About
RESOUND

ทางรอดปางช้างไทย

ทางออกของปางช้างไทยท่ามกลางวิกฤต COVID-19 ในมุมมองของ น.สพ. วรุตม์ วงศ์กาฬสินธุ์

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ปางช้างในเมืองไทยหลังเกิด COVID-19 เข้าสู่สภาพเงียบเหงา ไร้เงานักท่องเที่ยว ปางช้างหลายแห่งถูกปิดตัว โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่เหลือเพียงไม่ถึง 10% ที่ยังเปิดอยู่
  • การจัดการสวัสดิภาพช้างตามหลักอิสรภาพสากลหรือ Animal Welfare ประกอบด้วยหลัก 3R และ 5F เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตช้างให้ดีขึ้น และยังช่วยสนับสนุนธุรกิจท่องเที่ยวปางช้างอย่างยั่งยืน เนื่องจากนักท่องเที่ยวยุคใหม่ นิยมทำกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์กับช้างโดยไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน
  • ธุรกิจปางช้างไทยจะอยู่รอดจากวิกฤต COVID-19 ได้นั้น ควรประกอบด้วย Animal Welfare ที่ได้รับความร่วมมือจากเจ้าของปางช้าง ควาญช้าง และนักท่องเที่ยว ตลอดจนการนำเอาหลักเศรษฐกิจพอเพียงตามทฤษฎีของ ร.9 มาใช้

ในวันที่ปางช้างเงียบเหงา ไร้เงานักท่องเที่ยวจากวิกฤต COVID-19 ปางช้างหลายแห่งจำเป็นต้องปิดตัวลง ช้างส่วนหนึ่งต้องเดินเท้ากลับบ้านพร้อมควาญ หากจะมีเครื่องมือใดที่สามารถวัดความในใจของช้างได้ในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้ ความรู้สึกลึกๆ ของพวกเขาคงจะหวั่นวิตกกับชะตากรรมของตัวเอง ไม่ต่างจากคนตกงาน ที่ต้องขาดรายได้

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ธุรกิจปางช้างจะอยู่รอดได้อย่างไรหลังจากนี้ ชวนมาคุยกับ น.สพ.วรุตม์ วงศ์กาฬสินธุ์ คุณหมอรักษาช้าง คีย์แมนคนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการนำเอา Animal Welfare หรือการจัดการสวัสดิภาพสัตว์ตามหลักอิสรภาพสากล เข้ามาใช้กับปางช้างในเครือของ Elephant Jungle Sanctuary ซึ่งมีปางช้างทั้งหมด 12 แห่งทั่วประเทศ เพื่อปรับเปลี่ยนคุณภาพชีวิตช้างไทยให้ดีขึ้น โดยไม่ฝืนธรรมชาติของพวกเขา ทั้งยังสอดคล้องกับวิถีท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่หันมาใส่ใจเรื่องความสุขและอยากทำกิจกรรมร่วมกับช้างอย่างไม่เบียดเบียน

ปางช้างแม่วาง เชียงใหม่จุดเริ่มต้นของปางช้างไทยสู่การทำ Animal Welfare

“ตอนนี้เชียงใหม่เหลือปางช้างที่เปิดอยู่ประมาณ 10-15 ที่ จากเดิมที่มีอยู่เกือบ 100 ปาง หรืออาจเหลือไม่ถึง 10% เท่านั้น” หมออัน-น.สพ.วรุตม์ เล่าถึงพิษสงของไวรัสร้ายโคโรนา ที่ทำให้คนรักช้างรู้สึกใจหายและอดเสียดายไม่ได้ ถึงแม้ว่าช่วงก่อน COVID-19 ธุรกิจปางช้าง จะยังมีนักท่องเที่ยวอยู่บ้าง แต่ด้วยรูปแบบการท่องเที่ยวปางช้างที่เปลี่ยนไปของชาวต่างชาติ ทำให้ปางช้างไทยต้องปรับตัวตามเพื่อความอยู่รอด

“เมื่อ 4-5 ปีก่อน นักท่องเที่ยวยุโรปส่วนใหญ่แบนปางช้างที่มีการโชว์ขี่ช้าง การแสดงช้าง และการใช้โซ่และตะขอในการบังคับช้าง ทำให้ปางช้างในเมืองไทยก่อนที่จะเกิด COVID-19 เริ่มปรับตัวเป็นกิจกรรมที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่างช้างกับนักท่องเที่ยวแทนการโชว์ความสามารถพิเศษ ส่วนการนั่งแหย่งบนหลังช้าง การขี่ช้างและการอาบน้ำช้าง อาจยังมีบ้างในปางช้างบางแห่ง เพราะนักท่องเที่ยวจีนเกือบ 100% ยังคงชื่นชอบกิจกรรมนั่งแหย่งบนหลังช้าง (Trekking) และการแสดงโชว์ของช้างอยู่

“ก่อนที่จะเกิดการระบาดของ COVID-19 สัดส่วนของนักท่องเที่ยวเอเชียกับยุโรปรวมกับอเมริกา เท่ากับ 60 : 40 โดย 40% เป็นยุโรปรวมกับอเมริกา นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้นิยมทำกิจกรรมอาบน้ำ (Bathing) และเล่นโคลน (Mudding) กับช้าง ซึ่งเน้นมาให้ความสำคัญด้าน Animal Welfare เพราะเขาเข้าใจว่ามันดีต่อตัวช้างมากกว่า”

หมออัน หมอประจำมูลนิธิ The Care Project Foundation

หมออันเป็นสัตวแพทย์ที่ตั้งใจอยากรักษาสัตว์ป่า หลังจากเรียนจบจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ทำงานที่มูลนิธิช้างแห่งประเทศไทยเป็นเวลา 5 ปี ก่อนจะไปเป็นอาจารย์ประจำที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อีก 13 ปี ปัจจุบันได้ลาออกจากงานประจำ ออกมาเป็นหมอช้างประจำมูลนิธิช้างปันน้ำใจสู่ชาวดอยหรือ The Care Project Foundation ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2019 โดยคุณปทิตตา ไตรเวทย์ ทายาทเจ้าของปางช้างในเครือของ Elephant Jungle Sanctuary ที่มีสาขาในอำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่, อำเภอกระทู้ จังหวัดภูเก็ต, เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี และเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี

หลักสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) สร้างคุณภาพชีวิตใหม่ให้กับช้างเลี้ยงในแหล่งท่องเที่ยว

ช้างเป็นสัตว์ที่มีความน่ารัก ฉลาดแสนรู้ สามารถรับรู้และไวต่อความรู้สึกของมนุษย์ได้อย่างน่าอัศจรรย์ ความพิเศษของช้างที่ไม่เหมือนกับสัตว์อื่นใดในโลก ถูกนำมาฝึกเพื่อแสดงโชว์ช้างในรูปแบบต่างๆ ซึ่งบางอย่างเป็นการฝืนต่อพฤติกรรมธรรมชาติของช้าง เช่น ให้เดินไต่บนแผ่นไม้หรือถังเหล็ก ทั้งๆ ที่ช้างมีน้ำหนักตัวมาก หรือต้องบรรทุกแหย่งไว้บนหลังเพื่อให้คนนั่ง และหากไม่เชื่อฟังคำสั่งของควาญ ก็อาจถูกลงโทษด้วยการใช้ตะขอสับ เคาะ แทง หรือตีให้เจ็บ

โรงเรือนช้าง

การจัดการสวัสดิภาพของสัตว์ตามหลักอิสรภาพสากล หรือ Animal Welfare จึงถูกนำมาใช้เป็นหลักปฏิบัติต่อสัตว์ เพื่อให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ ประกอบด้วยหลัก 3Rs กับ 5 Freedoms 3Rs หมายถึง Reduction, Refinement และ Replacement ส่วน 5 Freedoms หมายถึง การมีอิสระจากความหิวกระหาย อิสระจากความไม่สบายกาย อิสระจากความเจ็บปวดและโรคภัย มีอิสระจากความกลัว และมีอิสระในการแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ

ช้างกินกล้วย

“ปัจจุบันปางช้างในเครือ Elephant Jungle Sanctuary ใช้หลักการ Animal Welfare ในการจัดการปางช้างทั้งหมด ช้างทุกเชือกจะได้กินอาหารอย่างเต็มที่และไม่จำกัด เรามีโรงเก็บอาหารสำหรับช้างและมีแหล่งอาหารตามธรรมชาติที่ปลูกเพื่อให้ช้างเดินไปกินได้ตลอด หากต้องผูกโซ่ ล่ามช้างในลานโล่ง ก็จะต้องมีความยาวโซ่ 20-30 เมตร เพื่อให้ช้างมีพื้นที่ในการกินอาหารและเดินได้สะดวกสบาย มีส่วนโรงเรือนนอน (Housing) สำหรับช้างที่แยกออกจากโรงเรือนพักช้าง (Holding) และมีแปลงหญ้า (Backyard) สำหรับปล่อยช้างอิสระ ไม่มีการผูกล่าม (Free Roaming) มีการจัดการระบบสุขาภิบาลอาคารและโรงเรือนของช้าง จัดเก็บอุจจาระช้างและเศษอาหารออกจากที่อยู่ช้างให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันช้างจากการยืนโรงในพื้นที่สกปรก ซึ่งอาจเกิดปัญหากับเล็บและตีนช้าง รวมทั้งลดกลิ่นเหม็นรบกวน หรือเป็นแหล่งเพาะแมลงและเชื้อโรค

“นอกจากนี้ เรายังมีการขุดร่องน้ำและบ่อน้ำ ทั้งบ่อสะอาดและบ่อโคลน สำหรับให้ช้างได้เล่น (Enrichment) มีก้อนหิน เสาปูนกับเสาตะลุง ให้ช้างได้ถูตัวตามธรรมชาติ ที่สำคัญ มีช่วงเวลาทำกิจกรรมที่ชัดเจน เป็น Day Time และ Night Time มีการกำหนดช่วงเวลาการล่ามโซ่และการปล่อยอิสระ ไม่ได้ถูกล่ามโซ่เพื่อใช้งานตลอด 24 ชั่วโมง

“พอเราตั้งใจจะทำ Animal Welfare ให้เกิดในปางช้าง เริ่มต้นก็ต้องมาขอรื้อของเดิมเกือบทั้งหมด ต้องมาคุยกับเจ้าของปางช้าง เจ้าของช้างและควาญช้าง และมีการเปลี่ยนทัศนคติของทีมงานในปางช้างเกือบ 50% เพราะบางคนยังมีความเชื่อ มีทัศนคติและมีความฝังใจว่าทำปางช้างแบบเดิมๆ จะดีกว่า ซึ่งจริงๆ แล้วการเปลี่ยนเป็นปางช้างตามหลัก Animal Welfare นั้น ให้ผลในระยะยาวที่ดีกว่า

“และหลัก Animal Welfare ที่ดีนั้นก็ไม่ได้หมายถึงการดูแลแค่ช้างเท่านั้น แต่ต้องสร้างความสมดุลระหว่าง ช้างเลี้ยง นักท่องเที่ยว และควาญหรือพนักงานในบริษัท”

“เพราะถ้าหากช้างที่เราเลี้ยงมีสุขภาพกายดี มีสุขภาพจิตที่ดี ชีวิตความเป็นอยู่ของควาญช้างและพนักงานก็ดีตามไปด้วย ส่งผลไปถึงนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวก็รู้สึกดี ประทับใจ ทำให้เขาอยากที่จะเข้ามาเที่ยวและเชิญชวนให้คนรอบข้างมาเที่ยวด้วย ดังนั้น การสร้างสมดุลของผลประโยชน์ที่เกิดกับทั้งสามส่วนที่ว่ามา ต้องอาศัยหลักการจัดการสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) ควบคู่กันไปด้วย”

กิจกรรมของปางช้างที่เปลี่ยนไปในวันนี้

ด้วยโลเคชั่นของปางช้างในเครือของ Elephant Jungle Sanctuary ที่ตั้งอยู่กระจายกันไปในแต่ละจังหวัด ทำให้มีความแตกต่างกันทางด้านลักษณะของพื้นที่ ซึ่งมีความโดดเด่นไม่เหมือนกันเลยสักแห่ง จากความต่าง ถูกนำมาเป็นจุดขายเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ต้องการเที่ยวตามไลฟ์สไตล์ที่ชอบ แต่ก็ยังได้ทำกิจกรรมร่วมกับช้างได้เหมือนๆ กัน

“เราคิดว่าในเมื่อเรามีปางช้างอยู่คนละโลเคชั่น มีความแตกต่างกันของภูมิประเทศ สภาพแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ เฉพาะในเชียงใหม่ ที่มีปางช้างทั้งหมด 7 แห่ง แบ่งเป็น 3 โลเคชั่น เราจึงแบ่งเป็น 3 ธีม ที่แตกต่างกันไปเลยทั้ง 7 ปาง เช่น ปางช้างที่อยู่บนเขา รอบข้างมีแต่หุบเขา ใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ใช้แสงสว่างจากตะเกียง และไม่มีคลื่นโทรศัพท์ ก็จะเหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากจะอยู่กับธรรมชาติจริงๆ

“ในส่วนกิจกรรมหลักก็จะมีเหมือนกันทุกปาง คือ มีเป็นแบบ Half Day และ 1 Day Trip และแบบ 3 Day Trip โดยให้นักท่องเที่ยวมาอยู่กับช้าง เรียนรู้พฤติกรรมของช้าง ได้เลี้ยงและใช้ชีวิตอยู่กับช้างจริงๆ เพื่อให้เขาเข้าใจว่าธรรมชาติของช้างป่าและช้างเลี้ยงต่างกันยังไง ซึ่งเราจัดที่นอน ที่กินให้ครบ แต่จะมีหนึ่งวันที่เป็นการจัด class สำหรับ Education & Research เป็นวันที่เราให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพฤติกรรมและการเลี้ยง การดูแลช้างตามแบบวัฒนธรรมของไทยให้แก่นักท่องเที่ยว มีการแลกเปลี่ยนแนวความคิด ทัศนคติ และความเห็นเกี่ยวกับการเลี้ยงช้าง และการอธิบายถึงสิ่งที่เขาเคยตั้งคำถามว่า ทำไมเราจึงเลี้ยงช้างแบบนี้ ทำไมไม่เลี้ยงแบบนั้น และจริงๆ แล้วสิ่งที่เขาเข้าใจนั้น ถูกหรือผิดยังไง”

น.สพ. วรุตม์ วรรณการ

ความแสนรู้ของช้าง อาจทำให้หลายคนตกหลุมรัก แต่หากลองทำความรู้จักกับช้างเพิ่มอีกสักนิด อาจทำให้เข้าใจถึงจิตใจและสิ่งที่พวกเขาแสดงออกได้มากขึ้นกว่าเดิม

“ช้างเลี้ยงจะมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ เขาเรียนรู้จิตใจของคน มีการแสดงออก และตอบสนองต่อกลุ่มคนที่เจอแตกต่างกัน โดยสัมผัสแรกที่ช้างเจอคนจะมีการแสดงออกซึ่งฤติกรรมต่อคนแต่ละคนที่แตกต่างกัน เช่น ช้างบางเชือกจะดมเท้ากับเอวของคนก่อน เพราะเป็นบริเวณที่มีกลิ่นตัว (Pheromone) เรา ช้างจดจำกลิ่นต่างๆ ได้ดีมากๆ รองจากสุนัข เขาสามารถรีเช็คกลิ่นแล้วจดจำเอาไว้

“ช้างที่เคยเจอเราเมื่อ 10 ปีก่อน ถ้าเราดูแลเขาหรือเคยให้อาหาร เขาจะจำเราได้ต่อไปอีก 10-20 ปี นอกจากนี้ ในระหว่างโขลงช้างเองยังสามารถสื่อสารกันด้วยเสียงที่เราไม่ได้ยิน โดยใช้งวงแตะพื้นเพื่อสื่อสารถึงโขลงช้างอื่นๆ เรื่องแหล่งอาหาร แหล่งน้ำ ซึ่งในการศึกษาเคยบอกว่าอาจสื่อสารได้ไกลถึง 10 กิโลเมตรเลยทีเดียว”

ทางรอดที่ยั่งยืนของปางช้างไทย

ปางช้างไทยในวันนี้ แปรเปลี่ยนรูปแบบไปจากช่วงก่อนเกิด COVID-19 เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงเวลานี้ที่การท่องเที่ยวยังถูกล็อคดาวน์แค่ในประเทศ ปางช้างไทยบางแห่ง จึงต้องเปิดเป็นส่วนของร้านอาหารหรือคาเฟ่ เพื่อรองรับไลฟ์สไตล์เที่ยวแบบคนไทย ส่วนที่แข็งแกร่ง คือการรวมกลุ่มกับแหล่งท่องเที่ยวอื่นรอบๆ ปางช้าง สร้างเป็นแพ็คเกจขายในราคาเหมาจ่าย เพื่อประคับประคองธุรกิจท่องเที่ยวให้อยู่รอดไปด้วยกัน

ปางช้างแม่วาง เชียงใหม่

“หลัง COVID-19 เหมือนเราได้รีเซ็ตเป็นศูนย์ เริ่มต้นทุกอย่างใหม่เหมือนกันหมด ส่วนตัวคิดว่าปัจจัยที่จะทำปางช้างให้อยู่รอดต่อไปได้นั้น ขึ้นอยู่กับ 4 ปัจจัยหลักๆ ร่วมกัน หนึ่งคือทัศนคติ (Perspective) และ Mindset ของทีมผู้บริหารปางช้าง ที่มีการประยุกต์ ปรับเปลี่ยน ปรับปรุง หรือเปลี่ยนแปลงระบบการจัดการภายในปางช้างเหมาะสมกับภาวะการณ์ นำเอาทรัพยากรที่มีเหลืออยู่ในปางช้างมาใช้ในการดำเนินกิจการปางช้างต่อไป

“สองคือพนักงานและทีมงานในปางช้าง ที่มีความตั้งใจที่จะทำงานเพื่อปางช้างต่อและมีการปรับเปลี่ยนระบบการทำงานของตัวเองให้เหมาะสมกับสภาพปางช้าง สามคือนักท่องเที่ยว ความพร้อม ความสามารถในการเที่ยวและการใช้จ่าย และความพร้อมในการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ และข้อสุดท้ายสำคัญมากคือการสนับสนุนและการมีส่วนร่วมจากชุมชนรอบข้างปางช้าง ถ้าชุมชนได้ประโยชน์ เกิดรายได้จากการมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวปางช้าง เมื่อชุมชนมีรายได้ ขายของได้ ปางช้างก็อยู่ได้ เหมือนมันสมดุลกัน แต่ถ้าชุมชนต่อต้าน ไม่เอาปางช้าง นักท่องเที่ยวมา ไม่มีของให้ซื้อ ปางช้างก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน
น.สพ. วรุตม์ วรรณการ“นอกเหนือจากสี่ปัจจัยที่ว่าแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญกว่า COVID-19 คือ เรื่องความพอเพียงตามเกษตรทฤษฎีใหม่ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ผมคิดว่าถ้าปางช้างเราหรือชุมชนโดยรอบสามารถปลูกผัก ปลูกหญ้า ปลูกอาหารเพื่อเลี้ยงช้างได้เองโดยไม่ต้องซื้อจากภายนอก ก็จะเป็นการลดค่าใช้จ่ายด้านอาหาร มีรายจ่ายเกิดขึ้นหรือเกิดน้อยมาก เงินก็จะหมุนเวียนในชุมชนรอบๆ ปางช้าง ช้างกินอะไรเราก็ปลูกอย่างนั้นหรือคนกินอะไรก็ปลูกอย่างนั้น การจัดหาอาหารช้างก็ง่ายและมีราคาถูกลงมาก ถ้าหากมีนักท่องเที่ยวน้อยลงหรือไม่มีเลยจากผลของ COVID-19 ปางช้างและช้างก็จะยังคงอยู่ได้เพราะเราเลี้ยงช้างเองได้ ปางช้างก็จะอยู่ได้ และพอเราเลี้ยงตัวเองและช้างได้ ผลผลิตทางการเกษตรส่วนที่เหลือ ก็ยังเอาไปขาย สร้างรายได้กลับเข้าปางช้างและชุมชนได้อีกด้วย” หมออันสรุปด้วยรอยยิ้ม

Tags: