About
BUSINESS

Crafting Community

De Quarr ธุรกิจเพื่อชุมชนผู้ส่งงานโลคัลแฮนดิคราฟต์ของพี่น้องชาติพันธ์ุตรงสู่หัวใจผู้คน

เรื่อง ณัฐฐาภรณ์ ศิริสลุง Date 09-01-2025 | View 196
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • คุยกับ ซิลเวอร์-ยุจเรศ สมนา ผู้ก่อตั้ง De Quarr (เดอคัวร์) เพื่อทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่นและช่างฝีมือทั่วภาคเหนือ ด้วยการหยิบผลิตภัณฑ์ดั้งเดิมของชาวเขามาออกแบบให้เข้ากับยุคสมัย เพิ่มมูลค่าสินค้า และถ่ายทอดภูมิปัญญาชุมชนต่อไป

เวลาเรานึกถึงผลิตภัณฑ์จากชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ หลายคนนึกภาพประมาณไหน?

ถ้าไม่เป็นสินค้าจักสานไม้ไผ่ ก็ต้องสินค้าเย็บปักถักร้อย แล้วแบบไหนทุกคนถึงจะเชื่อว่าผลิตภัณฑ์นี้จัดทำโดยชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์จริงๆ? ต้องมีกลุ่มชาติพันธุ์ใส่ชุดพื้นเมืองเร่ขายสินค้าตามท้องถนนคนเดิน

แต่รู้หรือไม่ว่า การที่กลุ่มชาติพันธุ์ใส่ชุดพื้นเมืองเร่ขายของให้นักท่องเที่ยว ซื้อมาขายไปแบบรวดเร็ว ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์เรียนรู้ว่า ต้องขายในราคานี้เท่านั้นถึงจะขายออกไว และต้องเป็นสินค้าลักษณะแบบนี้เท่านั้นที่คนนิยมกัน สุดท้ายภูมิปัญญาของพวกเขาก็หล่นหายไป

ซิลเวอร์-ยุจเรศ สมนา เป็นคนในพื้นที่ เป็นคนในชุมชน เป็นคนที่เห็นปัญหาเหล่านี้มาตั้งแต่เด็ก เธอตั้งคำถามและคิดหาทางแก้ไข โดยมีโจทย์ว่า นอกจากการช่วยรักษาภูมิปัญญาให้คงอยู่ต่อไปแล้ว ก็ต้องให้ความสำคัญกับการยกระดับมูลค่าของผลิตภัณฑ์จากชุมชนท้องถิ่นด้วย ‘De Quarr’ จึงก่อตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ไขสิ่งเหล่านี้

De Quarr

ส่งเสียงให้กลุ่มชาติพันธุ์

‘De Quarr’ เดอคัวร์ ฟังครั้งแรกคล้ายภาษาฝรั่งเศส แต่ซิลเวอร์บอกเราว่าจริงๆ ‘คัวร์’ เป็นภาษาเชียงใหม่ แปลว่า ‘สิ่งของ’ ภายในร้านจึงอัดแน่นด้วยสินค้าจากหลากหลายชุมชน ตั้งแต่ของที่ระลึกชิ้นเล็กๆ ไปจนถึงเสื้อผ้าที่ตัดเย็บโดยชาวเขาวางอยู่ละลานตา

เดอคัวร์ เป็นธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) มีจุดประสงค์เพื่อทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่นและช่างฝีมือทั่วภาคเหนือ โดยตั้งใจเข้ามาช่วยออกแบบสินค้า มาต่อยอดปรับเปลี่ยนให้ทันสมัย ปรับรับเข้ากับความถนัดของชุมชนแต่ละพื้นที่ เจาะกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนขึ้น เพื่อสร้างอาชีพทางเลือกให้คนในชุมชน ลดปัญหาการทำเกษตรอุตสาหกรรม ลบภาพจำชาวเขาที่บุกรุกพื้นที่ป่า ตัดต้นไม้ และทำลายสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญคือลดปัญหาการเร่ขายสินค้าของกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้พวกเขาภูมิใจในอัตลักษณ์ตัวเอง อยากถ่ายทอดออกมาผ่านสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ช่วยเพิ่มมูลค่าของสินค้าและรักษาภูมิปัญญาให้สืบต่อไป

De Quarr

“เมื่อก่อนนักท่องเที่ยวจะมองภาพลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ในเชียงใหม่ว่า ต้องน่าสงสาร ต้องใส่ชุดพื้นเมืองไปเร่ขายสินค้าแบบราคาถูกๆ 3 ชิ้น 100 บาท พอเกิดแบบนี้บ่อยขึ้น ก็เลยกลายเป็นส่วนหนึ่งของภาพความเป็นเมืองเชียงใหม่ด้วยเหมือนกัน

“พอเราออกมาจากเมืองเชียงใหม่ เข้ามาทำงานที่กรุงเทพฯ หลายคนก็ปักป้ายเราว่า น้องแม้วๆๆๆ หน้าแบบนี้น้องแม้วแน่นอน แต่เราไม่ใช่แม้ว แม่เราเป็นไทยอง พ่อเราเป็นไทเขิน แต่ฝั่งพ่อก็เป็นชาติพันธุ์ขมุผสม ฝั่งแม่ก็เป็นชาติพันธุ์มอญผสมยอง ตัวเราเองอยู่กับความหลากหลายทางชาติพันธุ์มาตั้งแต่เกิด”

De Quarr

ไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าใจความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ การประกอบสร้างจากสื่อ หรือการผลิตภาพซ้ำความเป็นคนพื้นเมืองผ่านสายตานักท่องเที่ยว สร้างภาพจำที่บิดเบือนไปมากมาย จะด้วยเหตุผลทั้งตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม แต่คนในชุมชนก็ได้รับผลกระทบ ดังนั้น เดอคัวร์จึงไม่ใช่แค่การยกระดับมูลค่าผ่านสินค้าจากกลุ่มชาวเขา แต่เป็นการปรับความคิด สร้างความเข้าใจใหม่ ให้สังคมรับรู้ถึงอัตลักษณ์หลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ในเมืองเชียงใหม่

เรามองซิลเวอร์ เห็นบ่าเล็กๆ และสองมืออันแน่วแน่กับสิ่งที่อยากจะทำต่อไป เพียงสองมือนั้นที่ก่อร่างสร้าง เดอคัวร์ขึ้นมา เราถามซิลเวอร์ต่อว่า การเริ่มต้นยากแค่ไหน เพราะสำหรับเรานี่คืองานใหญ่ ซึ่งคำตอบที่ได้ก็ชวนให้ประหลาดใจอีก

De Quarr

“เราเรียนศิลปะมา เป็นคนในชุมชน พูดภาษาเชียงใหม่ ทำให้เป็นตัวกลางสื่อสารกับชุมชนได้เลย พอเราพูดภาษาเดียวกันแล้ว ก็เข้าใจกันง่ายขึ้น แต่ถ้าพูดภาษากลาง อันนี้จะยากหน่อย ต้องเข้าใจว่ากลุ่มชาติพันธุ์ เขาเป็นศิลปินนะ จะไปสั่งให้ทำแบบนี้แบบนู้นไม่ได้ เขาก็จะมีรูปแบบที่เขาอยากทำ

“ดังนั้น เราต้องเข้าใจกระบวนการผลิตตั้งแต่แรกว่า แต่ละชุมชนนั้นมีภูมิปัญญาแบบไหน เราก็ลงพื้นที่ เข้าไปจับ เข้าไปดีไซน์ในสิ่งที่มีอยู่แล้ว เพื่อมาต่อยอดเป็นสินค้า เช่น กลุ่มชาวกะเหรี่ยงจะเป็นคนซื่อ ตรงไปตรงมา ก็ต้องสื่อสารกับเขาอีกแบบ แต่ถ้าเป็นกลุ่มชาวม้งจะเป็นคนหัวไว เร็ว ถนัดงานปัก ก็ต้องปรับรูปแบบการสื่อสาร เพื่อให้การสื่อสารสำเร็จ”

De Quarr

เครดิตภาพ : De Quarr

ซิลเวอร์เสริมต่อว่า เพื่อสร้างความเข้าใจทั้งกับตัวเราและผู้คนในหมู่บ้าน บางครั้งซิลเวอร์และทีมก็เข้าไปอยู่อาศัยในหมู่บ้านเพื่อเรียนรู้วิถีชีวิต แถมบางทียังไปย่างหมูกระทะกินกับคนในหมู่บ้านด้วยกันอีก! เรียกได้ว่าผูกพันกันสุดๆ ดังนั้น เหล่าทีมงานใน เดอ คัวร์จึงรู้เรื่องราวเบื้องหลังสินค้าทุกชิ้น ตั้งแต่พวงกุญแจ สร้อยข้อมือ ของชิ้นเล็กๆ ไปจนถึงผืนผ้าขนาดใหญ่

นี่จึงไม่ใช่แค่การซื้อขายสินค้า แต่เป็นการทำความเข้าใจถึงอัตลักษณ์ของแต่ละชุมชน ต่อยอดจากผลิตภัณฑ์ดั้งเดิม ดีไซน์ให้เข้ากับยุคสมัย เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้า และสืบสานภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าของเหล่าช่างฝีมือต่อไป

De Quarr

สูตรผสมกว่า 6 ปี

ถ้าใครมีโอกาสมาเยือนหน้าร้านของ De Quarr – Crafting Community ตำบลช้างม่อย จังหวัดเชียงใหม่ จะเห็นว่าสินค้ามีความหลากหลาย เราสนใจจึงถามต่อว่า เดอคัวร์วางกลุ่มเป้าหมายไว้เป็นใคร และมีวิธีพัฒนาต่อยอดสินค้าชาวเขาในฉบับของเดอคัวร์ยังไง ให้แตกต่างจากที่อื่น

ซิลเวอร์ยอมรับว่า ทุกอย่างต้องทดลองทำ ลองผิดลองถูกไปเรื่อย ล้มเหลวบ้าง ประสบความสำเร็จบ้าง คละเคล้ากันไป บางอย่างเธอก็ไม่ได้รู้เรื่องเชิงเทคนิคขนาดนั้น บางครั้งสินค้าบางอย่างก็ไม่ได้มาจากชุมชนเดียว แต่เป็นการร่วมมือระหว่างชุมชน โดยมี เดอคัวร์เป็นกาวประสานความร่วมมือ

De Quarr

De Quarr

“นอกจากออกแบบเรื่องผลิตภัณฑ์ เราก็ออกแบบเรื่องห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ด้วย คือบางทีกว่าจะมาเป็นคอลเลกชัน ก็ต้องผสมผสานอัตลักษณ์ด้านฝีมือของแต่ละชุมชนเข้ามาด้วย เชียงใหม่เนี่ย เขามีความหลากหลายทางชาติพันธุ์สูงเนอะ ชาติพันธุ์ไทยองก็จะโดดเด่นเรื่องทอผ้าหน้ากว้าง อันนี้คือเหมาะเลยสำหรับมาทำเสื้อผ้า แต่บางชุมชนเขาย้อมผ้าได้อย่างเดียว เราก็ให้เขาย้อมผ้าไป ในคอลเลกชันก็เลยเป็นความร่วมมือของแต่ละชุมชน เพราะเราไม่ได้เข้าไปบังคับให้เขาทำแบบนี้แบบนั้น แต่เราดึงเอาจุดเด่นแต่ละที่มาพัฒนาต่อ”

วิธีการทำงานของ เดอคัวร์คือการตีโจทย์สินค้าให้สอดรับกับภูมิปัญญาท้องถิ่นของแต่ละชุมชน อันดับแรกคือต้องศึกษาว่า ชุมชมนั้นโดดเด่นเรื่องอะไร จากนั้น ค่อยเข้าไปร่วมดีไซน์ หรืออีกแบบคือเราศึกษาและตั้งหมุดก่อนว่าจะทำสินค้าแบบไหน แล้วค่อยเลือกชุมชนที่เหมาะสมสำหรับทำสินค้าชิ้นนี้ เป็นหลักอุปสงค์อุปทานง่ายๆ

De Quarr

เมื่อก่อน เดอ คัวร์ตั้งอยู่ที่ประตูท่าแพ ซึ่งถือว่าเป็นทำเลทอง มีนักท่องเที่ยวอยู่มากมาย ดังนั้น กลุ่มเป้าหมายตอนแรกจึงเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยว สินค้าก็จะเป็นแฮนดิคราฟต์ชิ้นเล็กๆ ซื้อง่ายๆ หรือกระเป๋า ผ้าพันคอ พวกของฝากแบบ Unisex ที่ใช้ได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย และไม่จำเป็นต้องมีไซซ์ แต่ต้องดึงเอาอัตลักษณ์ของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ถ่ายทอดออกมาเป็นสินค้าแต่ละแบบ และก็ต้องเป็นสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติก็จะให้ความสนใจ มองว่าเป็นสิ่งมีคุณค่า ผ่านมาสักพัก ซิลเวอร์ก็เห็นว่าน่าจะพัฒนาต่อได้ ก็เริ่มศึกษาเพื่อเจาะกลุ่มตลาดใหม่

“ตอนนี้เราก็กลับมามองย้อนดูตัวเอง จุดเด่นของเราคืออะไร ก็ได้คำตอบว่า ทักษะสำคัญของเราคือการเป็นตัวแทนจัดจำหน่าย (Distributor) ในการกระจายสินค้า ทั้งหน้าร้าน ตลาด B2C (Business-to-Customer) และตลาด B2B (Business-to-Business)

De Quarr

“พูดง่ายๆ คือเราเป็นตัวกลางระหว่างลูกค้าและผู้ผลิต เพราะว่าไม่ใช่ลูกค้าทุกคนที่จะสามารถเดินทางเข้าไปซื้อของในชุมชนได้เลย ทางชุมชนเองก็ไม่สามารถสื่อสารกับลูกค้าได้ พอสินค้าเราเป็นประเภทต้องได้เห็นด้วยตาตัวเอง ได้จับ ได้สัมผัสเนื้อผ้า การขายของแบบออนไลน์ก็ไม่ตอบโจทย์อีก ดังนั้น เราเลยมองเห็นว่า โอเค เราโดดเด่นเรื่องเป็นตัวกลางในการเชื่อมระหว่างลูกค้าและผู้ผลิตนั่นเอง”

สำหรับการปรับตัวครั้งใหญ่ของ เดอคัวร์ไม่ใช่ที่ไหนไกล ย้อนกลับไปตอนช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบหมดโดยเฉพาะการท่องเที่ยว รวมถึง เดอ คัวร์ก็เช่นกัน หลังจากสถานการณ์คลี่คลาย พฤติกรรมการท่องเที่ยวก็เปลี่ยนแปลงไป จากตอนแรกลูกค้ามีกำลังซื้อสูงมาก กลับกลายเป็นเริ่มเจอนักท่องเที่ยวแบบสะพายเป้ (Backpackers) เพิ่มขึ้น มีสายการบินราคาประหยัด (Low-cost Airline) เพิ่มขึ้น และมีคนเที่ยวเองโดยไม่พึ่งพาบริษัททัวร์เพิ่มขึ้น ซิลเวอร์เลยมาตั้งโจทย์ต่อว่า ต้องพัฒนาสินค้าตามกระแสการท่องเที่ยว ถึงเวลาปรับก็ต้องปรับ เปลี่ยนแปลงเข้าสู่เทรนด์การท่องเที่ยวต่อไป

“พอเป็นนักท่องเที่ยวแบบสะพายเป้ กระเป๋าเขาก็จะไม่ใหญ่มาก เน้นเดินทางไปต่อเรื่อยๆ เขาก็ซื้อของฝากน้อยลง แต่จะนิยมซื้อสินค้าแบบใช้เองเลยทันที เช่น กระบอกน้ำ กระเป๋าใส่ไอแพด กระเป๋าใส่เหรียญ ซึ่งเราก็ปรับตามพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวต่อไป”

De Quarr

เครดิตภาพ : De Quarr

ผ้าผืนคือคุณภาพชีวิตของทั้งหมู่บ้าน

เราขอให้ซิลเวอร์ยกตัวอย่างสินค้าที่อยากแนะนำให้คนอ่าน ONCE รู้จัก หรือเรื่องราวเบื้องหลังการผลิตสินค้าชิ้นที่ซิลเวอร์ภูมิใจมากที่สุด หลังจากฟังที่ซิลเวอร์เล่าทำเอาเราน้ำตาคลอระหว่างการพูดคุย

สินค้าที่ซิลเวอร์ยกตัวอย่างมา คือ ลาโบย คอลเลกชัน (La Bouy Collection) ที่ประสบความสำเร็จถล่มทลาย เป็นสินค้าที่ภูมิใจจนทำออกมาเป็นสติกเกอร์ และพื้นหลังของซองใส่สินค้า บรรจุหน้าเหล่าคุณแม่ลาโบยและแก๊งแม่ๆ ไว้เบื้องหลัง ซึ่งความจริงแล้วมีเรื่องราวทั้งหยาดเหงื่อและหยดน้ำตาซุกซ่อนอยู่ในนี้

“คอลเลกชันลาโบย เป็นฝีมือของคุณแม่ลาโบยอายุ 80 ปี เห็นชื่อฝรั่งแบบนี้แต่เป็นคุณแม่ชาวกะเหรี่ยงโปว์นะคะ (หัวเราะ) อยู่ที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ คุณแม่ลาโบยก็เหมือนครอบครัวชาวกะเหรี่ยงทั่วไปเนี่ยแหละค่ะ ทั้งครอบครัวก็ทอผ้ามาตั้งแต่เด็กจนแก่ สิ่งที่คุณแม่ลาโบยมีอยู่แล้วคือสกิลการทอผ้า”

De Quarr

เครดิตภาพ : De Quarr

โจทย์ที่ซิลเวอร์ตีไว้คือเริ่มต่อยอดจากสกิลทอผ้าของคุณแม่ลาโบยก่อน เธอเข้ามาช่วยปรับดีไซน์ให้ทันสมัยมากขึ้น จากกระเป๋าผ้าแบบดั้งเดิมก็แปรเปลี่ยนเป็นกระเป๋าโอเวอร์ไซซ์ ให้ใส่ของได้เยอะขึ้น มีช่องกระเป๋าที่หลากหลาย สมมติถ้าจะผู้ชายจะถือไปฟิตเนสก็พกกระเป๋าใบนี้ อันเดียวคือจบ เรียกว่าเจาะกลุ่มให้เข้ากับคนเมืองมากขึ้น

ลักษณะผ้าของชาวกะเหรี่ยงคือค่อนข้างหนา ทนทาน เหนียวแน่นและแข็งแรง แต่ซิลเวอร์ก็ตั้งใจเพิ่มความหนาเข้าไปอีก แล้วก็เพิ่มให้เวลาสัมผัสจะนุ่มนวลขึ้น เป็นกระเป๋าผ้าแฮนดิคราฟต์ที่ทั้งใช้ได้หลายโอกาสและร่วมสมัยอีกด้วย

“ความภูมิใจของคอลเลกชันนี้ ไม่ใช่ความภูมิใจในตัวเองนะ แต่เป็นการเพิ่มโอกาส พัฒนาคุณภาพชีวิต อาจจะไม่ใช่ทางตรงแต่ก็เป็นทางอ้อมที่ยิ่งใหญ่ เรื่องของเรื่องก็คือหลังจากทำงานมาสักพัก คุณแม่ลาโบยก็มีเงินเก็บ จนมาวันโควิด-19 เข้ามา คุณแม่ลาโบยก็เบิกเงินไป 13,500 บาทเพื่อไปซื้อคอมพิวเตอร์ให้หลานใช้เรียนออนไลน์ ซึ่งคุณแม่ลาโบยก็ไม่รู้จักคอมพิวเตอร์หรอก รู้แค่ว่าถ้ามีจะทำให้หลานเรียนจบปริญญาตรีได้” ซิลเวอร์ยิ้ม

De Quarr

“ปริญญาตรีของชาวเขาไม่ใช่แค่ใบปริญญานะ หมายความถึงเขาได้เป็นผู้ใหญ่ มีผู้ใหญ่บ้านที่จบปริญญาตรีไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งถนนหนทางในชุมชนก็จะค่อยๆ พัฒนา แล้วก็เริ่มดีขึ้น”

จะเห็นว่าผ้า 1 ผืน กระเป๋า 1 คอลเลกชัน ไม่ได้เป็นแค่สินค้า แต่มันเป็นคุณภาพชีวิตของคนในหมู่บ้าน แน่นอนว่าปัญหาทางตรงต้องเป็นเรื่องเงิน แต่ปัญหาทางอ้อมคือคุณภาพชีวิตของคน เมื่อเริ่มมองเห็นเม็ดเงินแล้ว ก็ช่วยเพิ่มอาชีพทางเลือกให้กลุ่มชาติพันธุ์เหมือนกัน ลูกหลานก็เข้ามาช่วยทำออเดอร์ เขาก็ได้สืบทอดภูมิปัญญาของชุมชนต่อไป

De Quarr

เครดิตภาพ : De Quarr

“เมื่อก่อนชาวเขาเร่ขายของแบบซื้อมาขายไป รีบขายเพื่อมาซื้อใหม่ นี่แหละที่ภูมิปัญญาเขาจะหายไป เราจึงต้องใช้วิธีนี้แหละ เป็นกลไกธุรกิจที่พยายามสร้างทั้งคน แล้วก็รักษาฝีมือแรงงานด้วย สินค้าอาจจะไม่ได้สวยสะดุดตาขนาดนั้น แต่ก็มีคุณค่าแบบแฮนดิคราฟต์ในอีกหลายมิติ”

ลาโบย คอลเลกชันจึงเป็นอีกตัวอย่างสะท้อนถึงความร่วมมือภายในชุมชน ใครจะรู้ว่ากระเป๋าสะพายที่เราถือ จะถักทอมาจากหลายเจเนอเรชัน เริ่มตั้งแต่เด็กตัวเล็กๆ ที่มาช่วยม้วนปั่นด้าย พอเปลี่ยนมาขึ้นกี่ผ้าก็เปลี่ยนมือเป็นฝีมือเหล่าคุณแม่อายุกว่า 40 ปี และเหล่าคุณแม่ผู้สูงอายุที่มีภูมิปัญญาล้นเปี่ยม ก็รับหน้าที่เป็นคนทอ ส่วนคนย้อมสีก็เป็นกลุ่มคนอีกช่วงอายุ

De Quarr

เครดิตภาพ : De Quarr

เพื่อภาพลักษณ์เมืองเชียงใหม่

คนไทยหลายคนอาจจะไม่รู้ว่า เรามีของดีอยู่ในประเทศมานานหลายศตวรรษ นั่นคือผ้า นักท่องเที่ยวต่างชาติให้ความสนใจเป็นพิเศษ ยิ่งมีเรื่องราววัฒนธรรมของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ ยิ่งได้รับความนิยม

นอกจากสินค้าประเภทของฝาก ซิลเวอร์ก็ทำผืนผ้าส่งออกต่างประเทศ ใครจะไปคิดว่า การส่งออกผ้าเริ่มต้นได้เพราะดีไซเนอร์จากสวิตเซอร์แลนด์ติดต่อเข้ามาก่อน เขาเพียงให้โจทย์มาว่า อยากได้ผืนผ้าประมาณไหน สีสันแบบใด จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของ เดอ คัวร์ที่ติดต่อชุมชนให้ทอเป็นผืนแล้วส่งออกต่อไป

De Quarr

เครดิตภาพ : De Quarr

“ตอนนี้ยังมีแค่ส่งออกผ้าเป็นหลัก เพราะข้อจำกัดน้อยกว่าสินค้าประเภทอื่น สมมติถ้าเป็นไม้ จะมีไซซ์ มีน้ำหนัก ที่เราควบคุมได้ยาก จริงๆ นอกจากสินค้าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เราก็มีทำเป็นสินค้าอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) บางทีเป็นของฝากที่ใช้เป็นของกิน ชา กาแฟ”

“จริงๆ ที่นี่มีเวิร์กช้อปด้วยนะคะ แต่ปกติเราเปิดช่วงเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ (Chiang Mai Design Week) หรือตามช่วงเทศกาลต่างๆ บางทีถ้าถึงช่วงฤดูหนาว รอให้อากาศเย็นๆ สักหน่อย เราก็จะมาเปิดเวิร์กช้อปข้างล่าง พาเหล่าช่างในชุมชนจากหลากหลายแขนง มาแบ่งปันความรู้เรื่องงานคราฟต์ต่างๆ ผ่านการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือผ่านการทำงานคราฟต์ร่วมกัน”

De Quarr

ในปีนี้อาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของ เดอคัวร์ ซิลเวอร์เตรียมวางโปรเจกต์ต่างๆ ไว้มากมายให้เราสนุกสนาน สมกับเป็น Crafting Community ของเชียงใหม่ เราขอมาสปอยไว้ก่อนแล้วกันนะ ใครอยากตะลุยพื้นที่ เรียนรู้วิถีชีวิตแห่งชุมชนชาวเขา ต้องเตรียมกดไลค์เฟซบุ๊ก เดอคัวร์รอเอาไว้ก่อน เพราะที่นี่มีแผนจะพาคนเข้าไปในชุมชน เพื่อกิน-อยู่-ใช้ชีวิต-เรียนรู้อัตลักษณ์ชุมชนผ่านงานคราฟต์ แน่นอนว่าเป็นทริปที่ไม่หรูหรา เน้นเรียนรู้ และอยู่กับธรรมชาติ อบอุ่นแบบโฮมมีกับเหล่าบรรดาคุณแม่ช่างฝีมือทั้งหลาย รับรองเลยว่า ถ้าได้เข้าร่วม จะเป็นการเปิดประสบการณ์สักครั้งในชีวิตแน่นอน

“สิ่งที่เราอยากจะสื่อสารมาตลอด คือเราเป็นธุรกิจเพื่อสังคม เราเข้ามาแก้ไขปัญหาสังคม ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า ไม่ได้แก้ปัญหาได้ทั้งหมดหรอก เราก็เป็นแค่คนตัวเล็กๆ คน ที่ฝันอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ฝันอยากเห็นแรงกระเพื่อมของกระแสสังคม เราแค่อยากแสดงออกว่า อย่างน้อยก็มีคนแบบเราอยู่ คนที่อยากลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง”

เข้าไปทำความรู้จัก De Quarr (เดอคัวร์) มากขึ้นได้ผ่านช่องทางนี้เลย…
Facebook : De Quarr – Crafting Community
Instagram : craftdequarr
Website : https://www.dequarr.com/
Google Maps : https://www.google.com/maps/place/De+Quarr+Crafting+Communities
ช็อปเปิดบริการตั้งแต่วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 09.00-18.00 น.

Tags: