About
DETOUR X Phuket

Home of Memoire

‘บ้านอาจ้อ’ จากอังมอเหลา 80 ปีสู่โฮมมิวเซียมที่คงความดั้งเดิมไว้มากที่สุด

เรื่อง เปรมวดี ปานทอง ภาพ วิศิษฐ์ แถมเงิน Date 15-09-2022 | View 3647
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • คฤหาสน์โบราณของหลวงอนุภาษภูเก็ตการ ถูกแปลงโฉมเป็นพิพิธภัณฑ์ ‘บ้านอาจ้อ’ โดยทายาทรุ่นที่ 4 หลังปิดตายมานาน 37 ปีโดยยังคงเรื่องราวและเอกลักษณ์เดิมไว้มากที่สุด
  • อังมอเหลาสไตล์ชิโน-โคโลเนียลหลังนี้ถูกถอดแบบมาจากบ้านที่ปีนังและได้รับอิทธิพลของงานอาร์ตเดโค (Art Deco) มีจุดเด่นเรื่องลักษณะโค้งมน สร้างเมื่อปี 2479 เป็นบ้านตากอากาศและไว้มาดูแลกิจการอื่นๆ นอกเหนือจากเหมืองแร่
  • โลโก้ของบ้านคือภาพวาดดอกโบตั๋น กลางบ้านเป็นรูปอาจ้อผู้หญิงเกล้ามวยอยู่ตรงกลาง รอบๆ เป็นหัวใจ 9 ดวงแทนลูกทั้ง 9 คนของอาจ้อ รวมเป็นดอกโบตั๋น สื่อถึงความสุขและมีผู้หญิงเป็นศูนย์กลางความรักของบ้าน วาดโดย ‘Ludalet’ ศิลปินชาวรัสเซีย

อาจ้อ เป็นคำเรียกญาติผู้ใหญ่ของชาวภูเก็ตเชื้อสายฮกเกี้ยน แปลว่าทวด

กว่า 37 ปีที่คฤหาสน์เก่าแก่สไตล์ชิโน-โคโลเนียล หรือที่คนท้องถิ่นเรียกว่า ‘อังมอเหลา’ สีขาวโดดเด่นห่างจากสะพานสารสินและสนามบินภูเก็ตเพียงแค่ 5 กม. ของหลวงอนุภาษภูเก็ตการ ‘อาจ้อ’ ของ อ๊อด-สัจจ และโอ๊ค-บรรลุ หงษ์หยก ทายาทรุ่นที่ 4 ถูกทิ้งร้างไว้จนทรุดโทรม ก่อนที่ 2 พี่น้องรีโนเวทให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งโดยคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์สวยงามและความทรงจำเก่าก่อน

ระหว่างการซ่อมแซมได้เกิดปาฏิหาริย์กับครอบครัว จู่ๆ อากง (คุณปู่) ก็หายป่วยจากโรคมะเร็ง จากความตั้งใจจะทำเพื่อเป็นของขวัญวันเกิดอายุครบ 90 ปีให้กับท่าน กลายเป็นแรงบันดาลใจให้อ๊อดจุดประกายความคิดเรื่องการทำธุรกิจพร้อมกับการแบ่งปัน จนเกิดเป็น ‘บ้านอาจ้อ’ ที่เนรมิตเป็นทั้งโฮมมิวเซียม เป็นโฮมสเตย์แสนอบอุ่น ร้านอาหารพื้นเมืองระดับมิชลินไกด์ รวมไปถึงมูลนิธิเพื่อช่วยเหลือเด็กๆ ที่วาดฝันอยากพัฒนาชุมชนให้เติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต

‘บ้านอาจ้อ’ จากอังมอเหลา 80 ปีสู่ โฮมมิวเซียมที่คงความดั้งเดิมไว้มากที่สุด

เจ้าบ้าน

“อาจ้อเลือกทำเหมืองแร่ตามพี่ชายและหาวิธีของตัวเองมาเรื่อยๆ จนประสบความสำเร็จและร่ำรวยจากการเป็นนายเหมือง โดยสร้างอังมอเหลาหลังแรกในเมือง ส่วนที่นี่เป็นเหมือนบ้านตากอากาศ” สัจจ ที่อยู่ต้อนรับพาไปทักทายเจ้าของบ้านที่อยู่บนผนังห้องโถงปีกซ้ายด้านหน้าก่อนเดินชมบรรยากาศภายในบ้าน

‘บ้านอาจ้อ’ จากอังมอเหลา 80 ปีสู่ โฮมมิวเซียมที่คงความดั้งเดิมไว้มากที่สุด

หลวงอนุภาษภูเก็ตการ มีชื่อเดิมว่า ตันจิ้นหงวน เริ่มต้นทำงานเหมืองแร่ดีบุกกับพี่ชายจนมีความรู้ความสามารถจึงขอแยกตัวมาทำเหมืองหาบกับเพื่อนๆ และประสบปัญหาขาดทุนจนแทบหมดตัว แต่ด้วยความมานะไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค เปลี่ยนวิธีทำเหมืองไปเรื่อยๆ จนในที่สุดสามารถเปิดเหมืองสูบและตั้งโรงไฟฟ้าใช้ในกิจการเหมืองสูบแทนเครื่องยนต์ ลดต้นทุนการผลิต โดยมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิจ เสด็จเป็นองค์ประธานและทรงลงลายพระหัตถ์ประทานชื่อเหมืองสูบว่า ‘เหมืองเจ้าฟ้า’ ไว้เป็นที่ระลึก

ต่อมาท่านได้ขยายกิจการเปิดเหมืองเรือขุดแร่ ที่จ.พังงา นับเป็นคนไทยคนที่ 2 รองจากพระอร่ามสาครเขตรที่มีเรือขุดของตัวเอง รวมทั้งกิจการที่เกี่ยวข้องอย่าง โรงหล่อกลึง โรงเลื่อยไม้ รวมไปถึงอุตสาหกรรมด้านอื่นๆ อาทิ โรงทำสบู่ โรงสุรา โรงฝิ่น สวนมะพร้าว เรือเดินทะเล ภูเก็ต-กันตัง เป็นต้น

‘บ้านอาจ้อ’ จากอังมอเหลา 80 ปีสู่ โฮมมิวเซียมที่คงความดั้งเดิมไว้มากที่สุด

‘บ้านอาจ้อ’ จากอังมอเหลา 80 ปีสู่ โฮมมิวเซียมที่คงความดั้งเดิมไว้มากที่สุด

นอกจากจะเป็นนายเหมืองที่มีชื่อของภูเก็ตแล้ว ตันจิ้นหงวนยังเป็นที่เคารพรักของชาวบ้านจากการทำประโยชน์ให้ชุมชนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นยกที่ดินให้สร้างโรงเรียนบ้านสวนมะพร้าว ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนหงส์หยกบำรุง สร้างวัด ยกที่ดินให้สร้างโรงพยาบาลมิชชั่น และบริจาคช่วยเหลือท้องถิ่นและราชการอีกหลายครั้ง จนได้รับบรรดาศักดิ์เป็น ‘หลวงอนุภาษภูเก็ตการ’

‘บ้านอาจ้อ’ จากอังมอเหลา 80 ปีสู่ โฮมมิวเซียมที่คงความดั้งเดิมไว้มากที่สุด

บ้านตากอากาศอาจ้อ เรือนหออากง

แรกเริ่มเดิมทีบ้านหลังนี้ถูกเรียกว่า ‘บ้านสวนมะพร้าว’ เพราะอยู่ท่ามกลางสวนมะพร้าวใกล้หาดไม้ขาวที่คหบดีเหมืองแร่ต้นตระกูลหงษ์หยกสร้างไว้เมื่อปี 2479 เพื่อไว้พักผ่อนและมาดูแลกิจการอื่นๆ โดยรอบ ไม่ว่าจะเป็นโรงหนัง โรงฝิ่น โรงสุรา โรงทำสบู่ รวมไปถึงเหมืองแร่ที่พังงา โดยถอดแบบมาจากอังมอเหลาที่ปีนัง

‘บ้านอาจ้อ’ จากอังมอเหลา 80 ปีสู่ โฮมมิวเซียมที่คงความดั้งเดิมไว้มากที่สุด

“สมัยก่อนอาจ้อส่งลูกๆ ไปเรียนที่ปีนัง ชอบสไตล์บ้านที่นั่นและได้สร้างบ้านไว้ 2 หลังเป็นอาคารตึกแถวยาวๆ เรียกเตี๊ยมหล่าย กับอังมอเหลา ปัจจุบันกลายเป็นโบสถ์ไปแล้ว แกถอดแบบบ้านหลังนั้นมาทำที่นี่ กระเบื้องที่ใช้นำเข้าทั้งหมด กระเบื้องปูพื้นจากอิตาลี กระเบื้องห้องน้ำจากอังกฤษ ส่วนกระเบื้องหลังคาจากฝรั่งเศส”

‘บ้านอาจ้อ’ จากอังมอเหลา 80 ปีสู่ โฮมมิวเซียมที่คงความดั้งเดิมไว้มากที่สุด

ในยุคนั้นอังมอเหลาของเศรษฐีรุ่นเก่าเป็นสไตล์นีโอคลาสสิก (Neo-Classic) มีลักษณะทรงตรงอย่างที่เห็นส่วนใหญ่ในตัวเมืองภูเก็ต แต่สำหรับหลวงอนุภาษภูเก็ตการถือเป็นเศรษฐียุคใหม่ตอนนั้นที่ชื่นชอบงานรูปแบบอาร์ตเดโค (Art Deco) จุดเด่นของบ้านหลังนี้จึงเน้นลักษณะโค้งมนเป็นเอกลักษณ์เช่นเดียวกับบ้านหงษ์หยกในเมือง

ครั้นเมื่อเข้าสู่บั้นปลายชีวิตท่านกลับไปใช้ชีวิตอยู่ในเมืองและเอ่ยปากถามลูกๆ ทั้งหมด 9 คนว่าใครจะมาดูแลบ้านหลังนี้ให้ได้บ้าง สุดท้ายก็เป็นคุณณรงค์ หงส์หยก ลูกชายคนที่ 5 ที่ขันอาสามาอยู่เฝ้ากับภรรยา

“ไม่มีใครอยากมาอยู่เพราะไกล อากงเลยบอกว่าเดี๋ยวแกมาอยู่เอง ซึ่งตอนนั้นแกแต่งงานกับอาม่าแล้วก่อนจะย้ายมาอยู่ที่นี่ด้วยกัน 27 ปีเหมือนเป็นเรือนหอของพวกท่าน แต่หลังจากลูกหลานโตขึ้นและเข้าไปเรียนในเมืองกันหมด แกขับรถไปกลับอยู่บ่อยๆ ไม่ไหวจึงตัดสินใจย้ายทุกคนกลับไปอยู่ในเมืองและปิดบ้านนี้ไว้ตั้งแต่นั้นมา”

‘บ้านอาจ้อ’ จากอังมอเหลา 80 ปีสู่ โฮมมิวเซียมที่คงความดั้งเดิมไว้มากที่สุด

โฮมมิวเซียม

หลังทราบข่าวอากงไม่สบายด้วยโรคมะเร็ง พวกเขาตั้งใจอยากทำอะไรสักอย่างให้เป็นของขวัญแก่ท่านเนื่องในโอกาสครบรอบ 90 ปี นั่นคือจุดเริ่มของความคิดในการฟื้นฟูบ้านหลังนี้ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

“แก (อากง) มีความทรงจำที่ดีกับบ้านหลังนี้มาก เราอยากทำให้แกชื่นใจและมีความสุขที่ได้เห็นบ้านหลังนี้กลับมาเหมือนเดิมในช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ โดยมีโจทย์หลักคือการซ่อมบ้านให้กลับมาใช้ได้อีกครั้งก็นับว่าเยี่ยมแล้ว เพราะสภาพบ้านทรุดโทรมไปพอสมควรและเรามีงบจำกัด”

‘บ้านอาจ้อ’ จากอังมอเหลา 80 ปีสู่ โฮมมิวเซียมที่คงความดั้งเดิมไว้มากที่สุด

โปรเจ็กต์นี้จึงไม่มีการจ้างสถาปนิก ไม่มีผู้รับเหมา มีแต่สถาปนึก คิดเองทำกันเองโดยอนุรักษ์ตึก รูปแบบและเฟอร์นิเจอร์เดิมเอาไว้ ยกเว้นสวนที่ต้องทำใหม่เลยเพราะตอนนั้นได้เปลี่ยนสภาพเป็นป่าไปเรียบร้อย ปรากฏว่าระหว่างซ่อมบ้านไปได้กว่า 2 ปีอากงหายจากโรคมะเร็งและกลับมาแข็งแรงดีอีกครั้ง อ๊อดจึงเกิดความคิดอยากแบ่งปันและมอบสิ่งดีๆ ให้สังคมเหมือนกับอาจ้อและอากงที่เคยเป็นแบบอย่างในการบริจาคเพื่อสาธารณประโยชน์มากมาย

“ขณะเดียวกันเราก็อยากให้บ้านนี้อยู่รอดได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องรบกวนครอบครัว คิดกันว่าจะจัดการอย่างไรต่อและมาลงเอยที่โฮมสเตย์และเป็นพิพิธภัณฑ์ไปในตัว มีร้านอาหาร ร้านค้าชุมชนจากทั่วประเทศ” สัจจ เล่าถึงการแปลงบ้านเก่าให้เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว โดยมีน้องชาย มะ (แม่ของ 2 หนุ่ม) และคุณจุ๋ม-อรสา โตสว่าง น้าสาวของทั้งคู่ร่วมด้วยช่วยกัน

‘บ้านอาจ้อ’ จากอังมอเหลา 80 ปีสู่ โฮมมิวเซียมที่คงความดั้งเดิมไว้มากที่สุด

บ้านเลือกคน

นอกจากส่วนของห้องน้ำที่ต่อเติมด้านหลังบ้านเพื่อรองรับการให้บริการที่พักในช่วงแรกนั้น อ๊อดบอกว่าส่วนที่เหลือคือโครงสร้างเดิมทั้งหมด รวมทั้งกระเบื้องปูพื้นและหลังคาก็เป็นของดั้งเดิมตั้งแต่ยุคอาจ้อ อะไรที่ชำรุดก็ทำขึ้นมาใหม่ในรูปแบบเดิม

“หากสังเกตจะเห็นว่าที่นี่มีหน้าต่างเยอะมากเพราะเมื่อก่อนมีไฟใช้แค่ช่วง 6 โมง -3 ทุ่มเท่านั้น บ้านทั้งหลังจึงถูกดีไซน์ให้ใช้ลมทั้งหมด แม้ด้านข้างก็มีประตูทางออกเปิดให้ลมเข้ามาวนเป็นวงกลม ทำให้เข้ามาแล้วรู้สึกเย็นสบาย แต่ตอนนี้ใช้กระจกปิดประตูไว้เพื่อความสะดวกในการดูแล อาจารย์(ซินแส) บอกว่าบ้านหลังนี้ถูกเซตมาดีตามหลักฮวงจุ้ยหมดแล้ว บ้านเลือกเราแล้วอยากทำอะไรทำได้เลย”

‘บ้านอาจ้อ’ จากอังมอเหลา 80 ปีสู่ โฮมมิวเซียมที่คงความดั้งเดิมไว้มากที่สุด

อ๊อด-สัจจ หงษ์หยก ทายาทรุ่นที่ 4

ตลอด 3 ปีของการทำบ้าน หนุ่มอดีตสายโปรแกรมเมอร์ยอมรับว่าไม่ง่ายเลย หลายครั้งหลายคราที่พบทางตัน แต่สุดท้ายก็ได้รับความช่วยเหลือหรือไม่ก็มีความบังเอิญอย่างน่าเหลือเชื่อเกิดขึ้นตลอด

“อย่างหลังคาที่แตกและรั่วซึม ตอนแรกเราต้องเอาผ้าใบปิดเอาไว้เพราะไม่มีกระเบื้องที่เข้ากับของเดิมจากฝรั่งเศสได้เลย ระหว่างที่ยังคิดไม่ตกว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร อยู่ๆ ระหว่างรื้อบ้านก็ไปเจอกระเบื้องสำรองเก็บอยู่ในเตาโบราณหลังบ้านตั้งแต่สมัยอาจ้อ โดยที่อากงเองก็ไม่รู้มาก่อน และเมื่อรื้อขึ้นมาซ่อมก็พอดีกับจำนวนที่ต้องซ่อมเป๊ะ ความคลาสสิกของกระเบื้องนี้คือใช้การวางต่อๆ กันโดยไม่ต้องใช้น็อตแม้แต่ตัวเดียว ซึ่งเป็นงานยากที่ถึงตอนนี้กระเบื้องที่เราเอาไปทำโมเพื่อสำรองไว้ในอนาคตยังไม่ได้เลย”

‘บ้านอาจ้อ’ จากอังมอเหลา 80 ปีสู่ โฮมมิวเซียมที่คงความดั้งเดิมไว้มากที่สุด

ไม่เพียงแค่นั้นช่างไม้ที่เพื่อนแนะนำ คุยไปคุยมากลับเป็นช่างเก่าแก่ที่เคยทำเฟอร์นิเจอร์ให้กับอาจ้อตอนอยู่ในเมือง เจ้าตัวดีใจมากเมื่อรู้ว่าเป็นบ้านของหลวงอนุภาษภูเก็ตการ พร้อมเอ่ยปากยกทีมมาช่วยงานไม้ทั้งหลังในราคาคุ้มทุน ส่วนบริเวณโดยรอบบ้านก็ได้อาที่ทำผังเมืองมาช่วยเขียนแปลนให้ฟรี

‘บ้านอาจ้อ’ จากอังมอเหลา 80 ปีสู่ โฮมมิวเซียมที่คงความดั้งเดิมไว้มากที่สุด

“แต่ส่วนใหญ่เราจะทำกันเอง อย่างผนังก็คัดคนงานในสวนที่มีฝีมือมาขูดสีด้วยมือกันทั้งหลัง และคงสภาพเนื้อในที่เป็นสีครามที่คนสมัยก่อนใช้ทาก่อนลงสี แม้กระทั่งบล็อกทางเดินก็หล่อกันเอง งานผ้าทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นผ้าม่าน ปลอกหมอน ผ้าคลุมเตียง เป็นฝีมือของมะทั้งนั้น การจัดวางตกแต่งภายในก็เป็นไอเดียของพี่จุ๋ม”

‘บ้านอาจ้อ’ จากอังมอเหลา 80 ปีสู่ โฮมมิวเซียมที่คงความดั้งเดิมไว้มากที่สุด

อนุรักษ์อดีต คงเรื่องราวให้อนาคต

แรกเริ่มที่นี่เปิดตัวด้วยห้องพัก 8 ห้องตามจำนวนห้องเดิมที่มีอยู่ของบ้าน แต่ด้วยความน่าสนใจของบ้านและข้าวของเครื่องใช้โบราณที่เต็มไปด้วยเรื่องราวซ่อนอยู่ ทำให้ลูกค้าแนะนำให้ทำเป็นพิพิธภัณฑ์ไปเลย พร้อมเพิ่มความพิเศษให้กับห้องพักโดยการลดเหลือเพียงห้องเดียว

เมื่อถามว่าอะไรคือสัญลักษณ์ของบ้านหลังนี้ สัจจ ชี้ไปยังภาพวาดดอกโบตั๋นขนาดใหญ่บนผนังกลางบ้าน

“ในภาพเป็นรูปอาจ้อผู้หญิงเกล้ามวยอยู่ตรงกลาง รอบๆ เป็นหัวใจ 9 ดวงแทนลูกทั้ง 9 คนของอาจ้อ รวมเป็นดอกโบตั๋น สื่อถึงความสุขและมีผู้หญิงเป็นศูนย์กลางความรักของบ้าน ‘Ludalet’ ศิลปินชาวรัสเซียเป็นคนวาด ซึ่งก็เป็นความบังเอิญอีกเรื่อง เพราะตอนเพิ่งเข้ามาภูเก็ตเขาเคยมาที่บ้านหลังนี้แล้วครั้งหนึ่ง แต่เข้าข้างในไม่ได้ เลยอธิษฐานขอให้ได้เข้าบ้านนี้สักครั้ง และได้กลับมาวาดรูปที่นี่อยู่ 3 เดือน”

‘บ้านอาจ้อ’ จากอังมอเหลา 80 ปีสู่ โฮมมิวเซียมที่คงความดั้งเดิมไว้มากที่สุด

ส่วนอักษรจีน 2 ตัวบนป้ายหน้าประตูบ้านและบนเสื้อที่เจ้าตัวใส่นั้นเป็นคำที่ได้มาจากสุสานอาจ้อ ซึ่งหลายคนอาจจะเคยเห็นมาบ้างแล้วในย่านเมืองเก่า อ่านว่า ‘กวนซาน’ เป็นชื่อหมู่บ้านแห่งหนึ่งในประเทศจีนที่เป็นบ้านเกิดของบรรพบุรุษ ขณะที่ห้องโถงใกล้ดอกโบตั๋นเดิมเป็นห้องนั่งเล่น แปลงเป็นห้องเล่าเรื่องครอบครัว มีภาพสมาชิกทั้ง 4 รุ่น

‘บ้านอาจ้อ’ จากอังมอเหลา 80 ปีสู่ โฮมมิวเซียมที่คงความดั้งเดิมไว้มากที่สุด

บางอย่างเป็นเฟอร์นิเจอร์ดั้งเดิม บางอย่างหยิบยืมจากญาติมาบ้าง ลูกค้าบริจาคมาให้บ้าง บ้างก็มีอายุกว่า 100 ปีเพราะเอามาจากเตี๊ยมหล่ายในเมือง เช่น โต๊ะที่อยู่หน้ารูปอาจ้อ โดยห้องของอาจ้อจะอยู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้หรือห้องแรกทางปีกซ้าย ซึ่งเป็นห้องที่เย็นที่สุดของบ้าน ปัจจุบันเป็นห้องขายของที่ระลึกจากผู้หญิง เด็ก คนชราและทัณฑสถาน ตำแหน่งเดียวกันของชั้น 2 จะเป็นห้องอากง-อาม่า ที่ตกแต่งให้เป็นห้องหอของคนไทยเชื้อสายจีนสมัยก่อน

‘บ้านอาจ้อ’ จากอังมอเหลา 80 ปีสู่ โฮมมิวเซียมที่คงความดั้งเดิมไว้มากที่สุด

“นี่เป็นเตียงที่อากงอาม่าใช้เข้าหอกันจริงๆ ยกมาจากบ้านในเมือง ส่วนชุดเจ้าสาวสีแดงเป็นของพี่จุ๋ม ถ้าย้อนไปยุคของอาม่าจะเป็นชุดสีขาวล้วนเพราะได้รับอิทธิพลจากฝรั่ง” สัจจ เล่าให้ฟังพร้อมเสริมว่า “ห้องนี้เป็นห้องมงคลมากตกตำแหน่งเงินทองอยู่แล้วรวย ก่อนหน้านี้เคยจัดงานแต่งงานมาแล้ว 2 ครั้งและเปิดให้แขกนอนได้ แต่ตอนนี้เปิดให้ชมอย่างเดียว”

‘บ้านอาจ้อ’ จากอังมอเหลา 80 ปีสู่ โฮมมิวเซียมที่คงความดั้งเดิมไว้มากที่สุด

ไม่เพียงแค่ห้องหอแต่พวกเขายังพยายามบอกเล่าเรื่องราวในอดีตให้ใกล้เคียงมากที่สุด อย่างสายไฟก็ถอดแบบมาจากสายไฟและกิ๊บโบราณสมัยอาจ้อที่เจออยู่ชั้นสอง กว่าจะหาโรงงานผลิตได้ต้องไปถึงลำปาง และต้องใช้เวลาเดินสายไฟนานถึง 1 ปี

คฤหาสน์หลังนี้มี 3 ชั้น แต่เปิดให้ชมเพียงแค่ 2 ชั้นโดยห้องพักเพียงหนึ่งเดียวจะอยู่ชั้นสองตรงกันข้ามกับห้องหออากง-อาม่า บริเวณระเบียงสามารถเดินทะลุและมองเห็นบริเวณบ้านได้โดยรอบ เป็นจุดที่อาจ้อยืนสั่งคนงานในสวนมะพร้าวในอดีต ส่วนชั้น 3 ไม่ได้เปิดให้ชม เป็นห้องพระใหญ่ มีเครื่องดนตรี ไม้เท้าของอากงที่เคยใช้

“เมื่อก่อนอากงเป็นนักมวย นักเพาะกาย นักดนตรีวงแรกของภูเก็ตชื่อ เดอะชาร์ก เป็นที่มาทำไมถึงมีเครื่องดนตรีในบ้านเยอะ”

‘บ้านอาจ้อ’ จากอังมอเหลา 80 ปีสู่ โฮมมิวเซียมที่คงความดั้งเดิมไว้มากที่สุด

‘บ้านอาจ้อ’ จากอังมอเหลา 80 ปีสู่ โฮมมิวเซียมที่คงความดั้งเดิมไว้มากที่สุด

ปันน้ำใจเคียงข้างชุมชน

ถัดจากประตูด้านหลังพิพิธภัณฑ์มีทางเชื่อมไปยังห้องกินข้าวและห้องครัวเดิมที่ถูกตีทะลุรวมกันเป็นร้านอาหารโต๊ะแดง โดยย้ายครัวไปอยู่ในส่วนของห้องคนงานกับโรงจอดรถแทน มีโต๊ะสีแดงเป็นเอกลักษณ์ประจำร้านกับเมนูพื้นถิ่น เช่น ผัดลิ้นห่านไฟแดง หมี่กรอบ เกี้ยนทอด หมูฮ้องเสิร์ฟกับโรตี พร้อมกับช่วยเหลือและดูแลชุมชนไปด้วยกัน

“เราพยายามอุดหนุนวัตถุดิบในชุมชน พนักงานก็เป็นคนในพื้นที่ รายได้จากพิพิธภัณฑ์ส่วนหนึ่งก็แบ่งเข้ามูลนิธิบ้านอาจ้อเพื่อช่วยเหลือเด็กๆ ส่วนหนึ่งเอาไว้ซ่อมแซมบ้าน อนาคตเมื่อร้านอาหารเริ่มไหวก็จะปันรายได้บางส่วนเข้ามูลนิธิฯ เช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมาก็นำไปช่วยเรื่องทุนการศึกษา ซื้อเสื้อผ้า ช่วยค่าใช้จ่าย”

‘บ้านอาจ้อ’ จากอังมอเหลา 80 ปีสู่ โฮมมิวเซียมที่คงความดั้งเดิมไว้มากที่สุด

วันนี้สัจจได้พาบ้านอาจ้อผ่าน 1 ล้านวิวกูเกิลภายใน 3 ปีแรกได้ตามเป้าหมายที่วางไว้สำเร็จไปแล้วหนึ่งขั้น ท่ามกลางความสุขที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ของเก่าและทำให้ผู้คนเห็นคุณค่ามากขึ้น

‘บ้านอาจ้อ’ จากอังมอเหลา 80 ปีสู่ โฮมมิวเซียมที่คงความดั้งเดิมไว้มากที่สุด

‘บ้านอาจ้อ’ จากอังมอเหลา 80 ปีสู่ โฮมมิวเซียมที่คงความดั้งเดิมไว้มากที่สุด

“เราจะดีใจมาก หากคนที่มาแล้วกลับไปด้วยความรู้สึกรักและอยากอนุรักษ์ของเก่าโบราณไว้” สัจจ ทิ้งท้ายพร้อมวาดฝันอยากพัฒนาให้ที่นี่เป็นแลนด์มาร์กสำหรับนักท่องเที่ยว สร้างงาน สร้างบรรยากาศเหมือนในอดีตสมัยอาจ้อเพื่อช่วยเด็กๆ ช่วยชาวบ้านและพัฒนาชุมชนโดยรอบไปให้เติบโตอย่างยั่งยืน

‘บ้านอาจ้อ’ จากอังมอเหลา 80 ปีสู่ โฮมมิวเซียมที่คงความดั้งเดิมไว้มากที่สุด

‘บ้านอาจ้อ’ จากอังมอเหลา 80 ปีสู่ โฮมมิวเซียมที่คงความดั้งเดิมไว้มากที่สุด

บ้านอาจ้อ
102 ถนนเทพกษัตรีย์ ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต 83110
โทร. 062 459 8889
FB : Baan Ar-Jor บ้านอาจ้อ

Tags: