- การเดินทางเป็นการหลีกหนีไปจากความเป็นจริง (escapism) ที่ช่วยปลดปล่อยตัวเองออกจากภาระและกิจวัตรจำเจ
- เมื่อชีพจรลงเท้าบ่อยเข้า ‘นักเดินทาง’ อาจกลายเป็นตัวตนใหม่ของบางคนไปในที่สุด
- ในช่วงโรคระบาดที่เดินทางไปไหนไม่ได้ จิตใจของนักเดินทางจะเปราะบางมากและพาลโกรธโลก แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่ได้สำรวจโลกรอบตัวที่เคยมองข้ามไปอย่างลึกซึ้งจริงจัง
หลังจากได้คุยกับอินทีเรียร์ดีไซเนอร์ชาวไทยรายหนึ่งก็รู้สึกทึ่งมาก เพราะเขาได้ตกแต่งบ้านให้ดาราฮอลลีวู้ด นักร้องดีว่า ผู้กำกับออสการ์ รวมไปถึงนักธุรกิจหลายต่อหลายตระกูลในอเมริกา ซึ่งล้วนสร้างความสำเร็จมาด้วยน้ำพักน้ำแรงตนเช่นเดียวกับเขา
เมื่อคนได้เห็นโลก
ถามว่าคนเอเชียหัวดำไปได้ลูกค้าระดับนั้นในอเมริกาได้อย่างไร
คอนเน็กชั่น? การศึกษา? นามสกุล? จ้างพีอาร์โปรโมทตัวเอง?
เขาตอบว่า no No NO! ตัวใหญ่ๆ
ตั้งแต่สมัยเรียน เขาไปขอฝึกงานกับดีไซเนอร์เจ๋งๆ แม้โดนใช้ให้ไปซื้อกาแฟหรือเอารถไปล้างก็อดทนทำ เพียงเพื่อให้ได้ลอบสังเกตการทำงานของคนเก่งที่เขาชื่นชมฝีมือ
พอเรียนจบก็จงใจสมัครงานแต่กับคนที่อยากทำงานด้วย แต่ขออยู่บริษัทละปีพอ ก็เพื่อเก็บประสบการณ์จากหลายๆที่และคนเก่งๆหลายๆคน
พอได้จังหวะ เขาก็เปิดบริษัทเอง และรับทำงานทุกอย่างตั้งแต่แต่งบ้านยันจัดสวน ไม่เลือกงานนอกจากจะไม่อดตายแล้ว วันหนึ่งยังพาเขาไปเจอลูกค้าที่เป็นเจ้าของบ้านราคาหลังละพันล้านบาท หลังจากนั้นอีก 20 ปี เขาไม่เคยได้ทำบ้านราคาต่ำกว่านี้อีกเลย
บางครั้งลูกค้าก็ส่งเขาขึ้นเครื่องบินส่วนตัวไปซื้อผ้าปูที่นอนที่อิตาลี ไปเลือกซื้อของเก่าที่อังกฤษ ไปเทศกาลศิลปะทั่วยุโรป แม้กระทั่งต้องแบกต้นสนไปจัดเป็นต้นคริสต์มาสที่เกาะบาฮามาส
บางคราวเขาเจอที่แขวนทิชชู่ในห้องน้ำทำจากทองแท้ และเคยมีลูกค้าที่บอกให้เขาเลือกภาพเขียนในห้องเก็บของไปติดผนังบ้านให้หน่อย เขาเปิดไปเจอภาพเขียนของแท้ดั้งเดิมของ Van Gogh และ Picasso
ตลอดเวลาที่เจอลูกค้าไฮๆ และข้าวของแพงๆ ทั้งมวลนี้ เขาไม่เคยแสดงออกให้ลูกค้าเห็นเลยแม้แต่ครั้งเดียวว่าเขาตื่นเต้น ตกใจ แตกตื่นไปกับป้ายราคาที่มีเลขศูนย์เรียงกันเป็นตับ หรือกับความหรูหราร่ำรวยระยิบระยับตรงหน้า
ผมไม่ตกใจหรอก ผมเคยเห็นมาหมดแล้ว เขาบอก และให้เครดิตภูมิคุ้มกันที่ทำให้เขาได้รับการปฏิบัติอย่างให้เกียรติจากลูกค้าผู้ร่ำรวยทุกรายว่า เพราะผมเดินทางมาเยอะ
การเดินทางกลายเป็นตัวตน
Karen Stein นักสังคมวิทยาและผู้เขียนหนังสือ Getting Away from It All: Vacations and Identity กล่าวว่า เมื่อปลดปล่อยตนเองออกจากภาระความรับผิดชอบเดิมๆ ในชีวิตประจำวัน บางคนจึงมีที่ว่างในใจให้ได้ใคร่ครวญว่าอะไรคือสิ่งสำคัญในชีวิต การเดินทางในทางหนึ่งแล้วคือเครื่องมือช่วยให้เราเผชิญหน้ากับความเป็นจริงในชีวิตของตนเอง
อ่านถึงตรงนี้ พอย้อนไปนึกถึงอินทีเรียร์ดีไซเนอร์ที่เราเล่าให้ฟัง สำหรับเขาแล้วการเดินทางไม่เพียงเปิดโลกกว้างที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้เขาทำงานท่ามกลางข้าวของลักซ์ชัวรีราคาแพงได้อย่างปกติสุขเท่านั้น แต่การเดินทางของเขายังไม่จำกัดอยู่กับระยะทางอีกด้วย
แต่จะว่าไป บางคนก็ใช้การเดินทางเป็นดั่งการหนีไปจากความเป็นจริง (escapism) ตามการวิเคราะห์ของ Dr.Carla Marie Manly นักจิตวิทยาในแคลิฟอร์เนีย ที่กล่าวว่า บางคนอาจเผชิญความเครียดเรื่องงาน ความสัมพันธ์ การเงิน สังคมและการเมือง ก็อาจรู้สึกหายเครียดเป็นปลิดทิ้งทันทีที่คลิกจองที่พักใน Airbnb
สภาพแวดล้อมใหม่ ประสบการณ์ที่แตกต่างไปจากเดิม และภาวะที่ปราศจากภาระความรับผิดชอบชั่วคราว ทำให้นักเดินทางรู้สึกเบา โล่ง โปร่ง สบาย ขณะเดียวกันก็ตื่นเต้นไปกับสิ่งแปลกใหม่ อะไรๆ ก็ดูดีไปกว่าชีวิตจริงของตัวเองไปหมด ภาวะนี้ทำให้นักเดินทางรู้สึกว่าตนเป็นตัวเอกในภาพยนตร์ที่น่าสนใจกว่าหนังชีวิตของตนเอง การเดินทางจึงคล้ายๆ เป็นยากล่อมประสาทที่ทำให้เพลินได้ เสพติดก็ได้ ไม่ต่างจากการดูหนังฟังเพลง
ในช่วงเวลาที่เดินทางไม่ได้เพราะโรคระบาด นักเสพติดการเดินทางจะรู้สึกเปราะบางเป็นพิเศษ เพราะไม่เคยต้องแช่อิ่มดองเค็มอยู่ที่ใดที่เดียวนานๆ จึงหงุดหงิด คันเท้า เหงา เศร้าและกลายเป็นความโกรธเกรี้ยวโลก เพราะที่ผ่านมาพวกเขาได้สมาทานตัวตนใหม่ให้ตัวเองว่าเป็นนักเดินทางไปแล้ว แต่ในช่วงนี้ตัวตนที่เป็นนักเดินทางไม่ได้แสดงออก จึงอึดอัดคลุ้มคลั่งอยู่ภายใน
ระยะทางไม่เกี่ยวกับการเดินทาง คุณอินทีเรียร์ดีไซเนอร์กล่าว และเราก็อยากย้ำว่า แค่เดินไปซื้อของ เดินไปหน้าปากซอยบ้าน มองสิ่งต่างๆ รอบตัวก็เป็นการพาสายตาออกไปเดินทางได้เหมือนกัน
ถ้ารู้จักมองก็อาจได้เรียนรู้อะไรมากขึ้นโดยที่ไม่ต้องเดินทางไปไกลๆ
ที่มา: https://www.webmd.com/lung/features/travelers-escapism-stay-in-place#4