Isan Cubism
Isan Cubism จากลวดลายอีสานถึงพระพุทธรูปเซรามิก ศิลปะพื้นบ้านยุคใหม่ Sold Out ใน 1 ช.ม.
- ถ่ายรูปวัดกว่า 100 วัด ศึกษาศิลปะอีสานตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ หยิบมาดีไซน์ให้สนุก แล้วนำเสนอวัฒนธรรมผ่านของใกล้ตัว ตั้งแต่จานรองแก้วถึงพระพุทธรูปสีสดใส
บทความนี้นัดพบกับ อาจารย์เปิ้ล–ผศ. ดร.ณัฏฐพงศ์ พรหมพงศธร และ อาจารย์ขาม–ผศ. ดร.ขาม จาตุรงคกุล ทั้งคู่เป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อนเรียน ป.เอก และหุ้นส่วนธุรกิจ Isan Cubism
น่าเสียดายที่คนแรกติดภารกิจสำคัญ ณ หลวงพระบาง ผู้เชี่ยวชาญด้านเซรามิกคนนี้จึงฝากเพื่อนร่วมทีมมาบอกเล่าเกี่ยวกับลวดลายอีสานที่ถูกพัฒนาด้วยสกิลกราฟฟิกดีไซน์ของคนเล่า กระทั่งต้นทุนทางวัฒนธรรมท้องถิ่นนี้กลายเป็นสร้างอาชีพเสริมที่ปลุกกระแสศิลปะอีสานไม่ให้น้อยหน้าใคร
ปรากฏการณ์ถล่มโพสต์เฟซบุ๊กไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ โดยเฉพาะกับโพสต์เปิดตัวพระพุทธรูปสีชมพู ฟ้า ส้ม เหลือง และอื่นๆ อีกมากจนแทบลายตา แต่มันก็เกิดขึ้นแล้วกับ Isan Cubism แบบไม่ทันตั้งตัว
ในฐานะที่สวมหมวกหลายใบ เรื่องราวของพวกเขาก็ยิ่งน่าสนใจ Isan Cubism เป็นทั้งโปรเจกต์ลับฝีมือ การพาศรัทธาเติบโตไปพร้อมธุรกิจ และพิสูจน์เส้นทางอาชีพที่หลากหลายแก่ลูกศิษย์ของพวกเขาเอง
Isan Elements To Product Designs
สมุดเล่มบางรวบรวมลวดลายต่างๆ ที่พบในภาคอีสานถูกเปิดออก แต่ละหน้าแบ่งหมวดหมู่ชัดเจน มีตั้งแต่ลายบนผ้า ลายจิตรกรรมฝาผนัง ลายในถ้ำ ลายบนเครื่องปั้นดินเผา ฯลฯ
อีสานเป็นแหล่งอารยธรรมที่มีประวัติยาวนาน เริ่มต้นตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่เพนต์รูปอย่างง่ายด้วยเลือดสัตว์ผสมไข่ ก่อนศิลปะจะประณีตขึ้นกลายเป็นศิลปะที่ยึดโยงกับความเชื่อ ผสมปนเปกันทั้งวัฒนธรรมล้านช้าง ทวารวดี เขมร เกิดเป็นภารกิจตามหา ‘ลวดลายสไตล์อีสาน’
“พวกผมลงพื้นที่ไปถ่ายรูปวัดอีสานประมาณ 100 วัด แล้วไปหลวงพระบาง ถ่ายรูปวัด พุทธศิลป์ต่างๆ ประมาณ 26 วัด” หนึ่งในเจ้าของผลงานเล่าขั้นตอนเก็บข้อมูลที่กินระยะเวลากว่า 6 เดือน สะสมแพตเทิร์นของการออกแบบมากพอ จนตกผลึกออกมาเป็นแค็ตตาล็อกลวดลายสไตล์อีสาน
ทั้งขามและเปิ้ลเลือกเรียนด้านศิลปวัฒนธรรมในระดับปริญญาเอก ระหว่างทางหลังจากนั้น ขามเน้นเข้าหาคนในพื้นที่หรือบางทีก็รับบทล่าม เพื่อให้เปิ้ลซึ่งเป็นคนใต้เก็บข้อมูลที่ต้องการได้อย่างครบถ้วน
ผู้เชี่ยวชาญตรงหน้าเราถนัดด้านกราฟฟิกดีไซน์ เขาปรับลวดลายหงิกงอที่พบให้เป็นรูปทรงเรขาคณิตเรียบง่ายแต่มีเอกลักษณ์ชัดเจนมากขึ้น ส่วนคู่หูของเขาถนัดการทำเซรามิกเป็นหลัก จึงนำลวดลายในสมุดมาสร้างสรรค์เป็นชิ้นงาน
“เขาเอาลายกราฟฟิกจากลายขิดมาทำจานรองแก้ว แล้วประกวดได้ที่ 1 ของประเทศจากเวที Cultural and Wisdom Talent 2016 ผลงานนี้จุดประกายให้เกิดชื่อแบรนด์ Isan Cubism”
วัฒนธรรมอีสานในลักษณะที่มีเหลี่ยมมุม ส่งสินค้าจากศิลปะพื้นบ้านสู่สากล เปิดช่องให้อวดโฉมอัตลักษณ์อีสานให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง
Phenomenal Debut
พระเศียรแหลมบนฐานเหลี่ยมหมดไวเป็นปรากฏการณ์ มีคนเช่าราว 100 องค์ตั้งแต่ชั่วโมงแรกที่โพสต์บนเฟซบุ๊ก เมื่อพฤศจิกายนปีที่แล้ว
พระพุทธรูปเซรามิกของ Isan Cubism ได้ใจผู้พานพบไปเต็มๆ เมื่อห้องพระหรือหิ้งพระมีความสำคัญลดน้อยลง แบรนด์จึงออกแบบสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้เป็นของตกแต่งบ้านไปในตัวเสียเลย แถมราคายังจับต้องได้อีกด้วย
สิ่งหนึ่งที่เลี่ยงยากคือพระสีหวานเหล่านี้มาพร้อมกับการตั้งคำถามถึงความเหมาะสม จนเจ้าของผลงานเองคาดการณ์ล่วงหน้า แล้วแสดงความเห็นว่า
“พระพุทธรูปไม่จำเป็นต้องมีชนชั้น ผมเห็นแล้วว่าสกุลช่างหลวงในหลวงพระบางมีทรวดทรงองค์เอว ท่าทางเดินอ่อนช้อย ส่วนในภาคอีสานจะเห็นพระไม้เยอะ สมัยก่อนที่คนอยากทำบุญแต่ไม่มีเงินก็เอาเศษไม้มาแกะสลัก ออกมาคล้ายอุลตราแมน เกิดเป็นสกุลชาวบ้าน”
รูปลักษณ์ภายนอกไม่ใช่สิ่งการันตีความศรัทธา การตีมูลค่ามันดูจะขัดกับคำสอนของศาสนาเสียด้วยซ้ำ อีกทั้งการคิดนอกกรอบเพื่อแสดงเจตจำนงอันบริสุทธิ์มีมาแต่ไหนแต่ไร พระไม้สกุลชาวบ้านมีคุณค่าไม่ต่างจากพระสกุลช่างหลวง พระของ Isan Cubism ก็เช่นกัน
“จริงๆ Cubism ไม่ได้แปลว่าเหลี่ยม แต่แปลว่าการทำสิ่งที่มีอยู่ให้ไม่เหมือนเดิม เช่น วาดกีตาร์เป็นเหลี่ยมๆ ซึ่งไม่มีอยู่จริงบนโลกนี้ มันเกิดจากการจินตนาการสร้างสิ่งใหม่ออกมา
อาจารย์เปิ้ลทำพระไม้อีสานมา 10 ปีแล้ว เลยลองสีสันสดใส ลอง 7 สี 7 วัน ลองทำข้างบนสีหนึ่ง ข้างล่างสีหนึ่ง เขาอยู่ในแวดวงเซรามิก เขาก็จะรู้ว่าใครเคยทำอะไรแล้วและยังไม่ทำอะไรบ้าง” ขามเล่าการเดินทางจากพระไม้อีสานสู่พระพุทธรูปเซรามิกของแบรนด์
Isan Cubism เป็นแบรนด์ที่นำความศรัทธามาเล่าในรูปแบบใหม่ กระแสตอบรับก็ได้ยืนยันแล้วว่า ธุรกิจจะพาศรัทธาไปต่อได้เรื่อยๆ ตามเส้นเวลาที่ไร้จุดสิ้นสุด
Crafted Culture
ผลิตภัณฑ์สีล้วนเหล่านี้ใช่ว่าจะทำง่ายอย่างที่ตาเห็น
“สมมติว่าสีเซรามิกเป็นสีครีม เผาออกมาแล้วเป็นอีกสีหนึ่ง มันเข้าใจยาก บางทีมันหยดใส่กันแล้วก็กลายเป็นสีอื่น เผา 10 ครั้งก็ไม่เหมือนกันสักครั้ง คราฟต์มาก มันก็เป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งเหมือน Wabi Sabi มันไม่ใช่สุขภัณฑ์ที่ออกมาขาวทุกอัน”
เครดิตในการผลิตนี้ต้องยกให้เจ้าของแบรนด์อีกคน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเซรามิก เปิ้ลใช้เทคนิคจุ่มสีที่สามารถทำสีพระเสร็จ 100 องค์ ภายใน 2 วัน
แต่นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งในสายพานการผลิต เพราะกระบวนการทั้งหมดใช้เวลานับเดือน
กว่าจะเป็นเซรามิกแข็งแรง มันเคยเป็นต้นแบบอันเปราะบางที่ต้องผ่านการทำแม่พิมพ์ หล่อแล้วก็ขัดแต่งชิ้นละชั่วโมง จากนั้นเผาเคลือบ และที่สำคัญ ในทุกขั้นตอน ผลงานมีโอกาสพังตลอดเวลา ชิ้นส่วนที่หักก็ต้องต่อใหม่ รอแห้ง แล้วขัดอีก เมื่อคูณจำนวนชั่วโมงทำงานเข้ากับจำนวนผลิตแล้วก็ทำเอาใจหาย
“อาจารย์เปิ้ลก็ต่อสู้เพื่อดึงเด็กมาเรียนเซรามิก พยายามทำธุรกิจหรือสตูดิโอแบบนี้ให้เด็กเห็นว่า เรียนแล้วจบไปจะทำมาหากินได้นะ”
จำนวนคนเรียนหัตถกรรมลดลงเรื่อยๆ ในขณะที่เทรนด์เซรามิกเติบโตสูงในช่วงหลังๆ ผู้คนอยากลงมือปั้น เปรอะ และคราฟต์ผลงานชิ้นเดียวในโลกของตัวเองขึ้นมา ธุรกิจนี้สัมพันธ์กับเทรนด์ในระดับหนึ่งแล้ว ขาดก็แต่ผู้เรียน ซึ่งช่างฝีมือหน้าใหม่นี่แหละที่จะเป็นกลไกสำคัญในการอนุรักษ์ศิลปะท้องถิ่น
“และถ้าอยากได้ของดีก็ต้องรอพัฒนาต้นแบบให้ดีที่สุดก่อน” ขามพูดทีเล่นทีจริง เหมือนรู้ว่ามีผู้คนจ่อกด ‘F’ ใต้โพสต์กันเพียบ
Planting Seeds
“Isan Cubism ไม่ได้ถูกกำหนดมาว่าต้องทำพระ มันเป็นเรื่องศิลปะอีสาน”
ภายในคลังสินค้าของสตูดิโอมีอีกหนึ่งไลน์สินค้าที่โดดเด่น นั่นคือแจกันจากนิทานพื้นบ้านไทย-ลาวเรื่อง สังข์ศิลป์ชัย โดยภาพตัวละครนุ่งโจงกระเบนถูกดัดแปลงจากภาพเขียนรอบสิม (โบสถ์อีสาน) หรือภาพวาดบนกำแพงวัดที่คนมักมองข้าม
“การ์ตูนแบบญี่ปุ่น” คือคำเปรียบเทียบให้เห็นภาพ และทำให้มองนิทานพื้นบ้านสนุกขึ้นเป็นกอง
เราจะหยิบวัฒนธรรมอีสานมาทำเป็นอาชีพได้ไหม-เราถามความเห็นจากผู้มีประสบการณ์ตรง
“มันก็เป็นเป้าหมายของพวกผม วันนี้เราเริ่มต้น ทำของเราเองให้แข็งแรง คนก็จะรับรู้ว่าอีสานมีศิลปะแบบนี้ ต่อไปก็อยากให้มีคนทำเยอะขึ้น มันจะได้อยู่ได้ด้วยตัวมันเอง”
Isan Cubism เชื่อมั่นในหลักการง่ายๆ ที่สำคัญคือ มีคนผลิต มีคนใช้งาน ตลาดก็อยู่รอด เทียบกันกับวัฒนธรรมอีสานด้านอื่น อย่างส้มตำที่เคยโดนดูถูกกลับได้ขึ้นห้าง หมอลำไปอยู่ตรงไหน คนก็สนุก และผ้าไหมที่ดังในระดับสากล ดีไซเนอร์ต่างประเทศล้วนเข้ามาจับจอง
Isan Cubism เปิดช่องว่างรองรับไอเดียอีกมากมาย ไม่ว่าโปรเจกต์คู่หรือโปรเจกต์เดี่ยวของเปิ้ลและขาม แล้วแก่นของแบรนด์นี้จะเป็นอีกหนึ่งแรงกระตุ้น คอยส่งศิลปะอีสานก้าวขึ้นมาอยู่แถวหน้าเป็นรายต่อไป
อยากคอยชมดีไซน์สนุก ทำความรู้จักอีสานในรูปแบบใหม่ หรือคอยจับจองสินค้าล็อตต่อไป กดติดตามทางนี้เลยเด้อ ISAN Cubism