About
BALANCE

กินรักษ์โลก

ลดขยะตั้งแต่ต้นทาง…ด้วยการกิน

เรื่อง วิชชุ ชาญณรงค์ Date 02-06-2020 | View 2172
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ไม่น่าเชื่อว่าทุกกระบวนการตั้งแต่เริ่มผลิตจนถึงขยะอาหารที่รอการย่อยสลายก็มีส่วนทำให้โลกร้อน
  • ปัจจุบันปริมาณขยะ 1 ใน 3 ของโลกเป็นเศษอาหารเน่าเสียที่ถูกกำจัดโดยวิธีฝังกลบ ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกหรือก๊าซมีเทนที่มีศักยภาพให้โลกร้อน ร้ายแรงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่า
  • ทางเลือกในการแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาวต่อผู้ประกอบการแพลตฟอร์มเดลิเวอรี คือ “การลดขยะตั้งแต่ต้นทาง” จะช่วยให้จัดการขยะที่เหลือได้ง่ายขึ้นด้วย

ท่ามกลางภาวะโลกที่เปลี่ยนไป ช่วงที่เกิดการระบาดของ COVID-19 ทำให้สิ่งแวดล้อมโลกได้พักจากการเผชิญมลพิษที่เกิดจากการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางน้ำ หรือทางอากาศ รวมถึงควันเสียจากโรงงานและที่สำคัญการกินอาหารที่บ้านก็ยังช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก (Carbon Footprint) ดังนั้น วิธีหนึ่งในการลดโลกร้อนที่ทุกคนช่วยได้และทำได้ทุกวันคือ กินอาหารให้หมดและคุ้มค่าที่สุด

เชื่อไหมว่าวิกฤติขยะอาหารกำลังเป็นปัญหาใหญ่สร้างผลกระทบไปทั่วโลก เพราะมีอาหาร 1 ใน 3 ของโลกเกิดการสูญเสียและถูกทิ้ง ขณะที่ร้อยละ 11 ของประชากรโลกกำลังเผชิญกับความอดอยากไม่มีจะกิน ปัจจุบันอาหารที่ถูกทิ้ง สร้างมูลค่าความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกสูงถึง 9 แสนล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และคิดเป็นร้อยละ 8 ของก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยสู่บรรยากาศโลก

โดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประเมินว่า ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากอาหารเหลือทิ้งในโลก อาจมีปริมาณเทียบได้เท่ากับ 3,300 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปีเลยทีเดียว

นอกจากนี้ ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า ปัจจุบันคนไทยสร้างขยะโดยเฉลี่ยประมาณ 1.14 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน เกิดเป็นขยะมูลฝอยราว 27 ล้านตันต่อปี ในจำนวนนี้เป็นขยะอาหารมากถึง 64%  ทั้งยังพบว่าในช่วง Work From Home ขยะพลาสติกจากอาหารเดลิเวอรีพุ่งสูงขึ้นถึง 15% มีทั้งกล่องอาหาร ช้อนส้อมพลาสติก แก้ว หลอด

ทว่า ‘กลุ่ม Chula Zero Waste’ ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยนิสิตและคณาจารย์ที่สนใจเรื่องนี้ มีเป้าหมายสู่การรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ได้เสนอว่า “การลดขยะตั้งแต่ต้นทาง” ทั้งระยะสั้นและระยะยาวเป็นทางเลือกในการแก้ปัญหาที่น่าสนใจ และธุรกิจเดลิเวอรีในหลายประเทศทั่วโลกต่างก็มีวิธีแก้ปัญหาขยะพลาสติก อาทิ

  • Reduce: สิงคโปร์ Grab, Food Panda และ Deliveroo หากลูกค้าเลือกไม่รับช้อนส้อมพลาสติกและมีโค้ดส่วนลดให้ ทำให้ลดการใช้พลาสติกได้ถึง 1 ล้านชิ้น / สัปดาห์
  • Replace: อังกฤษ Deliveroo จัดหาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมขายให้ร้านค้าพาร์ตเนอร์ในราคาถูก
  • Reuse: นิวยอร์ก Deliver Zero ใช้กล่องบรรจุอาหาร และให้ลูกค้านัดพนักงานมารับกล่องคืนในภายหลังหรือคืนในการสั่งครั้งถัดไปได้ โดยเสียเพียงค่ามัดจำ 2 USD ต่อชิ้น

ขณะที่ในประเทศไทยเองก็เริ่มมีผู้ประกอบการที่แก้ปัญหาขยะพลาสติกจากเดลิเวอรี เช่น บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด เจ้าของแบรนด์ บาร์บีคิวพลาซ่า เรดซัน จุ่มแซบฮัท ฯลฯ ใช้วิธี replace ด้วยการร่วมมือกับ Duni ผลิตบรรจุภัณฑ์ชานอ้อยสำหรับบรรจุอาหาร และร่วมมือกับ TPBI ที่ทำโครงการวน ( Won ) ผลิตถุงพลาสติกรีไซเคิลที่มีความหนามากกว่าถุงพลาสติกทั่วไป 5 เท่ามาใช้ในการส่งอาหาร และหวังให้ลูกค้านำถุงกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงแพลตฟอร์มเดลิเวอรีบ้างก็ใช้วิธี reuse ด้วยการบรรจุอาหารในภาชนะที่ใช้ซ้ำได้และทำระบบรับคืนภาชนะ เช่น GREEN IM และ Indy Dish เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายวิธีที่ได้ถูกยกขึ้นมา เช่น การกินอาหารให้ถูกหลักและการวางแผนการบริโภคอย่างถูกต้องก็สามารถช่วยโลกได้ วางแผนการกินให้ดี กินเท่าไหร่ก็ตักเท่าที่กิน ไม่กักตุนจนทำให้เกิดของเสียเกินความจำเป็น เลือกบริโภคอาหารที่ได้รับการรับรองฉลาก Carbon Footprint ลดการกินบุฟเฟ่ต์เพราะแต่ละมื้อทำให้เกิดอาหารขยะมากกว่ามื้ออาหารปกติ หรือแยกขยะและจัดการกับขยะอาหารโดยการนำไปรวมกับขยะมูลฝอยทำไปเป็นปุ๋ยใช้กับต้นไม้ที่ปลูกในรั้วบ้านหรือในสวน ฯลฯ

ทั้งหมดเหล่านี้ถือเป็นการเริ่มต้นที่น่าสนใจมาก หากทั้งเจ้าของแพลตฟอร์มเดลิเวอรี เจ้าของร้านอาหาร เครื่องดื่ม และผู้บริโภค รวมพลังเพื่อช่วยกันผลักดันอย่างจริงจังและจริงใจและถือปฏิบัติกันในระยะยาว จะได้ช่วยทั้งสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราและร่วมรักษ์โลกใบนี้ไปด้วยกัน

อ้างอิง
https://www.nytimes.com/
https://news.thaipbs.or.th
กลุ่ม Chula Zero Waste

Tags: