About
BALANCE

มองสมการชีวิต
ดี = มี หรือ ดี = มีตัวเลือก...

มองสมการชีวิต ดี = มี หรือ ดี = มีตัวเลือก…

เรื่อง สุภักดิภา พูลทรัพย์ ภาพประกอบ ANMOM Date 26-08-2021 | View 964
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • คุยกับนักเดินทาง ให้พวกเขาลองแชร์ประสบการณ์จากทริปเดินทางสุดประทับใจ แล้วลองมานั่งสรุปกันว่า การเดินทางทำให้เราได้เรียนรู้อะไร และทำให้เรามองเห็นชีวิตที่เลือกได้
  • แม้แต่ Katalin Karikó นักวิจัยผู้อยู่เบื้องหลังวัคซีน mRNA ก็ยังเลือกที่จะเปลี่ยนเส้นทางชีวิตนักวิจัยธรรมดาจากฮังการี ไปสู่การเป็นนักวิจัยในสถาบันที่ใหญ่ขึ้นในฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา เพราะคิดว่าเราต้องเลือกสิ่งที่ดีกว่าให้ชีวิตเสมอ
  • ‘ตัวเลือกที่ดี’ ในชีวิตจึงเป็นสิ่งมนุษย์ต้องการมากกว่า ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

ชีวิตที่ดีคือชีวิตที่มี หรือว่า ชีวิตที่ดีคือชีวิตที่มีตัวเลือก

เรามีเรื่องราวจากทริปสุดประทับใจของนักเดินทางและการเดินทางครั้งเปลี่ยนชีวิตผู้อพยพ สะท้อนความเกี่ยวดองกัน (อีท่าไหน) ระหว่างเสรีภาพกับวัคซีนที่ทั่วโลกต้องการอย่างยิ่งในเวลานี้

C 3

ชีวิตที่มี

เรามีโอกาสได้เจอ “โจ” กับ “แบม” สองนักเดินทางที่ชวนกันมาเล่าถึงความประทับใจและแลกเปลี่ยนความรู้บางอย่างระหว่างชีวิตที่ได้เห็นจากการเดินทาง

แบมเป็นแอร์โฮสเตสสายการบินแห่งหนึ่ง สมัยยังไม่มีโควิด-19 แบมเป็นนักเดินทางสายแบ็กแพ็กเกอร์ตัวแม่ เราเลยขอให้เธอเล่าถึงทริปประทับใจที่สุด แบมประมวลผลความทรงจำอยู่ชั่วครู่ก็เลือกมาให้ 2 ทริป

ทริปแรกคือทาจิกิสถาน แบมนั่งเบียดกันไปกับผู้โดยสารอื่นๆ ราว 8 คนในรถโฟร์วีลซึ่งเป็นเหมือนรถประจำทางของที่นั่น ขณะที่ล้อรถบดไปตามปาเมียร์ไฮเวย์ แนวพรมแดนกั้นระหว่างทาจิกิสถานกับอัฟกานิสถาน ภาพข่าวที่ผู้ก่อการร้ายยิงกันตู้มต้ามทำให้จินตนาการของแบมเตลิดเปิดเปิงว่าจะตายอย่างไรดี ระหว่างรถตกเขากับโดนเป่าขมอง

C 5

16 ชั่วโมงผ่านไป แบมซึ่งอวัยวะยังอยู่ครบถ้วนก็ก้าวลงจากรถพร้อมเพื่อนร่วมทาง ท่ามกลางความมืดทั้งสองวิงวอนขอที่นอนไปตามบ้านชาวเมืองปาเมียร์ กระทั่งหญิงชรารายหนึ่งเปิดบ้านให้คนแปลกหน้าซุกหัวนอนได้ แต่จังหวะนรกจริงๆ ที่เพื่อนของแบมเกิดป่วยหนัก ทั้งสองจึงติดอยู่ในเมืองนั้นอยู่ 7 วันเต็มๆ

C 6

เมื่อไม่มีอะไรดีกว่านั้นให้ทำ แบมจึงได้แต่กิน นอน เล่นทรายกับเด็กๆ มองไปทางไหนก็เห็นแต่ท้องฟ้ากับหิน จนบางทีแบมหลอนคิดว่าตัวเองอยู่ดาวอังคารหรือเปล่า ไฟฟ้าคืออะไร น้ำประปาไม่ต้องถามหา มีแต่แสงดาวและน้ำจากฟ้าที่ต้องเดินไปตักในลำธารเล็กๆ แสนไกล สิ่งที่ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะมีเพียงเวลาที่แบมไปตลาดซึ่งเปิดอาทิตย์ละหนกับตอนไปส้วมที่เป็นแค่หลุมมีไม้พาดให้นั่งยอง กลิ่นเหม็นอย่างร้ายกาจของมันยังติดจมูกมาแม้ในวันที่แบมนั่งชักโครกอัจฉริยะอยู่ที่โตเกียว

C 1

ทริปที่สองคือชิลี แบมแบกเป้ไปเป็นอาสาสมัครที่ฟาร์มแห่งหนึ่งที่ไปจิ้มเลือกมาจากโครงการ WWOOF แม้ทักษะการทำไร่ทำนาจะเป็นศูนย์ แต่การเอาแรงงานไปแลกอาหารและที่พักฟรีทำให้แบมมีลูกฮึดไปเก็บน้ำผึ้ง ปลูกผักและทำปุ๋ยหมักอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

ฟาร์มที่แบมเอาแรงเข้าแลกมีลักษณะเป็นคอมมูนนานาชาติที่กลุ่มผู้บุกเบิก 3 รายเข้ามาซื้อที่ สร้างบ้านดิน ทำเกษตรอินทรีย์ ติดตั้งโซลาร์เซลล์และเจ้าของฟาร์มรายหนึ่งซึ่งเป็นอดีตวิศวกรหญิงถึงกับสร้างระบบน้ำขึ้นให้ใช้เป็นส่วนกลาง เวลาต่อมาจึงแบ่งขายที่ดินให้กับเพื่อนสายหัวใจสีเขียวจนกลายเป็นคอมมูนหลายบ้านบนที่ดินผืนเดียวกัน ซึ่งสมาชิกคอมมูนมีทั้งชาวชิลี อเมริกัน ญี่ปุ่นที่สร้างครอบครัวและโฮมสกูลให้กับลูกเล็กๆ ที่วิ่งเล่นอยู่ในป่า

“ทั้งสองทริปนี้ทำให้เรารู้จักชีวิตที่ไม่ต้องทำอะไรมากและรู้สึกว่าชีวิตไม่ได้ต้องการอะไรมาก วิถีชีวิตที่พึ่งพิงตัวเองได้และอยู่กับธรรมชาติเป็นชีวิตเราอยากมี”

แบมบอกเหตุผลที่เลือกทั้งสองทริปมาเล่าให้ฟัง ทั้งยังเป็นทริปที่บันดาลใจให้แบมลาออกจากงานไปซื้อที่อยู่ต่างจังหวัด ปลูกผักกินเองและทำผลิตภัณฑ์ธรรมชาติขายออนไลน์ ส่วนลูกๆ ที่เกิดกับสามีตาสีเขียวก็เรียนโฮมสกูลหลังจากให้อาหารเป็ดและเก็บไข่มาไว้ในครัวแล้ว

C 2

ชีวิตที่ดีคือมีทางเลือก

หลังจากฟังเรื่องราวของแบมจบ โจซึ่งเป็นนักชีพจรลงเท้าเช่นกัน ก็พูดกับแบมว่า เรื่องทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องของวิถีชีวิตที่อยู่กับธรรมชาติ แต่เป็นเรื่องของ ‘เสรีภาพในการเลือก’ ของมนุษย์

ชาวเมืองปาเมียร์อยู่บนผืนแผ่นดินแห้งแล้งเช่นนั้นมาชั่วนาตาปี จากหญิงชราเจ้าของบ้านจนถึงหลานชายหญิงของนางล้วนไร้การศึกษาเช่นเดียวกัน และจะเติบโตไปเป็นคนเลี้ยงแพะเช่นเดียวกับย่า พ่อและอาๆ ของพวกเขา

ขณะที่ชาวคอมมูนในชิลีเป็นคนเมืองที่มีปริญญาจากมหาวิทยาลัย พวกเขาเคยเป็นวิศวกร ศิลปินหรือพนักงานบริษัท แม้บางคนจะเป็นชาวชิลีแต่ก็เคยอยู่ในเมืองหลวง ขณะที่เพื่อนบ้านของเขาบินมาจากอเมริกาและญี่ปุ่น

ทุกคนตัดสินใจด้วยตัวเองที่จะ ‘เลือก’ มีวิถีชีวิตอยู่กับธรรมชาติ ‘เลือก’ ว่าจะซื้อที่ดินผืนนี้ ‘เลือก’ มาอยู่ท่ามกลางทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ และที่สำคัญทุกคนมาพร้อมต้นทุนทั้งความรู้ การเข้าถึงข้อมูลและเงินตั้งตัว

จากตัวอย่างนี้ ทั้งชาวปาเมียร์และชาวคอมมูนต่างก็มีเสรีภาพในการเลือกชีวิตของตัวเอง เพียงแต่ ‘การศึกษา’ ช่วยสร้างโอกาสให้ชาวคอมมูนดูจะมีทางเลือกได้มากกว่า ในขณะที่ชาวเมืองปาเมียร์แม้มีเสรีภาพในการเลือกชีวิตให้ตัวเองก็จริง แต่พวกเขาก็ไม่มีโอกาสให้เลือก

C 4

ระหว่างชีวิตที่มี กับ ชีวิตที่ดี (ที่เราเลือก)

Kisújszállás ตั้งอยู่ทางตะวันออกกลางของประเทศฮังการี เมืองนี้มีพื้นที่ 205 ตารางกิโลเมตรหรือเล็กกว่า 2 เท่าของสมุทรสงคราม จังหวัดที่มีพื้นที่เล็กที่สุดในประเทศไทย ทั้งยังมีประชากรราวหมื่นกว่าคนเท่านั้น หนึ่งในนั้นคือผู้หญิงนามว่า Katalin Karikó ซึ่งวันนี้คนทั่วโลกรู้จักเธอผู้อยู่เบื้องหลังวัคซีน mRNA

ต่างจากผู้ชายในเมืองที่ทำงานในภาคการเกษตรและผู้หญิงที่ทำงานภาคบริการ เคทลินบ่ายหน้าไปเรียนวิชาชีวเคมีที่ University of Szeged ในเมืองเซเก็ดซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ ด้วยวุฒิปริญญาเอกพาให้ ดร.เคทลินได้งานเป็นนักวิจัยที่ Szeged Biological Research Center

17 มกราคม 1985 ซึ่งเป็นวันเกิดครบรอบ 30 ปีของเคทลิน เธอลาออกจากงาน ขายรถ เอาเงินราวๆ 1,200 ดอลล่าร์สหรัฐยัดใส่ตุ๊กตาหมีของลูกสาวแล้วอพยพไปอเมริกา หลังได้จดหมายเชิญให้ไปเป็นนักวิจัยที่ Temple University ในฟิลาเดลเฟีย

C 7

 

ปัจจุบัน เคทลินใช้ชีวิตส่วนใหญ่ที่เมืองไมนซ์ในเยอรมัน ด้วยเพราะหน้าที่การงานของเธอที่เป็นรองประธานอาวุโสของบริษัท BioNTech

ดร.เคทลิน คาริโก เป็นผู้คิดค้นวัคซีนชนิด mRNA ที่เธอพยายามพัฒนามากว่า 4 ทศวรรษตั้งแต่ยังเป็นนักวิจัยอยู่ในฮังการี และเป็นเพราะเทคโนโลยี mRNA นี้เองที่ทำให้เธอตัดสินใจอพยพไปอเมริกา แม้ว่าใจจะไม่อยากไปเลย เพราะเพิ่งย้ายเข้าอพาร์ทเมนต์ใหม่ได้ไม่นาน ลูกก็ยังเล็กและชีวิตมีความสุขดี

ระหว่างชีวิตที่มี ความสุขที่มีอยู่ทุกวันในฮังการี แต่เธอคิดว่ามันก็ยังไม่ ‘ดี’ พอสำหรับงานของเธอ…แล้วเธอก็เลือกไปเป็นนักวิจัยในฟิลาเดลเฟียตามคำเชิญนั้น

“เราคุยกันกับ János Ludwig เพื่อนนักวิจัยว่าเราจะทำวัคซีน mRNA สำเร็จได้หรือไม่ ถ้าทำที่ห้องแล็บในเมืองเซเก็ด แล้วก็ได้ข้อสรุปว่า ถ้าเรายังอยู่ที่ฮังการี เราคงเป็นนักวิจัยขี้บ่นที่ความรู้ความสามารถก็งั้นๆ” ดร.เคทลิน คาริโก หวนไปทบทวนการเลือกเมื่อ 35 ปีที่แล้วของเธอ ซึ่งเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนหลายล้านคนทั่วโลกในวันนี้

ตัดกลับมาที่โจกับแบม สองนักเดินทางที่มานั่งคุยกัน

“ถ้าวันหนึ่งลูกของเธอโตขึ้นและบอกพ่อแม่ว่าอยากไปอยู่ในเมือง เธอจะทำยังไง” โจถามแบม ซึ่งตอบว่า เธอคิดว่าวิถีชีวิตที่อยู่กับธรรมชาตินั้นดี แต่ถ้าวันหนึ่งลูกชายจะไปอยู่ที่ไหน จะทำหรือจะเป็นอะไร “นั่นก็แล้วแต่เขา”

พูดออกไปแล้ว แบมเพิ่งรู้สึกตัวว่า คำตอบของเธอก็ไม่พ้นตกอยู่ในหมวดหมู่ ‘เสรีภาพในการเลือก’ เช่นกัน


ที่มา:

http://www.nemzetijelkepek.hu/onkormanyzat-kisujszallas_en.shtml
https://g7.hu/elet/20200331/ha-magyarorszagon-maradok-panaszkodo-kozepszeru-kutato-lettem-volna/
https://edition.cnn.com/2020/12/16/us/katalin-kariko-covid-19-vaccine-scientist-trnd/index.html

Tags: