About
BUSINESS

เมื่อธุรกิจการบินต้องไปต่อ

ในวันที่โลก (เกือบ) หยุดนิ่ง…แต่ธุรกิจการบินต้องไปต่อ

เรื่อง วิชชุ ชาญณรงค์ ภาพประกอบ ANMOM Date 12-10-2020 | View 1120
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • โควิด-19 สร้างความระส่ำระส่ายอย่างหนักให้กับธุรกิจการบิน แต่ก็นับเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงเพื่อความอยู่รอด เช่น หันไปมุ่งเน้นการขนส่งสินค้าทางอากาศแทน
  • สายการบินจำนวนไม่น้อย หันมาเอาดีด้านขายอาหารออนไลน์ หรือผลิตอาหารที่เคยเสิร์ฟเฉพาะบนเครื่องบิน เปิดให้คนทั่วไปได้ชิมความอร่อย ซึ่งเป็นกระแสที่กำลังไปได้สวย
  • การเหมาลำเครื่องบินส่วนตัวเป็นพฤติกรรมของนักเดินทางกระเป๋าหนัก เพราะสามารถกำหนดช่วงเวลาการเดินทางได้เอง และเหมาะกับเส้นทางข้ามประเทศหรือระยะไกล

อุตสาหกรรมการบินเป็นประตูสู่การเดินทางของทุกๆ ธุรกิจ หากแต่สถานการณ์ปัจจุบัน ทำให้หลายประเทศประกาศปิดน่านฟ้าหรืองดให้บริการการบินเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ซึ่งพ่นพิษให้ธุรกิจการบินทั่วโลกอยู่ในสภาพแช่แข็ง สร้างความเสียหายเป็นมูลค่าถึง 2.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ‘การปรับตัว’ จึงเป็นสิ่งช่วยพยุงธุรกิจให้อยู่รอด เมื่อความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เข้ามาเยือน

ถอดเก้าอี้นั่ง ปรับสู่บทบาทแอร์คาร์โก

ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดเจนในช่วงแรกคือ การปรับตัวให้สอดรับกับสถานการณ์ โดยหันมาสู่ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศ หรือแอร์คาร์โกกันมากขึ้น อาทิ สายการบิน Air Canada, American Airline, Finair, Emirate, Virgin Atlantic, Swiss, Cebu Pacific, Air Asia Korean Air Asiana Airline ขบวนทัพเหล่านี้นับเป็นสายการบินแรกๆ ที่ตัดสินใจเข้าสู่สายการบินโลจิสติกส์ หรือเปลี่ยนฝูงเครื่องบินโดยสารให้กลายสภาพเป็นเครื่องบินขนส่งสินค้า

สายการบินขนส่งสินค้า

ด้วยวิธีการ 3 รูปแบบ หนึ่งคือ ใช้เครื่องบินโดยสารขนส่งสินค้าโดยวางสินค้าบนที่นั่งโดยสารและใช้ตาข่ายยึดคลุมสินค้าให้อยู่กับที่ สอง ดัดแปลงเครื่องบินโดยสาร สำหรับปฏิบัติการขนส่งสินค้าชั่วคราวโดยถอดที่นั่งโดยสารออกเพื่อเพิ่มพื้นที่ระวางสินค้า และสาม ดัดแปลงเครื่องบินโดยสารเป็นเครื่องบินขนส่งสินค้าอย่างถาวร เพราะถึงแม้ว่ามนุษย์จะมี ข้อจำกัดในการเดินทางไปมาหาสู่กัน แต่สิ่งของต่างๆ ยังจำเป็นต้องมีการขนส่งระหว่างประเทศกันอยู่

สายการบินขนส่งสินค้า

บิน กิน ดื่ม Flycation ให้หายคิดถึง

จะเรียกว่าอินดี้ก็ได้นะกับวิธีคิดนอกกรอบของ EVA Air สายการบินสัญชาติไต้หวัน ที่นำเสนอ แพ็กเกจ แก้โจทย์การท่องเที่ยวช่วงโควิด-19 ด้วยการเปิดตั๋วเครื่องบินนำพาผู้โดยสารบินวนเหนือญี่ปุ่น แต่ไม่ลงจอด เป็นการจัดเที่ยวบินพิเศษบนเครื่องรุ่น A330 (ตัวเครื่องลาย Hello Kitty) เดินทางจากสนามบินเถาหยวน บินผ่านช่องแคบตะวันออกเฉียงเหนือ บินวนเหนือหมู่เกาะริวกิวของญี่ปุ่น และวนกลับลงจอดที่ไต้หวัน ผ่านทางชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ โดยใช้เวลาบินทั้งหมด 2.45 ชม.จากนั้น บินกลับไต้หวัน ให้ลูกค้าได้สัมผัสประสบการณ์บนเครื่องบินที่คุ้นเคย ทั้งการทานอาหารบนฟ้าและช้อปปิ้งดิวตี้ฟรี สนนราคา 5,288 ดอลลาร์ไต้หวันต่อคน (ประมาณ 5,600 บาท)

ถึงไม่ได้บิน แต่ถ้าอยากกิน ต้องได้กิน

ฟากสายการบินอีกจำนวนหนึ่ง หันมาเอาดีด้านขายอาหารทางออนไลน์ เริ่มจากที่เยอรมนี บริษัทร้านขายของชำออนไลน์แห่งหนึ่งได้ขายเมนูจาก “LSG Sky Chefs” ซึ่งปกติจะทำส่งสายการบิน “Lufthansa” ภายใต้บริการชื่อ “Air Food One ” แว่วมาว่ากระแสตอบรับเป็นที่น่าพอใจเลยทีเดียว

อาหารบนเครื่องบิน

ในไทยเอง บริษัทแคเทอริ่งที่ทำอาหารส่งสายการบิน ก็เริ่มขนอาหารออกขายสู่สาธารณะแล้วเช่นกัน อาทิ “ครัวลอยฟ้า ไม่ต้องบินก็ฟินได้” ของครัวการบินไทย เปิดภัตตาคารขายอาหารในบรรยากาศนั่งบนเครื่องบิน ณ อาคารสำนักงานใหญ่ ได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม จนต้องขยายไปเปิดยังสำนักงานสีลม ที่ปิดไปก่อนหน้านี้ แถมยังชูเมนูยามเช้าอย่างปาท่องโก๋ สังขยามันม่วง จนดังสนั่นไปทั่วโลกโซเชียลในเวลานี้

ส่วนใครที่คิดถึงบรรยากาศกินข้าวบนเครื่องบินจริงๆ สายการบิน Garuda Indonesia เขาก็มีขายอาหารเสิร์ฟบนถาดเหมือนตอนเสิร์ฟบนเครื่องบินด้วยนะ

จากฟ้าสู่ดิน แปลงโฉมเครื่องบินสู่ Fine Dining

ก่อนหน้านี้ Singapore Airlines ผุดแนวคิด Flights to Nowhere เตรียมปล่อยแพ็กเกจ ขึ้นเครื่อง เพื่อนั่งชมทิวทัศน์ราว 3 ชั่วโมง โดยบินไป-กลับสนามบินชางงี แต่สุดท้ายก็ต้องยกเลิกไป เพราะมีเสียงคัดค้านจากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเนื่องจากจะทำให้เพิ่มการเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จึงเปลี่ยนมาใช้แผนใหม่คือ ทำเครื่องบินแอร์บัส A380 Superjumbo เป็นร้านอาหารที่ลูกค้าสามารถทานอาหารของสายการบินสิงคโปร์และรับชมภาพยนตร์ในเครื่องไปด้วยได้

นอกจากนี้ ยังมีแคมเปญสำหรับลูกค้า ที่สวมใส่ชุดประจำชาติจะได้รับของขวัญจากสายการบิน ตลอดจนทำทัวร์ศูนย์ฝึกอบรมของสายการบิน สิงคโปร์ หรือ SIA Training Centre (Singapore Airlines: SIA) ที่มีทั้งการจำลอง ฝึกบินเสมือนจริง กิจกรรมลูกเรือสำหรับเด็กและเวิร์กช็อปการดูแลพนักงานต้อนรับ ซึ่งทัวร์นี้จะเริ่มเปิดให้จองตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนผ่าน KrisShop.com อีกไอเดียพิเศษคือ ลูกค้าสามารถเรียกใช้บริการ SIA@Home พร้อมเสิร์ฟอาหารระดับเฟิร์สคลาส และบิสสิเนสคลาสส่งตรงถึงหน้าบ้าน พิเศษสุดๆ ตรงที่มีบริการให้จองเชฟส่วนตัว ไปปรุงอาหารพร้อมเสิร์ฟให้ถึงบ้านได้ด้วย

ไปให้สุด…แล้วหยุดที่ “เครื่องบินส่วนตัว”

นี่คืออีกหนึ่งพฤติกรรมของนักเดินทางกระเป๋าหนัก หลังจากหลายเมืองในยุโรปเริ่มเปิดพรมแดน มีข้อมูลว่า มหาเศรษฐีชาวรัสเซียจำนวนหนึ่งที่ถือพาสปอร์ตหลายประเทศ พากันเหมาเครื่องบินส่วนตัวเพื่อไปพักร้อนในแถบชายทะเลตอนใต้ของยุโรป เพราะสามารถกำหนดช่วงเวลาการเดินทางได้สะดวกสบาย และเหมาะสำหรับ เส้นทางข้ามประเทศ หรือระยะไกลเท่านั้น

เครื่องบินส่วนตัว

อย่างไรก็ตาม บริษัทให้บริการเฮลิคอปเตอร์ในรัสเซีย เผยว่าความต้องการเดินทาง ระหว่างเมืองเพิ่มขึ้นถึง 30 % สอดคล้องกับข้อมูลของ Paramount Business Jets ระบุว่า การเช่าเครื่องบินส่วนตัวขนาดเล็กมีค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 2,400 ดอลลาร์ หรือประมาณ 7.4 หมื่นบาทต่อชั่วโมง ด้านเครื่องบินขนาดกลาง รับผู้โดยสารได้ประมาณ 8-10 คน จะมีค่าใช้จ่ายราว 6,000 ดอลลาร์หรือประมาณ 1.86 แสนบาทต่อชั่วโมง ซึ่งแม้ราคาจะสูงขึ้นกว่า 10 เท่าแต่ก็ยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่องสำหรับนักเดินทางกลุ่มนี้

ที่มา https://www.airfreight-logistics.com, https://www.thairath.co.th, https://www.bbc.com, https://news.thaipbs.or.th, https://www.singaporeair.com, https://www.cnbc.com

Tags: