- Vanlife หรือการใช้ชีวิตในรถแคมปิ้งเป็นที่นิยมมากในหมู่ชาวมิลเลนเนียล
- Vanlife กับ Nomadland ดูเผินๆ คือการอยู่ในรถแคมปิ้งเหมือนกัน แต่เหตุผลอาจต่างกันโดยสิ้นเชิง
- Nomadland หนังยอดเยี่ยมรางวัลออสการ์ปี 2021 ตีแผ่ชีวิตจริงของคนที่ใช้ชีวิตในบ้านติดล้อในอเมริกา ซึ่งผสมผเสทั้งความอิสรเสรี ปัญหาสังคมผู้สูงอายุ ทุนนิยมและสวัสดิการรัฐ
วันหนึ่งบก.ให้เขียนเรื่องหนัง Nomadland ที่ได้ออสการ์หนังยอดเยี่ยมปีนี้ จึงไปหามาดู แล้วจึงคุยกับรุ่นน้องที่เป็นบัดดี้ดูหนังด้วยกันมาเกือบ 20 ปีตามธรรมเนียม แม้ว่าช่วงหลังๆ Netflix กับโควิด-19 จะทำให้เราต้องแยกกันดู
พี่: น้อง ดู Nomadland หรือยัง
น้อง: ยังเลยพี่ ดูแล้วเหรอ ดีไหมๆ
พี่: ดีๆ แหลมคมมาก แต่หลับ
น้อง: 555
บ้านติดล้อของคนเร่ร่อน
Nomadland ดัดแปลงมาจากหนังสือชื่อเดียวกันของ Jessica Bruder นักเขียนที่ไปใช้ชีวิตเยี่ยงและอยู่กับคนที่อยู่ในรถแคมปิ้งเป็นบ้านจริงๆ อยู่หลายปี ผู้คนที่เธอเขียนถึงในหนังสือ ผู้กำกับ Chloé Zhao ก็ชวนมาเล่นหนังเรื่องนี้ด้วย เช่นเดียวกับชาวรถแคมปิ้งเกินครึ่งที่ปรากฏอยู่ในหนัง ล้วนแสดงเป็นตัวเองทั้งสิ้น
นั่นแปลว่า Frances McDormand นักแสดงนำที่รับเป็น Fern แทบจะเป็นคนเดียวในหนังที่เป็นคนนอกสังคมรถแคมปิ้ง และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมแม่ฟรานถึงได้ออสการ์นำหญิงยอดเยี่ยมเป็นตัวที่ 3 คนอะไรแสดงเหมือนไม่ได้แสดงแต่ก็รู้ว่าแสดงอยู่
การขับรถแคมปิ้งไปปิ้งย่างคุยข้างกองไฟพลางดูดาวกลายเป็นกิจกรรมยอดฮิตของคนหนุ่มสาว เราเห็นคนใกล้ตัวเสาร์-อาทิตย์ก็ไปแคมปิ้งแถวเพชรบุรีบ้าง บ้างก็ไปเพชรบูรณ์ แล้วกลับมาด้วยแก้มเลือดฝาดและท่าทีกระตือรือร้น พวกเขาวางแผนว่าครั้งหน้าจะขับรถไปแคมปิ้งที่นั่นที่นี่อีก
ชาวคณะในหนัง Nomadland ก็เป็นเช่นนั้น ที่ไหนจอดรถได้ พวกเขาก็ขับไป เปลี่ยนวิวหน้าต่าง ‘ห้องนอน’ ไปเรื่อย บางวันอยากสมาคมก็ขับไปจอดรวมกับรถแคมปิ้งคันอื่น ชงชามานั่งคุยกันข้างรถจนดึกดื่น วันไหนไม่อยากสนทนาก็ขับรถไปจอดเปลี่ยวอยู่คนเดียวได้
Condorferry เปิดเผยสถิติของวัฒนธรรมบ้านในรถแคมปิ้งระหว่างปี 2020 – 2021 ในอเมริกาไว้ ดังนี้
• คนวัยมิลเลนเนียลกว่า 15 ล้านรายเป็นเจ้าของรถแคมปิ้ง
• อุตสาหกรรมรถแคมปิ้งมีเงินหมุนเวียน 114,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
• ชาวอเมริกันอาศัยในรถแคมปิ้งราวๆ 1 ล้านราย
• #vanlife มีคนติดแฮชแท็กนี้ราวๆ 6 ล้านครั้งในอินสตาแกรม
• ชาวรถแคมปิ้ง 50% พาสัตว์เลี้ยงนั่งรถไปด้วย
• มีลานจอดรถแคมปิ้ง 16,000 แห่งในอเมริกา
ทำไมต้องอยู่รถแคมปิ้ง
ก่อนการมาถึงของหนัง Nomadland ที่ถือเป็นทูตโปรโมตวิถีรถแคมปิ้ง เราได้เห็นรายการเรียลิตี้โชว์เกาหลีมากมายที่เล่นธีมนี้ อาทิ House on Wheels จนถึง Spring Camp ซึ่งล้วนได้กระแสตอบรับดีงามไปตามๆ กัน
เว็บไซต์ RVLifestyle บอกข้อดีของการอยู่ในรถแคมปิ้งว่า
• ดีต่อสุขภาพจิต เพราะสามารถขับรถไปจอดในลานแคมปิ้งที่มักอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ
• ดีท็อกซ์ชีวิตดิจิทัล ออกห่างชีวิตในโลกเสมือนแล้วมาคอนเน็กกับชีวิตในโลกจริงที่ได้คุยกับเพื่อนร่วมทริปตัวเป็นๆ
• ค่าใช้จ่ายน้อยกว่า ค่าใช้จ่ายหลักๆซึ่ งในหนังก็พูดถึงไว้เหมือนกันก็คือ ค่าน้ำมันรถกับค่าแก๊ส ขณะที่อยู่บ้านจะมีค่าใช้จ่ายจิปาถะมากมาย ตั้งแต่ค่าตัดต้นไม้ (ที่หักไปทิ่มหลังบ้านเพื่อนบ้าน) แม้แต่ค่าทิ้งขยะก็ยังต้องจ่าย
• ใช้ชีวิตมินิมัล ด้วยพื้นที่ในรถที่จำกัด ทำให้ต้องเลือกแต่ของจำเป็นติดรถเท่านั้น จากที่เคยคิดว่าต้องมีรองเท้าแตะ รองเท้าผ้าใบ รองเท้าส้นสูง รองเท้าเดินป่า รองเท้าหนัง รองเท้าส้นเตี้ยและรองเท้าในโอกาสต่างๆ นั้น ก็อาจไม่จำเป็นจริงๆ ก็ได้ถ้าอยู่ในรถแคมปิ้ง
• ไม่ต้องทะเลาะกับเพื่อนบ้าน ถ้าเพื่อนบ้านชอบกระแนะกระแหนที่คุณชอบให้อาหารสัตว์จรจัด หรือเจ้าของบ้านเช่าขึ้นค่าเช่าอยู่นั่น ปัญหานี้จะหมดไปเพียงแค่คุณขับรถหนีไปอยู่ที่อื่นได้ทุกเมื่อ
• ได้ท่องเที่ยวตลอดเวลา ในเมื่อบ้านติดล้อแล้วจะจอดอยู่กับที่ไปทำไม เปลี่ยนวิวไปเลย 3 วัน 3 จังหวัด
แต่เมื่อดูหนังไปเรื่อยๆ เราก็ได้เห็นฉากที่ชาว Nomandland แจกจ่ายข้าวของในรถ (หรือบ้าน) ให้เพื่อนๆ เพราะว่าตัวเองกำลังจะตาย มีฉากที่เฟิร์นทำงานที่ Amazon แล้วโดนเลย์ออฟ (ซึ่งทางบริษัทก็ใจถึงพอที่จะอนุญาตให้หนังเข้าไปถ่ายทำในโกดังแยกสินค้าของจริงได้) ต้องไปล้างห้องน้ำ ไปทำครัว ไปตักหัวบีทใส่กระสอบ
มีฉากที่รถแคมปิ้งของเฟิร์นเสียและอาชีพใช้แรงงานไร้ทักษะของเธอไม่อาจจ่ายค่าซ่อมก้อนโตได้ สุดท้ายต้องบากหน้าไปยืมเงินพี่น้อง ซึ่งการกลับเข้าสังคม ‘ปกติ’ คนนอกอย่างเธอมิวายต้องได้ยินคำพูดประมาณว่า ทำไมเธอใช้ชีวิตแบบนี้
Nomadland มีให้หลายคำตอบเลยสำหรับคำถามนี้ ซึ่งข้อความต่อไปนี้จะว่าสปอยล์หนังหรือไม่ก็ได้ เพราะหนังไม่มีจุดพลิกผัน จุดหักมุมหรือแม้แต่จุดจบ ดูไปหลับไปยังดูรู้เรื่องเลยเอ้า
เพราะอยากมีชีวิตอิสระ เพราะถูกผลักให้ออกไปร่อนเร่ เพราะไม่เป็นที่ต้องการของครอบครัว เพราะไม่สามารถมีบ้านเป็นของตัวเอง เพราะไม่มีอาชีพ เพราะโดนเลิกจ้าง เพราะสวัสดิการรัฐไม่เพียงพอ ฯลฯ
คนในรถแคมป์ในหนัง ซึ่งจริงๆ แล้วก็มาจากชีวิตคนจริงๆ เกือบทั้งหมดเป็นผู้สูงอายุ
“ชีวิตคนที่ ‘ต้อง’ อยู่ในรถแคมป์กับไลฟ์สไตล์แบบขับรถ RV ออกไปแคมปิ้งกันเถอะ มันต่างกันโดยสิ้นเชิง”
คุณผู้กำกับเจากล่าว
“ถ้าให้แบ่งประเภท ฉันพอจะแบ่งคนพเนจรได้เป็น 2 แบบ” คุณเจาอธิบายต่อ “หนึ่งคือคนที่ใช้ถนนเป็นเส้นทางแห่งการค้นหาอะไรสักอย่าง ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไร คนกลุ่มนี้มีบ้านและความมั่นคงให้กลับไปหาได้ทุกเมื่อ
“แบบที่สอง คือคนที่จะปุเลงๆ อยู่บนท้องถนนตราบจนสุดทางชีวิต คนกลุ่มนี้ละที่มีจิตวิญญาณของนักพเนจรโดยแท้”
คุณอาจเป็น nomad แบบที่หนึ่งหรือสอง หรือว่าสาม ซึ่งแปลว่าอยู่บ้านเถอะ
ที่มา
https://www.indiewire.com/2020
https://deadline.com/2021
https://www.bfi.org.uk/sight-and-sound/interviews/chloe-zhao-nomadland-american-western-road-rediscovery
https://rvlifestyle.com/9-great-benefits-of-rv-travel-2021/
https://www.condorferries.co.uk/rv-