About
RESOUND

เชียงใหม่เมืองแจ๊ส

คุยกับ 3 ตัวจริงสายแจ๊ส และงาน Chiang Mai Street Jazz Festival เทศกาลที่คนรักดนตรีต้องไปสักครั้ง

เรื่อง วีณา บารมี ภาพ ภูมิ นริศชาติ Date 09-11-2020 | View 2898
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • เชียงใหม่ เมืองเล็กๆ ที่มีธรรมชาติสวยงาม รุ่มรวยไปด้วยศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น และมีชนเผ่าหลากหลายที่อาศัยอยู่รวมกัน จึงเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของดนตรีแจ๊สให้เจริญเติบโตและงอกงาม ปัจจุบัน ผู้คนสามารถเสพดนตรีแจ๊สได้ทุกวัน มีแจ๊สบาร์หลายแห่งในเมืองที่หาได้ไม่ยาก
  • Chiang Mai Street Jazz Festival เทศกาลดนตรีแจ๊สของคนเชียงใหม่ ที่จัดโดย 4 แจ๊สบาร์หลัก และศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่ พาร์ทเนอร์หลัก เป็นเทศกาลดนตรีนอกกระแส ที่ไม่มีออแกไนเซอร์และสปอนเซอร์ ใช้ศิลปินและศิลปะเป็นตัวนำ
  • เสน่ห์ของแจ๊สคือ Improvising หรือการด้นสด และแจ๊สคือดนตรีที่เปิดกว้าง สามารถผสมผสานเข้ากับดนตรีประเภทอื่นๆ ได้อีกมากมาย อาทิ ดนตรีพื้นเมือง ดนตรีไทย ฯลฯ

ดนตรีเป็นอะไรมากกว่าความบันเทิงและความสุข แต่มันคือจุดเชื่อมโยงของผู้คน ชุมชน และสังคม จากคนแปลกหน้ากลายเป็นคนรู้จัก และคนรู้จักกลายเป็นเพื่อนร่วมทาง (ดนตรี) รวมทั้งสามคนดนตรีเหล่านี้ที่ทำให้เชียงใหม่มีแจ๊สเฟสติวัลดีๆ เกิดขึ้น

Chiang Mai Street Jazz Festival เป็นเทศกาลดนตรีแจ๊สทางเลือก ที่จัดโดยคนเชียงใหม่ งานนี้ไม่มีออแกไนเซอร์ และสปอนเซอร์ แต่เป็นการรวมกลุ่มและช่วยกันจัดงานของ 4 แจ๊สบาร์หลัก คือ Northgate Jazz Co-op, Moment’s Notice, The Mellowship และ Thapae East รวมทั้งพาร์ทเนอร์หลัก Old Chiangmai (ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่) ซึ่งปีนี้จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 แล้ว

เรามีโอกาสพูดคุยกับทีมผู้จัดงาน ประกอบด้วย ปอ-ภราดล พรอำนวย ชายหนุ่มที่เป่าแซกโซโฟนแล้วเท่มาก เขาคือผู้ก่อตั้งร้าน Northgate Jazz Co-op, เต่า-วารินทร์ ถาธัญ มือเบส เจ้าของร้าน Moment’s Notice แจ๊สบาร์น้องใหม่ ผู้ซึ่งย้ายกลับมาอยู่บ้านเกิดหลังไปใช้ชีวิตอยู่กรุงเทพ 10 กว่าปี และโอชิน-สาริสา ธรรมลังกา Marketing Director จากโอลด์เชียงใหม่ ผู้หลงใหลในมนต์เสน่ห์ของการร้องเพลงสไตล์แจ๊ส ซึ่งเธอออกตัวว่าไม่ใช่นักร้องประจำ แต่มาร้องแจมที่ Northgate Jazz Co-op เป็นบางวันเท่านั้น

3 คนผู้จัดงานสตรีทแจ๊สเชียงใหม่

ทำไมเชียงใหม่จึงเป็นเมืองแห่งแจ๊ส

ไม่ใช่เรื่องแปลกหากใครจะเข้าใจว่า เทศกาลดนตรีแจ๊ส ต้องจัดที่เมืองริมทะเลอย่างหัวหิน พัทยา และภูเก็ต เพราะที่ผ่านมาก็ดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้น ทว่า ในความเป็นจริงแล้ว แจ๊สไม่ได้ถูกจำกัดในเรื่องของพื้นที่ แต่ก็ไม่ใช่ทุกที่ที่ดนตรีแจ๊สจะเติบโตและงอกงามขึ้นมาได้

“แจ๊สไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ ในทุกๆ เมือง แต่เชียงใหม่มีบรรยากาศของเมืองที่ทำให้คนรู้สึกรักดนตรีแจ๊ส มันอยู่ที่สิ่งแวดล้อมของเมือง ลักษณะนิสัยของผู้คน และเชียงใหม่ก็มีคาแรกเตอร์ที่ทำให้ดนตรีแจ๊สเข้ากับผู้คนและเติบโตได้ดี” โอชินเริ่มต้นเล่า ส่วนปอเสริมขึ้นมาว่า “เชียงใหม่มีต้นทุนในเรื่องศิลปวัฒนธรรม มีกลุ่มคนที่หลากหลาย มีชนเผ่ามากกว่า 30 ชนเผ่า ซึ่งนำเอาศิลปะ องค์ความรู้ และดนตรีเข้ามา ที่สำคัญ เชียงใหม่เป็นเมือง Digital Nomad ของโลก จึงมีกลุ่มคนหลากหลายวัฒนธรรมฝังตัวอยู่ที่นี่ และคนกลุ่มนี้ก็ได้ organized interest group ต่างๆ มากมาย ซึ่ง interest group เหล่านี้เป็นพลวัตที่ทำให้เกิดดนตรีแจ๊สในเชียงใหม่ และดนตรีแจ๊สในเชียงใหม่ก็มีความหลากหลายมาก”บรรยากาศร้าน North Gate

ในขณะที่เต่า มองว่าแจ๊สในเชียงใหม่ต่างจากที่อื่นๆ ตรงที่มิตรภาพที่แน่นแฟ้นของคนดนตรี จนทำให้เกิดเป็น Chiang Mai Street Jazz Festival ปีที่ 2 ขึ้นมา “ผมว่าเชียงใหม่ต่างจากที่อื่นๆ ที่นี่เป็นเมืองเล็กๆ แต่มีแจ๊สบาร์หลายแห่ง เราไม่ต้องรอให้มี Festival คนก็ฟังแจ๊ส และเล่นแจ๊ส ดนตรีแจ๊สอยู่ในชีวิตประจำวัน จริงๆ แล้ว เชียงใหม่ก็มี Jazz Festival อยู่แล้วแต่เป็นอีกเจ้านึงจัด ส่วนของเราตั้งใจทำ Festival ที่หนุนนักดนตรี เราอยากใช้นักดนตรีและศิลปะเป็นตัวนำ ซึ่งพวกเราก็ทำกันเอง คือมันไม่ง่ายที่จะมีเจ้าของร้านแจ๊สบาร์สนิทกันและช่วยกันทำ”

เวทีดนตรีแจ๊สที่เปิดกว้างสำหรับทุกคน

หลายคนบอกว่าแจ๊สเป็นดนตรีที่ฟังยาก ลึกซึ้ง และฟังไม่รู้เรื่อง เพราะหัวใจหลักของดนตรีชนิดนี้คือ Improvising (การด้นสดหรือเล่นสด) การแสดงดนตรีแจ๊สแต่ละครั้ง อาจไม่เหมือนกันแม้แต่ครั้งเดียว ขึ้นอยู่กับอารมณ์และความรู้สึกของนักดนตรีที่สื่อสารออกมาในช่วงเวลานั้นๆ หากจะบอกว่า แจ๊สคือดนตรีสากล ที่เปิดกว้าง และสามารถผสมผสานเข้ากับดนตรีอื่นๆ ได้อีกมากมาย ก็คงจะไม่ผิดนัก

บรรยากาศภายในร้าน North Gate

“ปีที่แล้วเราพูดถึงความหลากหลาย มีสัญลักษณ์เป็นสิงโตของชาวไทใหญ่ มีศิลปินพื้นถิ่นอย่างอ้อม-รัตนัง มาร้องดนตรีพื้นเมืองกับทีมดนตรีแจ๊ส ปีนี้อาจมีวงปี่พาทย์วงใหญ่ 12 ชิ้น มีโขน ลิเก เพราะเรายังมีชุมชนอื่นๆ อยู่ในเมือง เราอยากให้ดนตรีเป็นสิ่งที่ยึดโยงสังคมและชุมชนเข้าไปด้วยกัน Chiang Mai Street Jazz จึงเป็นกรอบที่เปิดกว้าง ถึงจะใช้คำว่าแจ๊สก็จริง แต่มันคือสังคมดนตรีที่เราต้องการยกระดับ ซึ่งการจะยกระดับบางสิ่งบางอย่าง ต้องอาศัยมิตรภาพและความเชื่อใจอย่างมาก รวมทั้งผู้คนที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง และต้องใช้เวลา” ปอเล่าด้วยรอยยิ้ม เขาเพิ่งไปผ่าตัดไส้ติ่งเมื่อไม่กี่วันมานี้เอง

“ถ้าเฟสติวัลอื่นเป็น Mainstream เราจะอยู่นอกกระแสมากกว่า เราพยายามมีสปอนเซอร์น้อยที่สุดหรือสปอนเซอร์ที่คุยกันรู้เรื่องมากที่สุด จึงไม่มีใครวางกรอบหรือบังคับว่าจะต้องออกมาในรูปแบบไหน ต้องการตัวเลขเท่าไหร่”

“เราไม่ได้ซีเรียสว่าคนต้องมาเรือนแสน หรือต้องได้เงินเท่านี้ สิ่งที่วัดความสำเร็จ คือผู้คนที่ประทับใจกับการได้มาร่วมงาน ได้รู้จักความเป็นแจ๊สมากขึ้น และรู้ว่า Chiang Mai Street Jazz Festival มีตัวตน และใครเป็นคนทำ”

โอชินช่วยเสริม เธอโตมากับวัฒนธรรมญี่ปุ่น ทำให้ซึมซับกับดนตรีแจ๊สมาตั้งแต่เด็ก จนกระทั่งได้เข้าเรียนที่คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเป็นนักร้องเพลงแจ๊สด้วยใจรัก

เล็กใหญ่ไม่สำคัญ เท่ากับความต่อเนื่อง

แม้ว่าปีนี้จะมีโควิด-19 จนทำให้การท่องเที่ยวเชียงใหม่เงียบเหงาวังเวง อีเว้นท์ต่างๆ ถูกยกเลิกและเลื่อนออกไป แต่ก็ไม่อาจล้มเลิกความตั้งใจสำหรับการจัดงาน Chiang Mai Street Jazz Festival ในปีนี้ได้

“ต้องมีทุกปีครับ และผมเชื่อว่าทำได้เพราะเราเล่นแจ๊สทุกวันอยู่แล้ว แต่สเกลอาจจะเล็กลง ซึ่งจริงๆ แล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ อย่างโมเดลของโตเกียวที่จัดงาน Art Festival บางปีปิดถนน ปิดเมือง บางทีไปเช่าหอพักทั้งหอพักหรือทำแค่ในซอยเล็กๆ คือเขาหลุดจากกรอบเรื่องพื้นที่ไปแล้วว่าต้องใหญ่หรือเล็ก อยู่ที่คอนเซ็ปต์มากกว่า และการที่เล่นกับพื้นที่เล็กหรือใหญ่มันก็เป็นศิลปะชิ้นหนึ่งเหมือนกัน แต่การทำต่อเนื่องสำคัญที่สุด” ปอเล่า

ส่วนเต่าช่วยเสริมว่า “ตอนที่พวกเราเริ่มทำ ก็ไม่ได้ต้องการจะทำให้ใหญ่โต ถึงแม้ว่ามันอาจจะโตขึ้นเรื่อยๆ อยู่แล้วก็ตาม อย่างเจอโควิดเราก็จัดเล็กๆ ได้ไม่มีปัญหา”

สามผู้จัด เชียงใหม่สตรีทแจ๊ส

สำหรับความพิเศษของงานปีนี้ ต่างจากปีก่อนๆ ตรงที่มีกิจกรรมเวิร์คช็อปตลอดเสาร์อาทิตย์ของเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยเปิดให้ผู้สนใจสมัครร่วมกิจกรรมได้ทางเพจ Chiang Mai Street Jazz Festival

“ธีมปีนี้ เราเน้นเรื่องความรู้หรือ wisdom เพราะเราอยากให้คนมีความเข้าใจพื้นฐาน ก่อนจะฟังดนตรีแจ๊ส เวิร์คช็อปจะมีทั้งหมด 7 ครั้ง และอีก 1 งานเสวนา ส่วนสถานที่จะหมุนเวียนกันจัด เช่น Northgate Jazz Co-op, Moment’s Notice และ โอลด์เชียงใหม่” โอชินกล่าว

เล็กๆ แต่สร้างพลังอันยิ่งใหญ่

ถึงจะเป็นเฟสติวัลทางเลือก ที่เกิดจากคนกลุ่มเล็กๆ แต่กลับได้รับเสียงตอบรับมากมายในปีที่ผ่านมา จนเรียกได้ว่า ‘เกินคาด’ สำหรับผู้จัดงานมือใหม่ ที่สำคัญเฟสติวัลครั้งนี้ ได้เปลี่ยนจากชุดความเชื่อเดิมที่ว่า แจ๊สเป็นดนตรีของวัยผู้ใหญ่อย่างสิ้นเชิง

“เราคิดว่าเฟสติวัลนี้จะเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับคนฟังดนตรีประเภทอื่นแล้วอยากเบรกด้วยดนตรีแจ๊ส และคนยุคใหม่ก็สนใจดนตรีแจ๊สเยอะขึ้น เราเห็นนักดนตรีเด็กๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างคนสมัครเวิร์คช็อปคนแรกอายุแค่ 13-14 ปี สมัครมาฟังแซกโซโฟนและพิธีเปิดแจ๊สคลับ เป็นเด็กรุ่นใหม่มากๆ น่าจะหลัง Gen Z อีก นอกจากนี้ เราอยากให้คนท้องถิ่นได้รู้จักกับดนตรีประเภทนี้มากขึ้น จากนั้นจะกลายเป็นอะไรต่อ แจ๊สจะผสมกับดนตรีอื่นๆ อะไรก็ตามแต่ ก็อยู่ที่ตัวบุคคล” โอชินแสดงความเห็น

 

“ผมเชื่อว่าเฟสติวัลดีๆ สามารถเปลี่ยนแปลงเมืองได้ และการยกระดับกับดนตรี มันเปลี่ยนแปลงสังคมได้จริงๆ เพราะมันคือการให้คุณค่ากับรสนิยมของคนในสังคม”

“ทำไมบ้านเมืองญี่ปุ่นสวยงาม ทำไมเขาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ทำไมอาคารสถาปัตยกรรมในยุโรปดูดี ถ้าเราให้ความสำคัญกับสิ่งนั้น และจัดหมวดหมู่ให้อยู่ในเชิงศิลปะ ถ้ามันดี รสนิยมคนในสังคมก็จะดีตาม ทั้งวิธีคิด กระบวนการที่จะฟังดนตรี การแยกแยะ การให้คุณค่า และความหมาย

ปอ-ภราดล พรอำนวย

“จริงๆ ก็อยากจะชวนภาครัฐ เอกชนหรือกลุ่มคนต่างๆ ในเมืองช่วยกันซัพพอร์ต ซึ่งสำคัญมากที่จะทำให้เฟสติวัลนี้อยู่ได้ในระยะยาว ผมชอบโมเดลของ กาฐมาณฑุ แจ๊ส เฟสติวัล และมักจะพูดถึงเสมอ ส่วนตัวเคยมีโอกาสไปเล่นดนตรีเมื่อปี 2010-1011 โดยกงสุลของแต่ละพื้นที่ จะชวนศิลปินมาร่วมงานและช่วยซัพพอร์ตที่พักให้ เพราะเขาอยากให้คนในพื้นที่ได้ Appreciate กับดนตรี ส่วนนักดนตรีก็ต้องไปเวิร์คช็อปให้กับโรงเรียน ซึ่งมันเป็นกฎที่เราต้อง Contribute ให้กับเขา ไม่ใช่ว่าเราไปเอาจากเขา แต่เราให้อะไรกับสังคมเขาบ้าง ซึ่งเราก็คาดหวังให้เฟสติวัลของเรา คนจะมองเห็นในมุมนั้นบ้าง มุมที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมได้” ปอสรุป

คำแนะนำสำหรับคอแจ๊สมือใหม่

สำหรับคนที่ไม่เคยฟังดนตรีแจ๊สมาก่อน หรือฟังไม่เป็น แต่อยากลองฟังสักครั้ง เต่าแนะนำไว้ว่า “ผมว่ามันเหมือนกับการเสพงานศิลปะ ถ้าเข้าใจก็ดี แต่ถ้าไม่เข้าใจ ก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่อยากฟัง อย่างต่างชาติที่มาฟังดนตรีแจ๊สที่ร้าน บางคนก็เข้าใจว่าวัฒนธรรมการฟัง เช่น ถึงเวลาต้องปรบมือ แต่ถึงบางคนจะไม่เข้าใจ ก็ไม่เป็นไร ก็แค่เปิดใจแล้วเข้ามาฟัง เหมือนกับงานศิลปะชิ้นหนึ่ง มีความหมายต่อคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน สำหรับคนที่เป็น Expert ก็อาจเข้าใจไปในอีกแบบ เหมือนพวกนักชิมไวน์ ดื่มไม่เป็น แต่ก็ชิมได้ และไม่ได้แปลว่าห้ามดื่ม แต่ถ้าอยากเข้าใจดนตรีแจ๊สให้มากขึ้น ก็ลองหาความรู้ หาวิธีเสพมัน เพราะถ้าคุณเข้าใจ ก็จะช่วยเพิ่มอรรถรสในการเสพได้มากขึ้น” เต่าสรุปทิ้งท้าย

Poster street jazz festival 2020

 

แค่ลองเปิดใจ ก็จะได้รู้จักกับดนตรีแจ๊สแล้ว เผลอๆ อาจหลงรักโดยไม่รู้ตัว สำหรับปีนี้ Chiang Mai Street Jazz Festival เริ่มจัดตั้งแต่วันเสาร์ที่ 28 พ.ย. 63 ตามร้านแจ๊สบาร์ทั้ง 4 แห่ง และจัดจริงวันอาทิตย์ที่ 29 พ.ย. 63 ณ ลานศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่ (โอลด์เชียงใหม่) ตั้งแต่ 17.00-24.00 น. ติดตามรายละเอียดได้ทางหน้าเพจ Chiang Mai Street Jazz Festival

Tags: