ เช่น Wall Art และการได้ร่วมงานกับแบรนด์งานฝีมือแบรนด์อื่นๆ ในประเทศมากขึ้น
“ตอนนั้นเราไปซื้อผ้าลดราคาจากแบรนด์ Jim Thompson เอามากรุเก้าอี้แต่ละตัว ลายไม่เหมือนกันเลย นำมาขายออนไลน์ เก้าอี้ตัวเล็กๆ ราคาถูกหน่อย คนยังมีกำลังซื้อได้ ก็ปรับตัวกันไป ซึ่งโปรเจกต์นั้นเป็นที่มาที่ทำให้ได้มาคอลแล็ปกับ Jim Thompson นี่แหละครับ”
ด้วยนิยามตัวเองเป็นนักออกแบบมาเสมอ เรื่องธุรกิจจึงมีปัจจัยมากมายให้เขาต้องเรียนรู้ กว่าพีทจะผ่านความยากของแต่ละช่วงมานั้น การถ้อยทีถ้อยอาศัยกันของคนในวงการและพาร์ตเนอร์ธุรกิจก็มีส่วนสำคัญ
“เรามีพาร์ตเนอร์คือคุณสุวรรณ์ เจ้าของแบรนด์ โยธกา เป็นแบรนด์ที่อยู่ในเมืองไทยมา 35 ปีแล้ว บางคนมองว่าเราเหมือน พ่อลูก เป็นครูลูกศิษย์กัน คุยกัน แข่งกันออกแบบ งานเขาจะมีความเป็นผู้ใหญ่หน่อย แต่ของเราจะเป็นคราฟต์เด็กลงและร่วมสมัยขึ้น ถ้าโยธกาเป็นแบรนด์กระเป๋าแฟชั่นคลาสสิกเราก็เป็นเหมือนแบรนด์ลูกของเขาประมาณนั้น”
Craft of Kitt.Ta.Khon
พอได้ฟังหลากหลายเรื่องราวที่พา Kitt.Ta.Khon ก้าวเข้าสู่ปีที่ 5 เราเลยยิงคำถามว่าวันนี้ อะไรทำให้แบรนด์มาเจอความเป็นตัวเองได้จริงๆ เหรอ
“การมีร้านนี้นี่แหละครับ” พีทตอบ เราทั้งคู่มองไปรอบๆ ห้องก่อนจะกลับมาคุยกันต่อ
“พอมีร้านแล้วมันสามารถสร้างคาแรกเตอร์ของเราได้ชัดเจนขึ้น ต่างจากตอนไปออกงานแฟร์ที่คนจะเห็นภาพเราไม่ชัดเท่าไหร่ ตอนนี้เรามีความแฟชั่นขึ้น เข้าถึงไลฟ์สไตล์ของคนมากขึ้น แล้วก็สามารถย้อนกลับไปที่ความตั้งใจแรกที่อยากช่วยชาวบ้าน ช่วยสนับสนุนชุมชนได้แล้วจริงๆ ”
ช่างที่ผลิตงานให้กับ Kitt.Ta.Khon นั้นเป็นชาวบ้านฝีมือดีจากหลากหลายชุมชนของไทย พีทเล่าว่า เขานำรอยรั่วที่เจอจากตอนทำโปรเจกต์กับรัฐบาลมาปรับใช้เมื่อได้ทำงานร่วมกับชุมชนอีกครั้ง จากที่ต้องรีบทำตัวเลขให้ได้เท่านั้นเท่านี้ในแต่ละปี เขากลับเข้าใจธรรมชาติการทำงานหัตถกรรมชาวบ้านมากขึ้น ไม่ต้องเร่งรีบกดดันอีกต่อไป
“คราฟต์ในชุมชนเป็นงานเสริมอยู่แล้ว บางทีเขาต้องไปทำนาเป็นรายได้หลัก พอมีเวลาว่างค่อยกลับมาทำงานให้ผม พอได้ครบตามจำนวนก็ส่งกลับมาให้ผมขาย ไม่ต้องยึดแล้วว่าเราต้องรีบส่งออกเป็นร้อยชิ้น แต่เรามีร้านที่เราบริหารสต๊อกของเองได้ อธิบายสินค้ากับลูกค้าเองได้ เลยรู้สึกว่าเป็นโมเดลที่เรามีความสุข แล้วก็ลงตัวขึ้น”
Future of Craft
เราคุยกับพีทจนใกล้จะถึงเวลาเปิดร้าน เจ้าของร้านเล่าว่า ที่นี่เขาพบกลุ่มลูกค้าหลากหลาย ไม่ใช่แค่คนที่อยากซื้อของตกแต่งบ้าน แต่มีทั้งศิลปิน เจ้าของคาเฟ่ และชาวต่างชาติ
Kitt.Ta.Khon นั้นพูดถึงวัฒนธรรมการสร้างงานหัตถกรรมจากทั่วโลก เราจึงได้เห็นเอกลักษณ์ที่คาบเกี่ยวกันของเชื้อชาติในงานของที่ร้านเสมอ จึงไม่แปลกที่ลูกค้าต่างชาติจะเข้าถึงคราฟต์ไทยได้เช่นกัน
“อย่างลายสานบนกระติ๊บ ลูกค้าคนโมร็อกโกมาเห็นก็บอกว่าลายเหมือนพรมบ้านเขาเลย เท่ากับว่าแล้วแต่คนจะเข้าใจจะตีความ เพราะว่าคราฟต์อยู่เมืองไหน ก็ใช้เทคนิคการทอเหมือนกัน เครื่องทอก็เหมือนกัน ไม่ได้หนีจากกันมาก เพราะฉะนั้น คนที่ชื่นชอบหัตถกรรมก็เข้าใจงานของเรา”
เราถามต่อถึงก้าวใหม่ๆ ของแบรนด์ พีทอัปเดตว่าตอนนี้ Kitt.Ta.Khon กำลังจะมีโปรเจกต์ร่วมกับแบรนด์ Suchai Craft แบรนด์โรงงานปั๊มลายขันอะลูมิเนียม ธุรกิจครอบครัวที่ได้รุ่นลูกเป็นเด็กรุ่นใหม่มาพัฒนาให้สินค้ามีความสนุกมากขึ้น นับว่าน่าติดตามว่าผลิตภัณฑ์ที่จะทำร่วมกันจะอยู่ในรูปแบบไหน
“พอเราอยู่ในวงการธุรกิจมาสักพัก ตอนที่เราได้ร่วมงานกับ Jim Thompson เขาเองก็ช่วยผลักดันเรา เราเองถ้ามีโอกาสก็อยากจะผลักดันรุ่นน้อง เด็กๆ ที่เพิ่งจบมาเหมือนกัน อยากจะช่วยๆ กันสนับสนุนแบรนด์ไทยให้เติบโตไปพร้อมๆ กัน เป็นการทำให้ระบบนิเวศของงานออกแบบแข็งแรงขึ้น”
ช่วงท้ายของบทสนทนา เราถามถึงอนาคตของตลาดงานคราฟต์ไทย และพีทตอบโดยไม่ต้องหยุดคิดเลยว่า “ถ้าเรารอดไปได้ก็น่าจะดี” คำพูดของพีทเจือไปด้วยเสียงหัวเราะ แต่เรากลับสัมผัสได้ถึงความจริงจังในนั้น
“ตอนนี้คือมันกำลังจะตายกันหมดด้วยหลายๆ ปัจจัย มีของมาแข่งกับเราเยอะมาก เราว่าต่อไปจะไม่มีโรงงานที่มีคนงานเป็นร้อยคนนั่งสาน โรงงานขนาดเล็กจะมีมากขึ้น แต่เราก็เชื่อว่าอยู่ได้นะ จะมีทางไปของมัน มีคนเข้าใจมูลค่า ถึงตลาดจะเล็กลงเรื่อยๆ แต่ว่างานที่ออกมาก็จะพิเศษขึ้นมากเช่นกัน”
เพราะผลิตภัณฑ์หัตถกรรมแต่ละชนิดจะมีขั้นตอนการสร้างที่ไม่ได้ต่างไปจากกันมากนัก การจะโดดเด่นในตลาดงานคราฟต์ได้ จึงต้องอาศัยเอกลักษณ์ที่ชัดเจนของตัวเอง เช่นเดียวกันกับ Kitt.Ta.Khon ที่พบการสร้างงาน one of a kind และตั้งใจจะ “รอด” ต่อไปให้ได้ เพื่อให้งานคราฟต์ยังอยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคนต่อไป
เยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ของ Kitt.Ta.Khon ได้ที่
https://maps.app.goo.gl/LksypD7piabhv5j69