About
BUSINESS

กราโนรา

กราโนรา ซีเรียลแบรนด์ไทยจากพัทลุงโดยคนไทยที่ยกระดับข้าวไทยให้กลายเป็นกราโนลา

เรื่อง เปรมวดี ปานทอง Date 31-05-2023 | View 4021
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • GRANORA (กราโนรา) คือซีเรียลโฮมเมดที่ทำจากข้าวไทย 3 ชนิด ข้าวเม่า ข้าวเหนียวแดง และข้าวไรซ์เบอร์รี ของ ผึ้ง-ศุทธินี และเพียว-ปิยวุฒิ สุขทอง สองพี่น้องจากพัทลุง ภายใต้แนวคิดดีต่อสุขภาพ และพัฒนาชุมชนไปด้วยกัน
  • นอกจากส่วนผสมของข้าวไทย 3 ชนิด ยังร่วมด้วยเนื้อมะพร้าวอบกรอบที่มีรสชาติหวานมันจากธรรมชาติ กล้วยเล็บมือนางตากแห้ง มีรสและกลิ่นหอมหวานคล้ายน้ำผึ้ง ใช้น้ำตาลไม่ขัดสีเล็กน้อย ในรส COCO NANA ทุกอย่างเป็นออร์แกนิก 100% และใช้วัตถุดิบจากในประเทศทั้งหมด

GRANORA NOT GRANOLA

แม้จะเป็นอาหารเช้าหรือขนมกินเล่นจำพวกธัญพืชเหมือนกัน แต่แตกต่างกันที่ GRANORA (กราโนรา) แบรนด์น้องใหม่จากพัทลุง คือซีเรียลโฮมเมดที่ทำจากข้าวไทย 3 ชนิด เกิดจากไอเดียของผึ้ง-ศุทธินี และเพียว-ปิยวุฒิ สุขทอง สองพี่น้อง ที่ชอบอาหารเช้าสไตล์ตะวันตก แต่อยากเปลี่ยนเป็นวัตถุดิบในท้องถิ่นแทนการซื้ออาหารซีเรียลนำเข้า

ทำไมกราโนลาทำจากข้าวไทยไม่ได้?

คำถามนี้ของทั้งคู่นำไปสู่การคิดค้นหาคำตอบ พัฒนาและเติบโตจากอาหารเช้าในครอบครัวสู่ธุรกิจหลักที่สร้างรายได้ และนี่คือเรื่องราวของการคิดนอกกรอบ ความมุ่งมั่นตั้งใจในการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรในท้องถิ่นให้กลายเป็นอาหารเช้าเพื่อสุขภาพ ช่วยเหลือเกษตรกรไทยและโกอินเตอร์แบบไม่คาดคิดมาก่อน

กราโนลา

เริ่มต้นจาก ‘หลบบ้าน’
หลบบ้าน ในภาษาใต้แปลว่า กลับบ้าน

ก่อนหน้านี้ ผึ้งกับเพียวก็ไม่ต่างจากคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่ใช้ชีวิตอยู่นอกบ้าน (พัทลุง) มาตลอด ไม่ว่าจะเป็นต่างจังหวัด อังกฤษ และทำงานอยู่กรุงเทพฯ แต่ช่วงโควิดที่ผ่านมาคุณแม่ป่วย ทั้งคู่จำเป็นต้องย้ายกลับมาอยู่บ้านเพื่อดูแลคนที่รัก และเป็นที่มาของการเปิดเพจ Lob Baan – หลบบ้าน ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีไม่ได้ตั้งใจจะทำเพื่อการค้าแต่อย่างใด

เธอเล่าว่า ตอนกลับมาใหม่ๆ ด้วยความที่ใช้ชีวิตคนเมืองมาตลอด ไม่ค่อยได้สัมผัสกับธรรมชาติมาก เลยอยากเก็บโมเมนต์ด้วยการเก็บภาพบรรยากาศลงเพจ ลงไอจีไว้ จนอยู่มาวันหนึ่ง คุณป้า (พี่สาวของแม่) บอกให้ช่วยขายมะนาวให้หน่อย เลยลองโพสต์ขายในเพจ ปรากฏว่าขายได้

หลังจากนั้นเมื่อป้ามีผลผลิตการเกษตรอะไรออกมา ก็เอามาให้ขายเรื่อยๆ จนช่วงหนึ่งเริ่มมีคนสอบถามผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของในพื้นที่ เพราะช่วงโควิดไม่ได้กลับบ้าน คิดถึงอาหารใต้ อาหารฝีมือแม่ จนกลายมาเป็นเพจขายผลผลิตของพัทลุง และเป็นที่รู้จักมากขึ้นจากสินค้าเม็ดมะม่วงหิมพานต์เคลือบคาราเมล แต่กราโนรา ไม่ได้เริ่มต้นด้วยความตั้งใจจะขายของเหมือนผลิตภัณฑ์อื่นๆ

“ด้วยความที่เราสองคนไปอยู่อังกฤษกันมา ติดกินอาหารเช้าซีเรียลอยู่แล้ว ต้องซื้อกินตลอด ราคาสูงด้วย และพัทลุงก็หากินยากไม่เหมือนในกรุงเทพฯ เพียวเลยเกิดคำถามว่า ทำไมข้าวบ้านเราเอามาทำกราโนลาไม่ได้?”

จึงเกิดเป็นไอเดีย ‘ทำข้าว (แปรรูปเป็นกราโนลา) กินเอง’

กราโนลา

ข้าวของ GRANORA

ผึ้งและเพียวคิดง่ายๆ ด้วยการมองสิ่งที่มีใกล้ตัว เอาเศษข้าวแต๋นที่ญาติทำขายอยู่แล้วมาลองใส่นมกิน ปรากฏว่ามันอืดและมัน ไม่อร่อย ก่อนจะคิดถึงข้าวสังข์หยด ซึ่งเป็นข้าวขึ้นชื่อของจังหวัดพัทลุง เอามาทอด แต่สุดท้ายก็ไม่รอดเช่นกัน

ด้วยความตั้งใจแน่วแน่ ทั้งคู่พยายามศึกษาหาข้อมูลจากยูทูบว่าจะทำให้ข้าวพองโดยไม่ต้องทอดได้อย่างไรบ้าง ลองผิดลองถูกไปเรื่อยแต่ก็ยังไม่ได้ผล จนวันหนึ่งไปเจอชุมชนป่าซาง จ.ลำพูน ทำข้าวแบบนี้ขายอยู่ จึงติดต่อไปเพื่อให้ลองเอาข้าวสังข์หยดไปในกรรมวิธีดังกล่าว

“เขาก็ให้ความรู้เรื่องข้าวกลับมาว่า ไม่ใช่ข้าวทุกชนิดที่ทำได้ จะต้องเป็นพันธุ์ข้าวที่มีลักษณะป้อมอ้วนถึงจะพองได้ อย่างข้าวสังข์หยด ข้าวหอมมะลิ ไม่สามารถทำได้ เพราะมีลักษณะเม็ดเรียว ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของข้าว” ผึ้ง เล่าถึงความมุ่งมั่นในหาวิธีแปรรูปข้าวเพื่อทำกินกันเอง ยังไม่คิดถึงเรื่องการทำเป็นผลิตภัณฑ์

กราโนลา

แม้จะลงเอยด้วยความผิดหวังอีกครา แต่ครั้งนี้เธอได้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องข้าวและวิธีการกลับมาเพียบ พร้อมกับอุดหนุนผลิตภัณฑ์ของชุมชนกลับมาลองดู ซึ่งใช้วิธีการคั่วให้พองขึ้นโดยปราศจากน้ำมัน ปรากฏว่าตอบโจทย์ความต้องการ คือ ไม่ใช่น้ำมัน ไม่ใช้การทอด ไม่มีความมัน กินกับนมแล้วอร่อย

จากเดิมที่ตั้งใจจะใช้ข้าวในท้องถิ่นอย่างข้าวสังข์หยด แต่ติดเรื่องกรรมวิธีที่ไม่สามารถทำได้ เพราะคุณสมบัติไม่เหมาะสมและพองได้ไม่สุด แข็งๆ กินแล้วติดฟัน หลังจากใช้เวลาศึกษา เรียนรู้ลองผิดลองถูกเกี่ยวกับข้าวอยู่เกือบปี ในที่สุดก็ตัดสินใจเลือกจากคุณสมบัติของข้าวไทย 3 อย่างจากภาคเหนือแทน ได้แก่ ข้าวเม่า ข้าวเหนียวแดง และข้าวไรซ์เบอร์รี

กราโนลา

ทันสมัยแต่ไม่ทิ้งตัวตน

ครั้นจะมีส่วนผสมแค่ข้าวไทยกับนมอย่างเดียว ก็ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการเพียงพอ ทั้งคู่จึงมองหาผลไม้ของภาคใต้เข้าเสริมเพิ่ม ก่อนจะจบด้วยกล้วยเล็บมือนาง ที่เหมาะด้วยองค์ประกอบและขนาด รวมถึงมะพร้าว ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากสมัยอยู่อังกฤษ และเม็ดมะม่วงหิมพานต์ที่เป็นไฮไลต์ของเพจและท้องถิ่นอยู่แล้ว พร้อมเพิ่มความหวานด้วยน้ำตาลอ้อย

ที่สำคัญทุกส่วนประกอบผ่านการคัดสรรมาอย่างดี อย่างเช่น มะพร้าวส่งตรงจากสมุย เม็ดมะม่วงหิมพานต์ของพัทลุง ซึ่งขึ้นชื่ออยู่แล้ว

กราโนลา

“ตอนแรกก็ไม่มีใครเห็นด้วย เพราะบ้านเรา (คนใต้) ตื่นเช้ามาต้องมีขนมจีน หรืออะไรที่มันหนักๆ กินกันอยู่ 2 คนพี่น้อง ทดลองปรับกันไปเรื่อยๆ อะไรน้อยไป หวานไป เค็มไป จนวันหนึ่งเอาไปลงเพจและเริ่มมีการถามกันเข้ามาว่ามันคืออะไร มีการทำแจกและเกิดเป็นแรงยุให้ทำขาย”

เป็นที่มาการเกิดแบรนด์ ‘GRANORA’ ซึ่งมาจากคำว่า กราโนลา พ้องเสียงกับคำว่า โนรา หรือ มโนราห์ ศิลปะการแสดงพื้นเมืองของพัทลุง ที่ใช้เป็นโลโก้สินค้า โดยมือนางแบบในรูปคือมือคุณแม่เอง

“ด้วยความที่เราเป็นคนพัทลุง สัญลักษณ์หลักของเราก็คือโนรา เราเลยเลือกนำเสนอผู้หญิงในชุดโนรา แต่เป็นผู้หญิงที่ดูทันสมัย เหมือนกับเราสองคนที่เป็นวัยรุ่นกลับมาบ้าน อยากพัฒนาสินค้าให้ทันสมัย แต่ก็ไม่ทิ้งตัวตน”

กราโนลา

กราโนลาสไตล์ไทย

ปัจจุบัน GRANORA มีผลิตภัณฑ์รส COCO NANA ที่มีส่วนผสมของข้าวไทย 3 ชนิด ร่วมด้วยเนื้อมะพร้าวอบกรอบที่มีรสชาติหวานมันจากธรรมชาติ กล้วยเล็บมือนางตากแห้ง มีรสและกลิ่นหอมหวานคล้ายน้ำผึ้ง ใช้น้ำตาลไม่ขัดสีเล็กน้อย ทุกอย่างเป็นออร์แกนิก 100% เพื่อสุขภาพโดยเฉพาะ

“เรามองเรื่องสุขภาพเป็นหลัก ใช้วิธีการอบ ไม่มีน้ำมันหรือเนยเป็นส่วนผสม เน้นอะไรที่ดีต่อสุขภาพ กับอีกเรื่องคือการมีส่วนร่วมกับชุมชน การพัฒนาชุมชนไปด้วยกัน ยกระดับของพื้นบ้าน สินค้าโอท็อป อะไรที่คนมองผ่านให้มีมูลค่ามากขึ้น ที่สำคัญทุกส่วนประกอบของกราโนราใช้วัตถุดิบในประเทศทั้งหมด ถือเป็นการสนับสนุนเกษตรกรไทยด้วย”

กราโนลา

จุดเด่นของกราโนราคือเนื้อสัมผัสเรื่องความกรอบใหม่จากข้าวที่ต้องใช้เวลาประมาณหนึ่งกว่าจะนิ่ม โดยข้าวทั้ง 3 ตัวมีคุณสมบัติแตกต่างกัน อย่างข้าวเม่าโดนนมแป๊บเดียวจะนิ่ม แต่ข้าวแดงและไรซ์เบอร์รีจะใช้เวลานานกว่า เพราะฉะนั้นแต่ละคำจะมีทั้งความนิ่ม กรอบ มีความสนุก น่าค้นหา และมีคุณค่าไม่ด้อยไปกว่าข้าวโอ๊ต

ส่วนราคาอยู่ที่ชิ้นละ 49 บาท และกล่องใหญ่ 499 บาท โดยในรูปแบบกล่องใหญ่จะแยกมะพร้าว กล้วยเล็บมือนาง และเม็ดมะม่วงหิมพานต์ไปให้ เพื่อนำไปผสมเองเมื่อต้องการกิน

กราโนลา

“เรานิยามกราโนราว่า อาหารเช้าอินเตอร์ในสไตล์ไทยๆ” ผึ้งอธิบายต่อว่า สิ่งที่ทั้งคู่ทำพยายามแสดงให้เห็นสินค้าที่มีคุณภาพของไทยจะไม่หยุดอยู่แค่โอท็อป หากมีการต่อยอดที่ดี “เราแค่เอาสิ่งที่คนไทยกินกันอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว มาพัฒนาแปรรูปให้เข้ากับยุคสมัย เหมาะกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ตอนแรกเราคิดว่าอาจจะขายไม่ได้ แต่พอคนอื่นชิม เขาก็บอกว่ามันก็ลงตัว คุ้นเคย เอามากินเล่นก็ได้ กินจริงจังก็ดี”

กราโนลา

ต่อยอดความอร่อย

ผ่านมา 5-6 เดือนแล้วที่กราโนราออกสู่ตลาด ผึ้งบอกว่า ผลตอบรับดีเกินคาด โดยเฉพาะหลังไปออกบูธในงาน Phattalung #3 Coffee : Craft : Music เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ยอดขายดีมาก คนในท้องถิ่นสั่งกันเข้ามาเยอะมาก จนสินค้าบางอย่างหมด และมีกลุ่มผู้สูงอายุติดต่อเข้ามาเพื่อให้ทำสูตรพิเศษไม่มีน้ำตาล รวมทั้งชาวต่างชาติสั่งซื้อไปขายที่อังกฤษและนิวซีแลนด์

เร็วๆ นี้พวกเขาเตรียมจะออกรสชาติใหม่ ‘กิมหยง’ มาจากชื่อตลาดของฝากและของที่ระลึกขนาดใหญ่ใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งเป็นศูนย์รวมสินค้าอาหารแห้งมากมาย แต่ช่วงหลังกระแสตกลงไปตั้งแต่โควิด

“กิมหยงจะมีความเป็นถั่วหรือสินค้าเยอะมาก ตอนนี้เรากำลังอยู่ในขั้นตอนการทดลองจับวัตถุดิบต่างๆ มาผสมกันว่าควรเป็นอย่างไร ร่วมกับเรื่องโภชนาการ” ผึ้งซึ่งมีร้านเสื้อผ้ามัดย้อมอีกกิจการ บอกถึงแผนต่อไปโดยมีคุณพ่อเป็นคนคิดค้นรสชาติเพิ่มเติมและ Approve สินค้าทุกชิ้นก่อนส่ง จากแรกเริ่มที่ค้านหัวชนฝา

กราโนลา

อีกหนึ่งความสำเร็จที่น่ายินดีคือหลังจากพยายามมา 2 ปี ในที่สุดก็สามารถผลิตข้าวจากชุมชนในท้องถิ่นได้สำเร็จ คือ ข้าวเล็บนก ซึ่งเป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองของพัทลุงและภาคใต้ โดยจะเตรียมผลิตเป็นรสชาติใหม่ ตอนนี้อยู่ระหว่างการส่งตรวจสอบเรื่องคุณค่าโภชนาการกับทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หลังพอใจในเรื่อง​ texture​ แล้ว​

ผึ้งบอกกับเราว่าเมื่อได้มาศึกษาเรื่องข้าวจริงๆ พบว่า คุณสมบัติของข้าวแต่ละชนิด มีความหลากหลาย คุณประโยชน์ต่างกัน ถ้าจับได้ถูกจุดสามารถพัฒนาเป็นสินค้าอื่นๆ ได้อีกเยอะมาก ไม่ใช่แค่กราโนรา และอยากให้ลองเปิดใจและมองเห็นคุณค่าของผลิตภัณฑ์จากชุมชน

กราโนลา

“ไม่อยากทุกคนมองข้ามสิ่งที่เห็นชินตาอยู่ทุกวัน อยากให้มองหาความแตกต่างและใช้ประโยชน์กับมันให้มากที่สุด การที่เราสนับสนุนผลิตภัณฑ์ของชาวบ้านมันช่วยสร้างความชุ่มชื่นหัวใจ สร้างความหวังให้กับพวกเขาว่า สิ่งที่กำลังทำอยู่สามารถต่อยอดได้ ทุกอย่างเราเลือกจากเกษตรไทย และตั้งโจทย์ไว้ว่าจะต้องไม่มีสินค้าที่นำเข้ามาเลย ถามว่าเรานำเข้ามาได้ไหม เรานำเข้ามาได้ แต่เราตั้งต้นอยากใช้ของที่ผลิตได้เอง อยากช่วยเหลือชุมชน ช่วยเหลือเกษตรกร เพราะบ้านเราก็เป็นเกษตรกรกันทั้งบ้าน”

กราโนลา

GRANORA ไม่เพียงเป็นอาหารที่เหมาะสำหรับคนรักสุขภาพ แต่นับเป็นแนวคิดการทำธุรกิจของคนรุ่นใหม่ที่ดีและน่าสนับสนุนอีกแบรนด์หนึ่ง

กราโนรา

196 ม.2 ต.นาขยาด อ.ควนขนุน จ.พัทลุง
โทร : 086 494 4744

Instagram :  lob.baan
FB : Lob Baan – หลบบ้าน

 

Tags: