About
BALANCE

The Wholesome Living

‘EKM6’ แพลนต์เบสคอมมูนิตีแรกของไทย ธุรกิจที่กำไรยังไม่เท่ากลัวเสียใจถ้าไม่ได้ทำ!

เรื่อง Nid Peacock ภาพ ฉัตรชัย มาตยภูธร Date 27-05-2024 | View 1565
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • แพม – เปรมมิกา ศรีชวาลา นักธุรกิจที่กล้านำที่ดินย่านเอกมัยมาสานฝันแพสชั่น สร้าง EMK6 คอมมูนิตีให้สาวกแพลนต์เบสได้ชิม ช้อป ชิลล์ แม้รู้ดีว่าผลตอบแทนเทียบไม่ได้กับคอนโดหรู แต่ยังมุ่งมั่นเดินหน้าต่อ เพราะไม่อยากให้ตัวเองต้องกลับมาเสียใจที่มีโอกาสแล้วแต่ไม่ทำ

ใครจะคิดว่าไอศกรีมโฮมเมดที่ปราศจากทั้งน้ำตาล นม และกลูเตนที่หัดทำให้ลูกกิน จะจุดประกายให้แพม- เปรมมิกา ศรีชวาลา นึกอยากสร้างคอมมูนิตีเล็กๆ เป็นพื้นที่ให้คนได้เปิดใจลองและรู้จักกับแพลนต์เบส (Plant-based) มากขึ้น

จับพลัดจับผลูจนกลายมาเป็น EKM6 อย่างที่เห็นกัน

ที่นี่ครบครันทั้งร้านอาหาร ร้านชำ ฟิตเนส สตูดิโอโยคะ ร้านนวด ซาลอน ร้านทำเล็บ โรงเรียนสอนศิลปะ กระทั่งคลินิกปรับรูปหน้าสไตล์เกาหลี แถมยังมีแบ็กยาร์ดเป็นโอเอซิสกลางเมืองไว้ให้นั่งกินลมชมวิวกับสัตว์เลี้ยงแสนรักอีกด้วย ที่สำคัญทั้งหมดอยู่ภายใต้แนวคิดเดียวกัน นั่นคือความรักษ์โลกอย่างยั่งยืน

แต่กว่าจะถึงวันนี้ อุปสรรคก็ดาหน้ามาต้อนรับแพมตั้งแต่แรกเริ่มเลยทีเดียวโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเป็นลูกสาวที่เติบโตในครอบครัวนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่กลับเลือกนำที่ดินย่านเอกมัย ทำเลทองของที่พักอาศัยระดับไฮเอนด์ของคนเมือง มาสร้างแพลนต์เบสต์คอมมูนิตีที่ไม่อาจเทียบผลตอบแทนกันได้เลย

“ถ้าไม่ได้ทำ อีก 5 ปี 10 ปี แพมจะเสียใจแน่นอน” เธอว่าอย่างนั้น

Plant-based

รวมกัน ‘แพลนต์เบส’ อยู่

“แพมหันมาสนใจอาหารแพลนต์เบส หรืออาหารที่ได้จากพืชผักที่ไม่มีเนื้อสัตว์หรือส่วนผสมจากสัตว์เลย เพราะอยากทำขนมที่ลูกเรากินได้ ลูกชาย 2 คน คนโตแพ้นมแบบแอบแฝง จะหูอักเสบบ่อย สังเกตว่าถ้าช่วงไหนลูกไม่ได้กินนมหรือชีส อาการจะหายไป ส่วนคนเล็กแพ้นมแบบกินแล้วผื่นขึ้นเลย”

วันหนึ่งเมื่อลูกคนโตนึกอยากกินไอศกรีม Magnum ขึ้นมา แม่จำต้องใจแข็งให้ลูกกินไม่ได้ เป็นเหตุให้แพมต้องหัดทำไอศกรีมที่ไม่ใช้นมและไม่มีกลูเตน โดยพยายามให้รสชาติใกล้เคียงที่สุด

“ลูกชมว่าอร่อยมากแถมเชียร์ให้ทำขายด้วย” แพมเล่าพลางนึกขำลูกชาย “ถ้าทำขายจริง เราใช้วัตถุดิบพรีเมียม ราคาคงต้องแรงกว่าไอศกรีมทั่วไปแน่ แล้วใครจะซื้อล่ะ” แม้ใจจะคิดอย่างนั้น แต่ก็ทำไปแจกให้เพื่อนๆ ลูกได้ชิมด้วย ปรากฏว่าทุกคนชมเป็นเสียงเดียวกันว่าอร่อยจริง เสียงเชียร์เพิ่ม กำลังใจล้นหลาม แพมเลยขอลองดูสักตั้ง แต่กว่าจะได้ทำขายจริงก็ใช้เวลาอีก 7-8 เดือน เพื่อศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมและปรับสูตรให้ลงตัวมากขึ้น

ในที่สุด ‘Beyond Pops’ แบรนด์ไอศกรีมแพลนต์เบสของแพมได้ออกบูธขายตามอีเวนต์สายเฮลท์ตี รสชาติความอร่อยบอกกันปากต่อปาก ทำเอาคนที่ไม่ใช่สายแพลนต์เบสยังอยากชิม เพราะอยากรู้ว่าไอศกรีมแพลนต์เบสที่ร่ำลือกันว่าอร่อยจะรสชาติเป็นยังไง

นั่นจุดประกายไอเดียให้แพมอยากสร้างสถานที่ที่เปิดโอกาสให้ทั้งผู้ประกอบการรายเล็กๆ ได้มีพื้นที่ปล่อยของ และผู้บริโภคได้มีแหล่งรวมสินค้าและบริการเพื่อสุขภาพให้ได้มาเปิดใจเรียนรู้ ได้ลองชิมอาหาร ช้อปสินค้าสุขภาพ และใช้เวลากับธรรมชาติได้ทุกวัน โดยไม่ต้องรองานอีเวนต์ที่มีชั่วครั้งคราว และแม้จะเป็น

ที่สำคัญในมุมมองของแพมที่เป็นทั้งนักธุรกิจและผู้ประกอบการ เธอเชื่อมั่นว่า การอยู่รวมกัน ได้มีหน้าร้านของตัวเอง ได้จัดอีเวนต์ในพื้นที่เดียวกัน จะทำให้สังคมแพลนต์เบสมีพลังมากขึ้น และได้ส่งต่อแรงสนับสนุนไปให้ผู้ประกอบการรายเล็กๆ คนอื่นๆ อีกด้วย

Plant-based

แพสชั่นนำ…ธุรกิจตาม

เดิมทีที่ดินผืนนี้สามีของแพมตั้งใจขอเช่าเพื่อสร้างเซอร์วิสอะพาร์ตเมนต์ แต่เจ้าของไม่อยากให้มีตึกสูงอยู่ข้างๆ เมื่อแพมทราบจึงขอลองแชร์ไอเดียโปรเจกต์แพลนต์เบสต์คอมมูนิตีกับเจ้าของที่ดิน เขาสนใจและเห็นว่ามีประโยชน์ต่อสังคม เลยเซย์เยส EMK6 จึงได้เริ่มต้นขึ้น

ก่อนจะให้เธอเล่าต่อ เราสงสัยและอดอยากรู้ไม่ได้ว่า ทำไมเธอถึงกล้านำที่ดินที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้มากกว่ามาลงทุนกับโปรเจกต์นี้ เลยถามเธอไปตรงๆ

Plant-based

“แพมรู้ว่า โปรเจกต์นี้ผลตอบแทนที่จะได้กลับมาไม่คุ้มกับที่ลงทุนไปหรอก เพราะเป็นธุรกิจที่ไม่ได้สร้างผลกำไรมากมาย แต่แพมไม่ได้คิดในฐานะนักธุรกิจแต่ใช้ความรู้สึกของคนขายไอศกรีมมากกว่าว่า เราเป็นผู้ประกอบการรายเล็ก ถ้ามีใครมาซัปพอร์ตก็คงจะดีนะ สามียังแซวว่า เขาเป็นสายธุรกิจ ส่วนแพมเป็นสายแพสชั่น (ยิ้ม) ตอนทำไอศกรีมขาย เขาเห็นแพมจริงจังแต่สนุกและมีความสุข เขาก็พร้อมสนับสนุน

“โปรเจกต์นี้ แพมไม่ได้มองว่า ลงทุนแล้วต้องได้กำไรกลับมาเท่านั้นเท่านี้ แต่ลงทุนแล้วต้องอยู่ได้ ต้องไม่ขาดทุน เพื่อให้ธุรกิจไปต่อได้ แต่ถ้าจะคิดร่ำรวยจากธุรกิจนี้ บอกเลยว่านี่ไม่ใช่เหตุผลหลักที่แพมมาทำ โลกเรากำลังจะเปลี่ยนไป ผู้คนหันมากินแพลนต์เบสมากขึ้น อยากให้มาที่นี่แล้วได้ทำความรู้จักแพลนต์เบสในด้านต่างๆ”

Plant-based

แม้คอนเซปต์จะชัดเจนว่าเป็นแพลนต์เบสต์คอมมูนิตี แต่กลุ่มลูกค้าที่แพมวางไว้กว้างกว่านั้น เพราะต้อนรับทุกคน ไม่ได้จำกัดเฉพาะชาวแพลนต์เบสต์หรือชาววีแกน

“ในฐานะนักลงทุนกับเงินทุนก้อนหนึ่ง แพมรู้ว่าเอาไปทำอย่างอื่น ได้ผลตอบแทนเยอะกว่านี้แน่นอน แต่แพมรู้สึกว่า ถ้าไม่ได้ทำโปรเจกต์นี้ อีก 5 ปี 10 ปี แพมจะเสียใจ” เราเห็นถึงความมุ่งมั่นในแววตาของเธอที่มาพร้อมกับรอยยิ้มที่ยืนยันความสุขจากการตัดสินใจของตัวเอง

บททดสอบจากโควิด-19

ลืมบอกไปว่า โปรเจกต์ EKM6 นี้ออกสตาร์ตช่วงต้นปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงที่สถานการณ์โรคโควิด-19 กำลังแพร่ระบาด แพมเผชิญปัญหาและอุปสรรคใดบ้างในช่วงนั้น

“ทีแรกคิดกันว่าโควิดคงจะอยู่ช่วงหนึ่ง เดี๋ยวทุกอย่างคงจะดีขึ้น แต่อย่างที่รู้ว่าโควิดอยู่ยาวกว่าที่คิดไว้มาก ตอนนั้นโครงสร้างออกแบบเสร็จแล้ว เงินทุนส่วนหนึ่งสามีเตรียมไว้ให้แล้ว อีกส่วนตั้งใจกู้แบงก์ แต่เพราะโควิดทำให้แบงก์ไม่ปล่อยกู้

Plant-based

“เราพร้อมก่อสร้างมาแล้ว 6 เดือนแต่ความที่ไม่มีเงินก้อนใหญ่มาเติม เพราะแบงก์ไม่ปล่อยกู้ และนักลงทุนที่อยู่ต่างประเทศก็ได้รับผลกระทบจากโควิดเหมือนกัน ต่อให้พื้นที่ชั้นบนมีผู้เช่าจองเต็มหมดแล้ว แต่ก็เพราะโควิด ทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไป ผู้เช่าค่อยๆ ถอนตัว หายไปทีละเจ้าสองเจ้า ในขณะที่ค่าใช้จ่ายต่างๆ ยังเข้ามาตลอด เลยต้องเอาเงินทุนที่มีมาหมุนจ่ายไปก่อน”

ไม่ว่าสถานการณ์การเงินจะตึงเครียดเพียงใด แพมยังยึดมั่นและชัดเจนในคอนเซปต์ โดยเฉพาะการคัดเลือก Vendor ที่มาเช่าพื้นที่

Plant-based

“แพมชัดเจนว่า ที่นี่จะไม่มีร้านที่ให้บริการเหมือนกันซ้ำกัน ไม่ว่าจะในช่วงที่เราเปิดตัวใหม่ๆ ยังไม่มีใครรู้จัก หรือในวันที่เรามีพื้นที่ให้เช่าว่างอยู่ ถ้าคนที่มาหาเราแต่ไม่ตรงกับกฎเกณฑ์ที่ตั้งไว้ แพมจะปฏิเสธ แม้เป็นรายได้ที่ค่อนข้างเยอะและจำเป็นมากในสถานการณ์ตอนนั้น”

สถานการณ์ที่ดูเหมือนจะเจอทางตันทุกทาง ทำให้แพมเกือบจะถอดใจ และคิดจะพับโปรเจกต์นี้ไป แต่ได้สามีคอยให้กำลังใจและให้ความเชื่อมั่น ทำให้เธอยังสู้ต่อ กระทั่งสถานการณ์ต่างๆ เริ่มคลี่คลาย มีเงินทุนกลับเข้ามา แต่การเงินยังต้องประคับประคอง เพราะยังมีแต่รายจ่ายที่รออยู่ ทำให้ EMK6 ใช้เวลากว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จนานกว่า 3 ปีเลย และเปิดเป็นทางการเมื่อ 1 มีนาคม 2023

Plant-based

Plant-based, Health Lead

“สำหรับแพม คำว่าแพลนต์เบส หลักๆ เกี่ยวกับอาหาร ทุกร้านอยู่บนเงื่อนไขเดียวกัน คือ ต้องเป็นอาหารที่ทำจากพืชเท่านั้น และไม่ใช้วัตถุกันเสีย น้ำมันปาล์ม สารกันบูด เป็นข้อกำหนดที่ระบุในสัญญาชัดเจน ถ้าผู้เช่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไร ต้องแจ้งอัปเดตให้เราทราบด้วย แพมอยากให้คนที่มากินอาหารที่นี่มั่นใจได้ว่าเราเป็นแพลนต์เบสที่เฮลท์ตี เพราะคัดสรรเจ้าที่ใส่ใจในคุณภาพวัตถุดิบ ส่วนหนึ่งแพมเคยเจอและรู้จักตอนออกอีเวนต์ด้วยกัน มั่นใจแล้วถึงชวนมาเช่าพื้นที่”

นอกจากนี้ แพมยังรับหน้าที่ดูแลร้านและคัดสินค้าที่วางขายใน Plenti ร้านขายของชำของเธอเองด้วย

Plant-based

Plant-based

Plant-based

Plant-based

Plant-based

“ความเป็นแม่ เราเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูกเสมอ และเราก็คัดสินค้าทุกอย่างเหมือนที่เลือกให้ลูก พูดได้เต็มปากว่า ขนมทุกอย่างในนี้ ลูกเรากินได้หมด เป็นขนมที่กินแล้วไม่รู้สึกผิด ส่วนพาสตาก็ใช้ถั่วเลนทิลแทนแป้ง มีเนื้อเทียมจากสมุย นอกจากรสชาติสุดยอดแล้ว ยังเป็นเจ้าเดียวที่ไม่ใส่สารกันบูด และทำโดยใช้การหมัก กินแล้วย่อยได้ดีขึ้นด้วย แล้วก็มีชีสโฮมเมดจากเกาะพะงัน เป็นต้น แพมสนุกกับการเดินตามตลาดสุขภาพ ส่องโซเชียล เจออันไหนน่าสนใจก็จะลองเทสต์ก่อน ถ้าโอเคถึงจะติดต่อมาวางขาย”

Plant-based

Plant-based

ว่าแล้ว เราขอให้แพมเลือกสินค้า 10 อย่างในร้าน Plenti ที่อยากแนะนำให้ได้ลองกัน มีตั้งแต่ 1) ขนมที่ทำจากกล้วยแผ่นบางเฉียบ ให้เทกซ์เจอร์มันฝรั่งทอดเด๊ะๆ 2) ขนมรสวาซาบิที่กินแล้วช่วยให้ขับถ่ายดี เพราะมีไฟเบอร์สูง 3) โอเวอร์ไนต์โอ๊ตที่ช่วยให้คน (อยาก) รักสุขภาพสะดวกสบายมากขึ้น เพราะแค่เทนมใส่แล้วแช่ตู้เย็นสัก 2 ชั่วโมงก็พร้อมกินแล้ว 4) ใครกินผักไม่เก่ง นี่คือเคลทอดที่กินเป็นขนมหลังมื้ออาหาร ช่วยให้อิ่มนาน 5)ไวท์แคร็กเกอร์ทำจากอัลมอนด์กินกับดิปตามชอบ 6) ส่วนใครที่อยากมีขนมให้เจ้าตัวเล็กที่บ้าน นี่คือขนมสำหรับเด็กตั้งแต่ขวบหนึ่งขึ้นไปที่ปราศจากอาหารกลุ่มเสี่ยงที่กินแล้วแพ้ 8 ชนิดหลักๆ 7) น้ำเห็ดหัวลิงสกัดจากชุมชนชาวน่าน สรรพคุณบำรุงสมอง ดื่มง่าย 8) น้ำช่อดอกมะพร้าวจากสมุทรสงครามที่ยกนิ้วให้ความสะอาด 9) ชีสวีแกน ที่กินแล้วแยกไม่ออกว่าต่างกับชีสจริงยังไง 10) ช็อกโกแลตวีแกน ปราศจากอาหารกลุ่มเสี่ยงที่กินแล้วแพ้ 8 ชนิด และเป็นแบรนด์ที่ผลิตอาหารวีแกนเท่านั้น

Plant-based

“หลายคนเข้าใจว่าอาหารสุขภาพต้องราคาแพง เลยคิดว่าของในร้านเราแพง แพมจะคำนึงถึงเรื่องราคามากในการเลือกของเข้าร้าน อยากให้ดูว่าราคานี้ ได้อะไรกลับไป เราไม่ได้จ่ายค่าแบรนด์แต่เป็นราคาวัตถุดิบที่ผู้ผลิตใช้ ความที่เราเป็นรายเล็ก เลยไม่ค่อยได้โอกาสในการขายจากแบรนด์เท่ากับรายใหญ่ ทั้งที่บางอย่างเราซื้อขาด ถ้าโชคดีเจอแบรนด์ที่เข้าใจ เขาก็จะดูราคาที่ทำให้เราเอามาขายต่อได้ แต่บางครั้งด้วยคุณภาพวัตถุดิบ ทำให้เราขายราคาเดียวกับห้างใหญ่ไม่ได้จริงๆ ลูกค้าที่ไม่เข้าใจจุดนี้ก็จะคิดว่าเราขายแพง แต่อยากให้ดูว่าเราคัดสรรอะไรมานำเสนอมากกว่า เราเลือกของมาให้แล้ว สามารถเลือกหยิบได้ทุกอย่างโดยไม่ต้องกังวลคุณภาพเลย สะดวกสบายมากๆ”

Plant-based

ขวบปีของการเติบโตไปด้วยกัน

“ปีที่ผ่านมารู้สึกว่าตัวเองโตขึ้นเยอะมาก เป็นการออกมาทำธุรกิจเองเต็มตัว เมื่อก่อนเหมือนอยู่ในเซฟโซนที่มีบารมีคุณพ่อคุณแม่ปกป้องเราอยู่ แต่ครั้งนี้ต้องยืนด้วยขาตัวเองให้ได้ อาจมีสามีคอยพยุงบ้าง แต่ถ้าถึงเวลาต้องตัดสินใจ เราต้องจัดการให้ได้”

เราขอให้แพมยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่ได้เรียนรู้ในการบริหารจัดการ EMK6 เธอไม่ใช้เวลานึกนาน ก่อนเล่าว่า
“แพมให้เวลาตัวเอง 3 เดือนในการรอร้านอาหารมาเช่าพื้นที่ เพราะอยากให้ที่นี่เป็นศูนย์รวมอาหารแพลนต์เบส เลยกันพื้นที่ไว้เป็นร้านอาหาร 4-5 ร้าน แต่เข้าเดือนที่ 4 แล้ว ก็ยังไม่เต็ม แพมต้อง Let go ก็ต้องทำใจ บอกตัวเองว่าถ้ามีใครมาเช่าเปิดโยคะ แพมจะให้ …” เธอทอดจังหวะการเล่าเล็กน้อย ทำเอาคนฟังอย่างเราเผลอกลั้นหายใจลุ้นโดยไม่รู้ตัว

Plant-based

Plant-based

Plant-based

“พอเปิดใจปุ๊บ รุ่งขึ้นมีน้องเดินเข้ามาถามหาพื้นที่สอนโยคะ แพมตัดสินใจให้พื้นที่ด้านหน้าที่ลงทุนไปประมาณ 5 แสนเพื่อวางระบบเตรียมไว้สำหรับร้านอาหาร ต้องรื้อออกหมดเพื่อให้เขาเช่าเป็นสตูดิโอโยคะกับฟิตเนส มันถึงจุดที่ต้องเรียนรู้ว่าการทำบิสซิเนส ต้องยอมตัดก่อนจะเสียหายไปมากกว่านี้ แพมถือว่า If it is meant to be, it will be. ที่นี่เป็นเหมือนโรงเรียนที่แพมต้องเรียนรู้ทุกวัน แม้บางทีจะไม่ได้อยากเรียนเลยนะ (หัวเราะ)

“การไม่กล้าเผชิญหน้ากับปัญหา แล้วเลี่ยงหลบไปเรื่อยๆ เราก็เรียนรู้กับสิ่งเดิมๆ บางอย่างอาจจะยากหรือฝืนความเป็นตัวเอง แต่เมื่อจำเป็นต้องทำก็ต้องทำ” แพมเล่าถึงเรื่องที่เธอเคยไม่กล้าเผชิญ “การปล่อยใครไป เป็นเรื่องลำบากใจมาก เพราะเข้าใจเขามากเกินไปว่าเขาจะเดือดร้อน เพราะต้องดูแลครอบครัว แต่เมื่อมาถึงจุดที่เตือนสติเราว่า นี่คือการทำธุรกิจ ถ้ามัวหาเลี้ยงเขา ธุรกิจจะไปต่อไม่ได้ สุดท้ายแม้จะฝืนใจแค่ไหนก็ต้องทำ ดูเหมือนจะเก่ง แต่ที่ทำก็คือออกจากบริษัทหนึ่งมาอยู่อีกบริษัทหนึ่ง (หัวเราะ)”

Plant-based

Plant-based

อีกบทเรียนหนึ่งที่ตามมา คือ การเป็นหัวหน้าต้องมอบหมายงานให้เหมาะสมกับความสามารถของลูกน้อง Put the right man to the right job. “บางคนอาจไม่เหมาะกับหน้าที่นั้น แม้จะรักและอยากทำแค่ไหนก็ตาม เราต้องเด็ดขาด แพมมองเป็นเรื่องที่เราต้องชาเลนจ์ตัวเอง การทำงานจึงเป็นการเติบโตไปด้วยกันกับพนักงานและ EKM6”

Plant-based

คำถามสุดท้ายเป็นอีกครั้งที่เราขอถามตรงๆ ถึงผลที่ได้รับกลับมาจากการทำ EMK6 ที่แพมยอมแลกกับผลตอบแทนก้อนโต แพมส่งยิ้มหวานอย่างเข้าใจดีในสิ่งที่เราอยากรู้

“ความสุขที่สุดของการเปิดที่นี่ คือ การมีคนเดินเข้ามาขอบคุณ เขาบอกว่าที่นี่เป็น Great Energy บางคนขอบคุณที่แพมสร้างที่นี่ขึ้นมา ให้เขาได้พาน้องหมามาด้วย ร้านอาหารไม่เพียงอนุญาตให้พาหมาเข้าไปด้วย แต่ยังบริการเสิร์ฟน้ำให้เจ้าตูบด้วย บรรยากาศของที่นี่ส่วนใหญ่จะเงียบสงบ ไม่วุ่นวาย ถ้าวันไหนมีอีเวนต์ก็จะคึกคักครึกครื้นขึ้นมา แต่กลับเป็นว่า หลายคนอยากจะมาในวันที่มีอีเวนต์ เพราะอยากเห็นบรรยากาศที่ต่างจากวันอื่นๆ

“แม้ธุรกิจเพิ่งเริ่มมาได้ปีเดียว แต่ก็มีคนเห็นถึงความสำเร็จ จึงชวนแพมไปสร้างสาขา 2 บนพื้นที่ของเขา ก็ดีใจที่เขาสนใจและเห็นประโยชน์ในสิ่งที่เราตั้งใจทำ แต่คงต้องรอให้ที่นี่ลงตัวและมั่นคงกว่านี้อีกสักหน่อย”

EKM6 : Plant-based Community Space
มี 2 ความหมาย อันแรกจะนึกถึง เอกมัย ก็ได้ ส่วนความหมายที่ 2 มาจากคำว่า Every Kind Moment เป็นสถานที่ที่อยากเป็นพื้นที่ให้คนรักสุขภาพได้มาสัมผัสประสบการณ์ดีๆ ในด้านต่างๆ แล้วได้รับความรู้สึกดีๆ กลับไป
ที่ตั้ง : 26 ซ.เอกมัย 6 พระโขนงเหนือ วัฒนา กรุงเทพฯ
เวลาบริการ : เปิดทุกวัน ตั้งแต่ 10.00-18.00 น.
โทร. : 091-566-2936
FB : EKM6

Tags: