About
DETOUR

Long Live Cinema

ตามรอยสองเส้นทางใหม่หอภาพยนตร์ ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์โลกสู่ความทรงจำภาพยนตร์ไทย

เรื่องและภาพ พัทธนันท์ สวนมะลิ Date 20-03-2024 | View 2100
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • เดินเท้ารับฟังประวัติศาสตร์บนสองเส้นทางใหม่ของหอภาพยนตร์ เริ่มต้นที่ฝรั่งเศส ต่อด้วยโรงหนังถาวรแห่งแรกของโลก กลับมาประเทศไทยสมัยรัชกาลที่ 5 และเข้าสู่ปัจจุบันผ่านพิพิธภัณฑ์กับของจัดแสดงที่ใช้ถ่ายทำจริงสุดตื่นตา

สำหรับคอภาพยนตร์ (หลังจากนี้ขอใช้คำว่า ‘หนัง’ เพื่อความกะทัดรัด) หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เห็นจะเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายที่ใครหลายคนอยากลองเดินทางมาดูสักครั้ง ไม่ว่าจะมาดูหอสมุด ดูนิทรรศการ และโรงหนังที่ยังคงจัดฉายอยู่เรื่อยๆ ซึ่งแน่นอนว่าหนังที่นำกลับมาขึ้นจอก็ไม่ธรรมดา บางเรื่องแม้แต่ในอินเทอร์เน็ตก็ยากจะหาดูได้ในสภาพที่เป็นมิตรต่อสายตา

แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นในวันนี้ หลักใหญ่ใจความของบทความเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2566 (หรือวันกำเนิดภาพยนตร์โลก) เพจเฟซบุ๊กของทางหอภาพยนตร์ได้โพสต์ประกาศเปิดสองเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ต้อนรับปีใหม่

เส้นทางแรกหรือ รูท A จะนำพวกเราไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์การกำเนิดภาพยนตร์โลก ส่วนอีกเส้นทางหนึ่งหรือ รูท B จะพาเราเดินบนเส้นทางศตวรรษภาพยนตร์ไทย

ดูๆ ไปแล้ว นี่มัน East Meets West ชัดๆ แถมยังไม่เสียค่าเข้าชมเลยสักบาท ทุกอย่างพร้อมใจขนาดนี้แล้ว มาลงทะเบียนเข้าชมกับเจ้าหน้าที่ แล้วถามทางไปลงชื่อขอเข้าร่วมกรุ๊ปทัวร์กาลเวลาได้เลย ใช้เวลารูทละ 1 ชั่วโมง ไม่ต้องกลัวร้อน เดินอยู่ข้างนอกไม่นานก็ได้เข้าไปตากแอร์ในอาคารกันแล้ว รับประกันจากคนเขียนที่ไปมาในช่วงบ่ายสดๆ ที่อากาศกำลังชวนให้สุก

หอภาพยนตร์

หอภาพยนตร์

01
โลกของเราคือบ้านของภาพยนตร์

รูท A นี้เราเริ่มต้นกันที่เมืองมายา ประกอบไปด้วยอาคารมากมายที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์หนังทั้งไทยและเทศ แต่ที่แรกที่วิทยากรพาเราไปนั้นตั้งอยู่กลางเมืองมายา ถูกเรียกว่า ‘แท่งประหลาด’ ว่าไปแล้วมันก็เป็นวัตถุที่ต้องพึ่งพาความเนิร์ดและชุดความรู้เกี่ยวกับหนังสักเล็กน้อย แต่เราเชื่อว่า “If you know, you know.”

ตรงนี้คงต้องสปอยล์กันสักเล็กน้อยว่า มันคือ Monolith หรือแท่งหินที่ปรากฏในหนังเรื่อง 2001 : A Space Odyssey (1968, Stanley Kubrick) เป็นกิมมิกที่อยากให้ผู้เข้าชมเข้ามาสัมผัสเพื่อรับความรู้กันสักเล็กน้อย ที่สำคัญ แท่งหินนี้ยังซุกซ่อนลูกเล่นเอาไว้ให้ได้ลองสังเกต ตรงนี้ขออุบไว้ เพราะอยากให้รับรู้ความพิเศษนี้ด้วยตัวเอง

เกร็ดข้อมูลก่อนเดินหน้าต่อ เจ้าแท่งหินนี้ถูกตกแต่งด้วยลวดลายของต้นตาล โดยฝีมือของ ช่วง มูลพินิจ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี พ.ศ.2556 ท่านวาดขึ้นมาเพื่อระลึกถึง เชิด ทรงศรี ผู้กำกับหนังไทยที่เคยฝากผลงานอมตะไว้อย่าง แผลเก่า ในปี พ.ศ.2520

หอภาพยนตร์

เราเดินมาถึงสถานที่ที่สอง ตรงหน้าเป็นอาคารหน้าตาประหลาด วิทยากรบอกว่า คืออาคารจำลองของ ‘โรงถ่ายหนังแห่งแรกของโลก’ เป็นประดิษฐกรรมของโทมัส อัลวา เอดิสัน ถูกตั้งชื่อว่า ‘โรงถ่ายแบล็กมารีอา’ (Black Maria) โรงถ่ายที่เปิดหลังคาเพื่อใช้แสงอาทิตย์ในการถ่ายทำ เนื่องจากข้อจำกัดของหลอดไฟในยุคสมัยนั้นที่ยังสว่างไม่มากพอให้บันทึกภาพลงแผ่นฟิล์ม ความเจ๋งของตัวอาคารคือการที่มันติดล้อให้สามารถหมุนอยู่บนแกนตามการเคลื่อนตัวของดวงอาทิตย์ได้ ที่เจ๋งกว่านั้นคือความทรหดของเจ้าหน้าที่ที่มาหมุนเจ้าตัวอาคารให้เราดูนี่แหละ กำลังแขนของพวกพี่ๆ เขาสุดยอดกันจริงๆ

หอภาพยนตร์

ส่วนตัวอาคารของจริงนั้นถูกรื้อถอนไปแล้ว จะมีก็แต่อาคารจำลองที่ West Orange รัฐ New Jersey สหรัฐอเมริกา เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่เปิดให้คนเข้าไปถ่ายทำได้ ในอดีตยังเป็นแล็บสำหรับล้างฟิล์มอีกด้วย ซึ่งของที่หอภาพยนตร์เองก็สามารถเข้าไปทดลองถ่ายทำได้เหมือนกัน แต่ส่วนข้างในจะเปิดให้เข้าเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์

หอภาพยนตร์

จุดต่อไป เจ้าหน้าที่จะพาเราไปชมหนังที่ถูกถ่ายทำในโรงถ่ายแบล็กมารีอา ซึ่งถูกจัดเก็บและจัดฉายอยู่ใน ‘ร้านถ้ำมอง’ (Kinetoscope) ที่จะมีเครื่องหน้าตาประหลาด 10 เครื่อง พร้อมช่องมองภาพอยู่ด้านบน โดยเจ้าเครื่องเหล่านี้จะใช้วิธีการหยอดเหรียญ 5 เซ็นต์ ต่อ 1 เรื่อง แต่จะให้เราไปหา 5 เซ็นต์มาจ่ายตอนนี้ ก็คงได้ดูกันอีกทีพรุ่งนี้แน่นอน ทางหอภาพยนตร์จึงได้ดัดแปลงสัญชาติให้เจ้าตู้ฉายนี้รับเหรียญ 10 บาทได้เป็นที่เรียบร้อย หรือถ้าใครกลัวเมื่อยคอก็ไม่ต้องกังวลไป แผ่นฟิล์มมีความยาว 40 ถึง 50 ฟุตก็จริง แต่ตัวหนังนั้นมีความยาวเพียง 1-2 นาทีเท่านั้นเอง

ระหว่างกำลังตื่นตะลึงกับสิ่งประดิษฐ์ที่อยู่ตรงหน้า ฟังเสียงแผ่นฟิล์มที่แล่นฉิวอยู่ภายในตัวเครื่อง จดจ้องสายตากับภาพเคลื่อนไหวสีขาวดำที่กินเวลาไม่เกิน 2 นาที ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกเรียกว่าเป็นหนังของยุคนั้น วิทยากรก็จะเล่าประวัติศาสตร์ความเป็นมาให้เราได้รับรู้แบบไม่ขาดตกบกพร่องสักยุคสมัย

หอภาพยนตร์

ออกมาจากร้านปะทะกับแสงแดด วิทยากรบอกป้ายหน้าคือฝรั่งเศส เดินมาไม่กี่ก้าว เราก็มาอยู่หน้าอาคารที่มีป้ายและตัวอักษรขนาดใหญ่เขียนว่า ‘Hotel Scribe’ ความพิเศษของอาคารนี้ อย่างแรกคือมีคาเฟ่ให้เราได้นั่งพักจิบเครื่องดื่มกันสักเล็กน้อย อย่างที่สองคือ ชั้นใต้ดินที่จะเปิดให้เข้าเฉพาะผู้ที่มากับรูท A เท่านั้น

หอภาพยนตร์

หอภาพยนตร์

“ห้องนี้จะมีความสำคัญมากๆ กับประวัติศาสตร์ภาพยนตร์” วิทยากรบอกเราตั้งแต่ยังไม่ทันได้เดินเข้าไปในห้องที่มีชื่อว่า ‘ซาลอน อินเดียน’ (Salon Indien) ซึ่งในความเป็นจริง ห้องนี้ที่ฝรั่งเศสคือห้องที่หนัง 10 เรื่องแรกถูกฉายขึ้นจอแบบเก็บค่าดูเป็นครั้งแรกของโลก

ในส่วนนี้หลายคนอาจคิดว่าต้องใช้เวลานานกับการต้องดูหนังทั้ง 10 เรื่อง ต่อด้วยคำบอกเล่าจากวิทยากรอีกนิดหน่อย แต่ก็นั่นแหละ การได้เห็นความมาไกลของหนังที่ทุกวันนี้เราแทบจะสามารถหาดูได้ในทุกแพลตฟอร์ม ก็ทำให้ต้องขอหยิบยกคำเขียนที่ อาจารย์ประวิทย์ แต่งอักษร พูดถึงความยาวของหนังเรื่อง Dune: Part 2 มาใช้ หรือที่บอกว่า “มันท่วมท้นความรู้สึกจนแทบไม่รู้ถึงการเดินทางของกาลเวลา”

อีกอย่างหนึ่ง เราจะได้รู้กันที่นี่ว่า ทำไมวันที่ 28 ธันวาคม ถึงถูกยกให้เป็นวันภาพยนตร์โลก แล้วจึงค่อยพากันออกไปตบบ่าประติมากรรมของ หลุยส์ แซม ออกุสแตง เลอ แปรงซ์ (Louis Aime Augistin Le Prince) ที่นั่งอยู่ตรงลานน้ำพุของ Hotel Scribe ส่วนสาเหตุที่ต้องไปตบบ่าปลอบใจ ไว้รอวิทยากรเล่าทฤษฎีสมคบคิดที่ไม่มีคำว่าเรื่องลี้ลับต่อท้ายให้ฟังกันดีกว่า

หอภาพยนตร์

ออกมาข้างนอกอีกครั้ง เดินเท้าไปยังสถานที่สุดท้ายของ รูท A เมือง Pittsburgh รัฐ Pennsylvania อเมริกา เข้ามายัง ‘โรงหนังตังค์แดง’ (Nickleodeon) โรงหนังถาวรแห่งแรกของโลกที่เก็บค่าเข้าชมเพียง 1 นิเกิล หรือ 5 เซ็นต์ จนครั้งหนึ่งหนังถูกเรียกว่าเป็นมหรสพคนยาก และภายในอาคารก็มีการจำลองการจัดฉายหนังในยุคนั้นให้เราสามารถเข้าไปนั่งชมได้

หอภาพยนตร์

แต่ไปๆ มาๆ เมื่อมีแห่งแรกก็ต้องมีแห่งที่สอง วิทยากรได้เริ่มเล่าที่มาที่ไปของโรงหนัง พร้อมภาพประกอบที่แขวนอยู่บนผนัง และแบบจำลองขนาดย่อมที่ตั้งอยู่กลางห้อง เล่าตามเส้นทางประวัติศาสตร์ไปจนถึงการเติบโตของหนังที่ค่อยๆ แทรกซึมเข้าสู่ชีวิตประจำวันของผู้คน ซึ่งในทุกวันนี้ มันได้กลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในฐานะสื่อบันเทิง สื่อเชิงความรู้ และบางครั้งก็ขับเคลื่อนชีวิตของใครหลายคนไปข้างหน้าอย่างตั้งใจและไม่ตั้งใจ

“ขอจบเส้นทางกำเนิดภาพยนตร์โลกไว้แต่เพียงเท่านี้ครับ ขอบคุณครับ” วิทยากรเอ่ยขึ้นก่อนพาเราไปร่วมกับ รูท B เส้นทางศตวรรษภาพยนตร์ไทย

หอภาพยนตร์

02
หนึ่งศตวรรษของภาพยนตร์ไทย

เดินกลับมาจากทวีปยุโรปและอเมริกาสู่บ้านเกิดเมืองนอน ประเทศไทย ปี พ.ศ.2440

เอาเข้าจริง รูท B ก็อยู่ในละแวกเดียวกับเมืองมายา เรียกได้ว่าจากทวีปยุโรปและอเมริกากลับมาประเทศไทยนั้นใกล้กว่าเดินเท้าไปหน้าปากซอยอีก

รูทนี้เริ่มต้นกันที่ ‘ประตูสามยอด’ ประตูเมืองที่ถูกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ถูกออกแบบให้เลนหนึ่งสำหรับคนเดิน อีกเลนหนึ่งสำหรับรถรางวิ่ง แต่ผลที่ได้คือความวุ่นวายทางการจราจร ยังไม่ทันพ้นสมัยของรัชกาลที่ 5 ก็ถูกทุบทิ้งเพื่อแก้ปัญหา แล้วมันมีความสำคัญกับหนังไทยอย่างไร

หอภาพยนตร์

ถึงเราจะลอดผ่านประตูสามยอดไม่ได้ แต่ด้านข้างของประตูคือ ‘มงคลบริษัท’ หรือที่ชาวบางกอกเรียกกันว่า ‘โรงละครหม่อมเจ้าอลังการ’ ที่มีการค้นพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่า เมื่อวันที่ 10 มิถุยายน ปี พ.ศ.2440 ได้มีชาวต่างชาติมาจัดฉายหนังที่นี่ครั้งแรก ไม่เกี่ยงเพศ ไม่จำกัดชนชั้น ใครๆ ก็สามารถซื้อตั๋วเข้ารับชมได้ วันที่ข้างต้นจึงถูกยกเป็นวันกำเนิดภาพยนตร์ในสยามไปโดยปริยาย

หอภาพยนตร์

ต่อมาไม่ไกลนัก เข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 6 กับประตูโรงหนังที่สวยงามและหรูหราที่สุดในสยามที่มีชื่อว่า ‘ซุ้มพัฒนากร’ ตามคำบอกเล่าของวิทยากร ถ้าเดินลอดผ่านก็จะเจอกับโรงหนังพัฒนากร แต่ที่หอภาพยนตร์ เราจะได้เจอกับ ‘รถไฟสายภาพยนตร์’ แทน ซึ่งเราสามารถเข้าไปชมข้างในตัวขบวนได้ตามสะดวกเลย

หอภาพยนตร์

รอบๆ รถไฟประดับไปด้วยรูปปั้นประติมากรรมของบุคคลสำคัญในแวดวงหนังทั้งไทยและเทศ เช่น Buster Keaton นักแสดงหนังเงียบในยุค 20’s การจับเขามาอยู่คู่กับรถไฟเห็นจะเป็นการเอ่ยถึงหนัง The General ที่เจ้าตัวเล่นในปี 1926 (พ.ศ.2469) เดินต่อมาอีกนิดจะเจอกับรูปปั้นของยอดชาย เมฆสุวรรณ ที่ ยอดชาย เมฆสุวรรณ เป็นคนปั้นตัวเองกับมือ

หอภาพยนตร์

ใช้เวลาไม่นานนัก วิทยากรก็พาเราเข้าสู่ไฮไลต์ นั่นคือ ‘พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย’ ใครกลัวที่แคบอาจต้องระวัง เพราะของข้างในเยอะจนไม่รู้จะวางสายตาไว้ที่ไหน และจะวางเท้าแต่ละทีก็ต้องระมัดระวังกันระดับหนึ่งเลย

น่าเสียดายที่ข้างในไม่สามารถบันทึกภาพได้ และทางวิทยากรก็ขอความร่วมมือโปรดอย่าสัมผัสสิ่งของที่นำมาจัดแสดง ฉะนั้น เราจะอธิบายให้เห็นภาพคร่าวๆ ว่า ความมากมายก่ายกองของสิ่งต่างๆ ภายในนั้นไม่ใช่เล่นเลย

หอภาพยนตร์

หอภาพยนตร์

ภายในอาคารจะมี 2 ชั้น โดยวิทยากรจะเล่าตั้งแต่กำเนิดหนังไทยในปี พ.ศ.2440 จนถึงวันที่ครบรอบ 100 ปี พ.ศ.2540 พร้อมของจัดแสดงเกี่ยวกับหนังที่ฉายในปีนั้นอย่าง สเลทสำหรับใช้เปิดกล้อง ‘2499 อันธพาลครองเมือง’ (แจ้งเกิด ติ๊ก-เจษฎาภรณ์ ผลดี) ที่ในตอนนั้นยังใช้ชื่อเรื่องว่า ‘แดงไบเลย์’ หรือจะเป็นปืนที่ เรย์ แมคโดนัลด์ ใช้ในหนังเรื่อง ‘ฝัน บ้า คาราโอเกะ’ และประตูประกอบฉากของหนังที่ฉายในปีใกล้เคียงกันอย่าง ‘ตลก 69’ ของ เป็นเอก รัตนเรือง ที่พึ่งได้รับการดัดแปลงเป็นซีรีส์ไปเมื่อปีที่ผ่านมานี้เอง

หอภาพยนตร์

ที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือมุมของหนังไทยที่ทำเงินได้ระดับ 100 ล้าน เรื่องแรก ‘นางนาก’ ของ อุ๋ย-นนทรี นิมิบุตร ที่มีพร็อพส์ตั้งโชว์ให้ดูตั้งแต่เสื้อผ้ายันงานเรซิ่นศพของแม่นากที่หล่อขึ้นจากเค้าโครงของ ทราย-อินทิรา เจริญปุระ ใครกลัวผีอาจมีผวาได้ เพราะนี่คือของจริง ใช้ถ่ายทำจริง แถมยังสมจริงจนน่ากลัวอีกต่างหาก

“สิ่งเหล่านี้คือหมุดหมายที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของหนังไทยที่ค่อยๆ ใส่ใจในรายละเอียดขึ้นตามยุคสมัย” วิทยากรอธิบายไปพลางพร้อมเปิดโลงของแม่นากไปพลาง หาแบบนี้จากที่ไหนไม่ได้แล้วจริงๆ

พูดถึงความสมจริง ข้างๆ เป็นเสื้อผ้าของอีกหนึ่งผีไทยที่ผู้คนติดตากันดี เพราะออกมาหลายภาคเหลือเกินอย่าง ‘บ้านผีปอบ’ น่าเสียดายไม่มีโอ่งให้ลองมุดลงไป

หอภาพยนตร์

หอภาพยนตร์

ความน่าสนใจยังไม่หมดเท่านี้ ถ้าให้เขียนหมด คนอ่านคงไม่ต้องไปเดินกันแล้วพอดี โดยเฉพาะกับเหล่าประวัติศาสตร์ที่ติดอยู่ตามกำแพงของพิพิธภัณฑ์ฯ ภาพของเหล่าบุคคลสำคัญที่สร้างคุณูปการไว้ให้แก่วงการหนังไทย ทั้งผู้ที่ยังคงอยู่ และผู้ที่เหลือไว้เพียงแค่ชื่อให้จดจำ พื้นที่จำลองฉากต่างๆ ของหนังหลายๆ เรื่อง คลิปวิดีโอเหตุการณ์สำคัญ อุปกรณ์ที่ใช้ถ่ายทำจริง ซึ่งได้รับมอบมาจากเจ้าของอีกทีหนึ่ง ไปจนถึงพื้นที่ที่เป็นต้นกำเนิดของอนิเมชันเรื่องแรกของประเทศไทยเรื่อง ‘สุดสาคร’ ออกฉายปี พ.ศ.2522 ภายใต้ฝีมือของ ปยุต เงากระจ่าง แต่ด้วยเทคโนโลยี (มีอุปกรณ์จริงให้ดู) อันไม่พร้อมในสมัยนั้น ทำให้การมาของอนิเมชันเรื่องนี้ต้องแลกด้วยดวงตาหนึ่งข้างของผู้สร้างที่ไม่อาจมองเห็นได้อีกต่อไป

หอภาพยนตร์

ก่อนเข้าสู่ส่วนสุดท้ายที่เป็นส่วนของ ‘โรงหนัง’ ภายในพิพิธภัณฑ์ฯ วิทยากรพาเราไปทำความรู้จักกับแผ่นฟิล์ม และการใส่คำบรรยายในสมัยก่อน เรียกได้ว่าทรหดอดทนกันมากกว่าจะได้คำแปลของแต่ละบทสนทนา

หอภาพยนตร์

หอภาพยนตร์

ข้างหน้าโรงหนัง หากใครคุ้นเคยกับชุดสูทสีเหลืองคงได้คิดถึงกันสักเล็กน้อย เราเองก็เป็นคนหนึ่งที่ยังคงเสียดายสถานที่แห่งนั้นมาถึงทุกวันนี้ กับชุดประจำตัวของคนตรวจ/ฉีกตั๋ว (มีชื่อตำแหน่งเต็มๆ ว่า แผนกนามบัตรต้อนรับ) ของโรงหนังสกาลา ซึ่งทางหอภาพยนตร์ได้ไปขอมาหลังจากที่นั่นปิดตัวลง

หอภาพยนตร์

หอภาพยนตร์

มาถึงส่วนสุดท้ายกับการจำลองโรงหนังในสมัยก่อน บรรยากาศที่พัฒนามาไกลตามยุคสมัย เก้าอี้ไม้กระดกถูกเปลี่ยนเป็นเบาะนั่งอย่างดี เก้าอี้เสริมของคนรอไม่ไหวที่ยอมจ่ายราคารีเซลส์ และห้องพากย์สดของนักพากย์เสียงพร้อมเครื่องฉายขนาดใหญ่ ในห้องนักพากย์มีเซอร์ไพรส์เป็นเกร็ดความรู้ที่ก็ทำเอาอึ้งกับยุคสมัยอยู่เหมือนกัน อยากรู้คืออะไรขออุบไว้ให้ไปรู้เอง

หอภาพยนตร์

ก่อนจากกันเมื่อเงยหน้าขึ้นมองเพดาน ถ้าเป็นด้านนอกตรงลานดารา เราจะได้เห็นรอยมือรอยเท้าของเหล่าดาราภาพยนตร์ไทยที่มาประทับไว้เป็นอมตนุสรณ์ ทว่า ข้างในนี้หลังจากเข้าชมพิพิธภัณฑ์ฯ พวกเขาจะประดับรูปใบหน้าของตัวเองเอาไว้ในฐานะดาวค้างฟ้า แต่ละคนจะเลือกตำแหน่งวางรูปกันเองหมดเลย บางคนเลือกจะแปะไกลห่างจากเพื่อนร่วมวงการก็มี

จากนั้นการเดินทางของรูท B ก็ถือเป็นอันสิ้นสุดลง

หอภาพยนตร์

เส้นทางนี้อาจต้องพึ่งการบันทึกด้วยสายตาเป็นส่วนใหญ่ แต่การที่มันสามารถสร้างความอยากดูหนังไทยทั้งเก่าและใหม่ให้กับเราได้แบบนี้ คงต้องยอมรับว่า สถานที่แห่งนี้ทำหน้าที่ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว

แม้จะไม่มีเครดิตขึ้นส่งท้าย แต่เหล่าเจ้าหน้าที่และวิทยากรก็สมควรได้รับเสียงปรบมือก่อนม่านปิด

และแทนที่จะเป็นคำว่า ‘จบบริบูรณ์’ เพื่ออำลา เราขอใช้อีกคำหนึ่งที่น่าจะเหมาะสมกับบริบทและสถานที่มากกว่า

‘Long Live Cinema’

 

ขอบคุณภาพประกอบ : หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

หอภาพยนตร์ Thai Film Archive
เปิดให้บริการทุกวันอังคาร – อาทิตย์ (ปิดวันจันทร์)
รอบเข้าชมเส้นทาง A: 10.00 น., 13.00 น., 15.00 น.
รอบเข้าชมเส้นทาง B: 11.00 น., 14.00 น., 16.00 น.
FB: หอภาพยนตร์ Thai Film Archive

Tags: