- เพียงแค่ประโยคจากปากของลิซ่า แบล็กพิงก์ที่พูดถึงลูกชิ้นยืนกิน ทำให้เมนูนี้ดังเป็นพลุแตก ซึ่งลูกชิ้นยืนกินคือเมนูที่บุรีรัมย์ใช้ดึงดูดนักท่องเที่ยวมานานแล้ว
- เมื่อวัฒนธรรมอาหารกำลังเบ่งบาน การท่องเที่ยวเชิงอาหารจึงเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงที่ทั่วโลกให้ความสนใจ ส่วนไทยเองก็มีจุดแข็งในด้านนี้มาตั้งแต่ในอดีต และสามารถต่อยอดสู่ Creative Tourism ได้
กระแสลูกชิ้นยืนกินที่พุ่งขึ้นมาเปรี้ยงปร้างทำให้สปอตไลต์ส่องจับบุรีรัมย์อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แน่นอนว่าหลายคนย่อมโหยหาอยากลองชิมสักครั้ง ทำให้ตลาดลูกชิ้นยืนกินจากที่กำลังซบเซา กลับกระปรี้กระเปร่าขึ้นมาทันตาเห็น และที่สำคัญ กระแสนี้ยังทำให้การท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) ของเมืองสองปราสาทคึกคักขึ้นมา
ความจริงวัฒนธรรมการกินเป็นอะไรที่อยู่เคียงข้างกับการท่องเที่ยวบ้านเรามายาวนาน ราวกับเนื้อคู่ที่ต้องพบเจอและอยู่คู่กันไปทุกชาติ แม้แต่ในโลกก็ยังยกให้ว่า 'อาหาร' คือความรื่นรมย์รูปแบบหนึ่งที่สามารถชูเป็นจุดขายในวงการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี
วันนี้การท่องเที่ยวเชิงอาหาร หรือ Gastronomy Tourism กำลังเติบโตไปมากมายทีเดียว
กิน…เที่ยว…บูม!
ตลาด Gastronomy Tourism มีมูลค่ากว่าล้านล้านดอลลาร์!…ใช่แล้ว คุณตาไม่ฝาดและไม่ได้อ่านผิดเลย ตลาดนี้มีมูลค่ามหาศาลมาก จากตัวเลขในปี 2019 ที่มีมูลค่า 1.11 ล้านล้านดอลลาร์ คาดว่าจะเติบโต 16.8% ต่อปี และปลายปี 2027 ตลาดเที่ยวไปกินไปจะมีมูลค่าสูงถึง 1.79 ล้านดอลลาร์
สำหรับเมืองไทยเอง ก่อนโควิด-19 มาถึง มีการประเมินว่าการท่องเที่ยวเชิงอาหารมีรายได้ร้อยละ 20 จากการท่องเที่ยวทั้งหมด มีมูลค่า 4.56 แสนล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2.82 แสนล้านบาท และนักท่องเที่ยวชาวไทย 1.74 แสนล้านบาท
นักท่องเที่ยวมากถึงร้อยละ 53 เลือกที่เที่ยวจากอาหารและเครื่องดื่ม จะบอกว่าอาหารกลายเป็นแลนด์มาร์กสำคัญในการเลือกสถานที่ท่องเที่ยวของพวกเขาเลย
ไม่ใช่น้องใหม่ แต่ทำไมมาแรง
อย่างที่บอกว่าวิถีกินเที่ยวไม่ใช่เรื่องใหม่ และเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่การเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่พฤติกรรมนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม นิยามของการกินตอนเที่ยวจึงขยายพรมแดนกว้างขวางออกไป ไม่ใช่แค่กินอะไรก็ได้ให้จบเป็นมื้อๆ แล้วค่อยเที่ยว แต่เป็นได้กินเท่ากับได้เที่ยว ได้ความทรงจำ ได้เรื่องเล่า และอื่นๆ อีกมากมาย
มีผลการวิจัยที่เคยวิเคราะห์คอนเทนท์ของบล็อกเกอร์ชาวไทย ซึ่งจำแนกประเภทรูปแบบการท่องเที่ยวต่างๆ ที่สื่อสารออกมา ปรากฏว่า การท่องเที่ยวเชิงอาหารนั้น มาเป็นอันดับ 2 รองจากการท่องเที่ยวธรรมชาติ ที่คนยังคงสนใจและต้องการเสพคอนเทนท์นั้นมากขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่ายังมีโอกาสอีกมากที่จะพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงอาหาร สร้างความประทับใจให้นักท่องเที่ยว เพราะความนิยมในการท่องเที่ยวแนวนี้ไม่เคยลดลงเลย
ในประเทศกำลังพัฒนาเรียกได้ว่า Gastronomy Tourism กำลังเป็นดาวรุ่ง มีดีมานด์จากคนรุ่นใหม่สูงขึ้นเรื่อยๆ และดีมานด์นี้ก็กำลังหันหัวไปสู่แนวโน้มที่ว่า นักท่องเที่ยวเจนใหม่ไม่ได้อยากไปกินอย่างเดียวเท่านั้น แต่พวกเขาต้องการประสบการณ์เชิงอาหาร ที่ยกระดับการกินไปสู่การลงมือทำหรือมีกิจกรรมใดๆ ร่วมกับอาหารมื้อนั้นที่ทำให้เมนูตรงหน้าไม่ใช่อร่อยลิ้นอย่างเดียว แต่ต้องจรุงใจไปพร้อมกัน
ปลุกกระแสท้องถิ่นนิยม
ที่น่าสนใจก็คือ การท่องเที่ยวอาหารทำให้การท่องเที่ยวเชิงท้องถิ่น และการท่องเที่ยวชุมชนเติบโตตามขึ้นไปด้วย
เมนูพื้นบ้าน ผักท้องถิ่น และความแปลกใหม่ในบางเมนูที่เราไม่เคยได้สัมผัสจากชีวิตเมือง การกินตามวิถีท้องถิ่นจึงมีเสน่ห์ และเป็นเสน่ห์ไม่เหมือนใครที่เราอยากแชร์ให้เพื่อนฟัง อยากเล่าให้ทุกคนรู้ผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งเพราะการสื่อสารในยุคดิจิทัลที่เป็นตัวเร่งให้ ‘วิถีเข้าใจกิน เข้าใจถิ่น’ ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น และด้วยวัฒธรรมอาหารของไทยที่เข้มแข็งจนคนทั่วโลกยอมรับ ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมจุดหมายของคนช่างกิน จึงต้องมีไทยติดโผด้วยทุกครั้ง
นอกจากนี้ Gastronomy Tourism ยังไปสอดรับกับแนวคิด Creative Tourism ที่มุ่งนำต้นทุนทางภูมิปัญญา วัฒนธรรม วิถีชีวิตเดิมๆ ของเรามาสร้างสรรค์คุณค่าใหม่ในความร่วมสมัย ดึงดูดนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ให้เข้ามาสร้างความผูกพันกับชุมชนนั้น เรียนรู้วัฒนธรรมอาหารได้อย่างเต็มอิ่ม จะเห็นว่าหลายชุมชนทั่วไทยทุกภาคที่เริ่มรู้ว่าเมนูพื้นบ้านของตัวเองคือจุดขายที่ดีเยี่ยม ก็กำลังก้าวเดินไปบนเส้นทางสายนี้เช่นกัน
อย่างไร…จึงยั่งยืน
ความสำคัญของการท่องเที่ยวเทรนด์นี้ไม่ใช่แค่พัฒนาเศรษฐกิจชุมชนเท่านั้น หากอาหารทุกคำที่กินเข้าไปจะช่วยพัฒนาระบบซัพพลายเชนในวงการอาหารให้ยั่งยืนต่อไปด้วย
ยิ่งเป็นของท้องถิ่น หากินยาก แต่ตราบใดที่ยังมีนักท่องเที่ยวนิยมกินอยู่ ซัพพลายเชนของเมนูนั้นก็จะไม่สูญหายไปไหน
การสร้างสรรค์ให้เทรนด์ท่องเที่ยวเชิงอาหารไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต จึงต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในวัฒนธรรมการกิน ภูมิปัญญาท้องถิ่น และได้คนรุ่นใหม่มาช่วยกันส่งต่อ สร้างมูฟเมนท์ให้เทรนด์นี้พัฒนาขึ้นไปตามการเติบโตของสังคม เกิดแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่สนับสนุนให้ระบบนิเวศให้ทั้งการท่องเที่ยวและการกินเติบโตเคียงคู่กัน เกิดคุณค่าใหม่ที่สร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวได้
กินกับเที่ยวคือเรื่องเดียวกัน…เหมือนดังคำพูดที่ว่าเข้าใจกิน เข้าใจถิ่น ก็จะเข้าใจเที่ยว แต่จะเที่ยวกินอย่างไรให้ยั่งยืนนั้น เราควรร่วมกันสร้างมูฟเมนท์ให้การกินกลายเป็นความสุขเชิงสร้างสรรค์ในทุกมิติตั้งแต่ระดับกินท้องถิ่นจนถึงระดับไฟน์ไดนิ่งซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกเดสติเนชั่นถ้ามีไดเรกชั่นที่ชัดเจน
หมายเหตุ : อ้างอิงจากการบรรยายเรื่อง Gastronomy Tourism โดยศูนย์วิจัยเทรนด์และคอนเซปต์แห่งอนาคต บารามีซี่ แล็บ