About
BUSINESS

To Wear and Share

ส่องปรากฎการณ์แชร์ตู้เสื้อผ้า ในวันที่ฟาสต์แฟชั่นกำลังเป็นตัวการสร้างขยะ

เรื่อง OST Date 02-06-2020 | View 965

เก็บเสื้อผ้ายัดใส่กระเป๋า.. แต่จะทำอย่างไร? ถ้าอากาศปลายทางชวนสั่นจับใจจนต้องหอบเสื้อกันหนาวตัวเท่าตู้เย็นไปด้วย เปลืองทั้งพื้นที่และน้ำหนักในยุคที่ต้องจ่ายค่ากิโลกรัมให้โลว์คอสต์เพื่อสัมภาระสุดที่รัก ยิ่งคนที่เพิ่งวางแผนทริปสัมผัสความเย็นครั้งแรก

ธุรกิจหัวใสในรูปแบบร้านให้เช่าเสื้อกันหนาว รวมถึงอุปกรณ์เสริม เช่น กระเป๋าเดินทางใบมหึมา เริ่มมีมาตอบโจทย์นักเดินทางมานานแล้ว แต่หากไม่อยากขนไปจากไทย ร้านต่างประเทศที่มีหน้าร้านเป็นเว็บไซต์ให้เลือกชมแล้วสั่งไว้ก่อนได้ก็มีไม่น้อย แถมมีบริการส่งตรงจ่อหน้าประตูที่พักอีกต่างหาก นอกจากสะดวกและประหยัดสำหรับการใช้สอยส่วนบุคคลแล้ว บริการแบบนี้ยังได้รับความนิยมและชื่นชมจากสายอนุรักษ์ธรรมชาติด้วยว่า กำลังทำสิ่งที่สวนกระแสกับวงการแฟชั่นในภาพรวม นั่นคือการช่วยลดปริมาณการผลิตสินค้าใหม่ๆ ขึ้นมา ด้วยการให้ผลัดกันเปิดตู้เสื้อผ้ายืมต่อกัน ดีกว่าสร้างปรากฎการณ์ซื้อ ถอด แล้วทิ้ง ที่สร้างผลกระทบมหาศาลกว่าที่คนรักแฟชั่นจะคาดถึง

แฟชั่น + ความยั่งยืน

แม้ว่าภาคการผลิตอื่นๆ จะโหมความพยายามรักษาสิ่งแวดล้อมมากมาย แต่ในทางกลับกันของอุตสาหกรรมแฟชั่น มีรายงานออกมาจาก Global Fashion Agenda and Sustainable Apparel Coalition ว่าตัวชี้วัดเป้าหมายความยั่งยืนและความพยายามในการนำสู่แผ่นปฏิบัติของบริษัทแฟชั่นต่างๆ ในปีที่ผ่าน พบว่าคะแนนรวมลดลงจาก 6 เหลือ 4 หมายความว่าผู้ผลิตเหล่านั้นกำลังปล่อยเกียร์ว่าง และเชื่องช้าต่อการรับมือในการช่วยสร้างอุตสาหกรรมเพื่อลดโลกร้อน ทั้งที่โลกแฟชั่นขึ้นชื่ออยู่แล้วในเรื่องสร้างกิจกรรมการผลิตสิ้นเปลืองมากที่สุด

ยกตัวอย่างจากอเมริกาประเทศเดียว คาดว่าวงการแฟชั่นทำให้วัสดุยาง, หนัง และส่ิงทอเป็นขยะสิ้นเปลืองคิดเป็น 9% ของวัสดุเหลือทิ้งทั้งหมดในประเทศ แม้ว่ามีผลสำรวจเช่นกันว่า ผู้บริโภคกว่า 75% ย้ำว่าความยั่งยืนเป็นความสำคัญในระดับสูงในการเลือกแบรนด์แฟชั่นที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และมีอีก 50% ที่ระบุว่าพร้อมเปลี่ยนมาอุดหนุนแบรนด์ที่มีแนวคิดแฟชั่นรักษ์โลก
แต่นักอนุรักษ์ออกเตือนแบรนด์ดังทั้งหลายว่าจะเป็นฝ่ายผลักภาระให้ผู้บริโภคสร้างสมพฤติกรรมด้านความยั่งยืนเองอย่างเดียวไม่ได้ แม้ว่าการต่อต้านแบรนด์ที่เพิกเฉยต่อเรื่องเหล่านี้จะเกิดขึ้น แต่ยังคงไม่เพียงพอต่อผลกระทบอันตรายที่รายงานวิจัยถอดสลักออกมาให้เห็น

นอกจากนั้น แบรนด์แฟชั่นที่สวมหัวใจยั่งยืนทั้งหลายก็ยังถูกมองว่ามักจะปล่อยสินค้าออกสู่ตลาดในราคาสูงเกินกว่าผู้บริโภคจะรับได้ โดยเฉพาะเป้าหมายกลุ่มเจเนอเรชั่น Z ลงไปที่ยังต้องชั่งใจว่าจะรักษ์โลกหรือซื้อกระเป๋าแบรนด์ดีกว่ากัน 

แฟชั่น + การแบ่งปัน

จะบอกว่า กำลังมีสตาร์ทอัพจำนวนไม่น้อยที่เห็นปัญหาโลกแตกข้อนี้ และเริ่มพัฒนาวงจรแฟชั่นขึ้นมาใหม่ที่โกยเอาเรื่องบริการสีเขียวมาไว้ด้วยกันทั้งระบบ แล้วหยิบยืมโมเดล “Sharing Economy” กันเองระหว่างเจ้าของสินค้าแบบ peer-to-peer ที่แอร์บีเอ็นบีบุกเบิกจนโด่งดังกับเรื่องที่พัก มาใช้กับเรื่องเสื้อผ้าบ้าง อาทิ HURR Collective จากกรุงลอนดอน วางตัวเองเป็นแพลตฟอร์มตัวกลาง ประหนึ่งเป็นตู้เสื้อผ้าที่มีประตูสองข้าง

อีกด้านหนึ่งให้ผู้ให้เช่าเอาสินค้ามาฝากไว้ ถ้าผู้เช่าเข้ามาเปิดดูแล้วถูกใจ ก็ส่งต่อให้หยิบยืมกันได้ทันทีด้วยการจ่ายแค่ 20% ของราคาสินค้าจริง โดยสตาร์ทอัพรายนี้ยังจับมือกับบริการซักอบรีดแบรนด์รักษ์สิ่งแวดล้อม Blanc และบริการส่งของด้วยจักรยานอย่าง Pedals มาส่งเสื้อผ้าให้เช่าทั่วลอนดอนด้วย

ความพิเศษของร้านเช่าเสื้อผ้ายุคดิจิทัล

คือไม่เพียงแต่มีสินค้าหลากหลายให้เลือก แต่ยังคัดสรรแบรนด์ดีไซเนอร์ และช่วยจับคู่ดูแลสไตล์ให้ลูกค้าแบบพร้อมสรรพ แก้โจทย์เรื่องความรักง่ายหน่ายเร็วของเทรนด์แฟชั่นที่เป็นตัวการโลกร้อนด้วยในตัว เมื่อเร็วๆ นี้ HURR Collective ยังก้าวไกลไปถึงการทดลองเปิดป๊อบอัพ สโตร์ ของตัวเองขึ้นมา เพื่อให้ลูกค้าลองหยิบจับเสื้อผ้าก่อนเช่าจริง แถมมีสไตล์ลิสต์ประจำการที่ร้านให้คำแนะนำการเช่าที่เหมาะสม รวมถึงการเปิดพื้นที่รณรงค์ให้คนนำเสื้อผ้าเหลือจากการใช้มาบริจาคโดยร่วมมือกับ TRAID ร้านค้าการกุศลที่นำรายได้จากเสื้อผ้ามือสองไปช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอทั่วโลก

ยิ่งไปกว่านั้นคือ ความพยายามการสร้างชุมชนคนเช่าเสื้อผ้าขึ้นมา โดยหวังว่าจะช่วยลดกระแสของฟาสต์แฟชั่น หรือการผลิตของแบรนด์ที่เน้นจำนวนมากและปรับเปลี่ยนตามเทรนด์อย่างรวดเร็ว โดยเปิดโอกาสให้คนที่หมายตาเสื้อผ้าบางคอลเลกชั่นเอาไว้ หรือจะเป็นเสื้อผ้าที่หมดสต๊อกไปแล้วก็ได้ เอามาโพสต์บอกเล่าความต้องการไว้เจ้าของเสื้อผ้าที่ครอบครองอยู่แล้ว หรือกำลังอยากจะซื้อแต่กลัวไม่คุ้มค่า จะได้ตัดสินใจสอยมาแลกเปลี่ยนให้เช่าได้ทันที เพราะมีการันตีรายได้จากการเช่ารออยู่แล้ว

ในฝั่งอเมริกา นอกจาก Rent the Runway ผู้ให้บริการตัวแม่จากนิวยอร์กที่บุกเบิกธุรกิจลักษณะนี้มานับสิบปี จนมีมูลค่าเกือบ 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 2.4 หมื่นล้านบาทแล้ว มีสตาร์ทอัพจากซีแอตเติลอย่าง Armoire ที่กระโดดเข้ามาชิมลางธุรกิจนี้ด้วยแนวคิดล้ำไปอีกขั้น นำระบบอัลกอริธึมมาใช้กับตู้เสื้อผ้าออนไลน์ของตัวเอง แซค โอเว่น ผู้ร่วมก่อตั้งธุรกิจกล้าประกาศว่า พวกเขาไม่ใช้บริษัทแฟชั่นเสียทีเดียว แต่น่าจะเป็นเหมือนบริษัทดาต้ามากกว่า เช่นเดียวกับ แอมบิก้า ซิงห์ ซีอีโอของธุรกิจที่บอกว่า สิ่งที่ทำให้ธุรกิจเช่าเสื้อผ้าของพวกเขาโดดเด่นคือการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ระบบการทำงานที่ว่านั้นจะช่วยวิเคราะห์ข้อมูลความต้องการ รสนิยม การเลือกเสื้อผ้า ไปจนถึงนำรหัสไปรษณีย์ของผู้ใช้มาแยกแยะสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ๆ ให้เหมาะกับการดึงรูปแบบเสื้อผ้ามานำเสนอให้ถูกใจผู้เช่า

แต่หากดาต้าเหล่านั้นยังคัดสรรไม่ตอบโจทย์ Armoire ก็มีคนทำหน้าที่สไตล์ลิสต์มาอุดช่องว่าง เหมือนกับเว็บไซต์เช่าเสื้อผ้ารายอื่นๆ และเมื่อจะเดินในสายอนุรักษ์ทั้งทีแล้ว สตาร์ทอัพเช่าเสื้อผ้าที่ระดมทุนได้ถึง 4.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐรายนี้ ก็ประกาศตัวว่าจะให้ความสำคัญในการทำงานร่วมกับแบรนด์เสื้อผ้าที่มีจริยธรรมในเชิงธุรกิจและเจ้าของเป็นผู้หญิงเป็นหลักด้วย

ยอดขายของร้านฟาสต์แฟชั่นเติบโตกว่าเท่าตัวในรอบหลายปีที่ผ่านมา และยังคงพุ่งทะลุจนเปิดสาขาได้ต่อเนื่อง

แฟชั่น + ไทยๆ

เมื่อกลับมาดูที่ประเทศไทย การให้เช่าเสื้อผ้าสำหรับการเดินทาง, ชุดหรูสำหรับใส่ไปงานราตรี หรือกระเป๋าแบรนด์เนมให้เป็นสมบัติผลัดกันชม แม้ว่าจะเริ่มเป็นที่นิยมติดตลาด แต่ด้วยสินค้าฟาสต์แฟชั่นที่หมั่นทำราคาต่ำจูงใจ บวกกับค่านิยมของผู้บริโภคที่ไม่ต้องการใช้ของมือสอง หรือกลัวว่าจะถูกจับโป๊ะได้ว่ารวยไม่แท้แค่ยืมมายังเป็นตัวฉุดไม่ให้การอนุรักษ์เรื่องเสื้อผ้าไปโลดถึงดวงดาว ยอดขายของร้านฟาสต์แฟชั่นเติบโตกว่าเท่าตัวในรอบหลายปีที่ผ่านมา และยังคงพุ่งทะลุจนเปิดสาขาได้ต่อเนื่อง

สวนทางกับฝั่งอเมริกาที่แบรนด์ดังอย่าง Forever 21 เพิ่งยื่นล้มละลายไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เพราะทนกระแสการเติบโตของออนไลน์ไม่ไหว ต้องปิดกิจการในกว่า 40 ประเทศทั่วโลก หนทางที่จะพิสูจน์ว่าธุรกิจให้เช่าเสื้อผ้าจะไปไกลถึงขั้นช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมในไทยได้หรือไม่นั้น จึงยังทอดยาวอีกไกลทีเดียว

Tags: