About
BUSINESS

Fantastic Plastic

BOPE ธุรกิจเปลี่ยนภาพพลาสติกรีไซเคิลเป็นงานดีไซน์โดนใจคนรักษ์โลก

เรื่อง วีณา บารมี ภาพ กรินทร์ มงคลพันธ์ Date 13-06-2023 | View 4098
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • คุยกับ BOPE (โบเป) คือ กลุ่มสตาร์ตอัพหัวใจสีเขียว ที่หันมาทำธุรกิจรีไซเคิลพลาสติก ให้เป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน ตอบโจทย์ทั้งฟังก์ชันใช้งานและดีไซน์สวยงาม

แม้ว่าทุกวันนี้ทั่วโลกจะลดการใช้ถุงพลาสติกในร้านค้าหลายแห่ง แต่ข้อมูลจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment. Programme : UNEP) ยังย้ำชัดอยู่ดีว่า พลาสติกเป็นขยะที่ไม่มีวันหมดไปจากโลก

เพราะถุงพลาสติก 1 ใบ หากไม่นำไปรีไซเคิล จะใช้เวลาย่อยสลายนานถึง 450 ปี และทุกๆ ปี ทั่วโลกใช้ถุงพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งถึง 5 ล้านล้านใบ รวมไปถึงทุกๆ นาที ผู้คนซื้อขวดน้ำดื่มพลาสติกเป็นจำนวน 1 ล้านขวด ที่สำคัญ ครึ่งหนึ่งของพลาสติกที่ผลิตขึ้น ถูกออกแบบให้ใช้แค่ครั้งเดียว และหากยังเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ภายในปี 2593 ในมหาสมุทรที่เป็นแหล่งทิ้งขยะพลาสติก จะมีกองขยะมากกว่าปลาในทะเลเสียอีก

ในบ้านเราพบว่า ขยะพลาสติกมีปริมาณสูงสุดเป็นอันดับที่ 11 ของโลก หรือคิดเป็น 4,796,494 ตัน (3 ประเทศแรกที่มีขยะพลาสติกมากที่สุดในโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา (34,020,748 ตัน) อินเดีย (26,327,933 ตัน) และจีน (21,599,465 ตัน) ซึ่งการใช้พลาสติกของคนไทยโดยเฉลี่ยเท่ากับ 70 ก.ก.ต่อคนต่อปี ทำให้ปัจจุบันนี้ ไทยติดอันดับประเทศที่มีการผลิตขยะพลาสติกต่อคนสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก

ในขณะที่พลาสติกยังถูกผลิตใหม่อยู่ตลอด (เพราะการผลิตใหม่ง่ายและราคาถูกกว่าการรีไซเคิล) แต่จำนวนของคนรักษ์โลก ที่จะนำขยะพลาสติกไปรีไซเคิลอย่างจริงจังกลับมีจำนวนน้อยกว่า BOPE (โบเป) คือสตาร์ตอัพกลุ่มเล็กๆ ในเชียงใหม่ที่ลุกขึ้นมารีไซเคิลขยะพลาสติก จนกลายเป็นงานดีไซน์ ตอบโจทย์ทั้งฟังก์ชันและความสวยงาม สร้างมูลค่าให้ขยะไร้ค่า แถมเป็นสินค้าส่งออกที่ขายดีในญี่ปุ่น ไต้หวัน และสิงคโปร์

Plastic

โบ-เปมิกา สุตีคา และตื้อ-ศุภฤกษ์ ทาราศรี สองผู้ก่อตั้ง BOPE

จุดเริ่มต้นหัวใจสีเขียว

BOPE ก่อตั้งโดยสองสามีภรรยา ตื้อ-ศุภฤกษ์ ทาราศรี และโบ-เปมิกา สุตีคา จากจุดเริ่มต้นที่มาจากการทำธุรกิจรับซื้อขยะ และมักพบปัญหาพลาสติกปนเปื้อน ซึ่งเป็นพลาสติกที่ไม่มีใครต้องการ ต้องปล่อยย่อยสลายไปตามธรรมชาติ ทำให้เป็นโจทย์ที่ว่าจะทำอย่างไรให้สามารถเพิ่มมูลค่าขยะปนเปื้อนเหล่านี้ได้

Plastic

ขยะพลาสติกที่นำมารีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ

“คนมักเข้าใจว่าพลาสติกก็คือพลาสติก แต่ไม่รู้ว่าพลาสติกที่รีไซเคิลได้นั้นมี 7 เบอร์ (ประเภท) ส่วนใหญ่ที่เราเห็นการแยกขยะจะมีแค่ขยะรีไซเคิล ขยะเปียก ขยะทั่วไป แต่จริงๆ แล้ว ขยะรีไซเคิลก็ต้องแยกจากในกองขยะนั้นอีกที ไม่งั้นก็จะเป็นขยะปนเปื้อนหรือพลาสติกปนเปื้อน คือ ปนสี ปนเชื้อ เป็นขยะที่แม้แต่โรงงานก็ไม่เอา เราจึงต้องเอามาแยกคัดกรองอีกที เพราะไม่รู้ว่าเชื้อไหนคือเบอร์ไหน” โบเล่า

Plastic

ต่างชนิด วิธีรีไซเคิลก็แตกต่าง

พลาสติกที่ BOPE นำมารีไซเคิลใหม่นั้น มีทั้งเบอร์ 2, 4 และ 5 เช่น ฝาขวดน้ำ ถัง ตะกร้า และถุงพลาสติกแบบขุ่น ซึ่งพลาสติกแต่ละเบอร์มีวิธี Upcycling ที่แตกต่างกันไป ไม่สามารถเอามาปะปนกันได้ “เราจะไม่มีการเอาพลาสติกแต่ละเบอร์มาผสมกัน เพราะเราไม่รู้ว่าปริมาณและความร้อนที่เท่าไหร่จะพอดีกับเชื้อนั้น ถ้าเป็นเชื้อเดียวกัน เราจะรู้เลย”

Plastic

ถุงพลาสติกแบบขุ่นเป็นขยะที่ขายได้ราคาดี นิยมนำมารีไซเคิลเป็นกระเป๋า

Plastic

ที่รองแก้วทำมาจากฝาขวดพลาสติก

Plastic

ฝาขวดพลาสติกนำไปผลิตเป็นกระถางต้นไม้หลากสีสัน

Plastic

จากขยะพลาสติก สู่งานดีไซน์เฟอร์นิเจอร์ในปี 2565 ทำให้ BOPE ได้รับรางวัลการออกแบบสร้างสรรค์ (ซีดีเอ 2565)

ผลิตภัณฑ์ของ BOPE มักเป็นงานชิ้นเล็กๆ เช่น จานรองแก้ว กระเบื้องติดผนัง กระถางต้นไม้ ถาดวางของ เครื่องประดับ ฯลฯ ทำมาจากฝาขวดหรือถัง ส่วนกระเป๋าทำมาจากถุงพลาสติก ส่วนของชิ้นใหญ่โบบอกว่าเพิ่งเริ่มทำเมื่อปีที่ผ่านมา เพราะใช้เวลาผลิตนานและต้องอาศัยความชำนาญมากกว่า เช่น เฟอร์นิเจอร์ โต๊ะ เก้าอี้ สตูล ฯลฯ

Plastic

ถาดวางเครื่องประดับจากขยะพลาสติก

“เราเน้นเรื่องของ Function และ Emotional คือต้องใช้งานได้จริง และสวยงามด้วย” โบชูจุดเด่นของ BOPE แบรนด์ที่มาจากชื่อเล่นและชื่อจริงของเธอเอง นอกจากนี้ คาแรกเตอร์ของแบรนด์ยังแปลกต่างตรงสีสันที่หลากหลาย และลวดลายที่ดูพลิ้วไหวเหมือนงานศิลปะ

Plastic

ความเหนียวทนทานและน้ำหนักเบา คือจุดเด่นของกระเป๋าจากพลาสติกรีไซเคิล

Plastic

Plastic

“สีหลักของพลาสติกมีสีขาว แดง เขียว เหลือง และน้ำเงิน ส่วนสีอื่นๆ อย่างสีชมพูเกิดจากสีแดงผสมกับสีขาว ด้วยสีสันและลวดลายของเรา คนที่ติดตามงานพวกนี้จะรู้เลยว่าเป็นของ BOPE เรามองว่าสินค้าของเราเป็นไลฟ์สไตล์โปรดักส์ เป็นสินค้าในชีวิตประจำวันทั่วไป จึงออกแบบให้มีทั้งความสวยงาม และสามารถใช้ได้จริง ไม่ใช่สินค้า DIY มันผ่านกระบวนการที่เราคิดกันมาหมดแล้ว”

Plastic

เกิดในบ้าน โตนอกบ้าน

แต่กว่าที่สตาร์ตอัพกลุ่มเล็กๆ ในเชียงใหม่ จะเติบโตและมีออเดอร์สูงสุดเป็นหมื่นชิ้นอย่างทุกวันนี้นั้น โบเล่าว่าเธอเริ่มต้นจากการขายสินค้ารีไซเคิลบนถนนคนเดินในช่วง 3 ปีแรก ซึ่งในเวลานั้นได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี เพราะเป็นสินค้าแปลกใหม่ที่นอกเหนือไปจากงานผ้าและงานแฮนด์เมด

Plastic

“พอผ่านปีแรกที่เราขาย ก็เริ่มเห็นแล้วว่ามันสามารถทำเป็นรูปธรรมได้จริง” โบบอกกับเรา ส่วนจุดเปลี่ยนที่ทำให้ BOPE เป็นที่รู้จักในวงกว้างและก้าวไปสู่ตลาดต่างแดนนั้น คือ การได้พบกับ Dave Hakkens นักออกแบบชาวดัตช์ ผู้ก่อตั้ง Precious Plastic ออนไลน์คอมมูนิตี้สำหรับคนที่อยากเริ่มรีไซเคิลพลาสติกด้วยตัวเองในประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นคนชักชวนให้ไปจัดแสดงผลงานที่ Ducth’s Design Week 2017

Plastic

เหรียญรางวัลที่ BOPE ผลิตให้กับองค์กรต่างๆ ที่หันมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม

“จากตรงนั้นคนเริ่มรู้จักเรา ทำให้เราขยายตลาดได้กว้างขึ้น และได้ทำงานร่วมกับองค์กรใหญ่ๆ ที่สนใจเรื่องของ ECO เช่น ทำโล่รางวัลสำหรับกิจกรรมของบริษัท โปรเจกต์ทำคาเฟ่อเมซอนของ ปตท.ฯลฯ และรับผลิตสินค้าให้กับตลาดต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์”

Plastic

ภายในโรงงานขนาดย่อมของ BOPE ยังคงใช้แรงงานคนและเครื่องจักรในการผลิต

Plastic

Plastic

รีไซเคิลคืองานคราฟต์

นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ของ BOPE นั้นยังเป็นการผลิตแบบงานคราฟต์ โดยใช้เครื่องสำหรับกระบวนการ Upcycling เช่น เครื่องอบ เครื่องรีด ฯลฯ ซึ่ง ตื้อ-ศุภฤกษ์ เป็นคนสร้างและพัฒนาเครื่องมาจากต้นแบบ Injection Machine หรือเครื่องฉีดพลาสติกที่ใช้ในกระบวนการขึ้นรูป ทำให้ช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี

Plastic

Plastic

Plastic

“ตอนนี้เรารับผลิตสินค้าให้ต่างชาติ และทำงาน Customize ด้วย ทำให้สเกลขยายใหญ่ขึ้น แต่เรายังอยากรับออเดอร์ในส่วนที่คุมคุณภาพได้ และยังคงความเป็นงานคราฟต์อยู่ ทุกวันนี้ข้อจำกัดของเราคือเรื่องเวลา เราใช้เวลาค่อนข้างนาน อย่างออเดอร์หนึ่งใช้เวลา 1-2 เดือน เมื่อเทียบกับความต้องการของลูกค้าแล้วมันช้าไป

Plastic

“เราจึงพยายามที่จะทำเครื่องให้มากขึ้นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า แต่ก็ยังต้องลงมาทำเอง มาดูเอง งานทุกชิ้นพอทำเสร็จจะคัดก่อนหนึ่งรอบ แล้วนำไปล้าง เช็ดทำความสะอาด เราไม่ใช่งานอุตสาหกรรมแบบง่ายๆ เอาเข้าเครื่องแล้วเสร็จเลย มันต้องผ่านหลายขั้นตอนกว่าจะมาถึง เราอยากทำให้เป็นงานยูนีค ซึ่งเป็นเสน่ห์ที่จะทำให้ลูกค้าอยากซื้อเก็บ”

Plastic

เมื่อถามถึงเป้าหมายในการทำธุรกิจรีไซเคิล โบตอบว่า “แม้ว่าเราจะเป็นกลุ่มคนเล็กๆ ที่มาทำในเปอร์เซ็นต์ของคนที่รีไซเคิล แต่อย่างน้อยก็ได้ทำ ส่วนอนาคตอยากให้สินค้ารีไซเคิลเป็นตัวแทนที่สามารถทำได้กับทุกๆ อย่าง ไม่ต้องทำพลาสติกขึ้นมาใหม่หรือใช้ของใหม่ เราใช้ของที่มีอยู่ แต่สวยงามได้ ตอนนี้พออยู่ในฐานะที่เป็น Leadership เรายิ่งต้องพัฒนางานไม่ให้หยุดนิ่ง และขยายตลาดให้กว้างขึ้น เช่น ทำของชิ้นใหญ่ขึ้น ทำอะไรที่เป็นอีกก้าวหนึ่งให้มากขึ้นกว่าเดิม” โบทิ้งท้าย

Plastic

Plastic

7 ประเภทของพลาสติกที่รีไซเคิลได้

1. Polyethylene Terephthalate : PETE เป็นพลาสติกเนื้อเหนียว ทนต่อแรงกระแทกได้ดี เช่น ขวดน้ำ ขวดน้ำมันพืช
2. High-density Polyethylene : HDPE เป็นพลาสติกที่มีความหนาแน่นสูง แข็งแรง ทนต่อสารเคมี กรดและด่าง มีสีขาวหรือสีอื่นๆ ที่เป็นสีทึบ ขึ้นรูปทรงต่าง ๆ ได้ง่าย มีความเหนียว และทนทานกว่าขวด PETE เช่น ขวดแชมพู ถุงพลาสติก ถังขยะ
3. Polyvinyl Chloride : PVC เป็นพลาสติกที่มีความแข็งแรงมาก ต้านทานต่อสารเคมีและน้ำ เป็นฉนวนไฟฟ้าที่ดี เช่น ท่อน้ำประปา ฉนวนหุ้มสายไฟ
4. Low-density Polyethylene : LDPE เป็นฟิล์มพลาสติกโปร่งแสงที่ยืดหยุ่นได้ ไม่ค่อยทนต่อความร้อน เช่น ถุงใส่ของ ถุงบรรจุอาหารแช่แข็ง
5. Polypropylene : PP เป็นพลาสติกที่มีน้ำหนักเบาที่สุด แต่มีความแข็งแรง ทนต่อความร้อน แรงกระแทก สารเคมี และน้ำมัน เช่น ฝาขวด ขวดยา ภาชนะบรรจุอาหาร ถุงร้อน และหลอดดูด
6. Polystyrene : PS เป็นพลาสติกที่มีลักษณะแข็งและมันวาว เปราะแตกง่าย แต่ทนต่อกรดและด่าง ผลิตเป็นรูปต่างๆ ได้ง่าย เช่น อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ถ้วย จาน กล่องใส่ CD
7. พลาสติกอื่นๆ (Other) เป็นพลาสติกหลายชนิดมาผสมกัน แต่ไม่ใช่พลาสติก 6 ประเภทข้างต้นนี้ มีความแข็ง ใช้ซ้ำได้ ทนต่อความร้อน กรด และแรงกระแทก เช่น ปากกา ขวดนมเด็ก หมวกนิรภัย ป้ายโฆษณา

*ควรแยกทิ้งตามประเภทพลาสติกโดยสังเกตจากสัญลักษณ์บนบรรจุภัณฑ์ ก่อนทิ้งลงถังควรทำความสะอาดด้วยน้ำเล็กน้อย และแยกทิ้งระหว่างฝากับขวดเพราะเป็นพลาสติกต่างชนิดกัน


ข้อมูลอ้างอิง : https://www.atlasandboots.com/travel-blog/which-countries-produce-the-most-plastic-waste/

สนใจผลิตภัณฑ์ ติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Bope Shop

Tags: