About
BUSINESS

COVID-19 กัดกร่อน
อุตสาหกรรมบินหนักแค่ไหน?

COVID-19 กัดกร่อนอุตสาหกรรมบินหนักแค่ไหน?

เรื่อง เอ็มเอ็ม Date 07-06-2020 | View 1226
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ที่แช่แข็งการเดินทางคนทั้งโลกเอาไว้ แน่นอนว่าอุตสาหกรรมการบินเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด โดยเป็นผลจากมาตรการต่างๆในการรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสวายร้ายตัวนี้
  • การยื่นล้มละลายของสายการบิน Flybe (อังกฤษ) American Eagle และ United Express (สหรัฐอเมริกา) Virgin Australia (ออสเตรเลีย) เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ต้องจับตา เมื่อธุรกิจสายการบินเผชิญวิกฤตโควิด-19
  • ตัวเลขในเรื่องของอัตราความสูญเสียของอุตสาหกรรมการบินในเอเชียแปซิฟิกทั้งจำนวนผู้โดยสาร รายได้ และตำแหน่งงานยังคงน่าเป็นห่วง

การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 สร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับอุตสาหกรรมการบินโลก เพราะนานาประเทศทั่วโลกต่างออกมาตรการล็อกดาวน์ ห้ามการเดินทางเข้า-ออกประเทศชั่วคราว ทำให้สายการบินจำเป็นต้องลดจำนวนเที่ยวบินและหยุดบินชั่วคราวเป็นเวลานับเดือน

หลายสายการบินต้องยื่นขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลให้เข้ามาอัดฉีดเงินเพื่อโอบอุ้มให้ธุรกิจฝ่าวิกฤตรอบนี้ไปให้ได้ และหลายสายการบินก็ล้มละลายเพราะวิกฤตครั้งนี้ ขณะที่พนักงานของบางสายการบินเองก็ตกงานแบบไม่ทันตั้งตัวและอีกจำนวนไม่น้อยจำเป็นต้องลาหยุดโดยไม่รับค่าจ้าง และเฝ้ารอวันที่จะได้กลับมาติดปีกบินอีกครั้ง

เมื่อกลางเดือนเมษายน 2563 สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ IATA ประเมินว่าวิกฤตรอบนี้ทำให้ปีนี้สายการบินทั่วโลกสูญเสียรายได้อย่างน้อย 3.14 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือลดจากปี 2562 ประมาณ 55% ขณะที่บริษัทที่ปรึกษาด้านการบินอย่าง CAPA คาดการณ์ว่า ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ หากไม่ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลหรือการอุดหนุนอื่นๆ สายการบินส่วนใหญ่ในโลกจะต้องล้มละลาย

ซึ่งนับถึงปลายเดือนเมษายน 2563 พบว่า Flybe สายการบินสัญชาติอังกฤษ ซึ่งประมาณ 40% เป็นเที่ยวบินในประเทศยื่นขอล้มละลายเมื่อเดือนมีนาคม ส่วนในสหรัฐอเมริกา Compass Airline ผู้ให้บริการเที่ยวบินให้กับ American Airlines ภายใต้ชื่อ American Eagle และ Trans States Airlines ที่ให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศสำหรับสายการบิน United Airlines ภายใต้ชื่อ United Express ก็ยื่นล้มละลายไปเมื่อเดือนมีนาคมเช่นกัน ซึ่งรายหลังเคยมีแผนจะปิดกิจการในสิ้นปีนี้ เมื่อควบรวมกิจการกับ ExpressJet Airlines ด้าน Virgin Australia ได้เข้าสู่กระบวนการที่เรียกว่า Voluntary Administration ของออสเตรเลีย ซึ่งเทียบเท่ากับการยื่นล้มละลายตามมาตรา 11 เมื่อวันที่ 21 เมษายน ที่ผ่านมา

เมื่อเจาะลึกที่สายการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก พบว่า COVID-19 ทำให้สายการบินในภูมิภาคนี้มีรายได้หดหายไปมากถึง 1.13 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และคาดว่าจะมีผู้โดยสารลดลงประมาณ 50% ซึ่งตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าวมาจากสมมติฐานที่ว่า มีการควบคุมการเดินทางอย่างเข้มงวดเป็นเวลา 3 เดือน ก่อนค่อยๆ ผ่อนปรนการควบคุมสำหรับเที่ยวบินภายในประเทศ ตามมาด้วยเที่ยวบินในภูมิภาคเดียวกัน และเที่ยวบินระหว่างทวีป

IATA ยังระบุด้วยว่า อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ ศรีลังกา และไทย จำเป็นต้องดำเนินมาตรการช่วยเหลือบรรดาสายการบินอย่างจริงจัง โดยเสนอแนวทาง เช่น การอัดฉีดเงินช่วยเหลือโดยตรง การปล่อยกู้ การค้ำประกันเงินกู้ และให้การสนับสนุนอื่นๆ ในตลาดหุ้นกู้ และการลดหย่อนภาษี

การช่วยเหลืออุตสาหกรรมการบินจะส่งผลอย่างมากต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง เพราะหากสายการบินไม่รอดวิกฤต COVID-19 ก็จะกระทบการจ้างงานในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในวงการท่องเที่ยวและเดินทางอีกมหาศาล โดยเฉพาะในเอเชียแปซิฟิกมีคนทำงานมากถึง 11.2 ล้านคนเสี่ยงที่จะตกงาน เพราะพวกเขาต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมการบิน

เมื่อไหร่อุตสาหกรรมการบินจะฟื้น?

ต้องยอมรับว่า วิกฤตครั้งนี้หนักหนาสาหัส สายการบินจำเป็นต้องยกเครื่องครั้งใหญ่ ต้องปรับแนวปฏิบัติต่างๆ เพื่อให้เข้ากับวิถีใหม่ของผู้คนในยุคหลัง COVID-19 ซึ่งนาย Guillaume Faury ซีอีโอของ Airbus ผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของโลก ประเมินว่า จะต้องใช้เวลาประมาณ 3-5 ปี

กว่าที่อุตสาหกรรมการบินจะฟื้นตัวไปอยู่ในระดับเท่ากับก่อนเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ครั้งนี้ เพราะวิกฤตครั้งนี้รุนแรงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน….

 

ที่มา www.iata.org, economist.com, businessinsider.com, skift.com

Tags: