About
BUSINESS

Design Your Eyewear

Arty & Fern แบรนด์แว่น Custom-made คราฟต์ทุกดีเทลตามความชอบและสรีระของผู้สวมใส่

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • แว่น Custom-made ต่อยอดจากความชอบและสรีระของผู้สวมใส่ Arty & Fern จึงไม่มีแว่นที่ทำซ้ำกัน เพราะงานแต่ละชิ้นถูกคราฟต์มาเพื่อคนคนเดียว

เวลาจะตัดแว่นให้ตัวเองสักอัน จะสั่งดีไซน์แว่นทั้งอันเลยก็ได้นะ ไม่เฉพาะตัดเลนส์ตามค่าสายตาเท่านั้น บทความนี้จะพูดถึงสีและลาย ผิวสัมผัส ทรง ความหนา ความยาวของขาแว่น ฯลฯ โอ๊ย ดีเทลมากเหลือหลาย

ย้อนกลับไปราว 10 ปีที่แล้ว เฟิร์น-อานิกนันท์ เอี่ยมอ่อง และ อาร์ต-ชนกันต์ อุโฆษกุล สนุกกับการซื้อแว่นดีไซน์สวย ซื้อกระทั่งชิ้นที่มั่นใจว่าจะไม่ใส่ พวกเขาคือนักสะสมดีๆ นี่เอง โดยเฉพาะอาร์ตที่พกแว่นไปเที่ยวเยอะเสียจนเกือบโดน ตม.เรียกตรวจสัมภาระ

ด้านเฟิร์นเติบโตมากับครอบครัวที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับแว่น โดยเทรนด์ของธุรกิจสมัยก่อนเน้นเทคโนโลยีการวัดสายตามากกว่าดีไซน์กรอบแว่นสนุก สำหรับเฟิร์น ความเป็นไปได้ที่จะทำอาชีพเกี่ยวกับแว่นจึงเป็นศูนย์มาตลอด จนวันหนึ่งอาร์ตบอกกับเฟิร์นว่า

“อยากลองทำเอง”

แบรนด์ชื่อ Arty & Fern จึงถือกำเนิด นักสะสมแว่นคู่นี้ผันตัวมาเป็นนักดัดแปลงแว่น พวกเขานำแว่นในสต๊อกมาดีไซน์เพิ่มเติมแล้ววางขาย ระหว่างนั้นอาร์ตทำงานประจำในวงการโฆษณาไปด้วย ส่วนเฟิร์นรับฟรีแลนซ์ด้านดีไซน์ไปพลาง

“มันได้รับความสนใจก็จริง แต่ไม่ได้เกิดจากไอเดียของเราทั้งหมด เราแค่หาคอนเซปต์ไปครอบมัน” เฟิร์นกล่าว

พอรู้ตัวว่าทักษะของตัวเองมีจำกัด ทั้งคู่ก็มองหาสถาบันทั่วโลกก่อนจะมาจบที่เมืองที่มีประวัติการทำแว่นมาอย่างยาวนานในฝรั่งเศส นั่นคือจุดเริ่มต้นที่แท้จริงของ Arty & Fern แบรนด์แว่น Custom-made สัญชาติไทยที่ตั้งใจคราฟต์แว่นให้ตอบโจทย์ทั้งแง่ดีไซน์และการใช้งาน

Arty & Fern

แว่นที่ออกแบบมาเพื่อคนใส่

สกิลดีไซน์ไม่ต้องพูดถึง เฟิร์นกับอาร์ตอยู่ในระดับมืออาชีพอยู่แล้ว ส่วนสกิลคราฟต์แว่นต้องปูพื้นฐานเพิ่มเสียหน่อย

“เหตุผลที่เลือกไปฝรั่งเศสคือเราเจอสถาบันสอนเฉพาะทาง เป็นโรงเรียนช่าง เราอยากรู้การทำแว่น Step by Step ว่าโครงสร้างแว่นคำนวณยังไง ตัดยังไง ที่นี่เลยตอบโจทย์”

สถาบันที่เฟิร์นและอาร์ตไปคือ The Meilleurs Ouvriers de France Lunetiers (MOF) ตั้งอยู่ที่ Morez เมืองลับแลติดภูเขา บ้านเรือนหลังเล็กๆ ล้วนเป็นโรงงานทำแว่นมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 แต่ละแห่งดำเนินกิจการถึงรุ่นที่ 3 หรือ 4 แล้ว ที่พักที่หาได้บนอินเทอร์เน็ตก็มีเพียง 1-2 ที่ แต่สัญชาตญาณของเฟิร์นบอกว่า “มันต้องมีเวทมนตร์อะไรแน่ๆ เลย”

Arty & Fern

“เราเริ่มจากการวาดด้วยดินสอบนกระดาษไข เขาไม่ให้ใช้คอมพิวเตอร์เลย เขาไม่ได้บอกเหตุผลชัดเจน แต่พอผ่านตรงนั้นมา เราเห็นความสำคัญของเส้นทุกเส้น โค้งนี้เปลี่ยนไป 1 องศา จะให้ความรู้สึกแบบไหน ถ้าหนาขึ้นจะเป็นยังไง ยิ่งแว่นทรงเรียบ สีเดียว ยิ่งยาก ตอนเรียนเขาเลยให้เริ่มจากแว่นที่เรียบง่ายที่สุดก่อน และการได้ลบแล้วแก้ มันสร้างนิสัย เราจะคอยเช็กตลอดว่าอยากแก้อะไรอีก นิดเดียวก็เอา ถ้าจะทำให้ดีขึ้น” ทั้งคู่ปูพื้นฐานมาแน่นปึ้กสมใจอยาก แม้ตอนนั้นยังไม่รู้ตัวว่าในอนาคตจะเป็นเจ้าของธุรกิจ

“อาจารย์เล่าให้ฟังว่าเคยทำงานอะไรมาบ้าง เขาเปิดรูปแว่นสำหรับคนที่มีโครงสร้างผิดปกติเลยไม่สามารถใส่แว่นทั่วไปได้ พอเราเห็นตรงนั้น เราว่าจุดสูงสุดของการดีไซน์แว่นไม่ใช่แว่นที่สวยที่สุดหรือดีไซน์ล้ำลึกที่สุดเท่านั้น มันเป็นงานคราฟต์ที่ช่วยแก้ปัญหา นี่เป็นแก่นสำคัญของการทำแว่น Custom-made

Arty & Fern

เรานึกถึงเพื่อนและคนรู้จักที่ใส่แว่น เขามีเรื่องให้บ่นเกี่ยวกับแว่นของเขาตลอด ภาพความทรงจำพวกนั้นมันขึ้นมาเลย มันเหมือนเราเจอแล้วว่าจะกลับไปทำอะไร สิ่งที่รู้อยู่แล้วคือการดีไซน์ สิ่งที่เรารู้เพิ่มคือวิธีการทำเพื่อแก้ปัญหา”

ทิศทางของแบรนด์เริ่มจาก Magical Moment เล็กๆ นี้เอง

Arty & Fern

เลือกแบบที่ใช่ แล้วใส่ไปนานๆ เลยนะ

ตรงหน้าเราคืออะซิเตทหลากสีที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของแว่น มันเหนียว ไม่แตกง่าย แถมไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ต่อผิวมนุษย์ หนึ่งในแบรนด์ที่ได้รับความไว้วางใจจาก Arty & Fern ก็คือแบรนด์อิตาลีชื่อ Mazzucchelli 1849 ผู้ผลิตอะซิเตทเจ้าเก่าแก่

แรกเริ่มเดิมที Arty & Fern ใช้สีเรียบๆ โดยสีเหล่านั้นครอบคลุมสีผิว Warm Tone และ Cool Tone ขณะเดียวกันก็เก็บเกี่ยวฟีดแบ็กหรือความต้องการจากฝั่งลูกค้า แล้วจึงเริ่มสั่งสีสดตามที่เราเห็นบนโต๊ะ ใกล้ๆ กันนั้นมีหน้าแว่นทรงต่างๆ ให้เลือก

“มันอาจจะยากที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับสิ่งที่ยังไม่เคยเห็น เราทำได้แค่ไกด์ ใช้จินตนาการเสริมนิดๆ แต่อีกแง่หนึ่ง ลูกค้าต้องการสิ่งนี้แหละ เขาอยากให้เราเริ่มทำสิ่งใหม่สำหรับเขาโดยเฉพาะ สิ่งที่ยังไม่เคยมีมาก่อน”

Arty & Fern

เฟิร์นแบ่งลูกค้าเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเน้นฟังก์ชันเป็นหลัก กลุ่มที่สองเน้นคอนเซปต์ของดีไซน์ ส่วนอาร์ตและเฟิร์นจะเป็นคนบาลานซ์ฟังก์ชันกับดีไซน์ให้พอดีเอง

“กลุ่มแรกขอแว่นที่เรียบง่ายและใส่พอดี แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่ดูดีไซน์นะ เขาอาจชอบหนา ชอบบาง ไม่ชอบทรงชี้ ทุกคนมีดีเทลความชอบเล็กๆ น้อยๆ ของตัวเองอยู่แล้ว แต่บางคนอาจไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร ขอแค่มันพอดีก็พอ ถ้าเกิดเคสแบบนี้เฟิร์นจะถามหาสิ่งที่ลูกค้าไม่ชอบ”

เฟิร์นต่อยอดถึงประเด็นคำแนะนำการเลือกแว่นบนอินเทอร์เน็ต ตารางเทียบรูปหน้ากับกรอบแว่นถูกลงรายละเอียดชัดเจนว่าใครใส่แว่นทรงไหนได้บ้างและทรงไหนที่ห้ามใส่ ข้อมูลนั้นช่วยไกด์ทรงแว่นให้เหมาะกับรูปหน้าได้ก็จริง แต่สำหรับ Arty & Fern ถ้าลูกค้าบอกว่าชอบก็จะทำให้ เพราะ ‘ทรงแว่นที่ถูกใจ’ สำคัญไม่น้อยไปกว่า ‘ทรงแว่นที่ถูกต้อง’

Arty & Fern

“กลุ่มที่สองมีไอเดียมาแล้วเล่าๆๆ ให้ฟังเลย เฟิร์นมองว่ามันเหมือนงานนิเทศแหละ เพียงแต่ภาพที่ออกมาไม่ใช่กราฟฟิก มันเป็นแว่นตา แล้วเฟิร์นจะบาลานซ์ให้ใช้งานได้จริง เฟิร์นจะบอกลูกค้าเสมอว่าเน้นใส่สบายที่สุด เราพูดกันตามตรงว่ากรอบแว่นราคาค่อนข้างสูง ลูกค้าก็คาดหวังว่าจะใช้งานไปยาวๆ”

มีวิธี Break The Ice ยังไงบ้าง – เราถามตามเนื้องานที่จำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างคน

“โห ช่วงแรกๆ ยากมาก ลูกค้ามีหลากหลายมาก สมมติเป็นผู้ใหญ่ที่มีความทางการ เราจะเอาแว่นมาเป็นตัวกลาง ถามว่าแบบนี้แฟนซีไปไหมคะ ใช้ในที่ทำงานได้หรือเปล่า เขาก็จะพูดออกมาว่าเขาทำงานประเภทไหน หลังจากนั้นเฟิร์นจะถามเกี่ยวกับงานของเขาเลย เพราะเขาเปิดช่องให้แล้ว

อาร์ตดูแลโปรดักชันก็เหนื่อยแบบหนึ่ง เฟิร์นเน้นคุยกับลูกค้าก็เหนื่อยอีกแบบหนึ่ง มันคนละสกิลกัน และถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไป เราจะไม่สามารถทำแว่นออกมาได้สำเร็จเลย”

Arty & Fern

Arty & Fern

คราฟต์ให้ได้ ซ่อมให้ด้วย

“แว่น Custom-made มันประณีตนะ ถ้าผิดพลาดครั้งยิ่งใหญ่ต้องกลับไปขั้นแรกเลย เพราะแก้แล้วอาจจะไม่ดีเท่าที่ต้องการ นอกจากต้องเริ่มใหม่”

สิ่งสำคัญที่สุดคือการทำสัดส่วนแว่นให้พอดีกับหน้าและทำดีไซน์ให้ถูกใจ ด้วยการคราฟต์กว่า 260 ขั้นตอน นั่นจึงเป็นเหตุผลให้เราตกใจเล็กน้อย เมื่อรู้ว่าช่างทำแว่นมีโอกาสจะต้องกลับไปนับ 1 ใหม่

Arty & Fern

Arty & Fern

ยิ่งประณีตก็ยิ่งกินเวลา แถมบางครั้งการทำใหม่อาจง่ายกว่าซ่อม ยกตัวอย่างเคสซ่อมแว่นที่ใช้เวลาหลายวัน เพื่อให้มั่นใจว่าแว่นจะกลับมาแข็งแรงดังเดิม

“จำเป็นต้องใช้แว่นเย็นวันนี้” นี่คือโจทย์หินจากลูกค้าท่านนั้น อาร์ตเลยตัดแผ่นอะซิเตท ขัด แล้วทำหน้าแว่นใหม่แบบเร่งด่วน ลูกค้าจึงได้แว่นสำรองไว้ใช้งาน ส่วนแว่นที่นำมาซ่อมก็ฝากไว้กับร้าน

Arty & Fern

Arty & Fern

Arty & Fern

Arty & Fern

Arty & Fern

Arty & Fern

แว่นคือไอเท็มที่ต้องเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอ ใส่ครั้งแรกเหมือนจะลงตัว แต่ใส่ไปนานๆ ก็อาจเบี้ยวจนไม่ลงตัวได้ ทั้งคู่จึงพร้อมจะแก้สารพัดปัญหาที่ลูกค้าเจอ ไม่ว่าจะดัด เปลี่ยนอะไหล่ ขันสกรูให้แน่น รวมถึงการทำสปาแว่นที่จะขัดเงาอะซิเตทจนใหม่เอี่ยมอ่อง

“เฟิร์นจะกังวลมากถ้าแว่นมีปัญหาแล้วลูกค้าไม่บอก เวลาลูกค้ากลับมาบอกว่าใส่ไม่ได้ อยากให้ดัด เรารู้สึกขอบคุณทุกครั้ง ไม่อย่างนั้นปัญหาคงถูกทิ้งไว้กับเขาตลอดไป”

Arty & Fern

“ฉันมั่นใจเวลาใส่แว่น”

ขึ้นชื่อว่า Custom-made ดีไซน์ที่เลือกใส่ลงในแว่นย่อมมีความหมาย ตามมาด้วยคุณค่าทางใจ

“เฟิร์นมีลูกค้าผู้หญิงที่ใส่แว่นมาตั้งแต่เด็ก แล้วเขาอยากใส่แว่นในวันแต่งงาน เฟิร์นประทับใจมาก เพราะส่วนใหญ่คนใส่คอนแทคเลนส์ เฟิร์นยังถามลูกค้าเลยว่าเพราะอะไร เขามั่นใจว่าถ้าไม่ใส่แว่นแล้วคนจะงง ที่สำคัญคือเขาจะรู้สึกไม่เป็นตัวเอง เขาให้ความสำคัญกับความมั่นใจเวลาที่ใส่แว่น”

ผลลัพธ์ของโจทย์นี้จึงออกมาเป็นแว่นทรง Cat Eye สีครีมเข้ากับชุดแต่งงานวินเทจที่ลูกค้าส่งรูปมาบรีฟ พร้อมประดับมุก Swarovski

Arty & Fern

นอกจากนั้น พักหลังมานี้จะเห็นอุ้งเท้าของเจ้า 4 ขาเต็มเพจไปหมด นี่ก็เป็นผลงานอีกหมวดที่ตอบโจทย์คุณค่าทางใจของลูกค้า

“คนยุคนี้เลี้ยงน้องหมาน้องแมวเป็นลูกเยอะขึ้นเนาะ เขาอยากมีอะไรที่เกี่ยวกับลูกอยู่บนแว่น เฟิร์นชอบที่ลูกค้ามาตอนแรกยังนิ่งๆ พอถามว่ามีไอเดียอะไรมาไหม ลูกค้าจะบอกว่าเท้าน้องเป็นอย่างงี้นะคะ ก้นน้องเป็นอย่างงี้ ทุกอย่างมันสว่างขึ้นมาเลยเวลาลูกค้าเล่าไอเดียจากน้องหมาน้องแมว”

คู่หูคนทำแว่นจึงกลายเป็นนักสังเกตคาแรกเตอร์สัตว์เลี้ยง เพื่อดีไซน์และเลือกสีอะซิเตทตามโจทย์

“หลังๆ ตอนสั่งอะซิเตทเลยจะนึกถึงน้องแมว ว่าแมวมีสีอะไรบ้างนะ” เฟิร์นหัวเราะ

Arty & Fern

มาตัดแว่นของตัวเองกันเถอะ!

ณ วันนี้ Arty & Fern ปั้นฐานลูกค้าจนแน่นแล้วก็จริง แต่เรายังอยากถามเฟิร์นอยู่ว่าอะไรต่อเชื้อไฟแพสชั่นจนเปิดธุรกิจจริงจัง เพราะการนำแนวคิดของแว่น Custom-made มาประเทศไทยเมื่อ 10 ปีที่แล้วคงไม่ง่าย

“จริงๆ มีคำพูดของรุ่นพี่คนหนึ่งที่เคยทำธุรกิจเสื้อผ้า เขาบอกว่าเซฟโซนของคนส่วนใหญ่หมายถึงการทำงานในองค์กรใหญ่ ส่วนเซฟโซนของเขาคือเซฟโซนที่สร้างเอง อันนั้นถึงจะเป็นเซฟโซนจริงๆ อาจจะลำบากหน่อยในการสร้างโซนของเราขึ้นมา แต่เราจะอยู่ได้ด้วยตัวเราเลยนะ

Arty & Fern

Arty & Fern

Arty & Fern

Arty & Fern

Arty & Fern

Arty & Fern

เขาบอกอีกว่าให้ทำตัวให้ลำบากที่สุด เพื่อผลักดันตัวเอง แก้ไขแล้วพัฒนาต่อไป เราก็มองว่าที่ผ่านมายังได้ฟีดแบ็กดีเลย แล้วมันจะเสียหายตรงไหน ถ้าเราเลิกทำอย่างอื่นแล้วมาโฟกัสสิ่งนี้ ให้รู้ไปเลยว่าจะโตได้แค่ไหน”

จากที่เคยสองจิตสองใจว่าจะลาออกจากงานประจำเดิมหรืองดรับงานฟรีแลนซ์ดีไหม ทั้งคู่ก็ตัดสินใจแน่วแน่ จากนั้นใช้เวลา 1 ปีกว่าเพื่อเซ็ตอัพธุรกิจในทุกด้าน สะสมเครื่องไม้เครื่องมือที่ดีที่สุดตามกำลังทรัพย์ โมอุปกรณ์ใหม่ตามมาตรฐานเครื่องมือที่ใช้เรียน ระหว่างนั้นก็ฝึกปรือฝีมือกับคนใกล้ตัว ก่อนรับลูกค้าเป็นกิจจะลักษณะ

Arty & Fern

“เราเคยมีลูกค้าที่หาแว่นใส่ไม่ได้ด้วยเรื่องขนาด พอเราทำขนาดให้พอดี เขาแฮปปี้มาก มันอิ่มใจที่เราใช้สิ่งที่เรียนมาไปแก้ปัญหาให้เขาได้”

ในตอนที่จดทะเบียนบริษัท เฟิร์นใส่ “เปิดโรงเรียนสอนทำแว่น” ลงไปในจุดประสงค์ด้วย เพราะอยากให้แว่น Custom-made เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมากขึ้น ผู้คนจะรู้ว่ามีหนทางปรับแว่นให้เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด ไหนๆ ก็เป็นไอเท็มสำคัญในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว

Arty & Fern

“คุณจะเรียนเพราะอะไร คุยกับเราตรงๆ ได้เลย เราจะปรับดีเทลตามที่คนเรียนอยากรู้ เพราะการหาประสบการณ์กับอยากทำแบรนด์ของตัวเองมันต่างกัน”

เฟิร์นและอาร์ตไม่หวงวิชา พร้อมบอกเป็นนัยว่า ไม่กลัวคนเอาเปรียบ กลัวคนไม่รู้จักแว่น Custom-made มากกว่า การเติบโตที่ Arty & Fern พยายามผลักดันจึงไม่ใช่แค่ธุรกิจของตัวเอง แต่หมายถึงวงการแว่น Custom-made ทั้งหมด

Tags: