About
DETOUR X Bhutan

Bhutan Believe

7 เทศกาลน่าไปในภูฏาน ดูวิถีชีวิต ศาสนา ประวัติศาสตร์ และธรรมชาติตั้งแต่ต้นยันท้ายปี

เรื่อง พิชามญชุ์ พูนสวัสดิ์พงศ์ Date 30-01-2024 | View 7103
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • กางปฏิทินภูฏานเช็ก 7 เทศกาลประจำปีล่วงหน้า สัมผัสวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต และความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ จากการไปกิน ดู และเดินเที่ยว งานนี้ชาวภูฏานอ้าแขนต้อนรับนักท่องเที่ยวตลอดทั้งปี หวังแสดงจุดแข็งของภูฏานให้ชาวโลกเห็นผ่านการท่องเที่ยวหลากหลายรูปแบบ

ไหนๆ ภูฏานน่าเที่ยวช่วงไหนบ้าง บทความนี้จะพามาดู 7 เทศกาลประจำปีที่มีให้เลือกเที่ยวตั้งแต่ต้นปียันท้ายปีเลยทีเดียว เดิมทีภูฏานมีรากวัฒนธรรมอันหลากหลาย จึงเกิดเทศกาลเพื่อบอกเล่าความเชื่อ ประวัติศาสตร์ และธรรมชาติของประเทศ ยังไม่นับรวมการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยที่ก่อให้เกิดประเพณีทั้งเก่าและใหม่ ซึ่งเราจะได้สัมผัสผ่านศิลปะ อาหาร การแสดง และอื่นๆ อีกมากจนละลานตา

Bhutan

1
Punakha Dromche

Punakha Dromche คือเทศกาลเดียวของประเทศที่เกิดจากการทำศึก แม้ชื่อฟังดูอันตรายแต่ภูฏานรับรองสวัสดิภาพของทุกคนแน่นอน เทศกาลนี้เพียงจำลองการต่อสู้ในศตวรรษที่ 17 ระหว่างภูฏานกับกองทัพทิเบตเพื่อรักษาพระธาตุรังจุง คารสะปะนี เทศกาลหยิบทั้งเรื่องราวและเครื่องแต่งกายออกมาเล่าใหม่ เราจะได้เห็นนักแสดงในชุดทหารอาสาแบบดั้งเดิม สมัยก่อนไม่มีกองกำลังเป็นจริงเป็นจังด้วยซ้ำ กำลังสำคัญคือคนจากหมู่บ้านใหญ่ 8 แห่งที่รวบรวมจากเมืองทิมพูกับพูนาคาเรียกว่า ‘Tshochen’

Bhutan

การสาธิตดำเนินไปถึงกลเม็ดสับขาหลอกศัตรูเมื่อผู้นำอาณาจักรในขณะนั้นทิ้งพระธาตุปลอมลงแม่น้ำ เป็นที่มาของ ‘โนบุชูชานี’ (Norbu Chushani) ซึ่งเป็นการแช่พระธาตุในแม่น้ำโมจู ท่ามกลางผู้ชมหลายร้อยคน และไฮไลต์ของเทศกาล Punakha Dromche อยู่ในวันสุดท้าย วันนั้นจะมีชามทองแดงขนาดใหญ่บรรจุเหล้า ณ ใจกลางลานในป้อมปราการ หลังจากทำพิธีอวยพรเสร็จก็จะแจกจ่ายเหล้าให้กับผู้เข้าร่วมเทศกาล

Bhutan

Punakha Dromche จัดขึ้น ณ ป้อมปราการ Punakha Dzong ในเมือง Punakha ซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่าของภูฏาน โดยจัดวันที่ 16 – 18 กุมภาพันธ์ของทุกปี

Bhutan

2
Punakha Tshechu

เทศกาลนี้จัดถัดจากเทศกาลแรกพอดี โดยจัดตั้งแต่วันที่ 19 – 21 กุมภาพันธ์ ณ ป้อมปราการเดิม Punakha Tshechu เป็นเทศกาลเกี่ยวกับศาสนาที่เกิดขึ้นเพื่อเป็นแสดงความเคารพต่อ ‘รินโปเช’ (Guru Rinpoche) พระชาวอินเดียผู้นำพุทธตันตระหรือมหายานตันตระมามาสู่ทิเบตตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 8 โดยวัดแห่งแรกๆ ในทิเบตก็มีท่านเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง

Bhutan

เทศกาลเต้นรำนี้ยังเป็น Tshechu ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของภูฏานด้วย โดยจะจัดงานเต้นรำหน้ากากหรือ ‘Cham’ และการเต้นรำพื้นบ้านของชาวภูฏานแบบดั้งเดิม บอกเลยว่าคอสตูมจัดเต็มกว่าเทศกาลแรก เพราะงานนี้ชูความสวยงามเน้นๆ ผู้คนที่มาร่วมงานจะนำอาหารกลางวันมาปิกนิกและชมเทศกาลไปด้วย แถมในช่วงเดียวกันนี้ดอกศรีตรังกำลังออกดอกบานสวย โชว์ให้เห็นช่อดอกไม้สีม่วงคราม เติมความสดใสเข้ากับบรรยากาศเทศกาลพอดี

Bhutan

Bhutan

3
Paro Tshechu

ถัดมาในเดือนมีนาคมมีอีกหนึ่งเทศกาลเต้นรำหน้ากากของภูฏาน โดยทีเด็ดคือผู้แสดงเป็นพระภิกษุที่มาสาธิตการเต้นรำพื้นบ้านภูฏานให้ผู้ชมเพลิดเพลิน เทศกาลนี้จัดวันที่ 21 – 25 มีนาคมของทุกปี ณ รินปุง ซอง (Rinpung Dzong) ปราการกึ่งอารามที่ชื่อแปลตรงตัวว่าปราการกองแก้วมณี และสถานที่นี้เต็มไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นปราการที่สร้างบนฐานของอารามเก่าแก่ที่สร้างโดยรินโปเช บริเวณรอบปราการถูกจับจองเป็นที่อยู่อาศัยโดยพระภิกษุจำนวนหลายร้อยรูป

Bhutan

Bhutan

Bhutan

นำไปสู่ไฮไลต์ของเทศกาลที่ชาวภูฏานตั้งตาคอยคือการคลี่ผ้าปักรูปของรินโปเชขนาดมหึมา (Throngdrel) ในวันสุดท้าย ขนาดของผ้าปักก็ใหญ่สมศักดิ์ศรีด้วยความสูงเท่าตึก 3 ชั้น ชาวภูฏานจำนวนมากลงทุนต่อคิวเพื่อชื่นชมและขอพรจาก Throngdrel ทุกปี ดังนั้น นอกจากการแสดงเต้นรำพื้นบ้านเพื่อความจรรโลงใจและสืบทอดประเพณีแล้ว เทศกาลนี้ยังเป็นเทศกาลมงคลของประเทศอีกด้วย

Bhutan

4
Rhododendron

เมื่อใดที่เทศกาล Rhododendron มาเยือน เมื่อนั้นเป็นสัญญาณของฤดูใบไม้ผลิในภูฏาน Rhododendron คือกุหลาบพันปี ซึ่งมีมากถึง 29 สายพันธุ์ในอุทยานหลวงพฤกษศาสตร์ครอบคลุมพื้นที่กว่า 50 ตารางกิโลเมตร ยิ่งไปกว่านั้นคือมี 4 สายพันธุ์ที่ถือกำเนิดในภูฏาน เทศกาลนี้จึงเป็นการเฉลิมฉลองความอุดมสมบูรณ์ของภูฏาน แสดงถึงความรุ่มรวยของพืชพรรณ อาหาร และวัฒนธรรมที่ต่อยอดจากสิ่งเหล่านั้น ผ่านร้านรวงที่ขายผลิตภัณฑ์จากกุหลาบพันปี สิ่งทอกับของที่ระลึกโดยคนท้องถิ่น

Bhutan

Bhutan

Bhutan

เทศกาลนี้จัดระหว่างวันที่ 13-14 เมษายน ณ อุทยานหลวงพฤกษศาสตร์ในเมือง Lamperi ซึ่งอยู่ห่างจากทิมพูหรือเมืองหลวงของภูฏานเพียง 30 กิโลเมตรโดยประมาณ และสำหรับนักท่องเที่ยวผู้สนใจเส้นทางธรรมชาติสามารถไปอาบน้ำในป่าตามเส้นทางเดินป่า Lungchutse โดยจะมีกุหลาบพันปีบานสะพรั่งอยู่ตามรายทาง

Bhutan

5
เทศกาลนกกระเรียนคอดำ

แม้ภูฏานจะไม่ใช่ที่อยู่อาศัยหลักของนกกระเรียนคอดำ แต่ก็เป็นสถานที่ลี้ภัยยามฤดูหนาวมาเยือน นกกระเรียนคอดำที่พบในหุบเขา Gangtey อพยพมาจากทิเบต จีน และอินเดีย นกพันธุ์นี้เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงและการรุกรานถิ่นฐานจากการเติบโตของเมือง และพบน้อยลงเรื่อยๆ ดังนั้นเทศกาลนี้จึงมีขึ้นเพื่อผลักดันการอนุรักษ์โดยเฉพาะ

Bhutan

เทศกาลที่จัดขึ้นในวันที่ 11 พฤศจิกายนของทุกปีนี้ จึงเป็นโอกาสที่หาได้ยาก เพราะผู้เข้าร่วมจะได้ยลโฉมนกสายพันธุ์นี้อย่างใกล้ชิด คุ้มค่าแก่การนั่งรถยนต์จากเมืองทิมพูมายังหุบเขาในเวลาไม่ถึง 4 ชั่วโมง แถมจะได้ชมการเต้นรำสวมหน้ากากหลายรูปแบบ ทั้งการเต้นและตีกลองไปด้วยและระบำหมวกดำ ที่สำคัญคือการเผยแพร่วัฒนธรรมสู่สายตาผู้มาเยือน เพื่อให้รู้จักและเข้าใจวิถีชีวิตท้องถิ่นภูฏานอย่างลึกซึ้ง

Bhutan

6
เทศกาลดูนก

เทศกาลดูนกงานนี้ยิ่งใหญ่กว่างานที่แล้ว เพราะเขต Zhemgang เป็นที่อยู่อาศัยของนกกว่า 500 สายพันธุ์ และแน่นอนว่ามีสายพันธุ์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จำนวนไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็น ไก่ฟ้าเขาแดง นกเงือกคอแดง นกคัคคูมรกต นกกระสาท้องขาว ฯลฯ แม้เทศกาลเพิ่งจัดครั้งแรกในปี 2015 แต่ก็ดึงดูดนักท่องเที่ยวและสร้างชื่อให้ภูฏานไม่น้อย เขต Zhemnang จึงได้ฉายาว่า ‘เมืองหลวงแห่งการท่องเที่ยวเชิงนิเวศของภูฏาน’

งานนี้แม้ไม่ใช่สายดูนกก็มาเที่ยวได้ เพราะมีกิจกรรมมากมายตั้งแต่กิน ดู และเดินเที่ยวตามแหล่งน้ำธรรมชาติ จะตกปลาก็ได้ ล่องแก่งก็ดี อาหารท้องถิ่นก็หลากหลาย อย่างโจ๊กข้าวโพด ปลารมควัน และ Tongpa ซึ่งเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากข้าวสาลีเสิร์ฟในภาชนะไม้ไผ่ที่โด่งดังในหมู่นักท่องเที่ยว

Bhutan

ภูฏานขึ้นชื่อเรื่องการนำวัสดุธรรมชาติมาทำภาชนะและของใช้ นอกจากภาชนะที่จะเห็นตามร้านค้าในเทศกาล นักท่องเที่ยวชมภูมิปัญญานี้ได้ในนิทรรศการสิ่งทอจากอ้อยกับไม้ไผ่ แบ่งเป็นหลายหมวดหมู่ ตั้งแต่ของใช้ในครัวเรือน เครื่องประดับ ไปจนถึงซองใส่ธนู เทศกาลนี้จึงเป็นหนึ่งเทศกาลสำคัญที่เน้นย้ำการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมผ่านการส่งเสริมการดูนกและการท่องเที่ยว

ภายในเทศกาลยังมีการแข่งขันวาดภาพและการละเล่นแบบดั้งเดิมที่นักท่องเที่ยวสามารถเข้าร่วมได้ แวะมาเที่ยวเทศกาลสุดยิ่งใหญ่ประจำปีนี้ได้ตั้งแต่วันที่ 13 – 15 พฤศจิกายนของทุกปี

Bhutan

Bhutan

7
Druk Wangyel Tshechu

เดือนสุดท้ายของปีมีเทศกาล Druk Wangyel Tsechu ซึ่งจะจัดงานเต้นรำสวมหน้ากากและการเต้นรำพื้นบ้านเพื่อระลึกถึงความกล้าหาญของกองทัพหลวงภูฏานที่ปราบการจลาจลได้ในปี 2003 และเทศกาลนี้เพิ่งมีในปี 2011 โดยจัดวันที่ 13 ธันวาคมของทุกปีที่ Dochula Pass ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองทิมพูเพียง 45 นาที

Bhutan

ไฮไลต์ของงานก็อยู่ที่การเต้นรำโดยเฉพาะ เช่น Gadpo และ Ganmo ที่แสดงโดยชายและหญิงสูงอายุ การเต้นรำของผู้พิทักษ์ ซึ่งมีเพื่อแสดงความเคารพต่อผู้พิทักษ์หลักเทพแห่งธรรม การเต้นรำที่แสดงโดยกองทัพหลวง เป็นต้น นักท่องเที่ยวจะซึมซับวัฒนธรรมการเต้นรำภูฏานโดยมีเทือกเขาหิมาลัยตั้งตระหง่านเป็นฉากหลัง

ปฏิทินเทศกาลนี้เกิดจากสโลแกนใหม่ของภูฏานชื่อ ‘Bhutan Believe’ ที่จะเน้นย้ำชาวภูฏานถึงต้นทุนทางวัฒนธรรมกับทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้เชื่อมั่นในโอกาสและความเป็นไปได้ของบ้านเกิดเมืองเมืองนอนว่าจะต่อยอดต้นทุนเหล่านี้ไปสู่อนาคตที่ดีกว่า และเพื่อแสดงเป็นตัวอย่างแก่ชาวโลกถึงศักยภาพของภูฏานและชาวภูฏาน

เราสรุปปฏิทินเทศกาลประจำปีมาให้แล้ว ใครอยากเที่ยวก็เลือกเทศกาล ปักหมุดวันเที่ยว แล้วเริ่มวางแผนกันได้ตั้งแต่ตอนนี้เลย ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ bhutan travel เราแนะนำให้กดติดตามเฟซบุ๊กของ กรมการท่องที่ยวแห่งประเทศภูฏาน ไว้ด้วยนะ

รู้ก่อนเที่ยวภูฏานนะ

วีซ่า : ภูฏานเป็นประเทศที่ขายตัวเองเป็น “แพ็กเกจ” การท่องเที่ยวในภูฏานจึงต้องผ่านบริษัททัวร์ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น และคนไทยจำเป็นต้องขอวีซ่าก่อนเข้าภูฏาน โดยสมัครทางออนไลน์หรือผ่านบริษัททัวร์ที่ได้รับอนุญาต ใช้เวลาประมาณ 5 วัน
ค่าธรรมเนียม : ทุกคนต้องชำระ ค่าธรรมเนียมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDF) 100 USDต่อคนต่อคืน ค่าธรรมเนียมวีซ่า 40 USD แบบ Single Entry และไม่สามารถขอคืนได้ สำหรับค่า SDF จะถูกนำมาใช้เป็นทุนสนับสนุนโครงการด้านวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม สุขภาพและการศึกษาทั่วประเทศภูฏาน

Tags: