About
RESOUND

ฮาร์ปบายฮาร์ท

คุยกับดร.นักฮาร์ปคนแรกของไทย เล่าเรื่องพิณฝรั่งกับแรงบันดาลใจจากเครื่องดนตรีทรงคันธนู

เรื่อง นริสา ลี. ภาพ นรวีร์ ศรีมะโน Date 30-09-2023 | View 2040
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • พาไปเปิดสตูดิโอและแกลเลอรี่ของเครื่องดนตรีอารมณ์ดีกับดร.นักฮาร์ปคนแรกของเมืองไทย พุทธรักษา กำเหนิดรัตน์ ที่อยากให้คนไทยได้เข้าใกล้ฮาร์ปมากขึ้นกว่าเคย

ฮาร์ปตัวแรกที่ถูกนำมาในประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 และหลังจากนั้นก็เกิดศูนย์ฮาร์ปตำหนักประถมที่ถือว่าเป็นโรงเรียนสอนฮาร์ปแห่งแรกของเมืองไทย…เวลาผ่านไป ฮาร์ปก็ยังเป็นเครื่องดนตรีแรร์ไอเท็มที่เรายังรู้จักกันน้อยมาก ปัจจุบันมีกลุ่มนักดนตรีฮาร์ปรวมตัวกันได้เรียกว่าแทบไม่ถึงยี่สิบคน

และในแวดวงคนเล่นฮาร์ป (ที่มีอยู่น้อยนิด) ทุกคนย่อมรู้จักดร.นักฮาร์ปคนแรกของไทย หวาน - พุทธรักษา กำเหนิดรัตน์ ปัจจุบันเธอเป็นผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย ส่วนบริหารจัดการสาขาวิชา วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล วันนี้เธอลุกขึ้นมาเปิดฮาร์ปสตูดิโอและแกลเลอรี่แห่งแรกที่ริเวอร์ซิตี้ เพื่อพาความฮาร์ปมาใกล้ตัวพวกเรามากขึ้น เอาล่ะ…จะฮาร์ปกันไพเราะแค่ไหน ต้องไปฟังเธอเล่ากันเลย

ฮาร์ป

1.

ไม่รู้อะไรดลใจ เด็กหญิงหวานในวัย 4 ขวบจึงหลงใหลเสียงไพเราะ สดใสของฮาร์ปจนถึงกับตั้งไลฟ์มิสชันว่า วันหนึ่งเธอต้องเป็นมือโปรในเครื่องดนตรีชนิดนี้ แล้วในที่สุดเธอก็ทำฝันให้เป็นจริงด้วยการคว้าดร.ด้านฮาร์ปกลับมาจากสหรัฐอเมริกาให้พ่อแม่ชื่นใจ แถมยังเป็นดร.ฮาร์ปคนแรกของเมืองไทยเสียด้วย แม้ช่วงเวลานั้นคนไทยรู้จักฮาร์ปกันน้อยมากๆ

การร่ำเรียนในศูนย์ฮาร์ปตำหนักประถม โรงเรียนสอนฮาร์ปแห่งแรกของไทยจนถึงการคว้าปริญญาเอกด้านฮาร์ปจากเมืองนอกเมืองนามาจากเหตุผลเดียวที่ว่า “เสียงเพราะมาก ยิ่งเรียนก็ยิ่งชอบมาก และอยากทำให้ฮาร์ปเป็นที่รู้จักในคนไทยมากขึ้น”

ฮาร์ป

ถึงตรงนี้ใครยังนึกหน้าตาฮาร์ปไม่ออกว่าเป็นแบบไหน ลองนึกถึงตำนานปกรณัมกรีกโบราณที่มักวาดภาพประกอบเป็นรูปเทพถือเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งรูปทรงเหมือนคันธนูแล้วมีสายขึงนับสิบๆ สายจากบนลงล่าง นั่นล่ะ! ฮาร์ป หรืออีกชื่อเรียกไทยๆ ว่าพิณฝรั่ง ที่ตามประวัติศาสตร์ระบุว่าฮาร์ปนั้นเป็นเครื่องดนตรีที่มีความเก่าแก่มาก อายุยาวนานกว่า 3,000 ปีก่อนคริสตกาลเลยทีเดียว

สำหรับเมืองไทย แรกมีฮาร์ปเมื่อปี พ.ศ.2549 โดยสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย พระราชโอรสองค์ที่ 72 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากที่พระองค์ได้เสด็จไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษแล้วได้ทรงหัดเล่นฮาร์ป จึงนำกลับมาประเทศไทยในปีนั้น ซึ่งพระองค์ทรงเป็นทูลหม่อมตาของ ม.ร.ว.สุนิดา กิติยากร ผู้อำนวยการศูนย์ฮาร์ปตำหนักประถม โรงเรียนสอนฮาร์ปแห่งแรกในไทยนั่นเอง

ฮาร์ป

2.

“เวลาได้ยินเสียงของฮาร์ปแล้วจะอุ๊ย เสียงอะไรเพราะจัง เสียงมันทำให้เราสบายใจ เสียงไม่ก้าวร้าว รูปร่างเครื่องก็สวย ทำได้เหมือนเปียโนทุกอย่าง เป็นเครื่องที่คนเดียวก็เล่นได้ เล่นเป็นกลุ่มก็ได้ เล่นได้หลายทำนองและสอดประสานในเครื่องเดียว และสามารถเคลื่อนย้ายด้วยคนเดียวได้สำหรับฮาร์ปที่ไม่หนักนะ” หวานอธิบายเสน่ห์ของฮาร์ปให้เราฟัง หลังจากนั้นเธอก็ค่อยๆ บรรเลงปลายนิ้วลงบนสายของฮาร์ปตัวที่วางโชว์ตรงกลางสตูดิโอในท่านั่งที่ดูสง่างามมาก

ฮาร์ป

ฮาร์ปสตูดิโอและแกลเลอรีแห่งนี้ของเธอที่เปิดในริเวอร์ซิตี้ หวานตั้งใจให้เป็นห้องรับแขกเล็กๆ ที่เปิดต้อนรับทุกคนให้เข้ามารู้จักฮาร์ป มีประสบการณ์ตรงกับฮาร์ป ทุกคนสามารถเดินเข้ามาชม มาลองจับ ลองเล่นฮาร์ปได้ทุกเมื่อ เพราะในเมื่อทั้งเครื่องสวย เสียงซอฟต์ ใครเห็นย่อมตกหลุมรักแน่นอน

ฮาร์ป

นอกจากเป็นโชว์รูมแล้ว เธอยังเปิดสอนฮาร์ปแบบตัวต่อตัวที่ผู้เรียนสามารถเลือกได้ว่าจะเรียนแบบไหน นั่งเรียนกันในห้องไพรเวทโดยแบ่งพื้นที่สตูดิโอออกมาเป็นห้องกระทัดรัดได้ 3 ห้อง “ผู้เรียนไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐาน เราสามารถตั้งเป้าหมายตามที่ผู้เรียนต้องการได้ อยากเรียนเร็วหรือช้าก็ไปได้ตามที่เขาต้องการ” หวานเปิดให้เราดูห้องเรียนเล็กๆ สีขาว เธอบอกว่าสำหรับเด็กๆ แล้ว 4 ขวบก็เริ่มเรียนฮาร์ปได้ ไม่ต่างจากเปียโนเลย

ฮาร์ป

เสียงของฮาร์ป รูปลักษณ์ของฮาร์ปเมื่อเรามาเห็นของจริง ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็นเครื่องดนตรีที่มีเสน่ห์มากมาย หวานบอกว่าคุณภาพของไม้ที่นำมาทำส่งผลต่อคุณภาพของฮาร์ป ฝั่งสหรัฐอเมริกาและฝั่งยุโรปก็มีฮาร์ปสไตล์ไม่เหมือนกัน

ฮาร์ป

ฮาร์ปราคาแพงๆ อาจพุ่งสูงถึงตัวเลขเจ็ดหลัก แต่ใช่ว่าจะเป็นเครื่องดนตรีที่คนทั่วไปเอื้อมไม่ถึง ทุกวันนี้ก็เหมือนเครื่องดนตรีทั่วไปที่มีหลายเกรด หลายระดับราคาเป็นออปชันที่ผู้เล่นสามารถจับต้องได้มากขึ้น

ฮาร์ป

“ที่ถูกถามบ่อยๆ คือมันแพงมากเลยใช่ไหม แต่จริงๆ แล้วตอนนี้เรียนฮาร์ป ราคาใกล้เคียงกับเรียนเปียโนเลย”

ฮาร์ป

3.

แม้มีหลักสูตรการเรียนการสอนฮาร์ปในระดับมหาวิทยาลัยแล้วในบ้านเรา แต่ตัวเลขก็ยังเป็นหลักหน่วย ไม่ต้องนับถึงการเรียนระดับสูงอย่ำางปริญญาเอกที่เรียกว่าเป็นศูนย์

เรียนฮาร์ปแล้วไปทำอะไร?…น่าจะเป็นคำถามที่พบบ่อยสำหรับหวานอีกคำถามหนึ่งเช่นกัน แม้ความรู้สึกของคนสายนี้ชอบฮาร์ปและเล่นฮาร์ปดีแค่ไหน แต่โลกความเป็นจริงก็ยังคงทำให้เราต้องหันกลับมาทบทวนและตั้งคำถามว่าเราจะเล่นฮาร์ปเป็นอาชีพได้เหรอ?

ฮาร์ป

เธอบอกว่าจริงๆ แล้วนักฮาร์ปสามารถเล่นแจมกับดนตรีได้หลายแนว ไม่จำเป็นต้องเป็นวงออร์เคสตราเท่านั้น และเพราะความสวยงามของตัวเครื่องเอง ความสง่างามในตัวผู้เล่น อีเวนท์ที่ต้องการความหรูหรามักมีฮาร์ปมาเติมสีสันให้งาน วันนี้อาจเป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ แต่เธอเชื่อว่าวันหนึ่งฮาร์ปจะสามารถขยายวงได้กว้างกว่านี้

ฮาร์ป

“หวานว่าดนตรีมันเป็น universal language เราสามารถสื่อสารกับคนดูโดยการเล่นอะไรบางอย่าง เราพูดกันคนละภาษา แต่มันมีพลังทำให้คนร้องไห้ สุข เศร้า หวานว่ามันเป็นสิ่งที่มีพลังมหัศจรรย์”

ฮาร์ป

นอกจากนี้ ฮาร์ปยังสามารถนำมาใช้เป็นดนตรีบำบัดได้ เธอเคยได้ยินมาว่าในโลกตะวันตกได้นำฮาร์ปมาเป็นดนตรีบำบัด คงเพราะด้วยเสียงสดใส ฟังแล้วสบายใจ และดนตรีไม่ว่าชนิดไหนต่างก็เป็นยาบำรุงใจมนุษย์ได้ดีทั้งนั้น

ฮาร์ป

“ดนตรีทำให้เด็กมีความอดทน การเล่นอะไรได้ ต้องทำซ้ำๆ เป็นระยะเวลานาน มันจะช่วยพัฒนามายด์เซ็ตเขา แล้วดนตรีทุกชนิดมีประโยชน์กับเด็ก ทั้งทักษะการฟัง การใช้มือ กล้ามเนื้อมัดเล็กต่างๆ อายคอนแท็ค แม้กับผู้ใหญ่ก็ใช่ ดนตรีช่วยเสริมสร้างคาแร็กเตอร์ให้ผู้ใหญ่ ทำให้เรารู้จักอดทน รอคอย รู้จักอยู่กับความสมหวัง ผิดหวัง ซึ่งมันสามารถส่งเสริมทักษะด้านอื่นๆ ได้ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน ในชีวิตก็ต้องเจออะไรแบบนี้ เราชอบบอกว่าเราจะมอบความทุกข์ให้นักเรียนนะ (หัวเราะ) เขาจะได้เจอปัญหาและอุปสรรค ฝึกให้มีความเข้มแข็ง” เธออธิบายในฐานะครูดนตรีคนหนึ่งที่มองเห็นและเข้าใจนักเรียนทุกวัย

ฮาร์ป

ลึกไปกว่านั้น หวานยังหวังว่าวันหนึ่งสังคมคนเล่นฮาร์ปในไทยจะมีมากขึ้น สตูดิโอแห่งนี้เป็นเพียงก้าวเล็กๆ ของการช่วยสร้าง ecosystem ในวงการฮาร์ปให้แข็งแรง “เราอยากสร้างสังคมคุณภาพให้กับคนเล่นฮาร์ป เพราะการจะเป็นนักฮาร์ปต้องมี ecosystem ที่ส่งเสริมเขา มีกลุ่มเพื่อนช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีชมรมนักฮาร์ป มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ในเมืองไทย คนเล่นฮาร์ปทุกคนน่ารักนะ (หัวเราะ)”

ฮาร์ป

ฮาร์ป

ลองไปสัมผัสฮาร์ปของจริงกันได้ที่ ฮาร์ป สตูดิโอ แกลเลอรี่ (Harp Studio Gallery) ชั้น 1 ริเวอร์ซิตี้ แบงค็อก หรือติดตามได้ทางเพจ เฟซบุ๊ก : Harp Studio Thailand

Tags: