About
BALANCE

Freegan เก็บขยะกู้โลก

Freegan ขบวนการเก็บขยะกู้โลก

เรื่อง วิชชุ ชาญณรงค์ Date 16-10-2020 | View 5889
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • รู้จัก ‘ฟรีแกน’ (Freegan) หรือผู้ที่นำขยะที่ถูกทิ้งกลับมาใช้ประโยชน์ต่อเพื่อลดปริมาณขยะให้กับโลกใบนี้
  • หลากชื่อเรียกและหลายกิจกรรมจากอุดมการณ์ของเหล่าฟรีแกนทั่วโลก เช่น อเมริกาเหนือ เรียกคนกลุ่มนี้ว่า Skip Dopping เยอรมนี เรียกว่า Doing the Duck ฯลฯ
  • กิจกรรมหนึ่งที่น่าสนใจของคนกลุ่มนี้ คือสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า การช่วยชีวิตขยะ จากหลักการง่ายๆ ว่าของบางอย่างบางทีมันก็ไม่จำเป็นต้องเป็นขยะเสมอไป…

เมื่อพูดถึงคำว่า ‘ฟรีแกน’ (Freegan) บางคนอาจเลิกคิ้วสงสัย เพราะเคยได้ยินแต่คำว่า ‘วีแกน’ (Vegan) ซึ่งหมายถึงผู้ที่ไม่บริโภคสิ่งที่มีส่วนผสมของผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เพื่อต่อต้านการทารุณสัตว์ในกระบวนการผลิต อันที่จริงทั้งสองกลุ่มมีอุดมการณ์คล้ายกัน แต่ก็นับว่าเป็นคนละกลุ่มกัน

แล้วฟรีแกนคืออะไร

ฟรีแกน มาจากคำว่า Free บวกกับคำว่า Vegan และใช้เรียกผู้ที่ต่อต้านระบบบริโภคนิยมและทุนนิยมโดยเฉพาะเรื่องอาหาร อธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้น ก็คือคนที่นำขยะที่ยังไม่ควรเป็นขยะมาใช้ประโยชน์เพื่อลดปริมาณของเสียให้กับโลก ซึ่งต้นทางของขยะเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากการโละสินค้าตามวันหมดอายุที่กำหนดตามห้างร้านหรือซูเปอร์มาร์เก็ต ด้วยเหตุผลเพียงแค่สภาพบอบช้ำเล็กๆ น้อยๆ ทั้งที่จริงๆ ยังสามารถบริโภคได้ นอกจากนี้ ฟรีแกนส่วนใหญ่นิยมกินมังสวิรัติ บางคนเคร่งครัดมากถึงกับงดใช้สินค้าที่มีส่วนประกอบของขนสัตว์หรือหนังสัตว์ รวมถึงเครื่องสำอางที่มีการทดสอบในสัตว์ทดลองด้วย

คำว่า ‘ฟรีแกน’ ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1995 โดย ‘คีธ แม็คเฮนรี’ (Keith McHenry) นักกิจกรรมเพื่อสังคมซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่ม Food Not Bombs ที่ตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือคนยากจน ผู้ที่หิวโหยและต่อต้านความรุนแรง

จากนั้นฟรีแกนก็กระจายตัวไปทั่วโลก ด้วยชื่อเรียกต่างกันออกไป เช่น ‘Dumpster Diving’ หรือ‘Urban Foraging’ (อเมริกาเหนือ) Skip Dipping (ออสเตรเลีย) Containern (เยอรมนี) Doing the Duck (นิวซีแลนด์) Skipping / Bin Raiding / Skipitarianism (อังกฤษ) Freegan in South Korea (เกาหลีใต้) และ Freegan in Singapore (สิงคโปร์)

นอกจากชื่อเรียกต่างกันแล้ว คนที่เป็นฟรีแกนยังมีความหลากหลาย ทั้งฐานะ การศึกษา และอาชีพ เพราะไม่ว่าใครก็สามารถเป็นฟรีแกนได้ ขอแค่มีอุดมการณ์เดียวกันเป็นพอ

ลดบริโภค

กิจกรรมของกลุ่มนี้มักออกมาในรูปแบบของการลดการซื้อ หรือการเก็บขยะ (Waste Goods) มากินมาใช้ต่อ เพื่อแสดงให้เห็นว่าขยะเหล่านี้คือผลจากการผลิตของเกินความต้องการและความจำเป็น อย่างเช่น ทัวร์คุ้ยขยะของกลุ่มฟรีแกนที่มหานครนิวยอร์กซึ่งนิยามตัวเองว่าเป็น Movement ที่เชื่อว่าระบบบริโภคนิยมและทุนนิยมคือต้นเหตุของการสร้างขยะ (Wasteful System) พวกเขาจึงรวมตัวกันเพื่อสร้างคอมมูนิตี้ที่จะแสดงความขัดขืนต่อระบบดังกล่าว

ช่วยโลก…ช่วยชีวิตขยะ

ฟรีแกนนอกจากนำพาผู้ที่มีความคิดเหมือนกันให้ได้มาเจอกัน ยังเป็นจุดสอนพื้นฐานการช่วยชีวิตขยะ ด้วยกิจกรรมที่หลากหลายอีกด้วย อาทิ Freegan Feast คือการที่เอาของที่เก็บได้มาดินเนอร์ร่วมกัน เปิดพื้นที่ Freemarket ให้ทุกคนเอาของที่ไม่ใช้แล้วมาแลกกันหรือแจกจ่าย รวมถึงจัด Movie Night ร่วมดูสารคดีและแลกเปลี่ยนความเห็น รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ ที่สมาชิกในกลุ่มเสนอ เพราะสิ่งของที่พวกเขาได้จากกองขยะนั้นมีตั้งแต่อาหาร เสื้อผ้า เครื่องประดับ เครื่องเสียง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ ยึดหลักง่ายๆ ว่า ‘ของบางอย่างไม่ควรกลายเป็นขยะ’ การออกไปเก็บขยะจึงเป็นการ Rescuing Food & Products ไม่ใช่การเก็บขยะเพื่อยังชีพ ชาวฟรีแกนบางคนที่เคร่งครัดในอุดมการณ์มาก จะไม่นำของที่เก็บได้ไปขาย แต่จะนำไปใช้เองหรือแจกจ่ายเพื่อให้ของเหล่านั้นได้มีชีวิตต่อ

เรียกว่าชาวฟรีแกนสะท้อนให้เห็นข้อเสียของระบบบริโภคนิยมและทุนนิยมที่ก่อให้เกิดปัญหาขยะล้นโลกว่าส่งผลกระทบมากมายแค่ไหน ฉะนั้น เราทุกคนเริ่มต้นง่ายๆ ได้ด้วยตัวเอง เพียงก่อนจะทิ้งอะไร ขอให้มั่นใจว่าได้ใช้ประโยชน์เต็มที่จากสิ่งนั้น หรือให้มันทำหน้าที่ของมันสมบูรณ์แบบแล้วหรือยัง?

Tags: