About
RESOUND

อาบป่าบำบัด

ทิพวัน ถือคำ ครูวัยเกษียณ ผู้สร้างบ้านกลางป่าเพื่ออาบป่าบำบัดกายใจ

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • มุมหนึ่งของบ้านหนองขาว จ.กาญจนบุรี ยังมีพื้นที่ป่าเขียวขจีอีกหลายสิบไร่ เต็มไปด้วยสมาชิกต้นไม้น้อยใหญ่ ทำหน้าที่คอยขับกล่อมความรื่นรมย์ไปพร้อมกับเสียงนกร้องและสายลมพลิ้วไหว และนี่คือทรัพยากรและที่มาของการทำกิจกรรมอาบป่า
  • หากคุณรู้สึกเหนื่อยล้า หมดพลังจากการทำนั่นทำนี่ กรำงานหนัก หรือเคร่งเครียดกับสิ่งที่รายล้อม กระทั่งจำไม่ได้แล้วว่าทิ้งรอยยิ้ม หรือลืมเสียงหัวเราะของตัวเองไปนานมากแล้ว เรามาคุยกับป้าแอ๊ด – ทิพวัน ถือคำ ครูวัยเกษียณผู้ฝากหัวใจไว้กับผืนดินและพื้นหญ้า พาทุกคนเข้าไปอาบป่าเพื่อบำบัดใจ

ต้องสารภาพว่า ได้ยินเรื่อง ‘อาบป่า’ ครั้งแรกก็ยังไม่รู้สึกอะไรนะ แต่โชคดีที่มีโอกาสได้พบกับป้าแอ๊ด ‘ทิพวัน ถือคำ’ คุณครูวัยเกษียณ ผู้ใหญ่ใจดีที่มีชีวิตควบคู่อยู่กับการทำท่องเที่ยวในแบบที่ตัวเองเชื่อมั่นมากว่าสิบปี ผ่านไปกี่ปีๆ ป้าแอ๊ดก็ยังสตาฟรอยยิ้มอันแสนดีบนใบหน้าเอาไว้เหมือนเคย เพิ่มเติมขึ้นมาเธอคือ ‘ผู้นำอาบป่า’ ของกลุ่มอาบป่ากาญจนบุรี

เมื่อ 3-4 ปีก่อน ป้าแอ๊ดเดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่นด้วยโปรแกรมที่อยากเรียนรู้และทำความรู้จัก ‘การอาบป่า’ หรือ ที่ญี่ปุ่นเรียกกันว่า‘ชินริน-โยกุ’ (Shinrin-Yoku) จากนั้นก็ค่อยๆ ศึกษาเพิ่มเติม จนกระทั่งตัดสินใจกรุยทางทำ “บ้านกลางป่า” ขึ้น และมีกิจกรรมอาบป่าเป็นประสบการณ์แม่เหล็ก ดึงดูดผู้คนเข้ามาทำความรู้จัก

O 6

ชีวิตสโลว์ไลฟ์ในพื้นที่สีเขียว

หลายปีก่อนป้าแอ๊ดทำโฮมสเตย์ด้วยคอนเซ็ปต์รักธรรมชาติอยู่กับสโลว์ไลฟ์ “เราอยากให้ลูกค้าตื่นเช้ามาได้ซึมซับกับธรรมชาติ ทำง่ายๆ ก็คือปลูกต้นไม้ ซึ่งเราเตรียมต้นกล้าไว้ข้างบ้าน ใครสนใจก็แบกจอบ ถือต้นไม้มาเลยคนละต้นสองต้นมาร่วมปลูก ทีนี้มีอาจารย์ท่านหนึ่งเป็นลูกค้ามาพักด้วยบ่อยๆ ทักขึ้นมาว่า สิ่งที่ป้าทำเหมือนศาสตร์อาบป่าญี่ปุ่นเลยนะ ด้วยความที่เขาก็เรียนจบที่นั่น เคยใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น จึงให้คำแนะนำพร้อมกับข้อมูลส่งเอกสารมาให้อ่าน จากนั้นไม่นานป้ากับเพื่อนในกลุ่มโฮมสเตย์บ้านกลางทุ่งและกลุ่มบ้านไร่ใจแก้วก็ชวนกันไปญี่ปุ่น เพราะเหมือนถูกป้ายยาแรง ยอมรับว่ายิ่งศึกษาก็ยิ่งอินมาก มันตรงใจ น่าสนใจ และอยากจะไปสัมผัสจริงสักครั้งในชีวิต เพราะมันเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับเรา แต่ในญี่ปุ่นนั้นมีมานานแล้ว”

O 4

เดินทางค้นหาเพื่อค้นพบ

แม้ว่าสมัยนี้จะมีเทคโนโลยี มีโลกอินเทอร์เน็ตที่พาเราไปเจอคลังข้อมูลขนาดใหญ่ แต่เรื่องบางเรื่อง สำหรับใครบางคนการได้ไปเห็นและลงมือทำจริงสักครั้งในชีวิตอาจสำคัญกว่า…ป้าแอ๊ดก็เป็นหนึ่งในนั้น

O 10

“ตอนนั้นเดินทางกันไปญี่ปุ่นโดยมีไกด์พาไปสัมผัสเรื่องนี้โดยเฉพาะ มันน่าสนใจตรงที่ เริ่มจากรัฐบาลสนับสนุน เพราะคนญี่ปุ่นทำงานหนัก มีความเครียด แรกๆ มีการตั้งศูนย์อาบป่ากระจายแค่ 40 กว่าที่ จนตอนนี้มีเป็นร้อยแห่งทั่วประเทศ เพราะมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าช่วยให้สุขภาพกายและใจของผู้คนดีขึ้นจริงๆ ตามโปรแกรมที่วางไว้พวกเรามุ่งเดินทางไป 2 จุดใหญ่ๆ จุดแรกไปดูการอาบป่าที่เมือง ‘Itsuki’ ส่วนหนึ่งของเกาะคิวชู เป็นการอาบป่าแบบธรรมดา เข้าป่าไปสัมผัสธรรมชาติโดยใช้ผัสสะทั้ง 5 (รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส) ส่วนจุดที่สองที่ ‘เมือง Yame Fukuoka’ เป็นการอาบป่าแบบบำบัด อาบป่าแบบเยียวยา (Forest Theraphy ) ความแตกต่างก็คือ รูปแบบนี้จะต้องมีผู้ร่วมมือด้วย ได้แก่ แพทย์หรือ นักจิตวิทยา มีการตรวจสุขภาพทางกาย อาทิ ตรวจปอด ตรวจทางเดินหายใจ แพทย์กำหนดให้ว่าคนนั้นจะอาบป่าอย่างไร ใช้ป่าบำบัดแทนการจ่ายยานั่นเอง จริงๆ โรคทุกโรคมันมาจากความเครียด แล้วงานวิจัยฯ มากมายต่างก็บอกชัดเจนว่า ถ้าลดความเครียดได้ก็จะลดโรคได้”

O 1

สเปซเชื่อมธรรมชาติบนเส้นทางบรรจบกัน

หลังเดินทางกลับไทย ป้าแอ๊ดบอกว่าไม่มีเหตุผลต้องรอ แล้วทุกอย่างเกิดขึ้นก็เร็วมาก

“พอได้กลับมาทีนี้ก็ยิ่งอินหนัก (หัวเราะ) คิดว่าทำยังไงให้โฮมสเตย์ของเรามีกิจกรรมอาบป่าดีนะ คิดเยอะเสียเวลาก็เลยเปิดเลย ทำเลย พร้อมขาย สารภาพว่าตอนแรกที่ทำอาบป่า ชวนคนยากกว่าปลูกป่าอีก มีแต่คนตั้งถามเยอะแยะไปหมด โชคดีที่วันหนึ่งมีโอกาสคุยกับผู้ใหญ่ในจังหวัด ท่านฟังขั้นตอนแล้วก็สนับสนุน เพราะมองว่าเมืองกาญจน์ มีธรรมชาติป่าเขาสวยงาม แถมนักท่องเที่ยวเดินทางจากกรุงเทพฯ ไม่ไกล ยิ่งได้ทำเรื่องอาบป่าดูแลสุขภาพกาย สุขภาพใจ เข้ากับเทรนด์ wellness ตอนนี้”

O 11

เมื่อโควิดกระทบต่อสังคมแทบทุกมิติ เมืองไทยกำลังอยู่ในภาวะสังคมเปลี่ยน ผู้คนมีความเครียด ฟุ้งซ่าน มีความสับสนระหว่างธรรมชาติและเทคโนโลยี ทำให้ไม่มีเวลาอยู่กับตัวเองหรืออยู่กับธรรมชาติ ทั้งหมดนี้จึงเหมือนมาถูกที่ถูกเวลา

O 5

ป่า = ยาคลายเครียด?

“สำหรับช่วงโควิด ป้าชอบมาก ไม่ได้ชอบโควิดนะ (หัวเราะ) แต่ชอบในมุมที่ว่าทำให้คนหันกลับมามองธรรมชาติมากขึ้น สำหรับมุมของคนทำธุรกิจที่พักอาจจะเสียผลประโยชน์ การท่องเที่ยวซบเซา เพราะไม่มีแขกเลย แต่กับเรามีคนโทรเข้ามาบ่อยมากว่า เมื่อไหร่จะเปิด ระบายให้ฟังว่าเบื่อห้องแคบๆ เต็มทน ในช่วงที่ล็อกดาวน์ มีลูกค้าทั้งกลุ่มครอบครัว กลุ่มสถาปนิก คนวัยทำงาน กลุ่มนี้มีความเครียดสูงมากๆ บางคนกินยารักษาไมเกรน รักษาโรคซึมเศร้าติดต่อมานาน

จนเราได้ข้อสรุปคือ อาบป่าเหมาะกับทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความรู้ คนหนุ่มสาวที่เขาได้อ่านบทความทั้งในและต่างประเทศ ได้เห็นข้อมูลแล้วเชื่อว่ามันมีประโยชน์ต่อสุขภาพกายของตัวเองจริงๆ”

จากนั้นมาการอาบป่าก็ได้รับความสนใจมีพูดถึงมากขึ้น มีการสร้างเครือข่ายกันในพื้นที่อื่นๆ ทดลองตลาดจริง เชิญตัวแทนธุรกิจท่องเที่ยวเข้ามาเรียนรู้ พร้อมมองโอกาสในการขาย หลังจากเริ่มเป็นที่รู้จัก จากเริ่มมีเครือข่ายแค่ 7 ตอนนี้ขยายออกมาอีก มีราวๆ 14 แห่งในนามของกลุ่มอาบป่ากาญจนบุรี เป็นความร่วมมือกันทั้งโรงแรมและชุมชน อาทิเช่น ชุมชนหนองโรง ชุมชนลุ่มสุ่ม ฯลฯ

O 13

เรียนรู้กฎ ทดลองทำ

“สำหรับป้าใช้วิธีกึ่งๆ ระหว่างการอาบป่าและการบำบัด เริ่มจากการเช็กอินมาที่เราคล้ายๆ ที่พัก ช่วงบ่ายก็ให้แขกได้พักนั่งเล่นในห้องสมุดหรือสวนเล็กๆ ในพื้นที่ของเรา ใครอยากจิบชา ก็แล้วแต่เขา อาหารเย็นที่นี่ก็เป็นมื้อสุขภาพแนวเดียวกับที่เราทำเคยโฮมสเตย์ พอค่ำก็ปล่อยอิสระ แล้วแต่แขก แอบกระซิบว่าช่วงกลางคืนที่บ้านกลางป่าสามารถนอนดูดาวได้ด้วยนะในช่วงอากาศโปร่งๆ พอตอนเช้ามาหลังจากทำกิจกรรมส่วนตัวเราก็เริ่มกันเลย แต่เราจะดูก่อนเข้าไปว่าพฤติกรรมรวมๆ ของผู้มาอาบป่าเป็นยังไง มีการนั่งจิบชา กาแฟ พูดคุยกันเริ่มอธิบายเรื่องการอาบป่าตั้งแต่แรกเพื่อเคลียร์สิ่งที่เขาสงสัย เพราะหลังจากนี้เราจะเดินอาบป่าไปด้วยกัน ต้องไม่พูด ไม่ถาม”

O 12

“ข้อจำกัดที่คนอาบป่าต้องยอมรับกติกา คือ งดใช้เครื่องมือสื่อสาร แต่บางคนหวงกลัวหาย หรืออยากถ่ายภาพ เราก็เปิดให้เป็นทางสายกลางเอาไปได้แต่ต้องปิดเสียง ถ่ายในโลกส่วนตัวไม่รบกวนผู้อื่น

จากนั้นก็เริ่มกระบวนการเดินเข้าไปทำกิจกรรมทำความรู้จักป่าและต้นไม้แถบนี้ เช่น ต้นตะโก ต้นงิ้ว ต้นซาก ต้นแจงและมะกอกป่า เรามีข้อตกลงร่วมกันอีกอย่างคือ ควรร่วมกิจกรรมตามระยะเวลาที่กำหนดราวๆ 2 ชั่วโมง จากนั้นป้าจะมีแบบประเมินง่ายๆ ให้แสดงความคิดและความรู้สึกออกมา”

O 7

เครียดมาก ต้องอาบป่าบ่อย?

“การทำหนึ่งครั้งช่วยให้มีผลประมาณ 1 เดือนซึ่ง การวิจัยรองรับว่าผลจะมีถึงตอนนั้น เราก็ไม่ต้องอาบป่าบ่อย ถ้าเรามีเครื่องมืออยู่แล้ว จริงๆ ป่าในที่นี้หมายถึง ป่าใหญ่ ป่าเล็ก สวนสาธารณะ หรือการเอาต้นไม้เข้ามาในบ้าน โดยเรามีเครื่องมือก็คือผัสสะทั้งห้า สิ่งที่เน้นเลยก็คือ ความสงบ ความที่ทำให้จิตผูกเป็นหนึ่งเดียว เพราะก่อนทำเราอาจจะมีความเครียดกังวล แต่พอเข้าป่า เราจะลืมทุกอย่าง ชื่นชมเสียงนกร้อง สายลม บางทีมันก็คล้ายๆ กับคำสอนทางพุทธนะ ก็คือ โล่ง โปร่ง สบาย หรือ จิตว่างนั่นแหละ”

O 3

O 8

ขอบคุณที่อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้… หากรู้สึกเหนื่อยล้า หมดพลังจากการกรำงานหนัก หรือเคร่งเครียดกับสิ่งที่อยู่รอบตัวจนจำไม่ได้ว่าทิ้งรอยยิ้มหรือลืมเสียงหัวเราะของตัวเองไปนานมากแค่ไหนแล้ว…ลองให้เวลากับตัวเองบ้าง

O 2

เพราะสำหรับเรา การได้ลองอาบป่าครั้งหนึ่งกับป้าแอ๊ด อย่างน้อยก็ช่วยให้ภาพของประโยคที่ว่า ‘มันยังมีอะไรอีกมากมายในชีวิต ที่นอกเหนือจากความรีบเร่ง’ ชัดเจนขึ้น…

ทำไมญี่ปุ่นจึงสนับสนุนให้ทุกคนอาบป่า?

การอาบป่าในญี่ปุ่น มีประวัติการนำเสนอโดยผู้ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานป่าไม้ในจังหวัดนางาโนะตั้งแต่ทศวรรษ 1980 รัฐบาลในตอนนั้นเริ่มเห็นผลเสียของการที่ประชาชนอยู่ในเมืองท่ามกลางเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นภาวะซึมเศร้า อาการเสียสมาธิ รวมไปถึงอาการเจ็บปวดต่างๆ ในร่างกาย เมื่อเวลาผ่านไปอาการเหล่านี้ยิ่งแย่ลงเรื่อยๆ ซึ่งเกิดจากการที่ประชาชนอยู่ในเมืองที่มีการจราจรติดขัด ผู้คนหนาแน่น ชีวิตในออฟฟิศที่ใช้เวลายาวนาน ทำงานหนัก พื้นที่สีเขียวในเมืองถูกลดทอน จึงมีการส่งเสริมให้ผู้คนไป ‘อาบป่า’ ให้มากขึ้นจากนั้น จึงได้มีการนำแนวคิดชินรินโยคุไปศึกษาผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และมีการวิจัยอย่างต่อเนื่อง

ศ. ดร. นพ. ชิง ลี (Qing Li) เป็นแพทย์ประจำโรงเรียนแพทย์นิปปน เมดิคอล สคูล ในกรุงโตเกียว ประธานสมาคมการบำบัดด้วยป่าแห่งประเทศญี่ปุ่น และผู้แต่งหนังสือ Forest Bathing: How Trees Can Help You Find Health and Happiness เขา ประเมินว่าคนเราใช้เวลา 93 % ของเวลาทั้งหมดในบ้าน เขายังระบุไว้ว่าความผิดปกติในการขาดดุลทางธรรมชาติในสังคม ก่อให้เกิดความรู้สึกด้านลบเกี่ยวกับชีวิต แต่สิ่งเหล่านี้สามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้อย่างมากโดยการอาบป่าเพียงไม่กี่ชั่วโมง

และแล้วต่อมา ‘การอาบป่า’ ได้รับการยอมรับให้เป็นวิธีการรักษาเชิงป้องกัน (preventative healthcare) ที่ใช้ในประเทศญี่ปุ่น ผลการศึกษาระบุว่า ส่งผลให้อารมณ์ คุณภาพในการนอนหลับ และการทำสมาธิดีขึ้น รวมทั้งสามารถลดฮอร์โมนความเครียด อารมณ์ซึมเศร้า และความดันเลือดได้ด้วย

สนใจกิจกรรมอาบป่า กับกลุ่มอาบป่ากาญจนบุรี ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม
โทร 089-919-9093
https://www.facebook.com/อาบป่า-Forest-Bathing-348585339171530

Tags: