Made for All of You
เส้นทางจากร้านเสื้อผ้าออนไลน์สู่ขอบรันเวย์ Elle Fashion Week 2024 ของ BEENET Corset
- สำรวจไอเดียการทำเสื้อผ้าให้แตกต่าง และใช้ความเชื่อมั่นในตัวเองเป็นการตลาดหลักของ บี – เนตรนภา กาบแก้ว เจ้าของแบรนด์ BEENET Corset แม้ธุรกิจจะหยุดชะงักไปราว 2 ปี แต่เมื่อได้กลับมาวางขายอีกครั้ง เพียงไม่นาน แบรนด์ก็ได้รับสายจาก Elle Thailand ว่าเธอจะได้พาเสื้อผ้าตัวเองไปเดินแฟชั่นโชว์
BEENET corset หยิบเอาโจทย์คอร์เซ็ตที่เคยเป็นดั่งสัญลักษณ์การตีกรอบมาตรฐานสรีระของผู้หญิง มากะเทาะไอเดียใหม่ หลงเหลือความงามภายนอกของชุดชั้นในชนิดนี้ไว้ แต่ดีไซน์ใหม่ให้สามารถโอบรับผู้สวมใส่ได้ทุกรูปร่างและทุกเพศ
ในบทความนี้คงต้องลืมเรื่องราววงการแฟชั่นที่ฟังดูหวือหวาไปก่อน เพราะเรามาคุยกับบีด้วยบทสนทนาที่เต็มไปด้วยความเป็นกันเอง เรียบง่าย แต่ก็มากด้วยแรงบันดาลใจ
ได้คุยกันจึงรู้ว่ามากกว่าไอเดียแฟชั่นแปลก แหวก ไม่ซ้ำ ดีไซเนอร์หน้าใหม่คนนี้เต็มไปด้วยความเชื่อในหัวใจว่า แม่ค้าออนไลน์อย่างเธอจะต้องทำแบรนด์เสื้อผ้าได้
BEENET
“ตอนแรกบีไม่กล้าพูดว่าตัวเองเป็นดีไซเนอร์ รู้สึกว่าตัวเองเป็น ‘แม่ค้า’ มากกว่า” บีเน้นเสียงตรงคำว่าแม่ค้าตอนเริ่มคุยกับเราถึงที่มาของ BEENET Corset
พอรู้ว่าจะได้มาคุยกับเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า เราอดไม่ได้ที่จะจินตนาการถึงภาพดีไซเนอร์แต่งตัวเก๋ ท่าทางมั่นใจ ศัพท์แสงแฟชั่นติดปาก และแว่นดำคู่ใจสักอัน
ภายนอกบีเป็นทุกอย่างที่เราคิดไว้ แต่ที่ต่างไปคือเบื้องหลังที่มาของการเป็นดีไซเนอร์ของเธอต่างหาก บีไม่ได้เริ่มสนใจเสื้อผ้าจากโรงเรียนแฟชั่นชื่อดัง แต่เธอเป็นเด็กต่างจังหวัดที่เลือกเรียนสายศิลป์ตอนมัธยม และจบมหา’ลัยด้านออกแบบกราฟฟิกและโฆษณา
จุดร่วมที่บีมีกับวงการแฟชั่นคือความรักในศิลปะและความสนุกกับการแต่งตัว บีจึงเริ่มธุรกิจเสื้อผ้าของเธอด้วยการเป็นแม่ค้าในไลฟ์สดบนอินสตาแกรม ขายเสื้อสูทแบรนด์เนมมือสองด้วยชื่อแบรนด์ BEENET Blazersuit
แม้จะยอมรับว่า ไม่ได้มีพื้นฐานความรู้เรื่องการผลิตเสื้อผ้ามาก่อน แต่เมื่อตัดสินใจทำแบรนด์ ฐานลูกค้าเก่าจากเพจขายเสื้อสูทก็พร้อมซัปพอร์ตและเชื่อใจในเซนส์แฟชั่นของบี
การขายสูทออนไลน์แบบรับมาขายไปของ BEENET Blazersuit เทียบไม่ได้เลยกับกระบวนการทำคอร์เซ็ต 1 ตัวของ BEENET Corset เพราะกว่าจะมาเป็นคอร์เซ็ตที่เห็น ต้องผ่านการออกแบบและตัดเย็บหลายขั้นตอน บีเล่าว่า ลวดลายหลากหลายสไตล์ที่อยู่บนตัวคอร์เซ็ตนั้นล้วนไม่ซ้ำกัน และทั้งหมดเกิดจากการตัดเย็บจากผ้าวินเทจมือสอง
“ผ้าที่ใช้ทำเป็นคอร์เซ็ตต้องผ่านการคัดมาจากผ้าหมื่นๆ ผืนเลยด้วยซ้ำ กว่าจะได้ลวดลายที่เพอร์เฟกต์ เพราะว่าเราพยายามเลือกลายที่สวยที่สุด เพื่อเอาแมตช์ให้เป็นคอร์เซ็ต 1 ตัวที่ลงตัวที่สุด”
ระหว่างคุยกัน บีทยอยนำคอร์เซ็ตที่พับเก็บไว้มาโชว์ตัวให้เราเห็นบนโต๊ะ เราพยายามสังเกตลวดลายหลากสีสันที่ได้จากลายของผ้าวินเทจมือสอง ก็พบว่าแต่ละตัวมีรูปแบบคล้ายกันบ้าง แต่ไม่มีลายที่เหมือนกันเลยจริงๆ
บีอธิบายต่อว่า คอร์เซ็ตของแบรนด์นั้น นอกจากจะมีเอกลักษณ์ชิ้นต่อชิ้นแล้ว คนที่นำไปใส่ก็จะไม่มีทางใส่ออกมาแล้วซ้ำใครเช่นกัน เธอเปรียบคนใส่เป็นเหมือนไม้แขวนมีชีวิต ที่แม้จะมาจากแบรนด์เดียวกัน แต่คอร์เซ็ตของเธอสามารถนำไปแมตช์ตามใจผู้สวมใส่ได้ไม่สิ้นสุด
Be Bold
ช่วงปีแรกของการทำแบรนด์ BEENET Corset บีทิ้งงานล็อตแรกไปเป็นร้อยๆ ตัว ด้วยการตัดเย็บที่ยังออกมาได้ไม่สมบูรณ์ตามที่คาดหวังนัก ทั้งความไม่ถนัด และรายละเอียดยิบย่อยของการทำงาน กว่าจะมาเป็นคอร์เซ็ต 1 ตัวที่ผ่านขั้นตอนหลายอย่าง ผ้าที่ใช้ต้องผ่านการอัดกาวป้องกันการแตกออกเมื่อสวมใส่ จากนั้นจึงซัก รีด ทำความสะอาดอีกรอบ กว่าจะได้แต่ละตัวต้องวางลายผ้าตัวต่อตัว เนื้อผ้ามันก็ต่างกัน
“เริ่มต้นเราไม่มีความรู้เกี่ยวกับการทำเสื้อผ้านะ แต่มีไอเดีย เราเลยพยายามหาความรู้แล้วก็วิ่งเข้าหาช่าง เสนองานให้เขาว่าเราต้องการแบบไหน ผ่านกระบวนการคิดผิดลองถูกกับช่าง เพราะช่างก็ไม่เคยทำ”
กลุ่มลูกค้าสนใจกับตัวโปรดักต์แรกที่วางขายมาก ด้วยไอเดียความเป็นคอร์เซ็ตจากผ้าวินเทจที่ ดีไซน์ออกมาได้ไม่เหมือนใครในตลาด ทำให้ผลตอบรับดี แต่บีก็ยังคิดว่า ยังดีได้มากกว่านี้ จึงตัดสินใจหยุดขายไป 2 ปี เพื่อไปเรียนต่อด้านการทำชุดชั้นในโดยตรง เพื่อให้ BEENET Corset ออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด
“บีหยุดไปเพราะกำลังช่างไม่เพียงพอ ผลิตไม่ทันด้วย เลยไปเรียนต่อด้านการทำอันเดอร์แวร์โดยตรง ทั้งบรา ชุดชั้นใน คอร์เซ็ต เรียนเพื่อให้มีความรู้ไปใช้สื่อสารกับช่างและโรงงานชุดชั้นในได้”
บีอธิบายว่า คอร์เซ็ตนั้นมีฟังก์ชันเดียวกันชุดชั้นในชุดนึงเลย จึงมีเรื่องการออกแบบให้เข้ากับสรีระของแต่ละคนเข้ามาเกี่ยว แม้ต้องหยุดการขายไป แต่บีเลือกหาความรู้เพิ่มอย่างจริงจังเพื่อมาผลิตสินค้าที่มีคุณภาพที่สุดแทน
“บีหยุดเพื่อพัฒนาความรู้ สร้างความน่าเชื่อถือ สร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้า ส่งสินค้าผลิตโรงงานใหญ่โดยตรง มาตรฐานคุณภาพ บีเป็นคนที่ถ้าไม่ดีไม่สวย บีจะไม่ทำ บีอยากทำอะไรที่คุณภาพงานออกมาดี ลูกค้าต้องประทับใจ” บีตอบหนักแน่น
Off the Runway
ตลอดการสนทนา เรามักเหลือบมองภาพที่ติดบนบอร์ดด้านหลังบี เป็นภาพนางแบบชาวไทยบนรันเวย์ Elle Fashion Week 2024 ทุกคนสวมชุด BEENET Corset แต่สไตลิงครีเอตลุคออกมาไม่ซ้ำกันเช่นเดียวกับลายคอร์เซ็ตที่ใส่ บ้างเป็นลูกไม้สีสันหวานแหววใส่กับกระโปรง บ้างเป็นลวดลายหรูหราคลุมทับด้วยเบลเซอร์ดูทะมัดทะแมง
เรามองพร้อมตั้งคำถามกับบีว่า ทำอย่างไรให้แบรนด์เสื้อผ้าแบรนด์หนึ่งได้ไปเดินแฟชั่นโชว์ เธอนิ่งคิดแล้วตอบพร้อมเสียงหัวเราะว่า “บีก็แอบงง”
“บีว่า Elle คงเห็นพลังที่เรามี เห็นอะไรใหม่ๆ แบรนด์ที่ไม่เหมือนใคร งานคัสตอมแบบนี้ค่อนข้างหายไปจากวงการแฟชั่นไทย เขาคงเห็นแล้วอยากผลักดันให้เติบโต ให้คนรู้จักมากขึ้น เลยติดต่อเรามา”
ด้วยคอนเซปต์ของ Elle Fashion Week 2024 นั้นเป็นการผลักดัน Youth Energy หรือพลังคนรุ่นใหม่ ดีไซเนอร์หน้าใหม่ที่สร้างสรรค์ผลงานแฟชั่นได้น่าสนใจ ผลการทำงานที่ฝ่าอุปสรรคความยากจากการทำคอร์เซ็ตของ BEENET ในครั้งนั้น ตอบแทนบีด้วยการที่ได้รับเลือกให้เป็นอีกแบรนด์ใหม่ที่ขึ้นชิมลางแฟชั่นโชว์ระดับประเทศนี้นั่นเอง
การได้มีแฟชั่นโชว์เป็นของตัวเองคงเป็นความฝันของดีไซเนอร์ทุกคน เช่นเดียวกับบี เธอตอบตกลงกับ Elle โดยที่เพิ่งมาตระหนักได้หลังวางสายไปแล้วว่า “เราจะทำยังไงวะ”
ท่ามกลางแบรนด์เสื้อผ้าที่ไปจัดโชว์พร้อมกัน บีใช้คำว่า ตรงนั้นเขาเป็น ‘ตัวแม่’ กันหมด หลายคนมีทีมซัปพอร์ตเชี่ยวชาญการทำแฟชั่นโชว์มาก่อน ส่วนบี มองพนักงานในร้านที่เธอเรียกติดปากว่าเด็กๆ แล้วเล่าว่า ตอนนั้นคงทำกันเองแค่นี้ไม่ไหว บีเลยติดต่อเพื่อนดีไซเนอร์ และกลุ่มเพื่อนที่ช่วยจัดแจงประสานงานมาช่วยเพิ่ม ก่อนจะเกิดเป็นดรีมทีมกลุ่มใหม่ที่บียังนึกขอบคุณอยู่เสมอ
โจทย์เพียงข้อเดียวที่ Elle ตั้งให้แบรนด์ BEENET คือบีจะพรีเซนต์ชุดของเธอออกมารูปแบบไหนก็ได้ แต่โชว์ครั้งนี้เป็นการเปิดตัวให้คนในวงการแฟชั่นได้รู้จักแบรนด์เธอเป็นวงกว้าง ทำอย่างไรให้โชว์ครั้งแรกของเธอจะเป็นการแนะนำตัวแบรนด์ให้น่าจดจำและ ‘น่าซื้อ’ ที่สุด
“เราทำการบ้านไว้ว่า จะทำโชว์ที่ทุกคนเห็นแล้วเข้าถึงได้มากที่สุด ไม่ว่าจะกลุ่มคนประเภทไหน บอดี้แบบไหน คาแรกเตอร์แบบไหน สไตล์แบบไหน จะได้เห็นอยู่ในภาพรวมโชว์ของเราทั้งหมด เสื้อผ้าของเราไม่ได้เฉพาะแค่คนคนนึงจะแต่งตัวได้แค่แบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น”
เจ้าของแบรนด์เผยว่า หลังจบงานแม้จะเต็มไปด้วยความเหนื่อยล้าทางกายจากการเตรียมงานเป็นเวลา 2 เดือนเต็ม จิตใจเธอกลับไม่คิดเสียใจเลยที่ตัดสินใจตอบตกลงทำแฟชั่นโชว์ครั้งนี้
เป็นงานยากขนาดนี้ ถ้ากลับไปเลือกได้ ยังเลือกจะทำอยู่ไหม ? เราถามย้ำ
“เลือกจะทำค่ะ เพราะไม่ใช่ทุกแบรนด์ที่จะได้รับโอกาสนี้ เราต้องคว้าไว้ ลึกๆ มันคือความฝันของเรา เชื่อว่าในวงการแฟชั่นไทยหลายคนอยากยืนอยู่ในจุดนี้ ในเมื่อเราได้รับโอกาส บีก็เลือกที่จะทำมัน จะออกมาดีหรือไม่ดีในสายตาคนอื่นแต่เราจะทำให้ดีที่สุด”
Be the Best Version of Yourself
คุยกันมาถึงช่วงท้าย เราถามบีว่า วางภาพแบรนด์ BEENET Corset ในอนาคตไว้อย่างไร บีตอบว่า แม้จะเริ่มต้นจากเสน่ห์ของงานคัสตอมตัวเดียวในโลก แต่ต่อไปแบรนด์ก็ยังอยากต่อยอดให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงเสื้อผ้าทุกตัวทุกแบบของแบรนด์มากขึ้น
บียังตั้งใจว่า จะไม่ได้ใช้แค่ผ้าวินเทจมาทำไปตลอด แต่จะยกระดับการเป็นแบรนด์อันเดอร์แวร์เต็มรูปแบบมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคอร์เซ็ต บอดี้สูท และบราตัวยาว
“จริงๆ บีอยากทำสินค้าขายต่างประเทศมากๆ พยายามหาโอกาสอยู่ เพราะคิดว่าคุณภาพงานของบี ส่งออกขึ้นห้างได้สบายเลย ตอนนี้ขบวนการผลิตของเราพัฒนาจากตอนแรกมากแล้ว เราทำออกมาดีมากๆ เหมือนพวกแบรนด์ดังๆ ในห้างเลย”
แม้บีจะยอมรับว่าเส้นทางในวงการแฟชั่นของเธอยังมาถึงแค่ครึ่งทาง แต่เจ้าของแบรนด์ยังคงตั้งใจพัฒนาแบรนด์ BEENET Corset ต่อไปเรื่อยๆ และยังเชื่อว่าจะได้เห็นแบรนด์ของเธอบนเวทีแฟชั่นระดับโลกต่อไปเช่นกัน
ขอบคุณภาพ : BEENET Corset
ติดตามสินค้าจากแบรนด์ Beenet Corset ได้ที่ linktr.ee/BEENET_corset