About
RESOUND

Local to Global

สุทธิพงษ์ สุริยะ ฟู้ดสไตลิสต์คนดัง ผู้สร้างปรากฏการณ์พลิกฟื้นอีสานบ้านเกิดสู่ชุมชนด้วยแนวคิด Local สู่เลอค่า

เรื่อง Nid Peacock ภาพ ฉัตรชัย มาตยภูธร Date 30-05-2023 | View 2847
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • เรื่องราวชีวิตในอีกบทบาทหนึ่งของขาบ สุทธิพงษ์ สุริยะ ฟู้ดสไตลิสต์ที่คร่ำหวอดในวงการที่ได้นำความรู้ความสามารถด้านศิลปะกลับไปพัฒนาชุมชนบ้านเกิดที่ จ.บึงกาฬ
  • เขาใช้ ‘การออกแบบ’ ในการสร้างมิติการพัฒนาให้เกิดขึ้นอย่างบูรณาการจนกลายเป็นการท่องเที่ยวชุมชนที่ก่อให้เกิดการพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ
  • จากการลงมือทำงานพัฒนาด้วยตัวเอง ขาบมีแนวทาง วิธีการปฏิบัติ รวมถึงปัญหาและอุปสรรคที่พบเจอมาแชร์ พร้อมทั้งฝากข้อคิดไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกด้วย

การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักเคารพและเทิดทูนกลับกลายเป็นแรงผลักดันให้ขาบ - สุทธิพงษ์ สุริยะ ฟู้ดสไตลิสต์ระดับแถวหน้าของวงการตัดสินใจเว้นวรรคพักชีวิตสุขสบายในเมืองกรุง เพื่อมุ่งสู่บ้านเกิด ต.หนองพันทา อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ ด้วยปณิธานอันมุ่งมั่นที่จะกลับไปใช้ทักษะความรู้และประสบการณ์ชีวิตที่สั่งสมมาค่อนชีวิตให้เป็นประโยชน์กับชุมชน ซึ่งนอกจากมีความแร้นแค้นของชนบทอีสานเป็นอุปสรรคสำคัญที่รอเขาอยู่ ขาบยังต้องอดทนและมั่นคงในความตั้งใจของตัวเอง เพื่อพิสูจน์ว่าเขาไม่ใช่ ‘ผีบ้า’ ที่ลุกขึ้นมาทำอะไรผิดแผกแหวกแนวที่ไม่เคยมีใครเคยทำมาก่อนอย่างที่ชาวบ้านคิด

ขาบ สุทธิพงษ์

ONCE : การกลับบ้านครั้งนั้นถือว่าเป็นจุดหักเหสำคัญของชีวิต

ขาบ : ตอนนั้นในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคตเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ของปวงชน ผมเองเสียใจมากไม่ต่างจากทุกคน แต่หลังจากนั้นไม่นานผมเสียแม่อีกการสูญเสียครั้งสำคัญในเวลาไล่เลี่ยกัน เป็นแรงบันดาลใจให้ผมอยากลุกขึ้นมาทำประโยชน์เพื่อสังคม ซึ่งก็คือชุมชนบ้านเกิดผมที่ จ.บึงกาฬ ที่ผ่านมา ผมใช้ศิลปะหาเลี้ยงชีพมาตลอด เป็นการตอบสนองความชอบและความต้องการของตัวเอง แต่พระราชกรณียกิจที่ทรงทำตลอดพระชนม์ชีพ กับคำสอนแม่ที่เคยบอกว่าอย่าลืมบ้านเกิด ทำให้ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องใช้ศิลปะเพื่อสังคม จึงตัดสินใจหักดิบพาตัวเองกลับบ้าน

ขาบ สุทธิพงษ์

ONCE : ตีโจทย์การทำเพื่อสังคมไว้อย่างไร

ขาบ : เป็นการเดินฝ่าพายุ บ้านนอกมีแต่ความแร้นแค้นแห้งแล้ง ไม่มีต้นทุนอะไรเลย มีแค่บ้านไม้โทรมๆ กับบริบทรอบตัวที่ไม่มีอะไรเป็นจุดขายเลย แต่เมื่อตั้งใจแล้วต้องเดินหน้าเท่านั้น ผมกลับมามองตัวเอง แล้วเราล่ะมีอะไร สิ่งที่ผมมีและถนัดที่สุดคือศิลปะการออกแบบ เป็นไอเดียให้นำความงามมาออกแบบ โดยตั้งใจว่าจะทำบ้านตัวเองที่ทรุดโทรมให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต เพื่อสะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ของคนพื้นถิ่น และเป็นจุดเริ่มต้นของกิจกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในหมู่บ้าน

ขาบ สุทธิพงษ์

ONCE : มีบ้านต้นแบบในใจไหม

ขาบ : ผมชอบเดินทางท่องเที่ยวประเทศแถบเอเชีย รู้สึกว่าเราเข้าถึงเสน่ห์ของเขา เพราะใกล้เคียงกับวิถีของเรา ผมเห็นหมู่บ้านชนบทในญี่ปุ่น  หมู่บ้านเกษตรกรรมของจีน ชุมชนที่ไต้หวันและมาเก๊า เขาอาศัยความงามของสถาปัตยกรรมชุมชนเชิญชวนผู้คนให้แวะเวียนไป เมื่อเขาทำได้ ทำไมเราจะทำไม่ได้ หน้าที่เราคือต้องจัดการบ้านช่องห้องหับของเราให้น่าอยู่ ซึ่งสิ่งแรกที่จะได้คือคุณภาพชีวิตคนในครอบครัวที่จะดีขึ้นด้วย ส่วนเรื่องการท่องเที่ยวชุมชนจะเกิดขึ้นได้ถ้าคนเห็นคุณค่า จึงจะอยากเข้ามาชม

ขาบ สุทธิพงษ์

ONCE : วางคอนเซ็ปต์ไอเดียในการรีโนเวตบ้านอย่างไรบ้าง

ขาบ : สภาพบ้านเดิมก่อนการปรับปรุง เป็นเรือนไม้ใต้ถุนสูง ล้อมรอบด้วยที่ดินไว้เพาะปลูกประมาณ 4 ไร่ ซึ่งปลูกกันตามมีตามเกิด ไม่ได้มีการวางแผนจัดการให้เป็นระบบ ความที่ผมเกิดที่นี่ซึ่งมีพหุวัฒนธรรมที่หลากหลาย เพราะมีชาติพันธุ์ และเป็นอินโดจีนที่มีการผสมผสานอารยธรรมทั้งไทย เวียดนาม ลาว ผมจึงนำความหลากหลายนั้นมาใช้เป็นคอนเซ็ปต์  ‘จาก Local สู่เลอค่า’ เพื่อสื่อให้เห็นว่า ถึงอยู่บ้านนอกแต่เราก็ร่วมสมัยได้ การออกแบบเน้น ‘เก่าอยู่กับใหม่’ ให้ได้ เพราะผมไม่คิดว่าจะต้องมีแต่สิ่งใหม่ 100% และความดั้งเดิมก็ทำให้เกิดสิ่งใหม่ได้เช่นกัน

ขาบ สุทธิพงษ์

ONCE : ความ Local ของ จ.บึงกาฬ คืออะไร

ขาบ : ความงามทางธรรมชาติที่ไม่ต้องปรุงแต่ง เรามีหิน น้ำ ภู ต้นไม้ ป่าเขา และความเชื่อความศรัทธาเรื่องพญานาค ซึ่งวิธีการจัดการด้านการออกแบบนั้นจำเป็นต้องใช้ทุนทางวัฒนธรรมและสภาพพื้นที่จริง อย่างแรกที่ผมทำคือการจับคู่สีเพื่อเป็นต้นแบบ ผมเคยไปท่องเที่ยวต่างประเทศเห็นในหมู่บ้านเดียวกันเขาใช้สีในการแสดงสัญลักษณ์ความเป็นหมู่บ้าน ซึ่งสีที่ผมใช้คือสีม่วง เป็นสีประจำ จ.บึงกาฬ กับสีเขียวที่เป็นสีของ อ.โซ่พิสัย แม้เป็นสีของทางการที่เราเลือกไม่ได้ แต่ผมเลือกเฉดสีที่จะใช้ได้

ขาบ สุทธิพงษ์

ONCE : นิยามคำว่า เลอค่า ที่วางไว้

ขาบ : ในความหมายของผมคือ การทำให้คุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่นอยู่ดีกินดี ด้วยการพัฒนาพื้นที่ท้องถิ่นให้เลอค่า ผ่านความงามทางสถาปัตยกรรม การออกแบบผลิตภัณฑ์ชุมชน อาหารการกิน ของฝาก และการต้อนรับนักท่องเที่ยว ซึ่งผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์ก็คือชาวบ้าน นี่คือความเลอค่าในมิติของผม ทั้งนี้ เป้าหมายการออกแบบชุมชนของผมเน้นที่ความยั่งยืนตามหลัก SDGs (Sustainable Development Goals เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน) เพราะผมเคยเห็นบางชุมชนมีหน่วยงานเข้าไปช่วยพัฒนา แต่สวยเฉพาะตอนเริ่มแล้วก็จบด้วยตัวมันเอง  ผมจึงตั้งใจทำบ้านตัวเองให้เป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต เพื่อเป็นต้นแบบให้ชุมชนทั้งหมู่บ้าน ซึ่งได้ขยับขยายกลายเป็น ‘โซ่พิสัยโมเดล’ ทั้งอำเภอตอนนี้กำลังกลายเป็นสีม่วงและสีเขียว

ขาบ สุทธิพงษ์

ONCE : อุปสรรคที่เผชิญ

ขาบ : อย่างแรกเลย ชาวบ้านมองว่าผมเป็นผีบ้ามาจากไหน ทำสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน แต่ไม่กล้ามาถามผมตรงๆ ได้แต่มาด้อมๆ มองๆ ส่วนพ่อทีแรกก็ต่อต้าน ส่วนหนึ่งเพราะเขาเพิ่งเสียคู่ชีวิตไป พอผมขอไปปรับปรุงบ้าน เขารู้สึกเหมือนเราจะไปทุบบ้านที่เขาอยู่มาทั้งชีวิต เขารู้สึกไม่มั่นคงกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิด เลยต่อรองขอทำห้องพระห้องเดียว นึกภาพตามนะว่าบ้านผมสองชั้น พ่อแม่แก่แล้วท่านก็อยู่แต่ชั้นล่าง ชั้นสองเลยเหมือนถูกปิดตาย ไม่มีใครใช้เลย ผมเลยตั้งใจรีโนเวตห้องพระที่ชั้นบนก่อน โดยเตี๊ยมกับพี่สาวไว้ว่า ถ้าทำเสร็จแล้วให้พี่พาเพื่อนมาตอนที่เราพาพ่อขึ้นมาดู แล้วเราต้องช่วยกันพูดนะว่า สวยงาม ดีเลิศ ประเสริฐ ว้าว คือให้ชมอย่างเดียว เพื่อให้พ่อมีกำลังใจและรู้สึกดี

ขาบ สุทธิพงษ์

ONCE : พอถึงวันนั้นจริงๆ

ขาบ : ส่วนหนึ่งต้องบอกว่า การที่ชั้นสองถูกปิดตายจึงกลายเป็นที่กองข้าวของระเกะระกะ การจัดการเคลียร์ของไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่าง before กับ after ได้ชัดเจน พอเปิดห้องพระให้ท่านดู ท่านก็ยิ้มกระหยิ่มแต่ไม่ได้พูดอะไร เพราะพ่อเป็นคนไม่ค่อยพูด แต่ผมรู้ว่าท่านแฮปปี้ แล้วเราก็ชวนพ่อถ่ายรูป แค่นี้เขาก็มีความสุข เลยขอพ่อทำห้องอื่นต่อ พ่อก็บอก ‘แค่นี้แหละ พอแล้ว’ เพราะไม่อยากให้ลูกต้องเสียเงินเสียทอง ผมบอกพ่อว่า อยากให้คนมาดูข้าวของที่เรามี เพราะแม่สะสมผ้าไหม งานหัตถกรรม ผ้าทอ บ้านเรามีของดีหลายอย่าง เราควรให้เป็นความภูมิใจของครอบครัวนะ ซึ่งพ่ออาจจะมองข้าวของเหล่านี้ในมิติการใช้งาน เพราะเป็นของที่บ้านอื่นก็มีกัน ผมก็ยืนยันว่า ข้าวของเหล่านี้เราเปิดให้คนอื่นได้มาดู ก็จะเป็นคุณค่าสำหรับคนอื่น โดยผมได้วางแผนสองไว้ คือการพานักเรียนในชุมชนมาเดินชม เพื่อให้พ่อรู้สึกว่าของที่เรามีมันมีคุณค่าจริงๆ นะ

ขาบ สุทธิพงษ์

ONCE : ผลเป็นอย่างไร

ขาบ : คุณตาก็เอ็นดูหลานๆ เด็กนักเรียน (หัวเราะ) หลังจากนั้นพ่อก็ปล่อยให้ผมทำ จากนั้นก็เป็นปฏิบัติการล็อตใหญ่ในการรีโนเวตบ้าน ผมใช้เงินไปประมาณ 20 ล้านบาท มีการพูดกันเยอะว่าไม่คุ้มหรอก แต่ผมไม่ได้มองกำไรขาดทุน ผมมองว่าเราปรับปรุงบ้านแล้ว สมาชิกครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งมีความหมายมากกว่าเงินเสียอีก ถ้าเราแข็งแรงก็ใช้สถานที่เป็นต้นทุนในการหาเงินได้ คนส่วนมากอาจไม่กล้าลงทุนกับครอบครัว เพราะรู้สึกว่าขาดทุน ลูกหลานเลยออกไปอยู่เองเพื่อความสะดวกสบาย แล้วปล่อยคนแก่ที่อยู่ข้างหลังให้อยู่กันตามมีตามเกิด

ONCE : อะไรที่บอกเราว่าสิ่งที่ลงทุนลงแรงกายใจไปสำเร็จอย่างที่ตั้งใจ

ขาบ : หลังรีโนเวตและเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิตแล้ว หน้าที่พ่อคือใส่โสร่งเหมือนอดีตที่เขาเคยใส่  เพื่อคอยต้อนรับผู้คนที่หลั่งไหลกันมาชม แล้วผูกด้ายสายสิญจน์รับขวัญและให้พรนักท่องเที่ยว รวมถึงการถ่ายรูปกับนักท่องเที่ยวเป็นที่ระลึก แค่นี้ท่านก็มีความสุขมาก เหมือนช่วยให้พ่อได้คลายเศร้าจากการเสียแม่ท่านรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า มีประโยชน์ เป็นการทำให้พ่อมีความสุขในช่วงบั้นปลายของชีวิต หลังจากนั้น 3 ปี พ่อก็เสีย ทำให้ผมได้เจอปรากฏการณ์ที่ไม่คิดว่าจะได้เจอ

ขาบ สุทธิพงษ์

​ONCE : เกิดอะไรขึ้นหลังที่ท่านจากไป

ขาบ : ผมประกาศการจากไปของพ่อลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว ปรากฏว่าทุกช่องทางการติดต่อถึงผมเต็มไปด้วยการแสดงความเสียใจทั้งจากคนรู้จักและคนที่ไม่รู้จัก นักท่องเที่ยว และลูกหลานที่เคยมาพิพิธภัณฑ์ฯ เหล่าศิลปินที่ผมพามาวาดรูปกราฟิตี้พญานาคก็วาดรูปพ่อผมแล้วส่งมาให้เยอะมาก ไม่เคยคิดเลยว่าพ่อที่เป็นชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่งจะเป็นผู้ทรงอิทธิพลทางจิตวิญญาณที่แท้จริงได้ขนาดนี้

ONCE : หลายคนคิดว่างานศพท่านจะเวอร์วังอลังการเพราะเป็นที่รู้จักของชุมชน

ขาบ : ผมยังคงยึดหลักปรัชญาชีวิตที่ว่า ‘ธรรมะ ธรรมชาติ ธรรมดา’ อยู่เสมอ งานศพพ่อก็เช่นกัน ผมไม่ใช้ดอกไม้หรูหราใดๆ เพราะชีวิตพ่อไม่เคยสัมผัสหรือรู้จักความหรูหรา เป็นการจัดงานศพที่เน้นความเรียบง่าย ผมตกแต่งเมรุและศาลาด้วยรวงข้าวเขียว (ตรงกับช่วงทำนาพอดี) กับกิ่งยางพาราที่ปลูกในจังหวัดบึงกาฬมากมาย มีกระติ๊บข้าวเหนียวใส่ใบเตยวางประดับ งานศพพ่อมีผู้คนมาร่วมไว้อาลัยกันล้นหลามอย่างมืดฟ้ามัวดิน ทั้งที่เราเป็นครอบครัวชาวบ้านธรรมดา นับเป็นคลื่นศรัทธาที่บริสุทธิ์ แม้แต่ท่านเจ้าคุณที่มาเป็นประธานวางผ้าไตรยังพูดว่า ‘อาตมาบวชมา 30-40 พรรษา ยังไม่เคยเห็นแบบนี้มาก่อน’ แล้วก็ชื่นชมผมที่จัดงานศพได้เรียบง่ายสมกับคุณค่าของมนุษย์ที่แท้จริงซึ่งก็คือความว่างเปล่า ไม่มีใครเชื่อว่าผมใช้เงินจัดงานศพไป 5 พันบาท ในช่วงระยะเวลา 7 วันตั้งพิธีในการตกแต่งบรรยากาศลานตั้งศพที่บ้าน และแต่งเมรุเผาศพที่วัด สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์ในการจัดงานศพ ความงามแบบเรียบง่ายก็เก๋มีสไตล์ได้ สร้างความประทับใจให้ผู้มาร่วมงานได้อย่างอะเมซิ่ง

ขาบ สุทธิพงษ์

ONCE : ถึงตอนนี้ชาวบ้านเริ่มเข้าใจสิ่งที่ทำแล้วหรือยัง

ขาบ : ชาวบ้านอาจไม่เข้าใจสิ่งที่เราออกแบบ แต่ถ้าทำแล้วสร้างรายได้ เขาจะเข้าใจมากขึ้น การที่ผมให้ศิลปินวาดภาพกราฟิตี้พญานาคที่ฝาบ้าน แล้วเชิญกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์มาชมเพื่อให้เขาช่วยกระจายข่าว กับกลุ่มผู้ที่ชื่นชอบงานศิลปะ ซึ่งเป็นผู้ที่การเงินค่อนข้างนิ่ง เมื่อชมและถ่ายรูปแล้ว ก็จะเดินดูวิถีชีวิตรอบหมู่บ้าน ผมเคยแนะนำให้ชาวบ้านเปลี่ยนจากสานกระติ๊บข้าวเหนียวมาเพิ่มการสานโดยใส่ไอเดียเป็นเครื่องประดับ ของใช้ต่างๆ แทน เขาก็ไม่ทำกัน เพราะกลัวขายไม่ได้ ผมเลยต้องรับซื้อไว้หมดทุกอย่างเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเราเข้าไปควบคุมหน้าตาและคุณภาพสินค้า แล้วนำมาจัดวางเพื่อจำหน่าย เมื่อมีคนซื้อ ชาวบ้านเห็นว่าขายได้จริง จากที่สานกระติ๊บอันละ 120 บาท แต่กระเป๋าสานขายได้ 300 บาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับคุณภาพฝีมือ โดยใช้เวลาทำไม่ต่างกัน เพราะเป็นสิ่งที่เขาถนัดอยู่แล้ว ทีนี้ชาวบ้านก็ยินดีทำรูปทรงใหม่เพราะได้ราคาดีกว่า นี่คือการทำให้เห็น หลังจากนั้นก็ปฏิวัติทั้งชุมชน

ขาบ สุทธิพงษ์

ONCE : อะไรทำให้มั่นใจว่าจะขายได้

ขาบ : ผมเปิดบริษัททำแบรนดิ้งมา 25 ปี มีลูกค้าในมือเยอะแยะ ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ จากลูกค้ามากมาย อันนี้ก็ต้องขอบคุณที่ทำให้ผมได้นำมาขยายผลต่อ ผมนำประสบการณ์ชีวิตการทำงานของตัวเองมาใช้ เพราะนี่คือการทำแบรนดิ้ง หมู่บ้านผมอาจเรียกได้ว่าเป็นหมู่บ้านแบรนดิ้งแห่งแรกของเมืองไทยก็ว่าได้ คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าการทำแบรนดิ้งคือ การทำตลาด ทำโฆษณา แต่ผมใส่ความยั่งยืน ใส่จิตวิญญาณ และความภูมิใจลงไปด้วย อย่างความเชื่อเรื่องพญานาคเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ ผมนำมาเป็นภาพวาดกราฟิตี้ แล้วก็ทำเป็นสินค้าต่างๆ เช่น เสื้อยืด ภาพวาดพญานาค ซึ่งต้องขอบคุณครูโต – ม.ล.จิราธร จิรประวัติ ครูผู้เป็นผู้ให้สำหรับผมมาตลอด พอครูรู้ว่าผมนำศิลปะมารับใช้ชุมชน ท่านบอกเลยว่า ‘ขาบอยากให้ครูช่วยอะไรบอกมานะ ครูจะวาดให้ทุกอย่างเลย’ ผมนำสิ่งที่ครูให้ไปมอบต่อให้กับผู้ขาดโอกาส แล้วก็กลายเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าต่างๆ ในชุมชน นี่คือสิ่งที่เป็นนามธรรมที่กลายเป็นรูปธรรม จับต้องได้ และเกิดความงามอย่างเลอค่า

ขาบ สุทธิพงษ์

ONCE : ยุทธศาสตร์ที่ใช้ในการขยายแนวคิดนี้ออกไป

ขาบ : สิ่งที่ผมทำคือการเป็นอาสาสมัคร ผมอยากจุดประกายให้คนรุ่นใหม่ในบึงกาฬออกมายืนด้วยขาตัวเอง เพราะนี่คือทางรอด อย่างหมู่บ้านผมเป็นหมู่บ้านเล็กๆ อยู่ห่างไกล ถ้าเรามัวแต่รอภาครัฐเข้ามาพัฒนา ก็คงจะเป็นเหมือนที่ผ่านมา คือหนุ่มสาวออกไปหางานทำ แล้วในหมู่บ้านก็มีแต่คนแก่กับเด็กและบ้านเรือนที่ทรุดโทรม สังคมเกษตรกรรมของไทยเป็นแบบนี้ค่อนประเทศ ผมจึงทำเป็นโปรเจกต์ปั้นทั้งอำเภอโซ่พิสัยแบบอาสาสมัคร โดยใช้ชื่อว่า ‘โซ่พิสัยโมเดล’ เพื่อนำร่องและเป็นต้นแบบ โดยมีพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิตเป็นศูนย์กลาง ผมเป็นโค้ชชิ่งด้านแบรนดิ้งให้กับใครที่มีฝันแล้วอยากเดินตามฝันแบบทางลัด

ขาบ สุทธิพงษ์

ONCE : สิ่งที่โค้ชชิ่ง

ขาบ : การพัฒนาชุมชนให้สำเร็จต้องอาศัย 2 ปัจจัย หนึ่งคือพื้นที่ต้องพร้อม หมายถึงมีสภาพภูมิศาสตร์ที่เอื้ออำนวย สักครึ่งหนึ่งก็ง่ายล่ะ สองต้องมีบุคคลที่ทำงานเชิงผู้นำในพื้นที่ ผมเน้นย้ำว่าต้องเป็นผู้นำในเชิงปฏิบัติไม่ใช่ผู้นำโดยตำแหน่ง ถ้ามีสองอย่างนี้ยังไงก็สำเร็จ แต่ที่ผมทำอาจเป็นข้อยกเว้น เพราะผมทำเอง ผมสามารถสร้างสิ่งที่ไม่มีให้กลายเป็นมีได้ทุกอย่าง ส่วนผู้นำการพัฒนาชุมชนต้องมีความรู้ 3 ด้าน คือ 1.การทำแบรนดิ้ง 2.เรียนรู้เรื่องรสนิยมเพื่อมาหยิบจับต้นทุนวัฒนธรรมให้ดูมีคุณค่าขึ้นมา และ 3.การสร้างอินฟลูเอนเซอร์ในชุมชน ถ้าผู้นำมีครบ 3 คุณสมบัตินี้ บ้านนอกจะเปรี้ยงปร้างอย่างบ้านผมได้

ขาบ สุทธิพงษ์

ONCE : จากประสบการณ์ที่ลงมาพัฒนาชุมชนบ้านเกิด ได้สัมผัสปัญหา อุปสรรคต่างๆ ด้วยตัวเอง สิ่งที่อยากฝากไว้คือ

ขาบ : หน่วยงานบ้านเราไม่ได้มองว่าที่ไหนเป็นต้นแบบการพัฒนาชุมชนระดับประเทศได้ ซึ่งควรเข้ามาช่วยสนับสนุนดูว่าขาดเหลืออะไร ต้องทำให้เป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติ หยิบเรื่องเขาเป็นวาระแห่งชาติให้ได้ เพราะเขาเสียสละและทำเพื่อคนอื่นขนาดนี้ ต้องมาศึกษาเพื่อนำองค์ความรู้บางอย่างจากเขาไปพัฒนาอีก 8 หมื่นชุมชนที่รอด้วยความหวัง นอกจากนี้ อยากฝากบอกกระทรวง อว. (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) ว่า คนที่เป็นนักพัฒนาอย่างผมมีเยอะ แต่คนจำนวนหนึ่งปฏิเสธการร่วมงานกับภาครัฐ เพราะไม่มีความจริงใจ อย่างการมอบปริญญากิตติมศักดิ์ ควรต้องให้คนรุ่นใหม่ที่ยังมีแรงกำลัง และสร้างชุมชนเป็นผู้นำยุคใหม่เชิงรุก เพราะการพัฒนาชุมชนเป็นงานหนัก แต่ที่ผ่านมาคือให้แต่ผู้อาวุโส แล้วคนอาวุโสเหล่านั้นจะมีเรี่ยวแรงมาจากไหนไปพัฒนาชุมชน อย่างมหาวิทยาลัยสร้างนักวิจัยเพื่อไปพัฒนาพื้นที่ และการจะนำนักวิจัย นักพัฒนาไปลงพื้นที่ ผมบอกเลยว่าไม่รอดหรอก เพราะขนาดคนในพื้นที่ คุณยังไม่เห็นคุณค่าเขาเลย แล้วการพัฒนาจะยั่งยืนได้ยังไง เพราะการพัฒนาต้องทำต่อเนื่องตลอด และทำแบบยาวนาน ข้าราชการก็ย้ายบ่อย นักวิจัยก็ทำงานตามบทบาทที่ได้รับมอบหมาย หรือขอทุนมาได้ก็ลงไปทำงานให้ แล้วปีต่อๆ ไป หากไม่มีทุนจะทำยังไงต่อ

การท่องเที่ยวที่อาศัยธรรมชาติหรือศรัทธาอาจเป็นสิ่งที่คนไม่ต้องทำอะไร แต่สิ่งที่ผมทำในชุมชนบ้านเกิดผม เป็นสิ่งที่ผมสร้างเองกับมือ และนำมาซึ่งรายได้สู่ชาวบ้านจริงๆ นี่เป็นทางรอดที่ดีที่สุดที่ควรมีการส่งเสริมพัฒนา ถ้าใครทำแบบที่ผมทำมานี้ ไม่ว่าจะอยู่พื้นที่ห่างไกลแค่ไหน ก็ทำได้ ตราบใดที่เรายังมีลมหายใจ อย่ามองเพื่อตัวเองอย่างเดียว ให้มองเพื่อคนอื่นด้วย แล้วเราจะเป็นมนุษย์ที่เกิดมาคุ้มค่า ผมคิดแบบนั้น

ขาบ สุทธิพงษ์

Tags: