- ชวนไปคุยกับ 5 กูรูในวงการคราฟต์เบียร์ของไทย ที่บังเอิญมากระจุกตัวอยู่ในจังหวัดนนทบุรี เมืองที่ปัจจุบันถูกขนานนามว่าเป็น ‘เมืองหลวงของคราฟต์เบียร์ไทย’
- จริงหรือไม่ที่ว่ากันว่า นนทบุรี คือชุมชนของคนต้มเบียร์ ในขณะที่กรุงเทพมหานครเป็นสังคมของนักดื่มเบียร์
- นนทบุรี เป็นเมืองที่มีความครบครันในเรื่องของคราฟต์เบียร์ ทั้งมีแหล่งวัตถุดิบ คนทำเบียร์ โรงต้ม และอุปกรณ์ต่างๆ จนกลายเป็นคอมมูนิตีที่เข้มแข็งสำหรับคอเบียร์คราฟต์
ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน ‘คราฟต์เบียร์’ แทบจะเป็นคำใหม่ ไม่เป็นที่รู้จักนักในหมู่คนทั่วไป การหาคราฟต์เบียร์สักขวดมาลิ้มลองก็ต้องอาศัยความมานะของคนดื่มไม่ใช่เล่น ห้างสรรพสินค้าทั่วไปไม่มีให้คุณเดินเข้าไปซื้อง่ายๆ แบบตอนนี้ ยกเว้นว่าคุณจะโชคดีอยู่แถวทองหล่อ-เอกมัย เพราะแถบนี้ยังพอจะมีร้านคราฟต์เบียร์นำเข้าอยู่บ้าง
แม้ในยุคก่อนธุรกิจคราฟต์เบียร์ยังไม่บูมมากเหมือนในปัจจุบัน แต่รู้หรือเปล่าว่า เพียงแค่ขยับออกนอกเมืองหลวงไปนิด ‘นนทบุรี’ กลับกำลังเป็นแหล่งฟูมฟักธุรกิจคราฟต์เบียร์ไทยที่เริ่มก่อร่างสร้างเป็นแบรนด์กันหลายเจ้า จนทุกวันนี้หลายคนมักตั้งฉายาให้นนทบุรีว่าเป็น ‘เมืองหลวงคราฟต์เบียร์ไทย’
อยากรู้ไหมว่าทำไม...เราจะไปพูดคุยกับ 5 คนในวงการธุรกิจเบียร์คราฟต์ไทยในนนทบุรี ที่มาช่วยกันเล่าว่าเพราะเหตุใดเมืองเล็กๆ เมืองนี้จึงถูกเรียกขานว่าเป็น Capital of Craft Beer ที่ทุกคนยอมรับ
เพราะความบังเอิญที่ไม่บังเอิญ
-วิชิต ซ้ายเกล้า เจ้าของร้าน ChitBeer-
เราขอพาคุณข้ามเรือมาเกาะเกร็ด ไปคุยกับ วิชิต ซ้ายเกล้า เจ้าของร้าน ChitBeer ซึ่งปัจจุบันที่นี่ไม่ใช่แค่ร้านเบียร์เท่านั้น แต่ยังกลายเป็นศูนย์การเรียนรู้เรื่องการทำโฮมบรูว์ (Homebrew) เจ้าแรกของไทย เปิดสอนตั้งแต่ปี 2014 ปัจจุบันมีลูกศิษย์มากกว่า 6,000 คน
วิชิตย้อนเล่าว่าตั้งแต่เขาเปิดร้านในปี 2012 แบบไม่ได้ตั้งใจว่าจะต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ เรียกว่าน่าจะเป็นเพราะความบังเอิญมากกว่า “เพราะพอเราเริ่มต้มเบียร์ จู่ๆ ก็มีคนมาบอกว่าสอนผมต้มเบียร์หน่อย ความคิดของพี่ตอนนั้นคือการจะเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง มันต้องใช้การสร้างคอมมูนิตีเป็นตัวผลักดัน พอตอบตกลง มันก็มีปรากฏการณ์เกิดขึ้นโดยบังเอิญ ปี 2013 พี่ต้องสั่งวัตถุดิบทุกอย่างจากอเมริกาทั้งหมด ใช้เวลา 3-4 สัปดาห์ กว่าของจะถึง เราจึงต้องสั่งวัตถุดิบตลอดเวลาเพื่อให้มีของตลอด แต่ตอนนั้นต้นทุนสูงมาก วัตถุดิบอาจราคาแค่ 1,000-2,000 บาท แต่ค่าขนส่ง 5,000 บาท ทุกๆ แบ็ช (batch) ที่พี่ต้มเบียร์ใช้เงินประมาณ 10,000-15,000 บาท และให้ทุกคนดื่มฟรีเป็นเวลา 1 ปี โดยมีตู้บริจาควางอยู่ จะใส่หรือไม่ใส่ก็ได้
“จุดเปลี่ยนมันอยู่ที่ว่า รุ่นแรกที่เราสอนไป อยู่ดีๆ มันก็มาบอกว่าวัตถุดิบไม่ต้องสั่งจากอเมริกาแล้วนะ มันมี ‘โรวัตรไทย’ ขายมอลต์ที่ห้าแยกปากเกร็ด พวกหัวกดเบียร์ เค็กใส่เบียร์ พี่ไม่ต้องสั่งแล้วนะ มี Presmann อยู่ตรงแจ้งวัฒนะนี่เอง ลองคิดดูสิมันเป็นเรื่องของความบังเอิญมากๆ ทำไมวัตถุดิบยันอุปกรณ์ทำระบบคราฟต์เบียร์ ถึงมาตั้งอยู่ที่แถวปากเกร็ดทั้งหมด ผ่านไปปีสองปีก็มี iCoolbar โผล่หน้ามาอีก ก็มาซัพพอร์ตระบบ เครื่องมือการเสิร์ฟเบียร์เพิ่มอีกเจ้าในนนทบุรี”
ในวันที่เขาผลิตนักต้มเบียร์ออกไปสู่โลกภายนอกไม่ต่างจากการปล่อยนกบินออกจากรัง ออกไปท่องโลกกว้างแล้วมาแบ่งปันข้อมูลกัน “ถ้าไม่มีปรากฏการณ์นั้น เราก็ไม่รู้ว่าจะใช้เงินเดือนละหมื่นห้าทุกเดือนได้อีกยาวนานแค่ไหน หลังจากนั้นวัตถุดิบถ้าเราซื้อจากโรวัตรไทยก็แค่ 1,000 กว่าบาท จาก 15,000 เหลือ 1,000 กว่าบาท มันเลยเป็นไปได้ที่จะขับเคลื่อนกิจกรรมเหล่านี้ต่อ และคนทำเบียร์มันเป็นสังคมเปิดที่ไม่มีใครปิดข้อมูลไว้กับตัว ทุกคนเอามาแชร์ แบ่งปันกัน สิ่งดีๆ มันเลยเกิดขึ้น”
นนทบุรีคือ Ecosystem
-ณัฐชัย อึ๊งศรีวงศ์ เจ้าของแบรนด์ ‘เทพพนม’ (Devanom)-
ในฐานะศิษย์รุ่นแรกจากเกาะเกร็ดตั้งแต่ปี 2014 อย่าง อ๊อบ-ณัฐชัย อึ๊งศรีวงศ์ เจ้าของแบรนด์ ‘เทพพนม’ (Devanom) และตอนนี้เป็นเจ้าของฟาร์มฮ็อป Deva Farm & Cafe ให้ความเห็นว่า “น่าจะเริ่มจากชิตเบียร์ที่มีการสอนต้มเบียร์ ใครๆ ก็สามารถทำเบียร์เองได้ ที่นั่นเปิดมาตั้งแต่ปี 2012 ทำต่อเนื่อง คนก็มาเรียนเรื่อยๆ อาจเป็นตรงนี้แหละที่ทำให้ที่นี่กลายเป็นจุดกำเนิดของคำว่า ‘นนท์’ เป็นเมืองหลวง
“จะมากินคราฟต์เบียร์ก็ต้องมาที่นี่ และชิตเบียร์ก็ไม่ได้ย้ายไปไหน เรียกว่าเมืองหลวงได้ไหม ก็ไม่รู้ แต่ที่นนทบุรีมันก็มีคนต้ม มี ecosystem อยู่ อย่างมอลต์ก็มีโรวัตรไทยขายอยู่ตรงนี้เอง คนต้มก็มีเยอะแยะต่อยอดหลายแบรนด์ไปหมด ไม่ว่าจะเป็นพี่ชิตเองหรือคนต้มสมัยก่อนก็มี Sandport Brewing หรือ Team Alpha Brewing ที่ห่างๆ ก็ Golden Coin ที่หลุดเข้าไปในเมือง แต่ส่วนใหญ่ก็อยู่นนท์กันทุกคน”
‘นนท์’ คือสังคมของคนต้ม กรุงเทพฯ คือสังคมของคนดื่ม
-ศุภพงษ์ พรึงลำภู ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Sandport Brewing-
สำหรับหนึ่งในผู้ก่อตั้งแบรนด์ Sandport Brewing ซึ่งเป็นชื่อที่มีที่มาจากตำบลท่าทราย ศุภพงษ์ พรึงลำภู หนึ่งในผู้ก่อตั้งเล่าให้เราฟังว่า “ต้องย้อนกลับไปว่า คราฟต์เบียร์บูมมิ่งมันเริ่มจากนนทบุรี สถานการณ์ตอนนั้นเป็นเรื่องใหม่มาก ข้อมูลอินเทอร์เน็ตมีไม่เยอะมากนัก แต่มันบังเอิญตรงที่ว่าแหล่งวัตถุดิบมันอยู่แถวนนทบุรี นอกจากนี้ผมว่าเรื่องทุนหรือค่าที่มันก็ถูกกว่าในเมืองด้วย เรื่องนี้ผมว่าก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ที่นี่เป็นจุดเริ่มต้นด้วย รวมถึงตอนนั้นมีคนที่เริ่มต้นยุคแรกอย่างพี่ชิตด้วย
“ตอนเริ่มทำก็หาข้อมูลแล้วพบว่าพี่ชิตอยู่เกาะเกร็ดนี่เองไม่ไกลมาก พอไปเจอพี่ชิต ก็ไปเจอคอมมูนิตี เออ มันมีหลายแบรนด์เกิดขึ้นแถวนี้ ตอนแรกก็คิดว่าคงไม่มีคนอื่นทำหรอก แต่ก็มาเจอ Team Alpha Brewing หรือแบรนด์ 72 Brewing ซึ่งมีแบรนด์อีกเยอะมากแถวนี้ เลยกลายเป็นคอมมูนิตีคราฟต์เบียร์แรกๆ ของคนต้ม
“ส่วนที่กรุงเทพมันเป็นคอมมูนิตีคนดื่มมากกว่า กลุ่มเบียร์บล็อกเกอร์ก็จะรวมตัวที่นั่น มีการรวมตัวร้านนำเข้าเบียร์นอกค่อนข้างเยอะกว่าทางนนทบุรี ตอนนั้นถ้าอยากกินคราฟต์เบียร์นำเข้าก็ต้องทองหล่อ-เอกมัย แต่ถ้าอยากกินโฮมบริว ปรึกษาเรื่องคราฟต์เบียร์ก็ต้องนนทบุรี เพราะคอมมูนิตี้เกิดขึ้นที่นี่ แล้วก็หลังจากนั้นมีฟาร์มฮ็อปแห่งแรกในประเทศไทยอยู่ตรงนี้อีก ศูนย์การเรียนอย่างชิตเบียร์อยู่ตรงนี้ มันเลยเป็นสถานที่ที่ค่อนข้างครบ คนแถวนี้เลยชินกับเรื่องคราฟต์เบียร์แล้ว และนนทบุรียังมีพื้นที่เหลืออีกเยอะ มันเหมาะมาก ที่จะทำอะไรได้อีกหลายอย่าง โดยเฉพาะ Local Brewery”
เพราะเมืองนี้มี Key Player ในธุรกิจ
-ส.ส. เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร เจ้าของร้าน เท่าพิภพ บาร์ โปรเจค-
อีกคนที่เคยเปิดร้านที่นนทบุรีอย่าง ส.ส. เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร เจ้าของร้าน เท่าพิภพ บาร์ โปรเจค ที่แม้ตอนนี้ร้านจะย้ายไปอยู่ฝั่งธนแล้ว ก็ให้ความเห็นในทำนองเดียวกันว่า…มันน่าจะมีเหตุจากความบังเอิญเช่นกัน
“ที่นี่มันบังเอิญมีคนชอบเบียร์มาอยู่รวมกันเยอะ แต่ถ้าตอบให้ลึกขึ้น หลังจากสงครามเวียดนาม เกิดกระแสโลกาภิวัฒน์ของประเทศแล้ว คนก็เริ่มขยายตัวออกมาอยู่เมืองนนท์กัน เพราะที่ดินในเมืองราคาแพง และส่วนใหญ่เป็นคนช่วงอายุ 35-40 ปีที่มาอยู่ตรงนี้ และเป็นกลุ่มที่มีกำลังในการซื้อ เป็นคนรุ่นใหม่เยอะ มันเลยกลายเป็นแหล่งรวมของคนที่มีศักยภาพในการดื่มเบียร์
“ที่สำคัญนนทบุรีมีหลายคนเป็น Key Player ในธุรกิจอยู่ มันก็บังเอิญนั่นแหละ เพราะประเทศไทยไม่เหมือนเมืองนอกที่จะมีรัฐไหนส่งเสริม อยู่ที่ไหนมันก็เหมือนกัน ผมไม่แน่ใจว่าแต่ก่อนร้านมันเยอะกว่านี้หรือเปล่า แต่ด้วยเศรษฐกิจแบบนี้ แม้มีร้านได้รับผลกระทบเยอะ แต่นนทบุรีก็เข้มแข็งกว่าที่อื่น อาจเพราะอยู่กันมานาน ที่นี่เลยกลายเป็นเหมือนเสาหลักของธุรกิจที่ทำให้มันอยู่ได้ต่อไป ที่อื่นจะเจ๊งยังไง นนท์คือป้อมปราการสุดท้าย เพราะความเข้มแข็งของบุคลากรนั่นแหละ ที่นี่ค่อนข้างมีครบ คนขายอุปกรณ์ คนทำเบียร์คอยให้คำปรึกษา ทำให้คนชอบเบียร์มารวมตัวกันอยู่ที่นี่”
‘นนท์’ คือพื้นที่เปิดกว้างและการยอมรับ
-ธนากร ท้วมเสงี่ยม เจ้าของเพจประชาชนเบียร์-
ในขณะที่ ธนากร ท้วมเสงี่ยม เจ้าของเพจประชาชนเบียร์ ก็เป็นอีกคนที่อยู่ในจังหวัดนนทบุรีก็บอกเราว่า “ตอนแรกเหมือนเป็นความบังเอิญที่ทุกคนมารวมตัวในนนทบุรีโดยไม่ได้นัดหมาย แต่ก็คาดไม่ถึงว่า มันจะมารวมตัวกันได้เยอะขนาดนี้ พอดูไปดูมา เอาจริงๆ ก็ดูเหมือนมีอะไรมากกว่าแค่ความบังเอิญเหมือนกัน นนทบุรีเป็นเมืองที่มีคนอพยพเข้ามาค่อนข้างเยอะ คนมอญ คนอิสลาม เขาอยู่ด้วยกันอย่างปกติสุข
“เราเชื่อว่าคนที่นนทบุรียอมรับเรื่องความแตกต่างได้ค่อนข้างสูง ไม่มีการกระทบกระทั่งรุนแรงมาก่อนเลย การที่มีตัวเลือก ช่องทางใหม่ๆ ในเรื่องนี้ นนทบุรีจึงเป็นสถานที่ที่สามารถเติบโตได้ง่าย เพราะทุกคนเปิดกว้าง แล้วก็มีแนวทางในการพัฒนาแปลกๆ ใหม่ๆ เยอะด้วย ทำให้คนชอบเบียร์มาอยู่รวมกันเยอะ และทำให้สังคมคราฟต์เบียร์โตเร็ว”
ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยคือ นนทบุรีเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดกระแสคราฟต์เบียร์ จนเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศแบบในปัจจุบัน จากแต่ก่อนร้านคราฟต์เบียร์ในนนทบุรีไม่เยอะมาก แต่ตอนนี้เรียกได้ว่ามีร้านจำหน่ายเบียร์คราฟต์ทุกรูปแบบ ตั้งแต่แบบสายเบียร์กีค (Geek) ไปจนถึงเบียร์ที่เข้าถึงง่าย เรียกว่าครบสมบูรณ์ สมกับที่ได้รับการขนานนามกันว่าเป็นเมืองหลวงแห่งคราฟต์เบียร์จริงๆ